(444 ครั้ง)
ผมเคยถามลูกศิษย์ เพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน ว่า
ผมเคยถามลูกศิษย์ เพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน ว่า
“ความสมดุล
กับทางสายกลางเหมือนกันไหม”
เป็นคำถามง่ายๆ
แต่เท่าที่สังเกตคนที่ฟังคำถามแล้ว ไม่มีใครสักคนที่ตอบทันที
ทุกคนยิ้ม แล้วหลายคนทำตาเหลือกขึ้น
ค้างอยู่พักนึง จึงแสดงความเห็นอย่างช้าๆแบบไม่ค่อยแน่ใจ และจะออกไปในแนวทางที่
ความสมดุลคล้ายหรือเหมือนกับทางสายกลาง ดูแบบผิวเผิน ก็ไม่น่าจะต่างกัน
แต่พอตั้งสติดีๆ ค่อยๆคิดอย่างละเอียด ชักไม่แน่ซะแล้วว่าจะคล้ายกัน
วันนี้เป็นวันดี
เป็นวันสำคัญ จึงอยากชวนชาวเราคิดเรื่องนี้
สมดุล
มาดูหลักฟิสิกส์ที่ชาวเราทราบดีอยู่แล้ว
แม่ค้าหาบผลไม้ตามรูป
ใช้ไม้คานแบกผลไม้ A และ B
หนักเท่ากันโดยที่แม่ค้าออกแรงยกไม้คานที่ตำแหน่ง C ซึ่งอยู่ที่ตำแหน่งกึ่งกลางไม้คานพอดีเป๊ะ
แม่ค้าสามารถแบกผลไม้ได้โดยไม้คานไม่เอียงไปทาง A หรือ
B นี่แหล่ะอยู่ในสภาวะสมดุลตามหลักฟิสิกส์
ถ้าต้องการรักษาสมดุลไว้ แม่ค้าจะต้องอยู่ตรงกลางคือแบกไม้คานที่ตรงกลางตรงตำแหน่ง
C ไว้ตลอด ทำให้แบกอย่างสบายๆ เดินเหินคล่องและสบาย
แม่ค้าไม่อาจจะขยับออกจากจุด C ไปทางซ้ายหรือทางขวา
เพราะจะทำให้เสียสมดุลทันที และทำให้เดินเป๋ไปเป๋มาได้
ดังนั้น
สมดุลจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีทั้ง A และ B อย่างพอดีๆหรือในกรณีนี้มีให้เท่าๆกัน
ไม้คานจึงจะไม่เอียง
เรื่องความสมดุลภายในจิตใจของเราคล้ายกันครับ
เช่น ปัญญากับศรัทธา ต้องมีทั้งสองอย่างนี้ให้สมดุล ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ใครก็ตามที่มีศรัทธาแต่ไม่มีปัญญา
อย่างนี้เขาจะมีความเชื่อศรัทธาในสิ่งต่างๆโดยไม่ได้ใช้ปัญญาคิดใคร่ครวญเลย จึงเข้าข่าย
“งมงาย” สังคมไทยยังมีเรื่องนี้ให้เห็นได้บ่อยๆ
อย่างที่เป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์
ใครก็ตามที่มีปัญญาอย่างเดียวแต่ขาดศรัทธา
อย่างนี้เขาจะเป็นคนมีความรู้มาก ฉลาด แต่ไม่ทำอะไร โดยเฉพาะการทำเพื่อประโยชน์ที่เกิดกับส่วนรวม
เพราะเมื่อไม่มีศรัทธาก็จะขาดพลังขับเคลื่อน ขาดความเชื่อในสิ่งที่จะทำ และมักจะมีคำถามเสมอๆว่า
“ทำแล้วฉันได้อะไร” เหมือนเรื่อง
“คนตาบอดถือโคมไฟ” ที่เคยเล่าไปแล้ว
ทางสายกลาง
แม่ค้าหาบผลไม้
ออกแรงแบกไม้คานที่ตำแหน่ง C โดยทำอย่างนั้นไว้ซึ่งจะสมดุลอยู่
ตราบใดที่ไม่มีการเพิ่มน้ำหนักที่ A หรือ B แม่ค้าแบกไม้คานสบายๆ
เดินเหินสบายๆ คือสมดุลอยู่ดีๆแท้ๆ แม่ค้าเกิดลองขยับจุดรับน้ำหนัก
C ไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ขยับไปทาง A
คราวนี้เริ่มวุ่นล่ะ เพราะไม่สมดุลอีกแล้ว ไม้คานจะเอียงไปทาง B
ทันที ลองคิดดูแม่ค้าจะแบกต่อไปอย่างไรให้ไม่เอียง มันทำไม่ได้
มันต้องเอียง
ทางสายกลาง เมื่อเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นทางที่อยู่ระหว่างความสุดโต่งสองข้าง เหมือน A กับ
B คือ ไม่ควรจะเข้าหาข้างใดข้างหนึ่ง เช่น
ความสุขกับความทุกข์ เป็นต้น ความสุขและความทุกข์เป็นความสุดโต่งสองข้าง
เมื่อเราเอียงเข้าหาความสุขที่มีกิเลศเป็นตัวล่อจะมีความทุกข์เพราะอยากมีความสุข เมื่อมีความสุขก็มีความทุกข์เพราะไม่อยากเสียความสุขไป ทีนี้ เมื่อเอียงไปทางมีความทุกข์ก็จะพยายามผลักใสความทุกข์ออกไปก็ยิ่งทุกข์หนักขึ้น หลายคนอาจบอกว่า "โอ้ย..เกิดมาทั้งทีอย่างไงก็ขอสุขไว้ก่อนแล้วกัน" ก็ไม่ว่ากัน
ดังนั้น ดีที่สุดคือไม่ควรจะมีทั้งสองสิ่งที่เป็นความสุดโต่งนั้น
จะโล่งสบาย ซึ่งทำใจได้ยากนะครับ
ในวันดีๆเช่นนี้ มาชวนคิดเรื่อง สมดุลกับทางสายกลาง ถ้าจะสรุปย่อๆ ขอสรุปว่า ทางสายกลางคือ ทางที่อยู่ตรงกลางของความสุดโต่งสองข้างและถ้าไม่มีไม่เข้าหาความสุดโต่งทั้งสองข้างนั้นจะดีที่สุด
ส่วนความสมดุลคือ ความที่ต้องมีทั้งสองอย่างนั้นอย่างสมดุล
ไม่สามารถขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ครับ
ไม่ถามแล้วว่า
“ความสมดุล
กับทางสายกลางเหมือนกันไหม”
ถึงตอนนี้
ชาวเรามาให้ความสนใจสาระความหมายของสมดุลกับทางสายกลาง กันดีกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น