วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยอมรับว่าองค์กรดีแล้ว...อันตราย


คราวนี้ขอแชร์เรื่ององค์กร ตามทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บวกกับประสบการณ์ของตัวเองบ้างเล็กน้อยครับ

เมื่อพูดถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่เราทำงาน บางคนอาจใช้เวลาอยู่ที่ทำงานที่มีสถานที่เป็นหลักแหล่งนับเวลาได้ 8-10 ชั่วโมง ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จัดว่าขยันมาก เป็นประเภท Workaholic หรือบ้างานแบบเม็กซิโกและญี่ปุ่น (ไม่ใช่บ้าออกงานรื่นเริงนะครับ) ซึ่งคนของเขาบ้าทำงานเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ บางคนใช้เวลาทำงานนานกว่านั้นอีก จนคนที่บ้านเคืองเพราะอยู่ที่ไหนก็ทำงาน ไม่เป็นที่เป็นทาง

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า................
องค์กรของเราดีไหม?”
องค์กรของเราเป็นพิษไหม?”
องค์กรของเรายิ่งใหญ่ไหม?”

เราทำงานมาระยะหนึ่ง หรืออยู่มานานพอควร ก็ยังตั้งข้อสงสัยเป็นระยะ คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานก็ตั้งข้อสงสัย แต่เดี๋ยวนี้ไม่แน่เหมือนกัน หลายคนที่เริ่มทำงานใหม่หรือเหล่าบัณฑิตจบใหม่ มีแนวโน้มให้ความสนใจกับค่าจ้าง ค่าตอบแทนต้องสูงไว้ก่อน จนลืมดูเรื่องอื่นๆไป แล้วก็ย้ายงานกันเป็นว่าเล่น จริงหรือไม่จริงลองช่วยกันดู

ว่าด้วยองค์กรที่ดี
องค์กรที่ดีมีลักษณะอย่างไร ในทัศนะของนักวิชาการบอกว่า องค์กรที่ดีมีคุณลักษณะ 9 ประการ ดังต่อไปนี้ 
1.เป้าหมายขององค์กรชัดเจน (Clear organization goals)
2.สายงานบังคับบัญชาสั้นพร้อมงานบังคับบัญชาที่หลากหลาย (Flat organization with increased span of supervision)
3.มีฐานข้อมูลที่สนับสนุนการบริหารงาน (Data-based self management system)
4.มีระบบการจัดการที่ดีด้วยคนที่ไม่มาก (Good management system with small management staff)
5.เน้นการปฏิบัติงานที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ (Emphasis on improved operation reliability)
6.มีการตลาดและประชาสัมพันธ์ (Marketing and advertising)
7.ร่วมมือร่วมใจ และทำงานเป็นทีมอย่างดียิ่ง (More collaboration and teamwork)
8.เน้นมูลค่าในการทำงานในแต่ละตำแหน่งและดำเนินตามนโยบายอย่างแน่วแน่ (Emphasis upon value added aspects of each position or policy)
9.เพื่อองค์กร (For my organization)
พิจารณาแล้วเป็นเรื่องของหลักการที่ดีครับ ทุกองค์กรต้องดีไม่เช่นนั้นอยู่ไม่รอด คือมีลักษณะต่างๆครบถ้วน แต่จะให้น้ำหนักไปด้านใด ก็แตกต่างกันไป เดี๋ยวนี้การประเมินการดำเนินงานขององค์กรเข้มขึ้น และจะยิ่งเข้มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากภาวะการณ์แข่งขันรุนแรง บุคลากรต้องมีลักษณะปรับตัวง่าย ไม่แข็งทื่อ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้กลายมาเป็นสาระสำคัญของการประเมินด้วย

ว่าด้วยองค์กรที่เป็นพิษ (Toxicity)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าสารพิษเข้าสู่ร่างกายของเรา มันเข้าไปทำลายระบบต่างๆที่สำคัญของร่างกาย จนทำให้เราตายได้ สำหรับองค์กรที่เป็นพิษนั้น ความเป็นพิษของมันจะเข้าโจมตีที่จิตใจ ขวัญ และกำลังใจในการทำงานของเรา (Toxic Emotions) ทำให้เราเกิดอาการตายด้าน ขาดความภักดีต่อองค์กร ในที่สุดองค์กรก็จะได้รับผลกระทบในทางเลวร้ายไปด้วย

