วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แนวทางการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรังสีเทคนิค


(512ครั้ง)     
     ในคราวประชุมสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคครั้งที่ 13 (13th RT Consortium) ภายใต้หัวข้อสำคัญคือ “21st Century Radiological Technology Education” ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นเจ้าภาพ โดยได้จัดให้มีการประชุมที่ทรัพย์ไพรวัลย์ แกรนด็โฮเต็ล แอนด์รีสอร์ท จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2558 มีอาจารย์ที่สอนรังสีเทคนิคทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมด้วยร่วม 60 คน เจ้าภาพได้เชิญให้ผมพูดตอนเช้าหลังเปิดการประชุมเพื่อเป็นการเกริ่นนำ เรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรังสีเทคนิคใช้เวลาประมาณ 30 นาที ผมจึงขอนำเนื้อหาสำคัญที่พูดในวันนั้นมาบันทึกไว้ในประกายรังสีครับ
ศาสตราจารย์ทวีสุข กรรล้วน (เสื้อม่วง) คณบดี และผศ.ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี (ที่สองจากขวา)
หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ
ผศ.ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี มอบของที่ระลึกหลังบรรยายเสร็จเรียบร้อย
ผู้เข้าร่วมประชุม(ส่วนหนึ่ง) 13th RT Consortium

คุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์มีอะไรบ้าง ?????
     ผมเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า คุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์มีอะไรบ้าง ???”
     คำตอบควรเป็นอะไร... ไม่รู้” “รู้แบบคลุมเครือ หรือ รู้อย่างชัดเจน
     คุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์มีอะไรบ้างนั้น ในความเห็นของผม อาจารย์ผู้สอนควรรู้ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ประจำหลักสูตร และผู้บริหารจัดการศึกษา ต้องรู้ เพื่อจะได้ดำเนินการสอนให้ได้บัณฑิตรังสีเทคนิคที่ถูกตรงกับที่ตั้งใจไว้

     1) 21st Century Skills
     3) กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF)..มคอ.1...มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขารังสีเทคนิค
     4) การประกันคุณภาพการศึกษา TQA หรือ EdPEx
     5) เกณฑ์มาตรฐานของคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค
        สมรรถนะรังสีเทคนิค  จรรยาบรรณรังสีเทคนิค เกณฑ์ประเมินสถาบัน
     6) ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น บัณฑิตมหิดล
     7) พัฒนาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านรังสีทางการแพทย์
     การจะได้มาซึ่งคุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์นั้น ต้องผ่านกระบวนการพินิจ วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน จนกระทั่งตกผลึกทางความคิดของเหล่าคณาจารย์ในหน่วยงานของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นๆ จนได้คุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องมีคุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์สำคัญๆเหมือนกัน ซึ่งถูกกำกับด้วยมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขารังสีเทคนิค (มคอ.1) ที่มีผลโดยตรงมาจาก TQF ที่กำหนดโดย สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ) นอกจากนี้ยังถูกกำกับด้วยสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ตามประกาศของคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ซึ่งเป็นการเน้นในเรื่องทักษะแห่งวิชาชีพรังสีเทคนิค
ส่วนที่นอกเหนือจากที่ มคอ.1 และมาตรฐานที่คณะกรรมการวิชาชีพฯกำหนด มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอาจสร้างจุดเด่นของหลักสูตรเพิ่มเติมได้ ให้หน้าตาของบัณฑิตรังสีเทคนิคมีความโดดเด่นเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องมีความโดดเด่นเหมือนกัน
     ตัวอย่างจุดเด่นของหลักสูตรรังสีเทคนิค ได้แก่
     รังสีเทคนิคมหิดล...มุ่งสร้างบัณฑิตเข้าสู่วิชาชีพรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นการใช้รังสีทางการแพทย์ทั้งในด้านการวินิจฉัยและรักษาโรค นักศึกษาจะต้องเรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในด้านรังสีวินิจฉัย ด้านรังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์
     รังสีเทคนิคเชียงใหม่… “การสร้างภาพทางการแพทย์ระดับโมเลกุล (MRI) ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ
รังสีเทคนิคนเรศวร… “บัณฑิตมีความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น โดยเฉพาะในทางรังสีวินิจฉัยที่เปิดรายวิชาแยกเฉพาะเพื่อให้ศึกษาเจาะลึกมากขึ้น เช่น วิชา CT, MRI หรือ US ในขณะที่ด้านรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ก็ได้เรียนครอบคลุมทั้งด้านเทคนิคและเชิงคลินิกเพื่อให้สามารถเริ่มงานได้หลังจากจบการศึกษา
รังสีเทคนิคสงขลานครินทร์... เน้นไปที่ "ความรู้คู่การปฎิบัติจริง ทั้ง 3 สาขาวิชา หมายความถึง นักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งการฝึกปฎิบัติจริง ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์พร้อม  จากสถาบันที่เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของตนเอง ที่มีทั้ง 3 สาขาวิชา ได้แก่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ " และจะเน้นไปที่แต่ละสาขาเชิงลึก ในการให้นักศึกษาเลือกลงทะเบียนเป็นรายวิชาเลือกเสรี  ทั้ง 3 สาขาวิชา ที่นักศึกษาสนใจเจาะลึกแต่ละสาขา ได้แก่  การสร้างภาพทางการแพทย์ การสร้างภาพขั้นสูงทางรังสีรักษา การสร้างภาพขั้นสูงทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งแต่ละสาขานักศึกษาก็จะเข้าถึงแหล่งการเรียนที่คู่กับการปฎิบัติจริง ทุกสาขาวิชา

