วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิพากษ์พิมพ์เขียวรังสีเทคนิคมหิดล

ขอเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นการเก็บตกจากการประชุมวิพากษ์หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค พ.ศ. 2554 ของมหิดล เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ที่อาคารวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการแพทย์ ศาลายา
ก่อนอื่นขอขอบคุณผู้เข้าร่วมวิพากษ์หลักสูตรทุกท่าน ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิคได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากผู้วิพากษ์หลักสูตร ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ใช้บัณฑิต ศิษย์เก่า อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิค ประมาณกว่า 30 ท่าน
ความเป็นมา
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอย้อนไปดูข้อมูลที่ผ่านมาอีกนิดครับ สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ที่กำลังปรับปรุงนี้ เป็นหลักสูตรที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ให้การรับรองตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ได้ให้การรับรองมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิคโดยใช้หลักสูตรนี้ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนด ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2554 ถึง วันที่ 4 มกราคม 2559
อย่างไรก็ตามหลักสูตรนี้ต้องปรับปรุงตามวงรอบใหญ่ 5 ปีอยู่แล้ว ซึ่งตั้งแต่หลักสูตรนี้ถูกใช้งาน ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้กระบวนการในการ PDCA ในการประกันคุณภาพ ในวงรอบทุกปี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาที่ สกอ. ประกาศใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา TQF โดยมีแนวปฎิบัติคือ ให้หลักสูตรเดิม หมายถึงหลักสูตรที่ใช้ผลิตบัณฑิตในขณะนี้ ต้องปรับให้เป็นไปตาม TQF ให้ทันใช้ในภาคต้นปีการศึกษา 2555 ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งจัดทำให้สอดคล้องตาม TQF ได้แก่

มคอ 1 หมายถึง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขารังสีเทคนิค หรือ พิมพ์เขียวรังสีเทคนิคระดับประเทศ ผมและอาจารย์ในภาควิชาส่วนหนึ่ง ได้เข้าร่วมประชุม RT Consortium หมายถึงที่ประชุมสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค 7 สถาบัน เพื่อจัดทำจนสำเร็จ ใช้เวลาจัดทำประมาณ 2 ปี ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านบาท
มคอ 2 หมายถึง รายละเอียดหลักสูตร (Program Specification) วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554 หรือพิมพ์เขียวระดับสถาบันผู้ผลิต
มคอ 3 หมายถึง รายละเอียดของรายวิชา เป็นรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนแบบ บรรยายหรือปฏิบัติ
มคอ 4 หมายถึง รายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม เป็นรายวิชาฝึกงาน
ในส่วนของ มคอ 2,3,4 นั้น คณาจารย์ของภาควิชารังสีเทคนิคทุกคน ช่วยกันระดมสมองจัดทำอย่างแข็งขัน ในรูปคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรฯ(คณะแต่งตั้ง) ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ของภาควิชาทุกท่าน และคณะกรรมการรับผิดชอบการปรับปรุงหลักสูตรฯ (ของภาควิชาฯ) และวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 จึงได้มีการประชุมเพื่อวิพากษ์หลักสูตร มคอ 2 ขึ้น

ข้อคิดเห็นจากการวิพากษ์หลักสูตร
จากการวิพากษ์หลักสูตรเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 จุดตั้งต้นอยู่ที่อัตตลักษณ์ของบัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดล ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิคกำหนดให้ต้องมีสมรรถนะตามที่คณะกรรมการวิชาชีพฯกำหนด และ
1.มีความสามารถโดดเด่นด้านวิชาชีพรังสีเทคนิค
2.มีลักษณะตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดคือ มุ่งประโยชน์สุขเพื่อมวลมนุษยชาติ เป็นคนดี มีปัญญา นำพาสุข
3.มีศักยภาพรอบด้าน
นอกจากนี้ ผมได้เก็บเกี่ยวและรวบรวมข้อคิดเห็นและประเด็นต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมวิพากษ์มีต่อหลักสูตร ดังนี้
จุดเด่น
           
