วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สงครามโรคโควิด “งานล้น คนไม่พอ”

บันทึกจากประกายรังสี

[หมายเหตุ: บันทึกไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ขณะรักษาตัวที่ hospitel เนื่องจากติดโควิด เป็นช่วงเวลาที่การระบาดรุนแรงมาก วันแรกที่ทะยานขึ้นเกินสองหมื่นรายต่อวัน ผมและภรรยาเป็น 2 ในสองหมื่นนั้น และบัณฑิตรังสีเทคนิคจบใหม่ยังไม่ได้เข้าสอบขึ้นทะเบียน]

เมื่อบ้านถูกโควิดเจาะทะลวง พอเราตรวจจนแน่ใจว่าผมและภรรยาติดโควิดรู้สึกกังวลใจมาก เพราะสูงวัยทั้งคู่และมีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มกราคม 2564 เราทั้งคู่ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ 23 สายพันธ์ และเดือนมิถุนายนวัคซีนโควิด AZ  โชคดีของเราที่มีชาวเราห่วงใยและให้ความช่วยเหลืออย่างดีมากและรวดเร็ว จาก Home isolation ต้องอพยพไป Hospitel เหมือนหนีลูกกระสุนและระเบิดในสงคราม ใช้เวลา 11 วัน ทานยาเป็นกำมือ CXR ไป 3 ครั้ง ตอนนี้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน อาการของเราดีขึ้นเกือบ 100% แล้วครับ ขอบคุณชาวเราทุกคนเป็นอย่างยิ่ง อีกประมาณหนึ่งเดือนผลตรวจ PCR น่าจะไม่พบเชื้อโควิดแล้ว และหวังว่าจะไม่ติดเชื้อโควิดซ้ำ

การที่ผมติดโควิด จึงมีโอกาสเข้าไปอยู่ท่ามกลางผู้ป่วยโควิด (DAY2-9, DAY-1) ได้เห็นกระบวนการการดูแลรักษา ตระหนักว่า vital signs อาการของเรา และการได้รับยาที่ทันเวลา คือสิ่งสำคัญ เราสูงวัยทั้งคู่ คุณหมอกลัวโควิดจะลงปอด จึงให้ทำ CXR ร่วมด้วย โดยที่ Hospitel RPP ใช้รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ ผมได้เห็นพัฒนาการของปอดในระหว่างการรักษาไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็มั่นใจขึ้น เนื่องจากมีการอักเสบของปอดจึงได้รับยาเพิ่มเพื่อรักษาให้ตรงโรคโดยระมัดระวังเรื่อง co-infectious จึงคิดว่า ผู้ป่วยสูงวัยนั้นหากทำ HI อาจจะมีความเสี่ยงสูง

ระหว่างรักษาตัวที่ Hospitel RPP หมอให้พักผ่อนมากๆ แต่พอมีเวลาก็พูดคุยกับชาวเรา เล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์ที่ได้พบเจอ โควิดเป็นโรคที่เป็นอุบัติการณ์ใหม่ มีแนวทางหลักๆในการดูแลรักษา แต่ก็มีรายละเอียดอีกมากที่ต้องการระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้าเพื่อปราบโควิดให้อยู่หมัด นอกจากนั้น ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวเราที่เป็นนักรบรังสีด่านหน้ากล้าตายในที่ต่างๆ รับทราบตรงกันว่า การทำงานของนักรบรังสีในมหาสงครามโรคโควิดครั้งนี้นั้น มันหนักหนาสาหัสจริงๆ

👉ตัวอย่างการทำ CXR ผู้ป่วยโควิดของโรงพยาบาลขนาด 678 เตียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

ผู้ป่วยสีเขียว ที่จะได้ไป hospitel ทาง ร.พ.จะไปรับมาคัดกรองก่อน และเอกซเรย์เป็น day 1  ที่ร.พ.นี้ มีตู้ทำด้วยกระจกใสสำหรับให้ผู้ป่วยเข้าไปยืนถ่ายเอกซเรย์ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโควิดในอากาศ และทำที่ยึดแผ่น detector ไว้อยู่นอกตู้กระจกเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ใช้ portable x-ray เอกซเรย์ผู้ป่วย เป็นรอบๆ วันละ 2 รอบหลังจากเสร็จรอบการเอกซเรย์แต่ละครั้ง ก็ทำลายเชื้อโดยอบด้วยรังสี UV จากผลเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยใน day 1 นี้ ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถไปอยู่ hospital ได้ ต้อง admit ที่ ร.พ.

ส่วนที่  hospitel จะเอกซเรย์ด้วย portable x-ray เช่นเดียวกับที่ ร.พ. เครื่องเอกซเรย์นั้นจะวางในตัวอาคารและเอกซเรย์ผู้ป่วยซึ่งอยู่ภายนอกอาคาร ผ่านผนังซึ่งเป็นกระจกใสบานใหญ่ นักรบรังสีจะเซทตำแหน่งแล้วทำเครื่องหมายของการวางเครื่องเอกซเรย์ ชุดยึดจับแผ่น detector  และตำแหน่งที่ผู้ป่วยจะมายืน ซึ่งอยู่ในเต๊นท์กันแดด 

ในการถ่ายเอกซเรย์นั้น นักรังสีเทคนิคมีหน้าที่ตรวจสอบสภาพพร้อมใช้งานของเครื่องรวมทั้งระบบ network และควบคุมเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งจำเป็นต้องปรับค่า exposure technique สูงขึ้นเล็กน้อย ผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคจะสวมเสื้อตะกั่วไว้ด้านในและสวมคลุมด้วยชุด PPE ปฏิบัติงานอยู่ในเต๊นท์ โดยช่วยจัดท่าผู้ป่วย เลื่อนระดับความสูงของ detector ขึ้นและลงให้สัมพันธ์กับความสูงของผู้ป่วย กรณีที่เป็นผู้ป่วยทารก เด็กเล็กก็ต้องช่วยอุ้ม  การสื่อสารระหว่างนักรังสีเทคนิค  ผู้ช่วยนักรังสีเทคนิค และผู้ป่วยที่อยู่ในเต๊นท์ จะใช้วิทยุสื่อสารแขวนไว้ในเต็นท์ ในการปฏิบัติงานของนักรังสีเทคนิค มือหนึ่งถือวิทยุสื่อสาร อีกมือหนึ่งก็ควบคุมเครื่องเอกซเรย์ เรียกและทวนสอบชื่อของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เอกซเรย์ผิดคน  ซักซ้อมผู้ป่วยเรื่องการหายใจให้เต็มที่  ทำการเอกซเรย์ ปรับและส่งภาพเอกซเรย์ โดยใช้ระบบ Tele  ให้รังสีแพทย์รายงานผลทันที ในแต่ละวันต้องประสานให้ผู้ป่วยในแต่ละรอบการนัดหมายลงมาเอกซเรย์ให้ตรงเวลา เพื่อให้สามารถถ่ายเอกซเรย์ผู้ป่วยได้หมดชุดไป หากผู้ป่วยยังลงมาไม่ครบผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคก็จะต้องใส่เสื้อตะกั่วและชุด PPE รออยู่ในเต๊นท์ บางวันอากาศร้อนมีแดดจัดมาก ก็อาจเป็นลมล้มพับกันไปเลย การเอกซเรย์ผู้ป่วยแต่ละคนนั้นใช้เวลาไม่มาก แต่ว่า ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยจำนวนมากประมาณ  40 - 60 คน และบางวันก็มีขอเอกซเรย์ผู้ป่วยรายอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้นัดหมายไว้

👉ตัวอย่างการทำ CT scan

การทำ CT scan ให้ผู้ป่วยโควิดในกลุ่มอาการสีแดง จะทำที่ร.พ. โดยทั่วไปวันหนึ่งจะทำ CT scan ผู้ป่วยโควิด 1 ราย  โดยนัดหมายเวลาที่แน่นอนกับหอผู้ป่วยในช่วงบ่าย ผู้ป่วยโควิดหนึ่งคนใช้เวลาตรวจประมาณ 5-10 นาที ส่วนใหญ่เป็นการทำ CT pulmonary angiogram ในบางครั้งก็มี  CT brain ด้วย ทั้งคอนทราสต์และนอนคอนทราสต์ ผู้ป่วยจะอยู่ภายในแคปซูลความดันลบ สามารถสแกนโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากแคปซูล ภาพซีทีอาจเกิด artifact ได้บ้างหากสแกนผ่านส่วนที่มีความหนาแน่นสูงของแคปซูล แต่ผมได้ทราบว่า เป็นภาพซีทีที่รังสีแพทย์ยอมรับได้เฉพาะเคสโควิด นักรังสีเทคนิค พยาบาลประจำห้อง CT และผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคสวมชุด PPE โดยพยาบาลและผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคพร้อมรอรับผู้ป่วยที่หน้าห้อง เข็นผู้ป่วยออกจากลิฟท์มาเข้าห้อง CT ได้เลย

เจ้าหน้าที่ที่มาพร้อมผู้ป่วยและผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคจะช่วยกันย้ายผู้ป่วยขึ้นเตียง CT ให้เรียบร้อย แล้วออกไปรอในบริเวณที่กำหนด นักรังสีเทคนิคซึ่งอยู่ในห้องควบคุม จะกำหนดโปรโตคอลให้ถูกต้อง เซทตำแหน่ง ทำการสแกนผู้ป่วย ส่งภาพเข้าระบบ รังสีแพทย์รายงานผล หลังจากส่งผู้ป่วยกลับ ผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคจะทำความสะอาดส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ลิฟท์  ห้อง CT และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แล้วอบห้องด้วยรังสี UV

สำหรับผู้ป่วยโควิดที่ได้ admit อยู่ที่ ร.พ.นั้น ก็จะได้รับบริการ portable x-ray  ซึ่งในแต่ละวันมีจำนวนมากวันละประมาณ 60 – 70 ราย ทำให้สถิติ portable x-ray ทั้งหมดในแต่ละเดือนพุ่งพรวดๆ จากสภาวะปกติที่ไม่มีสงครามโควิดมีพันกว่ารายต่อเดือน มาเดือน ก.ค.นี้ ปาเข้าไป 3 พันกว่ารายต่อเดือน 

ทั้งหมดทั้งปวงของการปฏิบัติงานในสงครามโควิดนี้ นักรังสีเทคนิคที่แผนกเอกซเรย์ ได้พยายามยึดแนวทางปฏิบัติในการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น การจัดสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ การปฏิบัติก่อน ระหว่าง และหลังการตรวจด้วยภาพถ่ายทางรังสี การปฏิบัติตัวของคนไข้ขณะรับการตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ตามที่ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ได้เผยแพร่ข้อมูลไว้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ร่วมงาน และครอบครัวอันเป็นที่รักของทุกๆคน ปลอดภัยจากสงครามครั้งนี้

นั่นคือ ตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนักรับรังสีแนวหน้ากล้าตายในสงครามโรคโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ผู้ป่วยโควิดสะสมที่รักษาตัวในระบบมีจำนวนร่วมสองแสนคน จึงไม่แปลกที่บุคลากรทางการแพทย์จะมีภาระ “งานล้นคนไม่พอ”  รวมถึงนักรบรังสีด่านหน้ากล้าตายที่เข้าโรมรันพันตูกับศึกสงครามครั้งนี้ด้วย บางคนติดเชื้อโควิด ยิ่งไปกว่านั้น ที่สุดแสนจะสะเทือนใจมาก คือเราต้องสูญเสียนักรบรังสีด้านหน้าซึ่งเป็นรังสีแพทย์อย่างที่ไม่ควรจะเกิด รู้สึกสลดหดหู่และเศร้าใจยิ่งนัก ขอสดุดีวีรกรรมของนักรบรังสีผู้กล้าผู้เสียสละ และแม้แต่ชีวิตของตัวเองก็สละได้ จะมีนักรบรังสีอีกกี่คน จะมีบุคลากรทางการแพทย์อีกกี่คน ที่ต้องสูญเสียไปนับจากนี้ ขอให้เป็นท่านสุดท้ายได้ไหม

ในขณะที่บัณฑิตรังสีเทคนิคจบใหม่ที่พอจะเป็นความหวังเข้ามาช่วยนักรบรังสีพี่ๆ ก็ยังไม่ได้ใบประกอบโรคศิลปะ สมัครงานก็ยังไม่ได้ โรงพยาบาลต้องการใบประกอบโรคศิลปะ ข้อกำหนดทุกอย่างยังคงกฎเกณฑ์เดิม ยังทำแบบปกติ เหมือนไม่มีสงครามโรคโควิดเกิดขึ้น พี่ๆนักรบรังสี งานล้น เสี่ยง บางครั้งรู้สึกท้อแท้มาก อยากมีน้องๆรุ่นใหม่ๆมาช่วยกัน มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย จะเรียกว่านี่คือสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็อาจจะเรียกได้ จึงขอฝากไปยังผู้บริหารที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งมวล ได้โปรดพิจารณาประเด็นนี้อย่างเร่งด่วนด้วย