องค์กรที่เป็นพิษ มีสาเหตุมาจากหลายอย่าง หากมองต้นเหตุที่คน ตัวอย่างเช่น 
     # ผู้บริหารเป็นพิษ 
     # บุคลากรเป็นพิษ
       เป็นต้น

     องค์กรไหนที่อุดมไปด้วยพิษที่เกิดจากคน ทั้งผู้บริหารและบุคลากร องค์กรนั้นก็ต้องตายไป ตายเร็วหน่อยเพราะพิษมีระดับสูงมากเกินไป องค์กรไหนที่ผู้บริหารเป็นพิษแต่บุคลากรไม่เป็นพิษ หรือผู้บริหารไม่เป็นพิษแต่บุคลากรเป็นพิษ คือเป็นอาการที่องค์กรได้รับพิษในระดับสูง องค์กรนั้นๆก็รอวันตาย ตายอย่างช้าๆโดยอาจไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป
พูดแบบไม่ลำเอียงครับ มีผลการวิจัยยืนยันว่า ความเป็นพิษขององค์กรมักเกิดจากผู้บริหารเป็นพิษ ตามความเห็นของผมก็น่าจะเป็นเพราะ ผู้บริหารมีอำนาจ ความเป็นพิษของผู้บริหารจึงส่งผลต่อองค์กรเร็วและร้ายแรง ส่วนความเป็นพิษที่เกิดจากบุคลากรอาจต้องเป็นพิษกันหลายคนหน่อย คือช่วยๆกันเติมพิษลงไปในองค์กร ก็จะยกระดับความเป็นพิษให้กับองค์กรได้ และรอวันดับ

อาการอย่างไรที่เรียกว่า ผู้บริหารเป็นพิษ เอาแบบใจความสั้นๆที่สุดคือ ผู้บริหารหรือเจ้านายที่มีทัศนะคติเป็นลบกับลูกน้อง มองแต่ข้อไม่ดีของลูกน้อง (มองเห็นแต่จุดดำ(ไม่ดี)ในภาพพื้นขาว(ดี)) ชอบทำร้ายลูกน้อง ค่อนขอด เหน็บ กัด ทำให้ลูกน้องอายหรือดูโง่ต่อหน้าผู้อื่น จองล้างจองผลาญ โจมตีทุกคนไม่เลือกหน้า ไม่เลือกเวลาสถานที่ โดยมีความเชื่อว่า การกระทำเยี่ยงนี้เป็นการกระตุ้นและจูงใจลูกน้องให้ทำผลงานออกมาดี
ภาพจุดดำเล็กๆวางบนพื้นขาว คนส่วนใหญ่เมื่อมองภาพจะเห็นแต่จุดดำ
โดยลืมว่า ในภาพก็มีสีขาวและมีเยอะซะด้วย

     อาการอย่างไรที่เรียกว่า "บุคลากรเป็นพิษ" ก็ง่ายๆ คือ บุคลากรที่มีความเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง ไม่รู้จักการให้ มีทัศนะคติเป็นลบอย่างพร่ำเพรื่อ กับใครหรืออะไรก็ได้ จนเป็นพฤติกรรมประจำตัว เช่น มีทัศนะคติที่เป็นลบกับ ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน กับองค์กร กับวัฒนธรรมขององค์กรที่หล่อหลอมกันมา ฯลฯ มีการตั้งป้อมค่ายคูเมืองเหมือนจะทำสงครามกับผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน 
(อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง..แรงดูดทางความคิดoutcome of life)

ตามความเห็นของผม หากจะดูความเป็นพิษขององค์กร ให้ดูที่ผู้บริหารหรือเจ้านายเป็นอันดับแรก ถัดไปดูที่บุคลากร ถ้าจะหายาถอนพิษ ไม่ต้องไปหาที่ไหนให้ไกลตัวครับ ยาถอนพิษมันก็อยู่ในองค์กรนั่นแหล่ะ อยู่ที่ว่าจะช่วยกันถอนพิษหรือเปล่า หรือจะช่วยกันเติมพิษลงไปเพื่อเร่งให้องค์กรพินาศเร็วๆ

ว่าด้วยองค์กรที่ยิ่งใหญ่ หรือ Great organization
โรตีร้านนี้โดดเด่นมาก อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ต้องเข้าคิวซื้อ 

องค์กรที่ยิ่งใหญ่ หมายความว่า  
เป็นองค์กรที่ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตแต่เป็นองค์กรที่สร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น โดนใจ เป็นที่ต้องการของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอและยาวนาน
เป็นความหมายตามที่ปรากฏในหนังสือ “Good to Great” เขียนโดย Jim Collins เป็นหนังสือที่ขายดีมากกว่าสองล้านเล่มนับแต่ปี ค.ศ. 2001 ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากมักจะอ้างถึงหนังสือเล่มนี้
ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมสำรวจคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้เยี่ยมสำรวจ (surveyor) 3 ครั้ง ปีละครั้งไม่ต่อเนื่องกัน เป็นการเยี่ยมสำรวจตามกระบวนการประกันคุณภาพตามระบบคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล (MUQD) ครั้งแรกที่ไปเยี่ยมสำรวจขณะนั้น ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นคณบดี ปัจจุบันท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์   กุลทนันทน์ เป็นคณบดี ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมสำรวจ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมสำรวจภาควิชาต่างๆของคณะแพทย์ศาสตรศิริราชพยาบาลมากกว่า 10 ภาควิชา
ผมรู้สึกได้ถึงความเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ ไม่เฉพาะกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเท่านั้น ในระดับภาควิชาก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่เช่นกัน  คือเป็นองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นมากๆ และไม่ใช่มีผลงานโดดเด่นครั้งสองครั้งแล้วหายไป แต่เป็นผลงานที่เป็นความต้องการของสังคม มีออกมาอย่างสม่ำเสมอ และมีมาอย่างยาวนาน น่าทึ่งมากว่าทำได้อย่างไร
องค์กรที่ดีไม่ใช่องค์กรที่ยิ่งใหญ่ องค์กรที่ดีจะเคลื่อนตัวเข้าสู่องค์กรที่ยิ่งใหญ่ได้ จะต้องมีกระบวนการสำคัญบางอย่างที่สามารถยกระดับองค์กรที่ดีขึ้นสู่องค์กรที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่ง Jim Collins ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “Good to Great” ถึงกระบวนการเล่านี้ไว้อย่างละเอียดและน่าติดตามอย่างยิ่ง

1.บุคลากรต้องมีวินัย (Disciplined People) ประกอบด้วย
ผู้นำระดับ 5 หมายความว่า มีความเป็นผู้นำที่มีความทะเยอทะยานสูง มีความมุ่งมั่นเพื่อองค์กร เพื่องานอย่างแรงกล้า รวมถึงการเผชิญปัญหา แต่ว่าสิ่งที่ทุ่มเทลงไปนั้นต้องไม่ทำเพื่อตนเอง มีอุปนิสัยสองด้านคือถ่อมตน (personal humility) แต่มีความตั้งใจสูงในวิชาชีพ (personal will)
เอาใครก่อนแล้วค่อยเอาไง (First Who-Then What) หมายความว่า ต้องมั่นใจว่าเลือกคนได้ถูกต้อง คนนี้แบบนี้ใช่เลย อะไรทำนองนี้ ชวนขึ้นรถ ใช้หลักการ เลือกถูกคน นั่งถูกที่ ทิ้งคนที่ไม่เหมาะสมลงไปจากรถ จากนั้นชวนกันขับรถไปในทิศทางและเป้าหมายที่เราต้องการไปร่วมกัน
2. วินัยทางความคิด (Disciplined Thought)
กล้าเผชิญความจริงอันโหดร้าย (Confront the Brutal Facts)
The Hedgehog Concept ความยิ่งใหญ่ขององค์กรเกิดจากการสะสมความสำเร็จเป็นเวลานาน เฉกเช่นจอมปลวก บนพื้นฐานความคิดแบบวงกลม 3 วง คือ วงแรก-เราทำอะไรเก่งที่สุดในโลก วงที่สอง-อะไรที่ทำให้เราหลงไหล วงที่สาม-อะไรดีที่สุดที่ใช้ขับเคลื่อน บริเวณที่วงกลมทั้งสามมาซ้อนทับกันนั้นคือ แกนสำคัญสู่ความยิ่งใหญ่
3.มีวินัยทางปฏิบัติ (Disciplined Action)
วัฒนธรรมองค์กรที่มีวินัย (Culture of Discipline) ทุกคนมีความรับผิดชอบสูงมาก
ลูกล้อบิน (The Flywheel) องค์กรที่มีนวัตกรรมเพียงชิ้นเดียว ไม่อาจทำให้องค์กรยิ่งใหญ่ได้ และไม่มีองค์กรไหนยิ่งใหญ่ได้ชั่วข้ามคืน ทุกคนต้องช่วยกันหมุนวงล้อแห่งความรับผิดชอบที่หนักหน่วง จนเกิดการหมุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะตามมาด้วยแรงเฉื่อย (inertia) ที่ทำให้เบาแรงลงได้เพราะมันแทบจะหมุนไปได้เอง
4.สร้างความยิ่งใหญ่ให้ได้ตลอดไป (Building Greatness To Last)
บุคลากรในองค์กรต้องยึดมั่น และมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงคือ ที่เรากำลังทำทุกวันนี้ เราทำเพื่ออะไร: What we stand for” ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะไม่หยุดการเปลี่ยนแปลงคือ ที่เรากำลังทำอยู่นั้น เราทำอย่างไร: How we do things”

     ผมเชื่อว่า องค์กรของเราๆ ท่านๆ เป็นองค์กรที่ดี แต่ความดีเป็นอันตราย แปลกไหมครับ ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเชื่อว่าองค์กรของเราดีแล้ว การพัฒนาองค์กรจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าหรือไม่พัฒนาเลย นี่แหละอันตรายของความดี อยากชวนให้เรามองไปสู่องค์กรที่ยิ่งใหญ่ด้วย โดยการศึกษาจากองค์กรอื่นๆที่ยิ่งใหญ่ให้ถ่องแท้ (benchmark) เพื่อให้เห็นแนวทางที่จะก้าวไปสู่องค์กรที่ดีและยิ่งใหญ่ต่อไป ขณะที่ก้าวไปสู่ความดีและยิ่งใหญ่ ก็ไม่ควรละเลยสัมผัสความสวยงามระหว่างทางที่ก้าวไป นั่นคือ มิตรภาพที่สวยงามระหว่างเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า และหวังว่าองค์กรจะไม่เป็นพิษเพราะเรามีส่วนทำให้มันเป็นพิษนะครับ


อ้างอิง:
1.องค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ
2.พลเมืองชาติไหนบ้างานที่สุดในโลก
3.องค์กรที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร
4.สาเหตุสำคัญของพิษในที่ทำงาน
5.Good To Great
6. From Good to Great: What Defines a Level V Leader?
7. TQA: Thailand Quality Award



4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 พฤษภาคม 2554 เวลา 08:05

    Lamyai Mansatean:.....
    ขอบพระคุณค่ะอาจารย์..ได้ใจจริงๆ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ26 พฤษภาคม 2554 เวลา 08:06

    Natchaya Somjariya:....
    เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ26 พฤษภาคม 2554 เวลา 21:39

    เอกรักษ์ ดงภูยาว :.........
    เดี๋ยวนี้องค์กรไหนก็มีพิษทั้งนั้นครับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้มลพิษมันเยอะ รถเยอะ โรงงานเยอะ คนก็เยอะ ช่วยกันหายใจออกคนละ 60-80 ปี พร้อมกับปล่อยก๊าซCO2 ออกมาด้วย ถ้าจะช่วยโลกได้ อยากรณรงค์ กลั้นใจคนละ 1 นาที ทั่วกันทั้งโลก ...เกี่ยวกันไหมนี่??

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ26 พฤษภาคม 2554 เวลา 21:41

    Natchaya Somjariya:........
    ผู้บริหารเป็นพิษ ผู้ใต้บังคับบัญชาจะทำอย่างไรค่ะ

    ตอบลบ