หลักสูตร
เป็นหลักสูตรที่ดี มีฐานความเป็นวิทยาศาสตร์และวิชาชีพรังสีเทคนิค
ผลลัพธ์
1.บัณฑิตสามารถทำงานในวิชาชีพได้ดี และเรียนรู้ได้เร็ว
2.บัณฑิตสามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้ในหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะการศึกษาต่อในสาขาฟิสิกส์การแพทย์นั้น ของเราศึกษาต่อได้ แต่รังสีเทคนิคในต่างประเทศการที่จะไปเรียนต่อฟิสิกส์การแพทย์เป็นเรื่องยากมาก

จุดที่ควรพิจารณา
เนื้อหา
วิชาพื้นฐาน
ควรมีวิชาด้าน Micro Biology, Molecular Imaging เหตุผลคือ เพิ่มช่องทางการทำวิจัยและเข้าใจโรค
กระบวนการจัดการเรียนการสอน
การฝึกงาน
1.เพิ่มเวลาในการฝึกงานให้มากขึ้น
2.เลือกสถานที่ฝึกงานให้เหมาะสม  มี case มากพอ อาจารย์ที่ดูแลฝึกงานมีความพร้อม และให้นักศึกษาสามารถฝึกงานได้จริง
3.ปรับปรุงกระบวนการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนฝึกงานให้ดียิ่งขึ้น
3.เกณฑ์ในการวัดผลควรชัดเจน
วิจัย
แม้บัณฑิตรังสีเทคนิคจบไปไม่ได้เน้นทำงานวิจัย แต่ควรมีพื้นฐานการวิจัยเพิ่มขึ้น
ทักษะอื่นๆ
ควรเน้นเพิ่มขึ้นในเรื่อง
1.Service mind, emotional control, problem solving, analytical thinking
2.ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับคน (Social skill)
3.ความสนใจในศาสตร์อื่นๆ
4.Productive skills ด้านภาษาอังกฤษโดยเฉพาะการพูดและการเขียน
5.พื้นความรู้ในการบริหารจัดการ
การบริหารหลักสูตร
กำลังคน
วางแผนจำนวนอาจารย์ให้ชัดเจน
งบประมาณ
ทำแผนงบประมาณให้ชัดเจน
อื่นๆ
ประชาสัมพันธ์
เพิ่มการประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้มากขึ้น

ข้อคิดเห็นและประเด็นต่างๆนี้ จะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการรับผิดชอบการปรับปรุงหลักสูตรฯ ในวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2554 เพื่อสรุปเป็นร่าง มคอ1,2,3 ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วน

