วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562

รังสีเทคนิคต้อง Spring Up


การสัมมนาสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิค (RT Consortium) ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2561 และ 1 มิถุนายน 2561 ณ ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย คณะรังสีเทคนิคเป็นเจ้าภาพ

คำกล่าวเปิดงานของนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สร้างแรงบรรดาลหลายเรื่องที่ขอนำมาสู่ชาวเรานักรังสีเทคนิคทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค
"วิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญในวงการแพทย์ เป็นศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก เป็นวิชาชีพที่มีอนาคตสูง น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้ น่าจะเป็นความต้องการมากๆของประเทศไทย ไม่ว่าจะก้าวไปสู่ Medical Hub หรือการบริการประชาชนคนไทย เพราะวิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนมาตลอด อ่านข่าวทราบว่าจุดน่าตื่นเต้นในวงการแพทย์ก็อยู่ที่สาขานี้ คงไม่ใช่เอกซเรย์อย่างเดียว คงจะมีรังสีอื่นๆเข้ามาอีกเยอะแยะ และคงไม่ใช่ mannual  มันจะมี automate และระบบดิจิทัลเข้ามาอีกเยอะแยะ

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เห็นอยู่ตลอดเวลาในช่วงนี้คือ ประสิทธิภาพของ Radiation Imaging ที่มันดีขึ้นๆ รวดเร็วขึ้น ไปได้ไกลขึ้น มันกำลังมาอีกเยอะแยะ เพราะฉนั้น สาขานี้จึงเป็นสาขาที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่สนใจใฝ่รู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเป็นสาขาที่เปิดอนาคตเยอะมากสำหรับคนที่เข้ามาเรียน จึงไม่แปลกใจที่เริ่มมีคนที่น่าจะเข้าเรียนแพทย์ได้หันมาเรียนสาขานี้

การรวมกลุ่มกันของ Consortium มีความสำคัญมากๆโดยเฉพาะช่วงนี้ คือ สถาบันผู้ผลิตต้องช่วยกันมองให้ทะลุขอบเขตกฎเกณฑ์ต่างๆที่มีอยู่ในขณะนี้ให้มันพ้นออกไป 

ผมเข้าใจว่า ปัจจัยสำคัญของการจัดตั้งสถาบันการศึกษาอยู่ที่จำนวน PhD จำนวนตำแหน่งทางวิชาการที่ สกอ.นำเอามาวางกรอบไว้ ผมมาจากแพทย์ คณะแพทยศาสตร์มีจำนวน PhD ไม่กี่คน ทั้งหมดเป็น Resident เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในวิชาชีพนาน และมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ทั้งนั้น แล้วเราก็บอก กพ. ไปว่าอันนี้เทียบปริญญาเอก ซึ่ง กพ.ไม่มีทางเลือก เพราะป่วยไข้เขาก็รักษาคนนี้ เขาไม่รักษากับปริญญาเอกที่ไหน

สำหรับสาขารังสีเทคนิคในช่วงก่อตั้ง ต้องก้าวผ่านให้ทะลุอุปสรรคทั้งหลาย ทำอย่างไรจึงจะทำให้สาขานี้ spring up ได้ และมีคุณภาพ ก้าวทันสมัย กระทรวงอุดมศึกษาฯที่เกิดขึ้นใหม่เขาก็มองหาทางใหม่ๆอยู่ เขาน่าจะฟังจากพวกท่าน

เวทีนี้น่าจะได้มีการพูดคุยกันเพื่อร่วมเสนอแนวทางที่ทำให้ การศึกษาทางด้านรังสีเทคนิคมัน spring up ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง มันคงไม่ใช่ไต่ไปแบบนี้ ขณะนี้คือ ในความขาดแคลน ในความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั้น วิชาชีพนี้มันต้องพุ่ง มันต้องการวิธีคิดใหม่ หลักสูตรคงต้องมีการปรับเยอะ รังสีเอกซ์มันอาจจะล้าไปแล้ว ในขณะนีมันจะมีอะไรต่ออะไรเข้ามาอีกเยอะแยะหรือเปล่า digital quality ของเด็กต้องเรียนมากขึ้นไหม เทคโนโลยีอย่าง AI, 3D ฯลฯ ที่มันเข้ามาวุ่นวายในทุกสาขา ผมคิดว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือต่างๆเหล่านี้ด้วยซ้ำไป หมอรังสีมีโอกาสตกงานสูง เพราะถ้าเครื่องมือออกมาแล้วอ่านทุกอย่างได้แม่นกว่าหมออ่าน สองวันนี้เขาแชร์กันทั่วว่า AI สอบชนะหมอโรคผิวหนังในการวินิจฉัยมะเร็งโรคผิวหนัง เพราะฉะนั้น เมื่อวิชาชีพนี้มีการพัฒนาต่อไป และปรับ โอกาสของคนในวิชาชีพนี้น่าจะเปิดกว้างมาก ทั้งในแง่ผู้ใช้เทคโนโลยี และผู้พัฒนาเทคโนโลยี

ฝากความหวังกับพวกท่านว่า มองให้มันทะลุ อย่ายึดในขอบเขตกฎเกณฑ์ของ สกอ. อะไรเลย โดยทั่วไป Consortium จะมีความคิดก้าวหน้ากว่าสภาวิชาชีพ เท่าที่ผมอยู่ในสภาวิชาชีพทางการแพทย์มานาน เรื่องการเรียนการสอน เรื่องการปรับปรุง เพราะสถาบันการผลิตมัโอกาสรับอาจารย์ใหม่ๆ มีความคิดความอ่านกว้างไกลกว่าในสภาวิชาชีพ ซึ่งแต่ละท่านที่กว่าจะไปนั่งอยู่ตรงนั้นก็มีแต่ประสบการณ์ในอดีต บางท่านอาจมองอนาคตไม่ชัดเท่าไหร่ อาจมีความกลัวมาก ต้องอาศัย Consortium เป็นตัวผลักดัน

ขอชื่นชมที่ท่านมารวมตัวกันหนาแน่น ขอแสดงความคาดหวังว่า ครั้งนี้จะมี innovation ของวิชาชีพรังสีเทคนิค ของการจัดการเรียนการสอน ออกมา และเสริมพลังกัน ร่วมมือกันหนาแน่น สถาบันการเรียนการสอนยังไม่ถึงระยะที่จะแย่งนักศึกษากัน เพราะท่านมีไม่พอที่นักศึกษาจะเรียน ยังมีจังหวะที่ท่านจะร่วมมือกันสร้างสิ่งดีๆให้กับวิชาชีพ ไม่ต้องคิดว่าจะต้องมาแข่งกัน ชิงนักศึกษากัน

ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในการประชุมคราวนี้"

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ความปลอดภัยของท่านต้องมาก่อน [WRD 2019]


เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์พัฒนาไปอย่างมากมายในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทางด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยรังสีมีการพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็น เอกซเรย์ระบบดิจิทัล เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็มอาร์ไอ อัลตราซาวนด์ SPECT PET ตลอดจนการผสมผสานระหว่างเครื่องมือรังสีวินิจฉัยกับเครื่องมือรังสีรักษาเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษา มันเหมือนเราดูภาพยนต์ Sci-Fi ที่เรากำลังมองผ่านจอมอนิเตอร์ของยานอวกาศลำหนึ่ง ซึ่งกำลังท่องไปภายในร่างกายมนุษย์ เพื่อดูสิ่งผิดปกติแล้วรักษากันเลย จน 2-3 ปีมานี่เอง มีความพยายามที่จะนำ AI (Artifiacial Intelligence) เข้ามาใช้อำนวยความสะดวกในวงการรังสีวิทยา ความก้าวหน้าทั้งหลายเหล่านั้น แค่ใช้เวลาตามให้ทันก็แทบไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่นแล้ว ในส่วนตัวผู้เขียนจะเลือกศึกษาติดตามเฉพาะเรื่องที่ถนัดมีพื้นฐานอยู่แล้ว เรื่องที่สนใจ และเรื่องที่มีผลกระทบต่องานที่รับผิดชอบ ซึ่งก็มีอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง World Radiography Day  
นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์
รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต
ประธานเปิดงาน "WRD2019"
ถอยหลังไปเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1895 ศาสตราจารย์ Wilhelm Conrad Röntgen ได้ค้นพบเอกซเรย์เป็นคนแรกเมื่อ 124 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เอกซเรย์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอย่างมากมายและยาวนานต่อเนื่อง ศาสตร์ด้านรังสีวิทยาได้ถือกำเนิดนับจากวันนั้นเป็นต้นมา จากวันนั้นถึงวันนี้ องค์ความรู้และเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไปเป็นอย่างมากตามที่กล่าวโดยย่อข้างต้น WHO จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน World Radiography Day” เป็นวันที่นักรังสีเทคนิคทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ 

