วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดล สอบผ่านใบประกอบครั้งแรก 91.9% ในปีการศึกษา 2553

(583 ครั้ง) 
ตามที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ได้ดำเนินการจัดสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2554 มีผู้สมัครสอบจากทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 318 คน สำหรับเกณฑ์การสอบผ่านนั้น ผู้สอบจะต้องมีผลการสอบในหมวดวิชาชีพและหมวดกฎหมายได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60%
สำหรับในการสอบครั้งนี้ บัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดลเข้าสอบรวมทั้งสิ้น 65 คน เป็นบัณฑิตที่จบใหม่ในปีการศึกษา 2553 จำนวน 62 คน หากคิดเฉพาะบัณฑิตใหม่ มีผลการสอบ ผ่านทั้งสองหมวดวิชาจำนวน 57 คน คิดเป็นร้อยละ 91.9 ของบัณฑิตใหม่ที่เข้าสอบ สอบผ่านเฉพาะหมวดวิชาชีพอย่างเดียวจำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของบัณฑิตใหม่ที่เข้าสอบ และสอบไม่ผ่านทั้งสองหมวดวิชาจำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของบัณฑิตใหม่ที่เข้าสอบ ผลการสอบผ่านครั้งนี้สูงกว่าเป้าหมายที่ภาควิชารังสีเทคนิค ตั้งไว้คือ ร้อยละ 85

 หากพิจารณาผลการสอบย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2554 บัณฑิตรังสีเทคนิคที่เข้าสอบในครั้งแรกรวมจำนวน 167 คน และสามารถสอบผ่านตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคกำหนดจำนวน 156 คน คิดเป็นร้อยละ 93.4 โดยเมื่อคิดเป็นระดับคะแนนคุณภาพตามตัวบ่งชี้ที่ 1.2 ของ สมศ. จะได้ระดับคะแนนคุณภาพเท่ากับ 4.67 จากคะแนนเต็ม 5.0 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและสูงกว่าเป้าหมายติดต่อกัน 3 ปี ดังนั้นในปี 2555 ภาควิชารังสีเทคนิค จะมีการขยับเป้าหมายให้สูงขึ้น โดยจะตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 90 จากเดิมที่ตั้งไว้ร้อยบละ 85 อย่างไรก็ตาม สำหรับบัณฑิตที่สอบไม่ผ่านในการสอบครั้งแรกนั้น เมื่อเข้าสอบในครั้งที่สองก็สามารถสอบผ่านได้ตามลำดับ
จำนวนผู้อ่านบทความนี้ 583 (24มิย2554-8เมย2555) 
Related Linked:
จุดเด่น วท.บ. รังสีเทคนิคมหิดล
ปัจจัยที่กระทบการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค พ.ศ. 2555-2559
ยินดีกับบัณฑิตใหม่รังสีเทคนิค


วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความรู้ที่พอเพียง



วันพฤหัสที่ 9 มิถุนายน 2554 เป็นวันไหว้ครู ซึ่งนักศึกษาสาขารังสีเทคนิคและสาขาเทคนิคการแพทย์ มหิดล ร่วมกันทำพิธีที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ ศาลายา ระหว่างอยู่ในพิธีการ ผมก็ได้ตั้งจิตอธิษฐาน ระลึกถึงบุญคุณของอาจารย์ที่สั่งสอนผมมาจนเป็นผมทุกวันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว บนเวทีที่ประกอบพิธีการ มีกองหนังสือและตำราที่นักศึกษาจัดเตรียมไว้ เพื่อให้คณบดีเจิมเพื่อความเป็นศิริมงคล พลันเรื่องราว ความรู้ที่พอเพียง ก็ผุดขึ้นในหัวของผม


