วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เปิดบ้านรังสีรังสิต

เก็บภาพบรรยากาศงาน Open House 2559 คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต มาฝากชาวเรา คราวนี้ขอพรรณนาด้วยภาพแล้วกันครับ ระหว่าง 24-25 พ.ย. 2559 


เริ่มด้วยภาพที่ @Station 1-Hospital

ความประทับใจของแฟนคลับ
     Open House คราวนี้ ประกายรังสีเจอแฟนคลับ เป็นคุณแม่พาลูกมาดูงานการเรียนรังสีเทคนิคถึงที่ คุณแม่บอกว่าติดตามประกายรังสีมานานแล้ว ข้อมูลรังสีเทคนิคชัดเจนดีมาก .. "พอเห็นอาจารย์ตัวจริงแล้ว ความมั่นใจมันพุ่งปู๊ดเลย"... ปลื้มมากครับ
ตะลุยคณะรังสีเทคนิค
     ทีมงานคณะรังสีเทคนิค พานักเรียนและคุณครู ชม RT Park ชมห้องปฏิบัติการทางรังสี ชมการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ให้ลองสัมผัสกับเครื่องเอกซเรย์จริงและลงมือทำจริงๆกับคุณสมศักดิ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ของการเรียนด้านรังสีเทคนิคเท่านั้น สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม click>>>

Related Links:


วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

World Radiography Day: 8 พฤศจิกายน 2016


(224 ครั้ง)
นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์
รองอธิการมหาวิทยาลัยรังสิต
ประธานเปิดงาน WRD Thailand 2016
     งาน World Radiography Day 2016 (WRD 2016) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยได้รับเกียรติจากนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธานเปิดงาน ในฐานะที่เป็นผู้จัดร่วมกับสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย และบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน) มีข้อมูลเกร็ดเล็กๆน้อยมาเล่าสู่กันฟังครับ คือ

     เป็นการจัดงานที่มาจากใจจริงๆ
     เราคิดกันว่าในเมื่อโลกให้การยอมรับว่า วันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน "World Radiography Day" ชาวเราน่าจะได้ใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมดีๆ แบบที่ไม่ต้องมีวิชาการมาก แบบที่ประชาชนชาวบ้านทั่วไปก็ร่วมได้ เพื่อแสดงความระลึกถึง ศาสตราจารย์เรินท์เกนผู้จุดประกายรังสี ส่องชีวิต ส่องโลก ระลึกถึงคุณประโยชน์อันอเนกอนันต์ของรังสีเอกซ์ เป็นการเตือนความทรงจำให้เราท่านทั้งหลายได้ระลึกรู้ 
     แล้วจะจัดอย่างไร ที่ไหนดี เรื่องนี้คณะรังสีเทคนิคได้ปรึกษากับผู้ใหญ่หลายท่านในแวดวงรังสีเทคนิค ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจ เรียนเชิญสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยและบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน) มาร่วมกันจัด โดยใช้ทีมงานคณะรังสีเทคนิคเป็นหลัก
ตัวอย่างสื่อที่ประชาสัมพันธ์งาน WRD Thailand 2016
     จากนั้นทีมงานได้ร่วมกันคิดเริ่มเตรียมงานจากงบประมาณศูนย์(เหรียญ)บาท ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการสนับสนุนจากบริษัทต่างๆจำนวนหนึ่ง ทำให้การดำเนินงานไม่ต้องเข้าเนื้อมากนัก
     คิดหัวข้อการเสวนาว่าน่าจะได้ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ๆ จึงได้หัวข้อเป็น "รังสีเทคนิคกับคนรุ่นใหม่" การเสาะหาและเรียนเชิญวิทยากรให้สอดคล้องกับหัวเรื่อง การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของมหาวิทยาลัยรังสิต
     เรื่องการจัดเตรียมสถานที่คณะรังสีเทคนิค ก็ต้องรีบทำให้เสร็จให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะ "RT Park" อย่างน้อยให้เรียบร้อยระดับหนึ่งเพื่อต้อนรับชาวเรา การเลือกและจัดสถานที่ประชุมให้เหมาะสม อาหารและเบรคสำหรับผู้ร่วมงาน ฯลฯ
     เมื่อถึงวันงานจริง วิทยากรที่มาบรรยายท่านก็มาด้วยใจเกินร้อย แม้ว่าคณะผู้จัดไม่มีค่าเดินทางและค่าตอบแทนอะไรให้เลย แค่เลี้ยงอาหารกลางวันในวันประชุมเท่านั้น บางท่านเดินทางโดยเครื่องบินมาแต่เช้า แล้วเดินทางกลับตอนเย็น นี่เป็นอะไรที่ผมได้เห็นน้ำใจของชาวเราที่แสดงออก ด้วยการมาร่วมงานแม้ว่าคณะรังสีเทคนิคจะเดินทางมายากสักหน่อย แต่ก็อยากมาแสดงออก อยากบอกสังคมว่าเราคือ "นักรังสีเทคนิค" ดูได้จากการตั้งกระทู้ใน facebook ของชาวเราที่มาร่วมงาน ทุกคนได้โพสต์ข้อความและรูปภาพด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นรังสีเทคนิค
   
     RT Park 
     เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่คณะรังสีเทคนิคตั้งใจจัดทำขึ้นในโอกาสเดียวกันนี้ เพื่อให้ทันกับการที่ชาวเราจะมาร่วมกิจกรรม WRD Thailand 2016 ที่คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เข้าชมความสวยงามอย่างมีสาระ การจัดทำ RT Park เป็นการทุ่มเทแรงกายแรงใจของทีมงานคณะรังสีเทคนิคอย่างสุดตัว อย่างน่าชื่นชมยิ่ง ด้วยงบประมาณที่ต้องบอกไม่อายเลยว่าน้อยมากๆ แต่ productivity สูง เพราะเป็นการคิดแบบตกผลึกเร็วมากแล้วทำเลย ไม่ได้ตั้งงบประมาณล่วงหน้า ดังนั้น เรื่องเงินจึงค่อยไปหาเอาข้างหน้า เพราะเห็นความจำเป็นว่าต้องจัดทำ เรากลับบ้านกันมืดค่ำเกือบทุกวันนานเป็นเดือนๆครับ ซึ่งงานยังไม่เสร็จเรียบร้อย เท่าที่ชาวเราได้มาเยี่ยมชมนั้น เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของ RT Park เท่านั้น

     จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม
     
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการจัดกิจกรรม WRD Thailand 2016 ที่เป็นการรวมตัวของชาวเรา ชาวรังสีเทคนิคในสถานที่เดียวกันมากที่สุดจำนวน 110 คน (ไม่นับรวมนักศึกษารังสีรังสิต) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและนักรังสีเทคนิค เกินความคาดหมายครับ

     สุดท้ายอยากบอกชาวเราว่า แม้กิจกรรมวันรังสีเทคนิคโลกจะได้ผ่านไปแล้ว แต่ก็จะยังวนกลับมาอีกปีละครั้ง คือ 8 พฤศจิกายนของทุกปี ในปีต่อไป จึงอยากจะเชิญชวนชาวเราล่วงหน้าเลยครับ จัดกิจกรรมให้มากยิ่งขึ้น เข้าถึงชาวเราให้มากขึ้น รวมตัวกันให้มากยิ่งขึ้น เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น ยังประโยชน์ให้เกิดต่อส่วนรวมให้มากขึ้น และหากจะมาจัดที่คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ยินดีครับ รังสีรังสิตยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอให้คิดว่าเราเป็นเพื่อนกัน เราเป็นพี่น้องกัน เราเป็นครอบครัวรังสีเทคนิคเดียวกัน

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ในหลวงในความทรงจำของฉัน


ผมไม่เชี่ยวชาญเรื่องราชาศัพท์ ดังนั้น ข้อเขียนนี้จึงเป็นข้อเขียนของสามัญชนคนธรรมดา ใช้ถ้อยคำธรรมดาสามัญที่กลั่นออกมาจากใจ ด้วยความจงรักภักดี เพื่อถวายความอาลัยอย่างหาที่สุดมิได้ และคำว่า ในหลวงที่ใช้ต่อไปนี้ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ตอนผมเป็นเด็กเมื่อเกือบ 60  ปีที่แล้ว ผมเกิด วิ่งเล่น และเรียนหนังสือ ที่ตำบลช่องแค (อ.ตาคลี นครสวรรค์) ในครอบครัวช่างตีเหล็ก อยู่ในชนบทกันดาร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ถนนผ่านตำบลเละเป็นโคลนเป็นหลุมเป็นบ่อเมื่อฝนตก ไม่มีโทรศัพท์ มีหมอคนเดียว ฯลฯ ชาวบ้านรับรู้ข่าวสารต่างๆผ่านทางวิทยุและหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ได้เห็นผู้ใหญ่อ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า รวมกลุ่มเป็นสภากาแฟ ระหว่างทำงานก็เปิดวิทยุทรานซิสเตอร์ฟังเพลงฟังข่าวสารเป็นเพื่อน ซึ่งวิทยุนั้นมักใช้ถ่านไฟฉายตรากบ มีเพลงโฆษณาถ่านไฟฉายตรากบ ได้ยินทางวิทยุจนผมร้องได้ การรับรู้ข่าวสารต่างๆในเมืองหลวง จากรัฐบาล ข่าวสำนักพระราชวัง ก็ผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก ได้ยินแต่เสียงเท่านั้น นอกนั้นจินตนาการล้วนๆ มันช่างรู้สึกห่างไกลสุดเอื้อมเหลือเกินระหว่างช่องแคกับเมืองหลวง

ความเป็นอยู่น่าจะยากลำบากมากใช่ไหมครับ แต่ผมตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่ามันยากลำบาก อบอุ่น สนุกสนานไปตามประสาเด็ก ผมวิ่งเล่นเข้าบ้านโน้น ออกบ้านนี้ เรียกพ่อและแม่กันทุกบ้าน ได้เวลากินข้าวที่บ้านไหน ก็ร่วมวงกินได้เลย ไม่รู้สึกแปลกแยก เวลาที่แม่ผมทำแกงผมไม่เคยสงสัยเลยว่าทำไมแม่จึงทำแกงหม้อใหญ่มาก ทั้งที่ในบ้านมีแค่ 4 คน แม่ตักแกงใส่ชามแล้วให้ผมไปให้ที่บ้านแม่เหลือบ บ้านแม่ปอง บ้านแม่มา บ้านแม่......ฯลฯ แล้วแต่ละบ้านก็จะให้แกงจืดบ้าง ผัดผักบ้าง น้ำพริกผักสด-ต้ม กลับมาที่บ้านผม ทำให้มีกับข้าวกินหลายอย่าง ทั้งที่แม่ทำแกงเพียงอย่างเดียว เรากินกันเอร็ดอร่อยมากทุกวัน เป็นสังคมแบ่งปันจริงๆ ทั้งตำบลเสมือนเป็นญาติกัน และสิ่งที่ผมเห็นจนชินตาคือ ทุกบ้านจะมีรูปในหลวง  พระราชินี พระราชชนนี ฯลฯ ประดับบ้าน และผู้ใหญ่ก็จะบอกว่า พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ของเรา ท่านเสด็จไปทุกที่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เรา ผมยกมือไหว้มองรูปภาพนั้นบ่อยมาก พยายามจดจำ และคิดฝันว่าอยากได้เห็นตัวจริงของพระองค์ท่านสักครั้ง ด้วยสงสัยว่าตัวจริงจะเป็นอย่างไรหนอ ก็คิดไปเรื่อยแบบเด็กๆ