สำหรับปีนี้ บังเอิญตรงกับวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เป็นวันศุกร์เหมือนเมื่อ 124 ปีที่แล้ว คณะรังสีเทคนิค สมาคมรังสีเทคนิค และโรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ ได้เล็งเห็นความสำคัญของวันนี้ จึงถือโอกาสอันดีนี้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมในวัน “World Radiography Day” ขึ้นอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง หมายความว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ร่วมกันจัด ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวันแห่งการค้นพบเอกซเรย์ของศาสตราจารย์ Wilhelm Conrad Röntgen ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการบอกดังๆให้สังคมได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักรังสีเทคนิค ในการใช้รังสีเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย ทั้งตัวผู้ป่วยและตัวนักรังสีเทคนิคเอง โดยจะเห็นได้ว่า ในปีนี้สมาคมรังสีเทคนิคโลก (ISRRT) ได้ชูธงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยชูคำขวัญว่า “ความปลอดภัยของท่านต้องมาก่อน: นักรังสีเทคนิคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย” ยกระดับความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยขึ้นไปอีก จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งนักรังสีเทคนิคทั้งมวลต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดขึ้นและรักษาไว้ให้ยั่งยืน

ดังนั้น หัวข้อการบรรยายพิเศษคราวนี้ จึงได้เลือกเน้นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ "ความปลอดภัยของท่านต้องมาก่อน" คือความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิคต้องมาก่อน หัวข้อที่บรรยายพิเศษได้แก่ เรื่อง ความปลอดภัยของผู้ป่วยในงานรังสีวิทยา และการตรวจและการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้รังสี

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ครั้งนี้เป็นการจัดที่มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นครั้งที่ 4  โดยคณะรังสีเทคนิค สมาคมรังสีเทคนิค และโรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ ร่วมกัน ความพิเศษของคราวนี้คือ คณะผู้จัดได้ยกระดับการจัดงานจากเดิมที่เคยจัดเป็นลักษณะกิจกรรม ให้ขึ้นไปเป็นการประชุมวิชาการ เป็นการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของการจัดกิจกรรม  

เป็นที่น่าดีใจที่การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 360 คน มาจาก 11 หน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลในกรุงเทพและต่างจังหวัด ช่วงเช้ามีการบรรยายพิเศษหัวข้ตามที่กล่าวข้างต้น ช่วงบ่ายมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจาและโปสเตอร์ ซึ่งปีนี้มีจำนวนเกือบ 20 เรื่อง ทำให้การเฉลิมฉลอง World Radiography Day มีความคึกคักและมีความหมายยิ่ง
อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การประชุมครั้งนี้ได้มีการเก็บข้อมูลรายละเอียดของกิจกรรมของนักรังสีเทคนิคที่ต่อต้านพิษภัยของบุหรี่ เพื่อนำเผยแพร่ในสื่อของสมาคมรังสีเทคนิคโลก (ISRRT) ด้วย

ในทัศนะของผมมองว่า การประชุมวิชาการนอกจากจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการรังสีเทคนิคอย่างดีเยี่ยมจากผู้เข้าร่วมประชุมและผู้เสนอผลงานวิชาการแล้ว ยังจะทำให้เกิดความตื่นตัวทางวิชาการตลอดเวลา เป็นการสะท้อนคุณภาพของสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค นักรังสีเทคนิค ตลอดจนชุมชนรังสีเทคนิคได้เป็นอย่างดี เป็นที่เชื่อมั่นต่อสังคมวงกว้างสืบต่อไป น่าจะได้มีการจับมือกันระหว่างสถาบันผู้ผลิต เช่น ในกรุงเทพเพื่อลองจัดประชุมวิชาการประเพณีสี่เส้า ห้าเส้า อะไรประมาณนี้ แต่ละสถาบันจะได้มาแชร์ผลงานกัน สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการยิ่งๆขึ้นไป จะดีไหมครับ?

Related Links:
1.World Radiography Day 2016
2. WorldRadiography Day: 8 พฤศจิกายน 2016
3.  World Radiography Day 2017 : พิธีเปิดงาน
4. World Radiography Day 2017 : เสวนา "RT's education inThailand"
5. วันรังสีเทคนิคโลก VS สภารังสีเทคนิคไทย [WRD2018]
6. ข่าวในสารรังสิต 
7. ข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
8. ข่าวในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
9. ใน Line Today

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562

AI: ปัญญาประดิษฐ์เพื่อนซี้หรือผู้คุกคาม

อรัมภบท
นับจากที่ศาสตราจารย์เรินท์เกนค้นพบเอกซเรย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1895 หรือปี พ.ศ. 2438 ตอนนั้นก็น่าจะเกิด disruption ของการตรวจวินิจฉัยโรคครั้งใหญ่ เนื่องจากเอกซเรย์สามารถส่องดูอวัยวะภายในของมนุษย์ได้ ช่วยให้การวินิจฉัยโรคดีขึ้นมากมาย แต่ผู้คนก็จะต่อต้านในระยะแรกๆ เพราะคิดไปว่าเอกซเรย์จะเปิดเผยความลับส่วนตัวของพวกเขา 
     ปัจจุบัน เราลองหันไปดูรอบๆตัว มองจากสิ่งที่ใกล้ตัวออกไป มีหลายสิ่งเกิดขึ้น ที่เป็นผลมาจากการค้นพบองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้การดำรงชีวิตของเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น ที่เห็นชัดๆ คือ โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์เครื่องเดียว คือ "ประตูที่เปิดสู่โลกกว้าง"  ซึ่งมีการใช้ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์แบบที่เราก็ไม่รู้หรอกว่ากำลังใช้อยู่
เราได้ใช้ AI เข้าไปทำให้การดำเนินชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น ได้แก่ การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล รถสาธารณะ หรือเดิน โดยใช้แอปพลิเคชันนำทาง เช่น Google Maps , Garmin และ MapQuest เพื่อให้บริการนำทางแบบเรียลไทม์ ซึ่งมีข้อมูลการจราจรตรงไหนรถติดหรือรถไม่ติด ความเร็วในการเดินทาง และการวางแผนการเดินทางโดยมันจะบอกเส้นทางที่เราต้องการจะไปและประมาณเวลาการเดินทางให้ ไม่ต้องกางแผนที่เป็นแผ่นเหมือนสมัยก่อนแล้ว สะดวกสบายมาก
หลายคนอาจจะเคยไปประเทศญี่ปุ่น และได้ใช้ Google Maps นำทาง เนื่องจากในกรุงโตเกียวมีรถไฟฟ้าหลายสายพันกันไปมาเหมือนเส้นหมี่ ขึ้นรถไฟผิดขบวนก็หลงกันเลย แต่ผู้เขียนได้ลองใช้แล้วทำให้การเดินทางในโตเกียวด้วยรถไฟฟ้าสะดวกมาก ยากที่จะหลง เพราะ Google Maps จะแนะนำเราได้ดีทีเดียว เช่น เราจะเดินทางจากโรงแรมที่พักไปชิบูยา ไปนั่งจิบกาแฟดูผู้คนข้ามถนนตรงห้าแยกชิบูยาอันเลื่องชื่อ Google Maps จะแนะนำเราว่าเริ่มต้นจากสถานีอะไร ใช้รถไฟฟ้าสายอะไรบ้าง ใช้เวลาเดินทางกี่นาที และเสียค่าโดยสารเท่าไร เป็นต้น
อีกตัวอย่างของการเดินทางที่ใช้ AI แล้วคือ Autopilot บนเครื่องบินเชิงพาณิชย์ ในอนาคตไม่นานจากนี้ไป AI จะช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนไปไหนมาไหนได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ AI ทางด้านการธนาคาร e-mail การให้เกรดและการประเมินผล เครือข่ายทางสังคม (social network) ทั้ง Facebook, Instagram, YouTube และอื่นๆ Google Home ที่ใช้เสียงควบคุมการทำงานในบ้านเรา การซื้อขายแบบออนไลน์ Smart Watch ฯลฯ
กล่าวได้ว่า AI อยู่รอบตัวเราเต็มไปหมดแล้วในขณะนี้ ทำให้เกิดการพลิกโฉมการใช้ชีวิตของเราอย่างมาก เช่น คนเริ่มไม่ดูรายการสดทางโทรทัศน์ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เป็นแผ่นกระดาษ คนหันมาดูรายการจาก YouTube อ่านข่าว online ผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์บางช่อง ต้องปิดตัวลงไป รวมไปถึงคนเริ่มหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มากขึ้น ทั้งโอนเงินและจ่ายค่าบริการต่างๆ ไม่ต้องไปที่ธนาคารแล้ว ธนาคารเริ่มใช้พนักงานน้อยลง ตัวอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี่เอง ทำให้อาชีพบางอาชีพได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
เราน่าจะได้เห็นสิ่งต่างๆต่อไปนี้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เช่น การพัฒนารถยนต์ที่ไร้คนขับ แชทอัตโนมัติสำหรับการธนาคารแบบ online หุ่นยนต์ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวมันเอง แขนหุ่นยนต์อัจฉริยะสำหรับการผ่าตัด แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น มัลติมีเดียที่ขับเคลื่อนด้วย AI การใช้ AI สำหรับขับเคลื่อนธุรกิจขนาดใหญ่ นวัตกรรมใหม่ๆในเบราว์เซอร์ google chrome เป็นต้น

