วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ประสบการณ์สอนรังสีเทคนิค มอ. หาดใหญ่



ช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทุกปีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ได้เชิญผม ให้ไปสอนนักศึกษาหลักสูตรรังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง) ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดี เต็มใจที่เดินทางไปสอน แม้จะห่างไกลกัน แต่ระยะทางไม่ใช่อุปสรรค อาจารย์สมบัติ อาจารย์ศิริพร คุณเสรี และอีกหลายๆท่าน ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น จริงใจ และรู้สึกว่า ไปครั้งใดน้ำหนักตัวของผมเพิ่มขึ้นทุกครั้ง อาจารย์ที่รังสีเทคนิคมหิดลหลายคนได้รับเชิญไปสอนด้วย ก็มีความเห็นตรงกับผม

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเรื่องการศึกษาก่อนครับ ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับสูงสุดอันดับที่หนึ่งอยู่เรื่องหนึ่ง ทราบไหมครับว่าเรื่องอะไร คำตอบคือ การใช้เวลาเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมมากที่สุดในโลก จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบครับ ใครจัดอันดับก็ไม่ทราบ แต่ผมได้ยินคนเค้าพูดมา ทำนองกระแนะกระแหนมากกว่า ว่ามัวแต่ให้อาจารย์สอนในห้องเรียนคือ สอนมาก เรียนรู้น้อย อะไรประมาณนี้ เลยทำให้นักศึกษาคิดไม่ค่อยเป็น ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มีภาวะผู้นำ ต่อไปคงต้องปรับใช้วิธี สอนน้อย เรียนรู้มาก คือนักศึกษาต้องเรียนรู้ให้มาก ขณะที่อาจารย์ต้องจัดกระบวนการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ได้อย่างสะดวก อย่าเชื่อที่ผมบอกนะครับ ขอให้ค่อยๆคิดไตร่ตรองดูว่า จริงหรือไม่?

อีกข้อหนึ่งที่ติดอันดับโลกคือ ห้องสี่เหลี่ยม ที่ที่คนสองคนได้แก่อาจารย์กับนักศึกษาไม่อยากมาพบกันมากที่สุด เรียกว่า ห้องเรียน คือ อาจารย์ก็ไม่อยากจะเข้าไปสอน เพราะสอนไปนักศึกษาก็ไม่ค่อยตั้งใจ เหมือนถูกพ่อแม่จ้างให้มาเรียน นั่งหลับบ้าง กดบีบีบ้าง จริงไหม? นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจการเรียนในห้องเรียน ยอมถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สองท่านที่เก่งมาก รู้ทุกเรื่อง และเป็นอาจารย์พิเศษสุดของทุกมหาวิทยาลัย คือ ศาสตราจารย์ ดร. Google และศาสตราจารย์ ดร. Wekipedia อาจารย์ทั้งสองท่านทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่เคยบ่นและไม่รับค่าตอบแทน แล้วอาจารย์อย่างเราๆจะทำอย่างไร จะยังคงนัดเจอกันในห้องเรียนเพื่อเจอบรรยากาศเดิมต่อไปไหม

ทว่า ต้องรีบบอกตอนนี้เลยว่า ที่ผมไปพบกับนักศึกษารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวข้างต้น

วันที่ไปสอนเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งนักศึกษาหลายคนที่มีภูมิลำเนาไกลจากหาดใหญ่จะต้องเดินทางมาที่หาดใหญ่ มาพบกัน มาพบกับอาจารย์ที่มาจากกรุงเทพฯ ช่วงเวลาที่ทำการสอนก็ตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่ผมไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย มันมีพลังวูบวาบแปลกๆเกิดในหัวใจ ที่สามารถทำให้ตัวผมสามารถยืนหยัดได้ทั้งวัน ผมมานั่งพิจารณาดู อ๋อ...อาจเป็นเพราะ นักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า ส.ว. = ผู้สูงวัย ตั้งใจเรียนมากเหลือเกิน สายตาทุกคู่ จับจ้องที่ผมและสไลด์ของผม แววตาบ่งบอกถึงความกระหายรู้ ระหว่างที่ผมบรรยาย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการกัน รวมถึงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่การทำงานในภาคใต้ โดยเฉพาะนักศึกษาหลายคนทำงานในสามจังหวัดที่มีปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ทำให้ผมได้รับรู้ว่า นักศึกษามีปัญหาอย่างไร ต้องระมัดระวังเตรียมตัวกันอย่างไร แม้การเดินทางมาเรียนก็ต้องมีการกะเกณฑ์กันให้ดีว่าเวลาไหนเหมาะที่จะเดินทาง เพื่อให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดจากการถูกรอบทำร้าย ทำไมนักศึกษาเหล่านี้ต้องยอมเสี่ยงภัยมากขนาดนี้? 

      แม้บางเวลาในเมืองหาดใหญ่เองก็ไม่ปลอดภัย มีอยู่ปีหนึ่ง ปกติคณะแพทยศาสตร์จะจัดโรงแรมที่พักให้ในเมืองหาดใหญ่ ที่โรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่ง หลังจากสอนเสร็จแล้ว เดินทางกลับกรุงเทพฯ วันรุ่งขึ้น ปรากฏว่ามีการวางระเบิดที่หน้าโรงแรมแห่งนั้น และอีกหลายจุดในเมืองหาดใหญ่ อีกปีหนึ่ง มีการวางระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่ อันนี้เล่นเอาขวัญกระเจิงเลย จนผมถูกภรรยาและลูกๆงดวีซ่า และขอร้องว่า พ่ออย่าไปอีกเลยมันเสี่ยง ผมก็รักภรรยาและลูกๆมาก ไม่ต้องการให้เขาห่วงกังวลว่าผมต้องไปเสี่ยง เลยต้องประวิงเวลาการเดินทางในบางครั้ง รอให้เหตุการณ์ร้ายๆซาลงไปเพื่อให้ความรู้สึกของภรรยาและลูกค่อยๆดีขึ้นก่อน แล้วจึงเดินทาง ผมว่าผมเสี่ยงน้อยกว่านักศึกษานะ มันเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของผมที่จะจัดการกับเรื่องนี้ ได้แต่เห็นอกเห็นใจนักศึกษาที่เสี่ยงภัย ให้กำลังใจเพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้สามารถดำรงความเป็นอยู่ต่อไปได้ และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยกันทำงานเพื่อบริการประชาชน ตามภาระหน้าที่และความสามารถที่ตัวเองมี อย่างภาคภูมิใจและมีเกียรติศักดิ์ศรีแห่งการเป็นนักรังสีเทคนิค เหล่านี้กระมัง ที่ทำให้ผมไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลยจริงๆ และก็ไปสอนทั้งสามรุ่น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่บรรยากาศทุกอย่างที่นั่นทำให้ผมรู้สึกประทับใจ จนยากที่จะลืมเลือน

     ได้ทราบว่า บัณฑิตรุ่นปัจจุบันเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง) รุ่นสุดท้าย ต่อไปคณะแพทยศาสตร์ได้จัดทำหลักสูตรรังสีเทคนิค 4 ปี ซึ่งเวลานี้มีความคืบหน้าในการร่างหลักสูตรไปมากแล้ว ซึ่งอาจารย์สมบัติและทีมงาน ได้เข้าร่วมการประชุมสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค (RT Consortium) ทุกครั้ง และหาแนวทางในการจัดทำหลักสูตรรังสีเทคนิค 4 ปีมาตลอด ต้องบอกว่าอาจารย์สมบัติและทีมงานมี spirit สูงมาก ครั้งล่าสุดเราไปประชุมกันที่ ภูอิงฟ้า และได้ร่วมกันทำร่าง มคอ 1 จนเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรองของกระทรวงศึกษาธิการ


สัมมนาสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคครั้งที่ 2 (2nd RT Consortium) นเรศวรเป็นเจ้าภาพ ในคลิปนี้เป็นบรรยากาศที่บ้านแสงตะวันยามเย็น

สองปีที่ผ่านมา อาจารย์สมบัติขอให้ผมพูดอวยพรว่าที่บัณฑิตรังสีเทคนิค ในโอกาสงานปัจฉิมนิเทศ ผมยิ่งรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งขึ้นอีกคลุกเคล้ากับความรู้สึกปิติยินดีที่ได้เห็นนักศึกษาส.ว. สำเร็จการศึกษา จึงขอนำ Video Clip ที่ได้กล่าวในทั้งสองครั้งมาบันทึกไว้ เป็นเครื่องเตือนความจำว่า เรามีความผูกพันกัน และเชื่อมั่นว่า สายใยแห่งการผูกพันกันนี้จะยั่งยืนนาน


บัณฑิตรังสีเทคนิค มอ. รุ่นที่ 2-2553 click>>>

บัณฑิตรังสีเทคนิค มอ. รุ่นที่ 3-2554


มานัส มงคลสุข


4 ความคิดเห็น:

  1. ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านและเข้ามารับรู้ในสิ่งที่อาจารย์แบ่งปันแล้วพลันมีพลังไปด้วยเลย :)

    ตอบลบ
  2. From FB:

    Seri Sakjirapapong:....... กราบขอบพระคุณ แทนว่าที่บัณทิตรังสี มอ.รุ่นสาม ครับ อาจารย์

    Poom Aouluk:........ ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่แสดงความยินดีและให้ความรู้ดี ๆ แก่ศิษย์ มอ.

    ตอบลบ
  3. From FB:

    Seri Sakjirapapong ‎..อ่านแล้วซาบซึ้งครับ..นศ.สว. อิ อิ

    ตอบลบ
  4. เรียน อ.มานัส ที่เคารพ

    ที่จริงแล้วผม และทีม มอ. ต้องขอบพระคุณทางอาจารย์อย่างสูงที่กรุณามาช่วยตั้งแต่เริ่มดำเนินการเปิดหลักสูตร ต่อเนื่อง จนกระทั้ง จบรุ่นสุดท้าย ครับ เหมือนเป็นความทรงจำที่ดีครับ ผมในฐานะลูกศิษย์ รุ่นที่ 28 ของอาจารย์คนหนึ่ง ก็ยังนึกถึงอาจารย์เป็นคนแรกไม่ว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดหลักสูตร หรือ แม้ขณะมีปัญหาในการบริหารจัดการหลักสูตร ทุกครั้ง ต้องสายตรงหาอาจารย์ก่อนทุกครั้งครับ ถึงตอนนี้ก็เช่นกัน ที่กำลังมุ่งตรงสู่หลักสูตร 4 ปี เช่นเดียวกับเส้นทางของอาจารย์ และหวังว่าทางอาจารย์คงจะกรุณาต่อไปอีกเช่นเดิมนะครับ ในฐานะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลักสูตรฯ

    ดีใจครับที่อาจารย์นำประสบการณ์ 3 ปี ที่มาสอน มอ. ลง blog ประกายรังสีของอาจารย์

    ด้วยความเคารพครับ
    สมบัติ

    ตอบลบ