ขั้นตอนที่ขัดกันของการเสนอปรับหลักสูตร
มีประเด็นที่เกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการปรับหลักสูตร ที่ต้องให้ความสนใจพิเศษคือ สกอ.จะรับพิจารณาหลักสูตรที่สภาวิชาชีพหรือคณะกรรมการวิชาชีพฯรับรองแล้ว
หมายความว่า สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ร่างหลักสูตรที่เสนอไปยังสภามหาวิทยาลัยมหิดล จะต้องเสนอไปที่คณะกรรมการวิชาชีพฯพร้อมๆกันด้วย เพื่อทั้งสภามหาวิทยาลัยมหิดลและคณะกรรมการวิชาชีพฯ จะได้พิจารณาให้เสร็จก่อนส่งไป สกอ.
เมื่อดูบทบาทของคณะกรรมการวิชาชีพ ตามประกาศคณะกรรมการวิชาชีพฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และแบบประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตปริญญา หรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา สาขารังสีเทคนิค พ.. ๒๕๕๑ นั้น เป็นการประเมินสถาบันซึ่งรวมหลักสูตรด้วย และใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกิน 90 วันหรือ 3 เดือนหลังจากที่คณะกรรมการวิชาชีพได้รับแบบประเมินสถาบัน โดยที่แบบประเมินสถาบันนั้นต้องส่งโดยอธิการบดีด้วย ดังนั้น ระยะเวลาจริงที่ดำเนินการจะนานกว่า 3 เดือนหากนับจากที่ร่าง มคอ 2,3,4 จัดทำเสร็จแล้วโดยภาควิชาฯ
ระยะเวลาของการดำเนินการจริงก็เป็นปัญหาหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งที่ดูจะสำคัญมากกว่าคือ เกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนดแนบท้ายประกาศนั้น มีการระบุว่า หลักสูตรของสถาบันที่จะขอรับการประเมินต้องได้รับการรับรองจาก สกอ. ซึ่งขัดแย้งกับ สกอ.ที่ว่า สกอ.จะรับพิจารณาหลักสูตรที่คณะกรรมการวิชาชีพรับรอง
ทางออกคืออะไร???........>>>>>>>>>>>>
ทางออกที่หนึ่ง ขอผ่อนผัน สกอ.ให้พิจารณาหลักสูตรที่ปรับปรุงไปก่อน โดยใช้เหตุผลว่า อยู่ในระหว่างการขอรับการประเมินสถาบันโดย คณะกรรมการวิชาชีพฯ ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีแนวทางช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ภาควิชาฯจะต้องทำงานที่รับผิดชอบให้เต็มที่ก่อน
ทางออกที่สอง คณะกรรมการวิชาชีพฯ ทำการแก้ไขหลักเกณฑ์ท้ายประกาศ โดยให้สถาบันผู้ผลิต ยื่นขอรับการประเมินสถาบันได้เมื่อหลักสูตรอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย หรืออาจแก้ไขให้สถาบันผู้ผลิตสามารถยื่นขอรับรองเฉพาะหลักสูตรก่อนเพื่อความรวดเร็ว และเพื่อสามารถยื่นหลักสูตรให้ สกอ. รับรองได้
ทางออกทั้งสองทางมีความเป็นไปได้ หากเป็นทางออกที่สอง คณะกรรมการวิชาชีพต้องรีบดำเนินการปรับแก้ไขเกณฑ์ และในอนาคต ควรมีกระบวนการในการประเมินหลักสูตร และการประเมินสถาบันเสียใหม่ ที่มีความคล่องตัวในการปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางของ สกอ. หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินการ แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าและมาตรฐาน

Related Links:
ปัจจัยที่กระทบการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค พ.ศ. 2555-2559
ผลกระทบประชาคมอาเซียน 2558
ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558
มคอ 1 : มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขารังสีเทคนิค

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ24 กรกฎาคม 2554 เวลา 21:50

    Titipong Kaewlek

    พิมพ์เขียวนี้ มีแผนรองรับการก้าวสู่ การเป็นประชาคมอาเซียนอย่าง​ไรบ้างครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ24 กรกฎาคม 2554 เวลา 21:53

    ธารารัตน์ อ่อนอินทร์

    ประเด็นอื่นๆ : หนูอยากทราบว่าการประชาสัมพันธ์ หลักสูตรให้เพิ่มมากขึ้นนี้​หมายถึงรวมถึง ระดับการผลิต บัณฑิต ศึกษาด้วยใช่ไม๊คะ? และ สถาบันที่รองรับที่จะเพิ่มม​ากขึ้นหรือไม่? และ อยากรู้ว่า ระดับบัณฑิตศึกษานี้ จะมีโอกาสในวันข้างหน้าที่จ​ะเปิดสอน เสาร์ - อาทิตย์ หรือไม่? ทราบว่าที่ มน. เปิดหลักสูตร รังสีชีวโมเลกุล แต่ไม่สามารถ connection ต่อได้หรือแม้แต่การเพิ่มให้เอื้อต่อวิชาชีพ..

    การเพิ่มเอื้อต่อวิชาชีพหมา​ยถึงว่า upgrad สมรรถนะให้สูงได้ในวิชาชีพค่ะ คงอยู่เช่นเดิม ถ้าสาขาไม่ตรง ^_^

    หนูสงสัย ประเด็น Social skill ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับคน นี้ต้องมีการจัดฝึกอบรมด้าน​ใดหรือว่าในหลักสูตรต้องเพิ​่มเข้าไปให้มากกว่าเดิมคะ หรือระดับภาคปฏิบัติการทำงา​นจะต้องเปิดอบรมขั้นสูงหรือ​เปล่า? ที่พูดและถามนี้ รู้สึกว่า Social skill ก็ล่ะค่ะ ^_^

    ตอบลบ