วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๓


ดวงอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้า        พุ่งผ่านปัทมาบนน้ำใส
ทั้งที่ตูมแต่มองเห็นเด่นภายใน                     แปลกฤทัยใยแสงจึงแรงนัก
ดุจรังสีสาดส่องกายา                     ผ่านออกมาภายในจึ่งประจักษ์
ธรรมชาติลิขิตไว้ประหลาดนัก                   ให้ทายทักโรคได้สบายเอย

          “เอกซเรย์ถูกค้นพบโดยศาสตราจารย์เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) แห่งสถาบันฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Wurgburg ประเทศเยอรมัน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1895 เวลาบ่าย เป็นข้อความที่ผมต้องกล่าวถึงเสมอ เมื่อเวลาที่สอนนักศึกษารังสีเทคนิค เพื่อให้ระลึกเสมอว่า วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์ทางด้านรังสีวิทยา เนื่องจากเรินท์เกนนำเอกซเรย์ไปถ่ายภาพมือของ Bertha ซึ่งเป็นภรรยาของเขาเอง ทำให้เกิดภาพเอกซเรย์ภาพแรกของโลกในวันนั้น

อีกข้อความหนึ่งที่ผมจะกล่าวตามมาเสมอ คือ ข้าพเจ้าไม่ชอบเดินตามถนนใหญ่ที่ผู้คนใช้กันมากๆ ข้าพเจ้าชอบปีนป่ายหน้าผา บุกป่าฝ่าหนาม ถ้าข้าพเจ้าหายไป อย่าไปตามหาตามถนนใหญ่ ซึ่งเป็นคำกล่าวของเรินท์เกนหลังจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์คนแรกของโลก เมื่อ ค.ศ. 1901
เมื่อเวลาผ่านไป เอกซเรย์ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แสดงออกให้เห็นถึงพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรค์อย่างยิ่งยวด เอกซเรย์สามารถช่วยพยุงชีวิตของผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีการแยกชั้นวรรณะ ไม่ว่าใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย จะยากดีมีจนขนาดไหน จะเป็นคนดีหรือคนร้าย หรือแม้แต่สัตว์ ก็ไม่สามารถต้านทานพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรค์ในการทะลุผ่านเข้าไปข้างในของมันได้ ความลับทางรังสีเชิงกายวิภาคศาสตร์ ที่อยู่ภายในร่างกายของเขาเหล่านั้น จึงถูกเปิดเผยออกมา มิใช่เพื่อดูเล่นสนุกๆหรือล้วงความลับอะไร แต่เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค พลังอำนาจของเอกซเรย์เฉกเช่นนี้ มีมาช้านานแล้ว อาจจะนับได้ตั้งแต่ยุคกำเนิดจักรวาล แต่มนุษย์เพิ่งรู้จักเอกซเรย์เมื่อประมาณ 115 ปีมานี้เอง
Video Clip ความเห็นของว่าที่บัณฑิตรังสีเทคนิคปีการศึกษา 2553
 ที่มีต่อการเรียนรังสีเทคนิค

นักศึกษารังสีเทคนิค ที่กำลังจะสำเร็จเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผ่านการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยรวม 4 ปีเต็ม ทุกคนต่างได้รับการประสิทธิ์ประสาทความรู้ความสามารถ ทั้งวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ฯลฯ ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างสมภาคภูมิ จากสถาบันที่เป็นผู้ผลิตนักรังสีเทคนิคแห่งแรกของประเทศไทย นับแต่นี้เป็นต้นไป นักศึกษาที่กำลังจะกลายเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิคทุกคน พร้อมที่จะออกไปรับใช้สังคมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคน จะมีหัวใจที่ยึดมั่นในความดี เสียสละ ใฝ่รู้ และอดทน ดุจดังเอกซเรย์ที่ยังคงมีพลังอำนาจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปร และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ตราบนานเท่านาน
รศ.มานัส มงคลสุข
หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น