วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รังสีเทคนิคไทยสู่ประชาคมอาเซียน: วิเคราะห์แบบ SWOT


(4,142 ครั้ง)
ในโอกาสวันรังสีเทคนิคโลก (World Radiogrphy Day) เวียนมาถึงอีกวาระหนึ่งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 นี้ ซึ่งเป็นวันที่ศาสตราจารย์เรินท์เกินค้นพบเอกซเรย์เมื่อ 117 ปีที่แล้ว จึงขอถือโอกาสนี้ ชวนชาวเราคิดอะไรเล่นเพลินๆ มองเพลินๆไปรอบๆตัว สบายๆ มองภายนอก มองภายใน อย่างมีสัมมาสติ เห็นอะไรหรือยังครับ 

เหลียวหลังมองอดีตที่ผ่านมาประมาณ 49 ปีมาแล้ว วิชาชีพรังสีเทคนิคได้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 นับจากที่มีการตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิคขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) ต่อมาก็มีการจัดตั้งสถาบันผลิตรังสีเทคนิคขึ้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับอนุปริญญา ซึ่งระดับอนุปริญญาที่ทำงานอยู่นั้น ในปัจจุบันนี้แต่ละคน ได้เพิ่มวุฒิทางการศึกษาของตัวเองเป็นปริญญาตรีแล้วเป็นส่วนใหญ่
มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมวิชาชีพ ได้แก่ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 และยังมีการจัดตั้งสมาคมขึ้นอีกหลายสมาคม เช่น สมาคมรังสีการแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิครามาธิบดี สมาคมรังสีเทคนิคโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิคมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น มีทั้งสุขและทุกข์คลุกเคล้ากัน  มีความเห็นแตกแยกกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคน โดยเฉพาะกับคนหมู่มาก สังคมของชาวเราได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆและมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมาย  เราได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้นร่วมกัน ทำให้ชุมชนของเราเจริญและเติบโตขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น เป็นไปตามเหตุและปัจจัย อาจจะมองดูเชื่องช้าบ้างในสายตาของหลายคน แต่มันก็มีพัฒนาการของตัวมันเองอย่างต่อเนื่อง ขึ้นๆ-ลงๆ เป็นเรื่องธรรมดา ในภาพรวมแล้วผมเห็นว่าโดยเฉลี่ยมันพัฒนาขึ้น ในขณะที่โลกก็กำลังหมุนไปอย่างต่อเนื่อง
พ.ศ.  2547 มีเรื่องของใบประกอบโรคศิลปะฯเกิดขึ้น ซึ่งชาวเราส่วนใหญ่ก็คงสอบผ่านเกณฑ์และได้รับเรียบร้อยไปแล้วร่วม 3,000 คน (ภายในอีก 5 ปีนับจากนี้ จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณกว่า 4,000 คน) ส่วนน้อยที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง

     ชาวเราคงได้ยินบ่อยและนานแล้วกับคำว่า "ไม่มีพรมแดน" เช่น รักไม่มีพรมแดน โลกไม่มีพรมแดน หรือโลกไร้พรมแดน (globalization) เป็นต้น เพราะอะไร คำว่าไม่มีพรมแดนโดยเฉพาะโลกไร้พรมแดนจึงเกิดขึ้น เหตุผลสำคัญยิ่งอันหนึ่งคือ เทคโนโลยีทางการสื่อสารพัฒนาเร็วมาก และครองโลกไปแล้ว
การที่เทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์มันพัฒนาเร็วมาก รวมถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านรังสีทางการแพทย์ด้วย  จึงมีการพูดถึงความเป็นไปในโลกศตวรรษที่ 21 กันมากขึ้นเรื่อยๆและบ่อยขึ้น  นี่ก็ผ่านมาถึงปีที่ 12 (ค.ศ. 2012) ของศตวรรษนี้แล้ว อย่าประมาทครับ เพราะบางคนอาจจะอึดมาก อาจมีอายุยืนจนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 21 การปรับตัวเราในทุกๆเรื่องทั้ง องค์ความรู้ ร่างกายและจิตใจ เพื่อให้อยู่รอดได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้มากๆ โดยเฉพาะระยะเวลาอันใกล้นี้ ประชาคมอาเซียนจะมาแล้ว
ในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ชาวเราจะเห็นว่า เราสามารถชมภาพข่าวสดๆร้อนๆ และแชร์ลิงค์กันในสังคมไซเบอร์ ทั้ง facebook  ทั้ง twitter และอีกหลายช่องทางแพร่กระจายรวดเร็วมาก ทำให้เราทั้งได้ใช้ประโยชน์และเครียดจากการรับรู้ได้เร็วขึ้น ถ้าเราเปิดช่องรับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นเอาไว้เรียกว่าบริโภคแบบไม่เลือก ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์ Internet ฯลฯ เราอาจรู้สึกว่าข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไหลทะลักเข้ามาท่วมท้น ล้นพุง จนทำให้เราบางครั้งเอียนอยากจะอวก
ในท่ามกลางภาวการณ์แบบนี้ ชาวเราจะต้องเตรียมรับมืออย่างไรเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้อย่างมีความสุขและสมภาคภูมิ โดยไม่ถูกเย้ยหยันจากสังคมรอบข้าง หรือตกโลก (หลุดโลก) ไปเลย
ประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ภาษาก็น่าสนใจ เพราะค่อนข้างชัดเจนว่า เกิดวิวัฒนาการของการใช้ภาษา เนื่องจากมีการใช้ภาษาถ้อยคำต่างๆในโลกไซเบอร์ที่แปลกประหลาด ต้องใช้เวลามากเพื่อทำความเข้าใจ เช่น เกรียน จุงเบย ฟิน ฯลฯ

เอาแบบเป็นงานเป็นการสักครู่.... ชาวเราหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า แผนกลยุทธ์ (strategic planning) ขอเล่าอีกครั้งนะครับ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ชุมชนของชาวเรา จะถึงขั้นต้องมารวมหัวกัน ระดมสมอง (brain storm) ร่วมกัน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนกลยุทธ์หรือไม่??? หมายความว่า การร่วมกันคิดวางแผนให้ชัดเจน เพื่อกำหนดว่า ชุมชนของเราจะวางตำแหน่งหรือกำหนดบทบาทของเราอย่างไรให้เหมาะสมในช่วงระยะเวลา 5-20 ปีจากนี้ไป
แม้จะเป็นสิ่งที่หลายคนบอกว่ายากและเป็นไปไม่ได้ที่ชาวเราจะมาร่วมกันทำสิ่งนี้ แต่ผมก็ยังอยากจะคิดว่าควรอย่างยิ่งถ้ามันมีโอกาสเป็นไปได้สักนิดหนึ่งก็ยังดี
  
ผมฝันไปว่าชุมชนของเรา ขอเรียกว่า ชุมชนรังสีเทคนิคไทย (Thai RT community) มาร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยทั้งภายในชุมชนของชาวเราและภายนอก ทำกันแบบสบายๆ เล่นๆ ขำๆ แล้วทำให้ชาวเรามองเห็นภาพของสิ่งต่างๆได้ชัดเจนขึ้น และนำไปสู่แนวทางการร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์หรือวางแผนกลยุทธ์ ได้อย่างมีประสิทธิผลไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากเกินไป เพื่อให้การวางตัวของชุมชนของเราในอนาคตทั้งใกล้และไกลเป็นไปอย่างรอบครอบและอย่างที่ควรจะเป็น เฉกเช่นคำพูดที่ว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" ...โอเค..ตื่นได้



     การกำหนดยุทธศาสตร์นั้น อาจเริ่มด้วยวิธีการวิเคราะห์ที่เรียกว่า SWOT analysis คำว่า SWOT (สะว็อต) เป็นการนำอักษรตัวแรกของคำว่า strength (จุดแข็ง) weakness (จุดอ่อน)  opportunity (โอกาส) และ threat (ภัยคุกคาม) มารวมกัน

ดังนั้น SWOT analysis จึงเป็นวิธีการวิเคราะห์ที่พิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในของชุมชนรังสีของชาวเรา ผมขอเสนอมุมมองในเรื่องนี้เป็นโมเดลหนึ่งเพื่อศึกษาร่วมกัน โจทย์ของเรื่องนี้อยู่ที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยผมจะนำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และจากการได้พูดคุยกับหลายๆภาคส่วน เพื่อเป็นแนวทาง อย่าไปยึดติดว่าต้องเป็นตามนี้นะครับ

