วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประกายรังสีรำพึงรวมมิตร



     วันที่ 8 พฤศจิกายน วันรังสีเทคนิคโลก ซึ่งเป็นวันที่ศาสตราจารย์เรินท์เกนค้นพบเอกซเรย์เวียนมาครบอีกวาระหนึ่ง จึงขอรำลึกถึงวันรังสีเทคนิคโลกในปีนี้ ด้วยการนำเอาข้อคิดความเห็นในแบบฉบับของ ประกายรังสีรำพึง ที่โพสต์ในเฟสบุ๊คซึ่งกระจัดกระจายไปตามวันและเวลาต่างๆ ตามเหตุการณ์ มารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน  โดยเลือกเอาเฉพาะที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวเราในวงกว้าง อย่าถือว่าเป็นการสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำนะครับ ถือซะว่าเป็นการแชร์กัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

     รำพึงปฐมบท
     เอกซเรย์ที่เราใช้ถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยทุกวัน มีสเปคตรัมแบบ Characteristic และ Bremsstrahlung มีการกระจายพลังงานเหมือนเขาพระวิหาร ทางขึ้นเขาอยู่ตรงพลังงานสูงสุด 150 keV ที่จังหวัดศรีสะเกษ และบริเวณ Characteristic คือปราสาทเขาพระวิหาร 


     รำพึง 01
ไม่น่าจะมีใครผิดหรอกชาวเราจะเชื่อไหม.....หลักกาลามสูตรบอกว่าอย่าเชื่อ.... เอางี้ ใคร่ครวญ...ถ้าเราบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิด มันก็จะผิดตามสิ่งที่เรารู้ แต่เขาก็จะบอกว่าเขาทำถูกตามสิ่งที่เขารู้...จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะบอกว่าใครผิดใครถูก ตราบใดที่เรายังเป็นคนธรรมดาที่ไม่รู้แจ้ง แต่จะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อแก้ไขตัวเราเองซะ ....แค่นี้ก็ดีมากๆแล้ว

รำพึง 02
ปี 2554 น้ำท่วมบ้านถึงสะดือร่วมสองเดือน นั่งมองน้ำที่เข้ามาในบ้าน ได้เห็นความจริงว่า น้ำที่เอ่อเข้ามา ไม่มีช่องทางไหลออกไป ทำให้น้ำเน่า จะใช้อีเอ็มบอลหรือน้ำอีเอ็มก็ไม่ได้ผล แต่พอปล่อยน้ำดีลงไปผสมบ้างและกวนน้ำให้มีการเคลื่อนไหว อาการเน่าน้อยลง....จึงเห็นแจ้งในบัดดลว่า...มนุษย์เรา หากรับอย่างเดียวไม่รู้จักการให้ มันจะเน่าในที่สุด

รำพึง 03
2 สัปดาห์นี้ขึ้นล่องเชียงใหม่สองรอบ ไปทำงาน+เที่ยวเล็กๆครับ พบกัลยาณมิตร ได้เห็นธรรมชาติ ขุนเขาและป่าไม้ เพลินตาเพลินใจ เห็นต้นไม้มากมายทำให้นึกถึงคำสอนนานมาแล้วว่า ต้นไม้ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างไม่ขาดตกเลย ให้ออกซิเจน ให้อาหารแก่เรา ไม่มีใครไปสั่งให้ต้นไม้ทำ มันทำของมันเอง มันรู้หน้าที่ของมัน มันไม่เคยอ้างเลยว่าตัวมันมีความสำคัญยิ่งนะ มนุษย์เราควรทำให้ได้อย่างต้นไม้”.....ฉะนี้แล

รำพึง 04
ในการทำงาน ถ้าชาวเราต้องพบกับคนที่มีอีโก้สูง เย่อหยิ่ง ไม่ฟังความคิดเห็นของใคร ขาดศรัทธา จะทำอะไรก็สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย สอนสั่งก็ไม่ได้ไม่ยอมฟัง....เยอะ....คงอึดอัดน่าดูเลยถ้าชาวเราวางใจไว้ไม่ถูกที่จริงไหมครับ ความจริงต้องขอบคุณเขาที่เขาทำให้เราได้เห็นใจเรา แต่ถ้ามันไม่ไหวแล้ว มันเหนือบ่ากว่าแรงมาก มันแก้ไม่ได้ อาจต้องนึกถึง พรหมทัณฑ์และนำมาใช้

รำพึง 05
เห็นคนข้างบ้านกำลังซ่อมฝาบ้านที่แย้มออกมาเยอะ เขาถือมีดโต้เล่มใหญ่และตะปูเดินออกมา ทีแรกก็คิดในใจว่า เอ!! นี่เขาจะตอกตะปูฝาบ้านให้มันแน่น หรือว่าจะฟันฝาบ้านทิ้ง ท่าทางเขาไม่ลังเลเลย เขากำมีดโต้ไว้และพลิกมันไปมา และแล้วก็เริ่มใช้สันมีดโต้ตอกตะปูจนฝาบ้านแน่น .....ปั้งๆๆๆๆๆ.... จึงเห็นแจ้งในบัดดลว่า..อืมมมม....แค่นี้แหล่ะ แค่นี้แหล่ะ

รำพึง 06
ที่เซ๊นปิ่นในเย็นวันหยุดมีผู้คนมากมาย และแล้ว โพซิตรอนก็ให้บังเอิญเดินสวนกับเนกาตรอน ทันใด ไหล่ของทั้งคู่ก็เกิดกระทบกัน ปกติ โพซิตรอนกับเนกาตรอนเป็นคู่อริกัน เจอกันเมื่อไหร่รับรองวินาศสันตะโร เมื่อเกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้ ไฉนเลยจะห้ามอยู่ เซ๊นปิ่นคงได้บรรลัยวายวอด มันรวดเร็วมาก โพซิตรอนหันควับกลับไปมองเนกาตรอนแล้วพูดว่า
     โพซิตรอน:...ขอโทษครับ
     ด้วยความงุนงง เนกาตรอนจึงเผลอพูดออกไปทันควันเช่นกันว่า
     เนกาตรอน:…”ขอ.. เอ่อ.. ขอโทษครับ
     จบแค่นี้ ..... สันติ

     รำพึง 07
เสวนากับสหายรู้ใจ ได้ความว่า
     นิวตรอน....นายว่าคนมีน้ำใจดีไหม
     โปรตอน....ดีอยู่แล้ว เออแล้วนายว่าคนไม่รู้จักหน้าที่ตัวเองจะเป็นไง
     นิวตรอน....ก็ไม่ดีน่ะซี
     โปรตอน....ถ้าไม่รู้จักหน้าที่ตัวเองแต่มีน้ำใจล่ะ
     นิวตรอน....อืมมมม!! ต้องระวังหน่อย เอางี้.. ยกตัวอย่าง แม่ใช้ให้โปรตอนไปซื้อกับข้าวที่ตลาด ระหว่างทางโปรตอนเห็นเขามีงานบวชนาคก็เข้าไปช่วย เสร็จแล้วเดินต่อไปมีงานศพก็เขาไปร่วมงานศพอีกจนเสร็จ กว่าจะซื้อกับข้าวกลับบ้านได้ก็มืดค่ำมากแล้ว ปล่อยให้แม่รอจนเป็นลมไป นายคิดว่าไง ไม่รู้จักหน้าที่แต่มีน้ำใจหรือเปล่า
     โปรตอน....!!

     รำพึง 08
เมื่อมองภาพเอกซเรย์ที่ใช้หลักการ shadow technique มีสิ่งหนึ่งซึ่งสอนใจเรา คือ.... สิ่งที่เห็นคือสิ่งที่มี สิ่งที่ไม่เห็นคือสิ่งที่ไม่มีหรืออาจมีก็เป็นได้ เช่น สุริยุปราคาเต็มดวง เราเห็นดวงจันทร์เป็นรูปวงกลมสีดำ โดยไม่เห็นดวงอาทิตย์ แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจเราว่า ยังไงมันก็ยังมีดวงอาทิตย์อยู่ ไม่ได้หายไปไหน มันขึ้นกับตำแหน่งวัตถุและมุมมองของเรา

รำพึง 09
ชาวเรามีวิธีทำให้น้ำในถัง A สูงกว่าน้ำในถัง B ได้อย่างไร???
     ถ้าชาวเรากำลังคิดว่า ง่ายมาก ใช้วิธีเจาะถัง B ให้น้ำไหลออก สักวันน้ำในถัง B ก็จะต่ำกว่าถัง A .. นั่นก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่เป็นวิธีที่น่ารังเกียจ ..เพราะอะไร? ก็เพราะวิธีนี้เหมือนคนที่เหยียบหัวคนอื่นเพื่อให้ตัวเองสูงขึ้น ...ควรละเว้น ควรละเว้น....ฉะนี้แล
               

     รำพึง 10
คุยกับชาวเรามาเยอะมากเรื่องหลักคิดเมื่อเกิด conflict สมมติเราเป็นพวกเดียวกับโพซิตรอน เมื่อโพซิตรอนเกิด conflict กับอิเล็กตรอน เราไม่ควรเลือกข้างโดยคิดว่า เพราะกลัวไม่มีเพื่อน เพราะเป็นพวกเดียวกัน มีโอกาสชนะ เพราะได้ประโยชน์ เพราะมีบุคคลน่าเชื่อถือ เพราะสอดคล้องกับตรรกะของเรา ฯลฯ แต่ควรพิจารณาข้อมูลให้ถ่องแท้ ด้วยวิจารณญาณอันสุดยอดของเราเสียก่อน ก่อนตัดสินใจจะอยู่ข้างใด หากพิจารณาแล้วผิดทั้งสองข้าง ก็อย่าไปเลือกข้าง...ตายเป็นตาย

รำพึง 11
โพซิตรอนกับอิเล็กตรอนเป็นปฏิอนุภาค (antiparticle) ของกันและกัน มันเกือบเหมือนกันทุกอย่าง คือมวลเท่ากัน ประจุไฟฟ้าเท่ากัน แค่ประจุต่างชนิดกันเท่านั้น แต่มันก็เป็นเหมือนคู่อริที่โกรธกันมาหลายชาติ เจอกันเมื่อไรจะเกิดวินาศสันตะโร (annihilation) เกิดการระเบิดได้ก้อนพลังงานออกมาสองก้อนเท่ากันวิ่งในทิศทางตามกฎ conservation of energy and momentum และคนเราก็ฉลาดพอที่จะใช้ประโยชน์จากการระเบิดนี้ในเครื่อง PET .....ดูๆไปแล้ว ความเป็นคู่อริของมันเหมือนคนเราเลย ที่มีร่างกายเหมือนกัน การกระทำเหมือนกันหลายอย่าง เช่น กินอาหาร มองเห็น ได้ยิน รู้สึกร้อนหนาว หายใจ อาบน้ำ เล่น FB ฯลฯ แค่คิด-กระทำต่างกันบ้าง ดันเป็นคู่อริกันได้ และเมื่อปะทะกันก็บรรลัยได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ได้จากการปะทะกันนั้นจะนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันอะไรได้บ้าง...?? ถ้าหาประโยชน์จากการปะทะกันได้ยากนักก็ฝึกใจยอมรับความแตกต่างน่าจะดี


รำพึง 12
...มีเรื่องๆหนึ่ง เบาๆ.....
นิวตรอนและโปรตอนเป็นเพื่อนกันกำลังจะไปดูหนังด้วยกัน ทันใดนั้น นิวตรอนเห็นว่ามีทองคำตกอยู่ที่พื้นถนนน่าจะนานแล้วเพราะคนเหยียบย่ำจนเลอะเทอะ
นิวตรอน:... อ้าวทองนี่นา
โปรตอน:... ไม่เอาน่า ไม่ใช่หรอก ทองเก๊แหงๆ ถ้าทองจริง คนเห็นก่อนหน้าเราเค้าเก็บไปแล้ว เสียเวลาเปล่า ไปดูหนังดีกว่าเดี๋ยวไม่ทัน
แต่นิวตรอนไม่เชื่อใช้หลักกาลามสูตร จึงหยิบทองนั้นขึ้นมา ยอมเสียเวลาไปที่ร้านทองซึ่งอยู่ในห้างที่จะไปดูหนังนั่นแหล่ะ โปรตอนหงุดหงิด ที่สุด ร้านทองบอกว่าเป็นทองจริงถ้าลื้อจะขาย อั๊วให้หมื่นนึง... อ้าว....
     สำหรับโปรตอนเป็นคนมีเหตุผล ตรรกะของโปรตอนทีว่ามันเป็นทองเก๊ก็ใช้ได้ เรื่องนี้ โปรตอนมีความมืดบอดแบบไม่ได้ตั้งใจ เพราะเหตุผลและตรรกะ เพราะความลำเอียง เพราะทิฐิในใจ ที่เกิดจากความเชื่อฝังใจของเขาแบบนั้น มันจึงบดบังความเป็นจริงซะมิดเลย ... อดเลย
คนเรานี่มันชอบมองเห็นแต่ความแตกต่างจริงๆ  ไอ้ส่วนที่เหมือนกันมีไม่น้อย แต่มักมองไม่เห็น จริงๆนะ.....นั่นแหล่ะตัวการที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย

     รำพึง 13
     เราเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้อง กับเราได้เรียนรู้ความเป็นจริง หลายคนคิดว่ามันเหมือนกัน ....ไม่หรอก.... มันต่างกันเด็ดขาดครับ ..สิ่งที่ถูกต้อง มันจะถูกต้องภายใต้เงื่อนไขหนึ่งก็ได้ มันขึ้นกับ space&time ถูกต้องวันนี้ วันต่อไปอาจผิดก็ได้ แต่สิ่งที่เป็นจริง ไม่มีเงื่อนไขอะไร มันเป็นเช่นนั้น space&timeไม่มีอิทธิพลต่อความเป็นจริง ..... ว่าไหม

     รำพึง 14
     สมัยโบราณ เรามีความเป็นอยู่แบบปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่ธรรมชาติสร้าง มันไม่ค่อยจะวุ่นวายนักหรอก .... แต่ ปัจจุบันและอนาคต เรามีความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปจากเมื่อก่อน ตรงไหนหรือครับ ก็ตรงที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่เราสร้างมันขึ้นมาใหม่นะซิ อันนี้ดูวุ่นวายและโหดกว่า และมันอาจจะพังพินาศเพราะเราไปสร้างมันให้วุ่นวายนี่แหล่ะ

     รำพึง 15
     ได้ยินวัยรุ่น วัยเฟี้ยว คุยกันแถวร้านตัดผมว่า
การเนรคุณ การอกตัญญู การหักหลังกัน ไม่เกี่ยวกับการที่คนๆนั้นจะได้ดิบได้ดี ประสบความสำเร็จ”...
อืม!!...นี่คงเป็นเพราะคนที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวย ได้ดิบได้ดี ทั้งที่คนๆนั้นเป็นคนเนรคุณ อกตัญญู หักหลัง มีให้เห็นได้ไม่ยาก .... คนสมัยนี้คงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ที่มีเทคโนโลยีข่าวสารเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตเค้า ใช่ว่าเทคโนโลยีไม่ดี แต่หากความคิดคนยอมรับความไม่ดีง่ายๆ แหวกแนวไกลไปจากความดีแล้วไซร้ สังคมสมัยนี้และอนาคตคงต้องระวังตัวกันให้มากๆ มันเอาแน่

รำพึง 16
     ฝนตกก็ดี มีน้ำใช้
     ฝนไม่ตกก็ดี มีแดดใช้
     สอบตกก็ดี ได้เรียนซ้ำ
     ไฟฟ้าดับทั้งประเทศก็ดี ได้พักเล่น FB
     ทองคำขึ้นราคาก็ดี ไม่ต้องเสียตัง
     นอนคนเดียวก็ดี เงียบดี
     ใครเกลียดเราก็ดี ดีกว่าเขาด่าเรา
     ใครด่าเราก็ดี ดีกว่าเอาไม้ฟาดหัวเรา
     ....
     ....
     โปรแกรมจิตคิดบวก เป็นประจำ.....น่าจะดี