จากอดีตถึงปัจจุบัน มนุษย์เรามีวิธีการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ 2 แนวทางหลักคือ
แนวทางที่หนึ่ง ใช้วิธีสังเกตปรากฏการณ์ในธรรมชาติ บันทึกปริมาณต่างๆที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่บันทึกไว้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์จนได้หลักความจริงที่เป็นกฏเกฌฑ์ในธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การตั้งเป็นทฤษฎีในที่สุด ตัวอย่างที่เราภาคภูมิใจอันหนึ่งคือ การค้นพบรังสีเอกซ์โดยศาสตราจารย์เรินท์เกนเมื่อ ค.ศ. 1895 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์ด้านรังสีวิทยาอันทรงคุณประโยชน์อนันต์แก่มวลมนุษย์โลก
แนวทางที่สอง ความรู้เกิดขึ้นจากการใช้วิธีการสร้างแบบจำลองทางความคิดขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ในธรรมชาติ เช่น แบบจำลองทางความคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบของสสารซึ่งเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องใช้วิธีจินตนาการ เป็นต้น เมื่อแบบจำลองทางความคิดนั้นสามารถอธิบายปรากฏการณ์ในธรรมชาติได้มากขึ้น จนเป็นที่แน่ใจว่าผิดพลาดน้อยที่สุด แบบจำลองทางความคิดนั้นก็ถูกยอมรับว่าเป็นทฤษฎีในที่สุด
ความรู้ที่มนุษย์ช่วยกันพัฒนาและสะสมไว้สู่คนรุ่นหลังมีมากมายมหาศาลแยกแยะได้หลายแขนง แม้ว่าเราจะมองเพียงแขนงใดแขนงหนึ่งเช่น รังสีเทคนิค ก็จะรู้สึกได้ว่ามันมีความรู้ต่างๆมากมายเหลือเกิน แมัแต่ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการก็อาจรู้ไม่หมด และจากนี้ไป การตีกรอบความรู้ จะยิ่งทำให้ไม่รู้อะไรมากยิ่งขึ้น จากนี้ไป การมีความรู้ในลักษณะสหวิชาการย่อมได้เปรียบ
วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 นายศักดา กิ่งแก้ว นักศึกษารังสีเทคนิคชั้นปีที่ 4 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเกียรติบัตรและรางวัลความประพฤติดีประจำปีพุทธศักราช 2554 จากฯพณฯ ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี
ถ้าถามว่า จำเป็นที่เราจะต้องรู้มันให้หมดทุกเรื่องหรือไม่?” คำตอบในใจของแต่ละคนคงให้น้ำหนักของความจำเป็นในการรู้ที่แตกต่างกันออกไป แต่คำว่า ความรู้ที่พอเพียง ก็ดูน่าสนใจ รู้อะไร รู้แค่ไหน จึงจะพอเพียง เคยฟังท่านพุทธทาสบรรยายธรรมเมื่อนานมากแล้ว ท่านกล่าวถึงเรื่องที่เด็กๆชาวจีนที่วิ่งเล่นบนถนน ถามขงจื้อชนิดที่ขงจื้อตอบไม่ได้ เช่น
บนท้องฟ้ามีดาวกี่ดวง?”
บนโลกมีต้นไม้กี่ต้น?”
บนศรีษะของคนทั่วไปมีผมกี่เส้น?”
อาจารย์หรือใครก็ตาม ถ้าถูกเด็กหรือนักศึกษาถาม จะตอบได้ไหม ผมว่าตอบยากหรือตอบไม่ได้ แต่สมมติว่า เรามีความพยายามกันแบบสุดๆ ทุ่มเทเวลาอย่างมหาศาลลงไปช่วยกันนับดาว นับต้นไม้ นับเส้นผมซึ่งแต่ละคนก็ไม่เท่ากันอีก จนได้คำตอบแล้ว ความรู้ที่ได้นี้เอาไปใช้ทำอะไร คือมีประโยชน์อะไร มองไปแล้วประโยชน์ค่อนข้างเลือนลางเหลือเกิน อย่างนี้ก็ป่วยการที่จะไปรู้มัน
ถ้าพิจราณาระดับความรู้แบบบ้านๆ เคยมีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือสอนว่า การรับรู้มีระดับต่างๆกันได้แก่ รู้อย่างเดียว รู้และเข้าใจ รู้แจ้ง เป็นต้น
รู้อย่างเดียว หมายความว่า รู้ว่ามีอะไรบ้างแต่ไม่เข้าใจสิ่งที่รู้เลย ข้อสงสัยในสิ่งที่ได้รู้นั้นมีมากมายอีกทั้งไม่สามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงจัง รู้อย่างเดียวจึงเป็นเพียงความรู้ที่บางคนหรืออาจจะหลายคนนำเอามาคุยอวดกันว่ารู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ และหากเรื่องที่รู้นั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงโดยที่ผู้ฟังไม่ทราบหรือรู้ไม่เท่าทันก็จะมีแต่ผลเสียหายไม่เกิดประโยชน์อะไร
รู้และเข้าใจ เป็นความรู้ชั้นสูงขึ้นกว่าการรู้อย่างเดียวแต่อาจมีข้อสงสัยอยู่บ้างในเรื่องที่ได้รู้
ส่วนการรู้แจ้งนั้นเป็นความรู้ขั้นสูงสุดคือรู้ตลอดด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้นโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆหลงเหลืออยู่และรู้ได้อย่างชัดเจนว่าตัวเองนั้นไม่รู้อะไรบ้างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ขณะเดียวกันก็ไม่ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นว่าโง่หรือมีความรู้น้อยกว่า
ดังนั้นต่อคำถามที่ว่า จำเป็นที่เราจะต้องรู้มันให้หมดทุกเรื่องหรือไม่?” ในทัศนของผมเห็นว่า สำหรับผู้คร่ำหวอดในวงการนั้นๆ เช่น รังสีเทคนิค เราควรพยายามรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับรังสีเทคนิคให้ถูกต้องเที่ยงตรงไม่บิดเบี้ยว และควรเลือกที่จะรู้และเข้าใจในบางเรื่องที่เป็นภาระหน้าที่ของเราโดยตรง ถ้าหากเราพัฒนาความรู้ของตนเองไปจนถึงขั้นรู้แจ้งในบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรังสีเทคนิคที่เป็นภาระหน้าที่ของเราโดยตรงด้วยแล้วก็ถือว่าสุดยอด โดยสรุปคือ ความรู้ที่นำไปสู่ความสำเร็จประโยชน์อย่างถูกต้อง น่าจะเป็นความรู้ที่พอเพียงครับ
อีกเรื่องหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ วิธีการหรือกระบวนการ ในการได้มาซึ่งความรู้ต่างๆนั้นก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากไม่แพ้ความรู้ที่เราต้องรู้ เพราะหากเราไม่รู้วิธีการที่จะรู้ เราก็จะลำบากในการรู้หรือไม่รู้เรื่องที่เราต้องการจะรู้
โลกวันนี้และโลกในอนาคต คอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของหลายๆคน ที่ขาดมันไม่ได้ เหมือนการเสพติด และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โลกไซเบอร์มีสิ่งต่างๆมากมายให้เข้าไปดู ค้นคว้า เช่น ถ้าเราต้องการรู้เรื่องอะไรสักเรื่อง ที่นิยมทำกันตอนนี้คือ เข้าเน็ตถามอากู๋ (google) แล้วข้อมูลเรื่องนั้นจะพรั่งพรูออกมาจนเราแทบสำลัก ดังนั้น วิธีกลั่นกรองข้อมูล จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนเพิ่มเติม ต้องรู้จักเลือกที่ทำให้เรารู้ได้อย่างถูกต้องไม่บิดเบี้ยว
ต่อไป ก่อนเข้าชั้นเรียน นักศึกษาจะถามอากู๋มาแล้ว แล้วตั้งคำถามต่ออาจารย์ผู้สอนชนิดตรงเรื่อง ตรงประเด็น และแตกยอด ถ้าอาจารย์ไม่พร้อมจะเอาตัวรอดยาก ในศตวรรษที่ 21 จะเกิดบรรยากาศนี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำนักศึกษาไว้สักเล็กน้อยว่า จงศึกษาเพื่อให้ตนมีความสำเร็จในการศึกษา ไม่ควรศึกษาเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมีการศึกษา แล้วความสำเร็จประโยชน์จะเกิดสูงสุดกับตัวเองครับ
Related Linked:
    ครูสมพรสอนลิง         ลิงเหมือนคน?

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558


(6,370 ครั้ง)
   ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 (ASEAN Community 2015) ตะเข็บรอยต่อระหว่างประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะเจือจางลงจนอาจถึงขั้นมองไม่เห็นในอนาคต จะเกิดผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ในส่วนของภาคการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษานั้น ขณะนี้ มีความชัดเจนในแนวนโยบายเกิดขึ้นแล้วจาก สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ)  โดย สกอ.ได้กำหนดเป็น ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558” ไว้ทั้งหมด 3 ยุทธศาสตร์  สรุปได้ดังนี้
      1.การเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล กำหนดกลยุทธ์ดังนี้
         1.1พัฒนาสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทยในระดับที่ใช้การทำงานได้
         1.2พัฒนาสมรรถนะด้านการประกอบวิชาชีพและการทำงานข้ามวัฒนธรรมของบัณฑิตไทย
      2.การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาคมอาเซียน กำหนดกลยุทธ์ดังนี้
         2.1พัฒนาอาจารย์ให้มีสมรรถนะสากล
         2.2ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนในสถาบันอุดมศึกษา
         2.3พัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนให้มีคุณภาพระดับสากล
         2.4พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพระดับสากล
         2.5พัฒนาวิชาการและการวิจัยสู่ความเป็นเลิศ
         2.6พัฒนาระบบอุดมศึกษาแห่งอาเซียน
     3.การส่งเสริมบทบาทอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน กำหนดกลยุทธ์ดังนี้
         3.1ส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่เกี่ยวข้องกับสามเสาหลักในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเสาด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
         3.2สร้างความตระหนักในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนและบทบาทของอุดมศึกษาไทยในการพัฒนาประชาคมอาเซียนทั้งในด้านบวกและด้านลบ
         3.3ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
         3.4พัฒนาศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียน
     สกอ. ยังได้มีการกำหนดมาตรการที่ควรพิจารณาดำเนินการในแต่ละกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ไว้ด้วย รายละเอียดจะยาวมากเกินไป ขอไม่นำมาเสนอในที่นี้ แต่ท่านสามารถศึกษาต่อได้จากลิงค์ที่อยู่ด้านล่าง
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมีผลทำให้หลายๆภาคส่วน โดยเฉพาะการศึกษาของประเทศไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ให้สามารถรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น บัณฑิตที่จบออกไปจะต้องเป็นอย่างไร จะมีอัตลักษณ์เช่นไร จึงจะยืนหยัดได้ในสภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ เป็นโจทย์ที่สถาบันการศึกษาทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิคทุกแห่งต้องเร่งเครื่องอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็ต้องเร่งมือปรับหลักสูตร ทั้งเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอน ให้สอดรับกับสถานะการณ์ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวผมเห็นว่า กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทยในระดับที่ใช้การทำงานได้ กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะด้านการประกอบวิชาชีพและการทำงานข้ามวัฒนธรรมของบัณฑิตไทย อาจทำให้เราเพลิดเพลินไป ฉะนั้นประการหนึ่งที่จะลืมไม่ได้คือ ต้องไม่ลืมเรื่องการปลูกฝังความเป็นไทย ต้องไม่ลืมเน้นการสื่อสารทั้งพูดและเขียนให้ผู้อื่นรู้เรื่อง หากความเป็นไทยเจือจางลงก็เป็นอันตราย หากการพูดและเขียนไม่รู้เรื่องก็เป็นอุปสรรคหรือเป็นพิษต่อการทำงาน
มานัส มงคลสุข

Related Linked: