วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

แนะนำรังสีเทคนิค


        (35,169 ครั้ง)
     ผู้คนทั่วไป ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับรังสีเทคนิคอยู่มาก เท่าที่พบในอินเตอร์เน็ท มักมีการโพสต์ถามปัญหากันและคนตอบก็ไม่ทราบว่ารู้จริงหรือไม่ ก็ว่ากันไป  จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ถูกบ้าง ผิดบ้าง
นอกจากอินเตอร์เน็ทแล้ว ที่พบหน้าพบตาพูดคุยกันเลยอันนี้เด็ดกว่า คือผมได้มีโอกาสพบปะผู้ปกครองของนักเรียนที่เลือกเรียนสาขารังสีเทคนิค วันที่สอบสัมภาษณ์ ด้วยความรักลูก ห่วงลูก ผู้ปกครองที่พบกับผมจะมีคำถามยอดฮิตชนิดที่ผมเองคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ธรรมดาสำหรับผู้ปกครอง คือ

เรียนรังสีเทคนิคจะทำให้เป็นหมันไหม ?
      เรียนรังสีเทคนิคอันตรายไหม?
      เรียนอะไรบ้าง?
      ค่าเล่าเรียนแพงไหม?
จบแล้วทำงานรังสีเทคนิคได้เลยหรือไม่?
จะตกงานไหม?
เงินเดือนเท่าไร ความก้าวหน้าล่ะดีไหม?
เรียนต่ออะไรได้บ้าง?
      เปิดสอนที่ไหนบ้าง?
ฯลฯ..................................


ในฐานะที่ผมได้ทำงานทางด้านการศึกษารังสีเทคนิคมามากกว่า 30 ปี เป็นอาจารย์สอนรังสีเทคนิค  เป็นผู้บริหาร และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค  จึงขอใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับรังสีเทคนิค ทั้งการเรียนและการเข้าสู่ระบบงาน เพื่อให้ผู้ปกครองของนักเรียน อาจารย์แนะแนว นักเรียนที่กำลังตัดสินใจเลือกเรียนสายวิชาชีพรังสีเทคนิค มีความเข้าใจที่ถูกต้อง 


คณบดีคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต พูดคุยเกี่ยวกับหลักสูตรรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต 
ทางโทรทัศน์ดาวเทียมรายการ Wisdom Station (1 มิย 2559)

รังสีเทคนิคคืออะไร?
ว่ากันตามภาษากฎหมายเลยครับ อ่านแล้วไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา
รังสีเทคนิค หมายถึง การกระทำใดๆต่อมนุษย์โดยใช้รังสีหรือสารกัมมันตรังสีทางการแพทย์ชนิดต่างๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค การบำบัดโรคหรือการวิจัย ด้วยวิธีการทางรังสีวิทยา หรือการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางรังสีวิทยา เช่น เครื่องเอกซเรย์ธรรมดา เครื่องเอกซเรย์แบบดิจิทัล เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอ็มอาร์ไอ เครื่อง SPECT เครื่อง PET เครื่องโคบอลต์-60 เป็นต้น

รังสีเทคนิคมีมาตั้งแต่เมื่อไร?
ความต้องการนักรังสีเทคนิค
วิชาชีพรังสีเทคนิค กำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศักราช  2508 โดยภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค ซึ่งผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคออกไปรับใช้สังคมแล้วจนถึงปัจจุบัน ร่วม 2,000 คนแล้ว สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน "ประวัติการสร้างวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งในประเทศไทย" 
บัณฑิตรังสีเทคนิคจากทุกสถาบันที่จะประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นนักรังสีเทคนิค ต้องสอบขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ปัจจุบันมีสถาบันที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล เชียงใหม่ นเรศวร ขอนแก่น สงขลานครินทร์ จุฬาฯ ม.รังสิต และรามคำแหง รวมนักรังสีเทคนิคที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั่วประเทศไทยประมาณ 4,000 คน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน

การสอบข้อเขียนเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ
สาขารังสีเทคนิค ครั้งแรกในประเทศไทย พ.ศ. 2547

สาขารังสีเทคนิคเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นนักเรียนต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายเสียก่อน และสอบเข้าเรียนสาขารังสีเทคนิคให้ได้ 
      การเรียนการสอนในสาขารังสีเทคนิคนั้น มุ่งที่จะสร้างบัณฑิตในระดับปริญญาตรีเข้าสู่วิชาชีพรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นการใช้รังสีทางการแพทย์ ใช้รังสีกับมนุษย์ กับผู้ป่วย ทั้งในด้านการวินิจฉัย รักษาโรค และการวิจัย นักศึกษาจะต้องเรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในด้านรังสีวินิจฉัย ด้านรังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์

หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ม.มหิดล (พ.ศ.2551)


      สาขารังสีวินิจฉัย
      ในด้านรังสีวินิจฉัยเป็นการใช้รังสีในการวินิจฉัยโรค ตัวอย่างคือ การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรรมดา (Conventional X-ray) แบบแอนาล็อกหรือแบบดิจิทัล การเอกซเรย์แบบที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพ 3 มิติของอวัยวะต่างๆ หรือ Computed Tomography (CT) Magnetic Resonance Imaging (MRI)Ultrasound Mammogram เป็นต้น
     
      สาขารังสีรักษา
      ด้านรังสีรักษา เรียนการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อรักษาโรค เช่น โรคมะเร็ง เครื่องมือทางรังสีได้แก่ เครื่องเร่งอนุภาคฉายรังสี เครื่องรังสีรักษาชนิดสัมผัสอวัยวะภายใน เครื่องจำลองการฉายรังสีโดยใช้ X-ray,CT,MRI เป็นต้น
 สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์
      ส่วนด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์เรียนการให้สารรังสีเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อถ่ายภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายรวมถึงการรักษาโรค เช่น Single Photon Emission Computed Tomography (SPECT) Bone Densitometer (BD) Positron Emission Tomography (PET) เป็นต้น
      เรียนจบแล้วประกอบอาชีพอะไร?
      ประกอบอาชีพเป็นนักรังสีเทคนิคหรือนักรังสีการแพทย์ ซึ่งทำงานในโรงพยาบาล มีหน้าที่หลักคือถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจอวัยวะภายในร่างกายผู้ป่วย การใช้รังสีเพื่อการรักษาผู้ป่วยด้วยรังสี โดยทำงานเป็นทีมร่วมกับรังสีแพทย์ พยาบาล และนักฟิสิกส์การแพทย์ เนื่องจากเครื่องมือทางด้านรังสีทางการแพทย์มีราคาสูงมาก จึงกล่าวได้ว่า นักรังสีเทคนิคเป็นผู้ที่ใช้เครื่องมือราคาแพงที่สุดในโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ป่วย
     เปิดคลินิกรังสีเทคนิค ซึ่งในปัจจุบันนี้กฎหมายอนุญาตให้นักรังสีเทคนิคที่มีใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค สามารถขอเปิดคลินิกรังสีเทคนิคได้แล้ว
หากไม่ชอบทำงานในโรงพยาบาล อยากเป็นนักธุรกิจล่ะ ก็สามารถทำงานเป็นนักธุรกิจ เป็นพนักงานขายเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือรังสี ซึ่งมีราคาสูงมาก เครื่องมือบางชนิดราคามากกว่า 100 ล้านบาท เป็นต้น หากทำงานในโรงพยาบาลจึงกล่าวกันว่า นักรังสีเทคนิคเป็นผู้ที่รับผิดชอบการใช้เครื่องมือรังสีวิทยาทางการแพทย์ที่มีราคาแพงที่สุดในโรงพยาบาล

ถ้าเรียนสาขารังสีเทคนิค ระหว่างเรียนและทำงาน รังสีจะมีผลกระทบต่อสุขภาพตนเองมากน้อยแค่ไหน จะเป็นหมันไหม?

การเรียนจนกระทั่งประกอบวิชาชีพในทุกสาขาวิชาชีพมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร นักบิน เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ มันมีความเสี่ยงกันคนละแบบ และแต่ละวิชาชีพก็จะมีวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงเหล่านั้น จนปลอดภัยมากๆ จนลืมเรื่องอันตรายไปเลย
ในระหว่างการเรียนสาขารังสีเทคนิคนั้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีพื้นฐาน เช่น ฟิสิกส์ กายวิภาค การจัดท่าผู้ป่วย การคำนวณปริมาณรังสี ฯลฯ และที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือ การป้องกันอันตรายจากรังสี     สำหรับบางมหาวิทยาลัย ได้จัดให้นักศึกษาเรียนจากเครื่องเอกซเรย์จำลองซึ่งไม่ใช้เอกซเรย์ จนมีความรู้และเข้าใจ มีทักษะในการปฏิบัติงานเพียงพอระดับหนึ่ง  จึงจะได้เรียนการใช้เครื่องเอกซเรย์จริงๆ ซึ่งช่วงเวลานี้นักศึกษาจะต้องมีอุปกรณ์ในการวัดรังสีประจำตัวติดกับตัวอยู่ตลอดเวลาที่เรียนในภาคปฏิบัติและฝึกงาน เป็นไปตามมาตรฐานด้านการป้องกันอันตรายจากรังสี
ดังนั้นความเสี่ยงในเรื่องผลกระทบจากรังสีจึงน้อยมากหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ ยังมีความรู้พื้นฐานด้านการแพทย์เพียงพอที่จะเป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพให้กับบุคคลใกล้ชิดและคนรอบข้างได้ด้วย

จะตกงานไหม?
มีการพูดกันในเวทีประชุมวิชาการหลายๆเวทีว่า "รังสีเทคนิคขาดแคลน ค่าตอบแทนสูง" บัณฑิตรังสีเทคนิคหางานง่าย รายได้ดีค่าตอบแทนสูง เป็นที่ต้องการของโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน จะเห็นได้จากระหว่างเรียนในชั้นปีที่ 4 ชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตร มีฝ่ายบุคคลของโรงพยาบาลต่างๆมารับสมัครล่วงหน้าก่อนที่นักศึกษาจะจบการศึกษา เรียกว่าจองตัวกันเลยครับ และมีข้อเสนอในการว่าจ้างที่ดึงดูดด้วย
      บัณฑิตรังสีเทคนิคเมื่อสอบใบประกอบโรคศิลปะฯจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคผ่านแล้ว สามารถทำงานด้านรังสีการแพทย์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามบทบาทหน้าที่ของนักรังสีเทคนิคอย่างสมภาคภูมิ โดยไม่ต้องมีใครมากำกับการทำงาน และในการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีค่าตอบแทนในส่วนของใบประกอบโรคศิลปะให้ด้วย

เรียนต่ออะไรได้บ้าง?
เมื่อทำงานในโรงพยาบาล นักรังสีเทคนิค สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้มีความสามารถโดดเด่นเฉพาะทางได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือค่าตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้น
     การศึกษาในระดับสูงขึ้นที่เกี่ยวข้องกับรังสีเทคนิค หลังจากจบปริญญาตรีด้านรังสีเทคนิคแล้ว หากยังไม่ประสงค์จะทำงาน ก็สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่มักมุ่งเป้าที่เมื่อจบแล้วจะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เช่น รังสีเทคนิค ฟิสิกส์การแพทย์ วิทยาศาสตร์รังสี ฉายาเวชศาสตร์ นิวเคลียร์เทคโนโลยี วิศวกรรมชีวการแพทย์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ฯลฯ
      หรือจะศึกษาต่อในสาขาอื่นๆอีกก็ได้แล้วแต่ความชอบ เช่น การบริหาร ฟิสิกส์ ฯลฯ

      เปิดสอนที่ไหนบ้าง?
     ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขารังสีเทคนิค คือเรียน 4 ปีจบแล้วได้รับปริญญาตรี วท.บ. สาขารังสีเทคนิค ดังรูป


      ค่าเล่าเรียนแพงไหม
การเรียนเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่มีมูลค่าเพิ่มตลอดเวลา เราเสียเงินเพื่อเรียนในวันนี้เพียงครั้งเดียว จากนั้นเราใช้ความรู้ที่ได้ไปเพื่อประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ตลอดชีวิต จึงควรเลือกเรียนสาขาที่เหมาะกับเรา หมายความว่า เราต้องสอบข้อเขียน/สัมภาษณ์ให้ได้ เราเรียนได้ เราพอจ่ายค่าเรียนได้ เป็นต้น ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ส่วนใหญ่ค่าเรียนอาจจะดูไม่สูงมากในความคุ้นชินของคนทั่วไป แต่บางแห่งก็อาจสูง 
ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน สาขารังสีเทคนิคมีเปิดสอนที่เดียวคือ คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ค่าเรียนย่อมสูงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐเป็นธรรมดา เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเหมือนมหาวิทยาลัยของรัฐบาล 
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในด้านคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาจะไม่แตกต่างกัน เพราะ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค
ถ้าถามว่าค่าเรียนแพงไหม มีผู้รวบรวมไว้รายละเอียดตามลิงค์ ขึ้นกับสาขาที่เรียนไม่เท่ากัน แพงหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ขึ้นกับว่าจะเทียบกับอะไร ขึ้นกับความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครอง แล้วยังขึ้นอยู่กับว่า เป็นสาขาที่ขาดแคลนไหม เรียนจบแล้วมีงานทำหรือไม่ ค่าตอบแทนเป็นอย่างไร ฯลฯ จึงไม่สามารถฟันธงได้ว่าแพงหรือไม่ 
จากประสบการณ์ขณะที่นักศึกษาเรียนรังสีเทคนิคในชั้นปีที่ 3 ก็จะมีโรงพยาบาลชั้นนำมาเปิดรับสมัครเข้าทำงานและมีข้อเสนอที่ดีๆให้แล้ว และจากข้อมูลการสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า เมื่อเรียนสาขารังสีเทคนิคจบแล้วมีงานทำแน่นอน 100% ภายใน 3 เดือน

     เหล่านี้เป็นคำถามที่ผมถูกถามบ่อย ตั้งแต่สมัยที่เป็นอาจารย์และผู้บริหารที่ภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล จนขณะนี้มาเป็นคณบดีคณะรังสีเทคนิคที่มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ยังได้รับคำถามเหล่านี้อยู่บ่อยๆ หากท่านผู้ปกครองนักเรียน อาจารย์แนะแนว หรือผู้สนใจ มีข้อสงสัยในประเด็นอื่นๆอีกก็สามารถสอบถามมาได้ครับ ยินดีให้ความกระจ่างกับทุกท่านเสมอ


     คะแนน Admission

Related Links:
     1)แนวทางการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรังสีเทคนิค