วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคเพื่อใคร?


(2,803 ครั้ง)
     ย้อนหลังไปเกือบ 5 ปีแล้ว เมื่อครั้งการประชุมวิชาการรังสีเทคนิคประจำปี 2549 ที่พัทยา เมื่อวันที่ 26-28 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นการประชุมครังที่ 14 หรือเรียกว่า 14th TSRT มีเรื่องที่ประวัติศาสตร์ชาวรังสีต้องจารึกไว้ว่า....
วันที่ 26 เมษายน 2549 เวลาเช้า เป็นครั้งแรกที่นายกสมาคมฯ 5 สมาคมฯที่เกี่ยวกับรังสีเทคนิค คือ 1.สมาคมรังสีเทคนิดแห่งประเทศไทย 2.สมาคมรังสีการแพทย์แห่งประเทศไทย 3.สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิครามาธิบดี 4.สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิค รพ.จุฬาลงกรณ์ 5.สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิค ม.สงขลานครินทร์ มาร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ด้วยการแสดงมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของรังสีเทคนิคไทย ต่อหน้าชาวเราที่เข้าร่วมประชุมกว่า 350 คน ซึ่งวันนั้นสมาคมฯเชิญผมให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย คณะกรรมการผู้คิดโปรแกรมนี้บอกผมว่า สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยอยากเห็นความมีเอกภาพในวิชาชีพ อยากเห็นว่า "รังสีเทคนิคไทย รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เหลียวแลชาวประชา" จึงขอเริ่มต้นก้าวเดินไปสู่จุดหมายของการรวมหัวใจด้วยการเชิญทุกสมาคมฯมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์
ก่อนหน้าจะถึงวันนั้น เมื่อสมาคมฯเชิญผมให้เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ผมรับเชิญทั้งที่รู้สึกกังวลใจมาก ว่าผลมันจะออกมาอย่างไร เพราะก่อนหน้านั้น บอกตามตรงว่า มีกระแสความหวาดระแวงซึ่งกันและกันแว่วมาให้ผมและชาวเราได้รับรู้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีการตอบรับร่วมอภิปรายของนายกสมาคมฯทุกท่าน ผมก็รู้สึกใจชื้นขึ้นมาขั้นหนึ่ง และการปรากฏตัวของนายกสมาคมฯทุกท่าน (ยกเว้น นายกสมาคมรังสีการแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งได้ส่งผู้แทนเข้าร่วม เพราะติดภาระกิจสำคัญจริงๆ) ยิ่งทำให้รู้สึกดีขึ้นมาก และที่สุด เมื่อการอภิปรายเริ่มขึ้นผมและชาวเราที่ร่วมประชุมวันนั้น ก็รู้สึกได้ว่ามีรังสีแห่งความสมานฉันท์แผ่อบอวลห้องประชุม ทำให้ผมโล่งอก และคิดว่าต้องเกิดการก้าวเดินไปข้างหน้าสู่การหลอมรวมหัวใจให้เป็นหนึ่งเดียวอีกอย่างแน่นอน
พ.ศ. 2549..คำอภิปรายบางตอนเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549
 
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 

"อนาคตรังสีเทคนิคไทยในมุมองของผู้ประกอบวิชาชีพ"


รศ.มานัส มงคลสุข (ผู้ดำเนินการอภิปราย)
วันนี้ 5 สมาคมมารวมกันอยู่ที่นี่ ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ ว่าวันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญมาก ไม่ทราบว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น.......
ที่ผ่านมาเนี่ย เราก็จะเห็นว่า วิชาชีพของเราเริ่มที่จะมีอะไรเป็นปึกแผ่นบ้างแล้ว เพราะคนเราเกิดมาอายุ 40 นิดๆ มันก็คงเริ่มจะเห็นแล้วว่า หัวหรือหางจะเป็นอย่างไร เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ขึ้นบน หรือลงล่าง นะครับ เพราะฉะนั้น อยากจะบอกว่า วันนี้เนี่ย ต้องขอชื่นชมคนที่ทำโปรแกรมนี้.......
มุมมองอนาคตรังสีเทคนิคไทย คือบางทีเรียกรังสีเทคนิคไทย บางทีเรียกรังสีการแพทย์ไทย ผมคิดว่าตรงนี้ชื่อคงไม่ค่อยมีความสำคัญ หรือมีความหมายมากกว่า ว่าเราคิดกันอย่างไร นะครับ เพราะงั้น บางทีผมจะใช้คำว่า ชาวเรา นะครับ คือชาวเราเนี่ย เรามองอนาคตวิชาชีพของเราเป็นอย่างไรในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ

นายพันธ์ทิพย์ สงเจริญ (นายกสมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิครามาธิบดี)
รังสีเทคนิครามาธิบดี เริ่มกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2513 รวมอายุ 35 ปี ทุกคนก็จบการศึกษามาประมาณเป็นตัวเลขก็ ประมาณซักเกือบ 3000 คนได้ ...แล้วมันก็ก่อเกิดอย่างที่ท่านอาจารย์มานัสได้พูดก็คือ ผมก็ไม่ทราบว่าไอ้ความเป็นมาของชื่อตำแหน่งเนี่ย ที่มันเป็นความหลากหลายของชื่อตำแหน่งเนี่ย มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไง
แต่ในมุมมองของผมก็มีความรู้สึกว่า มันเหมือนกับว่ามันไม่มีสภาวิชาชีพทางด้านนี้โดยตรง และมันก็เหมือนชนกลุ่มน้อย เพราะรังสีเทคนิคทั่วประเทศเนี่ย คาดว่า ถ้ารวมเป็นตัวเลขตรงๆทั้งหมดทุกสถาบันทั่วประเทศ ณ วันนี้ก็น่าจะประมาณหนึ่งหมื่นคน ขณะที่รังสีเทคนิคของเราเนี่ยมันเป็นอะไรที่วิวัฒนาการที่ช้า แต่ขณะเดียวกัน มีสิ่งสวนทางอยู่อย่างคือ เทคโนโลยีทางด้านรังสีเทคนิคเนี่ยมันไปอย่างรวดเร็วมาก ป้ายซีที ป้ายเอ็มอาร์ไอ ใหญ่กว่าป้ายโรงพยาบาลด้วยซ้ำ และขณะเดียวกันถ้าเราไม่มี...
การเติบโตแบบไม่มีทิศทาง คือหมายความว่า ถ้าตราบใดที่มันไม่เกิด การรวมตัวหรือเป็นสภาวิชาชีพอะไรเกิดขึ้นเนี่ย ตรงเนี้ยมันเหมือนทิศทางไม่มี มันไม่ได้ถูกกำหนด เพราะฉะนั้นต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเติบโต ในวิถีของตัวเอง โดยตัวเอง มันก็ไม่มีมาตรฐานอะไรไปรองรับ ทุกคนวิ่งหาตำแหน่งกันเอง ทุกคนหาจุดยืนของตัวเองโดยตัวเอง พอมีการเรียนต่อเนื่องขึ้นมา ก็ยังมีปริญญาที่แตกต่างกันอีก นี่มันก็ทิศทางคนละทิศคนละทางอีก ซึ่งมันก็เหมือนกับว่า สิ่งที่ต้องการที่แท้จริงมันก็ยังไม่ปรากฏขึ้นมาอีก.

นายสมศักดิ์ รุ่งพาณิช (ผู้แทนนายกสมาคมรังสีการแพทย์แห่งประเทศไทย)
กราบเรียนท่านอาจารย์นะครับ และเพื่อนๆที่รักทุกคน ร่วมชะตากรรมชาวรังสีการแพทย์ รังสีเทคนิค นะครับ จะเป็นรังสีการแพทย์ หรือรังสีเทคนิค ก็คือกลุ่มวิชาชีพรังสี ผมอยากจะเน้นตรงนี้มากกว่าคือกลุ่มวิชาชีพรังสี ซึ่งให้บริการกับตัวประชาชน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เราจะพูดไม่ได้เลยว่าเราอยู่ในสายงานของสาธารณสุข สายผู้ดูแลสุขภาพของชาวไทยนะครับ เราจะมีกันเพียงน้อยนิด เหมือนกับที่รังสีเทคนิครามาฯนายกบอก เราเหมือนเพชรในตรมนะครับ จะเห็นว่าล่าสุดของหน่วยบริการที่มีเอกซเรย์ใช้ คือเราเป็นผู้ใช้ เราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี นะครับ จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีซะส่วนใหญ่ ทำไมถึงเป็นตรงนั้น เนื่องจากว่าคุณภาพของเราเนี่ย ความทัดเทียมนะครับ ทุกด้าน เราบอกว่าเราจะเป็นประเทศที่พัฒนาแต่ว่าเรากลับถูกกรอบจำกัดเอาไว้
มุมมองของผมมีหลายด้านหลังจากที่ผมได้รับหัวข้อนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ พอดีพี่แดงสุขใจนายกสมาคมฯติดภาระกิจ ดูภาระกิจแกก็เยอะจากการที่ทำงาน contact กับแกมา 7-8 ปี รู้สึกว่าภาระกิจของแกค่อนข้างเยอะ ก็รับมอบหมายมาก็คุยกันว่าจะไปทิศทางไหน เป็นอาชีพกับวิชาชีพนี่แตกต่างกันนะครับ อาชีพนี่ใครจะทำอะไรก็ได้ คุณเป็นรังสีอยู่นี่คุณไปค้าขายนั่นก็เป็นอาชีพพ่อค้า นะครับ อาชีพนักธุรกิจ คุณอยากเป็นเซลขายฟิล์มแต่คุณจบรังสีเทคนิคหรือว่าเป็นการขายเครื่องก็เป็นอาชีพนักธุรกิจ อาชีพพ่อค้า แต่ถ้าเป็นวิชาชีพคุณต้องเรียนและต้องเป็น field ตรงนั้นคุณถึงจะทำได้ ตามกรอบแห่งกฎหมายแห่งวิชาชีพ ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจนะครับ ใบประกอบโรคศิลปะฯของเราเนี่ย ผมเอาตัวเลขกลมๆนะครับเมื่อกี๊เจอกับท่านอาจารย์ ประมาณ 2,500 กว่าใบ ออกไปแล้ว แต่การเข้าสู่สายงานมันยากเย็นเข็ญใจ จากเจ้าหน้าที่เป็นนักรังสี หรือจากน้องที่เป็นนักรังสีจบเพียวๆมาจะเข้าสู่วงราชการอะไรแบบนี้ ก็มีขีดจำกัดว่า รับได้เท่านี้นะ อีกส่วนตรงนี้ไปทำงานอย่างอื่น.....
เราจะทำอย่างไรให้พวกเราได้โตไปพร้อมๆกัน นะครับ เค้าบอกว่า มนุษย์เราทุกคนเนี่ยพัฒนาได้จริงไหมครับ พัฒนาหลายๆด้าน มุมมองของผมในการพัฒนาคนเนี่ยไม่ใช่การศึกษาอย่างเดียว การศึกษาคือการพัฒนาทางสายวิชาการ สมมติว่าเราอยากจะรู้เรื่องรังสีให้มันเข้มข้นเราก็ไปเรียนรังสีให้มันเข้มข้น เป็นผู้ปฏิบัติที่เข้มข้นในสายวิชาการ สมมติเราอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน เราไม่ได้ทำงานด้านรังสีอย่างเดียว เราเป็นทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตลอดจนบางคนเป็นนักบริหารในโรงพยาบาลด้วย ได้รับมอบหมายในงานต่างๆ เหมือนกันโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปก็เหมือนกัน คุณนั่งเป็นหัวหน้าแผนกเป็นนักรังสีการแพทย์คุณอาจต้องไปเปิดซอง คุณอาจจะต้องกำหนด specification ในการตรวจเครื่อง นั่นคือหลักในการบริหาร คุณต้องพัฒนาตรงนี้ขึ้นมา ในเมื่อเราโตขึ้น วิชาการเราก็ต้องแน่น เราต้องสร้างศักยภาพตัวของเราขึ้นมาก่อน เรามองตัวของเราก่อนว่าเรามีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม ต่ออุดมการณ์ของเราขนาดไหน แล้วถึงจะมองอนาคต.

วิโรจน์ ปัญญานันทกิตต์ (นายกสมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิค ม.สงขลานครินทร์)
ขอราบงานตัวนะครับ ผมสิโรจน์ ปัญญานันทกิตต์ จากรังสีเทนิค มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ ในมุมมองของกระผม ขอเรียนดังนี้นะครับ ว่าผมจะมองอนาคตรังสีเทคนิคของเราเป็น 3 มิติ
มิติแรกคือ มิติความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาเร็วมากจนบุคลากรของเรานี้ไม่ได้ตามทันนะครับ เพียงแต่ก้าวตามเทคโนโลยีเท่านั้น เพียงแต่ก้าวตามและได้สัมผัส ได้ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็ต้องขอขอบคุณทางสมาคมที่ได้จัดให้มีการประชุมวิชาชีพทางรังสีเกิดขึ้นมาทุกปี รวมทั้งสถาบันทางการศึกษาหลายๆแห่งที่ร่วมกัน ให้พวกเราวิชาชีพทางรังสีที่ได้มาพยายามเดินก้าวตามให้ทันเทคโนโลยีนี้
ส่วนอีกมิตินึงคือมิติกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพงาน เราไม่สามารถที่จะแบ่งได้ว่าโรงพยาบาลเล็ก หรือโรงพยาบาลใหญ่ จะต้องทำงานทางด้านกิจกรรมคุณภาพงานนี้ จะขอกล่าวคำอ้างของท่านราษฎรอวุโสท่านอาจารย์ประเวศ วสี ที่ท่านบอกไว้ว่า "ยุคของการบริการสาธารณสุขยุคใหม่นี้ เป็นการบริการสาธารณสุขที่เน้นหัวใจของความเป็นมนุษย์" ที่มันตรงกับ concept ของงานที่เราจัดมาวันนี้ ตรงกันมาก ที่ว่า "รังสีเทคนิคไทย รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เหลียวแลชาวประชา" นี่ผมดู concept นี้ผมก็ทึ่งในคนที่คิด concept นี้ เข้ากับยุค เข้ากับเหตุการณ์ ซึ่งความก้าวหน้าทางด้านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพงานนี้มันต้องก้าวตามไปด้วยกับเทคโนโลยี อย่าให้เทคโนโลยีนำความลำบากมากับให้ผู้ใช้บริการ
ส่วนอีกมิตินึงคือมิติของความก้าวหน้าทางวิชาชีพ หลายๆคนก็ได้พูดมาเลยนะครับว่า ความก้าวหน้าทางวิชาชีพของเราจำกัดอยู่ มีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเงาบังอยู่ แต่ผมคิดว่ามันก็มีบางอย่างที่ทำให้ท้องฟ้าเริ่มเปิดแล้ว โดยที่เราชาวรังสีมีวัคซีน ผมคิดว่าเป็นวัคซีนนะครับตัวนี้ ไอ้วัคซีนที่ผมบอกก็คือ ใบประกอบโรคศลปะทางรังสี ก็ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการที่ได้จัดทำ ผลักดันให้เกิดวัคซีนตัวนี้ขึ้นมา เพื่อให้ชาวประชารังสีของเรานี้จะได้มีวัคซีนป้องกันสำหรับประกอบวิชาชีพ.

นายปิยะศักดิ์ น้อยอยู่นิตย์ (นายกสมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิค รพ.จุฬาลงกรณ์)
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์มานัสนะครับ ขอบคุณท่านนายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ตลอดจนท่านประธานฝ่ายวิชาการนะครับ และก็ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าตื่นเต้นนะครับ ผมรู้สึกว่า ผมเป็นน้องใหม่ในวงการนี้เลยมั้งครับ จุฬาฯเพิ่งจะมาได้ 5-6 ปีนะครับ
วันนี้ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีนะครับ ผมมีความคิดอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯว่า มันไม่น่าจะกระจัดกระจายกันแบบนี้ จะต้องมีอะไรที่รวมกันให้ได้เป็นหนึ่งได้นะครับ พอได้มีโอกาสเชิญมาอภิปรายก็เลยต้องทำการบ้านเยอะนิดนึง เลยไปสอบถามจากกลุ่มพวกเรานี่แหละครับ แต่ว่าของผมค่อนข้างจะโชคดีว่าได้เจอกับทั้งกลุ่มที่อยู่ในโรงพยาบาลที่ high technology โรงพยาบาลสังกัดทบวง โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตลอดจนวิชาชีพเดียวกันที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือระดับรากหญ้าเล็กๆเราก็ได้ไปสัมผัสมา ผมก็ลองถามเค้าว่าคนทั้ง 5 กลุ่มนี้ เค้าคิดว่านับจากวันนี้ไปอีกซัก 20 ปี 10 ปี ข้างหน้า รังสีเทคนิคเนี่ยอนาคตมันจะเป็นอย่างไง
เริ่มต้นเลยทุกคนบอกว่าจะต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง วิชาชีพเราหยุดแค่นี้ไม่ได้ เมื่อก่อนผมเป็นคนหนึ่งที่จบอนุปริญญา ผมคิดว่าพอแล้ว แค่นี้ผมทำงานได้ผมใช้เครื่องมือเป็น พอถึงจุดนึงผ่านมาสัก 5 ปี ผมรู้ว่ามันไม่พอต้องมีการศึกษาต่อเนื่อง และ ณ วันนี้ผมก็จบปริญญาตรี ผมก็คิดว่ามันไม่พอแล้ว เวลาไปประชุมหรือไปเสนอความคิดกับใคร คนอื่นที่เค้ามีความรู้ความสามารถมากกว่านี้เนี่ย ไม่จำเป็นต้องเป็นปริญญาโท อันที่สองคือการพัฒนาตนเองเมื่อกี้ศึกษา ศึกษาแล้วคุณมาหยุดอยู่กับแผนก มาอยู่ที่โต๊ะคุณ ใบ certificate อยู่ในกรอบแขวนไว้แต่คุณไม่ได้ใช้มัน มันไม่มีประโยชน์ คุณต้องเอามาพัฒนาตัวคุณแล้วเอามาใช้จริงๆ ใช้ให้ได้ให้เห็นผลจริงๆ อันที่สาม เมื่อเราศึกษาและพัฒนาตนเองแล้ว เราก็ต้องก้าวไปสู่ในจุดที่เราต้องร่วมวางแผนการจัดซื้อ

นายสละ อุบลฉาย (นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย)
ครับก็ขอสวัสดีเพื่อนๆชาวรังสีเทคนิคทุกท่านนะครับ ก็ในนามนายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ขอต้อนรับพวกเราครับ ก็ดีใจเป็นอย่างมากครับ จริงๆการเชิญใน section นี้ที่เกิดขึ้นเนี่ย ก็จากที่ผมได้ไปพูดคุยกับสมาชิกรังสีเทคนิคนะครับ ซึ่งพวกเราทั้งหมดนะครับไม่ว่าจะสังกัดอยู่ที่ไหนเนี่ย ก็ได้คุยเป็นส่วนหนึ่ง ก็มีความคิดว่าเจตจำนงค์ที่เราควรจะตั้งไว้สักครั้งเถอะ......พอเราพูดคุยในคณะกรรมการ เอามาเสนอในคณะกรรมการ กรรมการก็เห็นพ้องต่อที่ผมไปเสนอ น่าจะมีการเชิญนายกสมาคม ซึ่งพวกเราเป็นพวกเดียวกัน อยู่ในกลุ่มอาชีพที่ต้องยึดถือใบประกอบโรคศิลปะใบเดียวกัน มาตรฐานก็ควรจะเป็นแนวทางเดียวกัน เราก็มีการเชิญพูดคุยในวันนี้เกิดขึ้น นะครับ
.....ตอนนั้นเราอายุรังสีเทคนิคเกิดขึ้นในประเทศไทยก็น่าจะ ถอยหลังไปหน่อย อาจจะอายุเป็นวัยรุ่นนิดนึง เบษจเพศ 25-30 อะไรทำนองนี้ครับ ตอนนี้ผมว่ามันโตแล้วนะครับ ตอนนี้ผมว่าอายุก็แก่แล้วรังสีเทคนิคเกิดขึ้นมาเนี่ย ถ้านับปี 11 จนถึงตอนนี้ปี 49 ผมว่าก็ 38 แล้ว วัยที่เราพอที่ น่าจะเป็นหลักได้แล้ว เสานี้น่าจะปักยึดแน่นได้ และให้ผู้ที่ไล่ตามมาก็มาเกาะเสาตัวนี้ ผมว่าผู้ที่มาทำงานสมาคมทุกคนก็คงหวังที่จะทำอันเนี้ยฝากไว้เพื่อให้วิชาชีพเนี่ยเป็นหลัก มีหลักเดียวครับ และทุกคนก็ยึดหลักตัวเนี้ย ว่าหลักตัวเนี้ยเขียนว่าอะไร และก็ปฏิบัติตามใบประกอบฯ ที่ว่าเมื่อกี๊วัคซีนที่ใช้ฉีดเข้าไป หลักนี้จะมีวัคซีนอยู่ครับ เป็นตัวคุ้มกัน ...คิดว่าเหมือนคัมภรีย์ใบนึงซึ่งอยู่ในหลักเนี้ย ทุกคนต้องใช้หลักเดียวกันนะครับ ผมก็อยากจะเปรียบเทียบง่ายๆ
ทีนี้ลองมองดูซิครับว่ารังสีทุกคนที่เกิดมาในปี 11 เนี่ยจนถึงปัจจุบันนี้ ถามว่าพี่น้องกันใช่ไหมครับ คลานตามกันแตกลูกหลานไป มันน่าจะมารวมตัวกัน ตั้งแต่ปี 11 มา มีพี่คนโตไล่มา อาจารย์ชัชวาลย์ อาจารย์วิจารณ์ นะครับ ซึ่งตอนนั้นอาจารย์วัชรี ผมบอกได้เลยว่าอาจารย์หรรษา ซึ่งเป็นแนวผู้ก่อตั้งให้เกิดพวกเราที่มานั่งอยู่ที่นี่ทุกคนนะครับ ก็ที่ยังไม่เอ่ยนามก็มีเยอะแยะ มีพี่เฉลิมที่ผมจำได้รุ่นแรกๆนะฮะ พี่เชาวนาและสมัยก่อนมีชื่อพี่ชวลิตก็ขอโทษด้วยอ้างชื่อท่านนะครับ จนมายุคหลังๆก็เกิดขึ้นมามากมาย จนมีคณาจารย์ได้ชี้แจงเพื่อช่วยหาทางว่าเป็นอนาคตในข้างหน้านี้จะได้กำหนดทิศทางต่อไปเพื่อเจตจำนงค์ที่เราตั้งไว้ เมื่อกี๊ก็ยังหาอยู่ผมก็ บอกว่ารังสีเทคนิคไทยรวมใจเป็นหนึ่ง เหลียวแลประชา อันนี้ที่ตั้งนี่นอกจากเราจะทำแล้ว หน้าที่ของเรารวมกันแล้ว ก็คงเพื่อไปบริการชาวประชา ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจว่าต่อไปนี้ น่าจะเป็นนิมิตเริ่มต้น ณ วันนี้ ไม่ทราบว่าอาจารย์จะสรุปว่าเป็นประวัติศาสตร์จริงหรือเปล่าว่าได้แค่ไหนนะครับ ก็ขอให้มองดูประชาเป็นหลัก ขอบคุณครับแค่นี้ก่อนนะครับ

