วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

บันทึกลำดับเวลาวิชาชีพรังสีเทคนิค

  (2,562 ครั้ง) 
บันทึกนี้ เป็นเรื่องราวลำดับเวลาที่สำคัญของวิชาชีพรังสีเทคนิค บันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้สืบค้นได้ หากอยู่แค่ในความทรงจำ ก็จะรอวันที่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆเลือนลางหายไป

พ.ศ. 2510 บัณฑิตรังสีเทคนิครุ่นแรกของประเทศไทยจำนวน 11 คน มาจากโรงเรียนรังสีเทคนิค (ปัจจุบันคือภาควิชารังสีเทคนิค) มหาวิทยาลัยมหิดล
10 พฤษภาคม 2542 ประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบโรศิลปะ

23 กรกฎาคม 2545 ประกาศใช้กฤษฎีกากำหนดให้รังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ (ปัจจุบันกฤษฎีกานี้ได้ยกเลิกแล้ว แต่ได้ยกข้อความสำคัญไปไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556) จากนั้นจึงได้มีการดำเนินการให้นักรังสีเทคนิคมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค

27 พฤษภาคม 2547 นักรังสีเทคนิคจำนวน 56 คน สอบผ่านได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค เป็นกลุ่มแรก คุณสมบัติของกลุ่มนี้คือ เป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านรังสีเทคนิคมากกว่า 25 ปี

10 สิงหาคม 2547 ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค (ปัจจุบันระเบียบนี้ถูกยกเลิกแล้ว และใช้จรรยาบรรณกลางแทน คือ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2559)

12 ธันวาคม 2547 นักรังสีเทคนิคทั่วประเทศเข้าสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค จำนวน 1,256 คน สนามสอบจัดขึ้นที่ ห้องประชุมชั้นที่ 12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพ
น่าจะกล่าวได้ว่า เป็นการรวมตัวของนักรังสีเทคนิคมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา การสอบครั้งนี้ใช้เวลาวันเดียว ภาคเช้าและบ่าย ภาคเช้าเป็นการสอบวัดความรู้พื้นฐานในวิชาชีพรังสีเทคนิคใช้เวลาสอบ 3 ชั่วโมง ส่วนภาคบ่ายเป็นการสอบวัดความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องใช้เวลาสอบ 1.5 ชั่วโมง

นักรังสีเทคนิคที่เข้าสอบครั้งนี้ต่างแสดงความยินดี ที่กำลังจะมีใบประกอบโรคศิลปะฯหลังจากที่รอคอยมานาน และต่างรู้สึกภาคภูมิใจ ที่สังคมไทยให้การยอมรับวิชาชีพรังสีเทคนิค หลายคนบอกว่ารักวิชาชีพนี้ขึ้นอีกมากและจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้สมกับที่สังคมให้ความไว้วางใจ

ผู้เข้าสอบหลายคนเตรียมความพร้อมมาอย่างดี เนื่องจากก่อนหน้าจะถึงวันสอบได้มีการจัดอบรมฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับรังสีเทคนิค ซึ่งจัดโดยหลายองค์กร หลายคณะ และครั้งสุดท้ายก่อนวันสอบหนึ่งวัน กองการประกอบโรคศิลปะก็ได้จัดให้มีการอบรมเพื่อฟื้นฟูความรู้ของผู้ที่จะเข้าสอบอีกด้วย สำหรับจำนวนผู้เข้าสอบมาจากโรงพยาบาลตามอำเภอและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีผู้เข้าสอบที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน 50% มหาวิทยาลัยรามคำแหง 27% มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 15% มหาววิทยาลัยนเรศวร 5% และมหาวิทยาลัยขอนแก่น 3% ทั้งหมดรวม 1,256 คน

ชาวรังสีเทคนิคที่เข้าสอบทั้งสิ้น 1256 คนในคราวนั้น ต่างแสดงความยินดีกันทั่วหน้า หลังรอลุ้นว่าผลการสอบจะออกมาอย่างไร เมื่อคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ก.ช.) ได้ประกาศผลการสอบอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งทางเว้ปไซต์ของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย เว้ปไซต์ของกองการประกอบโรคศิลปะ และหนังสือแจ้งผลการสอบไปยังผู้เข้าสอบทุกคน โดยในเว้ปไซต์นั้นสามารถเข้าดูผลการสอบได้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2548 

ในคราวนั้นซึ่งเป็นครั้งแรกของการสอบในประวัติศาสตร์ของรังสีเทคนิค มีผู้ที่สามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์ที่ ก.ช. กำหนดคือ ได้คะแนนสอบตั้งแต่ 60% ขึ้นไปทั้งสองวิชาจำนวน 1072 คน (85%) และมีผู้สอบไม่ถึงเกณฑ์ที่ ก.ช. กำหนดจำนวน 184 คนหรือประมาณ 15% ของจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่า ในจำนวนผู้ที่สอบไม่ถึงตามเกณฑ์ที่ ก.ช. กำหนดนั้น ส่วนใหญ่จะสอบไม่ผ่านวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ


5 สิงหาคม 2551 ประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคเรื่อง สมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานและสมรรถนะของนักรังสีเทคนิคไทย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนรังสีเทคนิคของสถาบันต่างๆ นำไปสู่การที่คณะกรรมการต้องเข้าไปประเมินเพื่อรับรองสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิค และเริ่มการประเมินรับรองสถาบันต่างๆในเดือนพฤศจิกายน 2553 ตามที่กฎหมายกำหนด


22 กรกฎาคม 2561 วันสอบขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะ สาขารังสีเทคนิค ประจำปี 2561 ล่าสุด จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1 และ 4 ชั้น9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข มีผู้เข้าสอบ 237 คน
ปัจจุบัน ( พค. 2561) มีจำนวนนักรังสีเทคนิคที่มีใบ รส. ทั้งสิ้น 4,485 คน

ขอชาวเราจงเชื่อมั่นว่า...“การบริการด้านรังสีเทคนิคของไทย เป็นบริการที่มีคุณภาพ น่าไว้วางใจในทุกมิติ ทุกขั้นตอน ทุกเวลา สำหรับทุกคน ก็ด้วยการพัฒนาอย่างไม่ออมมือ เต็มศักยภาพที่มนุษย์สร้างสรรค์พึงทำได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น