     รำพึง 17
เอาเถอะ...คิดซะว่า...
เมื่อเราได้ทำงานด้วยดวงจิตที่ยังประโยชน์แก่ผู้อื่นจริงๆ...ก็เท่ากับสะสมบุญไว้ในดวงจิตแบบไม่ตั้งใจทุกวัน จะมีประกายรังสีแผ่เปล่งออกมาผ่านทางแววตาและใบหน้า งามระยิบระยับเชียวแหล่ะ

รำพึง 18
มีชาวเราส่งคำถามมาทาง FB ถามว่า..... หนูถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยด้วยเครื่องเอกซเรย์ธรรมด๊าธรรมดา มีเครื่องล้างฟิล์ม เป็นหลักเลย มันก็ใช้งานได้ดีนานแล้วไม่เคยเบี้ยว อาจารย์คะหนูสงสัยว่า แล้วทำไมเราต้องทำ QC เราทำ QC เพื่ออะไร ทำ QC แล้วจะได้อะไร ไม่ต้องทำได้ไหม
ผมก็เลยตอบไปว่า... งั้นตอบผมมาก่อนซิว่า เราอาบน้ำแต่งตัวทุกวันเพื่ออะไร ทำไมต้องทำ ทำแล้วได้อะไร ไม่ทำได้ไหม
ค่ะอาจารย์ ^__^”.......เงียบ

รำพึง 19
มีบางคนถึงหลายคนบ่นให้ฟังว่า... ทำงานรูทีนเบื่อจัง เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำมืด ดึกดื่น เหมือนเดิม เซ็งง่ะอาจารย์ ทำไงดี
ก็เลยจัดไป... ที่รอดอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะงานรูทีนมิใช่รึ ดูอย่างการหายใจของเราก็เป็นรูทีน เราหายใจตลอดเวลาแม้ยามนอนหลับ ลองไม่หายใจดูซิ อะไรจะเกิดขึ้น หรือแค่เปลี่ยนจังหว่ะการหายใจก็ได้เอ้า ไม่ต้องหายใจแบบรูทีนหรอก ลองซี่

รำพึง 20
วันนี้วันปิยะมหาราช....อ่านหนังสือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระมเหสีพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว...จึงได้ทราบว่า เครื่องเอกซเรย์แบบ portable ในสมัยนั้น พ.ศ. 2476 สั่งตรงจากเมืองนอกมาทางเครื่องบิน ราคาเครื่องละ 4,200 บาทเศษ

รำพึง 21
เราจะเห็นว่าแม้แต่ต้นไม้ก็ไม่โผล่ขึ้นมาโด่เด่อยู่ต้นเดียว เพราะการมีเพียงต้นเดียวแค่เจอลมพัดแรงๆมันก็จะหักโค่นลงมาได้ เราจึงเห็นแต่ต้นไม้ขึ้นมาเป็นกลุ่มหลายต้นสูงพอๆกัน เป็นสังคมของต้นไม้ แม้ในยามที่มีพายุพัดมาอย่างแรงๆสังคมต้นไม้ยังอยู่ได้อย่างสบาย และประการที่สำคัญคือ เรายังไม่เคยเห็นต้นไม้ต้นใดทำลายสังคมของต้นไม้ของมันเองจนย่อยยับไป

       รำพึง 22
เพราะมีความสว่างจึงรู้ว่ามีความมืด
เพราะมีความมืดจึงรู้ว่ามีความสว่าง
       นั่นแหล่ะ Radiographic Contrast

     สวัสดี

Related Links:

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ

(803 ครั้ง)
ก่อนสอนนักศึกษาเรื่อง การสั่นพ้องแม่เหล็กของนิวเคลียส (nuclear magnetic resonance หรือ NMR) ซึ่งเป็นพื้นฐานฟิสิกส์ที่สำคัญที่นำไปสู่ เอ็มอาร์ไอ (MRI) รู้สึกหนักใจมาก คือ จะทำอย่างไรให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องยากๆเช่นนี้ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้จะมองผ่านเลนส์ขยายเป็นพันเท่าก็ไม่เห็น หรือใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่ขยายเป็นแสนเท่าก็ไม่เห็น มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการอย่างมาก โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า ไพอะเราะหรือเพราะอะไรมันจึงเป็นเช่นนั้น จึงพยายามหาทางทำให้ง่าย อธิบายช้าๆทีละขั้น จากง่ายไปยาก จากเบาไปหนัก หาทางเปรียบเปรยให้เข้าใจได้ ซึ่งก็ยากมากจริงๆ
     คงจำกันได้ว่า เมื่อเราวางไฮโดรเจนไว้ในสนามแม่เหล็กสม่ำเสมอ B มีทิศทางไปตามแกน Z จะพบว่า แม็กเนไตเซชั่น (magnetization, เวกเตอร์สีน้ำตาลในวิดีโอคลิป) ของนิวเคลียสไฮโดรเจนก็จัดตัวชี้ไปตามสนามแม่เหล็กคือแกน Z ด้วย ดูราวกับว่า สนามแม่เหล็ก B มีเสน่ห์ มีอิทธพลต่อแม็กเนไตเซชั่น หรือ แม็กเนไตเซชั่นนัวเนียหรือจู๋จี๋อยู่กับสนามแม่เหล็ก B ชนิดรักกันมาก นอกจากนี้ แม็กเนไตเซชันในสภาวะนั้นมันยังมีความถี่ธรรมชาติหรือความถี่ลาร์มอร์ (Larmor frequency) เท่ากับ Gyromagnetic ratio ของไฮโดรเจนคูณกับสนามแม่เหล็ก B อันนี้เป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นเช่นนั้นเอง
    ทีนี้ ถ้าเราต้องการจะทำให้เกิดการสั่นพ้องแม่เหล็กของนิวเคลียสไฮโดรเจน หรือ NMR เราจะต้องส่งคลื่นวิทยุที่มีความถี่ตรงกับความถี่ลาร์มอร์ของแม็กเนไตเซชั่นของนิวเคลียสไฮโดรเจนนั้น เข้าสู่ระบบของไฮโดรเจน ไปหลอกล่อให้แม็กเนไตเซชั่นสนใจ ซึ่งได้ผลซะด้วย

จากวิดีโอคลิป เวคเตอร์สีเขียวที่หมุนอยู่ในระนาบ XY คือ สนามแม่เหล็กของคลื่นวิทยุที่เราส่งเข้าไป และกำลังหมุนด้วยความถี่ตรงกับความถี่ลาร์มอร์ของแม็กเนไตเซชั่นของนิวเคลียสไฮโดรเจน ราวกับว่า สนามแม่เหล็กของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังเต้นระบำยั่วยวนแม็กเนไตเซชัน ในขณะที่สนามแม่เหล็ก B ยืนแข็งทื่อ
เงื่อนไขในสภาวะที่ว่านี้ เป็นผลทำให้ แม็กเนไตเซชั่นมีอาการใจสั่นระทวย มองไม่เห็นสนามแม่เหล็ก B ที่ยื่นแข็งทื่ออยู่เฉยๆ แต่จะเห็นเฉพาะสนามแม่เหล็กของคลื่นวิทยุทีกำลังเริงระบำเท่านั้น ราวกับว่า สนามแม่เหล็กของคลื่นวิทยุเป็นมือที่สาม ที่เข้าไปทำให้แม็กเนไตเซชั่นซวนเซเสียสมดุล เอาใจออกห่างจากสนามแม่เหล็ก B อันนี้สามารถพิสูจน์ได้โดยอาศัยหลักการทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ แม็กเนไตเซชั่นเปลี่ยนพฤติกรรม เอาใจออกห่างไม่สนใจสนามแม่เหล็ก B อีกต่อไปแล้ว หันไปเริงระบำวิ่งตามด้วยการหมุนรอบสนามแม่เหล็กของคลื่นวิทยุทันที เป็นขั้นตอนของการดูดกลืนคลื่นวิทยุ (absorption) เมื่อหยุดส่งคลื่นวิทยุ แม็กเนไตเซชั่นไม่รู้จะเริงระบำกับใคร ในที่สุดมันก็ตาสว่าง กลับมามองเห็นสนามแม่เหล็ก B อีกครั้ง แม็กเนไตเซชั่นทำเป็นเริงระบำรอบสนามแม่เหล็ก B และเคลื่อนตัวเข้ามาในแนวของสนามแม่เหล็ก B เหมือนสำนึกผิดกลับมาตายรัง(emission) ระหว่างนั้นจะมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาด้วย (FID) เมื่อทำการแปลงฟูเรียร์ (FT) จะได้สัญญานที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปคำนวณสร้างภาพ

การที่แม็กเนไตเซชั่นมองไม่เห็นสนามแม่เหล็ก B ในขณะที่เกิดการสั่นพ้องนั้น ก็เหมือนกับ ความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ ของแม็กเนไตเซชั่นนั่นเอง
ความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ หรือ Inattentional Blindness เป็นสิ่งที่เกิดกับแม็กเนไตเซชั่น ที่มันมองไม่เห็นสนามแม่เหล็ก B เห็นแต่สนามแม่เหล็กของคลื่นวิทยุที่กำลังเริงระบำ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าฉุกคิด

คำถามคือ คนเรามีความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจแบบนี้หรือไม่?
คำตอบคือ มี

มีเรื่องๆหนึ่ง เบาๆ จะเล่าให้ฟังครับ
นิวตรอนและโปรตอนเป็นเพื่อนกันกำลังจะไปดูหนังด้วยกัน ทันใดนั้น นิวตรอนเห็นว่ามีทองคำตกอยู่ที่พื้นถนนน่าจะนานแล้วเพราะคนเหยียบย่ำจนเลอะเทอะ
นิวตรอน:... อ้าวทองนี่นา
โปรตอน:... ไม่เอาน่า ไม่ใช่หรอก ทองเก๊แหงๆ ถ้าทองจริง คนเห็นก่อนหน้าเราเค้าเก็บไปแล้ว เสียเวลาเปล่า ไปดูหนังดีกว่าเดี๋ยวไม่ทัน
แต่นิวตรอนไม่เชื่อใช้หลักกาลามสูตร จึงหยิบทองนั้นขึ้นมา น้ำหนักประมาณหนึ่งบาท เขายอมเสียเวลาไปที่ร้านทองซึ่งอยู่ในห้างที่จะไปดูหนังนั่นแหล่ะ โปรตอนหงุดหงิด ในที่สุด ร้านทองบอกว่าเป็นทองจริงถ้าลื้อจะขาย อั๊วให้หมื่นนึง นิวตรอนตกลงทันที
นิวตรอนเลือกใช้วิธีพิสูจน์ความจริงกันเลย และก็พบความจริง ซึ่งอาจเป็นทองเก๊หรือทองจริงก็ได้
     สำหรับโปรตอน เขาก็เป็นคนมีเหตุผล ตรรกะของโปรตอนทีว่ามันเป็นทองเก๊ก็ใช้ได้ เพราะคนก่อนหน้าเขาทั้งสองเดินผ่านไปแล้วก็หลายคน เห็นแล้วทำไมไม่หยิบ เขาเหล่านั้นอาจจะคิดว่าเป็นทองเก๊ก็ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ โปรตอนมีความมืดบอดโดยไม่ได้ตั้งใจ ที่เกิดจากความเชื่อฝังใจของเขาแบบนั้น  
     โปรตอนจึงอดเลย

     ชาวเราทั้งหลายพึงระวัง "ความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ" เกิดได้กับทุกคน เมื่อเราสนใจสิ่งหนึ่งมากเกินไป เราจะลืมสิ่งสำคัญบางอย่างไป เรื่องนี้พิสูจน์ได้ 

     มีคลิปหนึ่งใน youtube (ขอขอบคุณเจ้าของคลิป)เป็นคลิปที่ดีมาก แสดงให้เห็นถึงคน 8 คน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ทีม แต่งกายชุดสีขาว 4 คน ชุดสีดำ 4 คน แต่ละทีมมีลูกบอลทีมละหนึ่งลูก 
     จ้องมองดูคลิปนี้ด้วยความตั้งใจ โดยจ้องมองการโยนลูกบอลของแต่ละทีม ก่อนจะเริ่มโยนลูกบอลของแต่ละทีม สายตาเริ่มจับจ้องมองที่ทีมใส่เสื้อขาว ดูว่าจะโยนลูกบอลให้กันกี่ครั้ง? 
     จากนั้นก็เริ่มต้น
     ชาวเราเห็นว่าทีมที่ใส่เสื้อสีขาวโยนลูกบอลให้กันกี่ครั้งครับ
     เชื่อว่า ชาวเราจะตอบถูก 
     ระหว่างที่โยนลูกบอลกันนั้น (ห้ามลำเอียงนะครับ)สายตาจ้องมองการโยนของทีมสีขาว เมื่อเกมจบ เชื่อว่าชาวเราทุกคนจะตอบถูกว่าโยนกี่ครั้ง แต่มีใครที่สังเกตว่ามีหมีเดินผ่านเข้ามาในระหว่างที่ทั้งสองทีมกำลังโยนลูกบอลไหมครับ ทีแรกผมก็ไม่เห็น เมื่อดูซ้ำจึงเห็น
     นี่แหล่ะครับมันเข้ากันได้กับ "ความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ"

Related Links:
รังสีส่องชีวิต

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อนุภาค Pi-mezon กับวาจาคน

(520ครั้ง)
      ชวนชาวเรามาท่องเที่ยวภายในนิวเคลียสซึ่งเป็นที่ชุมนุมของเหล่าโปรตอนและนิวตรอนกันอีกสักครั้งครับ ท่องเที่ยวให้เพลิดเพลินจำเริญหัวใจ

      นิวตรอนและโปรตรอนอยู่กันได้อย่างไรในนิวเคลียสขนาดเล็กมาก
      ในอดีต มีนักฟิสิกส์พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้อยู่นาน ในที่สุดก็พบว่า มันอยู่กันได้เพราะมีแรงนิวเคลียร์ซึ่งเป็นแรงดูดอย่างเดียวระหว่างนิวคลีออนที่มีขนาดแรงมากๆ หมายถึง ระหว่างโปรตอนกับโปตอน โปรตอนกับนิวตรอน นิวตรอนกับนิวตรอน ยึดโยงให้เหล่าโปรตอนและนิวตรอนทั้งหลายสามารถอยู่รวมกันในนิวเคลียสได้ โดยที่นิวเคลียสไม่แตกสลาย
     แล้วเจ้าแรงนิวเคลียร์เกิดได้อย่างไร ในปีค.ศ. 1935 Hideki Yukawa ทำนายว่า แรงนิวเคลียร์เกิดจากการที่นิวคลีออน ซึ่งหมายถึงโปรตอนและนิวตรอนที่อยู่ในนิวเคลียส แลกเปลี่ยนอนุภาค Pi-mezon ซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจยากเพราะเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆคน และเรื่องนี้เหมือนนิยายแต่เป็นเรื่องจริง คือในปีค.ศ. 1947 Cicil Powell ก็ค้นพบอนุภาค Pi-mezon หรือ Pion ในรังสี Cosmic ตามที่ Hideki Yukawa ทำนายไว้จริงซะด้วย Hideki Yukawa คิดได้อย่างไรว่าต้องมี Pi-mezon น่าทึ่งมาก ในเวลาต่อมา Hideki Yukawa ก็ได้รับรางวัลโนเบล