รศ.มานัส มงคลสุข (ผู้ดำเนินการอภิปราย)
ต่อไปเป็นช่วงคำถามจากผู้ฟังทุกท่าน กรุณาเตรียมคำถามเขียนใส่กระดาษ หรือจะถามที่ไมค์ก็เตรียมตัวนะครับ ระหว่างรอคำถามผมจะสรุปที่ 5 สมาคมฯพูดมาทั้งหมดครับ
ที่ท่านนายกสมาคมฯทั้ง 5 สมาคมฯได้พูดไปเนี่ย จริงๆแล้วมันก็คือมุมมองที่ถ้าเราจะวิเคราะห์ตัวเองเราอาจจะใช้ SWOT analysis เอกสารตรงนี้ผมได้แจกให้แก่ทุกท่านไปแล้วนะครับ ซึ่งผมเขียนเองจากใจ ว่า มองอนาคตรังสีเทคนิคไทยแบบ SWOT” ผมทราบว่าหลายคนอาจจะรู้วิธีนี้แล้ว แต่ก็ขอสรุปให้ฟังอีกครั้ง ว่าคำว่า strength weakness opportunity และ threat โดยเอาอักษรตัวแรกมาผสมกันเป็น SWOT ใช้วิธีนี้มององค์กรของเรา องค์กรของเราคือชุมชนรังสี เรามองภายในชุมชนรังสีว่าอะไรเป็นจุดแข็งหรือ strength และอะไรเป็นจุดอ่อนหรือ weakness และมองภายนอกชุมชนรังสีว่าอะไรเป็นโอกาสหรือ opportunity และอะไรที่เป็นอุปสรรคหรือ threat
เท่าที่ฟังมาทั้งหมด 5 สมาคมฯ
จุดแข็งคือ เราทำงานอยู่กับเครื่องมือรังสีที่มีราคาแพงมากหลายคนอาจเห็นแตกต่างได้นะครับ อีกประการหนึ่งคือชุมชนของเรามีใบประกอบโรคศิลปะ อาจจะมีจุดแข็งหลายอย่าง แต่นี่คือตัวอย่าง
จุดอ่อนคือ การเติบโตทางสายงานและตำแหน่งยังไม่ครอบคลุม และไม่เป็นธรรม มันทำให้เราทำงานไปแล้วซังกะตาย หรือทำไปวันๆนึง มันไม่มีแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้น คือไม่มีทั้ง inspiration และ motivation ขาดทั้งสองอย่างเลย จุดอ่อนอีกอย่างคือการที่วิชาชีพเรามีมุมมองที่แตกต่างกันหลายอย่างในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งไม่ควรที่จะสะท้อนถึงความแตกแยก คำว่าความเห็นแตกต่าง กับความแตกแยก มันทันสมัยมากในระดับประเทศ เห็นแตกต่างได้แต่ไม่ควรแตกแยก ตรงนี้คือจุดอ่อนที่เราต้องหาทางแก้ไข
อุปสรรคคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรังสีเทคนิครวดเร็วมากจนชาวเราตามกันไม่ทัน ไม่ต้องไปคิดถึงการสร้างเทคโนโลยีเลย การศึกษาต่อเนื่องเพื่อพัฒนาตัวเองให้เท่าทันมันจึงจำเป็นแต่ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง
โอกาสคือ การที่สังคมให้การยอมรับวิชาชีพของเรา ดูจากการต้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีใบประกอบโรคศิลปะฯ อีกประการหนึ่งคือเทคโนโลยีทางรังสีพัฒนาไม่หยุด ไม่ตาย
ทั้งหมดที่พูดกันมานี้เมื่อวิเคราะห์แล้วด้วย SWOT ก็จะช่วยให้เรามองอนาคตได้ง่ายขึ้น ทีนี้ก็เชิญคำถามได้เลยครับ
<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<

     ก้าวเดินต่อไปนั้น คืออะไร? วันนั้นไม่ได้มีการฟันธง แต่เป็นการแสดงความเห็นในลักษณะของการมองอดีตสู่อนาคตว่าจะเจออะไร จุดที่สำคัญที่สุดคือ เริ่มมีการพูดถึงสภาวิชาชีพฯ 
     โดยส่วนตัวผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และน่าจะเป็นทิศทางหลักที่เราควรก้าวเดินไปให้ถึง เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคจะก้าวสู่การเป็นวิชาชีพที่กฎหมายเปิดโอกาสให้คนในวิชาชีพดูแลกันเอง ได้มากกว่าการที่เป็นอยู่ในขณะนี้ 
     มีหลายคนถามผมในขณะนั้นว่า มันจะเร็วไปหรือไม่ที่เราจะก้าวไปสู่การมีสภาวิชาชีพฯ ทั้งที่ในขณะนี้เรามีคณะกรรมการวิชาชีพฯยังไม่ครบถ้วนเลย 
     ผมคิดว่าไม่เร็วเกินไปนะครับ คือการมองอนาคต (futurism) วันนี้เราต้องมองไว้เลยว่า อนาคต 10-20 ปีข้างหน้าเราจะเป็นอะไร แล้วต้องทำวันนี้เพื่อให้อนาคตเป็นอย่างที่เราวาดฝันไว้ หากวันนี้เราไม่เตรียมการวางรากฐานอะไรไว้เลย วันข้างหน้าชาวเรารุ่นหลังๆต่อมาจะคิดทำก็ยากเย็นแสนเข็ญ 
     คงไม่ง่ายนักที่จะไปให้ถึงการมีสภาวิชาชีพฯภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันมีเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรค คงไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเพียงลำพัง ที่จะสามารถสร้างเส้นทางหลัก (high way) มุ่งไปสู่จุดหมายนั้นได้ มันขึ้นกับชาวเราทุกคนครับ ต้องมีการเตรียมการ เตรียมความพร้อมหลายอย่าง
       มีคำถามแบบท้าทาย (challenge) ผุดขึ้นมาเยอะมาก.....ต้องการคำตอบและการปฏิบัติที่จริงจัง
  •  ชาวเราทุกคนหรือส่วนใหญ่ มีศรัทธาในวิชาชีพอย่างผู้มีปัญญาและทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละมากน้อยแค่ไหน?
  • การเปลี่ยนจากคณะกรรมการวิชาชีพเป็นสภาวิชาชีพ ทำเพื่อตัวเราเองหรือเพื่อใคร?
  • ชาวเราทุกคนหรือส่วนใหญ่มิได้มองเห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ (self focus) และได้ช่วยกันแสดงศักยภาพความสามารถที่เป็นรูปธรรม โดยยึดเอาผู้ป่วยเป็นสำคัญ (patient focus) ที่ไม่ใช่การสร้างภาพ ออกมาให้สังคมได้ประจักษ์และเกิดการยอมรับมากยิ่งๆขึ้นไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่?
  •  ความคาดหวังของสังคมต่อวิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นอย่างไร?
  • สังคมสงสัยหรือไม่ไว้ใจหรือไม่เชื่อมั่นในวิชาชีพชองชาวเราหรือไม่?
  • ชาวเราทุกคนมีหัวใจผนึกหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้จริงหรือไม่? มีความหวาดระแรงกันหรือไม่?

ถึงแม้จะมีอุปสรรคอย่างไรเราก็ต้องเริ่มต้นก้าวเดินไปครับ เพราะการเริ่มก้าวเดินโดยเฉพาะไปในทิศที่ควรจะเป็นที่ชาวเราเห็นพ้องต้องกัน ล้มก็ลุกขึ้นเดินใหม่ ในที่สุดมันก็จะถึงจุดหมายได้ในเวลาที่ไม่นานนัก
ดังนั้น ก้าวต่อไปของการรวมใจเป็นหนึ่งเดียวจึงน่าจะมีผลกระทบโดยตรง และมีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของรังสีเทคนิคไทย ต่อชาวเราทุกคน อย่าให้การมาร่วมพูดคุยกันของนายกฯทั้ง 5 สมาคมฯต้องสูญเปล่า เมื่อมีการเริ่มต้นแล้วก็ภาวนาขอให้มีการผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันถักทอสานต่อให้เกิดรูปร่างแห่งอนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
ทว่า..เวลาผ่านจากช่วงนั้นมาแล้วเกือบ 5 ปี ดูเหมือนว่าทุกอย่างสงบนิ่ง เหมือนไฟมอดลงไป ได้ยินแต่การพูดคุยประปรายถึงการเป็นสภาวิชาชีพ กระบวนการเดินหน้า ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น

