วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การจัดความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพ


(333 ครั้ง)
ในการประชุมทางวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555 เรื่อง "บทบาทของสภาวิชาชีพที่มีต่อการรับรองหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา" และเนื่องในโอกาสครบรอบ 40  ปี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 

สำหรับวันแรก วันที่ 12 พ.ย. มีปาฐกถานำโดย ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การจัดความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพ" มีรายละเอียดที่มีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตท่านอาจารย์นำสาระที่ท่านได้ปาฐกถาในวันนั้นมาบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ทางบริหารจัดการศึกษา และขอเชิญชวนชาวเราได้ศึกษาให้ดีตามที่ท่านอาจารย์ได้ปาฐกถาให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์จากทั่วประเทศร่วม 800 คนฟังในวันนั้น ดังนี้


ความคิดของมนุษย์อาจแตกต่างกันได้ ไม่ได้แปลว่า คนที่เห็นแตกต่างไปจากเราแล้วจะผิด เราอาจจะผิดก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นกับเหตุผลบนหลักการที่ถูกต้อง


รัฐมีทั้งอำนาจและหน้าที่ในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาของคนในชาติให้เจริญรุ่งเรือง ทัดเทียนนานาอารยประเทศ โดยฐานะของรัฐจึงต้องยอมรับว่าเป็นผู้ให้การศึกษาที่ได้มาตรฐาน และรัฐก็มีกลไกในการที่จะควบคุมมาตรฐานการศึกษานั้น ถ้าเราไม่ยอมรับนับถือมาตรฐานการศึกษาที่รัฐกำหนดขึ้น เราจะยอมรับนับถือมาตรฐานจากอะไร ดังนั้น ในเบื้องต้นต้องยอมรับรู้ข้อเท็จจริงอันนี้เสียก่อน

ดูแผนการศึกษาของชาติ อำนาจในการจัดการศึกษา การกำหนดมาตรฐานการศึกษา โดยเฉพาะการอุดมศึกษาอยู่ที่ไหน คำตอบคือ อยู่ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการศึกษาในระดับอุดมศึกษา นอกจากมาตรฐานทั่วไปแล้วยังมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของหลักสูตรต่างๆ

ในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นหลักเป็นฐานก็เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ให้อำนาจในการให้การศึกษา ในการวิจัย การกำหนดวิธีการเรียนการสอน ถึงจะมีสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน ก็มีกฎหมายกำหนดเป็นการเฉพาะ อยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานการอุดมศึกษาอย่างเข้มงวดกวดขัน

กฎหมายที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้น แต่ละมหาวิทยาลัยมีเป็นการเฉพาะยกเว้นราชภัฏกับราชมงคลที่ออกมาเป็นกฎหมายรวม เพราะมีกลไกรูปแบบเดียวกัน

กฎหมายทุกฉบับกำหนดวัตถุประสงค์สำคัญของสถาบันอุดมศึกษา ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจองค์กรสภามหาวิทยาลัยในการที่จะอนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตรอื่นๆในระดับสูง มีอำนาจในการจัดตั้งคณะ ให้ความเห็นชอบในหลักสูตรการศึกษาต่างๆ แต่อำนาจในการเห็นชอบทั้งสองนั้นก็ยังอยู่ภายใต้มาตรฐานการศึกษาที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยกับคณะกรรมการการอุดมศึกษาพูดคุยกันว่าจะแค่ไหนอย่างไร

แต่ว่าการกำหนดนั้น เป็นการกำหนดามอำนาจกฎหมายที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น น่าจะเชื่อได้ว่า เป็นการกำหนดที่ใช้ได้ ที่มีมาตรฐานพอสมควร และเมื่อคำนึงถึงว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะต้องแข่งขันกันเพื่อที่จะก้าวให้ทันโลก ก้าวให้ทันวิวัฒนาการของการพัฒนาทางการศึกษา ทางเทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแต่ละมหาวิทยาลัยก็ยิ่งต้องแข่งขันกัน เพื่อที่จะพัฒนาหลักสูตร ปริญญา ทั้งต้องสอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลก สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ปริญญาที่มหาวิทยาลัยของไทยเราให้ จะมีกฎหมายควบคุมด้วยว่า ใครไม่ได้ปริญญานั้นแล้วไปแอบอ้างจะมีโทษจำคุก ใครไม่มีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายปริญญาก็ถูกลงโทษจำคุกได้เหมือนกัน

ถามว่า จู่ๆ มีใครมารับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยที่มีกฎหมายให้อำนาจให้ปริญญา

ถ้ามองย้อนกลับไป มันเริ่มมาจากการรับบุคคลเข้ารับราชการ รับทั้งคนที่จบปริญญาในประเทศและต่างประเทศ เราไม่มีทางรู้ว่า ปริญญาที่จบมาจากต่างประเทศที่ไปร่ำเรียนกันมานั้นมันมีมาตรฐานขนาดไหน เทียบเท่ากับมาตรฐานของไทยหรือไม่ และเมื่อจบปริญญานั้นมาแล้ว จะบรรจุเข้าตำแหน่งไหน ในระดับใดได้บ้าง จะมีหนทางก้าวหน้าได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องกิจกรรมภายในของระบบราชการ กฎหมายเลยกำหนดให้ กพ. เป็นผู้มีอำนาจรับรองปริญญาของบุคคล ว่าคนนั้นจบปริญญาที่ใช้ได้ไหม จะบรรจุเข้าตำแหน่งอะไร สาขาไหน และควรจะได้เงินเดือนเท่าไร

ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมา กพ. ก็จะรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยของไทยที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ กพ. จะไม่ลงไปดูว่ามหาวิทยาลัยสอนวิชาอะไร มีอาจารย์กี่คน เพราะนั่นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่จะกำหนดมาตรฐาน กพ. จะดูหนักที่ปริญญาต่างประเทศ เพราะไม่แน่ใจว่าเค้าเรียนอะไรกันมาบ้าง

มาถึงปัจจุบัน อำนาจหน้าที่นี้ก็ปลดเปลื้องออกจาก กพ. ให้ กพ. กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับรองปริญญา ส่วนการรับรองปริญญาจริงๆให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กพ. ซึ่งก็ยังอยู่ในแวดวงของการที่จะรับคนเข้ารับราชการ

ต่อมาเราเริ่มมีกฎหมายวิชาชีพ อันแรกเห็นจะได้แก่ เนติบัณฑิตสภา ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาก็ออกเป็นพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตสภา พ.ศ. 2507 แต่กฎหมายของเนติบัณฑิตสภาก็มิได้ให้อำนาจในการรับรองปริญญาใดๆ คงมีอำนาจแต่การกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะเข้าเป็นสมาชิก ว่าจะต้องได้รับปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต

แต่ด้วยวิวัฒนาการของแนวคิดใหม่ๆของสภาวิชาชีพ เนติบัณฑิตสภาก็เริ่มไปดูมหาวิทยาลัยต่างๆที่สอนนิติศาสตร์ แต่ก็ไปดูเพื่อจะแนะนำว่า ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่าเป็นคนที่จะไปรับรองหลักสูตร ผมไม่คิดว่าเนติบัณฑิตสภาอยากจะไปรับรองหลักสูตรใคร เพราะการรับรองหลักสูตรนั้น ฟังดูมันเหมือนเป็นอำนาจ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นภาระรับผิดชอบของหน่วยงานที่ไปรับรองหลักสูตร ว่าถ้าเด็กที่จบออกมาแล้วไม่มีหน่วยงานรับรองหลักสูตรจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น เนติบัณฑิตสภาจึงไม่รับรองหลักสูตรใคร

การควบคุมวิชาชีพถัดมาคือ การควบคุมวิชาชีพทางการแพทย์เริ่มต้นเรียกว่า การควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ต่อมา พ.ศ. 2511 ก็แยกตัวออกมาเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งกฎหมายนั้นก็ตั้งแพทยสภาขึ้น แพทยสภาตาม พรบ.พ.ศ. 2511 ก็ไม่มีอำนาจรับรองปริญญา คงมีอำนาจอนุมัติหรือออกวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ เข้าใจว่าจะเป็นเรื่องของการทำบอร์ดอะไรทำนองนั้น มากกว่าการเรียนการสอนในระดับปริญญา

แต่อำนาจสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งน่าสนใจในกฎหมายปี 2511 คืออำนาจในการดำเนินการให้ผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาชีพแพทยศาสตร์ได้รับการฝึกหัดเพื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและดำเนินการให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้รับการฝึกอบรม นี่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอย่างยิ่งยวด เพราะการจัดตั้งสภาวิชาชีพทุกแห่ง จะขึ้นต้นด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา การวิจัย วิชาความรู้ทางวิชาชีพนั้นๆ การส่งเสริมสนับสนุนคือการดำเนินการให้เค้าได้รับการฝึกอบรมให้เป็นปัจจุบันสมัย ให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นหลังจากจบปริญญามาแล้ว
ต่อมาเมื่อ มีการปรับปรุงกฎหมายเปลี่ยน 2511 เป็น 2515 กฎหมายวิชาชีพเวชกรรมก็เริ่มใส่อำนาจการรับรองปริญญาประกาศนียบัตรในวิชาชีพแพทยศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่างๆ ผมจะเข้าใจผิดหรือเปล่าไม่ทราบ การรับรองปริญญาในครั้งนั้นเป็นการรับรองเพื่อให้ใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ ดูเหมือนคนที่จบแพทย์แล้วที่แพทยสภาให้การรับรองไม่ต้องมาสอบ รับรองแล้วก็ไม่ต้องสอบ แปลว่าหลักสูตรนั้นใช้ได้ ปริญญานั้นใช้ได้ และทำการประกอบอาชีพเวชกรรมได้ ได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ แต่มาในปัจจุบันเข้าใจว่าเริ่มมีการสอบเหมือนกัน

หลังจากนั้น ตั้งปีพ.ศ. 2528 เป็นต้นมา เราเริ่มมีกฎหมายวิชาชีพมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันอาจจะมี 13-14 แห่ง อันสุดท้ายซึ่งยังนึกไม่ออกว่าเป็นวิชาชีพได้อย่างไรคือ วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ แต่ก็เป็น นั่นก็เป็นวิวัฒนาการการรวมตัวกันของผู้มีส่วนได้เสียในทิศทางเดียวกันในการที่จะออกกฎหมาย

ผมพูดเสมอว่า กฎหมายนั้นเป็นดาบสองคม กฎหมายนั้นเป็นข้อกำหนด คำบังคับ เมื่อเป็นคำบังคับก็ต้องสร้างคนที่มีอำนาจ เมื่อสร้างคนที่มีอำนาจก็ต้องมีคนที่อยู่ใต้อำนาจ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มีอำนาจหรือมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คนทั้งปวงก็ต้องอยู่ใต้อำนาจมีหน้าที่ที่ต้องเคารพสิทธินั้นๆ

ในโลกปัจจุบันสิ่งที่เค้ากำลังกลัวกันที่สุด คือ การมีกฎหมายมากเกินไป และที่ฝ่ายกฎหมายกำลังระมัดระวังกันก็คือ ทำอย่างไรจึงจะลดกฎหมายให้เหลือน้อยลง แต่ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะฉะนั้นประชาชนในแต่ละ sector ก็จะคิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองหรือสร้างอำนาจให้กับ sector ของตัวได้

ท่านที่สนใจการหาเสียงของประธานาธิบดีอเมริกาเมื่อสองสามวันมานี่ ประเด็นที่เค้าถกเถียงกันคือทำอย่างไรจึงจะลดกฎหมายให้น้อยลง คือทั้งโลกกำลังคิดอย่างเดียวกัน ไทยก็กำลังคิดแบบนี้ แต่ไทยค่อนข้างจะสาหัส เพราะว่ากฎหมายเราสร้างอำนาจไว้เสมอ คนมีอำนาจแล้วก็ย่อมติดใจ ติดยึด คิดว่าอำนาจนั้นเป็นของตัว ความจริงอำนาจไม่ได้เป็นของใคร ใครมาคนนั้นก็ใช้อำนาจ และวันหนึ่งคนนั้นก็เกษียณไปอำนาจนั้นก็กลับไปใช้กับคนนั้น

เราพยายามยกเลิกกฎหมายที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ กฎหมายกำจัดผักตบชวาท่านเคยได้ยินไหม ในปี 2450 กว่าๆ  หลังจากที่ผักตบชวาระบาดทั่วประเทศ กฎหมายนั้นกำหนดว่า เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่อยู่ชายตลิ่ง จะต้องหาไม้ไผ่มาเขี่ยผักตบชวาขึ้นมาตากแห้งเป็นเวลา 3 วัน แล้วเอาน้ำมันก๊าดลาดจุดไฟเผา ผู้ใดไม่ทำการตามนี้มีโทษปรับ 10 บาท เราใช้มาถึงปี 2540 กว่าๆ ตอนนั้นจะยกเลิก กระทรวงมหาดไทยคัดค้าน ถามว่าจะคัดค้านทำไม เค้าบอกว่ามันมีอยู่ก็ดีแล้ว เกิดจำเป็นขึ้นมาจะได้ไปเกณฑ์คนมากำจัดผักตบชวาได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์

นี่กำลังมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เป็นกฎหมายอาชีพการรับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ออกมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ยังไม่เคยใช้เลย กฎหมายนี้กำลังดำเนินการเพื่อยกเลิก ยังไม่รู้ว่าใครจะคัดค้านบ้าง

หลังจากที่เราเริ่มมีกฎหมายสภาวิชาชีพทยอยกันมา ความเข้มข้นของอำนาจของสภาวิชาชีพก็มากขึ้นๆ กฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ดูจะเป็นกฎหมายที่เข้มข้นที่สุด เพราะนิยามคำว่าการพยาบาลและการผดุงครรภ์ รวมไปถึงการสอนวิชาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ด้วย และอำนาจของสภาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ก็ไปไกลดูจะเป็นหน่วยแรกที่เริ่มให้ความเห็นชอบในหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ของสถาบันการศึกษาที่จะทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ รวมทั้งหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตร คำว่าที่จะทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ แปลว่าใครจะตั้งคณะการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จะยังตั้งไม่ได้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบในหลักสูตรจากสภาการพยาบาลเสียก่อน นอกจากรับรองหลักสูตรแล้วยังรับรองปริญญา ยังมีบทบัญญัติต่อไปว่าใครจะมาเป็นสมาชิกบ้างจะต้องได้รับปริญญาที่สภาการพยาบาลรับรอง

ผมไม่ควรยกตัวอย่างเรื่องนี้เพราะอายุมากแล้วผมต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่เรื่อย หวังว่าพยาบาลจะไม่ถือโทษโกรธเคือง

หลังจากนั้นเป็นต้นมา กฎหมายวิชาชีพทุกฉบับ ก็เริ่มใส่อำนาจในการรับรองปริญญากันถ้วนหน้า บางฉบับอาจไม่ได้กำหนดให้อำนาจในการรับรองปริญญา แต่ก็กำหนดว่าคนที่จะเป็นสมาชิกจะต้องจบปริญญาที่สภาวิชาชีพนั้นรับรอง แต่เรื่องหลักสูตรนั้น ส่วนใหญ่กำหนดให้รับรองเฉพาะหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อความชำนาญซึ่งอยู่นอกขอบข่ายของสถาบันอุดมศึกษา

ในการให้อำนาจรับรองปริญญานั้น ระยะหลัง ตั้งแต่กฎหมายวิชาชีพบัญชีเป็นต้นมา จะเริ่มเขียนกรอบขึ้นมานิดนึงว่า รับรองเพื่อการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งก็ดูเหมือนจะอยู่ในวิสัยที่จะไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายสถาบันอุดมศึกษา แต่จะก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องพูดกัน  

ผลของการที่มีกฎหมายกำหนดไว้เข้มงวดเช่นนี้ มันก็เลยทำให้ ในบางกรณีการจัดตั้งคณะเพื่อสอนวิชาบางวิชา จัดตั้งไม่ได้  จนกว่าสภาวิชาชีพจะให้การรับรองหลักสูตรหรือเห็นชอบด้วย การตั้งคณะแพทยศาสตร์เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญมาก ถ้าแพทยสภาไม่รับรองก็ตั้งไม่ได้

การตั้งคณะเพื่อการศึกษา มันไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพแต่เพียงอย่างเดียวแต่มันเพื่อประโยชน์ในการให้การศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยี การศึกษาวิจัยด้วย ถ้าเราไปจำกัดการตั้งคณะวิชาซึ่งก็มีคนเค้าควบคุมดูแล ทั้งด้านงบประมาณ ทั้งด้านกำลังคน ทั้งด้านวิชาความรู้ เข้มงวดอยู่แล้ว มันจะเป็นการไปจำกัดการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาวิชาการหรือไม่

ผมเข้าใจว่าในสภาวิชาชีพส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนจากสถาบันอุดมศึกษา หรืออย่างน้อยก็เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษากันมาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ต้องกลับไปคิดว่าการจำกัดขอบเขตหรือตีกรอบให้สถาบันอุดมศึกษาเดิน มันจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

บางที คนเค้าก็เลยนินทาว่า (ขอโทษคุณหมอทั้งหลายครับ) ...แพทยสภาไม่ค่อยยอมให้ตั้งง่ายๆ เพราะกลัวคนล้นตลาด (พวกหมอด้วยกันเองมาพูดให้ผมฟัง) ตอนที่จะตั้งคณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสารคาม บูรพาบังเอิญผมเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนั้น สาหัสสากันมาก แต่ก็ยังน้อยกวาสภาพยาบาลนะครับ

การตั้งสภาวิชาชีพเป็นของดีหรือไม่ คำตอบคือ ดี ถูกต้อง และสมควรทำ วัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ดี เพราะส่วนใหญ่จะเขียนไว้ว่า ส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิชาชีพนั้นๆ ควบคุมการประกอบวิชาชีพให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมความสามัคคีในระหว่างสมาชิก สิ่งเหล่านี้เป็นของดี วิชาชีพก็ต้องมีมาตรฐานมีการควบคุม ปัญหาคือ สมควรหรือจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไปเป็นคนรับรองปริญญาหรือรับรองหลักสูตรที่สอนกันอยู่

จริงอยู่ในการควบคุมวิชาชีพให้ได้มาตรฐาน ต้องมีจรรยาบรรณ สภาวิชาชีพก็ต้องคำนึงถึง ความรู้ความชำนาญของผู้ที่จะเข้ามาประกอบอาชีพนั้นๆ ว่าที่ร่ำเรียนกันมานั้นเมื่อถึงเวลาจะประกอบวิชาชีพน่ะจริงไหม มีทักษะดีเพียงพอไหม มีจรรยาบรรณที่จะไว้วางใจให้ไปทำงานให้กับผู้คนในสังคมได้หรือไม่

แต่สิ่งเหล่านี้ สภาวิชาชีพสามารถกำหนดด้วยวิธีการทดสอบความรู้ได้ มิใช่หรือ ผมเข้าใจว่าผมอ่านกฎหมายผิดหรือเปล่าก็ไม่รู่นะครับ ปริญญาที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะได้รับใบอนุญาต ยกเว้นกรณีครูในชั้นเริ่มต้น ต่อไปก็ไม่แน่

แต่ในกฎหมายพยาบาล ทั้งรับรองหลักสูตร รับรองปริญญา แต่เวลาที่จะเข้าไปขอใบอนุญาต ก็บอกว่าต้องจบปริญญาที่สภารับรองและผ่านการสอบความรู้ แปลว่าอะไร แปลว่าที่ไปดูหลักสูตรเขามาแต่ต้น รับรองปริญญานั้น ยังวางใจไม่ได้ ยังจะเอามาสอบความรู้อีก แล้วตกลงไปรับรองเค้าทำไม

จริงๆ สภาวิชาชีพทั้งปวง มีบุคลากรเพียงพอที่จะไปกำหนดหลักสูตร หรือให้การรับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลาย ได้จริงหรือ หรือต้องไปตั้งคนจากสถาบันอุดมศึกษามาช่วยอ่านหลักสูตร มาช่วยดูปริญญา ก็ถ้าเราไม่ไว้ใจคนในสถาบันอุดมศึกษา แล้วเราไปเอาคนพวกนั้นเค้ามา มันก็อีหรอบเดิม เว้นแต่ไปเอาคนที่ไม่ชอบอธิการบดีมา นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การไปรับรองหลักสูตรหรือการไปรับรองปริญญา เป็นการทำหน้าที่ที่เกินจำเป็นของสภาวิชาชีพหรือไม่

รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า การประกอบอาชีพเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่ง การจะจำกัดเสรีภาพนี้ได้จะต้องมีกฎหมายกำหนด และกฎหมายนั้นจะกำหนดได้ก็เฉพาะเพื่อการบางอย่างรวมทั้งการจัดระเบียบวิชาชีพ ถามว่า การรับรองปริญญาหรือการรับรองหลักสูตร เป็นการจัดระเบียบวิชาชีพหรือไม่  การกำหนดให้คนมาขออนุญาตอยู่ในเกณฑ์ที่จะถือได้ว่าเป็นการจัดระเบียบ การความคุมจรรยาบรรณ การควบคุมมาตรฐาน ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นการจัดระเบียบวิชาชีพ แต่การรับรองหลักสูตรและการรับรองปริญญา คำอธิบายอยู่ตรงไหน

ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็รับรองว่า การศึกษาอบรมเป็นเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครอง ไปจำกัดไม่ได้เลย ในทางวิชาการ รัฐธรรมนูญก็รับรองว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง มีข้อจำกัดอยู่แต่เฉพาะว่า เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น แถมต่อท้ายว่า รัฐจะต้องให้การสนับสนุน

ดังนั้น การที่เรามีกฎหมายเข้าไปลิดรอนเสรีภาพการสอนการวิจัยการเรียน โดยกำหนดให้ต้องมารับความเห็นชอบก่อน มันหมิ่นเหม่เหมือนกันครับ ผมไม่บอกหรอกว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ แต่มันหมิ่นเหม่เหมือนกันว่า เราก้าวก่ายเกินจำเป็นหรือไม่

ถ้ากฎหมายกำหนดว่า คนที่จะประกอบอาชีพได้จะต้องได้รับปริญญาที่สภาวิชาชีพรับรองโดยไม่ต้องขออนุญาต อย่างนั้นได้  แต่เมื่อรับรองปริญญาแล้วยังต้องมาสอบ แล้วยังต้องมาขอใบอนุญาต เราก็เลยไม่รู้ว่าแล้วเหตุผลมันอยู่ตรงไหน

ผมเข้าใจว่า สภาวิชาชีพเองก็เป็นห่วง ว่าถ้าไม่เข้าไปดูแล มหาวิทยาลัยอาจจะสอนอะไรสะเปะสะปะ  แล้วเมื่อถึงเวลาจะมาประกอบอาชีพไม่ได้ จะทำให้เสียหายต่อผู้ใช้บริการของวิชาชีพนั้นๆ

อย่างที่เมื่อสักครู่ในการายงานการเปิดประชุม มีการพูดถึงว่า มหาวิทยาลัยได้มีความจำเป็นที่จะต้องสอนในเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาความรู้ สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ ควบคู่กับการสอนเพื่อให้ไปประกอบอาชีพ และก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะครับว่าคนที่จบวิชานั้นๆแล้วจะต้องไปประกอบวิชาชีพอย่างนั้น

ในกฎหมายบางฉบับบอกว่า การไปประกอบวิชาชีพนั้นในสถานตามคำสั่งของทางราชการ คือพวกเป็นข้าราชการ ก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต เพราะฉะนั้น คนครึ่งหนึ่งอาจไปรับราชการ คนอีกครึ่งหนึ่งอาจะไปประกอบอาชีพ เค้าก็ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต

ในกรณีที่ความเป็นห่วงเป็นใยอย่างนั้น ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายในเวลาจัดหลักสูตร เค้าคงต้องชำเลืองมองข้อสอบของสภาวิชาชีพอยู่เสมอ แล้วคงต้องสอนให้ลูกศิษย์เค้าไปสอบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะออกมากลเม็ดเด็ดพลายอย่างไรเค้าต้องไปปรับปรุงของเค้าอยู่แล้ว แน่ละ บางทีมหาวิทยาลัยอาจจะก้าวไม่ทัน เพราะสภาวิชาชีพพร่ำบ่นอยู่กับวิชาชีพนั้นๆ

ผมคิดว่าระหว่างมหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพ คงต้องใช้วิธีการร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตร การเรียน การสอน และยกระดับความรู้ความชำนาญจองผู้ที่จะไปประกอบวิชาชีพ ไม่ควรใช้ในลักษณะใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจเหนือใครอีกคน เพราะนั่นรังแต่จะให้เกิดความกินแหนงแคลงใจ และสกัดกั้นการพัฒนาความรู้ที่สมควรจะต้องมี

ผมก็เลยมาคิดอย่างนี้ว่า ถ้าเราปรับโครงสร้าง ของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเสียใหม่ นอกจากคนในแวดวงการศึกษา คนในแวดวงมหาวิทยาลัยแล้ว เอาคนในแวดวงสภาวิชาชีพเข่าไปนั่งร่วมกันเสียในที่นั้น และเมื่อใดที่จะพิจารณาเรื่องของหลักสูตรของวิชาชีพใด ก็ให้เชิญผู้แทนของวิชาชีพนั้นไปเป็นกรรมการเฉพาะเรื่องนั้น แล้วก็กำหนดกันเสียที ใครอยากได้อะไรก็บอกกันเสียที่ตรงนั้น มันก็จะเป็นมาตรฐานที่ไปใช้กับมหาวิทยาลัยทั่วๆไป โดยไม่ต้องมีการรับรองปริญญาหรือรับรองหลักสูตรกันใหม่ ให้ซ้ำซ้อน ให้เสียเวลา ให้เปลืองกำลังคน ถ้าทำอย่างนี้ได้ ผมคิดว่าน่าจะสมประสงค์ด้วยกันทุกฝ่าย

แน่นอนละในระหว่างการเรียนการสอนหลักสูตรหรือปริญญานั้นๆ มันก็อาจจะมีคนที่สถาบันอุดมศึกษาปล่อยปละละเลย ไม่ทำให้ถูกต้อง ก็ให้สิทธิ์สภาวิชาชีพที่จะแจ้งไปยังคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งคุมระบบการอุดมศึกษาทั้งหมด ให้ไปตรวจสอบดู

ส่วนสภาวิชาชีพ เมื่อเวลาจะให้อนุญาตใคร ก็อยู่ในวิสัยที่จะทดสอบความรู้พื้นฐานได้ ถ้าใครได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ไปทำอะไรที่ไม่ดีก็มีอำนาจ เพิกถอนใบอนุญาต พักใช้ใบอนุญาตได้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์หลักของการควบคุมจรรยาบรรณ ควบคุมการประกอบวิชาชีพก็จะสมประสงค์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อไป

อย่างที่ผมเรียนมาตั้งแต่ต้นว่า อำนาจนั้น เมื่อใครมีแล้วมันก็จะไปใช้กับคนอื่น คนอื่นก็จะต้องปฏิบัติตาม สภาวิชาชีพการบัญชี เข้มงวดกวดขันกับการออกใบอนุญาตผู้สอบบัญชี มีอำนาจในการรับรองปริญญาของคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก ใครจะได้รับอนุญาตต้องไปสอบอย่างเข้มงวดกวดขัน ดูจะเป็นความเข้มงวดกวดขันที่แรงที่สุด  และถือเป็นของธรรมดา ที่คนจบบัญชีแล้วไม่ได้ใบอนุญาตสอบบัญชี แพทย์ไม่ใช่ของธรรมดาที่จบแพทย์แล้วไม่ได้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ แต่ครึ่งหนึ่งของคนจบบัญชีไม่ได้ใบอนุญาตผู้สอบบัญชี ก็นับว่าเข้มงวดกวดขัน

วันหนึ่ง กลต.เค้าก็มีอำนาจ เค้าบอกว่าเค้ามีอำนาจในการ บริษัทที่อยู่ในเป็นบริษัทมหาชนจะต้องมีผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก กลต. ก่อน ตกลงอำนาจของคณะกรรมการวิชาชีพการบัญชีก็มีอำนาจต่อคนทำงานบัญชี ให้ใบอนุญาตไป ไม่ได้แปลว่าจะไปทำงานได้ เพราะ กลต. มีอำนาจเหนือกว่าไปกำหนดบอกว่า ใครก็ตามที่จะมาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเค้าก่อน ซึ่งก็เป็นอำนาจซ้อนอำนาจ ยังเถียงกันไม่จบ สภาวิชาชีพบัญชีเค้าก็เถียงว่า เค้ามีอำนาจในการให้ใบอนุญาต ใบอนุญาตเค้าต้องใช้ได้ กลต.ก็บอกว่า จะเข้าไปอยู่ในแวดวงเค้าก็ต้องให้ความเห็นชอบ ไม่รู้เปลี่ยนนายกสภาแล้ว เปลี่ยน กลต.แล้วจะตกลงกันได้หรือยัง

นั่นมันบอกให้รู้ว่า อำนาจนั้น พอให้คนไปใช้มันก็จะกระทบกระเทือนคนที่อยู่ใกล้เสมอ ด้วยผลของอำนาจนั้นเราจึงเห็นกันพนักงานผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเป็นฝรั่งล้วนๆ ชื่อไทยไม่ค่อยมี ซึ่งนั่นก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่ง เพราะคน กลต.พูดภาษาอังกฤษทั้งนั้น

วันข้างหน้า เรากำลังจะเปิดประเทศ วิชาชีพต่างๆที่กำหนดกันไว้ว่า ส่วนใหญ่กำหนดกันไว้ว่า ต้องมีสัญชาติไทย ซึ่งเราคุ้มครองเอาไว้ ก็ยังไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะต้องมาตะลุยแก้กฎหมายประโยคนี้ออกกันมากน้อยเท่าไร สุดแต่ว่าคนไปเจรจาจะคิดหรือแข็งขันมากน้อยเพียงใด

ผมดีใจที่ได้มีการประชุมกัน หารือกันในวันนี้ ก็หวังว่าทุกท่านจะได้หารือกันด้วยเหตุด้วยผล และสามารถหาข้อยุติได้ ขณะนี้ สำนักงานการอุดมศึกษากำลังยกร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการอุดมศึกษาใหม่ ถ้ามีข้อตกลงอย่างไร ที่จะให้อำนาจนั้นไปอยู่ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาวิชาชีพไปมีส่วนร่วมเสียตั้งแต่ตรงนั้นก็กรุณาบอกไปจะได้ทำกฎหมายเสียให้มันสอดคล้องกันในคราวเดียวกัน ก็คิดว่าได้เวลาที่กำหนดไว้ ขอจบแต่เพียงเท่านี้ครับ

Related Links:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น