AI ทางรังสีวิทยา
เมื่อพูดถึง AI เชื่อว่า สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคือหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดเหมือนในภาพยนต์เช่น Star War แล้ว AI ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านรังสีวิทยาจะมีน่าตาเป็นอย่างไร?
เมื่อพูดถึงรังสีวิทยา ก็ต้องบอกว่า ศาสตร์ทางด้านนี้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและเครื่องมือรังสีอย่างมาก เนื่องจากมีการใช้รังสีเพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค โดยมีรังสีแพทย์ นักรังสีเทคนิค นักฟิสิกส์การแพทย์ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น หากเราติดตามอย่างใกล้ชิดจะพบว่า มันมีวิวัฒนาการของมันอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลาเช่นกัน
AI ได้ก้าวหน้าลุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็วในรังสีวิทยาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง  AI ได้กลายเป็นหัวข้อยอดนิยมในรังสีวิทยาที่มีการพูดถึงกันบ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมทางวิชาการของสมาคมคมรังสีวิทยาต่างๆ รวมถึงการวิจัยล่าสุดจำนวนมากด้วย
มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ AI เพิ่มมากขึ้น ที่ส่งไปยังวารสาร Radiology วารสารอย่างเป็นทางการของ RSNA (Radiological Society of North America) ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก โดยที่ปรากฎว่า ในปี 2558 ไม่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับ AI ตีพิมพ์แม้แต่เรื่องเดียว ในปีถัดมา 2559 มี 3 เรื่อง ปี 2560 มี 17 เรื่อง และในปัจจุบันพบว่ามีจำนวน 10% ของผลงานที่ส่งมาที่พิมพ์ทั้งหมดเลยทีเดียว จนทำให้ RSNA ออกวารสารทางวิชาการขึ้นใหม่อีกฉบับเรียกว่า Radiology: Artificial Intelligence เมื่อต้นปี 2562 นี้เอง นับว่าวงการรังสีทางการแพทย์ให้ความสำคัญใน AI อย่างมาก
หากเราจะลองค้นหางานวิจัยใน PubMed โดยใช้คำสำคัญว่า "Artificial Intelligence Radiology" ณ.วันนี้ มีผลงานวิจัยอยู่ในฐานข้อมูลมากกว่า 6,000 เรื่อง ให้เราได้ศึกษาติดตามอย่างจุใจกันเลยทีเดียว

มาทำความรู้จัก AI
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้ตามปกติที่ต้องใช้ความฉลาดของมนุษย์ใส่เข้าไป เช่น การรับรู้ภาพ การรู้/จำเสียง การตัดสินใจ และการแปลภาษา เป็นต้น
อีกวิธีง่ายๆในการบอกว่า AI เป็นอย่างไรก็คือ AI เป็นความสามารถของโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเครื่องที่จะคิดและ “ฉลาด” มันจะทำงานด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเข้ารหัสด้วยคำสั่ง AI ประกอบด้วยสององค์ประกอบ คือ การเรียนรู้ของเครื่อง (ML: Machine Learning) และการเรียนรู้ด้วยสมองเหมือนโครงข่ายประสาทของมนุษย์ (CNN: Convolutional Neural Networks) ในทางรังสีวิทยา AI มักอ้างถึงส่วนนี้ เป็นส่วนประกอบขั้นสูงของการเรียนรู้แบบลึกซึ้ง (deep learning)
มีเทคโนโลยีหลายประเภทที่สนับสนุนเชื่อมโยงกับ AI เช่น หน่วยประมวลผลกราฟิก (graphics processing units) อัลกอริธึมขั้นสูง (advanced algorithms) อินเตอร์เฟสการประมวลผลแอปพลิเคชัน (application processing interfaces) และ Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สามารถรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูล
อัลกอริทึมของ AI เป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับเราๆที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้ใน deep learning ขณะนี้มีสิ่งที่น่าทึ่งในวิธีการจดจำรูปภาพ (image recognition) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการของ AI จะจำแนกรูปแบบที่ซับซ้อนในข้อมูลภาพโดยอัตโนมัติ และทำการประเมินเชิงปริมาณของลักษณะภาพ สำหรับส่วนนี้ deep learning ของเครือข่าย CNN นั้นทำงานในลักษณะเดียวกับสมองมนุษย์อัจฉริยะ และเลียนแบบการทำงานของเครือข่ายประสาทของมนุษย์ มันจำเป็นต้องอาศัยภาพซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป และเลเยอร์ที่ซ่อนอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น (แม้ว่ามักจะมีหลายเลเยอร์) ของแถวประสาท ซึ่งเป็นหน่วยคล้ายเซลล์ประสาท และแต่ละหน่วยจะโต้ตอบกับหน่วยใกล้เคียง ในชั้นสุดท้ายของแถวประสาทประกอบด้วยชั้นผลลัพธ์ ในการดำเนินการนี้มีโปรแกรมที่ใช้บ่อยที่สุดใน AI คือ Python และ R
AI จะทำงานได้ดีต้องมีการเรียนรู้ก่อนเรียกว่า Machine learning ใช้เครือข่ายประสาท (neural networks) ตามที่กล่าวมาแล้ว ที่จะกล่าวเพิ่มเติมคือ ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเครื่อง คือ การเรียนรู้อย่างลึกล้ำซึ่งเป็นเทคนิคที่ข้อมูลถูกกรองผ่านเครือข่ายนิวรัลที่ปรับได้เองขนาดใหญ่พร้อมชั้นของหน่วยการประมวลผลที่ใช้ในการเรียนรู้รูปแบบที่ซับซ้อน การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งสามารถควบคุมหรือไม่ควบคุมก็ได้
ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของ Yasaka และคณะ ตีพิมพ์ในปี 2561 ได้ทำการศึกษาโดยใช้ CNN เพื่อจำแนกลักษณะของโรคตับห้าประเภทโดยใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบไดนามิก [dynamic computed tomography scan] ผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้ยืนยันว่า การวิเคราะห์ของ CNN แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการวินิจฉัยที่สูงในการบอกความแตกต่างของ masses ในตับของภาพซีทีชนิดนี้
อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นงานวิจัยของ Kuo และคณะ จากมหาวิทยาลัย UC San Francisco และ UC Berkeley สหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2562 ได้พัฒนา CNN แบบใหม่ที่ชื่อว่า PatchFCN เพื่อวินิจฉัยภาวะฉุกเฉินทางระบบประสาทจากภาพซีทีของสมองและตรวจหาภาวะเลือดออกในสมองเฉียบพลัน ปรากฏว่าสามารถระบุความผิดปกติที่มีความแม่นยำที่เทียบเท่ารังสีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี

ต้องกลัว AI หรือไม่?
จากตัวอย่างงานวิจัยที่ยกมาข้างต้น ซึ่งในความเป็นจริงมีงานวิจัยมากมายที่เปิดเผยออกมา คำถามคือ "AI จะมีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์หรือไม่ น่ากลัวไหม หรือจะมีการใช้ AI ในด้านรังสีวิทยาอย่างไรในอนาคต"
มีผลการสำรวจล่าสุดของผู้เชี่ยวชาญ AI ที่ดำเนินการโดย Grace และคณะ สรุปได้ว่า ในทศวรรษหน้า AI จะมีประสิทธิภาพในงานที่ซับซ้อนสูงกว่ามนุษย์ในหลายเรื่อง เช่น การแปลภาษาจะเกิดเป็นจริงจังภายในปี 2567  การขับรถบรรทุกโดย AI ภายในปี 2570 และการทำงานเป็นศัลยแพทย์ ภายในปี 2596 ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการสำรวจเชื่อว่ามีโอกาส 50% ที่ AI จะมีทักษะเหนือกว่าทักษะของมนุษย์ในอีก 45 ปี น่ากลัวไหม!!
ทีนี้ลองมาดูอีกตัวอย่างล่าสุดเลย ในประเทศจีน ยักษ์ใหญ่แห่งเอเซียของเรา โดยบริษัท iFlytek ได้สร้าง Xiaoyi ขึ้นมาซึ่งเป็นหุ่นยนต์แพทย์ AI-poweredrobot เป็นหุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อต้นปี 2561 หุ่นยนต์ตัวนี้ได้ทำการสอบใบอนุญาตทางการแพทย์ระดับประเทศของจีนและก็สอบผ่านซะด้วย จึงทำให้มันเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่สามารถทำเช่นนั้นได้ มันไม่เพียงแต่ผ่านการสอบเท่านั้น แต่ยังได้คะแนน 456 คะแนนซึ่งสูงกว่าคะแนนที่กำหนด 96 คะแนนด้วย น่ากลัวไหม!!
เดือนกันยายน 2562 FDA ของสหรัฐอเมริกาให้การรับรองเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยที่มี AI เรียบร้อยแล้วเครื่องเอกซเรย์เครื่องนี้ผลิตโดยบริษัท GE Healthcare และใช้ แพลตฟอร์ม AI ของ GE’s Edison ซึ่งพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย UC San Francisco อัลกอริทึมของมันจะสแกนข้อมูลการถ่ายภาพเอกซเรย์ในทันทีเพื่อแจ้งเตือนให้รังสีแพทย์ทราบถึงอาการปอดที่อาจผิดปกติ ทำให้ลดเวลาเฉลี่ยที่จำเป็นสำหรับแพทย์ในการตรวจสอบ pneumothorax ที่น่าสงสัยจากที่เคยใช้เวลานานเกือบแปดชั่วโมงไปเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น เรื่องแบบนี้เราน่าจะดีใจหรือกังวล
AI จะเป็นมิตรหรือศัตรูต่อ แพทย์ รังสีแพทย์ หรือแม้แต่นักรังสีเทคนิคกันแน่ มันก็ยากที่จะทำนาย ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่า กรณีของหุ่นยนต์แพทย์นั้นน่าจะเป็นผู้ช่วยแพทย์ที่ทำให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น หรือแม้แต่มีความแม่นยำขึ้นด้วย ไม่น่ากลัวว่ามันจะมาแทนที่คน เรื่องที่ AI อ่านผลจากภาพเอกซเรย์ก็เป็นเรื่องที่ช่วยให้รังสีแพทย์ทำงานได้รวดเร็วขึ้น
แต่ก็มีบางคนมีการคาดการณ์ร้ายๆเกี่ยวกับ AI โดยมองว่า เราไม่ควรประเมิน AI ต่ำ มนุษย์อาจถูกแทนที่ด้วย AI อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่แท้จริงของการนำ AI ไปใช้ทางการแพทย์นั้นยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ดี เพราะว่า ขณะนี้ ส่วนใหญ่มันยังเป็นเพียงหัวข้อการวิจัยเท่านั้น กล่าวคือ สำหรับในประเทศตะวันตกที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากแล้ว ยังไม่มีการใช้ AI ใดๆเพื่อให้คนได้ฝึกฝนทางรังสีวิทยา แต่ก็มีข้อมูลว่า บริษัทผู้ค้าเทคโนโลยี AI ที่มีชื่อเสียงและมีขนาดใหญ่ มีการขออนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มี AI ขับเคลื่อน ซึ่งปรากฏว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ มีแนวโน้มว่า AI จะร่วมกับการถ่ายภาพเอกซเรย์ในการปฏิบัติงานประจำวัน สิ่งนี้อาจสร้างความหวาดระแวง AI หรือความกลัว AI ขึ้นมา

จินตนาการที่ขัดแย้งกับความจริง
ส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับผู้สันทัดกรณีบอกว่า จินตนาการเกี่ยวกับ AI เช่น ในภาพยนต์กับความเป็นจริงอาจไม่ตรงกันนัก เช่น
     AI จะนำไปสู่การทำลายล้างเผ่าพันธ์มนุษย์หรือการทำให้เป็นทาสของหุ่นยนต์ที่เหนือกว่า เช่น The Terminator เป็นต้น Stephen Hawking นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังบอกว่า มันไม่น่าเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ “ AI ไม่แตกต่างจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ช่วยให้มนุษย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นและกระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้น หุ่นยนต์ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือตัดสินใจได้จนกว่าจะได้รับการออกแบบให้ทำเช่นนั้น หุ่นยนต์จะไม่มีขีดความสามารถในการรับรู้ตนเองอารมณ์และการใช้เหตุผลในแบบของความเป็นมนุษย์
     AI จะเข้ามาแทนที่งานทั้งหมด แม้ว่า AI จะมีศักยภาพในการปรับปรุงงานและกระทบต่อตลาดแรงงานบางอาชีพ แต่ไม่ทุกอาชีพ ตรงกันข้าม กลับจะมีแนวโน้มที่ความต้องการจ้างงานเกิดมีวิวัฒนาการมากกว่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ บางงานจะถูกแทนที่ แต่จะมีการสร้างงานเพิ่มเติมที่ต้องใช้ชุดทักษะที่แตกต่างกันเล็กน้อย เราควรเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้อยู่รอดได้ในขณะที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบพลิกผัน
     AI มีสติปัญญาและความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ จริงอยู่ ในบางเรื่องคอมพิวเตอร์และ AI มีประสิทธิภาพเหนือกว่ามนุษย์อยู่แล้ว เช่น การคำนวณอย่างรวดเร็ว การทำซ้ำๆมากๆ หรือการจดจำความสัมพันธ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะเหนือกว่าคอมพิวเตอร์และ AI ในด้านความฉลาดทางอารมณ์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การแก้ปัญหาที่ท้าทายใหม่ๆ และการพัฒนาทฤษฎี
     ถ้าเราติดตามอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่า AI น่าจะถูกพัฒนาได้รวดเร็วหากไม่มีความกลัวหรือหวาดระแวงเข้ามาเป็นแรงเสียดทาน และจะนำไปสู่การพลิกโฉมในด้านการดูแลสุขภาพขนานใหญ่ ที่ยังต้องมีการทำงานร่วมกันกับมนุษย์ ความกลัว AI ที่พูดถึงนี้ไม่ใช่เรื่องที่พูดเล่นๆ ดูจากการประชุมทางวิชาการในปี 2018 ของสมาคมรังสีวิทยาแห่งอเมริกาเหนือ (RSNA)ที่ McCormick Place ซิคาโก อเมริกา Dr.Vijay M Rao(ดร.วิเจย์เอ็มราว)ประธาน RSNA ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวรังสีวิทยาทั่วโลกต่อสู้กับความกลัว AI โดยในถ้อยแถลงของเธอ ได้ชี้ให้เห็นว่า AI จะส่งเสริมและเสริมสร้างรังสีวิทยาอย่างไร 

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
     การพัฒนาหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ เช่นหุ่นยนต์ที่จีนเริ่มพัฒนาขึ้น Xiaoyi ที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์ ตามที่กล่าวไปแล้ว
     การสร้างหุ่นยนต์ในรูปแแบบอื่นๆที่มีแขนกลเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และมีน้ำหนักการสัมผัสเหมือนมนุษย์ ได้เริ่มนำออกมาโชว์กันแล้ว เช่น KUKA Medical robotics ผู้ผลิต Haptic Ultrasound With a Robot คือมันสามารถทำอัลตราซาวด์ได้โดยการควบคุมจากระยะไกลโดยแพทย์หรือนักรังสีเทคนิค ต่อไปมันจะฉลาดจนทำของมันเองได้ไหม
     ในการประชุมวิชาการ ECR 2018 ที่เวียนนา บริษัท Siemens เปิดตัวกล้อง 3D บวกกับความสามารถของ AI เพื่อช่วยให้นักรังสีเทคนิคสามารถจัดท่าผู้ป่วยในการทำสแกนด้วย CT หรือ MRI ได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ใช้ค่าเทคนิคได้เหมาะสม และลดการทำซ้ำซึ่งหมายถึงลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับนั่นเอง
     ฯลฯ
     และต่อไปจะมีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่แทนนักรังสีเทคนิคหรือไม่ เราจะตกงานกันไหม ในทัศนะของผู้เขียน ไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้นตราบใดที่เรายังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ตลอดชีวิตของเรา และรู้ทันการเปลี่ยนแปลง "เราคือผู้ควบคุม AI" 


วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562

Blockchain มาแน่หรือไม่?

Blockchain มาแน่หรือไม่? 
AI, IoT มาแน่นหรือไม่??
กระทบชาวเราไหม?