     พ.ศ. 2553..แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
     
เมื่อวันรังสีเทคนิคโลกที่ผ่านมา คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย คุณสละ อุบลฉาย ได้เป็นเจ้าภาพเชิญชวนผู้บริหารสมาคมทั้ง 5 และกรรมการวิชาชีพ มาร่วมปรึกษาหารือ ถึงแนวทางในการเดินหน้าสู่สภาวิชาชีพ ที่โรงแรมตะวันนา กรุงเทพฯ
โรงแรมตะวันนา กรุงเทพฯ (8 พ.ย. 2553)
     ผมได้มีโอกาสไปร่วมด้วยในฐานะกรรมการวิชาชีพและที่ปรึกษาสมาคมฯ จึงได้เห็นความตั้งใจอย่างสูงของนายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ที่อยากให้เกิดสภาวิชาชีพรังสีเทคนิค โดยสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยจะสนับสนุนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) 
     เป็นเหมือนเทียนเล่มน้อยในความมืดมิดที่ปลายอุโมงค์ มีความชัดเจนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการรวมใจกันทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อยู่ที่ใจจริงๆ และขอให้กำลังใจ อย่าหยุดเดินครับ แม้จะมีอุปสรรคเรื่องความคิดที่ไม่ตรงกันบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา ความคิดที่แตกต่างกันทำให้เกิดความสวยงาม ชาวเราไม่ควรใช้ความคิดที่แตกต่างกันเป็นฐานเพื่อสร้างความขัดแย้งขึ้น อันจะนำไปสู่ความยุ่งยากมากขึ้นในการเดินหน้าสู่สภาวิชาชีพ เพราะว่า ยังมีหลายด่านภายนอกชุมชนรังสีเทคนิคขวางเราอยู่อีกมาก 
     กระบวนการเดินหน้าสู่สภาวิชาชีพ มันมีระบบและกลไกของมัน ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ (พรบ.)ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมันมีหลักเกณฑ์ของมันว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง และต้องเสนอผ่านช่องทางไหนบ้าง เท่าที่ทราบไม่ง่ายและต้องใช้ทุนทรัพย์สูงอาจเป็นล้านบาททีเดียว 
     มองในแง่ผลกระทบ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder)จะคิดจะรู้สึกอย่างไร เช่น ชาวเราทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุข นักการเมือง วิชาชีพที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงกัน เป็นต้น เหล่านี้หากเกิดความไม่เข้าใจกันอาจเกิดแรงต้านได้ 
     จุดตั้งต้นของการจัดทำ พรบ. จะอยู่ที่ไหน??..ใครหรือองค์กรใดจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เกิดความร่วมมือกันจากชาวเราส่วนใหญ่ ความเห็นของผมคือ...
     การจัดทำ พรบ. นั้นต้องใช้ความร่วมมือและเงินทุนสูงมาก ทั้งการทำร่าง พรบ. และการทำประชาพิจารณ์ ล้วนต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น องค์กรวิชาชีพรังสีเทคนิคขณะนี้ควรเป็นหลักในการสร้างความร่วมมือ ระดมทั้งกำลังและเงินทุน ให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ต่างคนต่างทำโดยหวังเพียงประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับเท่านั้น ซึ่งการทำอย่างนี้มันไร้พลัง ต้องเน้นประโยชน์ทีประชาชนหรือผู้ป่วยจะได้รับเป็นหลัก 
     ต้องใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสียให้มากๆครับ เพราะผมเชื่อว่า พรบ. จะมีองค์ประกอบของเนื้อหาหลักๆที่มี template จากสภาวิชาชีพอื่นๆ เป็นแบบอย่างและเป็นแนวทางในการนำมาปรับได้ คือเขียน พรบ. ไม่น่าจะยุ่งยากมาก แต่ความเข้าใจกัน ความร่วมไม้ร่วมมือกัน ความไม่ขัดกันเองภายในชุมชนของเรา น่าจะเป็นเรื่องใหญ่

ผมประทับใจคำพูดของนายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยที่ว่า "การเดินหน้าสู่สภาวิชาชีพ ไม่ใช่เดินหน้าเพื่อตัวเอง แต่เรามองสิ่งที่ชาวประชาจะได้ประโยชน์เป็นหลัก" และตอนนี้ก็ยังประทับใจครับ

     จะเดินต่อไปอย่างไร สู่สภาวิชาชีพ
     พ.ศ. 2554..
     พ.ศ. 2555...
     พ.ศ. 2556...
     พ.ศ. 2557...
อภิปราย สภาวิชาชีพรังสีเทคนิค 23 กค 2557 โรงแรมบัดดี้ โอเรนเติ้ล ริเวอร์ไซด์ ปากเกร็ด
(เครดิตภาพ:...ต้นอ้อ)

     ...
     ...
     พ.ศ. 2599...

8 ความคิดเห็น:

  1. ความเห็นของ ครูหยุย (อ.วัลลภ ตังคณานุรักษ์)
    "การก้าวขึ้นเป็นระดับสภา ดีครับ เพราะองค์ประกอบชัด กิจกรรมชัดและทำประโยชน์ได้ชัด มีพลัง"
    http://gotoknow.org/blog/radspark/412332

    ตอบลบ
  2. สมมติถ้าเป็น พรบ.สภาสหวิชาชีพเพื่อสุขภาพ คือเป็น พรบ. รวมหลายๆวิชาชีพ ทั้ง รังสีเทคนิค+วิชาชีพa+วิชาชีพb+วิชาชีพc+วิชาชีพd+วิชาชีพe+.....อาจจะออกมารูปนี้ ต้องระวังนะครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ19 เมษายน 2555 เวลา 21:33

    สภาวิชาชีพรังสีเทคนิค เพื่อประโยชน์ของประชาชน อยากเห็นในวันข้างหน้าค่ะในอนาคต

    ตอบลบ
  4. มีการพูดเรื่อง "สภาวิชาชีพรังสีเทคนิค"…กันนานมากแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหน…มันเป็นไพอะเราะ…มันเป็นเพราะอะไร…เพราะ…
    …เราแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย
    …แต่ละฝ่ายชิงดีชิงเด่นกัน
    …แย่งชิงการนำ อยากเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบสภาฯ
    …ไม่สามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว
    …ไม่ยอมรับกัน ทับถมกัน
    …ฯลฯ
    มันเป็นอย่างนั้นไหม เท่าที่คลุกคลีมา ผมเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น และมันเป็นแรงเสียดทานอย่างรุนแรง ที่ทำให้เกิดสภาฯได้ยาก…เราควรปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นซะบ้าง…เท่านี้ก่อนครับ

    ตอบลบ
  5. ความเห็นจาก FB:

    Keng X-ray:…..
    ใช่เลยครับ. แบ่งแยกแบ่งฝ่ายแบ่งพวก

    นายลุงสยาม ขายชาติกิน:…..
    เออ...วิบากกรรมและศีลไม่เสมอกันมันก็เลยปฏิฆะกันครับ...ธรรมดาโลกๆ ยึดมั่นถือมั่นในสมมุติกันขจนจริงจัง

    Boonsong Wattanasin:…..
    ใครไม่เลือกข้างไม่ใช่พวก ยังกะเล่นการเมืองเลย

    เครซี่แมน จริง จริง:…..
    น่าคิดนะครับ อาจารย์ ขออนุญาตแชร์นะครับ
    ตอนท่านลงหาเสียงท่านเหล่าพูดไว้ว่า ...แล้วเมื่อท่านได้รับเลือก สิ่งที่ท่านพูดละครับ

    เพชรากร หาญพานิชย์:…..
    เริ่มเลย เริ่มสภา นะครับ เท่าที่ทราบ คนที่หาเสียงเค้าก็เริ่มไปบางส่วน ถามต่อ...แล้วสมาคมต่างๆละครับ เริ่มหรือยัง เอาด้วยหรือเปล่า อยากได้ยินเสียงนายกฯ สมาคมและทีม ชัดๆ ครับ

    Pairoj Srikum:…..

    เริ่มได้แล้วครับทุกท่านมองกันหลายๆมุมหลายๆด้าน ช่วยกันมีส่วนร่วม แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์คงได้เห็น

    วิริยะบุปผา ธรรมนูญ:…..
    ใช่เลยเหตุผลทั้งหมด ปล่อยวางบ้างเหอะ ผมปล่อยแล้ว ลาออกกินบำนาญทำธุรกิจ จบไม่ยึดติด สบายใจ

    นายอาทิตย์ ถาวรานุรักษ์:…..
    เป็นเพราะอะไร ใครทำอะไร ใครไม่ทำอะไร แต่พวกเรานักรังสี บริการแต่ผู้ป่วย สมัยก่อนผมไม่รู้แต่สมัยนี้ใครใหญ่แค่ไหน อยากจะเห็นความเป็นหนึ่งเดี่ยว

    Mattrew Phencilvanier:…..
    ครับขอให้มองหลายมิติ และแก้ปัญหาแบบ winwin win

    ตอบลบ
  6. "พายเถอะนะพ่อพาย ตะวันกำลังจะสาย ตลาดกำลังจะวาย สายบัวกำลังจะเน่า"…ชาวเรากำลังคิดแบบนี้ใช่ไหมครับ คือรีบๆทำก็แค่นั้น จะรออะไร…

    แต่…"โซ่ยังไม่ได้แก้ ประแจยังไม่ได้ไข จะพายไหวอย่างไรล่ะพ่อคู้น"…คือยังมีความยึดมั่นถือมั่นว่ากูแน่เป็นสิ่งเหนี่ยวรั้ง ทำให้หมดแรงตายไปเลยก็ไม่สำเร็จ เรือไม่ยอมเคลื่อนออกจากท่า แค่ส่ายหัวไปมา เพราะยังไม่ได้ตัดโซ่

    ตอบลบ
  7. จาก FB:

    เพชรากร หาญพานิชย์:.....
    โซ่ยังไม่ได้แก้ ประแจยังไม่ได้ไข เห็นด้วยครับ อาจารย์
    ผมเสนอว่า...ต้องหาเจ้าภาพ
    เปิดเวที มาช่วยกัน ใครจะพาย ใครจะไข ใครจะแก้ เปิดเวทีเสวนาโดย กช สมาคม และผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ฯลฯ ครับ
    ที่ว่า เริ่มเลย คือ จะเริ่มต้นด้วยใคร แบบไหน ก็มาระดมสมองกัน แล้ว ใคร?...จะเป็นเจ้าภาพ ออกตัวมาช่วยกันกันเลยนะ ครับ

    ตอบลบ
  8. เรียน คณาอาจารย์ ประจำภาควิชารังสีเทคนิค ประกาศรับสมัคร ผู้จบการศึกษา วุฒิการศึกษา วิทยาศาสตร์บัญฑิต สาขารังสีเทคนิค เพื่อปฏิบัติงานในตำแหน่ง นักรังสีการแพทย์ และบรรจุเข้าเป็นพนักงานราชการ ประจำโรงพยาบาลชุมชน ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย ภายในวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม 2560 (รายละเอียดสามารถติดต่อได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย .) ค่ะ

    ตอบลบ