    การแลกเปลี่ยนอนุภาค Pi-mezon ทำให้เกิดแรงนิวเคลียร์ได้หรือ ลองมาดูกันครับ จากเหตุการณ์จำลองต่อไปนี้
ปาก้อนหินใส่กันด้วยความโกรธ
     มีเรือ 2 ลำ สีแดงและสีเหลือง ต้องสมมติให้ทันสมัยหน่อยครับ ทั้งคู่ลอยนิ่งอยู่บนน้ำนิ่งไม่ไหล แต่ละลำมีคนอยู่บนเรือด้วย
     ที่มือของคนบนเรือสีแดงถือก้อนหินอยู่ คนบนเรือสีแดงโกรธไม่รู้ว่าโกรธเรื่องอะไรนะ จึงโยนก้อนหินใส่เรือสีเหลือง ขณะที่ก้อนหินลอยหลุดมือออกไป เรือสีแดงจะขยับไปในทิศทางตรงข้ามทันที เป็นไปตามหลักฟิสิกส์ที่ว่า ระบบรักษาการอนุรักษ์โมเมนตัมเอาไว้
     เมื่อก้อนหินลอยมาถึงเรือสีเหลือง คนบนเรือสีเหลืองหลบไม่ทันหรือไม่ยอมหลบ ก็รับไปเต็มๆ คือถูกกระแทกด้วยก้อนหิน แต่คนติดกับเรือจึงทำให้เรือสีเหลืองขยับไปทันทีตามความแรงของก้อนหินที่เข้ามาปะทะ หมายความว่าโมเมนตัมของก้อนหินได้ถูกถ่ายทอดให้เรือสีเหลือง
     จากนั้น คนบนเรือสีเหลืองโกรธจัดเช่นกัน มาโยนใส่ฉันทำไม ก็โยนก้อนหินก้อนนั้นกลับไปที่เรือสีแดงบ้าง ขณะที่ก้อนหินลอยหลุดจากมือ เรือสีเหลืองจะขยับไปในทิศตรงข้ามกับการเคลื่อนที่ของก้อนหิน และเมื่อก้อนหินลอยไปปะทะเรือสีแดง เรือสีแดงก็จะขยับไปตามความแรงของก้อนหินที่เข้าปะทะ
     หากเหตุการณ์เป็นไปตามที่เล่ามานี้ ผลลัพธ์คือ เรือสีแดงและสีเหลืองซึ่งโกรธกันจะลอยห่างกันออกไปทุกที และไม่มีวันที่จะเข้ามาหากันได้เลย
     ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนบนเรือทั้งสองลำนั้นรักกันมาก อยากจุ๊บกัน ก็ต้องพยายามจะแย่งก้อนหินของกันและกัน ผลลัพธ์คือ เรือทั้งสองลำจะเคลื่อนเข้าหากัน ติดกันไม่แยกจากกัน
      ถ้าอนุภาค Pi-mezon คือก้อนหิน และนิวคลีออนคือเรือ การแลกเปลี่ยนอนุภาค Pi-mezon ที่ทำให้เกิดแรงนิวเคลียร์อย่างมหาศาล จะเป็นกรณีที่นิวคลีออนรักกันคือ ต่างฝ่ายต่างพยายามแย่งอนุภาค Pi-mezon ของกันและกันนั่นเอง


     เล่ามาถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงสภาพสังคมมนุษย์ที่มีทั้ง รักกัน สามัคคีกัน แตกแยกกัน โกรธกัน ทะเลาะกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักยอมรับกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติของมนุษย์ก็อย่างนี้แหล่ะ

     ใครบางคนทำบางสิ่งลงไป ที่มีผลกระทบต่อผู้อื่นหรือมีผลกระทบต่อส่วนรวม เขาย่อมมีเหตุผลของเขา ดีหรือไม่ดี เร็วหรือช้า เราไม่ควรไปตัดสินเขา เราไม่อาจเข้าใจได้หรอกว่าเขาทำแบบนั้นตอนนั้นทำไม เพราะเมื่อใช้เหตุผลมาจับ มันอาจถูกในมุมมองของเขาแต่อาจผิดในมุมมองของเรา อย่าไปตัดสิน ทำตัวเป็นนิวตรอนดีกว่า วันเวลาผ่านไป เมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจคิดผิดก็ได้ เว้นเสียแต่ว่าเรื่องนั้นประจักษ์ชัดเจนว่าจะเกิดผลเสียหายร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ใครก็ตามไม่ว่าจะคิดและทำอะไรควรหรือต้องยืนบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ตน เรื่องดีหรือไม่ดี เร็วหรือช้า หลายเรื่องเป็นเรื่องของ relativity หมายความว่า ถ้ามีใครบอกว่า คุณเดินเร็วไปแล้วนะ แสดงว่าใจของเขาต้องการเดินให้มันช้ากว่า เหมือนที่หลวงพ่อชาท่านบอกว่า ....

     "ดูไม้ท่อนนี้ซิ สั้นหรือยาว สมมติว่าคุณอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ ไม้ท่อนนั้นก็จะสั้น แต่ถ้าคุณอยากได้ไม้ที่สั้นกว่านี้ ไม้ท่อนนั้นก็ยาว หมายความว่า ตัณหา ของคุณต่างหากที่ทำให้มีสั้นมียาว มีดี มีชั่ว มีทุกข์ มีสุขขึ้นมา"


