วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

รังสีเทคนิค ม.รังสิต

(3,058 ครั้ง)
   มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดคณะรังสีเทคนิคเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยที่สภามหาวิทยาลัยรังสิตอนุมัติและให้จัดอยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์-สุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยคณะต่างๆดังนี้

  วิทยาลัยแพทยศาสตร์ 
  วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก 
  คณะทันตแพทยศาสตร์ 
  คณะเภสัชศาสตร์ 
  คณะพยาบาลศาสตร์ 
  คณะเทคนิคการแพทย์ 
  คณะกายภาพบำบัด 
  คณะทัศนมาตรศาสตร์ 
  คณะรังสีเทคนิค 
  คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ 
  คณะวิทยาศาสตร์
    คณะรังสีเทคนิค เป็นสถาบันการศึกษาสาขารังสีเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทยที่บริหารจัดการแบบคณะ มุ่งตอบสนองความต้องการของตลาด นับเป็นก้าวสำคัญของรังสีเทคนิคไทย 
บรรยากาศบริเวณโถงทางเข้าคณะรังสีเทคนิค
บรรยากาศรอบๆอาคาร 10 ที่ตั้งของคณะรังสีเทคนิค
   โดยที่ ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยรังสิตกับมหาวิทยาลัยของรัฐคือ ระบบการจัดการ โดยที่ภาพรวมของการจัดการศึกษารังสีเทคนิคทั้งหมดส่วนใหญ่ จะเป็นการบริหารจัดการโดยภาควิชาที่สังกัดคณะเทคนิคการแพทย์ หรือคณะสหเวชศาสตร์ อีกรูปแบบหนึ่งคือ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ หรือร่วมกันผลิตระหว่างคณะสหเวชศาสตร์กับคณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น 
บรรยากาศทางเดินหน้าห้องปฏิบัติการรังสีเทคนิค
เปิดสอนรังสีเทคนิคเพื่อตอบสนองความต้องการ
  เนื่องจาก วิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีค่าตอบแทนสูง ทั้งนี้ จากผลการสำรวจโดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากวุฒิสภา ในปี 2553 สำรวจพบว่า มีความต้องการนักรังสีเทคนิคทั้งประเทศประมาณหนึ่งพันกว่าคน ณ ขณะนั้น ซึ่งในปัจจุบันจากการสำรวจล่าสุดพบว่า ความต้องการนักรังสีเทคนิคเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสามพันคน และจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานกพ.พบว่าค่าเฉลี่ยค่าตอบแทนภาคเอกชนสำหรับนักรังสีเทคนิคจบใหม่ในปี 2556 ประมาณ 33,000 บาทต่อเดือน 
  มหาวิทยาลัยรังสิตจึงเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเติมเต็มความขาดแคลนนี้ จึงได้จัดตั้งคณะรังสีเทคนิคขึ้นให้มีภารกิจในการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค โดยมีเป้าหมายในการผลิตปีละ 50 คน โดยให้มีมารตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยของรัฐบาล เพราะตระหนักดีว่า เรื่องของคุณภาพต่อรองไม่ได้ 
  ทั้งนี้ บัณฑิตที่จบไปจะสามารถทำงานเป็นนักรังสีเทคนิค หรือนักรังสีการแพทย์ ซึ่งเป็นวิชาชีพเฉพาะในทางการแพทย์ โดยช่วยแพทย์รักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยโดยการใช้รังสี การสร้างภาพรังสีเพื่อตรวจดูอวัยวะภายในของผู้ป่วย เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ การทำซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ อัลตราซาวด์ เป็นต้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รังสีวินิจฉัย  เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และรังสีรักษา คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีการเรียนการสอนครบทั้ง 3 สาขา 
  บัณฑิตที่จบไปก็จะไปทำงานทางด้านนี้ นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นผู้ประกอบการคลินิกรังสีเทคนิค นักวิชาการที่ทำงานวิจัยหรือสอนในสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้แทนฝ่ายขาย ผู้สนับสนุนการขาย ตามบริษัทจำหน่ายเครื่องมือทางรังสีวิทยา หรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

หลักสูตร
   คณะรังสีเทคนิคมีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิคตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งจัดทำตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ก.ช.)เป็นหลักสูตรที่มีจุดเด่นที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ มีความร่วมมือร่วมผลิตอย่างเป็นทางการกับบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน) ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือรวม 44 แห่งทั่วประเทศไทย และยังมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับโรงพยาบาลเลิดสินซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาลเพื่อเป็นแหล่งฝึกงาน และมีแผนงานที่จะทำความตกลงร่วมมือกับโรงพยาบาลของรัฐบาลเพิ่มขึ้นตามลำดับ
มหาวิทยาลัยรังสิตลงนามร่วมผลิตกับ
บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน)
1 มีนาคม 2559
 คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคให้การรับรองมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันการศึกษา ที่สามารถจัดการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของ ก.ช. ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2559
หนังสือรับรองม.รังสิตของ ก.ช.
  หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตร 4 ปี โดยปีที่ 1 เป็นการเรียนวิชาพื้นฐาน มีการแนะนำให้รู้จักว่าวิชาชีพของรังสีเทคนิคคืออะไร ปีที่ 2 เรียนวิชาพื้นฐานทางวิชาชีพ ปีที่ 3 เรียนรู้เทคนิคและความรู้ใน 3 สาขาของรังสีเทคนิค คือ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และปีที่ 4 เรียนภาคปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจริงตามโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยจะไปฝึกงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนชั้นนำที่มีความตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือรังสีครบทั้ง 3 สาขา และมีนักรังสีเทคนิคปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์สูงทุกคน ในขณะเดียวกันนักศึกษาจะต้องทำโปรเจกต์เพื่อได้เรียนรู้กระบวนการทำวิจัย 
นักศึกษารังสีรังสิตปี 1 ศึกษาดูงานด้านรังสีวิทยาในโรงพยบาล
ทั้งของรัฐและเอกชน (BDMS) ที่มีความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ
 ดังนั้น บัณฑิตรังสีเทคนิคที่จบจากมหาวิทยาลัยรังสิต จะมีทักษะทางวิชาชีพครบทุกด้าน สามารถทำงานได้ทั้ง 3 สาขา ที่ตลาดต้องการ และมีพื้นฐานที่จะเป็นผู้ประกอบการคลินิกรังสีเทคนิคด้วยการบูรณาการการจัดการศึกษาที่เป็นเลิศ การวิจัย และบริการทางวิชาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือจุดเด่นของคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากสอนให้มีทักษะทางวิชาชีพรังสีเทคนิคแล้ว ยังสอนให้เค้ามีพื้นฐานความรู้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายได้ประกาศแล้วว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคสามารถเปิดคลินิกของตัวเองได้ 

อาจารย์
   อาจารย์ประจำหลักสูตร ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการ สอน วิจัย พัฒนานักศึกษาในด้านต่างๆ มาจาก ผู้มีประสบการณ์ทางด้านบริหารจัดการศึกษาสาขารังสีเทคนิคยาวนานจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการศึกษาและวิชาชีพรังสีเทคนิค มีจำนวนและคุณภาพเป็นไปตามาตรฐาน 
ปัจจัยเกื้อหนุน
    ปัจจัยเกื้อหนุนในที่นี้หมายถึง สิ่งต่างๆที่ช่วยให้การดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างดี มีมาตรฐานตามที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคกำหนด คณะรังสีเทคนิคได้จัดเตรียมปัจจัยเกื้อหนุนให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน การวิจัย รวมถึงการพัฒนานักศึกษาในด้านอื่นๆ ให้นักศึกษาได้ใช้เพื่อการเรียนรู้อย่างดี 
    อาคารสถานที่
    คณะรังสีเทคนิค ตั้งอยู่ที่อาคาร 10 ชั้น 9 และ 10 ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต (แผนที่) มีอาคารสถานที่ เหมาะสมและเพียงพอ ต่อการจัดการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานวิชาชีพ เน้นการใช้ RT Smart Classroom และ RT Smart Lab ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความพร้อมสูงสุดก่อนที่จะเรียนฝึกงานวิชาชีพ ประกอบด้วย
    ห้องบรรยาย
   ขนาดความจุ 70 ที่นั่ง 1 ห้อง (RT Smart Classroom) ห้องบรรยายขนาดความจุ 50 ที่นั่ง 3 ห้อง ห้องประชุมโครงการกลุ่มย่อย 5 ห้อง
    ห้องปฏิบัติการ (RT Smart Lab)
Oห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการรังสีรักษา 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการเครื่องมือทางรังสีพื้นฐาน 1 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการ Medical Image Processing 1 ห้อง
Oห้องโถงต้อนรับขนาดใหญ่ ห้องพักและทำกิจกรรมนักศึกษาขนาดความจุมากกว่า 70 คน
นักศึกษารังสีรังสิตรุ่นที่ 1 พ.ศ. 2559