เป็นคำถามที่ชาวเราบางคนอาจยังงงๆ ว่าถามทำไม

หลายคนคงพอทราบดีว่า แนวโน้มการเติบโตของการบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล (personalized medicine) นั้นขยับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตอนนี้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ด้านสุขภาพแบบที่ทำกันอยู่มีข้อจำกัดที่ทำให้การพัฒนาไม่ค่อยจะมีความก้าวหน้ามากนัก เพราะติดขัดเรื่องค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการบริหารจัดการสูง รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลยากมากและไม่เป็นสากล ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่นั้น โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลแป็นผู้จัดเก็บและใช้งานเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นยาก

ชาวเราทราบไหมว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่นำ Blockchain มาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์

สำหรับตอนนี้ เมื่อเกิดคำถามกับผู้ที่อยู่หากไกลจากวงการว่า "เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร??" เราจะนึกถึงอะไร

แรกเริ่มเดิมที Blockchain ดูจะห่างไกลจากงานบริการทางการแพทย์ เพราะมันถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในตลาดการเงิน โดยที่ Blockchain ทำหน้าที่เป็นผู้กระจายอำนาจในการทำธุรกรรม 
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยมองเห็นว่า มีลักษณะเฉพาะบางอย่างของเทคโนโลยีนี้ ที่น่าจะเหมาะสำหรับใช้ในการดูแลสุขภาพของผู้คนได้ด้วย มีการคิดถึง Blockchain ที่เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีศักยภาพในทางการแพทย์ เช่น การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ การจัดเก็บข้อมูลและความปลอดภัย กลไกการชำระเงินตามมูลค่า ประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานทางการแพทย์ และอื่น ๆ 

แต่ว่า Blockchain ยังเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงตั้งไข่ ฉะนั้นแล้ว ชาวเราน่าจะหาเวลาศึกษาทำความเข้าใจแนวคิด/หลักการพื้นฐานของ blockchain และที่สำคัญคือ เฝ้าติดตาม update ตัวเองเสมอๆ ให้รู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอนาคตของการดูแลผู้รับบริการทางการแพทย์ มันมาแน่ครับ

Related Links:
รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

QC เอกซเรย์จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล


ปฐมบท QC เอกซเรย์ในไทย

ประมาณปี 2535 หากถามว่า "ถ้าจะ QC กระบวนการสร้างภาพเอกซเรย์จะทำอย่างไร" คำตอบคือ "สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานใดให้คำตอบได้" พูดง่ายๆคือ ไม่รู้จะทำอย่างไร 

ทีมงานอาจารย์จากภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล ในตอนน้้นจึงให้ความสนใจเรื่องนี้ และได้เริ่มค้นคว้าข้อมูลและทำการวิจัยให้เกิดองค์ความรู้และสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ทำการควบคุมคุณภาพของการสร้างภาพเอกซเรย์ ซึ่งเป็นระบบใช้ฟิล์มและสกรีนร่วมกัน ตัวอย่างงานวิจัยและหนังสือที่เขียนในยุคนั้น

    งานวิจัย:
     (1) Mongkolsuk M, Suriyachaiyakorn C, Dhanarun M, Wongse-ek C. Checking diagnostic x-ray machine quality of state hospitals Bangkok Metropolitant. Thai J Radiological Tech 1995;20(3):81-92.
     (2) Suriyachaiyakorn C, Wongse-ek C, Mongkolsuk M, Dhanarun M,.A custom built grid alignment test tool. Thai J Radiological Tech 1996;21(2):39-42.
     (3) Dhanarun M, Suriyachaiyakorn C, Wongse-ek C. Mongkolsuk M. A Custom-built Collimator and beam alignment test tools.Thai J Radiological Tech 1997;22(2):31-38
     (4) Wongse-ek C, Dhanarun M, Suriyachaiyakorn C, Mongkolsuk M, Sricome P, Suibjuntara J. Evaluation of radiographic film viewing box luminance and uniformity of brightness.Thai J Radiological Tech 1997;22(3):55-60.
     หนังสือ: 
     จิตต์ชัย สุริยะไชยากรมานัส มงคลสุขมาลินี ธนารุณ,ชวลิต วงษ์เอก.การควบคุมคุณภาพของภาพเอกซเรย์. กรุงเทพฯบริษัท พี.เอ.ลิฟวิ่งจำกัด; 2538 

ทีมงานอาจารย์รังสีมหิดล ค้นคว้าจนได้องค์ความรู้ และจัดสร้างเครื่องมือ ได้แก่ spinning top, collimator and beam alignment test tool, Al step wedge, grid alignment test tool, film-screen contact test tool เป็นต้น  กล่าวคือ สามารถทำการ QC การจัดตัวของลำเอกซเรย์ การจัดตัวของกริด การตรวจความคงตัวของ mA การตรวจความแนบชิดของฟิล์มและสกรีน กระบวนการล้างฟิล์ม ฯลฯ จน พ.ศ 2538 นำไปสู่การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในปี 2538 เป็นครั้งแรกของประเทศไทยเรื่อง "การควบคุมคุณภาพของการถ่ายภาพเอกซเรย์ รุ่นที่ 1" ที่เก็บค่าลงทะเบียน 6,500 บาท ซึ่งแพงมากในตอนนั้น เนื่องจากเราแจกเครื่องมือให้ผู้เข้าอบรมเพื่อนำกลับไปทำ QC ได้เลย มีนักรังสีเทคนิคทั่วประเทศ รังสีแทย์ และวิศวกร เข้าร่วมอบรมในรุ่นแรก จากนั้นได้มีการจัดอบรมมาอย่างต่อเนื่องรวม 12 รุ่น มีผู้เข้าอบรมรวมทั้งสิ้นประมาณ 500 คน กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ในภาพรวมแล้ว เป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางรังสีเทคนิค และยังนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรรังสีเทนิคทั่วประเทศ ที่มีการบรรจุเรื่องการควบคุมคุณภาพของภาพเอกซเรย์ให้เข้มข้นขึ้น
ผู้สำเร็จการอบรม การควบคุมคุณภาพของการถ่ายภาพเอกซเรย์รุ่นที่ 1 เมื่อ 29 มิถุนายน 2538
คลื่นดิจิทัลมาแรง แอนะล็อกเดี้ยง

อย่างไรก็ตาม ประมาณปี 2527 เค้าลางของดิจิทัลในการถ่ายภาพเอกซเรย์เริ่มขึ้นเมื่อมีรายงานการวิจัยของนักวิจัยญี่ปุ่นเรื่อง Computed radiography utilizingscanning laser stimulated luminescence คือการใช้ CR ที่เรารู้จักกันดี ในตอนนั้นเครื่อง CR ใหญ่เทอะทะมากและราคาแพง จนกระทั่งเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทั้ง CR และ DR จึงเป็นคลื่นที่โถมเข้าใส่นักรังสีเทคนิครุ่นแอนะล็อกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิด disruption ขึ้น สำหรับในประเทศไทยใช้ระบบดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่แล้ว 

วิกฤติคือโอกาส

ในขณะที่มีแนวโน้มคลื่นดิจิทัลจะถาโถมเข้าหาการถ่ายภาพเอกซเรย์ แต่ QC ของกระบวนการถ่ายภาพเอกซเรย์ก็ต้องดำเนินการต่อไป ดังนั้น ผมจึงเตั้งคำถามขึ้นในตอนนั้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วว่า 

"การทำ QC ของกระบวนการถ่ายภาพเอกซเรย์ที่ต้องใช้ฟิล์มเอกซเรย์เพื่อทำการตรวจสอบสามารถใช้ CR หรือ DR มาทดแทนได้หรือไม่?" 

โดยไม่รีรอ เรื่องนี้ผมจึงกำหนดให้เป็นหัวข้อวิจัยทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยพิจารณาหลายมิติ เช่น ที่กล่าวแล้วว่า CR หรือ DR ใช้แทนฟลิ์มเอกซเรย์ได้หรือไม่ ในแง่ของเศรษฐศาตร์จะเป็นอย่างไร และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นเช่นไร ตัวอย่างบทความวิจัยที่เป็นผลงานของคนไทยได้แก่

บทความวิจัยที่ใช้ CR เพื่อการตรวจสอบลำเอกซเรย์ ตีพิมพ์ในวารสารรังสีเทคนิคเมื่อพ.ศ. 2550
บทความวิจัยที่มีมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ตีพิมพ์ใน จพสท เมื่อพ.ศ. 2552 

บทความวิจัยล่าสุด ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Applied Clinical Medical Physics (JACMP) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562

ในรายงานวิจัยล่าสุดนี้ เป็นการนำเสนอผลเปรียบเทียบระหว่างการใช้ฟิล์มเอกซเรย์และ CR เพื่อตรวจสอบลำเอกซเรย์ ขนาดของโฟคอลสปอต และความคงตัวของ mA ซึงสรุปว่าใช้ CR แทนฟิล์มเอกซเรย์ได้

ก้าวเดินต่อไปคืออะไร

การทำ QC กระบวนการถ่ายภาพเอกซเรย์ยังคงดำเนินต่อไปในบริบทของนักรังสีเทคนิคที่กำหนดในสมรรถนะของวิชาชีพ เมื่อก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลก็จะมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างสนุกอีกมากมาย รายงานผลงานวิจัยที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงองค์ความรู้เชิงลึก ตั้งแต่ยุคการใช้ฟิล์มมาสู่การใช้ดิจิทัล ที่อ่านแล้วอาจงงๆไม่ค่อยสนุก แนวคิดที่พยายามจะใช้ดิจิทัลที่เราต้องใช้งานในการถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นประจำทุกวันอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ซึ่งต้องสังเคราะห์ให้เหมาะสมกับในทางปฏิบัติงานที่ทำเป็นประจำ เป็นการเพิ่มคุณค่าให้ชาวเรา ชาวรังสีเทคนิค ในอีกส่วนหนึ่งเล็กๆ



วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2562

สภารังสีเทคนิคเพื่อประชาชน

😍สวัสดีครับชาวเรา😉 

วันนี้เป็นวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ของไทยที่บรรยากาศชุ่มฉ่ำทั้งประเทศ ขอส่งความสุขและความปรารถนาดีมายังชาวเราทุกคน 

วันดีๆอย่างนี้ผมจึงขอถือโอกาสนี้ เล่าเรื่องดีๆให้ชาวเราได้รับรู้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมการจัดทำสภารังสีเทคนิคจากประสบการณ์ตรงที่สัมผัสได้ถึงความพยายามของชาวเราจำนวนหนึ่งมาอย่างยาวนาน ด้วยความอดทน มุ่งมั่น สุขุมและรอบครอบ ซึ่งขณะที่เขียนเล่าเรื่องนี้ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยให้เกียรติแต่งตั้งผม (ผู้เขียน) เป็นกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิค จะพยายามเล่าให้ได้ความมากที่สุด ในส่วนของความเห็นที่ปรากฏในการเล่าเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองครับ มิใช่ข้อสรุปหรือมติของคณะกรรมการยกร่างฯ  

🔻ปฐมบทเดินหน้าสู่สภารังสีเทคนิค

ความคิดเรื่องสภารังสีเทคนิคเริ่มมานานแล้ว เมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว เริ่มพร้อมๆกับที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยและพี่ๆนักรังสีเทคนิคหลายคน ช่วยกันจัดทำรายละเอียดเสนอกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอกำหนดให้วิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ และประสบความสำเร็จ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 (ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกานี้ถูกยกเลิก แต่ใจความสำคัญได้ยกไปไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556)  
คณะกรรมการวิชาชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ตั้งแต่ 2549)

เรื่องของสภามีความชัดเจนขึ้น เมื่อมีการคุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของ 5 สมาคมรังสีฯเมื่อ 13 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2549 ที่โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยมอบหมายให้ผม (ที่ปรึกษาสมาคม)ชวน 5 สมาคมรังสีฯคุยกันเรื่องอนาคตของรังสีเทคนิคไทยในมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพ ท่ามกลางชาวเราที่ร่วมรับฟังไม่ต่ำกว่า 150 คน รวมทั้งมีอาจารย์รังสีเทคนิคและนักรังสีเทคนิคต่างชาติจำนวนหนึ่งร่วมสังเกตุการณ์และรับฟังด้วย ในวงเสวนาวันนั้นเริ่มมีการพูดกันถึง "สภาวิชาชีพ" 


มีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งเมตตาผม comment ลงใน blog GotoKnow ที่ผมเขียนเกี่ยวกับการเดินหน้าสู่สภาวิชาชีพไว้นานหลายปีแล้วว่า "การก้าวขึ้นเป็นระดับสภา ดีครับ เพราะองค์ประกอบชัด กิจกรรมชัดและทำประโยชน์ได้ชัด มีพลัง"

ถัดจากนั้น การพูดคุยเสวนาเรื่องสภาวิชาชีพ เป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกกำหนดให้มีการอภิปรายในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมต่างๆเป็นครั้งคราว ในส่วนของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (สรท.) ซึ่งผมเป็นที่ปรึกษา ก็ได้มีโอกาสรับรู้ความเคลื่อนไหวของสมาคมฯอย่างสม่ำเสมอ ได้เห็นความตั้งใจของนายกสมาคมฯ คณะกรรมการอำนวยการ และพี่น้องนักรังสีเทคนิค ในการเดินหน้าจัดตั้งสภารังสีเทคนิค โดยมีชาวเราร่วมพลัง ร่วมใจเดินหน้าไปด้วยกัน 

ช่วง 4-5 ปีมานี้ ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (สรท.) มีการชวนสมาคมรังสีฯต่างๆมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น และ update ความคืบหน้าของการเดินหน้าสู่สภาแทบจะทุกครั้งของการประชุม ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันที่ดีขึ้นตามลำดับอย่างเห็นได้ชัด ว่าเราจะเดินหน้าไปสู่สภาเพื่ออะไร และจะเดินอย่างไร ซึ่งมีรายละเอียดที่ผมเคยเขียนเล่าเรื่อง "สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคเพื่อใคร" ไว้นานแล้ว  

ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น หากชาวเราปราศจากซึ่งความรักในวิชาชีพ ความมุ่งมั่นและความอดทน ปราศจากซึ่งความร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวแล้วไซร้ ก็ไม่น่าจะเดินมาถึงจุดที่วิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ และชาวเราได้เดินมาถึงจุดที่กำลังจะก้าวต่อไปสู่สภาวิชาชีพ จุดที่จะเล่าให้ฟังต่อไป

🔻เส้นทางสู่สภาเริ่มชัดเจน



สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (สรท.) ไม่ลดละความพยายามในการก้าวเดินสู่สภาฯ ได้เชิญชวนพี่น้องชาวเราจากสมาคมรังสีฯต่างๆมาร่วมปรึกษาหารือในการขับเคลื่อนสู่สภารังสีเทคนิคในหลายๆโอกาสเพื่อให้ "รังสีเทคนิคไทย รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เหลียวแลชาวประชา" อย่างจริงจัง

เมื่อความคิดเริ่มตกผลึก ประกอบกับความร่วมไม้ร่วมมือของชาวเรา ในเดือนสิงหาคม 2561 สรท.จึงได้จัดทำ "โครงการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งสภารังสีเทคนิค" (ขั้นตอน 1 , ดูรูปกระบวนการจัดทำสภารังสีเทคนิคประกอบ) เสนอมายังสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (ขั้นตอน 2) ซึ่งสำนักฯได้ส่งเรื่องให้ ก.ช. หรือคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ขั้นตอน 3)พิจารณา ก.ช.ได้พิจารณาแล้วและส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ (ขั้นตอน 4)และในการประชุมคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะเมื่อเดือนกันยายน 2561 ก็มีมติรับทราบ โดยทางกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีความเห็นให้ สรท. จัดทำร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิค เสนอมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้กองกฎหมายพิจารณา ถึงตอนนั้นอาจมีการให้ข้อคิดเห็นหรือปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม จากนั้นจึงจะดำเนินการให้พร้อมเพื่อเสนอไปยังสภานิติบัญญัติต่อไป ความนี้ได้แจ้งให้ สรท.รับทราบ (ขั้นตอน 5)เพื่อให้ สรท.ดำเนินการต่อไป

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2561 สรท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิคขึ้น (ขั้นตอน 6) มีนายสละ อุบลฉาย เป็นประธานกรรมการ มีรองประธาน 2 คนคือ ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ และนางสาวอำไพ อุไรเวโรจนากร มีกรรมการที่ปรึกษา 2 คนคือ นายภัทระ แจ้งศิริเจริญ (นักกฎหมาย) และรศ.มานัส มงคลสุข มีนางทิพวัลย์ หงษ์พงษ์ เป็นเลขานุการ และมีชาวเราจากภาคส่วนต่างๆร่วมเป็นกรรมการด้วยอีก 12 คน 

งบประมาณในการจัดการประชุมคณะกรรมการยกร่างฯ สรท.เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เช่น ค่าเดินทาง เบี้ยประชุม อาหาร สถานที่ ฯลฯ 

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน 6 เป็นขั้นตอนจัดทำร่างพรบ.ฯ โดยคณะกรรมการยกร่างฯ ที่ สรท.แต่งตั้ง ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการยกร่างฯ คือ จัดทำหลักการเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งสภารังสีเทคนิค และจัดทำร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิค 

คณะกรรมการยกร่างฯ ได้มีการประชุมครั้งแรกเริ่มเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ประชุมแล้ว 3 ครั้ง ทั้งสามครั้งจัดประชุมที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ซึ่งคาดว่าอาจต้องประชุมกันอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง จึงจะได้ร่างพรบ.ฯที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะจัดส่งให้ สรท. (ขั้นตอน 7) 

เมื่อ สรท.รับรองร่างพรบ.ฯแล้ว จะได้จัดส่งต่อไปยัง ก.ช. (ขั้นตอน 8) และคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ (ขั้นตอน 9) จากนั้น กองกฏหมาย (ขั้นตอน 10) จะพิจารณาอย่างละเอียด อาจมีการปรับแก้ถ้อยคำหรือเนื้อหาให้เหมาะสม ซึ่งในขั้นตอนนี้ (9-10-และต่อๆไป) เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ จนสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ หากรับรองทั้ง 3 วาระ ก็สามารถประกาศใช้ได้ 
การประชุมคณะกรรมการยกร่าง พรบ.วิชาชีพรังสีเทคนิค ครั้งที่ 1 (15 มกราคม 2562)
โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพ
ครั้งที่ 2 (26 กุมภาพันธ์ 2562) โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพ
ครั้งที่ 3 (10 เมษายน 2562) โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพ
🔻ทำไมต้องเป็นสภาวิชาชีพรังสีเทคนิค

หากมองเข้ามาที่ชุมชนของชาวเรา ชาวรังสีเทคนิคได้อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่า เป็นภารหน้าที่ที่รัฐต้องดูแลคุ้มครองประชาชนให้ได้รับการบริการด้านรังสีที่ดี ที่เหมาะสม มีมาตรฐาน ก็เปรียบเหมือนพ่อแม่ดูแลลูก (รังสีเทคนิค) ที่คอยประคบประหงม ให้เงิน ให้สถานที่ ให้ทุกๆอย่างที่เป็นความจำเป็นของลูก ในขณะที่ลูกยังไม่สามารถช่วยเหลือเลี้ยงดูตัวเองได้ เพื่อให้ลูก (รังสีเทคนิค) แข็งแรงพอที่จะสามารถดูแลประชาชนได้อย่างดี  

เชื่อว่าชาวเราหลายคน เมื่อรู้ว่ามีความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งสภาวิชาชีพรังสีเทคนิค ก็มีข้อสงสัย อยากรู้ว่าทำไมต้องเปลี่ยนเป็นสภาฯ อยู่เป็นคณะกรรมการวิชาชีพในการดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขก็สบายดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำไม?

โดยความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าในการเปลี่ยนผ่านจากคณะกรรมการวิชาชีพไปเป็นสภาฯ มีหลายมิติที่จำเป็นต้องพิจารณา มีทั้งข้อดี ข้อเสีย และความจำเป็น

            ➽ความจำเป็น/ข้อดี :

     1)ประชากรรังสีเทคนิคที่มีใบประกอบโรคศิลปะ เวลานี้ชุมชนรังสีเทคนิคเติบใหญ่จนมีสมาชิกเกือบ 5,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค มีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะทุกสาขารวมกัน เราน่าจะเป็นลูกที่โตและสามารถดูแลตัวเองได้แล้วหรือยัง? เราสามารถออกจากอ้อมอกของกระทรวงสาธารณสุขได้แล้วหรือยัง? มันถึงเวลาและมันเป็นความจำเป็นใช่หรือไม่?
     2)การพัฒนานักรังสีเทคนิคและ career path ชุมชนรังสีเทคนิคเติบโตกว่า 50 ปี มีความเจริญ มั่นคง ก้าวหน้ามาตามลำดับ สิบกว่าปีที่ผ่านมา มีลูกศิษย์หลายคนมาปรับทุกข์ว่า "อาจารย์ครับ (คะ) ให้เรียนรังสีเทคนิคตั้ง 4 ปี แล้วมาทำงานอยู่โรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ไม่เห็นมีอะไรมาก ไม่สนุกเลย" นั่นคือเสียงบ่นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มาตอนนี้เสียงบ่นแบบนี้เงียบไป แต่ผมก็ยังคิดว่า เราต้องมองอนาคตให้ชัดเจน "รังสีเทคนิคไทยจะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า" เพื่อที่ชาวเราจะสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง ปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ จะได้ไม่ตกอยู่ในสภาพที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปตามการบีบคั้นของกระแสการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้และเทคโนโลยีที่รวดเร็วและรุนแรง (disruption)

ในความเป็นอาจารย์ รู้สึกสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของชาวเราเหล่านั้น และห่วงใยในเส้นทางวิชาชีพของชาวเรา มันควรจะมีบันไดวิชาชีพรังสีเทคนิคให้ชาวเราได้ก้าวขึ้นไปเรื่อยๆอย่างมีความสุข ที่ไม่ใช่เป็นการเรียนในระดับปริญญาโทหรือเอกที่เน้นการวิจัยเพียงเส้นทางเดียว ควรมีทางเลือกอื่นด้วย 

สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้มากๆคือ หลังจากชาวเราจบปริญญาตรีรังสีเทคนิคและทำงานแล้วระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรมีเส้นทางที่ขยับก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นนักรังสีเทคนิคเฉพาะทาง (ขั้นสูง) เช่น CT, MRI, US ฯลฯ ในรูปของวุฒิบัตรเฉพาะทางที่ใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 12 เดือน โดยได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ เพื่อเพิ่มโพรไฟล์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับตัวเองและหน่วยงาน ถามว่า คณะกรรมการวิชาชีพทำเรื่องนี้ได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ แต่ทำได้ยาก ถ้าเป็นสภาวิชาชีพจะสามารถทำวุฒิบัตรเฉพาะทางได้ง่ายกว่า เรื่องนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ของวิชาชีพอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ชาวเรามีเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพจริงๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น และมีความสุข นี่เป็นข้อดีหรือไม่?

     3)อิสระและความคล่องตัว เมื่อเป็นสภาวิชาชีพแล้ว การออกข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและชาวเรา ให้ทันการทันเวลา สามารถทำได้อิสระ รวดเร็ว ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอนที่ทำให้เกิดความล้าช้าแบบที่ดำเนินการโดย ก.ช. สภาวิชาชีพจะเรียกประชุมกี่ครั้งทำได้ง่าย แล้วพิจารณาออกข้อบังคับเสนอรัฐมนตรีฯ เมื่อรัฐมนตรีเห็นชอบก็บังคับใช้ได้เลย นี่เป็นข้อดีหรือไม่

     ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสมาชิก เช่นขณะนี้ ใบประกอบโรคศิลปะของชาวเรากฎหมายกำหนดให้มีอายุ 5 ปี เมื่อครบกำหนดก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการต่ออายุ ค่าใช้จ่ายนี้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรัฐเป็นผู้กำหนด ก.ช.ไม่สามารถกำหนดได้ แต่หากเป็นสภาวิชาชีพ เราสามารถกำหนดเองได้เลย จะเอาแบบไหน มากน้อยก็ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรฐกิจในตอนนั้น นี่เป็นข้อดีหรือไม่

     4)ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่กล่าวย่อๆมาทั้ง 3 ข้อนั้น ดูเหมือนจะเน้นที่ว่า ชาวเราจะได้รับผลดีหรือประโยชน์อะไรบ้าง (self focus) แล้วผู้ป่วยหรือประชาชนจะได้อะไร หัวใจของมันก็ควรอยู่ตรงนี้เป็นสำคัญ อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ เมื่อเป็นสภาฯ สภาฯก็ต้องรับภาระนี้มาดูแลคุ้มครองประชาชนตามบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพรังสีเทคนิค (patient focus) และตัวอย่างความจำเป็น/ข้อดีที่กล่าวมาทั้งสามข้อ จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาชาวเราให้มีองค์ความรู้และก้าวหน้าในวิชาชีพ ส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ให้สมกับความมุ่งหมายที่ว่า "สภารังสีเทคนิคเพื่อประชาชน" นี่เป็นข้อดีหรือไม่

     ➽ข้อเสีย:

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้มีด้านเดียว เมื่อมีความจำเป็น มีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสียเป็นธรรมดา ข้อเสียที่ว่า อาจไม่เสียจริง เป็นความกังวลของชาวเราที่คุ้นชินกับสิ่งเดิมๆ กับคณะกรรมการวิชาชีพที่มีกระทรวงฯอุ้มชูด้วยงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของชาวเราและประชาชนทั่วไป เมื่อมีการจะปรับเปลี่ยนเป็นสภาวิชาชีพ ก็เกิดความกังวล ต้องเสียเงินเสียทองอีกแล้ว 