วันเวลาผ่านไป วันแล้ววันเล่า ชาวบ้านต่างก็ทำมาหากิน พ่อกับแม่ของผมก็ตีเหล็กทุกวัน เด็กๆส่วนใหญ่ไปโรงเรียน วันหนึ่งได้ข่าวว่า พระราชชนนีจะเสด็จมาที่อำเภอตากฟ้า ซึ่งไกลออกไปจากช่องแคร่วม 30 กิโลเมตร สมัยนี้ไม่ไกลเลย ขับรถไม่กี่นาทีก็ถึง แต่สมัยนั้น การเดินทาง 30 กิโลเมตรใช้เวลามากกว่าชั่วโมง ถนนหนทางเชื่อมต่อระหว่างตำบล ระหว่างอำเภอ เป็นถนนลูกรังไม่เรียบ ทำให้การเดินทางทุลักทุเลเต็มทน แต่ดูเหมือนไม่เป็นอุปสรรคสำหรับชาวบ้านช่องแคที่จะได้เดินทางเพื่อเข้าเฝ้าพระราชชนนี เพราะการที่ท่านเสด็จมานั้น เป็นสิ่งที่มีค่า มีความหมายต่อชาวบ้านที่ห่างไกลมากๆ ผมเห็นผู้ใหญ่กระตือรือร้นที่จะได้เฝ้าพระองค์ท่าน ผมก็ได้ติดตามพ่อและแม่ไปด้วย และได้เห็นรอยยิ้มจริงๆที่เปี่ยมด้วยเมตตาของท่านใกล้ๆ เด็กๆอย่างผมรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นอย่างที่สุด ช่างอิ่มเอมหัวใจยิ่งนัก

วันที่ตื้นเต้นอีกคราวหนึ่งคือพ่อผมบอกว่า เร็วๆๆๆ ในหลวงและราชินีจะเสด็จคราวนี้มาที่ช่องแคเลย สีหน้าท่าทางพ่อดู ตื่นเต้น ดีใจและมีความสุขมาก ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น ผมก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเหมือนเดิมเพราะยังไร้เดียงสา คิดในใจคงเหมือนที่ไปตากฟ้าแน่เลย แอบดีใจตามประสาเด็ก เพราะจะได้เห็นท่านจริงๆใกล้ๆชัดๆซักที พ่อพาผมไปรอรับเสด็จที่สถานีรถไฟช่องแค ผู้คนเยอะมากน่าจะมาทั้งตำบล ต่างยิ้มแย้มแจ่มใส ใจจดใจจ่อ รออยู่นานมากแต่เหมือนไม่นาน เมื่อถึงเวลา รถไฟพระที่นั่งเคลื่อนมาถึงลดความเร็วลง เคลื่อนไปช้าๆ เสียง ทรงพระเจริญดังกึกก้องสถานีรถไฟช่องแค ทำให้เด็กอย่างผมขนลุก ผมได้เห็นพระองค์ท่านทั้ง 2 พระองค์จริงๆ โบกพระหัตถ์และยิ้มผ่านทางหน้าต่างรถไฟพระที่นั่งในระยะไกลๆแค่แว๊บเดียว เป็นรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี แล้วก็แล่นผ่านสถานีช่องแคไปเพื่อเสด็จขึ้นภาคเหนือโดยไม่จอด แค่แว๊บเดียวจริงๆ เป็นช่วงเวลาที่แม้จะสั้น แต่ก็ทำให้ผมดีใจที่สุด ขนลุก ชาวบ้านในที่นั้นก็เช่นกัน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นบุญของพวกเราที่ได้เฝ้าพระองค์

เมื่อผมเติบโตขึ้น นึกย้อนกลับไป จึงรู้และเข้าใจว่า แม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆที่ได้เห็นพระองค์ท่าน ชาวบ้านก็อดทนรอคอยที่จะได้เห็นในหลวงของเขา ด้วยความรักที่มีต่อในหลวงอย่างลึกซึ้ง ความรักความผูกพันที่ก่อเกิดขึ้นเอง เพราะพระองค์ท่านเป็นเหมือนน้ำทิพย์ที่โปรยปรายให้ชาวบ้านในถิ่นธุระกันดารและทั่วไปได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข

ปี 2516 ผมเป็นน้องใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่วิเศษสุดๆสำหรับผมคือ วันที่ในหลวงเสด็จมาจุฬาฯเพื่อทรงดนตรี เป็นอะไรที่ตื้นตันมากครับ ในหลวงทรงดนตรีให้เราฟังที่หอประชุมจุฬาฯ มันเป็นไปได้อย่างไรที่พระมหากษัตริย์จะทรงดนตรีให้เด็กๆอย่างพวกผมฟัง ในหลวงทรงพูดกับนักศึกษาอย่างเป็นกันเอง ให้นักศึกษาขอเพลงได้ด้วย นั่นเป็นที่สุดแห่งความปราบปลื้มในชีวิตของเด็กบ้านนอกอย่างผมแล้วครับ เหมือนฝันไปจริงๆ!!!
แล้วต่อมาเมื่อผมเรียนจบทั้งปริญญาตรีและโทที่จุฬาฯ ผมได้มีโอกาสรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของในหลวงทั้งสองครั้ง เป็นบุญวาสนาของผมยิ่งนักที่ได้มีโอกาสเช่นนี้ พระจริยาวัตรอันงดงามมากมายและพระบรมราโชวาทของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลังใจให้ผมมุ่งมั่นทำงานในฐานะเป็นข้าราชการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล สอนรังสีเทคนิคตั้งแต่ปี 2523 รวม 35 ปีจนเกษียณ มุ่งมั่นทำงานตามหน้าที่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและประโยชน์ตนอย่างถูกต้องโดยไม่บ่น ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง แม้จะเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม พอรู้สึกเหนื่อยคราใดก็คิดเสมอว่า ในหลวงยังไม่บ่น ไม่ท้อเลย แค่นี้ก็กลับมีพลังเดินหน้าต่อได้ 

เรื่องการปิดทองหลังพระ เป็นหนึ่งในความประทับใจของผม ในการบรรยายให้นักศึกษารังสีเทคนิคฟัง ผมมักเริ่มต้นด้วยการให้นักศึกษาได้พิจารณาพระบรมราโชวาทของในหลวง ดังนี้
     "การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด
     ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก
     เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า
     ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…."

โรงพยาบาลศิริราช
ช่วงเวลาที่ในหลวงเสด็จมาโรงพยาบาลศิริราชเพื่อประทับรักษาพระอาการประชวร ที่ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นอาคารที่อยู่ติดกับคณะเทคนิคการแพทย์ บังเอิญชั้น 10 เป็นที่ตั้งของภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยผมเป็นหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคในช่วงเวลานั้น ทุกเช้าในวันที่ต้องเข้าทำงานที่ชั้น 10 จะตั้งจิตอธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยดลบันดาลให้พระองค์หายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน ครั้นเมื่อผมเกษียณแล้วในปี 2558 ก็ได้ไปจัดตั้งคณะรังสีเทคนิคที่มหาวิทยาลัยรังสิต จึงไม่ค่อยจะมีโอกาสมาที่โรงพยาบาลศิริราชบ่อยเหมือนเมื่อก่อน

และแล้ววันที่ 13 ตุลาคม 2559 ขณะที่ผมขับรถจากมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อกลับบ้านตามปกติเหมือนทุกวัน ผ่านมาถึงถนนราชพฤกษ์ใกล้ถึงถนนเพชรเกษมแล้วประมาณหนึ่งทุ่ม สังหรณ์ใจตั้งแต่บ่ายแล้วว่าวันนี้คงมีข่าวไม่สู้ดีนักเกี่ยวกับในหลวง ฟังวิทยุในรถ โฆษกประกาศว่า วันนี้พฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที ในหลวง เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี หัวใจแทบสลายครับ มันจุก แน่นอกทันที น้ำตาไหลพราก จอดรถก่อนไม่กล้าขับต่อไป ตั้งสติแล้วค่อยขับต่อไปจนถึงบ้าน เศร้าใจอย่างที่สุดครับ ทั้งที่ก็รู้อยู่ว่าเป็นธรรมดาที่อย่างไรเสียวันนี้ก็ต้องมาถึงสักวันหนึ่งแน่ๆ แต่ก็หักห้ามใจได้ยากที่จะกลั้นน้ำตาไว้
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 ผมขับรถไปม.รังสิตเพื่อร่วมถวายความอาลัยอย่างที่สุดร่วมกับท่านอธิการ ผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา ผ่านสี่แยกศิริราชรถไม่ติดเลย ชลอความเร็วรถ เห็นผู้คนนั่งรอส่งเสด็จที่ฟุตบาทเนืองแน่น น้ำตาผมเริ่มเอ่อไหลออกมาอีก กลั้นไม่อยู่ครับ เมื่อมองเข้าไปในโรงพยาบาลศิริราช ช่างเศร้าใจเหลือเกิน.... จะไม่ได้เห็นในหลวงอย่างที่เคยได้เห็นมาอีกแล้ว ตั้งแต่ผมเล็กๆจำความได้อย่างที่เล่าให้ฟังจนผ่านมา 61 ปี ได้เห็น ได้ประจักษ์ว่าพระองค์ท่านทำอะไรต่ออะไรที่เป็นประโยชน์เยอะไปหมด ทำไมคนๆหนึ่ง จึงสามารถทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้มากมายขนาดนั้น ไม่ได้สบายเลยนะครับทั้งที่พระองค์ท่านเป็นถึงพระมหากษัตริย์ ท่านเสวยสุขในพระราชวังก็ได้ .... สำหรับผมนั้น สิ่งที่ได้ทำและที่กำลังทำ มันเล็กน้อยเหลือเกิน เป็นเพียงธุลีดินเท่านั้น พระองค์จะประทับอยู่ในใจผมตลอดไป ...หากชาติหน้ามีจริงขอเกิดใต้ร่มพระบารมีของพระองค์เป็นข้ารองพระบาททุกชาติ ... และขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะดำเนินรอยตามแบบอย่างของพระองค์อย่างสุดความสามารถ
ข้าพระพุทธเจ้า รองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ก้าวสู่ปีที่ 2 รังสีรังสิต