    เครื่องมือรังสีที่สำคัญ
   เครื่องมือรังสีที่ติดตั้งที่คณะรังสีเทคนิค เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1-3 เช่น เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป เครื่องอ่านสัญญาณภาพชนิด CR เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับติดตั้งกับจอวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ Radiographic & Fluoroscopic QC Kit ชุดอุปกรณ์วัดปริมาณรังสี โครงกระดูกจำลอง เครื่องมือปฏิบัติการด้านรังสีรักษา เครื่องมือปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เครื่องมือปฏิบัติการพื้นฐานรังสีเทคนิค เป็นต้น
เครื่องเอกซเรย์ทั่วไประบบ digital โครงกระดูก และจอแสดงภาพขนาดใหญ่เพื่อสอนแสดง
เครื่องเอกซเรย์เสมือนจริงช่วยการสอน มองเห็นการทำงานภายในของหลอดเอกซเรย์
ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบและสร้างโดยคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค
   คณะรังสีเทคนิคเน้นการสอนจากประสบการณ์ ตั้งแต่พื้นฐานรังสีเทคนิคจนถึงการใช้รังสีเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคและรักษาโรค เช่น เครื่องเอกซเรย์เสมือนจริง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบและสร้างโดยคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค เป็นเครื่องแรกในประเทศไทยสำหรับสอนนักศึกษา ให้นักศึกษาสามารถศึกษาการทำงานของหลอดเอกซเรย์จริงๆ เห็นไส้หลอดเอกซเรย์สุกสว่างขณะเตรียมการผลิตเอกซเรย์ จานแอโนดที่กำลังหมุนด้วยความเร็วสูง จำลองการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า จำลองชุดรับภาพเอกซเรย์ เป็นต้น
    หนังสือ/ตำรา/วารสาร/อินเตอร์เน็ต
  สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยรังสิตมี หนังสือ ตำรา วารสารวิชาการ สาขารังสีเทคนิคและที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอนในสาขารังสีเทคนิค อย่างเพียงพอ สามารถสืบค้นจากฐานข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้เมื่อนักศึกษาลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแล้ว และมีหนังสือและตำราที่เป็นผลงานของคณาจารย์คณะรังสีเทคนิคจำนวนหนึ่ง เช่น คู่มือการถ่ายภาพเอกซเรย์สำหรับนักรังสีเทคนิคมือใหม่ เอกซเรย์คอมพิวเต็ดโทโมกราฟฟี่ พื้นฐานทางฟิสิกส์ของ CT และ MRI การควบคุมคุณภาพของภาพเอกซเรย์ เป็นต้น
   นักศึกษาสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ภายในมหาวิทยาลัยรังสิตผ่านระบบ wi-fi เพื่อความสะดวกในการสืบค้นข้อมูล และมหาวิทยาลัยได้มอบ iPad ให้นักศึกษาทุกคนที่ลงทะเบียนเรียน เพื่อให้ใช้ในการเรียน ทั้งในและนอกห้อง smart class room 
หนังสือ/ตำรา ซึ่งเป็นผลงานของคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค
การเรียนการสอน     
  คณะรังสีเทคนิครับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค หลักสูตร 4 ปี มีแผนรับปีการศึกษาละ 50 คน เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป การเรียนรังสีเทคนิคที่นี่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ นอกจากความรู้ในวิชาชีพรังสีเทคนิคแล้ว นักศึกษาจะได้เรียนรู้ในด้านอื่นๆ เช่น ธรรมาธิปไตย ภาษาอังกฤษ กีฬา ทักษะในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ ด้วย



วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

World Radiography Day 2016


(1,218 ครั้ง)
      ในโอกาสวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 121 แห่งการค้นพบรังสีเอกซ์ โดยศาสตราจารย์เรินท์เกน แห่งมหาวิทยาลัย Wurgburg ประเทศเยอรมัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวัน  “World Radiography Day” หรือที่ชาวเราเรียกว่า วันรังสีเทคนิคโลก กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ขอใช้โอกาสนี้แต่เนิ่นๆ เพื่อแสดงความระลึกถึง ศาสตราจารย์เรินท์เกนผู้จุดประกายรังสี ส่องชีวิต ส่องโลก คุณประโยชน์อันอเนกอนันต์ของรังสีเอกซ์ เป็นการเตือนความทรงจำให้เราท่านทั้งหลายได้ระลึกรู้ เฉกเช่นคนไทยและมนุษย์โลกทั้งหลายที่มีความกตัญญู รู้คุณ 
      ชาวเรา นักรังสีเทคนิคทุกคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ขออนุญาตเชิญชวนทุกคนนะครับ พร้อมใจกัน ร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อยู่ที่ไหนก็ทำที่นั่นครับ  ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นี้ 
      หรือถ้าชาวเราสะดวกที่จะมารวมตัวกันทำกิจกรรมให้ดูเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่าที่เคยเป็นมา ขอเชิญมาร่วมงานที่มหาวิทยาลัยรังสิต  ซึ่งในปีนี้ คณะรังสีเทคนิคร่วมกับ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย และบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน)ได้ร่วมกันจัดงาน World Radiography Day ภายใต้หัวข้อ "รังสีเทคนิคกับคนรุ่นใหม่" ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. 

      กิจกรรมช่วงเช้า 
      เริ่มต้นด้วยกิจกรรมรำลึกถึงศาสตราจารย์เรินท์เกน
      ถัดจากนั้น จะเป็นการเสวนา พูดคุย สบายๆ 
      O เสาวนาโดยนักศึกษารังสีเทคนิค กับคำถาม.... ทำไมต้องเรียนรังสีเทคนิคด้วย (ไม่ใช่แค่วิชาชีพขาดแคลน ค่าตอบแทนสูง) RT มีดีกว่าที่คิด ต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ไหม การลงมือจริงกับการฝึกงานเป็นอย่างไง
      O เสาวนาโดยผู้มีประสบการณ์สูงในวิชาชีพรังสีเทคนิค ได้แก่
       1)คุณสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย จะพูดคุยว่า ทำไมต้องเป็นนักรังสีเทคนิค
       2)อาจารย์กัลยาณี ทวนสุวรรณ Ancillary Director โรงพยาบาลกรุงเทพ จะมาเสวนาในหัวข้อ "นักรังสีเทคนิคกับคุณภาพที่ต่อรองไม่ได้"
       3)ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล และรองประธานสมาคมรังสีเทคนิคโลก (ISRRT) จะมาเสวนาเรื่อง "Quality Assurance: The Radiographer takes a central role"
      โดยที่การเสวนานี้จะมีความแตกต่างจากการประชุมทางวิชาการที่ได้จัดกันเป็นประจำปีอยู่แล้วโดยสมาคมวิชาชีพต่างๆ จะไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชาการล้วนๆลึกๆสลับซับซ้อน เป็นเรื่องฟังง่ายๆครับ
      กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้ชาวเรามีกำลังใจที่กล้าแข็ง ดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความสุขอย่างสมดุลเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นกิจกรรมที่บอกให้สังคมรู้ว่า "เราคือนักรังสีเทคนิค" เป็นกิจกรรมที่ชาวเราทุกคนทำเพื่อตอบแทนสังคม

      กิจกรรมช่วงบ่าย เป็นการเยี่ยมชมคณะรังสีเทคนิค ชมสวนรังสีเทคนิค (RT Park) ชมนิทรรศการคนรุ่นใหม่ เล่นเกมส์(ผู้ชนะมีรางวัลให้)

ชาวเราและผู้สนใจร่วมกิจกรรมฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2997-2200-30 ต่อ 1704 ขอเชิญชวนชาวเรามารวมกันแสดงพลังสร้างสรรค์ของนักรังสีเทคนิค ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม


"รังสีแพทย์จะก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าขาดนักรังสีเทคนิคที่ดีและสามารถ"
นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว
รังสีแพทย์ผู้สร้างวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งแรกในประเทศไทย (2508)