วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ความปลอดภัยของท่านต้องมาก่อน [WRD 2019]


เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์พัฒนาไปอย่างมากมายในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทางด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยรังสีมีการพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็น เอกซเรย์ระบบดิจิทัล เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็มอาร์ไอ อัลตราซาวนด์ SPECT PET ตลอดจนการผสมผสานระหว่างเครื่องมือรังสีวินิจฉัยกับเครื่องมือรังสีรักษาเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษา มันเหมือนเราดูภาพยนต์ Sci-Fi ที่เรากำลังมองผ่านจอมอนิเตอร์ของยานอวกาศลำหนึ่ง ซึ่งกำลังท่องไปภายในร่างกายมนุษย์ เพื่อดูสิ่งผิดปกติแล้วรักษากันเลย จน 2-3 ปีมานี่เอง มีความพยายามที่จะนำ AI (Artifiacial Intelligence) เข้ามาใช้อำนวยความสะดวกในวงการรังสีวิทยา ความก้าวหน้าทั้งหลายเหล่านั้น แค่ใช้เวลาตามให้ทันก็แทบไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่นแล้ว ในส่วนตัวผู้เขียนจะเลือกศึกษาติดตามเฉพาะเรื่องที่ถนัดมีพื้นฐานอยู่แล้ว เรื่องที่สนใจ และเรื่องที่มีผลกระทบต่องานที่รับผิดชอบ ซึ่งก็มีอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง World Radiography Day  
นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์
รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต
ประธานเปิดงาน "WRD2019"
ถอยหลังไปเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1895 ศาสตราจารย์ Wilhelm Conrad Röntgen ได้ค้นพบเอกซเรย์เป็นคนแรกเมื่อ 124 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เอกซเรย์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอย่างมากมายและยาวนานต่อเนื่อง ศาสตร์ด้านรังสีวิทยาได้ถือกำเนิดนับจากวันนั้นเป็นต้นมา จากวันนั้นถึงวันนี้ องค์ความรู้และเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไปเป็นอย่างมากตามที่กล่าวโดยย่อข้างต้น WHO จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน World Radiography Day” เป็นวันที่นักรังสีเทคนิคทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ 

สำหรับปีนี้ บังเอิญตรงกับวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เป็นวันศุกร์เหมือนเมื่อ 124 ปีที่แล้ว คณะรังสีเทคนิค สมาคมรังสีเทคนิค และโรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ ได้เล็งเห็นความสำคัญของวันนี้ จึงถือโอกาสอันดีนี้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมในวัน “World Radiography Day” ขึ้นอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง หมายความว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ร่วมกันจัด ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวันแห่งการค้นพบเอกซเรย์ของศาสตราจารย์ Wilhelm Conrad Röntgen ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการบอกดังๆให้สังคมได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักรังสีเทคนิค ในการใช้รังสีเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย ทั้งตัวผู้ป่วยและตัวนักรังสีเทคนิคเอง โดยจะเห็นได้ว่า ในปีนี้สมาคมรังสีเทคนิคโลก (ISRRT) ได้ชูธงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยชูคำขวัญว่า “ความปลอดภัยของท่านต้องมาก่อน: นักรังสีเทคนิคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย” ยกระดับความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยขึ้นไปอีก จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งนักรังสีเทคนิคทั้งมวลต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดขึ้นและรักษาไว้ให้ยั่งยืน

ดังนั้น หัวข้อการบรรยายพิเศษคราวนี้ จึงได้เลือกเน้นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ "ความปลอดภัยของท่านต้องมาก่อน" คือความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิคต้องมาก่อน หัวข้อที่บรรยายพิเศษได้แก่ เรื่อง ความปลอดภัยของผู้ป่วยในงานรังสีวิทยา และการตรวจและการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้รังสี

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ครั้งนี้เป็นการจัดที่มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นครั้งที่ 4  โดยคณะรังสีเทคนิค สมาคมรังสีเทคนิค และโรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ ร่วมกัน ความพิเศษของคราวนี้คือ คณะผู้จัดได้ยกระดับการจัดงานจากเดิมที่เคยจัดเป็นลักษณะกิจกรรม ให้ขึ้นไปเป็นการประชุมวิชาการ เป็นการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของการจัดกิจกรรม  

เป็นที่น่าดีใจที่การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 360 คน มาจาก 11 หน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลในกรุงเทพและต่างจังหวัด ช่วงเช้ามีการบรรยายพิเศษหัวข้ตามที่กล่าวข้างต้น ช่วงบ่ายมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจาและโปสเตอร์ ซึ่งปีนี้มีจำนวนเกือบ 20 เรื่อง ทำให้การเฉลิมฉลอง World Radiography Day มีความคึกคักและมีความหมายยิ่ง
อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การประชุมครั้งนี้ได้มีการเก็บข้อมูลรายละเอียดของกิจกรรมของนักรังสีเทคนิคที่ต่อต้านพิษภัยของบุหรี่ เพื่อนำเผยแพร่ในสื่อของสมาคมรังสีเทคนิคโลก (ISRRT) ด้วย

ในทัศนะของผมมองว่า การประชุมวิชาการนอกจากจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการรังสีเทคนิคอย่างดีเยี่ยมจากผู้เข้าร่วมประชุมและผู้เสนอผลงานวิชาการแล้ว ยังจะทำให้เกิดความตื่นตัวทางวิชาการตลอดเวลา เป็นการสะท้อนคุณภาพของสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค นักรังสีเทคนิค ตลอดจนชุมชนรังสีเทคนิคได้เป็นอย่างดี เป็นที่เชื่อมั่นต่อสังคมวงกว้างสืบต่อไป น่าจะได้มีการจับมือกันระหว่างสถาบันผู้ผลิต เช่น ในกรุงเทพเพื่อลองจัดประชุมวิชาการประเพณีสี่เส้า ห้าเส้า อะไรประมาณนี้ แต่ละสถาบันจะได้มาแชร์ผลงานกัน สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการยิ่งๆขึ้นไป จะดีไหมครับ?

Related Links:
1.World Radiography Day 2016
2. WorldRadiography Day: 8 พฤศจิกายน 2016
3.  World Radiography Day 2017 : พิธีเปิดงาน
4. World Radiography Day 2017 : เสวนา "RT's education inThailand"
5. วันรังสีเทคนิคโลก VS สภารังสีเทคนิคไทย [WRD2018]
6. ข่าวในสารรังสิต 
7. ข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
8. ข่าวในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
9. ใน Line Today

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น