(489 ครั้ง)
ทำบุญครบรอบปีที่หนึ่งของการจัดตั้งคณะ
เผลอแปร๊บเดียว วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ก็ครบ 1 ปีพอดีของการมาทำงานที่ม.รังสิต เป็นวันที่คณะรังสีเทคนิค ม.รังสิต ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ จึงถือโอกาสดีนี้ทำบุญคณะรังสีเทคนิค เพื่อความเป็นศิริมงคล
ชาวเราบางคนถามผมและเสนอแนะด้วยความเป็นห่วงว่า
     "อาจารย์ครับ อาจารย์ไม่เหนื่อยหรือครับ อาจารย์เกษียณแล้วยังต้องมาทำงานหนักอีก"
     "อาจารย์น่าจะเลี้ยงหลาน มีความสุขกว่าเยอะนะครับ"
     "อาจารย์คะ ... บลาๆๆๆๆ"
ชาวเราหลายคนแสดงความยินดีปรีดา ที่เห็นผมมาจัดตั้งคณะรังสีเทคนิค ที่ม.รังสิต แสดงไมตรีจิต
     "อาจารย์ลุยเลย ผมช่วยเต็มที่"
     "อาจารย์คะ ได้โอกาสที่หนูต้องตอบแทนอาจารย์แล้ว บอกมาเลยจะให้หนูช่วยอะไร"
     "ดีใจมากๆครับ ที่เห็นอาจารย์มาทำงานนี้
 ยินดีกับทีมอาจารย์ทุกๆท่าน ยินดีกับวิชาชีพรังสีเทคนิค ยินดีให้ความสนับสนุนทุกเวลาครับ"
     
ผมสัมผัสได้ ถึงความรู้สึกของชาวเรา ทั้งห่วงใย และอยากช่วยเหลือ ต้องขอบคุณจากใจจริงครับ จากวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ที่ผมและอ.อำพลพรต วงค์เปี่ยม สองคนจูงมือกันมาเริ่มงานจัดตั้งคณะรังสีเทคนิค ณ ทุ่งรังสิตในช่วง 5 เดือนแรก มีคุณนุชคนเก่าแก่ที่รู้งานอย่างดีของม.รังสิต ที่พวกเราเรียกพี่นุชเป็นผู้ประสานงานทุกเรื่อง (ต่อมามีคุณแอนมาร่วมงานด้วยอีก 1 คน) และอาจารย์อีก 4 ท่านก็ทยอยตามกันมาร่วมงานคือ อ.ณัฐพงศ์ ด่านธนวัฒน์ อ.จักราวุธ พานิชโยทัย อ.สุนทรีย์ ศรีวงศ์ตา และอ.ทอฝัน ทาปัญญา และอาจารย์คนล่าสุด น้องเล็กสุดที่มาร่วมเขียนประวิติศาสตร์ที่สำคัญนี้ อ.สุระบดี บุญใส 

หลังจากที่ผมเกษียณจากภาควิชารังสีเทคนิค มหิดล เมื่อ 30 กันยายน 2558 คือ เกษียณจากศาลายาแล้วก็มาเริ่มงานใหม่ที่รังสิตเลยในวันถัดไป ไม่ต้องพักกันเลยทีเดียว เพราะภารกิจการจัดตั้งคณะรังสีเทคนิคนั้น ท้าทายมาก ผมตั้งเป้าแบบกดดันตัวเองว่าจะรับนักศึกษารังสีรังสิตรุ่น 1 เข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 ก็คือเดือนสิงหาคม 2559 ดังนั้น จึงมีเวลาจำกัดมาก ไม่ต้องพักครับ และก็สามารถรับรังสีรังสิตรุ่น 1 เข้าเรียนได้ตามแผนงานที่วางไว้ 

ข้อเขียนจากประกายรังสีคราวนี้ นอกจากจะนำบุญมาฝากแล้ว จะขอถือโอกาสวันดีๆแบบนี้ได้เปิดเผยความจริงว่า เพราะเหตุใดผมจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ทุ่งรังสิตโดยไม่ลังเล

แรงบันดาลใจ
ระหว่างที่ทำงานบริหารภาควิชารังสีเทคนิค ม.มหิดล ในฐานะรองหัวหน้าภาควิชา 8 ปี หัวหน้าภาควิชาอีก 8 ปี ส่วนใหญ่แล้วงานของภาควิชาก็เดินหน้าไปได้ตาม Inertia ของมัน เพราะทีมงานรังสีเทคนิค มหิดล มีความรับผิดชอบสูง มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศในสาขารังสีเทคนิค อาจารย์บางท่านมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จึงมีต้นทุนค่อนข้างสูงมาก การบริหารจัดการให้พันธกิจของภาควิชาดำเนินไปแบบไม่มีปัญหาภายในมากมายจนเป็นอุปสรรค อุปสรรคภายนอกดูจะมีแรงเสียดทานมากกว่า แต่ก็พอจัดการได้แบบกล้อมแกล้ม

ครั้นเมื่อม.รังสิตทาบทามให้ผมมาจัดตั้งคณะรังสีเทคนิค  คิดอยู่นาน เลี้ยงหลานหรือเดินหน้าต่อ เอาไงดี ถ้าเดินหน้าต่อตัวเราจะทำได้หรือ เป็นความกังวล ความกลัว กลัวว่าจะทำไม่ได้ คนเดียวทำไม่ได้แน่ต้องมีทีม แล้วก็นึกถึงคำพูดที่เคยได้ยินมานานแล้วว่า "some men fear the feeling of fear" นี่เรากำลังเป็นแบบนี้หรือไม่ 

แล้วผมก็คิดต่อไปว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่สุดอีกครั้งสำหรับชีวิตผมเลย ที่จะได้ทำในสิ่งที่ยากยิ่ง หากทำได้ดีมันอาจจะช่วยให้รังสีเทคนิคไทยก้าวหน้ายกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ กำลังใจค่อยๆมา กัลยาณมิตรต่างๆทั้งลูกศิษย์และเพื่อนอาจารย์ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ ซึ่งเวลาต่อมาก็มาร่วมเป็นทีมงานด้วยกัน ค่อยๆมองเห็นความกังวลและความกลัว โดยไม่รู้สึกกังวลและไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป ดังนั้น หลังจากที่มหาวิทยาลัยรังสิตโดยคุณหมอศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพได้ทาบทามผมให้มารับภารกิจอันสำคัญนี้ จึงตัดสินใจรับคำเชิญจากท่านอธิการมหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งท่านให้เกียรติผมอย่างมาก ท่านกล่าวในตอนท้ายของการสนทนาเมื่อครั้งแรกที่ได้พบกันว่า 
     "เชิญอาจารย์มาบริหารคณะรังสีเทคนิคนะครับ แล้วอาจารย์จะรักรังสิต"

นั่นแหล่ะครับ เป็นที่มาของคณะรังสีเทคนิค แห่งทุ่งรังสิต ซึ่งการที่ผมตัดสินใจมารับภารกิจนี้ จึงประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ยังมีอีกอย่างหนึ่งลึกๆแล้วคือ ผมคิดว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวเรารังสีเทคนิคหลายๆคนก็ได้

เหนื่อยไหม
การเดินทางไกลมีปัญหาไหม?
ผมไม่เคยมองว่ามันคือ ปัญหา กลับมองว่ามันคือ โอกาส


ตอนที่อยู่มหิดลศาลายา ขับรถไปทำงาน ไป-กลับ วันละ 50 กิโลเมตร ก็รู้สึกว่าไกล แต่การเดินทางของผมจะสวนทางกับชาวบ้านส่วนใหญ่ เส้นทางที่ผมขับรถนั้นสะดวกมาก รถไม่ติดทั้งขาไปและขากลับ คือส่วนใหญ่ขับรถเข้าเมืองตอนเช้าผมก็จะขับออกนอกเมือง ตอนเย็นส่วนใหญ่จะขับรถออกนอกเมืองผมก็ขับจากศาลายาเข้าเมือง เลยรู้สึกสบายมาก

ครั้นมายังทุ่งรังสิต ต้องเดินทางเป็นระยะทางมากกว่าไปศาลายาถึง 2 เท่า คือ เดินทางไป-กลับวันละ 100 กิโลเมตร หลายคนคงร้องอุทานว่า "โอ้โฮ ไกลมาก" 

ใช่ครับไกลมาก โชคยังดีที่เส้นทางเหมือนไปศาลายาเลยครับ คือ สวนกับชาวบ้านส่วนใหญ่ทั้งไปและกลับ จึงใช้เวลาเดินทางไม่นานมาก เพราะรถไม่ติดมากมายแบบในเมืองที่แออัดครับ

ได้มีโอกาสชื่นชมสิ่งต่างๆที่อยู่ระหว่างทางที่ขับรถผ่านไป ชื่นชมกับบรรยากาศร้านอาหารและอาหารที่มีหน้าตาและมีรสชาดไม่คุ้น มันดีมากๆเลย ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่ม.รังสิต บางคนมีชื่อเสียงในสังคมมาก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นโชคดีของผมที่ได้สัมผัส

งานเยอะขนาดนั้นทำไง?
ผมไม่เคยมองว่า งานเยอะ ผมมองว่า "เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" ก็แค่จัดลำดับความสำคัญแล้วก็ลงมือทำเลย 

เคยถูกถามว่า "อาจารย์มียุทธศาสตร์อย่างไร ในการนำพาคณะรังสีเทคนิคไปสู่วิสัยทัศน์"
ผมตอบว่า ถ้าจะเรียกยุทธศาสตร์ ผมก็อยากจะบอกว่า ผมใช้ "ยุทธศาสตร์ไก่ขันตะวันขึ้น" มันคืออย่างไรกันสำหรับไก่ขันตะวันขึ้น ง่ายๆคือ recognize ทีมงาน ทำความเข้าใจ ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ ไม่ต้องรอคำสั่ง

ความจริงไก่ขันตะวันขึ้นเป็นเรื่องที่ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยครับ เรื่องมีอยู่ว่า


มีไก่อยู่เล้าหนึ่ง หัวหน้าไก่บอกกับไก่ตัวอื่นๆทำนองปลูกฝังความเชื่อว่า หากฉันไม่ส่งเสียงขันวันใด วันนั้นดวงตะวันจะไม่ขึ้น เราจะไม่มีแสงสว่าง โลกทั้งโลกจะมืดมิด และพวกเราจะตายกันหมด 

บรรดาไก่ทั้งหลายก็เชื่อฟังตามคำของหัวหน้าไก่ ไม่มีใครกล้าเถียงแม้แต่ตัวเดียว เพราะมันเป็นจริงตามที่หัวหน้าไก่บอกทุกวัน คือ ขันปั๊บ ดวงตะวันขึ้นปึ๊บหรือไก่ขัน ตะวันขึ้น” แต่ประเด็นคือ หัวหน้าไก่ขันอยู่ตัวเดียว ตัวอื่นๆเงียบด้วยความเชื่อและรอให้หัวหน้าไก่ขัน 

