วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562

ใบประกอบโรคศิลปะรังสีเทคนิคมีอายุ 5 ปี บังคับใช้แล้ว

(1,614 ครั้ง)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2545 กฎหมายกำหนดให้ รังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะ หรือต้องมี license (กฤษฎีกากำหนดให้รังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ) ซึ่งได้มีการยกเลิกกฤษฎีกาฉบับนี้แล้ว แต่ได้ยกเนื้อหาทั้งหมดพร้อมมีการปรับปรุงเพิ่มเติมไปไว้ใน พรบ.ประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่4)พ.ศ. 2556 
หลังจากที่ได้กำหนดให้ต้องมี license เมื่อ 2545 เป็นต้นมาแล้วนั้น ก็มีการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนและขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ครั้งแรกเมื่อ 2547 และประกาศเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ให้นักรังสีเทคนิคจำนวน 56 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 25 ปี เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคกลุ่มแรก โดยการสอบคราวนั้นไม่ต้องสอบข้อเขียน
ตั้งแต่ พฤษภาคม 2547 จนสิ้นปี 2547 มีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวหลายฉบับออกมาบังคับใช้ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขียนถึงนี้ ได้แก่
🔻ระเบียบกระทรวงสาธารณาสุขว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (10 สิงหาคม 2547)ซึ่งต่อมาได้ยกเลิก โดยใช้จรรยาบรรณากลาง พ.ศ. 2559 แทน 
ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2547 นักรังสีเทคนิค 1,256 คน เข้าสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค นั่นเป็นจำนวนมากที่สุดที่นักรังสีเทคนิคเข้าสอบ แล้วก็มีการสอบเรื่อยมาทุกปี จนปัจจุบันมีนักรังสีเทคนิคขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 4,673 คน ทุกคนมี license รังสีเทคนิคที่ไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ ภายใต้บังคับของกฎกระทรวง พ.ศ. 2547
บรรยากาศการสอบ License เมื่อ 12 ธค 2547
ล่าสุด ได้มีกฎกระทรวงออกมาใหม่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ว่าด้วยการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 2 )  เป็นการเพิ่มรายละเอียดกฎกระทรวงที่ใช้ในปี 2547 เพิ่มเรื่องอายุของ license กำหนดให้มีอายุ 5 ปี เข้าไปในกฎกระทรวงนี้ 
ดังนั้น บัณฑิตรังสีเทคนิคทั้งที่เพิ่งจบและที่ยังตกค้างสอบไม่ผ่าน ที่จะเข้าสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ หากสอบผ่าน จะได้ license ที่มีอายุ 5 ปี และต่ออายุได้ตามเงื่อนไขที่กรรมการวิชาชีพฯกำหนด
ประเด็นน่าสนใจ คือ กฎใหม่นี้บังคับใช้กับผู้ที่มี license อยู่เดิมก่อนกฏกระทรวง 2562 จะบังคับใช้หรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากยังต้องมีการตีความกฎกระทรวงอันใหม่นี้ ซึ่งคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคกำลังดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไปโดยเร็ว

Related Links:
กฎกระทรวง พ.ศ. 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น