วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมอาเซียนกับวิชาชีพอาเซียน


(14,410 ครั้ง)
หากเราถอยออกมานอกโลก แล้วมองกลับไปยังโลกของเรา ก็แค่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่งเท่านั้น แต่มีมนุษย์อาศัยอยู่บนโลกกว่าหกพันล้านคน และจัดแบ่งเป็นประเทศและเขตปกครองพิเศษมากมาย ประเทศต่างๆบนโลกใบนี้มีการรวมกลุ่มกันหลายกลุ่ม เช่น สหภาพยุโรปจำนวน 22 ประเทศ (European Union: EU) เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือจำนวน 3 ประเทศ (North America Free Trade Area: NAFTA) สหภาพแอฟริกาจำนวน 48 ประเทศ (African Union: AU)
ข้อมูลที่น่ารู้ของประเทศในอาเซียน
จำนวนประชากรของแต่ละประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 4
รายได้ของประเทศทั้งหมดในหนึ่งปี ไทยอยู่อันดับที่ 2
รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในหนึ่งปี ไทยอยู่อันดับที่ 4


ประเทศไทยของเราอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีประเทศสมาชิกรวมกัน 10 ประเทศ และกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ตามที่ได้เคยเขียนไว้ในบทความ ผลกระทบประชาคมอาเซียน 2558” สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของ
สินค้า (Free flow of goods)
แรงงานฝีมือ (Free flow of skilled labor)
การบริการ (Free flow of services)
การลงทุน (Free flow of investment)
เงินทุน (Free flow of capital)
ในส่วนของการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ ผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ นั้น หลายท่านอาจจะยังงงๆอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร จะเตรียมตัวอย่างไร เกิดความวิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการประกอบวิชาชีพของตัวเอง โดยเฉพาะท่านที่ประกอบวิชาชีพเฉพาะ คือเป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพหรือใบประกอบโรคศิลปะ จากการที่ได้ศึกษาข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (Department of Trade Negotiations) ของไทย มีความชัดเจนในกลุ่มวิชาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ โดยมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพของแต่ละประเทศก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอาเซียน ซึ่งสามารถไปทำงานในประเทศสมาชิกต่างๆได้

ข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (MRAs)
ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ทะยอยจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) วัตถุประสงค์คือเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะหรือแรงงานฝีมือ จนถึงขณะนี้มี MRAs ทั้งหมด 7 สาขาวิชาชีพ ได้แก่
          วิศวกรรม
(Engineering Services)
          พยาบาล (Nursing Services)
          สถาปัตยกรรม (Architectural Services)
          การสำรวจ (Surveying Qualifications)
          แพทย์
(Medical Practitioners)
          ทันตแพทย์ (Dental Practitioners)
          บัญชี (Accountancy Services)
ประชุมวิชาการ ปอมท. ประจำปี 2554 บรรยากาศในหอประชุมกองทัพเรือ 
ได้พบกับ ดร.วรสันติ์ โสภณ ลูกศิษย์รังสีเทคนิคมหิดลโดยบังเอิญ 
ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ที่ม.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่
มองจากหน้าหอประชุมกองทัพเรือ
นายสุนทร  ชัยยินดีภูมิ  รองอธิบดีกรมอาเซียน
จากการประชุมวิชาการ ปอมท. ประจำปี 2554 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 ณ หอประชุมกองทัพเรือ ได้มีการบรรยายเรื่อง ทิศทางการศึกษา เพื่อรองรับการเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน โดยนายสุนทร ชัยยินดีภูมิ รองอธิบดีกรมอาเซียน ท่านได้กล่าวว่า แรงงานมีฝีมือเพิ่มเป็น 8 สาขาแล้ว โดยเพิ่ม การท่องเที่ยวเป็นสาขาที่ 8 ขณะนี้ประเทศสมาชิก 9 ประเทศได้ลงนามไปแล้ว ยกเว้นประเทศไทย

กระบวนการหลักของ MRAs
แต่ละสาขาวิชาชีพ มีข้อตกลงยอมรับร่วมกันหรือ MRAs ที่มีหัวข้อหลักๆคล้ายกัน ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ นิยามและขอบเขต การยอมรับ,คุณสมบัติ,และสิทธิของวิชาชีพต่างชาติ หน่วยงานกำกับดูแลวิชาชีพ สิทธิในการกำกับดูแล คณะกรรมการประสานงานด้านวิชาชีพอาเซียน ข้อยกเว้นร่วมกัน การระงับข้อพิพาท การปรับปรุงแก้ไข
หากมองร่มใหญ่หรือองค์กรในระดับอาเซียน มีคณะกรรมการประสานงานวิชาชีพสาขาต่างๆทั้ง 7 สาขา (ASEAN Joint Coordinating Committee หรืออาจเรียกอย่างอื่น) ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลวิชาชีพของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ มีหน้าที่หลัก คือ อำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามข้อตกลงฯ โดยการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบภายในของประเทศสมาชิกอาเซียน และการพัฒนากลยุทธ์สำหรับการดำเนินการตามข้อตกลงฯ เป็นต้น
                ร่มเล็กคือหน่วยงานกำกับดูแลวิชาชีพหรือองค์กรในระดับประเทศสมาชิกต่างๆ ได้แก่สภาวิชาชีพ (Professional Regulatory Authority) หรือกระทรวง/องค์กรที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก สำหรับประเทศไทยมีสภาวิชาชีพทั้ง 7 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์สภา สภาพยาบาล ทันตแพทย์สภา สภาวิศวกร สภาวิชาชีพบัญชี สภาสถาปนิก หน่วยงานกำกับดูแลวิชาชีพมีหน้าที่ที่สำคัญคือ ขึ้นทะเบียน และ/หรือออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพต่างชาติในการเข้ามาประกอบวิชาชีพในประเทศผู้รับ (หมายถึง ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมที่ผู้ประกอบวิชาชีพต่างชาติมาขอขึ้นทะเบียน และ/หรือขอรับใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ)
โดยสรุปคือ การเปิดให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถจดทะเบียนหรือขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศอาเซียนอื่นได้โดยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในของประเทศนั้นๆ การดำเนินงานในเรื่องนี้ของอาเซียนจะอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการประสานงานของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิก ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละวิชาชีพอาจแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม

เราจะเตรียมตัวอย่างไร

            คำถามยอดฮิตคือ "เตรียมตัวอย่างไรในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" คือเกือบทุกคนที่กังวลเรื่องนี้  ในมุมมองของผม ถ้าจะมองเรื่องของการเตรียมตัวเฉพาะในส่วนที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะที่อาจเรียกว่าเป็นแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง มีฝีมือดี ก็น่าจะเตรียมตัวดังนี้
            1. ปรับกรอบแนวคิดของตัวเองให้เปิดกว้าง ศึกษาให้เข้าใจถึงผลกระทบทุกด้าน ของการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อการวางตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่คืบคลานเข้ามา ซึ่งต้องทำทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และระดับสมาคมวิชาชีพ สภาวิชาชีพ หรือคณะกรรมการวิชาชีพ
            2. ศึกษาและทำความเข้าใจความเป็นประชาคมอาเซียนให้ดีว่า มันคืออะไร หน้าตาของประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 เป็นอย่างไร และต่อไปจะพัฒนาไปเป็นอย่างไร มี milestones อะไรบ้าง
            3. ฝึกฝนเพิ่มทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เพราะ ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของอาเซียน และควรเพิ่มการฝึกฝนภาษาที่ 4 ด้วย ที่พูดเช่นนี้อย่าเพิ่งงง เราสื่อสารด้วย ภาษาที่ 1.) ภาษาไทย ภาษาที่ 2.) ภาษาอังกฤษ ภาษาที่ 3.) ภาษาลาว (ส่วนใหญ่คนลาวฟังและพูดภาษาไทยได้ จึงไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับคนไทย) และภาษาที่ 4.) ภาษาอาเซียน (เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา หรือพม่า เป็นต้น)
            4. ศึกษาและทำความเข้าใจความรู้เกี่ยวกับกฎและระเบียบต่างๆของอาเซียน เอาแบบที่ใกล้ตัวที่สุดคือ MRA ของวิชาชีพนั้นๆเป็นต้น 
            5. พัฒนาทักษะของเราให้มีมาตรฐานอยู่เสมอ และเป็นที่ต้องการของตลาด
มานัส  มงคลสุข




Related Links:  อ้างอิง

STAT
จำนวนผู้อ่านบทความนี้
 8,021 ครั้ง (19สค2554-20พค2556)

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอนำคำถามที่ถามผ่านทาง FB ของผมมาลงไว้ตรงนี้

    Titipong Kaewlek:.....
    วิชาชีพรังสีเทคนิค มีการพูดคุยเรื่องนี้กันหรือยังครับ อาจารย์

    ธารารัตน์ อ่อนอินทร์:.....
    ระยะเวลานานแค่ไหนเราจะมีชื่อปรากฎ ดังเช่น 7 สาขานั้นคะอาจารย์ :)

    Nitasana Tularatrueangnam:..........
    น่าจะเริ่มคุยกันบ้างนะครับ

    Wilai Noiyom:.......
    ถ้ารังสีเราจะเริ่มก้าวสู่ประชาคมอาเซียนท่านอาจารย์ว่าต้องเริ่มที่ตรงไหนคะ

    ตอบลบ
  2. ความเห็นผมคือ
    ....เตรียมตัวเป็นนักรังสีเทคนิคหรือรังสีการแพทย์อาเซียน ในอนาคต นานแค่ไหนก็ตอบยาก
    .....เริ่มที่ตัวเราก่อนเลยครับ อย่ามัวรอหรือคิดว่าเมื่อไหร่จะมี MRA
    1.สอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะของคณะกรรมการวิชาชีพ (อนาคตสภาวิชาชีพ) ให้ได้
    2.ฝึกการสื่อสารภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียนอีกอย่างน้อย 1 ภาษา ภาษาลาวไม่นับเพราะเราพอพูดสื่อสารได้
    3.เรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียน
    4.สอบขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิคหรือรังสีการแพทย์อาเซียน (ตอนนี้ยังไม่มี MRAs) หรือคณะกรรมการวิชาชีพ/สภาวิชาชีพ/หรือองค์กรที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นนักรังสีเทคนิคอาเซียนที่สามารถทำงานในประเทศต่างๆได้ หากเราต้องการ

    ตอบลบ
  3. วันนี้ ประชุมคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค วาระเรื่องพิจารณาให้ผมบรรยายเรื่องมาตรการรองรับอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวสำหรับวิชาชีพรังสีเทคนิค ก็เลยได้โอกาสร่ายยาวชั่วโมงนึง

    ตอบลบ
  4. From FB:
    Wilai Noiyom:.....
    ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาให้ความรู้วิชาชีพรังสีของเราอย่างต่อเนื่องค่ะ

    ตอบลบ