เวลาผ่านไป เช้ามืดวันหนึ่ง หัวหน้าไก่ซึ่งแก่มากแล้ว และป่วย ไม่มีแรงจะบินขึ้นไปขันบนต้นไม้ ไก่ลูกน้องกลัวมาก บอกกับหัวหน้าไก่ว่า ท่านต้องอดทนปีนต้นไม้ขึ้นไปขันให้ได้ ไม่เช่นนั้นพวกเราจะพากันตายหมด หัวหน้าไก่ส่ายหน้า ไม่ไหวหรอกป่วยขนาดนี้ ไก่ลูกน้องต้องใช้วิธีหิ้วปีกหัวหน้าขึ้นต้นไม้ไป จากนั้นหัวหน้าไก่ก็รวบรวมพลังทั้งหมดที่มีอยู่โก่งคอขัน 

ปรากฏว่าการขันวันนั้น เป็นการขันครั้งสุดท้ายของหัวหน้าไก่ เพราะเมื่อขันได้ครั้งเดียวก็หมดแรงและตกลงมาตาย ไก่ที่เหลือกลัวจนรนราน คือกลัวว่าดวงตะวันจะไม่ขึ้น กลัวตายเพราะถูกฝังความคิดไว้ว่า ต้องหัวหน้าไก่ขันเท่านั้นดวงตะวันจึงจะขึ้น ไก่จับกลุ่มรวมตัวกันยอมรับชะตากรรม สักครู่ดวงตะวันก็เริ่มส่องแสงตามธรรมชาติของมัน ทำเอาฝูงไก่นั้นถึงกับตะลึงงัน อะไรกัน หัวหน้าไม่ขัน แล้วตะวันขึ้นได้อย่างไร แปลกมากๆๆ”...จบครับ

ไม่เหนื่อครับ

Related Links:
คณะรังสีเทคนิค ม.รังสิต
จากศาลายาสู่ตะวันรุ่งทุ่งรังสิต
รังสีรังสิตรุ่น 1

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

รังสีเทคนิค ม.รังสิต

(3,058 ครั้ง)
   มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดคณะรังสีเทคนิคเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยที่สภามหาวิทยาลัยรังสิตอนุมัติและให้จัดอยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์-สุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยคณะต่างๆดังนี้

  วิทยาลัยแพทยศาสตร์ 
  วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก 
  คณะทันตแพทยศาสตร์ 
  คณะเภสัชศาสตร์ 
  คณะพยาบาลศาสตร์ 
  คณะเทคนิคการแพทย์ 
  คณะกายภาพบำบัด 
  คณะทัศนมาตรศาสตร์ 
  คณะรังสีเทคนิค 
  คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ 
  คณะวิทยาศาสตร์
    คณะรังสีเทคนิค เป็นสถาบันการศึกษาสาขารังสีเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทยที่บริหารจัดการแบบคณะ มุ่งตอบสนองความต้องการของตลาด นับเป็นก้าวสำคัญของรังสีเทคนิคไทย 
บรรยากาศบริเวณโถงทางเข้าคณะรังสีเทคนิค
บรรยากาศรอบๆอาคาร 10 ที่ตั้งของคณะรังสีเทคนิค
   โดยที่ ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยรังสิตกับมหาวิทยาลัยของรัฐคือ ระบบการจัดการ โดยที่ภาพรวมของการจัดการศึกษารังสีเทคนิคทั้งหมดส่วนใหญ่ จะเป็นการบริหารจัดการโดยภาควิชาที่สังกัดคณะเทคนิคการแพทย์ หรือคณะสหเวชศาสตร์ อีกรูปแบบหนึ่งคือ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ หรือร่วมกันผลิตระหว่างคณะสหเวชศาสตร์กับคณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น 
บรรยากาศทางเดินหน้าห้องปฏิบัติการรังสีเทคนิค
เปิดสอนรังสีเทคนิคเพื่อตอบสนองความต้องการ
  เนื่องจาก วิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีค่าตอบแทนสูง ทั้งนี้ จากผลการสำรวจโดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากวุฒิสภา ในปี 2553 สำรวจพบว่า มีความต้องการนักรังสีเทคนิคทั้งประเทศประมาณหนึ่งพันกว่าคน ณ ขณะนั้น ซึ่งในปัจจุบันจากการสำรวจล่าสุดพบว่า ความต้องการนักรังสีเทคนิคเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสามพันคน และจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานกพ.พบว่าค่าเฉลี่ยค่าตอบแทนภาคเอกชนสำหรับนักรังสีเทคนิคจบใหม่ในปี 2556 ประมาณ 33,000 บาทต่อเดือน 
  มหาวิทยาลัยรังสิตจึงเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเติมเต็มความขาดแคลนนี้ จึงได้จัดตั้งคณะรังสีเทคนิคขึ้นให้มีภารกิจในการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค โดยมีเป้าหมายในการผลิตปีละ 50 คน โดยให้มีมารตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยของรัฐบาล เพราะตระหนักดีว่า เรื่องของคุณภาพต่อรองไม่ได้ 
  ทั้งนี้ บัณฑิตที่จบไปจะสามารถทำงานเป็นนักรังสีเทคนิค หรือนักรังสีการแพทย์ ซึ่งเป็นวิชาชีพเฉพาะในทางการแพทย์ โดยช่วยแพทย์รักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยโดยการใช้รังสี การสร้างภาพรังสีเพื่อตรวจดูอวัยวะภายในของผู้ป่วย เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ การทำซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ อัลตราซาวด์ เป็นต้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รังสีวินิจฉัย  เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และรังสีรักษา คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีการเรียนการสอนครบทั้ง 3 สาขา 
  บัณฑิตที่จบไปก็จะไปทำงานทางด้านนี้ นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นผู้ประกอบการคลินิกรังสีเทคนิค นักวิชาการที่ทำงานวิจัยหรือสอนในสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้แทนฝ่ายขาย ผู้สนับสนุนการขาย ตามบริษัทจำหน่ายเครื่องมือทางรังสีวิทยา หรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

หลักสูตร
   คณะรังสีเทคนิคมีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิคตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งจัดทำตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ก.ช.)เป็นหลักสูตรที่มีจุดเด่นที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ มีความร่วมมือร่วมผลิตอย่างเป็นทางการกับบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน) ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือรวม 44 แห่งทั่วประเทศไทย และยังมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับโรงพยาบาลเลิดสินซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาลเพื่อเป็นแหล่งฝึกงาน และมีแผนงานที่จะทำความตกลงร่วมมือกับโรงพยาบาลของรัฐบาลเพิ่มขึ้นตามลำดับ
มหาวิทยาลัยรังสิตลงนามร่วมผลิตกับ
บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน)
1 มีนาคม 2559
 คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคให้การรับรองมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันการศึกษา ที่สามารถจัดการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของ ก.ช. ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2559
หนังสือรับรองม.รังสิตของ ก.ช.
  หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตร 4 ปี โดยปีที่ 1 เป็นการเรียนวิชาพื้นฐาน มีการแนะนำให้รู้จักว่าวิชาชีพของรังสีเทคนิคคืออะไร ปีที่ 2 เรียนวิชาพื้นฐานทางวิชาชีพ ปีที่ 3 เรียนรู้เทคนิคและความรู้ใน 3 สาขาของรังสีเทคนิค คือ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และปีที่ 4 เรียนภาคปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจริงตามโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยจะไปฝึกงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนชั้นนำที่มีความตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือรังสีครบทั้ง 3 สาขา และมีนักรังสีเทคนิคปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์สูงทุกคน ในขณะเดียวกันนักศึกษาจะต้องทำโปรเจกต์เพื่อได้เรียนรู้กระบวนการทำวิจัย 
นักศึกษารังสีรังสิตปี 1 ศึกษาดูงานด้านรังสีวิทยาในโรงพยบาล
ทั้งของรัฐและเอกชน (BDMS) ที่มีความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ
 ดังนั้น บัณฑิตรังสีเทคนิคที่จบจากมหาวิทยาลัยรังสิต จะมีทักษะทางวิชาชีพครบทุกด้าน สามารถทำงานได้ทั้ง 3 สาขา ที่ตลาดต้องการ และมีพื้นฐานที่จะเป็นผู้ประกอบการคลินิกรังสีเทคนิคด้วยการบูรณาการการจัดการศึกษาที่เป็นเลิศ การวิจัย และบริการทางวิชาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือจุดเด่นของคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากสอนให้มีทักษะทางวิชาชีพรังสีเทคนิคแล้ว ยังสอนให้เค้ามีพื้นฐานความรู้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายได้ประกาศแล้วว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคสามารถเปิดคลินิกของตัวเองได้ 

อาจารย์
   อาจารย์ประจำหลักสูตร ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการ สอน วิจัย พัฒนานักศึกษาในด้านต่างๆ มาจาก ผู้มีประสบการณ์ทางด้านบริหารจัดการศึกษาสาขารังสีเทคนิคยาวนานจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการศึกษาและวิชาชีพรังสีเทคนิค มีจำนวนและคุณภาพเป็นไปตามาตรฐาน 
ปัจจัยเกื้อหนุน
    ปัจจัยเกื้อหนุนในที่นี้หมายถึง สิ่งต่างๆที่ช่วยให้การดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างดี มีมาตรฐานตามที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคกำหนด คณะรังสีเทคนิคได้จัดเตรียมปัจจัยเกื้อหนุนให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน การวิจัย รวมถึงการพัฒนานักศึกษาในด้านอื่นๆ ให้นักศึกษาได้ใช้เพื่อการเรียนรู้อย่างดี 
    อาคารสถานที่
    คณะรังสีเทคนิค ตั้งอยู่ที่อาคาร 10 ชั้น 9 และ 10 ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต (แผนที่) มีอาคารสถานที่ เหมาะสมและเพียงพอ ต่อการจัดการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานวิชาชีพ เน้นการใช้ RT Smart Classroom และ RT Smart Lab ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความพร้อมสูงสุดก่อนที่จะเรียนฝึกงานวิชาชีพ ประกอบด้วย
    ห้องบรรยาย
   ขนาดความจุ 70 ที่นั่ง 1 ห้อง (RT Smart Classroom) ห้องบรรยายขนาดความจุ 50 ที่นั่ง 3 ห้อง ห้องประชุมโครงการกลุ่มย่อย 5 ห้อง
    ห้องปฏิบัติการ (RT Smart Lab)
Oห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการรังสีรักษา 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการเครื่องมือทางรังสีพื้นฐาน 1 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการ Medical Image Processing 1 ห้อง
Oห้องโถงต้อนรับขนาดใหญ่ ห้องพักและทำกิจกรรมนักศึกษาขนาดความจุมากกว่า 70 คน
นักศึกษารังสีรังสิตรุ่นที่ 1 พ.ศ. 2559

    เครื่องมือรังสีที่สำคัญ
   เครื่องมือรังสีที่ติดตั้งที่คณะรังสีเทคนิค เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1-3 เช่น เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป เครื่องอ่านสัญญาณภาพชนิด CR เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับติดตั้งกับจอวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ Radiographic & Fluoroscopic QC Kit ชุดอุปกรณ์วัดปริมาณรังสี โครงกระดูกจำลอง เครื่องมือปฏิบัติการด้านรังสีรักษา เครื่องมือปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เครื่องมือปฏิบัติการพื้นฐานรังสีเทคนิค เป็นต้น
เครื่องเอกซเรย์ทั่วไประบบ digital โครงกระดูก และจอแสดงภาพขนาดใหญ่เพื่อสอนแสดง
เครื่องเอกซเรย์เสมือนจริงช่วยการสอน มองเห็นการทำงานภายในของหลอดเอกซเรย์
ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบและสร้างโดยคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค
   คณะรังสีเทคนิคเน้นการสอนจากประสบการณ์ ตั้งแต่พื้นฐานรังสีเทคนิคจนถึงการใช้รังสีเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคและรักษาโรค เช่น เครื่องเอกซเรย์เสมือนจริง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบและสร้างโดยคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค เป็นเครื่องแรกในประเทศไทยสำหรับสอนนักศึกษา ให้นักศึกษาสามารถศึกษาการทำงานของหลอดเอกซเรย์จริงๆ เห็นไส้หลอดเอกซเรย์สุกสว่างขณะเตรียมการผลิตเอกซเรย์ จานแอโนดที่กำลังหมุนด้วยความเร็วสูง จำลองการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า จำลองชุดรับภาพเอกซเรย์ เป็นต้น
    หนังสือ/ตำรา/วารสาร/อินเตอร์เน็ต
  สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยรังสิตมี หนังสือ ตำรา วารสารวิชาการ สาขารังสีเทคนิคและที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอนในสาขารังสีเทคนิค อย่างเพียงพอ สามารถสืบค้นจากฐานข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้เมื่อนักศึกษาลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแล้ว และมีหนังสือและตำราที่เป็นผลงานของคณาจารย์คณะรังสีเทคนิคจำนวนหนึ่ง เช่น คู่มือการถ่ายภาพเอกซเรย์สำหรับนักรังสีเทคนิคมือใหม่ เอกซเรย์คอมพิวเต็ดโทโมกราฟฟี่ พื้นฐานทางฟิสิกส์ของ CT และ MRI การควบคุมคุณภาพของภาพเอกซเรย์ เป็นต้น
   นักศึกษาสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ภายในมหาวิทยาลัยรังสิตผ่านระบบ wi-fi เพื่อความสะดวกในการสืบค้นข้อมูล และมหาวิทยาลัยได้มอบ iPad ให้นักศึกษาทุกคนที่ลงทะเบียนเรียน เพื่อให้ใช้ในการเรียน ทั้งในและนอกห้อง smart class room 
หนังสือ/ตำรา ซึ่งเป็นผลงานของคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค
การเรียนการสอน     
  คณะรังสีเทคนิครับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค หลักสูตร 4 ปี มีแผนรับปีการศึกษาละ 50 คน เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป การเรียนรังสีเทคนิคที่นี่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ นอกจากความรู้ในวิชาชีพรังสีเทคนิคแล้ว นักศึกษาจะได้เรียนรู้ในด้านอื่นๆ เช่น ธรรมาธิปไตย ภาษาอังกฤษ กีฬา ทักษะในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ ด้วย



วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

World Radiography Day 2016


(1,218 ครั้ง)
      ในโอกาสวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 121 แห่งการค้นพบรังสีเอกซ์ โดยศาสตราจารย์เรินท์เกน แห่งมหาวิทยาลัย Wurgburg ประเทศเยอรมัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวัน  “World Radiography Day” หรือที่ชาวเราเรียกว่า วันรังสีเทคนิคโลก กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ขอใช้โอกาสนี้แต่เนิ่นๆ เพื่อแสดงความระลึกถึง ศาสตราจารย์เรินท์เกนผู้จุดประกายรังสี ส่องชีวิต ส่องโลก คุณประโยชน์อันอเนกอนันต์ของรังสีเอกซ์ เป็นการเตือนความทรงจำให้เราท่านทั้งหลายได้ระลึกรู้ เฉกเช่นคนไทยและมนุษย์โลกทั้งหลายที่มีความกตัญญู รู้คุณ 
      ชาวเรา นักรังสีเทคนิคทุกคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ขออนุญาตเชิญชวนทุกคนนะครับ พร้อมใจกัน ร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อยู่ที่ไหนก็ทำที่นั่นครับ  ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นี้ 
      หรือถ้าชาวเราสะดวกที่จะมารวมตัวกันทำกิจกรรมให้ดูเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่าที่เคยเป็นมา ขอเชิญมาร่วมงานที่มหาวิทยาลัยรังสิต  ซึ่งในปีนี้ คณะรังสีเทคนิคร่วมกับ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย และบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน)ได้ร่วมกันจัดงาน World Radiography Day ภายใต้หัวข้อ "รังสีเทคนิคกับคนรุ่นใหม่" ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. 

      กิจกรรมช่วงเช้า 
      เริ่มต้นด้วยกิจกรรมรำลึกถึงศาสตราจารย์เรินท์เกน
      ถัดจากนั้น จะเป็นการเสวนา พูดคุย สบายๆ 
      O เสาวนาโดยนักศึกษารังสีเทคนิค กับคำถาม.... ทำไมต้องเรียนรังสีเทคนิคด้วย (ไม่ใช่แค่วิชาชีพขาดแคลน ค่าตอบแทนสูง) RT มีดีกว่าที่คิด ต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ไหม การลงมือจริงกับการฝึกงานเป็นอย่างไง
      O เสาวนาโดยผู้มีประสบการณ์สูงในวิชาชีพรังสีเทคนิค ได้แก่
       1)คุณสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย จะพูดคุยว่า ทำไมต้องเป็นนักรังสีเทคนิค
       2)อาจารย์กัลยาณี ทวนสุวรรณ Ancillary Director โรงพยาบาลกรุงเทพ จะมาเสวนาในหัวข้อ "นักรังสีเทคนิคกับคุณภาพที่ต่อรองไม่ได้"
       3)ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล และรองประธานสมาคมรังสีเทคนิคโลก (ISRRT) จะมาเสวนาเรื่อง "Quality Assurance: The Radiographer takes a central role"
      โดยที่การเสวนานี้จะมีความแตกต่างจากการประชุมทางวิชาการที่ได้จัดกันเป็นประจำปีอยู่แล้วโดยสมาคมวิชาชีพต่างๆ จะไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชาการล้วนๆลึกๆสลับซับซ้อน เป็นเรื่องฟังง่ายๆครับ
      กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้ชาวเรามีกำลังใจที่กล้าแข็ง ดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความสุขอย่างสมดุลเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นกิจกรรมที่บอกให้สังคมรู้ว่า "เราคือนักรังสีเทคนิค" เป็นกิจกรรมที่ชาวเราทุกคนทำเพื่อตอบแทนสังคม

      กิจกรรมช่วงบ่าย เป็นการเยี่ยมชมคณะรังสีเทคนิค ชมสวนรังสีเทคนิค (RT Park) ชมนิทรรศการคนรุ่นใหม่ เล่นเกมส์(ผู้ชนะมีรางวัลให้)

ชาวเราและผู้สนใจร่วมกิจกรรมฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2997-2200-30 ต่อ 1704 ขอเชิญชวนชาวเรามารวมกันแสดงพลังสร้างสรรค์ของนักรังสีเทคนิค ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม


"รังสีแพทย์จะก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าขาดนักรังสีเทคนิคที่ดีและสามารถ"
นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว
รังสีแพทย์ผู้สร้างวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งแรกในประเทศไทย (2508)





วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประวัติการสร้างวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งแรกในประเทศไทย


(2,725 ครั้ง)
บทความนี้เขียนโดยนายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว เมื่อ 15 ธันวาคม 2542 ในหนังสือที่จัดพิมพ์โอกาสที่ท่านมีอายุครบ 6 รอบ ผมในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของทา่นสมัยที่ผมเป็นอาจารย์ที่ภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2523 มีความเคารพและศรัทธาในหลักคิดของท่าน จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ทราบ ก่อนที่เรื่องราวเหล่านี้จะถูกลืมเลือนหายไป ผมเชื่อมั่นว่า เส้นทางเดินของรังสีเทคนิคของประเทศไทย มีเรื่องน่าสนใจและน่าศึกษา เพื่อให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยั่งยืนครับ

นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว
วันที่ 15 ธันวาคม 2542
ความเป็นมาของวิชาชีพรังสีเทคนิค ที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ถือเป็นบันทึกความทรงจำในครั้งกระโน้น เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งก็คงจำได้บ้างและลืมบ้าง และถ้าจะมีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ต้องขออภัย นอกจากนั้นการเขียนบทความแบบนี้ ก็คงต้องมีบางตอนที่เหมือนจะระบายความรู้สึกออกมาบ้างก็อย่าถือสาไปเลยนะครับ

วิชารังสีวิทยาเข้ามาเมืองไทยนานมาแล้ว ตั้งแต่ครั้ง ศ.นพ.หลวงพิณพาทยพิทยาเพท ไปเรียนวิชานี้ที่อเมริกา และ ศ.นพ.อำนวย เสมรสุต ไปเรียนที่อังกฤษ เมื่อท่านได้กลับถึงเมืองไทย ก็ช่วยกันนำวิชารังสีวิทยามาใช้ และมาสอนนักศึกษาแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลศิริราช ในปี พ.ศ.2497 ผมเข้ามาทำงานที่รังสีใหม่ๆ ก็เห็นคุณพี่เฉลิมวรรณ คุณพี่สันต์ พี่อุทิศ พี่กมลา ทำงานกันแล้ว ท่านเหล่านี้ล้วนได้รับความรู้การถ่ายภาพเอกซเรย์จากท่านอาจารย์ทั้งสอง และยังมีนายแพทย์เจริญ สัตยวนิช ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ศ.นพ.สงวน บูรณภวังค์

จุดประสงค์ก็เพื่อให้ทำการถ่ายภาพเอกซเรยเท่าที่จำเป็นไปก่อน เช่น Film Chest, K.U.B., I.V.P. หรือถ่ายกระดูกและอื่นๆส่วนความรู้รอบหรือความเป็นมาต่างๆหลายเรื่อง เช่น Radiation Protection, Radiation Physics, Radiographic Photography และอื่นๆ ก็คงสอนกันไม่มาก การใช้แสงเอกซเรย์จึงยังไม่ถูกต้อง แต่เราก็ทำกันมาตลอด

ต่อมาเมื่อองค์การอนามัยโรค (WHO=World Health Organization) สนใจการใช้แสงเอกซเรย์ของเรา จึงส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจการใช้แสงเอกซเรย์ในเมืองไทย และมีความเห็นว่า ประเทศไทยมีเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้อยู่ประมาณ 500 เครื่อง แต่การใช้งานยังไม่ถูกต้อง จึงเสนอเป็น Thailand Project 71 มายังรัฐบาลไทย ในประมาณ พ.ศ.2506 รัฐบาลไทยก็คงเห็นดีด้วยจึงผ่านเรื่องนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ชื่อใหม่คือ ม.มหิดล) และท่านอธิการบดีได้ถามความเห็นมายังคณะแพทยศาสตร์ และส่งต่อมาถึงแผนกรังสีวิทยาศิริราช (ใหม่ชื่อ ภาควิชา) ซึ่งศ.นพ.อำนวย เสมรสุต เป็นหัวหน้าแผนกฯ ลงความเห็นว่าไม่พร้อมตั้งโรงเรียน เพราะขาดแคลนบุคคลากรทำงาน ทางมหาวิทยาลัยจะส่งเรื่องคืนรัฐบาลก็คงทำไม่ได้ จึงหาทางอื่นที่พอจะทำได้ มหาวิทยาลัยจึงมีมติให้ คณะเทคนิคการแพทย์ซึ่งมี ศ.นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดี รับเรื่องการบริหารจัดตั้งโรงเรียน ส่วนการฝึกอบรมเป็นเรื่องของแผนกรังสีวิทยา ศิริราช

สรุปว่าโรงเรียนรังสีเทคนิคตั้งได้ก็เพราะความร่วมมือ (joint project) ระหว่างสองคณะทำงานร่วมกัน เรื่องราวทั้งหมดที่ผมมารู้ภายหลัง เมื่อ ศ.นพ.อำนวย เรียกผมเข้าไปพบว่าทางคณะเทคนิคการแพทย์ ต้องการรังสีแพทย์สักคนหนึ่งให้ไปทำงานเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิค จำได้ว่าเรื่องนี้หมอวีกูลไม่เคยพูดเรื่องนี้กับผม แม้จะขอร้องส่วนตัวก็ไม่มี คงปล่อยให่อาจารย์หมออำนวยหัวหน้าของผมขอร้องผมเท่านั้น ดังนั้นตำแหน่งข้าราชการเดิมยังคงอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ผมจึงบอกอาจารย์ว่า ขอคิดดูก่อนอีก 2-3 วัน ผมสับสนตกลงใจไม่ได้ คิดว่าถ้าไปแล้วก็เท่ากับไปตั้งต้นหาความรู้ใหม่เรื่องเทคนิคมาสอนนักศึกษา มิใช่ว่าเป็นผู้อำนวยการแล้วชี้โน่นชี้นี่ให้คนอื่นทำ คงไม่ใช่เช่นนั้น ถ้าผมไปวิชาการทางรังสีก็คงจะหย่อนลง ก็ให้รู้สึกเสียดายในการเป็นรังสีแพทย์ที่เรามุ่งมั่นจะเอาดีทางนี้ ครั้นจะปฏิเสธก็เกรงใจหัวหน้าที่ท่านมาขอร้อง เพราะถ้าผมไม่ไปก็ไม่รู้จะเอาใครไป ซึ่งขณะนั้นรังสีมีด้วยกันไม่กี่คน คล้ายๆกับอยู่ในภาวะจำยอม และผมเองก็ไม่ได้คิดไกลไปถึงความยุ่งยากซับซ้อนในหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง จนในที่สุดก็ยอมรับไปทำงานชิ้นนี้ให้ ก็ด้วยความคิดที่ว่า "รังสีแพทย์จะก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าขาดนักรังสีเทคนิคที่ดีและสามารถ" นั่นก็คือทำงานเพื่อเพื่อนรังสีแพทย์ทั้งหมด ความคิดนี้อยู่ในใจของผมมาตลอด จะบอกใครก็กลัวเขาจะว่า พูดเอาแต่ได้ พูดเอาประโยชน์ใส่ตน หรือเรียกร้องความสนใจ ขอสรุปว่า การมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิคนี้ มิใช่มาด้วยการขอร้อง หากแต่มาด้วยอุดมการณ์ดังกล่าว

งานสร้างโรงเรียนรังสีเทคนิคนั้น ทาง WHOได้ส่งที่ปรึกษามาจากอังกฤษคือ Mr. Gordon Ward มาช่วยในการวางหลักสูตร เราทำกัน 2 คน เพราะคนอื่นเขาไม่สนเรื่องนี้ เราจึงใช้แม่แบบที่ได้มาจากอเมริกาและอังกฤษมารวมกัน หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรใหญ่ต้องเขียนส่งเพื่อให้ผ่านการพิจารณาของการศึกษาแห่งชาติ ส่วนหลักสูตรเล็กเราทำเพื่ออบรมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งถ่ายภาพและปฏิบัติการล้างฟิล์ม ขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งเริ่มตั้งกองควบคุมการใช้รังสี ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดแรกเข้าอบรมในหลักสูตรนี้ การอบรมที่ทำคล้ายกับสมัยนี้ที่เรียกว่า Quality Control นั่นเอง ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์มาก หลักสูตรอบรมนี้ใช้เวลาตลอดบ่าย 3 ชั่วโมง ทุกวันนาน 1 เดือน ใครจบการอบรมจะได้ประกาศนียบัตรด้วย เพื่อจะได้นำไปใช้ในการพิจารณาความดีความชอบต่อไป

ในเวลาที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิคนั้น ทางแผนกรังสีวิทยาก็ให้ผมทำงานเต็มที่ด้วย ในวันจันทร์ออกตรวจไข้นอกอ่านฟิล์ม การอ่านก็ไม่แบบปัจจุบัน คือทั้งอ่านและมือก็พิมพ์ดีดไปด้วย ไม่มีเลขาและคนช่วยพิมพ์ให้ทำให้เมื่อยทั้งหัวและมือกว่าจะอ่านหมดก็ยันบ่าย

วันไหนฟิล์มมากอ่านไม่หมด พรุ่งนี้เช้าต้องรีบมาอ่านให้หมด รุ่งขึ้นวันอังคารต้องเข้าห้องมืดตรวจ G.I. คนไข้ ตรวจเช้าบ่ายอ่าน รุ่งขึ้นอีกวันอ่านฟิล์มทั่วไป วันอื่นประชุมทั้งในแผนกและนอกแผนก และถ้ามีวิชาสอนนักศึกษาแพทย์ก็สอนด้วย นอกจากนั้นยังมีหน้าที่พิเศษคือ ควบคุมวางแผน ออกแบบตกแต่งตึก 72 ปี เพื่อหน่วยงานรังสีวินิจฉัยจะย้ายไปอยู่ มันยากตรงที่เอาของเก่าไปใช้ให้พอดีตึกใหม่ นอกจากนั้นต้องควบคุมวางแผนทำที่เก็บฟิล์มเอกซเรย์ทั้งหมด ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้ เก็บกันยุ่งไปหมดจนหาฟิล์มเก่าไม่ได้ ผมจึงต้องไปสร้างที่เก็บชั่วคราว ที่ทางลาดของตึกอายุรกรรม ที่แผนกเอกซเรย์ย้ายไปอยู่ชั่วคราว ขณะที่ตึก 72 ปี ยังสร้างไม่เสร็จ ขณะเดียวกันก็เข้าไปแก้ไขปัญหาเก่า คือห้องล้างฟิล์มของเราล้างไม่ดี ที่ล้างด้วยมือแล้วดำบ้างขาวบ้าง ทำให้ถูกต่อว่าจากแผนกอื่นๆตลอดเวลา ดูแล้วมันวุ่นวายดี แต่ขณะนั้นผมหนุ่มแน่นจึงไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายอะไร กลับรู้สึกสนุก สรุปว่าต้องทำงาน 2 แห่งพร้อมกันไป และคิดอยู่เสมอว่า ถ้าแผนกรังสีมีรังสีแพทย์มากขึ้น เราก็คงปลีกตัวมาทำหน้าที่ทางด้านโรงเรียนรังสีเทคนิคได้เพิ่มขึ้น

เรื่องหลักสูตรปริญญาตรี
การวางหลักสูตรใหญ่ของโรงเรียนรังสีเทคนิคนั้น ในชั้นแรก Mr. Gordon Ward และผมช่วยกันทำ โดยนำหลักสูตรจากอังกฤษและอเมริกามาเป็นต้นแบบ ปรับแต่งโดยหลักใหญ่ก็มีรายวิชาตามที่อังกฤษเขามี ส่วนรายละเอียดจะสอนลึกแค่ไหน ก็ทำเป็นกลางๆ มักจะผ่อนไปตามความเห็นของผู้สอนที่เห็นควรและคิดอยู่เสมอว่า ต่อไปข้างหน้าเราจะทอนหรือเพิ่มก็คงทำได้ แต่ตอนนี้ขอให้หลักสูตรนี้ผ่านการพิจารณาของการศึกษาแห่งชาติไปก่อนก็แล้วกัน สุดท้ายเขาก็รับรองหลักสูตรนี้
สำหรับเรื่องการวางหลักสูตร 4 ปี จนได้ปริญญานั้น ถกเถียงกันมาก Mr. Gordon Ward เห็นว่าหลักสูตรก็คล้ายของเขาซึ่งเรียน 2 ปี จบแล้วก็ได้ประกาศนียบัตรคือ M.S.R. (Member of Society of Radiography) ซึ่งต่ำกว่าปริญญาของเขา แต่เรากลับให้ปริญญาตรี ผมจึงขอเปิดเผยให้ทราบความจริงดังนี้

1.วิชารังสีเทคนิค เป็นวิชาใหม่ของเราและมีประโยชน์ในการตรวจรักษาคนไข้ อีกทั้งเราหวังว่า ความเจริญก้าวหน้าของวิชานี้จะมีต่อไปไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกันกับ แพทย์ พยาบาล และเภสัชวิทยาฯ และอาชีพนี้ก็คงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องมีบุคลากรที่รู้ดี และสามารถในการทำงาน โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งเขาก็ต้องช่วยกันทำด้วยพวกเขาเอง นั่นหมายถึงว่า ในวิชาชีพนี้ก็ต้องมีผู้ที่ได้รับตำแหน่ง ผศ. รศ. และ ศ. ของเขาต่อไป และผู้ที่ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ก็ต้องผ่านปริญญาตรีมาก่อน แต่ถ้าเราทำอาชีพนี้ให้มีระดับต่ำกว่าปริญญาตรีตลอดไป ในภายภาคหน้าคนในอาชีพนี้จะมิต้องเป็นเบี้ยล่างให้คนอื่นคอยบงการตลอดไปหรือ!

