วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เสถียรภาพในความความขัดแย้ง


(545ครั้ง)     
     ทุกวันนี้มนุษย์บอกว่ารักตัวเอง แต่ไม่อาจอยู่คนเดียวได้ ไม่อาจอยู่กับตัวเองได้ ต้องมีนู่น นี่ นั่น ให้มันเยอะแยะไปหมด แบบมีไว้เป็นเพื่อนกลัวเหงา ต้องมีสังคม มีสังคมออนไลน์ ต้องเข้าสังคม ต้องเข้าเฟสบุ๊กทุกวัน วันละหลายครั้ง ครั้งละนานๆ แรกเริ่มเดิมที ความขัดแย้งมันมีอยู่คู่กับมนุษย์มาตลอด เราขัดแย้งกับธรรมชาติ--->พายุ น้ำท่วม ร้อนจัด แล้ง หนาวจัด แผ่นดินไหว ดินถล่ม ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ หลายอย่างสุดบรรยาย เราขัดแย้งกับสิงสาลาสัตว์ที่มีลักษณะท่าทางนิสัยความดุร้ายแตกต่างจากมนุษย์และเมื่อเราอยู่รวมกันมากเข้าก็เกิดความขัดแย้งกันเองขึ้นได้ เอาแค่ตัวคนเดียวก็ยังขัดแย้งกับตัวเองเลย ยิ่งอยู่กันเป็นสังคมจะไปเหลือรึ ความขัดแย้งย่อมมีมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น เข้าใจได้ยากขึ้น เสถียรภาพความมั่นคงของสังคมแบบนี้จะเป็นเช่นไร จึงชวนคิดเรื่องนี้ครับ 'เสถียรภาพในความขัดแย้ง'

     มองลึกลงไปในสสารรวมทั้งตัวของเราด้วย ที่เป็นร่างกายของเรานี่แหล่ะ เรายอมรับกันว่า สสารทั้งหลายประกอบด้วยอะตอม ที่ใจกลางอะตอมมีนิวเคลียสทรงกลมขนาดเล็กมากๆ ภายนอกนิวเคลียสมีอิเล็กตรอนโคจรอยู่รอบๆ

     ลึกเข้าไปในนิวเคลียส เรารู้ว่าในนิวเคลียสประกอบด้วยโปรตอน (มีประจุไฟฟ้าบวก) และนิวตรอน (เป็นกลางทางไฟฟ้า) ทั้งคู่มีรูปร่างขนาดพอๆกัน มีจำนวนเท่าๆกันในนิวเคลียสที่ไม่โตมาก แต่พอนิวเคลียสของธาตุที่มีขนาดโตขึ้น คือมีจำนวนโปรตอนและนิวตรอนมากขึ้น ปรากฏว่า จำนวนนิวตรอนกลับมากกว่าจำนวนโปรตอน เช่น Co-60 มีโปรตอน 27 ตัว แต่มีนิวตรอน 33 ตัว สัดส่วนของจำนวนโปรตอนและนิวตรอน มีผลต่อเสถียรภาพของนิวเคลียส หากไม่เสถียรแล้ว มันก็จะสลายตัวเปลี่ยนสภาพนิวเคลียสไป ซึ่งอาจเปลี่ยนสภาพด้วยการปล่อยรังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมา

     ถึงตอนนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมนิวตรอนต้องมากกว่าโปรตอน เท่ากันไม่ได้หรือ
     เราพบความจริงว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องของ "ธรรมชาติจัดสรร"
     หมายความว่า นิวเคลียสมันต้องการความมีเสถียรภาพ นิวเคลียสไม่ต้องการแตกสลายย่อยยับ เมื่อนิวเคลียสมีขนาดโตขึ้นเช่น U-235 ที่มีโปรตอนมากถึง 92 ตัว ธรรมชาติจึงบรรจุนิวตรอนมากถึง 143 ตัวเข้าไปในนิวเคลียส ซึ่งมากกว่าโปรตอนประมาณ 1.5 เท่า การที่มีนิวตรอนซึ่งเป็นกลางจำนวนมากในนิวเคลียส มันดีอย่างไร จะช่วยอะไรได้ มาลองดูครับ
     มาดู U-235 เป็นกรณีศึกษาครับ
     เนื่องจากโปรตอนมีประจุบวก นิวตรอนเป็นกลาง ถ้าโปรตอนอยู่ใกล้โปรตอนมากๆ  มันจะผลักกันด้วยแรงไฟฟ้าที่แรงมากๆ แรงนี้คือแรงคูลอมบ์ซึ่งเป็นแรงระหว่างประจุไฟฟ้าบวกของโปรตอนนั่นเอง แรงนี้มีขนาดเป็นปฏิภาคผกผันกับกำลังสองของระยะระหว่างโปรตอน หรือโปรตอนกับโปรตอนมันขัดแย้งกันเอง ส่วนนิวตรอนที่เป็นกลางนั้น ไม่มีผลทำให้เกิดแรงผลักไฟฟ้า สมกับคำว่าเป็นกลางจริงๆ
     ในนิวเคลียสของ U-235 ซึ่งเป็นอาณาบริเวณแคบๆมีโปรตอนมากมายถึง 92 ตัว จึงไม่สงสัยเลยว่า แรงผลักระหว่างโปรตอนด้วยกันเองจะมากขึ้นด้วย โปรตอนกับโปรตอนในนิวเคลียสจึงไม่อาจอยู่ใกล้กันมากเกินไป มิฉะนั้น มันจะผลักกันจนนิวเคลียสแตกย่อยยับ มิอาจจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้
      จำเป็นต้องหาวิธีที่ทำให้โปรตอนแต่ละตัวอยู่กันห่างๆไว้ อย่าให้มันอยู่ใกล้กัน อยู่ใกล้กันมากเดี๋ยวเกิดเรื่อง ธรรมชาติได้ใช้วิธีเติมความเป็นกลางคือนิวตรอนลงไป ให้แทรกเข้าไปอยู่ระหว่างโปรตอน ให้มีนิวตรอนมากเพียงพอที่จะเป็นกันชนระหว่างโปรตอนกับโปรตอน จนทำให้สามารถรักษาเสถียรภาพของนิวเคลียสเอาไว้ได้อย่างยาวนาน ไม่แตกสลายย่อยยับไป
      นี่แหล่ะครับ เสถียรภาพของความแออัด ความขัดแย้ง เป็นความแออัดขัดแย้งในนิวเคลียส ความเป็นกลางช่วยได้ ช่วยให้เกิดเสถียรภาพได้ แต่ต้องมีความเป็นกลางจริงๆในจำนวนที่มากพอ
      ดูๆไป ผมคิดว่า เสถียรภาพในนิวเคลียสมันคล้ายคลึงกับเสถียรภาพของสังคม องค์กรหน่วยงานต่างๆ สังคมใด องค์กรใดหรือนิวเคลียสตัวใด มีโปรตอนมากหรือมีลักษณะแบบโปรตอนมาก คือเจอกันไม่ได้ เมื่อเจอกันแล้วจะมีแรงผลักอย่างแรง จำเป็นต้องมีความเป็นกลางจำนวนมากพอเพื่อเป็นกันชนให้ได้ ให้เสถียรภาพเกิดขึ้นให้ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีความเป็นกลางในจำนวนที่ไม่เพียงพอ ที่นั้น สังคมนั้น องค์กรนั้นหรือนิวเคลียสตัวนั้น ขาดเสถียรภาพแน่นอน และเกิดการสลายตัวแน่นอน กลายสภาพเป็นสังคม องค์กรหรือนิวเคลียสชนิดอื่นไปในที่สุด สำหรับสังคม และองค์กรนั้นๆ ก็สุดแต่ว่าเราจะนิยามโปรตอนในสังคม ในองค์กรว่าเป็นอะไร มันจะเป็นอะไรก็ตาม ความหมายคือ เมื่อมันเจอกันแล้วมันเกิดปัญหาทุกครั้งก็แล้วกัน 
Related Links:
แรงดูดแรงผลักทางความคิด

คุณนั่นแหล่ะผิด