ทำอย่างไรให้ได้บัณฑิตรังสีเทคนิคมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์??
เราจะมีวิธีทำอย่างไรให้ได้บัณฑิตรังสีเทคนิคมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ วิธีการที่มีการกล่าวถึงและใช้กันมากคือ การศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ หรือ Outcome Based Education (OBE)
เดิมนั้นเราใช้กระบวนการสอนแบบ Informative Education คือสอนให้เป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้เชี่ยวชาญ
ต่อมามีการปรับเปลี่ยนกรบวนการไปเป็นแบบ Formative Education คือสอนให้เป็นนักวิชาชีพ
ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Transformative Education คือสอนให้เกิดการเรียนรู้ให้มีความสามารถทางวิชาชีพและสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นด้วย
สำหรับรังสีเทคนิคมหิดลได้ใช้ Transformative Education กระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้ง ผ่านประสบการณ์ตรงที่สร้างสำนึกใหม่ และเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ ก่อให้เกิดความเข้าใจในตนเอง เข้าใจโลก  และความสัมพันธ์ทางสังคม มีความตื่นรู้ มีสมดุลของชีวิต มีทักษะในการค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ สะท้อนย้อนคิด มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสามารถสร้างทีมสุขภาวะเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข แบ่งเป็น 5 ประเภท  ได้แก่ Outcome based learning (OBL), Experiential learning (EL), Interprofessional learning (IEP), Interactive learning (IL), และ Cognitive learning (CL) ซึ่งในหลายมหาวิทยาลัยก็มีการใช้ Transformative Education เช่นกัน แต่รายละเอียดอาจต่างกันบ้าง
หลักของ Outcome Based Education ประกอบด้วย
1) คุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์
คุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์เป็นสิ่งที่ต้องรู้อย่างชัดเจน อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคทุกแห่ง จำเป็นต้องมีความชัดเจนอย่างลึกซึ้งในเรื่องนี้
2) สอนอะไร??
เมื่อรู้คุณลักษณะบัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์อย่างดีแล้ว จะนำไปสู่การออกแบบรายวิชาได้ถูกตรง ทั้งด้านเนื้อหาที่ต้องสอน ปริมาณเนื้อหามากน้อยแค่ไหน จะใช้เวลาสอนกี่ชั่วโมง สุดท้ายจะไปเป็นตัวกำหนดจำนวนเครดิตของรายวิชานั้นๆ และกำหนดว่าสอนอะไรก่อนอะไรหลัง
3) สอนอย่างไร??
กระบวนการสอนเพื่อให้ได้บัณฑิตรังสีเทคนิคที่พึงประสงค์นั้น เป็นเรื่องท้าทายอาจารย์อย่างมาก อาจารย์จะเลือกใช้วิธีไหนเพื่อสอนนักศึกษา มีวิธีการสอนมากมายหลายวิธี ได้แก่
ใส่เนื้อหาให้ผู้เรียน (Input-based Education)
วิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิม อาจารย์ผู้สอนค่อนข้างสบาย เพราะอาจารย์คิดว่านักศึกษาควรมีความรู้อะไรก็จะ ใส่ความรู้” (Input) เข้าไป โดยวิธีการ บรรยายให้ฟัง นักศึกษาเรียนรู้จากการฟังบรรยาย (Lecture-based Learning) มีอาจารย์เป็นศูนย์กลางของการศึกษา (Teacher-centered) และบังคับให้จำด้วยการ สอบ ถ้านักศึกษาคิดแล้วไม่เหมือนอาจารย์และตอบข้อสอบต่างจากที่อาจารย์สอนก็จะไม่ได้คะแนน
การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-based Learning)
ต่อมามีการใช้วิธีการสอนแบบ ใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนรู้ (Project-based Learning) การเรียนรู้โดยการบริการสังคม” (Service Learning) การใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้” (Problem-based Learning) โดยผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered) ซึ่งรายละเอียดของแต่ละแบบนั้นสามารถศึกษาได้จากแหล่งความรู้อื่นๆ
การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง (Transformative Education)
เป็นวิธีการสอนที่ถูกนำมาใช้กันมากขึ้น ประกอบด้วย การเรียนที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ (Outcome based learning: OBL) การเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential learning: EL) การเรียนทักษะการทำงานร่วมกันระหว่างวิชาชีพ (Interprofessional learning: IEP) การเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive learning: IL) การเรียนรู้องค์ความรู้ (Cognitive learning: CL)
     ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนแบบ ห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom)
     ห้องเรียนกลับทางคือ การใช้ห้องเรียนให้เกิดการเรียนรู้จริงๆไม่ใช่การสอนแบบใส่เนื้อหาให้นักศึกษา นักศึกษาเตรียมตัวศึกษาข้อมูลต่างๆที่บ้าน อาจารย์เตรียมการอย่างหนักเพื่อให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนจริงๆ
Flipped Classroom เพื่ออะไร???
เพื่อให้นักศึกษาเรียนแล้วบรรลุสภาพ "รู้จริง" (mastery learning) แบบพหุปัญญา
เพื่อให้อาจารย์มีคุณค่าเพิ่มขึ้น อาจารย์ไดโค้ชศิษย์ "ทั้งคน" เป็นรายคน
เพื่อให้อาจารย์ได้ทำ Embeded Formative Assessment คือตรวจสอบการเรียนรู้ของลูกศิษย์ว่าก้าวหน้าไปแค่ไหน และได้ทำ Formative Feed Back
เพื่อให้ห้องเรียนที่มีสภาพ "ปฎิสัมพันธ์หลายทาง" โดยมีนักศึกษาเป็นผู้กระทำ ส่วนอาจารย์เป็นผู้กระตุ้นนักศึกษา
Flipped Classroom มีห้องเรียนเป็นอย่างไร??
จากห้องสอน เป็นห้องเรียน เรียนโดยผู้เรียนลงมือทำและสอนเพื่อน จากเดิมที่อาจารย์เอาแต่พูดๆๆๆๆๆ เปลี่ยนเป็นนักศึกษาพูดเป็นส่วนใหญ่ (ไม่ใช่คุยกันนะครับ) จากเดิมเรียนคนเดียว กลายเป็นเรียนเป็นทีม/กลุ่ม จากเดิมเป็น classroom กลายเป็น studio (ห้องทำงาน) และจากเดิมเพื่อความสะดวกของอาจารย์เปลี่ยนเป็นเพื่อความสะดวกของนักศึกษา เรียนวิชาที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน
Flipped Classroom อาจารย์ทำอะไร??
อาจารย์ต้องรู้จักนักศึกษาให้ดี ใครอ่อน ใครปานกลาง ใครเก่ง อาจารย์ต้องวางแผนว่า  ทักษะและทักษะเฉพาะอะไรที่นักศึกษาต้องเรียน ไตร่ตรองว่าส่วนไหนควรเรียนโดยรับถ่ายทอด ส่วนไหนลงมือปฎิบัติ อาจารย์ต้องเรียนรู้เรื่อง ICT สำหรับทำ VDO แล้วเอาไปแขวนบนเว้ป/ Yoytube, Course Management Software (Moodle, Blackboard, ClassStart) สร้างช่องทางสำหรับสื่อสารกับศิษย์ เช่น Facebook เป็นต้น
อาจารย์ต้อง สอนแบบไม่สอน อาจารย์ร่วมจัดระบบ ICT ทำ VDO สอน 10-15 นาที มีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจนในแต่ละบทเรียน เตรียมวิธีทดสอบ เตรียมกิจกรรม/โจทย์ สำหรับให้ นักศึกษาทำเพื่อเรียนรู้ในชั้นเรียน ส่วนใหญ่ทำเป็นทีม
Flipped Classroom นักศึกษาทำอะไร??
เด็กอ่อน ดู VDO หลายรอบดูที่บ้าน ให้เพื่อนเก่งๆติว
เด็กเก่ง ติวเพื่อน ทำโจทย์/โครงงานที่ท้าทาย ช่วยอาจารย์ทำ VDO คิดโจทย์ คิดวิธีประเมิน

4) ประเมินอย่างไร??
การประเมินเป็นสิ่งสำคัญ การประเมินทำให้อาจารย์รู้ว่านักศึกษาแต่ละคนมีผลการเรียนรู้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ทำให้รู้ว่า ในภาพใหญ่นั้นบัณฑิตรังสีเทคนิคมีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เราฝันไว้หรือไม่ ในการประชุมสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิค ครั้งที่ 11 (11th RT Consortium) ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2556 ในสองวันแรกของการประชุมได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การเรียนรู้และการประเมินการเรียนรู้ตาม TQF” โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ และคณะ เป็นวิทยากร เพื่อให้อาจารย์รังสีเทคนิคทั่วประเทศมีความรู้ความเข้าใจการเรียนรู้และการประเมินการเรียนรู้ดียิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ 
การประเมินในภาพใหญ่ เป็นการประเมินหลักสูตรมีประเด็นมากมายที่มีการกำหนดตัวชี้วัดโดย สกอ. และ สมศ. ตัวอย่างเช่น สำรวจคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ว่าสอดคล้องตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตหรือไม่ (สกอ.ตัวบ่งชี้ที่ 2.7) สำรวจพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรม (ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร) สำหรับนักศึกษาที่ต้องการส่งเสริม (สกอ. ตัวบ่งชี้ที่ 2.8) และสำรวจการได้งานทำของบัณฑิตรังสีเทคนิค ว่าได้งานทำภายใน 1 ปีหรือไม่ (สมศ. ตัวบ่งชี้ที่ 1)
ประเมินเป็นรายวิชา ปัจจุบันมีการใช้ การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) มากขึ้น รายละเอียดของการประเมินมีมากมายรายประเด็น การประเมินแบบเดิมมีความแตกต่างกับการประเมินตามสภาพจริงดังแสดงในตาราง ซึ่งพบว่าการประเมินตามสภาพจริงให้ผลลัพธ์แม่นยำมากขึ้นกว่าวิธีดั้งเดิม

นอกจากวิธีการประเมินที่ต้องเลือกให้เหมาะสมแล้ว เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินก็สำคัญ เช่นที่กล่าวกันมากในตอนนี้คือ เกณฑ์การประเมินเชิงคุณภาพ (Rubric Assessment) เป็นต้น ซึ่งแบ่งเป็น เกณฑการประเมินในภาพรวม (Holistic Rubric) เกณฑการประเมินแบบแยกสวน (Analytic Rubric) 

บทส่งท้าย
     ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น จะเห็นว่า กระบวนการเรียนการสอนรังสีเทคนิคควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม อาจนำการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง และ สอนน้อย เรียนรู้มาก (teach less learn more)” มาปรับใช้ อาจารย์รังสีเทคนิคอาจปรับบริบทของตัวเองเป็น ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) เป็นผู้ร่วมเรียนรู้/ร่วมศึกษา (co-learner/co-investigator) และเป็นผู้แนะแนวทาง(guide/coach) ซึ่งชาวเราบางท่านอาจแย้งว่า รังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพจะใช้วิธีสอนน้อยเรียนรู้มากได้อย่างไร ผมมองว่า ถ้าสอนแบบเดิมและประเมินอย่างแม่นยำแล้วพบว่านักศึกษามีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ดี มีทักษะในวิชาชีพที่ดี และพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป ก็สอนแบบเดิมเถอะครับ แต่หากพบว่ามันมีบางส่วนไม่เป็นแบบนั้น เราก็สมควรปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนบ้าง โดยยึดประโยชน์ของนักศึกษาเป็นหลัก “Student Focus”

Related Links: