วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

ความคิดที่เริ่มเปลี่ยน


(320 ครั้ง)
เวลานี้เป็นช่วงเวลาของการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังสำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนขะมักเขม้นเตรียมตัวสอบเข้าเรียนในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งสอบตรง สอบโควต้า admission กลาง ฯลฯ ทำเอานักเรียนเครียดทีเดียว แต่คนที่เครียดกว่า ดูเหมือนจะเป็น พ่อแม่ ผู้ปกครอง 
โดยเฉพาะเส้นทางสู่มหาวิทยาลัยที่เป็นคอขวด คือนักเรียนจำนวนมากเดินทางเข้าสู่ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก การแข่งขันจึงสูง ยิ่งเป็นสาขาวิชายอดนิยมยิ่งแข่งขันสูงมากยิ่งขึ้น 
สาขารังสีเทคนิค เป็นสาขาหนึ่งที่ในอดีตเปิดสอนแค่ 3 มหาวิทยาลัยหลักๆ คือ มหิดล เชียงใหม่ และนเรศวร และรับนักเรียนเข้าเรียนได้ไม่มากรวมแล้วประมาณ 180 คนต่อปี แต่ความต้องการนักรังสีเทคนิคเข้าสู่ระบบการบริการสุขภาพนั้นสูงมาก เรียกได้ว่า รังสีเทคนิคเป็นสาขาที่ขาดแคลนแบบสุดๆ 
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของรัฐเปิดสอนรังสีเทคนิคเพิ่มขึ้น ได้แก่ รามคำแหง จุฬา สงขลานครินทร์ เป็นต้น มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนรังสีเทคนิค คือ คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต และในภาครัฐที่เปิดล่าสุดคือ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และธรรมศาสตร์ แต่กว่าจะได้บัณฑิตรังสีเทคนิคก็ต้องรออีก 4 ปี ซึ่งตอนนั้นอาจจะบันเทาความขาดแคลนลงไปได้บ้างเล็กน้อย เพราะจำนวนการผลิตไม่สามารถผลิตได้ทีละมากๆ เนื่องจากต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ สกอ. และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค

ผมขอเล่าสิ่งประทับใจที่ได้พบเห็นสู่ชาวเรา ในช่วงที่ขลุกอยู่กับการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่อยากเก็บไว้ชื่นชมคนเดียว

จากการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนรังสีเทคนิคในช่วง ปีที่ผ่านมานี้ มีประสบการณ์จากการสัมภาษณ์นักเรียนที่สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสาขารังสีเทคนิคอย่างเข้มข้น รู้สึกทึ่งมาก มาเล่าให้ชาวเราฟังว่า ผมได้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดของนักเรียนต่อการเลือกที่จะเรียนอะไร เพื่อที่จะได้ไปประกอบวิชาชีพอะไร คือเริ่มที่จะ

ไม่เลือกไปตามการชี้นำของสังคม
ไม่แห่เลือกตามเพื่อน
คิดเองและชัดเจนในคำตอบ

วิธีคิดเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 
นอกจากนี้ ยังได้เห็นว่า นักเรียนส่วนใหญ่แต่ละคนมีผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายดีมาก พูดจาฉะฉาน บุคลิกดี ความสามารถพิเศษเพียบ เป็นเด็กกิจกรรม ทัศนคติดีมีความมุ่งมั่นสูงที่ชัดเจนมาก เป็นคลื่นลูกใหม่ที่เป็นความหวังและเป็นอนาคตของรังสีเทคนิคไทย 
นักเรียนเหล่านี้ ที่มีคุณลักษณะแบบนี้ ที่มีความคาดหวังสูงในรังสีเทคนิค ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น และกำลังจะก้าวเข้าสู่วิชาชีพรังสีเทคนิคร่วมกับชาวเราทั้งหลายในอนาคตอันใกล้ 

ผมจึงรู้สึกประทับใจในเรื่องแบบนี้จริงๆ 
ในความประทับใจนั้น พลันก็มีคำถามผุดขึ้นมาในสมองถามตัวเองว่า
"ผมจะสามารถรักษา passion ของนักเรียนเหล่านี้ที่จะเป็นนักรังสีเทคนิคในอนาคตไว้ได้หรือไม่ อย่างไร???" 
เพื่อที่เขาเหล่านี้จะได้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของรังสีเทคนิคไทยต่อไป

คำตอบคือ....อะไรครับ ชาวเราช่วยคิดหน่อยซิครับ