โอกาส พิจารณาสิ่งแวดล้อมภายนอกชุมชนรังสีเทคนิค ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นโอกาสที่จะสามารถนำมาเป็นประโยชน์ได้ ตัวอย่างเช่น
ประชาคมอาเซียน การที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นโอกาสของเราหรือไม่เพราะทำให้เราต้องปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางการเดินของ AECโดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของเราให้สูงขึ้นแม้หลายคนจะเข้าใจว่ามาตรฐานและคุณภาพของรังสีเทคนิคไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศในอาเซียนนอกจากนี้เป็นช่องทางให้เกิดเครือข่ายรังสีเทคนิคระหว่างประเทศมากขึ้น
โลกในศตวรรษที่ 21 พัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา การวิจัย และการทำงานในวิชาชีพอย่างมาก ทำให้การเรียนรู้ทำได้รวดเร็ว เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวก การทำงานสะดวกสบายมากขึ้น และยังเป็นช่องทางนำไปสู่โอกาสการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆโดยนักรังสีเทคนิคเอง
เทคโนโลยีรังสีทางการแพทย์ เทคโนโลยีการสร้างภาพทางการแพทย์และการรักษาด้วยรังสีพัฒนาไปอย่างมากนั้นเป็นโอกาสหรือไม่??  ยกตัวอย่างทางรังสีวินิจฉัย เช่น การสร้างภาพเพื่อวินิจฉัยโรคมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างมาก มีความซับซ้อนมากขึ้น และจะเกิด paradigm shift จากภาพแอนาลอกเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบอย่างแน่นอน จากภาพที่เดิมเป็นการแสดงภาพรังสีเชิงกายวิภาค ตามมาด้วย functional image ต่อมาก็ molecular image เป็นต้น  สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ชาวเรามีโอกาสได้แสดงบทบาทในหน้าที่รับผิดชอบที่สูงขึ้น โดดเด่นขึ้น ภายใต้กระบวนการการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
การยอมรับจากสังคมที่มีการศึกษา  สังคมที่มีการศึกษาเริ่มมองเห็นความสำคัญของวิชาชีพรังสีเทคนิคมากขึ้นตามลำดับ สังเกตได้จากการออกกฎหมายให้ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคต้องมีใบประกอบโรคศิลปะฯ ซึ่งเป็นสิ่งรับรองหรือรับประกันว่าสังคมจะได้รับบริการทางรังสีที่ดีและปลอดภัย  สิ่งนี้เป็นโอกาสหรือช่องทางนำไปสู่การพัฒนาจากคณะกรรมการวิชาชีพเป็นสภาวิชาชีพได้ง่ายขึ้นหรือไม่

อุปสรรค มีอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคหรือเป็นภัยคุกคาม ตัวอย่างเช่น
การเคลื่อนย้ายอย่างเสรี การรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของ skilled labor หรือแรงงานมีฝีมือ อย่างน้อยในขณะนี้จำนวน 8 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม การสำรวจ บัญชี สถาปัตยกรรม และการท่องเที่ยว ที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน (MRA) แล้ว ในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะเป็นการขยายโอกาสไปถึงการให้มีการจ้างงานนักรังสีเทคนิคจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในอาเซียน เข้ามาแย่งงานเราทำ เพราะค่าตอบแทนของไทยสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียนยกเว้นประเทศสิงคโปร์เท่านั้น สิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคหรือไม่??? 
     ในความเห็นของผม น่าจะมีความเป็นไปได้ที่นักรังสีเทคนิคจากบางประเทศในอาเซียนยกพลบุกประเทศไทย ด้วยเหตุผลค่าตอบแทนที่สูงกว่าประเทศของเขา (ดูจุดอ่อน..ค่าตอบแทน)  ค่าครองชีพพอกัน คนไทยอัธยาศัยดี เมืองไทยน่าอยู่ติดอันอันต้นๆของโลก และที่สำคัญกำลังคนด้านรังสีเทคนิคของไทยขาดแคลน (ดูจุดอ่อน..กำลังคน)ให้จับตาดูฟิลิปินส์ให้ดี เพราะมีการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคระบบเดียวกับไทย และมีการสอบขึ้นทะเบียน แต่ค่าตอบแทนต่ำกว่านักรังสีเทคนิคของไทย โอกาสทีฟิลิปินส์จะบุกไทยสูงที่สุด
แรงเสียดทานต่อความก้าวหน้า แรงเสียดทานจากภายนอกที่เกิดจากความไม่เข้าใจในวิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นแรงต้าน เป็นอุปสรรค ที่ทำให้ระบบและกลไก ที่จะไปผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพเป็นไปอย่างเชื่องช้า หรือไม่ เพราะได้ยินหลายคนในวิชาชีพใกล้กันกับชาวเราพูดว่า รังสีเทคนิค เรียนแค่นี้ก็พอแล้ว ทำงานได้แล้ว
สังคมส่วนหนึ่งไม่รู้จัก ประชาชนโดยทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักนักรังสีเทคนิค ไม่รู้จักวิชาชีพรังสีเทคนิค ว่าเป็นอย่างไร ทำงานกันอย่างไร ความก้าวหน้าเป็นอย่างไร ประชาชนรู้แต่เพียงว่าถ้าเป็นรังสีละก็มันอันตรายไม่อยากจะเข้าใกล้ (ไม่รวมถึงชาวเราบางคนนะครับ)???  ตัวอย่างที่ผมพบโดยตรงกับตัวเองคือ ทุกๆปีที่มีการรับนักศึกษาเข้าเรียนรังสีเทคนิคในต้นปีการศึกษา ผู้ปกครองของนักศึกษาจะถามผมด้วยคำถามที่สะท้อนสิ่งที่กล่าวข้างต้น คือ เรียนรังสีแล้วเป็นหมันหรือไม่?”  เป็นต้น เป็นคำถามยอดฮิตมาก
ความเสี่ยงในการทำงาน นักรังสีเทคนิคจำนวนไม่น้อยต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงมาก ไม่ใช่เสี่ยงเรื่องอันตรายจากรังสี ในที่นี้ผมหมายถึง ความเสี่ยงของการปฏิบัติหน้าที่ที่ผิดกฎหมาย เช่น ฉีด contrast media เข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งตามมาตรฐานและสมรรถนะของนักรังสีเทคนิคที่กำหนดโดย ก.ช. ไม่สามารถทำได้ และหลักสูตรด้านรังสีเทคนิคระดับปริญญาตรีก็ไม่ได้สอนเรื่องนี้  แต่นักรังสีเทคนิคถูกสั่งให้ทำทั้งที่กฎหมายไม่ได้รับรองให้ทำได้  จึงเป็นอุปสรรคที่สร้างความอึดอัดลำบากใจให้กับนักรังสีเทคนิคอย่างมากมาย
เทคโนโลยีรังสีทางการแพทย์ สิ่งที่เป็นโอกาสก็อาจเป็นภัยคุกคามได้เช่นกัน คือเทคโนโลยีทางรังสีที่พัฒนาไปมากนั้นเป็นภัยคุกคามเราใช่หรือไม่??? หมายความว่า หลายคนอาจมีปัญหากับการต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใครที่ปรับตัวไม่ทันหรือไม่ยอมปรับตัวในส่วนนี้ก็จะทำงานลำบากและอาจถึงขั้นไม่มีความสุขหรือไม่สนุกกับการทำงานไปเลย ขอแนะนำว่า ให้มองต้นไม้เป็นครูของเราครับ ต้นไม้จะเสียดยอดสูงเด่นได้ ต้องหยั่งรากให้ลึก หากต้นไม้สูงแต่รากไม่ลึก แค่ถูกลมกระโชกเบาๆก็ล้มแล้ว

จุดแข็ง สำหรับสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนเราจะพิจารณาดูว่า มีอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง
การวินิจฉัยโรคและการบำบัดโรคด้วยรังสี เป็นจุดแข็ง เพราะถึงอย่างไรวิธีการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ตลอดไปในทางการแพทย์ (ของตาย) ยิ่งทันสมัยยิ่งใช้ไม่มีทางสูญพันธ์??? จนชั่วนิจนิรันด์ (หรือที่คนลาวพูดว่า อสงไขย (infinitely) ) เป็นแบบนี้ใช่หรือไม่
สถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค เรามีสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคที่ดี มีการประกันคุณภาพอย่างจริงจังและสม่ำเสมอเช่น การประเมินโดย ก.ช. สกอ. สมศ เป็นต้น
ความสามารถของนักรังสีเทคนิค นักรังสีเทคนิคมีความรู้ดี มีความเชี่ยวชาญทางรังสีเทคนิคทั้ง 3 สาขา นักรังสีเทคนิคทุกคนมีคุณภาพสูงอยู่ในระดับ super RT เป็นที่ยอมรับของสังคม???..และมีพื้นฐานกระบวนการทำวิจัยที่ดี เนื่องจากผ่านการเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ที่ผสมผสานศาสตร์ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาชีพเข้าด้วยกัน ซึ่งแตกต่างกับนักรังสีเทคนิคในบางประเทศที่เน้นเฉพาะวิชาชีพเท่านั้น
บุคลิกภาพและอุปนิสัยของนักรังสีเทคนิค นักรังสีเทคนิคส่วนมากมีความอ่อนโยน นุ่มนวล รับผิดชอบ มีบุคลิกภาพดี อัธยาศัยดี ยิ้มง่าย มีความอดทน อดกลั้น เหมือนขั้วแอโนดของหลอดเอกซเรย์ มีคุณธรรมและจริยธรรมสูง มีความตื่นตัวในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น???

องค์กรวิชาชีพรังสีเทคนิค ชุมชนของชาวเรามีการรวมกลุ่มเป็นองค์กร (สมาคมฯ) หลายองค์กรและแต่ละองค์กรก็มีพัฒนาการที่ดี???

จุดอ่อน ของชุมชนเรา สิ่งที่เป็นจุดแข็งก็อาจเป็นจุดอ่อนได้เหมือนกัน

ทักษะด้านภาษา
ขาดทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษากลาง เช่น ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2558 ก็กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารกันในอาเซียน 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีบางคนบอกว่า คนไทยหลายคนแม้จะพูดภาษาไทยให้คนไทยฟัง บางครั้งคนฟังยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจยากเลย ขณะที่บางคนดัดจริตมาก คือ ฟังคนไทยพูดภาษาไทยแท้ๆกลับบอกว่าไม่เข้าใจ พอพูดเป็นภาษาอังกฤษงูๆปลาๆกลับบอกว่าเข้าใจง่ายกว่า อันนี้งงกับคนสไตล์นี้จริงๆ

  ค่าตอบแทน จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานเมื่อมกราคม 2554 เรื่องค่าตอบแทนพนักงานสายงานด้านสุขภาพภาคเอกชนทั่วประเทศ พบว่า ค่าตอบแทนสำหรับนักรังสีเทคนิคอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร เมื่อเทียบเคียงกับวิชาชีพอื่นในกลุ่มวิชาชีพด้านสุขภาพ ทั้งนี้ไม่รวมแพทย์และทันตแพทย์  แต่ถ้าหากดูในภาครัฐ อัตราค่าตอบแทนก็จะลดต่ำลงมาอีก อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทนนี้ยังต่ำเมื่อเทียบกับค่าตอบแทนสำหรับนักรังสีเทคนิคในประเทศสิงคโปร์ ที่มีอัตราค่าตอบแทนเริ่มต้นที่ 80,000-100,000 บาท แต่ก็ยังสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นแรงดึงดูดนักรังสีเทคนิคจากบางประเทศในอาเซียนให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย

       สำหรับภาคการจัดการศึกษา ต้องพูดความจริงตรงๆครับว่า ค่าตอบแทนอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย สำหรับอาจารย์ที่จบใหม่ (จบปริญญาเอกด้วย) นั้นน่าน้อยใจยิ่ง อาจารย์จบใหม่ จะได้รับค่าตอบแทน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ก่อนหักภาษีและประกันสังคม ต่ำกว่านักรังสีเทคนิคจบใหม่เสียอีก พูดให้ช้ำหนักคือ ได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าลูกศิษย์ของตัวเองที่จบใหม่ เรื่องนี้ผมเคยให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยไปครั้งหนึ่งเมื่อคราวครบรอบ 115 ปีแห่งการค้นพบเอกซเรย์ แต่เมื่อนำไปออกอากาศ สถานีไม่ได้นำท่อนนี้มาออกอากาศ น่าเสียดาย 
        ค่าตอบแทนเริ่มต้นของอาจารย์ในแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เท่ากันอีก ยิ่งเป็นประเด็นที่สร้างความอึดอัดใจให้อาจารย์ มหาวิทยาลัยบางแห่งสตาร์ท 20,000 บาท บางแห่งสตาร์ท 35,000 บาท มันแตกต่างกันมากมายขนาดนี้ มหาวิทยาลัยที่สตาร์ทต่ำกว่าจึงหาอาจารย์ใหม่เข้ามาทำงานได้ยากกว่าโดยไม่มีข้อสงสัย คือ ธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปนั้น "ไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมี แต่พอใจในสิ่งที่ตัวเองได้" พอใจกับการได้ใหม่อยู่เรื่อยๆ แม้จะได้น้อยยังไม่เป็นไรแต่ต้องได้มากกว่าคนอื่น เท่านี้พอใจแล้ว จริงหรือไม่??    
        อย่างไรก็ตาม แม้อาจารย์จะออกสตาร์ทด้วยค่าตอบแทนที่น่าอะเหน็ดอะหนาดเหลือเกิน ในระยะเวลาไม่กี่ปี ด้วยภาระหน้าที่ สอน วิจัย และบริการ จะมีเงินท็อปอัพจากค่าตำแหน่งวิชาการ ทุนวิจัย ฯลฯ (ส่วนของตัวเงินเดือนก็จะพุ่งขึ้นไปอย่างช้าๆ โดยมีเพดานเงินเดือนอยู่ที่ 150,000 บาทสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย)  สิ่งนี้ทำให้อาจารย์พออยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุขกับการได้สร้างโลก หมายถึง มีคนเปรียบเทียบครูอาจารย์ว่าเป็นผู้สร้างโลก ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง แต่ก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลครับ ขอเพียงอย่าหมดแรงใจที่จะสร้างโลกเสียก่อนนะครับ
กำลังคน เมื่อมองกำลังคน ชัดเจนครับว่าประเทศไทยขาดแคลนนักรังสีเทคนิคอีกมาก และหากรวบรวมปัญหาหรือจุดอ่อนด้านกำลังคน พบว่ามีมากพอควร ความรู้สึกเหมือนถูกละเลยจากผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบ เป็นแค่ความรู้สึกนะครับ ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆได้แก่ การขาดแคลนกำลังคนในภาพรวม การกระจายกำลังคนที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมด้านค่าตอบแทน  จำนวนบัณฑิตใหม่แต่ละปีประมาณต่ำกว่าความต้องการกำลังคนค่อนข้างมาก ปัญหาความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ ฯลฯ


ขาดแคลนครูที่มีประสบการณ์
หมายถึงครูอาจารย์ผู้มีใบประกอบโรคศิลปะฯที่มีประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพรังสีเทคนิคนั้น มีน้อยหรือไม่??  เป็นจุดอ่อนของสถาบันผู้ผลิตหรือไม่?? ประเด็นนี้ลองยกขึ้นมาเป็นจุดอ่อนเพียงอยากให้หันกลับมามอง อาจไม่จริงก็ได้ครับ เจตนาเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาให้ดีขึ้น มิได้มุ่งหมายจะดูแคลนใครนะครับ
ขาดเอกภาพและความสามัคคี
การที่ชุมชนของชาวเรามีการรวมกลุ่มเป็นองค์กรหลายองค์กร ทำให้ขาดพลังถ้าแต่ละองค์กรต่างไปกันคนละทิศละทาง เป็นผลนำไปสู่การหย่อนยานของความสามัคคีในชาวเราที่เป็นรังสีเทคนิคด้วยกัน จนขาดพลังในการขับเคลื่อนชุมชนรังสีเทคนิคให้ไปในทิศทางเดียวกัน???
งานวิจัย
การไม่ใส่ใจในการพัฒนางานร่วมกันจนถึงการละเลยงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาของสังคมและประเทศชาติในส่วนที่เราเกี่ยวข้อง ในภาพรวมของชุมชนรังสีเทคนิคมีแต่การวิจัยเฉพาะกิจเป็นส่วนใหญ่ ทำวิจัยหรือทำงานวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น เมื่อได้ตำแหน่งสูงขึ้นแล้วก็หยุดทำงานวิจัย ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง ไม่สามารถสกัดออกมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากนักรังสีเทคนิค  สิ่งนี้เป็นจุดอ่อนหรือไม่ ???  

บางคนบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ นักรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพบริการผู้ป่วย บริการประชาชน จะไปทำวิจัยอะไรได้ ทำงาน routine เสร็จก็หมดแรง ไม่มีสมองจะคิดอะไรแล้ว อยากพักผ่อน แต่ว่า หากเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ดียิ่งๆขึ้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง?? เป็นแค่คำถามให้ชาวเราหาคำตอบกันเองครับ
ลองดูวิชาชีพเดียวกันกับชาวเราของอังกฤษเป็นตัวอย่างครับ งานวิจัยที่เกิดจากนักรังสีเทคนิค (Radiographers) มีให้เห็นต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สามารถดูได้จากวารสาร Radiography ของ Society and College of Radiographers ของอังกฤษครับ
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกามีวารสาร Radiologic Technology  ของสมาคมรังสีเทคนิคอเมริกา (ASRT)
วารสารเหล่านี้มีให้อ่านในห้องสมุดคณะฯตั้งแต่ผมมาทำงานใหม่ๆราวๆปี พ.ศ. 2525 จนกระทั่งตอนนี้เป็น e-Journal ด้วยแล้ว จากตัวอย่างทั้งสองนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า นักรังสีเทคนิคในอเมริกาและอังกฤษ สร้างงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่องครับ และมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ เขาทำได้อย่างไร???
ไม่อยากได้ยินประโยคที่คนอื่นอาจจะพูดใส่เราอย่างดูแคลนว่า "ชุมชนรังสีเทคนิคไทยทำวิจัยไม่เป็นรึ??" 

     ทุกประเด็นจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และวิกฤติ ที่กล่าวมานั้น เป็นแค่เพียงการยกตัวอย่างเท่านั้นนะครับ  ถ้าหากไปกระทบใครบ้างต้องขออภัยไว้ตรงนี้ด้วย ทั้งนี้ความตั้งใจของผมคือเพื่อให้เข้าใจวิธีคิดแบบ SWOT เมื่อชาวเราร่วมกันวิเคราะห์โดยปราศจากอคติใดๆจนถี่ถ้วนแล้ว สิ่งที่ควรมองร่วมกันต่อไปคือ
สิ่งที่เป็นโอกาสก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือภัยคุกคาม ต้องร่วมกันพิจารณาและพยายามหาหนทางเปลี่ยนให้เป็นโอกาสให้ได้
ทำนองเดียวกัน สิ่งที่เป็นจุดแข็งต้องพยายามรักษาไว้ ส่วนสิ่งที่เป็นจุดอ่อนต้องช่วยกันหาทางแก้ไข
ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแผนงานและมาตรการที่จะเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน และก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์อย่างมหาศาล นำพาชุมชนของชาวเราให้อยู่รอดอย่างสง่างาม และสามารถทำงานให้สังคมอย่างมีประสิทธิภาพตลอดไปอย่างยั่งยืน ให้สมกับที่เขาไว้วางใจเรา

ขณะที่สภาวะโลกไร้พรมแดนยังคงดำเนินและพัฒนาตัวเองต่อไป หลายคนคงเห็นด้วยกับผมว่า เราจะไม่ยอมเป็นไม้ที่ตายแล้ว (deadwood) ซึ่งล่องลอยไปในกระแสน้ำ สุดแต่ว่ากระแสน้ำจะพัดพาไปทางไหน แต่เราจะเป็นอย่างน้อยก็เรือที่มีหางเสือคอยบังคับทิศทาง และมีใบเรือคอยรับลมเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการได้ และทั้งหมดนี้ไม่ได้ขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ขึ้นอยู่กับชาวเราทุกคนครับ

Related Links:
ผลกระทบประชาคมอาเซียน 2558
การเตรียมพร้อมของสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิคสู่ประชาคมอาเซียน
สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคเพื่อใคร
ประชาคมอาเซียนกับวิชาชีพอาเซียน
การประเมินสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิค
ข้อจำกัดและเงื่อนไขการประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค
บัณฑิตคุณภาพในศตวรรษที่ 21 
ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค 2555-2559
มอง ก.ช. อดีตสู่อนาคต
นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ
จำนวนผู้อ่านบทความนี้ 2,940 ครั้ง (26ตค2555-2กย2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น