วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การเตรียมพร้อมของสถาบันผู้ผลิต บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค สู่ประชาคมอาเซียน

                                (5,540 ครั้ง)
เมื่อคราวไปประชุม 10thRT Consortium ที่ภูแก้วรีสอร์ท เขาค้อ เพชรบูรณ์ เจ้าภาพคือภาควิชารังสีเทคนิคนเรศวรเชิญให้ผมพูดเรื่อง การเตรียมพร้อมของสถาบันผู้ผลิต บัณฑิตสาขารังสีเทคนิคสู่ประชาคมอาเซียน
ต้องบอกก่อนครับว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไรหรอกครับ  เป็นเพียงอาจารย์และผู้บริหารคนหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค ที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ เป็นทั้งผู้ฟังและบางโอกาสก็เป็นผู้บรรยายสลับกันไป
โดยเริ่มต้นค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และพยายามติดตามฟังการบรรยายจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในหลายเวที ทั้งที่จัดภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และที่จัดภายนอกมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสฟังกูรูเรื่องนี้เช่น   ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ (เลขาธิการอาเซียน) ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ (เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD)) นายมนัสวี ศรีโสดาพล (เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำอาเซียน) นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ (รองอธิบดีกรมอาเซียน) คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ (นายกสมาคมอาเซียน ประเทศไทย) ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช (นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล) ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)  ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน (อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นต้น ผมได้เรียนรู้และแรงกระตุ้นจากท่านทั้งหลายเหล่านี้อย่างมากมาย และยังมีอีกหลายท่านที่ผมไม่ได้เอ่ยนามไว้  ต้องกราบขอบคุณทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ครับ 

ระหว่างเก็บเกี่ยวข้อมูลจากท่านทั้งหลายเหล่านั้น รวมทั้งแหล่งข้อมูลจากองค์การและองค์กรต่างๆ  บางเวลาผมก็จำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้พูด เช่น ในการประชุมวิชาการประจำปี 2555 ของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ในการประชุม 10th RT Consortium ที่ภูแก้วรีสอร์ท เขาค้อ เพชรบูรณ์ ที่ผมต้องพูดเรื่องเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ผมก็ได้นำข้อมูลทั้งหมดนั้นมาเรียบเรียงเชื่อมโยงกับเรื่องที่เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของสถาบันผู้ผลิต บัณฑิตสาขารังสีเทคนิคสู่ประชาคมอาเซียน
จึงขอนำเนื้อหาที่ผมพูดวันนั้นที่เขาค้อ มาบันทึกไว้ เพื่อชาวเราได้เรียนรู้ร่วมกันไปพร้อมๆกัน เป็นมุมมองหนึ่งจากผมแล้วกันครับ

ทำความรู้จักประชาคมอาเซียน
ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งอาเซียน (ASEAN)  กล่าวคือ อาเซียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ประเทศผู้ก่อตั้งคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ต่อมามีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มเติมตามลำดับจนถึงปัจจุบันรวมกันเป็น 10 ประเทศ คือ บรูไน (2527) เวียดนาม (2538)  ลาว (2540) พม่า (2540)  กัมพูชา (2542) ทั้ง 10 ประเทศมีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจที่โตมาก ขณะที่ประชากรโลกมีอยู่ราวๆ 7,000 ล้านคน

ผมกล้าพูดได้ว่า วินาทีนี้เมื่อเอ่ยคำว่า ประชาคมอาเซียน ท่านใดที่ไม่รู้จักต้องรีบทำความรู้จักได้แล้ว มิฉะนั้นจะตกเทรนด์ เพราะพุทธศักราช 2558 นับจากที่เขียนบทความนี้อีก 28 เดือนเท่านั้น คือวันที่ 1 มกราคม 2558 ประเทศไทยพร้อมด้วยประเทศสมาชิกอีก 9 ประเทศ ก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน “ASEAN Community” ประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะรวมตัวกันเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกัน วันนั้นจะมีการเฉลิมฉลอง ตีฆ้อง ตีกลอง ยิงพลุ กันหรือเปล่ายังไม่ทราบ

การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ผมได้เขียนไว้ใน ผลกระทบประชาคมอาเซียน2558 มีการรวมกันในหลายมิติ เพื่อให้ประชาคมอาเซียนสามารถยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่โอนเอียง ดังนั้นการรวมตัวกันจึงประกอบด้วยเสาหลัก 3 เสา ได้แก่
เสาที่หนึ่ง..ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  (ASEAN Security Community – ASC) เสาหลักนี้ มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้ง ระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง
     เสาที่สอง..ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) เสาหลักนี้ มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน เป็นเสาหลักที่มีการพูดถึงมากเหลือเกิน  มีรายละเอียดสำคัญดังรูป