2.โรงเรียนรังสีเทคนิคตั้งอยู่ในคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งนักศึกษาจบแล้วได้ปริญญาตรี ถ้าจะจัดตั้งให้ต่ำกว่าปริญญาตรี นักศึกษาของเราจะรู้สึกอย่างไร

3.การเลื่อนขั้นเงินเดือนในสมัยนั้นยากมาก จากระดับชั้นจัตวา(พวกประกาศนียบัตร) จะเลื่อนขั้นเป็นข้าราชการชั้นตรีนั้น ต้องมาติดขั้นกันคนละหลายปี เพราะราชการไม่มีตำแหน่งหรือเงินจะให้ แต่ถ้าเราช่วยให้นักศึกษาของเราได้ปริญญาตรี การติดขั้นตรงนี้จะไม่มีปัญหา การจงใจช่วยแบบนี้ เราจะต้องเสริมความรู้จนสมกับการได้ปริญญา เป็นเรื่องของโรงเรียนรังสีเทคนิคทำต่อไป

4.เงินเดือนของข้าราชการไทย ถ้าต่ำกว่าปริญญาจะได้น้อยมาก พอได้ปริญญาเงินเดือนก็สูงขึ้นมาหน่อย เป็นเครื่องชูกำลังให้เขาได้สนใจทำงานในวิชาชีพนี้ต่อไป และในสมัยนั้นการเงินของไทยเริ่มมีปัญหา กล่าวคือแม้จะได้ปริญญาตรี เงินเดือนก็เกือบไม่พอใช้อยู่แล้ว เราจึงควรช่วยเขาตรงจุดนี้ เรื่องเงินเดือนนี้ผมเคยเอาไปอ้างกับ WHO ที่เขาส่งที่ปรึกษา Miss Frank มาถามเรื่องตั้งปริญญาตรี เราบอกเขาไปว่า ขออย่าได้เปรียบเทียบเงินเดือนไทยและอังกฤษเลย มันคนละระบบ ประกาศนียบัตรรังสีเทคนิคของเขา ได้เงินเดือนพอใช้ แต่ของเราแม้จะได้ปริญญาตรี เงินเดือนก็ต่ำกว่าของเขาถึง 5 เท่า

5.เรื่องวิชาการขั้นธรรมดา คือ ม.8 (หรือใหม่ ม.6) ของเรา ก็สู้ขั้น "อ" level ของเขาไม่ได้ ดังนั้นการเรียนเพิ่มอีก 2 ปี ในเริ่มแรกของหลักสูตร 4 ปี ก็เป็นการเพิ่มความรู้พื้นฐานของเราให้ดีขึ้น และ 4 ปีก็มีความหมายแก่โรงเรียนมาก เพราะถ้าต่อไปภายหลัง มีวิชาอะไรที่เห็นสมควรเพิ่มเพื่อให้คนได้ปริญญารู้มากไปกว่านี้ เราก็จะได้ใช้เวลานี้เรียนให้สูงยิ่งขึ้น

6.เรื่องปริญญาตรีนี้ทางอังกฤษเขาเห็นว่าสูงไป เราก็บอกไปว่าอย่าเปรียบกันเลยกับ M.S.R. ของเขา และเราก็เชื่อว่าคนจบ M.S.R. ของเขาจะมีความรู้สูงกว่าปริญญาตรีของเราแน่นอน และเราก็เชื่อต่อไปอีกว่า คนจบปริญญาตรีทางรังสีเทคนิคจากเรา หรือแม้เราจะยอมลดเวลาเรียนลงมาเป็น 2-3 ปี และได้ประกาศนียบัตรเพียงเท่า M.S.R. ของเขาก็ตาม อังกฤษก็คงไม่รับคนของเราไปทำงานที่อังกฤษแน่ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า แม้คนในเครือจักรภพอังกฤษ (คือคนที่อยู่ในประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อนที่เรียกว่า "Common Welt") ก็ยังมีโอกาสไปทำงานในอังกฤษได้น้อยเต็มที

สรุปว่า เราจะสร้างนักรังสีเทคนิคตามแบบที่เหมาะกับสังคมไทย เมื่อเวลาล่วงเลยมา กว่า 30 ปี (ปัจจุบัน 53 ปีแล้วครับ)ความคิดของผมในเรื่อง ให้ปริญญาตรีแก่นักรังสีเทคนิคที่สร้างเป็นแห่งแรกในประเทศไทยนั้น ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ อย่างที่เห็นๆกันอยู่ครับ

หลักสูตรประกาศนียบัตรรังสีเทคนิค
หลังจากสร้างคนจบปริญญาตรีขึ้นมาแล้ว รังสีแพทย์หลายท่านคิดว่า โรงเรียนรังสีเทคนิค ทำหลักสูตรปริญญาตรีขึ้นมานั้นต้องเสียเวลาผลิตถึง 4 ปี และการรับนักศึกษาก็ต้องรับจนกทบวงมหาวิทยาลัย ถ้าทำหลักสูตร 2 ปี จะทำให้ผลิตได้เร็วและได้จำนวนมากเพื่อสนองการขาดแคลนนักรังสีเทคนิคในขณะนั้น

ผมได้ชี้ให้เห็นภัยในการที่อาชีพเดียวกันมีหลายระดับเขาก็ไม่ฟัง และการจะผลิตจำนวนมาก เราก็ตั้งให้หลายมหาวิทยาลัยช่วยกันผลิต ไม่นานก็มากขึ้นเอง สุดท้ายก็ต้องมี 2 ระดับ สำหรับโรงเรียนรังสีเทคนิคก็ถูกชักชวนให้ผลิต คงจะมีสัก 2-3 รุ่น แล้วควบคุมลำบากก็เลยเลิกไป การผลิตขณะนี้ก็คงน้อยลง เพราะทุกคนอยากได้ปริญญามากกว่าประกาศนียบัตร จึงเปิดหลักสูตรพิเศษช่วยให้พวกประกาศนียบัตรได้มีโอกาสเรียนและสอบเอาปริญญาได้ ก็นับว่าคลายเครียดในปัญหานี้ไปได้ส่วนหนึ่ง

การสอนในระยะเริ่มตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิค
งานอันดับแรกที่โรงเรียนได้ทำคือ การอบรมเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคที่ปฏิบัติงานอยู่ก่อนแล้ว โดยจัดเป็นชุดๆไป ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น

สำหรับการสอนวิชาต่างๆ ในพวก 4 ปีนั้น ลำบากก็เรื่องหาอาจารย์มาสอน เพราะวิชารังสีเทคนิคนี้ต้องเรียนพื้นฐานหลายวิชา และวิชาเหล่านั้นเขาก็รู้เฉพาะแบบ ยังไม่เรียนวิชาหรือเกี่ยวโยงกับรังสีเทคนิค เช่น วิชาวิศวกรรม วิศวกรก็ไม่ได้เรียนเรื่องเครื่องเอกซเรย์ เราจึงต้องไปหาอาจารย์ที่ชำนาญทางเครื่องกลทางเทคนิค ก็ได้นักวิศวะจากบริษัทฟิลลิปส์บ้าง ที่อื่นๆบ้าง 

แม้แต่วิชาฟิสิกส์เราก็หาคนที่รู้ Radiation Physics ได้น้อย บางวิชาหาคนสอนไม่ได้ เช่น Radiographic Photography ผมจึงต้องรับสอนไปพลางๆ โดยศึกษาจากตำราหลายเล่ม เล่มนี้อ่านเข้าใจยากก็ไปดูตำราเล่มอื่น แล้วก็นำไปสอนเป็นพื้นไปก่อน 

สอนไปสอนมาเลยรู้สึกอาย เพราะไม่เคยได้ลงมือทำจริงๆเลย เมื่อก่อนนี้น้ำยาล้างฟิล์มเอกซเรย์ซื้อเขาหมด เป็นห่อๆมาผสมน้ำ หรือเป็นถังก็ล้วนแต่สำเร็จรูปทั้งนั้น เราไม่รู้ว่าเขาผสมอะไรมาให้บ้าง และจะมัวแต่สอนให้นักศึกษาผสมเป็นตามฉลากที่ปิดข้างห่อเท่านั้นหรือ 

ยิ่งกว่านั้น บางครั้งที่โรงพยาบาลสั่งน้ำยาล้างฟิล์มเอกซเรย์ แล้วบริษัทบอกว่าน้ำยาขาด stock เราก็ต้องนั่งคอย บางครั้งเขาเห็นใจเราที่ไม่มีน้ำยาใช้เพราะต้องรอต่างประเทศ เขาก็เลยทำเองในกรุงเทพฯ เราดูจาก packing แสดงว่าทำลวกๆมาให้ ก็ถามเขาว่าเอามาจากไหน สุดท้ายเขาก็รับว่าเอาตัวยาต่างๆในกรุงเทพฯนี่แหล่ะ ผสมกันแล้วห่อส่งมาให้เราใช้พลางๆก่อน ผมก็เลยคิดได้ว่าเขาทำได้ ทำไมเราไม่ผสมเสียเอง งานทดลองจึงเริ่มขึ้น ได้สร้างห้อง Lab พร้อมห้องมืดชั่วคราวก่อน และทดลองเรื่อยมา ยิ่งทำไปก็ยิ่งรู้เรื่องน้ำยามากขึ้น แต่การทำการทดลองมิใช่เดาสุ่ม หรือเพียงเอาตัวยามาลองผสมกันดูแล้วทดลองล้างฟิล์ม เราทำแบบวิทยาศาสตร์จึงต้องใช้เครื่องมือสำคัญๆหลายอย่าง แต่ของเราไม่มีก็ต้องเที่ยววิ่งไปขอยืมที่นั่นที่นี่ การทำแม้ยากแต่เราอยากทำให้สำเร็จ จึงทนลำบากได้ทุกอย่าง ยิ่งทำไปก็ยิ่งแน่ใจว่าเราเดินทางถูกต้องแล้ว จนได้สูตรนำ้ยาล้างฟิล์มใหม่เพื่อจะได้ใช้ในประเทศไทย ผลแห่งการศึกษาของผมทำให้นำไปสอนนักศึกษาก็พูดได้เต็มปาก เราจึงหวังจะให้นักศึกษาเพียรพยายามต่อไป อย่าคอยชะเง้อรอคนอื่นเขาจะขายให้เราหรือไม่ มันจะเสียเปรียบเขาทุกทาง เราทำราชการถ้าทำจริงๆก็มีคนสนับสนุนอย่ากลัว

เรื่องสถานที่เรียน
โรงเรียนรังสีเทคนิคของเราลำบากมากในตอนแรกๆ เพราะตึกเทคนิคนั้นไม่มีห้องเรียนเลย ห้องทำงานของโรงเรียนก็แบ่งห้องคณบดีเทคนิคมาครึ่งหนึ่ง และเอาห้องรับแขกเป็นห้องสาธิต เอาเครื่องเอกซเรย์ที่เสียแล้วมาตั้ง สำหรับจัดท่าและจัดทิศทางของหลอดเท่านั้น ใช้ถ่ายอะไรไม่ได้
ห้องเรียนนั้นตึกเทคนิคไม่มีห้องให้ ต้องใช้ห้องเรียนเล็กๆของแผนกรังสี ขณะนั้นย้ายไปอยู่ตึกอายุรกรรม โรงเรียนของเราต้องอาศัยคณะแพทยศาสตร์ตลอดมา จึงต้องย้ายไปหลายแห่ง ประมาณ 6 ครั้งจึงได้มาอยู่ที่นี่ คือ ตึกเทคนิคหลังใหม่

สำหรับเครื่องเอกซเรย์ของโรงเรียนสักหนึ่งเครื่องก็ขอไม่ได้ ขณะสอนนั้นก็ต้องใช้ของแผนกรังสีวิทยาไปพลางๆก่อน และต้องรอตอนที่เขาว่างคือไม่ได้ถ่ายเอกซเรย์คนไข้จึงจะได้ใช้เครื่อง 

การของบประมาณซื้อเครื่องสมัยก่อนเครื่องละ 2 แสนกว่าๆ งบประมาณก็ไม่มีจะให้ ขออย่างนี้ประมาณ 5 ปี ก็ยังไม่ได้เครื่อง คิดในใจว่าราชการจะให้เราสร้างนักรังสี โดยใช้มือและเสียงสอนหรืออย่างไร ผมท้อใจ และท้อใจมากขึ้นเมื่อผู้บริหารบางท่านใช้วิธีไม่โปร่งใส เหมือนหลอกผมเป็นปีๆไป ซึ่งผมไม่เคยคิดว่าการบริหารราชการไทยจะยุ่งยากสับสนถึงเพียงนั้น 

ในเวลานั้นผมเหมือนเหยียบเรือสองแคม ขาหนึ่งอยู่ที่คณะเทคนิคฯ และอีกขาหนึ่งอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ รอวันที่จะพลัดตกจมน้ำตายเท่านั้น แต่การเหยียบเรือสองแคมของผม กลับเป็นผลดีหรือได้ประโยชน์สำหรับโรงเรียนรังสีเทคนิค ไม่ว่าคณะเทคนิคฯ จะขาดอะไรผมต้องวิ่งไปขอคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ก็ให้ผมทุกครั้ง แม้ตำแหน่งอาจารย์ทางคณะแพทยศาสตร์ก็ให้ยืม เพื่อบรรจุอาจารย์ของโรงเรียนรังสีเทคนิค นอกจากนั้น ห้องเรียน ห้องสอบ ห้องประชุม และอื่นๆ ต้องเอาตัวเข้าไปแลกทุกครั้ง บางครั้งก็หน้าแตกกลับมา บางครั้งก็สมประสงค์จนทำให้เพลียใจ อยากจะออก ข่าวการจะลาออกของผมแพร่สะพัดออกไป ผู้บริหารระดับสูงทุกท่านเงียบเสียง ไม่พูดแม้แต่คำเดียว ไม่ช่วยคลี่คลายปัญหา ไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจ ท่านแอบไปทำเงียบๆ คือติดต่อหาคนอื่นมาแทนทันที ผมจึงถึงบางอ้อ ว่าเราเดินทางผิดมานาน ทำให้ระเหี่ยใจมากขึ้น 
บัณฑิตรังสีเทคนิครุ่น 1 ของประเทศไทย พ.ศ. 2510
มหาวิทยาลัยมหิดล
แต่แล้วก็มีอาจารย์ในโรงเรียนรังสีเทคนิค และนักศึกษาหลายคนได้มาขอร้องว่า โรงเรียนเหมือนเด็กเพิ่งสอนเดินต้องการผมให้นำทางต่อไป ผมเริ่มได้สติ และหวลนึกถึงตอนที่เริ่มมาช่วยตั้งโรงเรียนนี้ว่า เรามาเพื่ออุดมการณ์ว่ารังสีแพทย์จะไม่ก้าวหน้าถ้าขาดนักรังสีเทคนิคที่ดีและสามารถ ขณะนี้เรายังพอจะช่วยเขาได้ จึงเบนความคิดสลัดความสลดใจทิ้งไป คิดว่า "ในชีวิตนี้จะไม่เอาอะไรไม่ว่าจะเป็น ยศ ลาภ หรือเงินเดือน จะขอทำเรื่องเดียวให้สำเร็จ คือการสร้างอาชีพรังสีเทคนิคให้นักศึกษาต่อไป จะไม่ถอยหลัง" ผลก็คือชีวิตราชการไม่รุ่งเรืองเท่าที่ควร เลยนึกถึงคำทำนายของหมอดูที่ทำนายตั้งแต่ผมยังหนุ่มว่า "ชีวิตจะรุ่งเรืองไปสักระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายจะดับเหมือนพระอาทิตย์ตกน้ำ" ก็เห็นจะจริงตอนนี้ แต่หมอไม่ได้ดูต่อว่า ชีวิตที่ขลุกขลักของผมนั้นใจผมจะเป็นอย่างไร ใจผมกลับเป็นสุข และสงบมากขึ้น อาจเป็นได้ว่าผมมีศิลปะหลายอย่าง เช่นดนตรีการร้องเพลง การเขียนบทกลอนและอื่นๆ พาให้ใจผมเป็นสุขกับศิลปะ จนลืมความทุกข์ทั้งหมดและคงจะเป็นอย่างนี้จนสิ้นชีวิต

การเผยแพร่วิชาชีพรังสีเทคนิคต่อสังคม
เนื่องจากโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนแห่งแรกแห่งประเทศไทยที่ได้ตั้งขึ้น จึงมีคนน้อยมากที่รู้จักหรือเรียกว่าใหม่สำหรับเขา คนทั่วไปหรือแม้แต่นักศึกษาก็ไม่แน่ใจว่าวิชาชีพนี้เรียนอะไรกันบ้าง จบแล้วได้ปริญญาอะไร และจะไปทำงานที่ไหน ในตำแหน่งอะไร อาชีพนี้จะก้าวหน้ารุ่งเรืองหรือไม่ เด่นดังในสังคม ตลอดจนจะสร้างความร่ำรวยให้ตนเองได้หรือเปล่า ขณะนั้นยังบอกอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะยังไม่มีใครจบ 

ที่หน้าเป็นห่วงมากในขณะนั้นคือ ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ยังไม่รู้ว่ามีโรงเรียนนี้ตั้งขึ้นแล้ว เมื่อไม่รู้เขาก็ไม่ได้ตั้งตำแหน่งรังสีเทคนิคไว้รองรับนักศึกษาที่เรียนจบออกไป ด้วยความกลัวว่าลูกศิษย์จะตกงานจึงเที่ยวไปพูดคุยกับแพทย์ พบที่ไหนก็พูดแต่เรื่องวิชาชีพใหม่ บางครั้งก็ทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการกองการแพทย์ของ ก.ท.ม. สนใจก็ขอให้ตั้งตำแหน่งไว้รองรับด้วย พอปีรุ่งขึ้น ก.ท.ม. ก็ตั้งตำแหน่งไว้ให้ 15-20 ตำแหน่ง แต่ก็มีนักศึกษาที่จบแล้วไปทำงานไม่กี่คน ก.ท.ม. ก็ผิดหวัง ผมเองก็ฉุนนิดๆ แต่ก็พอทนได้

นอกจากนั้นได้จัดโครงการแพร่ข่าวเรื่องวิชาชีพรังสีเทคนิค ให้โรงพยาบาลต่างจังหวัดทราบ แต่เราแฝงไปกับโครงการทัศนศึกษาดูงานในต่างจังหวัด เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นสภาพที่แท้จริง ว่าประเทศไทยเรายังขาดบุคลากรด้านนี้อีกมาก อีกทั้งจะได้เห็นหน้าที่ที่แท้จริงของเขา ที่จะต้องทำในอนาคต เราจึงจัดปีละหนึ่งครั้ง ครั้งแรกไปทางภาคเหนือ เราจะแวะแทบทุกโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ ไปไกลถึงจังหวัดไหนจำไม่ได้ พอครั้งที่สอง พานักศึกษาไปภาคใต้ไปถึงจังหวัดปัตตานี ครั้งที่สามไปภาคอีสานจนถึงหนองคาย

ทุกจังหวัดที่ไปแวะเยี่ยมชม ผมจะส่งจดหมายราชการและจดหมายส่วนตัวตามไปด้วย โดยมากผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างจังหวัดจะเป็นแพทย์รุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือแพทย์รุ่นเดียวกับผมทั้งนั้น ก็เลยได้รับการต้อนรับอย่างดีตลอดทาง ถ้าแวะชมระยะสั้นก็ขออาหารว่างน้ำชากาแฟ ดื่มกินเรียบร้อยก็ลาเดินทางต่อไป ถ้าแวะนานก็ขอพักค้างคืน พร้อมอาหารค่ำและอาหารเช้า รุ่งขึ้นก็เดินทางต่อไป ทั้งไปและกลับเราไม่ต้องเสียค่าอาหารและค่าที่พักเลย นอกจากค่าน้ำมันรถซึ่งรถไปแต่ละครั้งก็ขอยืมรถคันใหญ่จากศิริราชเขาก็ช่วยเราดี

ขณะที่ผมนำนักศึกษานั่งรถไปนั้น เราจะไม่ให้เสียเวลาเปล่า โดยมากจะทบทวนบทเรียนต่างๆโดยจะพูดถามตอบผ่านไมโครโฟนของรถทำหน้าที่คล้ายๆไกด์นำนักท่องเที่ยว เราจะถามทีละคนไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็เอามาทบทวน ตอบไม่ได้เราก็บอกให้เหมือนติวเตอร์อย่างไงอย่างงั้น ปรากฏว่านักศึกษาจำและเข้าใจในบทเรียนที่สอนไปได้ดีมาก แต่ที่อดชมในใจไม่ได้ก็คือ นักศึกษารุ่นแรกๆชอบเข้าห้องสมุด ผมให้ไปอ่านตำราอะไรๆ แล้วมาเล่าสู่กันฟังมีผลทำให้ได้ความรู้มากขึ้น โดยครูสอนน้อยลง


ตลอดเวลาที่พานักศึกษาไปทั้งสามภาค ไม่เคยทำความเสียหายอะไร นักศึกษาอยู่ในโอวาทดี สนิทสนมกันดีทั้งครูและนักเรียน จึงนับว่าได้ผลสมประสงค์ที่ตั้งใจไว้ บางครั้งนักศึกษาเกิดวิตกกับปัญหาการถ่ายภาพเอกซเรย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด บางจังหวัดก็ใช้ได้ บางจังหวัดยังแย่ เราก็บอกเด็กไปว่า ราชการไทยในต่างจังหวัดจะเป็นตามแต่สภาพของโรงพยาบาลนั้นๆ เพราะเจ้าหน้าที่หลายท่านก็ทำงานมาก และไม่มีใครมาบอกว่าอย่างนั้นควรแก้หรือทำอย่างไรให้ดี 

สภาพของโรงพยาบาลต่างๆในสมัยนั้นจึงมีผลทำให้นักศึกษาบางคนอ่อนใจ ระอา พาให้ไม่อยากจะเป็นนักรังสีเทคนิค ข้อนี้ก็อาจเป็นไปได้ แต่ก็พยายามจูงความคิดของเขาให้ระลึกว่า คนเราเกิดมาใช่จะมุ่งหาแต่ความสุขฟุ้งเฟ้อใส่ตน ควรที่จะเอาความรู้ความสามารถของเราออกไปช่วยเหลือ ไปทำงาน ช่วยเหลือสังคมบ้าง โดยเฉพาะสังคมต่างจังหวัดที่ขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากร จึงจะได้ชื่อว่า "เกิดมาแล้วไม่เสียชาติเกิด" ที่ได้ทำบุญให้กับโลก สร้างโลกนี้ให้ผาสุข เราจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข