เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค และคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
ได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็น “ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ
ของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. ....” ที่โรงแรมริชมอนด์
จังหวัดนนทบุรี มีอาจารย์ผู้แทนจากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคทั่วประเทศ และนักรังสีเทคนิคทั่วประเทศเข้าร่วมในการสัมมนาจำนวน
100 คน
ช่วงเช้า
นพ.ธารา
ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา
จากนั้น
มีรายการอภิปราย “ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ
ของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. ....” ผู้ร่วมอภิปราย 5
ท่าน คือ นพ.ธารา ชินะกาญจน์ (ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) นางจันทนา
จินดาถาวรกิจ (ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) นายดนัย สุวรรณา
(กลุ่มกฎหมาย สนง.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) นายวรสิทธิ์ กาญจนสูตร
(ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และนางสาวอำไพ
อุไรเวโรจนากร (ประธานคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ)
มีการรับฟังความคิดเห็น
“ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ
ของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. ....”
จากผู้อภิปรายและผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันมากขึ้นว่า อะไรเป็นข้อจำกัดที่นักรังสีเทคนิคไม่สามารถทำได้เพราะอยู่นอกเหนือสมรรถนะ
เช่น การเจาะหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง การสวนปัสสาวะ
การฉีดสารทึบรังสีหรือสารเภสัชรังสี
การเตรียมสารกัมมันตรังสีแบบปิดผนึกหรือสอดใส่สารกัมมันตรังสีโดยตรง
และวินิจฉัยโรคจากผลของการตรวจทางรังสีวิทยา เป็นต้น และอะไรเป็นเงื่อนไขเมื่อนักรังสีเทคนิคจำเป็นต้องทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนือสมรรถนะของนักรังสีเทคนิค
ช่วงบ่าย
มีการบรรยายเรื่อง
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
กับวงการแพทย์ไทย
โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม คชินธร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
และการบรรยายเรื่อง
การเตรียมพร้อม(อนาคต)ของรังสีเทคนิคไทยสู่ประชาคมอาเซียน โดยผมเองครับ รองศาสตราจารย์มานัส
มงคลสุข หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล รู้สึกหนักใจมากเพราะพูดเป็นคนสุดท้ายแล้วปิดงานเลย
จะมีคนฟังไหมเพราะหลายคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ต้องรีบกลับหรือเปล่า แถมยังพูดตามหลังท่านคณบดีฯด้วย
จึงหนักใจเป็นทวีคูณ ยิ่งได้ฟังท่านคณบดีฯพูดจบแล้วยิ่งหนักใจใหญ่เลย
เพราะท่านพูดได้ดีมากและได้เนื้อความครอบคลุมครบถ้วน แล้วคราวนี้ผมจะพูดอะไรล่ะ
หลังจากพักรับประทานกาแฟแล้ว
ถึงเวลาต้องพูด มีชาวเราเหลืออยู่ประมาณครึ่งหนึ่งก็โอเคแล้ว จึงสวมวิญญาณวิทยากรขึ้นพูด
1 ชั่วโมง
งงตัวเองเหมือนกันว่าพูดไปได้ยังไงตั้ง 1
ชั่วโมงทั้งที่ตอนแรกหนักใจ
รายละเอียดที่พูดส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาผสมกันระหว่างภาคการศึกษาและองค์กรวิชาชีพรังสีเทคนิค
ซึ่งสามารถอ่านได้ในบทความ “การเตรียมพร้อมของสถาบันผู้ผลิต
บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค สู่ประชาคมอาเซียน”
และได้เติมเรื่อง
ลำดับเวลาวิชาชีพรังสีเทคนิค เพื่อเตือนความทรงจำดังนี้
ทิ้งท้ายเป็นการจบการบรรยายด้วยเรื่องเบาๆว่า
ทุกๆเช้า กวางมันรู้ตัวเองว่า มันจะต้องวิ่งให้เร็วกว่าเสือที่วิ่งเร็วที่สุด มิฉะนั้น
มันจะถูกเสือวิ่งไล่ทันและจับเป็นอาหาร
ทุกๆเช้า
เสือมันรู้ตัวเองว่า มันต้องวิ่งให้เร็วกว่ากวางที่วิ่งช้าที่สุด
เพื่อจับกวางตัวนั้นมาเป็นอาหารให้ได้ มิฉะนั้นเสือมันก็จะอดตาย
ไม่ว่าเสือหรือกวาง
ต่างก็ต้องวิ่งให่เร็วที่สุดเพื่อความอยู่รอด
แล้วเรานักรังสีเทคนิคล่ะ
จะเป็นกวางที่วิ่งช้ากว่าเสือ หรือจะเป็นเสือที่วิ่งช้ากว่ากวาง หรือไม่เป็นอะไรทั้งนั้น
สวัสดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น