เสาที่สาม..ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC) เสาหลักนี้ เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม

 The ASEAN WAY - the Anthem of ASEAN

เป็นผลงานจากประเทศไทยที่ชนะเลิศจากการแข่งขันระดับภูมิภาคอาเซียน ประพันธ์โดยนายกิตติคุณ สดประเสริฐ (ทำนองและเรียบเรียง) ได้เริ่มใช้บรรเลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นี่แหล่ะครับ ประชาคมอาเซียนฉบับย่อ

ข้อมูลสำคัญของแต่ละประเทศ
มาดูข้อมูลของประเทศในอาเซียนกันบ้างว่า ประเทศไทยอยู่ตรงไหน เราจะต้องเร่งพัฒนาส่วนใด เราสามารถที่จะช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว มีความรู้สึกของการเป็นประชาชาติอาเซียน ที่ไม่พยายามเอาชนะกัน แต่จะคอยช่วยเหลือกัน เป็นกัลยณมิตรต่อกัน

ข้อมูลจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
1. Population จำนวนประชากรทั้งหมดของแต่ละประเทศ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 4 รองจาก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จำนวนประชากรของอินโดนีเซียประมาณเกือบ 250 ล้านคน นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน 
      มีข้อน่าสนใจอีกคือ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้แสดง "ข้อมูลพีระมิดประชากร" ของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" แล้ว และมีการคาดการณ์ว่าในอีก 40 ปีต่อจากนี้ไป จะมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กถึงเกือบ 2 เท่า 



2. HDI ดัชนีการพัฒนามนุษย์หรือดัชนีคุณภาพประชากร (Human Development Index: HDI) เป็นดัชนีที่สะท้อนการอยู่ดีกินดีของประชากร ดูจากการศึกษา สุขภาพ และรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว (Gross National Income (GNI) per Capita) สำหรับภาพรวม HDI ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 รองจาก สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย แต่น่าสังเกตว่าถ้าดูแยกเฉพาะเรื่องการศึกษา ประเทศไทยจะมีอันดับลดลงไปอยู่ที่อันดับ 5 รองจากฟิลิปปินส์ด้วย



3. GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (Gross Domestic Product per Capita) ที่คิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity หรือ PPP) ประเทศบรูไนสูงสุด รองลงมาคือสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ประเทศที่เหลือจะเกาะกลุ่มกันและไม่มีข้อมูลของพม่า และจะเห็นว่าประเทศบรูไนและสิงคโปร์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวสูงกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนค่อนข้างมาก




ข้อมูลจากธนาคารโลก
เกี่ยวกับดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพทางด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI) สะท้อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆที่จะสามารถแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหน ธนาคารโลกได้กำหนดปัจจัยต่างๆในการวัด LPI ไว้ 7 ปัจจัย ได้แก่
1) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานพิธีการต่างๆของศุลกากร
2) คุณภาพด้านการขนส่ง ด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 
3) ความง่ายในการจัดการการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ
4) ความสามารถของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ 
5) ความสามารถในการสืบค้นสินค้าระหว่างมีการขนส่งทางเรือ 
6) ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ   
7) การส่งสินค้าถึงที่หมายตรงเวลา
จากการสำรวจของธนาคารโลกในปี 2553 ประเทศไทยตามหลังประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย และอยู่ในอันดับที่ 36 ของโลก

ข้อมูลจากกรมอาเซียน  กระทรวงการต่างประเทศ
ผลการสำรวจความคิดเห็น ของนักศึกษาจำนวน 2,170 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในช่วง ปี พ.ศ. 2551 2552 พบว่า
นักศึกษาไทยไม่รู้จักธงอาเซียนมากที่สุด คือรู้จักธงอาเซียนอยู่ในอันดับที่ 10 อันดับสุดท้ายเลย

นักศึกษาไทยมีความรู้สึกว่าเป็นประชาชนอาเซียนอยู่ในอันดับที่ 7 สำหรับประเทศสิงคโปร์รั้งท้ายในเรื่องนี้

นักศึกษาไทยมีความคุ้นเคยกับอาเซียนอยู่ในอันดับที่ 4 สังเกตว่าประเทศสิงคโปร์และบรูไนจะอยู่ในอันดับท้ายๆพม่าต่ำที่สุด คือนักศึกษาไม่คุ้นเคยกับอาเซียนนัก

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  (จร.)


เตรียมพร้อมต้องมอง-ทำอะไรบ้าง?
1.การศึกษาในภาพใหญ่ของโลก
มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และจะกระชากลากเราไปอย่างทุลักทุเล เราต้องเตรียมความพร้อมทันที ตลอดเวลา โดยเฉพาะบุคลากรต้องตามให้ทันและยืดหยุ่นปรับตัวให้รับสถานการณ์ได้ อย่าแข็งมากไปจนไม่ยอมปรับอะไรเลย  จะเป็นอย่างเดิมไปเรื่อยๆเหมือนเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว

2.การเปิด-ปิดภาคการศึกษา
ขณะนี้จะมีการปรับช่วงเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่ ให้เกิดความสอดคล้องกันในอาเซียน โดยที่ ประเทศไทยจะปรับให้ภาคเรียนที่ 1 เปิดเรียนระหว่าง 15 สิงหาคม 15 กันยายน ซึ่งจะตรงกับชาติอาเซียนส่วนใหญ่ รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับประเทศอังกฤษ สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษาไทยมีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ทำให้การแลกเปลี่ยนนักศึกษาต่อไปนี้ทำได้ง่ายขึ้น
การเลื่อนเปิด-ปิดภาคการศึกษาจะเริ่มใช้เป็นทางการปีการศึกษา 2557 ใช้กับนักศึกษาทุกชั้นปี สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวรจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2556 ที่จะถึงนี้
บัณฑิตจะสำเร็จการศึกษาล่าช้าออกไปประมาณ  4 เดือน คณะกรรมการวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพต้องพิจารณาจัดสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการจบการศึกษา
  
3.การโอนย้ายหน่วยกิต (Credit Transfer)
ประเทศในอาเซียนมีระบบการจัดการศึกษารังสีเทคนิคยังต่างกันพอสมควร อาจแบ่งได้เป็น  2 กลุ่มใหญ่ๆ  
กลุ่มแรก... เป็นกลุ่มที่มีระบบการผลิตเป็นแบบวิทยาศาสตร์บัณฑิต คือเน้นวิทยาศาสตร์และวิชาชีพรังสีเทคนิค ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย (บางมหาวิทยาลัย) เวียดนาม
กลุ่มที่สอง... เป็นกลุ่มที่มีระบบการผลิตเป็นแบบรังสีเทคนิคบัณฑิต คือเน้นวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างเดียว ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา
ส่วนอินโดนีเซีย  พม่า และบรูไนไม่มีข้อมูล
สถาบันการศึกษาต้องเตรียมการเพื่อรองรับเรื่อง การโอนย้ายหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัยในอาเซียนด้วยกัน ว่าจะทำอย่างไร กฎเกณฑ์จะเป็นอย่างไร

ต่อไปเมื่อถามว่า คุณจบรังสีเทคนิคจากที่ไหน
อาจจะตอบยากว่าจบจากที่ไหน จบจากมหิดล เชียงใหม่ นเรศวร สงขลานครินทร์ รามคำแหง ขอนแก่น จุฬาฯ หรือที่ไหน ตอบยาก มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคต ตอนเรียนนั้น อาจเรียนหลายมหาวิทยาลัยที่มีจุดดีเด่นแตกต่างกัน โดยที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ร่วมมือกันสร้างนักรังสีเทคนิคพันธ์ใหม่ เป็นนักรังสีเทคนิคไทยก็เป็นได้  ไกลกว่านั้นอาจจะฝันไปถึงการเรียนใน 3-4 มหาวิทยาลัยในอาเซียนกว่าจะจบ  ได้ประสบการณ์ดีๆเยอะมากจากมหาวิทยาลัยที่มีจุดแข็งของแต่ละประเทศ หล่อหลอมเป็นนักรังสีเทคนิคอาเซียนก็เป็นได้


4.ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของ ASEAN
บุคลากรและนักศึกษา ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ให้สามารถสื่อสารได้
มีผลวิจัยระบุว่า นักศึกษาไทย 8 คนจาก 10 คนไม่กล้าไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียน เพราะกลัวเรื่องภาษา แต่นักศึกษาประเทศอื่นในอาเซียน ส่วนใหญ่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย

ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องการพัฒนาการพูดภาษาอังกฤษ พบว่าคนแอฟริกาใต้ 50 ล้านคนทั่วประเทศ แทบทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ไม่ว่าจะคนแก่หรือเด็ก แม้ว่าการพัฒนาภาษาอังกฤษในแอฟริกาใต้ พึ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2537 วิธีการหนึ่งที่เลือกใช้คือ มีการกำหนดให้ทุกคนต้องพูดภาษาอังกฤษวันละ 1 ชั่วโมง
นอกจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองแล้ว ยังต้องมองภาษาที่สาม ภาษาที่สี่ อีกด้วย หลายมหาวิทยาลัยมีการสอนภาษาเหล่านี้ แต่การเรียนภาษาที่สามและภาษาที่สี่จะให้ดีก็ควรเรียนที่ประเทศที่ใช้ภาษานั้น เช่น ภาษา bahasa ก็น่าจะเรียนที่ดินโดนีเซีย เป็นต้น

5.ปรับปรุงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์
ต้องมีกระบวนการกระตุ้นอาจารย์ และบุคลากรทุกคนให้สนใจเรื่องประชาคมอาเซียนอย่างจริงจัง ทั้งนี้มีผลวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าบุคลากรการศึกษาไทยร้อยละ 80 รู้เรื่องอาเซียนน้อย  กระบวนการสอนที่สอดแทรกเรื่องอาเซียนต้องกระทำอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง
และเพื่อลดข้อขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน (Conflict Management) จึงต้องคำนึงถึงการสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง ASEAN ให้มากขึ้น ให้มีความรู้สึกเป็นอาเซียน (ASEAN Identity) เราต้องกำจัดความรู้สึกว่าประเทศในอาเซียนบางประเทศ ด้อยกว่า แย่กว่า แล้วไปดูถูกเขา  เราต้องไม่คิดไม่พูด ไม่แสดงออก ในแบบที่ประเทศในอาเซียนบางประเทศเป็นตัวตลกของเรา

6.สร้างบัณฑิตให้สามารถแข่งขันได้ใน ASEAN
เพิ่มโอกาสในการทำงาน ไม่เช่นนั้น จะถูกแย่งงานเพราะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน/บริการอย่างเสรี คณะกรรมการวิชาชีพ สภาวิชาชีพ ต้องเตรียมการรองรับผลกระทบนี้อย่างเร่งด่วน
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) แนะนำว่า น่าจะต้องมีการสังคายนาเรื่องใบประกอบวิชาชีพ กับอำนาจในการควบคุมหลักสูตรของสภาวิชาชีพ เสียใหม่ ซึ่งหมายถึง วิชาชีพรังสีเทคนิคที่ต้องสดับตรับฟังข้อแนะนำนี้ด้วย แม้จะยังเป็นคณะกรรมการวิชาชีพ
สกอ. ได้แนะนำในทำนองว่า ขอให้ช่วยพิจารณาขอบเขตของกฎเกณฑ์ใน การกำกับการผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขาของสภาวิชาชีพ ซึ่งบางครั้งมีความยากเกินไป เช่น
บางวิชาชีพมีการลงไปกำกับติดตาม และตรวจประเมินเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรเป็นรายปี  
บางวิชาชีพกำหนดให้ต้องใช้ ศาสตราจารย์ (ศ.) และดอกเตอร์ (ดร.) ในการสอนนักศึกษาปริญญาตรี ซึ่งถือว่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของสถาบันอุดมศึกษาที่กำหนด ให้อาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาตรีมีความรู้ทั่วไปก็เพียงพอแล้ว
ปัญหาทางกฎหมายของ 8 วิชาชีพ ที่ได้มีการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) ไปแล้ว เป็นวิชาชีพที่มีความสามารถพิเศษ (skilled labor) และต้องมีใบประกอบวิชาชีพ จำเป็นต้องมีการสอบก่อนได้ใบประกอบวิชาชีพ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดการสอบ คือถ้าสอบของไทยต้องเป็นภาษาไทย ไม่เว้นแม้แต่วิชาชีพแพทย์ ก็มีการสอบใบประกอบวิชาชีพ เป็นภาษาไทย ดังนั้น ในระยะยาวอาเซียนต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล (set standards)  เพราะได้ตกลงกันแล้วว่าให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของอาเซียน ดังนั้น ก็ควรที่จะจัดสอบใบประกอบวิชาชีพ เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนการทำงานในประเทศใดหากสอบผ่านของประเทศนั้นๆแล้ว ผู้สอบผ่านจะมีความสามารถพูด-สื่อสารภาษาของประเทศนั้นๆได้อีกก็เป็นข้อได้เปรียบของเขา ที่ประเทศนั้นจะตกลงว่าจ้าง เช่น ถ้าไปทำงานในอินโดนีเซียนอกจากจะรู้ภาษาอังกฤษแล้วยังต้องรู้ภาษา bahasa ด้วย

7.โอกาสในการเป็น Education Hub
โดยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ที่ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ที่ศูนย์กลางของอาเซียน ประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางของการศึกษา อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทย ในเรื่องคุณภาพการศึกษาเราต้องเน้นให้มากๆ ต้องใช้คุณภาพการศึกษาเป็นตัวนำจึงจะได้เปรียบจริงและสามารถช่วยเหลือมิตรประเทศในอาเซียนได้จริง

8.เราต้องการเครื่องมือในการ Transform คน
การเรียนแบบ PBL หรือ Project Based Learning น่าจะได้มีการวิจัยอย่างจริงจังและนำมาปรับใช้  ต่อไปนี้ห้องเรียนไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆแล้ว ห้องเรียนจะเป็นอะไรที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะระบบเทคโนโลยีการสื่อสารได้ถูกพัฒนาขึ้นจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง
การเรียนปฏิบัติการอาจจะมีเพื่อนนักศึกษาจากประเทศในอาเซียน มาร่วมเรียนกับนักศึกษารังสีเทคนิคของไทย โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แบบนี้อาจารย์จะสอนได้ยากขึ้น เตรียมตัวมากขึ้น อาจารย์จะปรับบทบาทของตัวเองเป็นผู้ที่ช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้  แสดงว่าอาจารย์ต้องมีความพร้อมมากกว่าเดิมและเก่งจริงๆ เป็นแบบที่เรียกว่า “teach less, learn more” คือสอนแต่น้อยเรียนรู้ให้มากๆ 


9.ถอดรหัสยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558
สกอ.ได้กำหนด “ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ. 2558” ไว้ทั้งหมด 3 ยุทธศาสตร์  ซึ่งผมได้เคยเขียนไว้แล้ว  click >>>

สรุปการเตรียมความพร้อม
# ปรับ mindset เข้าใจผลกระทบของการเป็นประชาคมอาเซียน
# ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน เข้าใจความเป็นประชาคมอาเซียน
# ภาษาอังกฤษ(ภาษาที่สอง) ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน (ภาษาที่สาม-สี่)
# ความรู้เกี่ยวกับกฎ ระเบียบต่างๆของอาเซียน
# พัฒนาทักษะของแรงงานมีฝีมือให้มีมาตรฐาน
# สร้างเครือข่าย
# การปรับตัวของสภาวิชาชีพและ ก.ช.
# ถอดรหัสยุทธศาสตร์อุดมศึกษาเรื่องอาเซียนที่ สกอ. กำหนด

ในความเห็นของผมนั้น การเดินหน้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นเหมือนการเดินขึ้นภูเขาที่มีเป้าหมายอยู่ที่ยอดเขา เป้าหมายชัดเจนครับ ระหว่างการเดินขึ้นยอดเขา เป็นธรรมดาที่เราก็จะมีใจจดจ่ออยู่ที่เป้าหมายคือยอดเขา แล้วเราก็มุ่งเดินขึ้นไปให้ถึงยอด ระหว่างเดินขึ้นไปนั้น ใช้แรงมาก เหนื่อยมาก และถ้าจิตใจเรานึกถึงแต่ยอดเขาอย่างเดียว โดยมุ่งที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ขึ้นไปให้ถึง  เราอาจละเลยที่จะมองความสวยงามของสิ่งต่างๆหรือมิตรภาพอันสวยงามระหว่างทางที่เราเดินขึ้นไปก็ได้  อันนี้น่าเสียดาย

     ท้ายที่สุดนี้ ผมจึงหวังว่า การเดินหน้าสู่ประชาคมอาเซียน จะสำเร็จประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน บนพื้นฐานของการได้รับประโยชน์ร่วมกันในแบบ win-win ด้วยกันทุกฝ่าย  เราได้ เขาก็ได้ คงไม่มีใครมีความสุขหรือพอใจนักหรอก หากเราหรือเขารู้สึกว่ากำลังเสียเปรียบ (loss) จริงไหมครับ

Related Links:
1) ผลกระทบประชาคมอาเซียน 2558
2) ประชาคมอาเซียนกับวิชาชีพอาเซียน
3) ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน2558
4) เส้นทางเดินของ RT Consortium
5) 10th RT Consortium เรื่องเล่าสบายๆ
จำนวนผู้อ่านบทความนี้ 5,540 ครั้ง (13สค2555-30สค2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น