ชาวเราลองคิดถึงตอนที่เรานั่งรถยนต์ที่วิ่งไปบนถนนทางตรงก็จะนั่งสบายๆ เมื่อมาถึงทางโค้ง รถจำเป็นต้องเลี้ยงโค้งแล้ว ถ้าไม่เลี้ยวก็แหกโค้งตกถนนไป ทำให้ชาวเราได้รับบาดเจ็บหรือตาย ครั้นต้องเลี้ยวโค้ง ชาวเราที่นั่งไปบนรถด้วยกันก็จะถูกแรงเหวี่ยง ทำให้นั่งไม่สบายต้องคอยจับรถไว้ให้แน่นๆเพื่อสู้กับแรงเหวี่ยง เมื่อรถเคลื่อนผ่านโค้งมาถึงทางตรง แรงเหวี่ยงจะหมดไป ชาวเราที่นั่งมาด้วยกันก็ไม่ต้องเกร็งต้องจับรถแน่นๆเหมือนตอนเข้าโค้งแล้ว กลับมาสบายเหมือนเดิม มันก็เป็นธรรมชาติเช่นนี้เอง

🔻มุมมองช่วงเปลี่ยนผ่าน

จากคณะกรรมการวิชาชีพที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณาสุข สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการทุกอย่าง เช่น การประชุมคณะกรรมการวิชาชีพแต่ละครั้ง (ค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง เอกสาร สถานที่ ฯลฯ)การเลือกตั้งกรรมการวิชาชีพ เป็นต้น เมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นสภาวิชาชีพที่ดูแลตัวเอง มีประเด็นพิจารณา คือ 

     1)คณะกรรมการสภารังสีเทคนิค ในระยะแรกของการเป็นสภารังสีเทคนิค กรรมการสภาฯชุดตั้งไข่หรือเริ่มต้นที่จะทำหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาฯ คือกรรมการสภาฯโดยตำแหน่ง ซึ่งควรมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนายกสภาฯ เพราะยังไม่มีกรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกสภาฯทั้งหมด เรื่องนี้ถือว่าเป็นภาระอันหนักยิ่งของคณะกรรมการสภาฯชุดเริ่มต้น เพราะในการดำเนินกิจการทั้งหลายของสภาฯต้องใช้เงิน เงินงบประมาณจะมาจากไหน? การประชุมกรรมการ สถานที่ประชุม และที่เห็นชัดเจนและใช้เงินในระยะแรกเยอะมากคือ การจัดการเลือกตั้งกรรมการสภาฯที่มาจากสมาชิกสภาฯทุกคนร่วม 5,000 คน (ขณะนี้) ซึ่งเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว กรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปจากสมาชิกสภาฯ ก็เข้าไปร่วมเป็นกรรมการสภาฯอันทรงเกียรติ เป็นสภาฯที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อดำเนินกิจการของสภาฯต่อไป 

ชาวเราในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาฯ มีเวลาเตรียมตัวที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาฯตั้งแต่วินาทีนี้เลย เรื่องนี้มันเร็วไปไหมที่จะพูดตอนนี้ ตอบได้เลยว่าไม่เร็วเกินไป เพราะชาวเราที่ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องไม่ได้มาแบบเล่นๆสนุกๆขำๆ หรือเพื่อให้เป็นเกียรติประวัติของตัวเองว่าครั้งหนึ่งเคยได้รับเลือกจากชาวเราให้เป็นกรรมการสภาฯ ชาวเราที่มีจิตมุ่งมั่นศัรทธาอันแรงกล้า ที่จะดูแลและพัฒนาวิชาชีพรังสีเทคนิคให้เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของสังคม ต้องเตรียมความพร้อมให้เพียงพอในการที่จะเข้าไปรับผิดชอบการบริหารและดำเนินกิจการสภาฯในระยะตั้งไข่ และที่สำคัญคือ "ต้องพร้อมที่จะเป็นนายกสภาฯ" เพราะอะไรครับ? 

เพราะเมื่อเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้น ได้กรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ถึงตอนนี้องค์คณะกรรมการสภาฯก็สมบูรณ์ พร้อมจะเลือกนายกสภาฯขึ้นมาใหม่แทนท่านปลัดกระทรวงฯ นายกสภาฯคนที่จะได้รับเลือกใหม่นี้ต้องเป็นกรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น ในขณะที่สภาฯยังตั้งไข่อยู่นี้ นายกสภาฯคนนี้ต้องมีดีและเก่งรอบด้านจริงๆ รวมทั้งทีมงานด้วย ในการนำนาวาลำนี้ให้โลดแล่นไปได้อย่างราบรื่น มั่นคง ยั่งยืน ทั้งในระยะตั้งไข่และในระยะยาว

     2)ใบประกอบโรคศิลปะเดิมจะทำอย่างไร การเป็นสภารังสีเทคนิค จะมีสมาชิกสภารังสีเทคนิค และผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค แล้วนักรังสีเทคนิคที่มีใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคเดิมจะมีผลกระทบอะไรไหม? 

     ⧫ประการแรก นักรังสีเทคนิคที่มีใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคควรเป็นสมาชิกสภารังสีเทคนิคทันที 
     ⧫ประการที่สอง ใบประกอบโรคศิลปะฯจะต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนไปเป็นใบประกอบวิชาชีพของสภารังสีเทคนิค 

ทั้งสองประการนี้ มันมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านของมันและต้องใช้เงินอีกแล้ว ซึ่งสมาชิกสภารังสีเทคนิคอาจจำเป็นต้องช่วยจ่ายบ้าง ในวิสัยที่ชาวเราสามารถจ่ายได้ โดยให้เกิดเดือดร้อนน้อยที่สุด ที่สามารถทำให้สภารังสีเทคนิคดำเนินกิจการได้ เช่น จัดประชุมได้ จัดการเลือกตั้งได้ จัดทำใบประกอบวิชาชีพได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สภารังสีเทคนิคของชาวเราตั้งหลักได้ และมีความเข้มแข็งมั่นคงต่อไป นั่นก็คือเพื่อผลประโยชน์ของชาวเราทั้งในระยะสั้นและยาวนั่นเอง 

หากชุมชนรังสีเทคนิคบังเอิญมีชาวเราร่ำรวย และศรัทธาวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างยิ่งยวด บริจาคเงินให้สิบล้านบาทเพื่อใช้ดำเนินกิจการสภาฯ อันนี้ก็จะง่ายขึ้น แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนก็ยากคาดเดา เพราะความเป็นไปได้อาจเหมือนการซื้อล็อตเตอรี่เพื่อหวังถูกรางวัลที่หนึ่งก็เป็นได้ 

หากชาวเราคิดว่า ตัวเองไม่เห็นจะได้อะไรและยุ่งยากด้วย ในเมื่อไม่มีเงิน งั้นก็อยู่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการวิชาชีพให้กระทรวงฯดูแลไปแบบเดิมไม่ดีกว่าหรือ จะได้ไม่ต้องจ่ายเงิน 

คำถามคือ กระทรวงสาธารณสุขจะมองวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างไร? อย่างที่กล่าวไปแล้ว ถ้าดูตัวเลขจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะของทุกวิชาชีพรวมกันทั้งหมด เฉพาะจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคก็มีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว มากกว่าทุกวิชาชีพ และถ้าชาวเรายังคิดแบบนี้ ขอให้ชาวเราย้อนกลับไปดูความจำเป็นและข้อดีของการเป็นสภาฯที่กล่าวมาแล้ว 


🔺“หากเราไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะมีเส้นทางบังคับให้เราไปเป็นแบบนั้น” ...ซึ่งมันอาจไม่ใช่แบบที่เราควรเป็น และผมเชื่อมั่นว่าชาวเราไม่ต้องการแบบนี้

แม้ว่าการเตรียมการสู่สภารังสีเทคนิคได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว แต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ต้องใช้เงินสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง (ใครจะ support อีกไหม?) เส้นทางเดินต่อไปข้างหน้าไม่ง่ายเหมือน flow chart ที่แสดงในรูปข้างบน ยังต้องฝ่าฟันหลายด่าน แต่ละด่านไม่ธรรมดา ชาวเราต้องอดทน คณะทำงานต้องมีกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต้องใช้พลังความสามัคคีของชาวเราที่ไม่หวั่นไหวว่าเราจะเป็นสภาฯ ไม่เสียขวัญ เชื่อมั่นว่าการเป็นสภาฯดีกว่าก.ช. คือต้องใช้พลังบวกทั้งหมดที่ชาวเรามีเอามาหลอมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เกิดพลังพิเศษในการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จที่มุ่งหมายร่วมกัน

🔺May the force be with Thai RT community.


Related Links:
1.สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคเพื่อใคร?
2.รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า
3.วันรังสีเทคนิคโลก vs สภารังสีเทคนิคไทย