วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พิมพ์เขียวรังสีเทคนิค พ.ศ.2555-2559


ช่วงนี้ ประกายรังสีมีแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านรังสีเทคนิค คือพอดีเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้น บางอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค และเลยไปถึงผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคด้วย คล้ายการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นแล้วตามมาด้วยคลื่น Tsunami จึงจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้บ่อยๆ เพื่อเตรียมการรับมือ พอดีผมอยู่ในใจกลางของเหตุการณ์เหล่านี้ และมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ชุลมุลหมุนติ้วและสนุกดีเหมือนกัน จึงอยากบันทึกไว้เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันไปในทุกภาคส่วน แลกเปลี่ยนส่วนดีๆของกันและกัน เพื่อสร้างสิ่งที่ดี เหมาะสม และสังคมต้องการ ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ในสถาบันผู้ผลิตต่างๆ ผู้ใช้บัณฑิต ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ผู้ปกครอง สมาคมวิชาชีพ คณะกรรมการวิชาชีพ
เริ่มต้นด้วยคำว่าพิมพ์เขียวระดับประเทศ ในที่นี้ผมหมายถึง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขารังสีเทคนิคหรือ มคอ 1 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ. หรือ TQF กว่าจะได้พิมพ์เขียวชุดนี้มา คณาจารย์จากสถาบันผู้ผลิตทุกแห่ง ระดมสมองร่วมกันหลายครั้ง (RT Consortium) ใช้เวลานานเป็นปี ใช้งบประมาณรวมกันทั้งหมดเป็นล้านบาท ลำดับเหตุการณ์ (Milestones) เป็นดังนี้ครับ
เมษายน 2553 RT Consortium ครั้งที่ 6 ขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ ประชุมกันที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เวลา 2 วัน คุยกันเรื่อง มคอ.1 ตอนนั้นเราไม่กล้าที่จะรับเป็นที่ปรึกษาของ สกอ. เพื่อทำ มคอ.1 เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทันหรือไม่ เนื่องจากมีเวลาทำ 6 เดือนหลังจากตกลงกับ สกอ. แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ขอนแก่นเราได้คุยกันจนได้ คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ Learning Outcome หรือมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน
พฤศจิกายน 2553 RT Consortium ครั้งที่ 8 โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นเจ้าภาพ ประชุมกันที่โรงแรมตะวันนา สุรวงศ์ กรุงเทพฯใช้เวลา 2 วัน คุยกันต่อลึกลงไปถึงเนื้อหาขั้นต่ำที่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ควรมี รวมถึงการพิจารณา Curriculum Mapping ของรายวิชาในแต่ละสาขาจนครบถ้วน
ผลลัพธ์คือ สถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคทุกแห่งที่ผลิตหรือที่กำลังจะผลิตในอนาคต ต้องจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับ มคอ 1
แผนภูมขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามกรอบ TQF

พิมพ์เขียวระดับสถาบันผู้ผลิต(มคอ 2)
มคอ 2 เป็นพิมพ์เขียวระดับสถาบันผู้ผลิตแต่ละแห่ง เป็นหลักสูตรด้านรังสีเทคนิคที่แต่ละสถาบันผู้ผลิตจัดทำขึ้นภายใต้กรอบของ มคอ 1 หรือพิมพ์เขียวระดับประเทศ สถาบันผู้ผลิตที่ดำเนินการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค อยู่เดิมต้องปรับหลักสูตรให้เป็น มคอ 2 (รวม มคอ3 และ 4 ซึ่งเป็นรายละเอียดรายวิชาบรรยาย-ปฏิบัติ และรายวิชาฝึกงานภาคสนามตามลำดับ) และต้องทำให้เสร็จทันใช้ในปีการศึกษา 2555 สถาบันผู้ผลิตที่ดำเนินการหลักสูตรรังสีเทคนิคอยู่เดิมมีอยู่ 3 แห่ง คือ มหิดล เชียงใหม่ และนเรศวร ทั้ง 3 สถาบันนี้ต้องเร่งมือปรับหลักสูตรที่มีอยู่กันอย่างตั้งใจให้ทันและออกมาดีด้วย นเรศวรนำหน้าเพื่อนไปแล้ว คือเป็นสถาบันที่ได้ดำเนินการตามกรอบ TQF ไปแล้ว ส่วนของมหิดลและเชียงใหม่ อยู่ในขั้นตอนการจัดทำ ส่วนของสงขลานครินทร์ จุฬาฯ รามคำแหง ขอนแก่น อยู่ในระหว่างการจัดทำที่ไม่ติดกรอบเวลา คือไม่จำเป็นต้องให้ทันในปีการศึกษา 2555 เพราะ ต้องถือว่าเป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นใหม่
ร่าง มคอ 2 หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ของมหิดลจัดทำเสร็จแล้ว และมีการวิพากษ์หลักสูตรในวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ผู้ที่เข้าร่วมวิพากษ์หลักสูตรประกอบด้วย คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร คณาจารย์ของภาควิชา ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจำนวน 3 ท่าน ผู้ใช้บัณฑิตจำนวน 7 ท่าน ศิษย์เก่าจำนวน 7 ท่าน เมื่อผ่านกระบวนการนี้แล้ว ก็ส่งต่อไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และสกอ.ตามลำดับ แต่ก่อนส่งไปสกอ.ต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคเสียก่อน
จึงเห็นได้ว่า กระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค มีขั้นตอนสำคัญเยอะมาก และหากถามว่า ร่าง มคอ 2 ได้มาอย่างไร คำตอบคือ ได้จากการระดมสมองอย่างทุ่มเทของคณาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิคมหิดลทุกคน เป็นเวลานานนับปี มีการวิเคราะห์ถึงสิ่งที่มีผลกระทบต่อการผลิตบัณฑิต เพื่อให้ร่าง มคอ 2 ออกมาสอดรับกับสถานการณ์หลายๆอย่าง เช่น ประชาคมอาเซียนในปี 2558, ทักษะมนุษย์ในศตวรรษที่ 21, Learning outcome ของมหาวิทยาลัยมหิดล, ความต้องการของตลาดแรงงาน, ฯลฯ
          จึงหวังว่า พิมพ์เขียวรังสีเทคนิคที่ได้กล่าวมาทั้งหมดโดยย่อนี้ จะตอบโจทย์ที่กล่าวข้างต้น เพื่อให้สังคมอบอุ่นใจ บัณฑิตสามารถอยู่รอดได้อย่างถูกต้อง และมีความสุข

Related Links:

1 ความคิดเห็น:

  1. วันนี้คือวันที่ 21 ก.ค. 2554 มีรายการวิพากษ์หลักสูตร (มคอ2) วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ของมหิดล ทั้งวันเลยครับ ต้องขอขอบคุณ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ใช้บัณฑิต ศิษย์เก่า ที่มาร่วมวิพากษ์กันอย่างแข็งขัน

    ตอบลบ