     ผมเคยเล่าว่า...มีผู้รู้กล่าวว่า มองกระดาษแผ่นเดียวก็เห็นจักรวาลได้ คือ กว่าจะได้กระดาษแผ่นหนึ่งมา มันต้องมีต้นไม้ มีดิน มีน้ำ มีแสงแดด (ดวงอาทิตย์) มีแมลงสิ่งมีชีวิต ฯลฯ เชื่อมโยงกันหมด เช่นเดียวกัน สังคมมีความเชื่อมโยงกันหลายส่วน ทั้งใกล้ตัวและไกลตัว จะทำอะไรสักอย่างชาวเราทุกคนก็รู้ว่าต้องคิดก่อนทำ ให้รอบครอบ ให้รอบด้าน มองให้ไกล เหมาะกับเวลาและสถานะการณ์ แต่บางทีอาจจะสติดับไปชั่วขณะและบ่อยๆจึงลืมไป เรื่องแบบนี้มันซับซ้อนมากและเชื่อมโยงกัน เราไม่ได้อยู่กันตามลำพัง หากทำสิ่งหนึ่งลงไปเพราะคิดว่าเราทำได้และอยากทำ เพราะคิดว่ามันดีแล้วที่จะทำ มันอาจจะกระทบอีกสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่งก็ได้โดยที่เราคิดไม่ถึง บางทีดูเหมือนจะดี แต่อาจเป็นการสร้างปัญหาให้เพิ่มพูนได้ในทันทีหรือในระยะยาว...ถึงตอนที่เกิดปัญหาขึ้นนั้นหาคนรับผิดชอบได้ยาก เผ่นกันหมด โดยเฉพาะคนที่คิดและลงมือทำ ประวัติศาสตร์สอนเราไว้

     ทีนี้ลองดูในสเกลที่เล็กลงครับ คนสองคนซึ่งเป็นเพื่อนกันอยู่ดีๆ เป็นคนรักกันอยู่ดีๆ จะด้วยเหตุผลใดก็ตามเกิดทะเลาะกัน
     ถ้าใครคนหนึ่งโกรธแล้วเหวี่ยงวาจาถากถางหยาบคายดังๆ(ก้อนหิน)ใส่อีกคนหนึ่ง แล้วคนนั้นก็โกรธเหวี่ยงวาจาถากถางหยาบคายดังๆ(ก้อนหิน)กลับมาบ้าง เพราะหัวใจอยู่ห่างหันมาก อย่างนี้ ความเป็นเพื่อนถูกทำลายลง ทั้งคู่จะถูกทำให้ห่างไกลกันโดยทันที 
     บางคนอาจเถียงว่า ไม่จริงหรอกที่แยกห่างจากกัน ถ้าลองได้เหวี่ยงใส่กันอย่างนั้น รับรองทั้งคู่ได้เข้าตะลุมบอนกันอย่างแนบแน่นแน่ๆ ถ้าไม่มีใครห้ามไม่มีใครเอาน้ำไปราด นั่นก็จริง แต่ผมหมายถึง คนสองคนนี้จะมีจิตใจที่แยกห่างไกลออกจากกันไปสุดขอบฟ้าขอบจักรวาลเลยทีเดียว แม้ตัวจะกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันทำร้ายร่างกายกันด้วยความโกรธ
     การโกรธกันและแสดงออกแบบโกรธๆ ก็เหมือนตัวอย่างเรือสองลำที่ปาก้อนหินใส่กัน ซึ่งจะไม่มีทางเข้ามาใกล้ชิดกันได้เลย และถ้ายังเหวี่ยงวาจาร้ายๆหยาบคายใส่กัน มันก็จะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ชาวเราคงเห็นด้วยกับผมว่า มีคนส่วนน้อยหรือเกือบไม่มีเลยที่มีจิตใจหลุดพ้นไม่รับเรื่องแบบนี้มาปรุงเป็นอารมย์ร้าย 
     เมื่อต่างฝ่ายต่างหยุดเหวี่ยงเมื่อไหร่ ก็แค่พักการกระตุ้นด้วย impulse แต่มันก็ยังคงมีระยะห่างทางใจระหว่างคนสองคนนั้นอยู่ดี เนื่องจากเรือมันแยกออกจากกันแล้ว
     หากทั้งสองคนนั้นมีจิตใจที่ต้องการเข้ามาใกล้กัน ก็ต้องทำในทางตรงกันข้ามกับตอนแรก ทำให้เหมือนกับคนบนเรือพยายามแย่งก้อนหินของกันและกัน หรือนิวคลีออนพยายามแย่งอนุภาค Pi-mezon ของกันและกันนั่นเอง ก็คือ ทำกลับกันซะเท่านั้นเอง ความรัก ความสมัคคีก็จะบังเกิด
    แต่มันต้องเริ่มจากจิตใจที่มีความต้องการที่จะเข้าหากันก่อน ยากไหมครับ
    อีกมุมมองหนึ่ง พระท่านว่า "พึงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ" อันนีก็เวิร์คนะครับ ไม่เชื่อลองดู ไม่ต้องกลัวใครมาว่าเราซื่อบื้อหรอกครับ ง่ายๆ โกรธคือไฟ โกรธกับโกรธเจอกัน คือไฟกับไฟเจอกัน แล้วมันจะเหลือรึ 
สายน้ำและลำคลองคูเวียง (ตลาดน้ำวัดตะเคียน)
พลังงานยึดเหนี่ยวที่เกิดขึ้นจากการแย่งก้อนหินบนเรือของกันและกัน
    เห็นด้วยกับผมไหมครับว่า อนุภาค Pi-meson กับวาจาของคน คล้ายกันมากๆ

Related Links:
เสถียรภาพในความแออัด
ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์
ผลสัมฤทธิ์ของชีวิต Outcome of Life
ประโยชน์ตนต้องมาก่อน???

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เสถียรภาพในความความขัดแย้ง


(545ครั้ง)     
     ทุกวันนี้มนุษย์บอกว่ารักตัวเอง แต่ไม่อาจอยู่คนเดียวได้ ไม่อาจอยู่กับตัวเองได้ ต้องมีนู่น นี่ นั่น ให้มันเยอะแยะไปหมด แบบมีไว้เป็นเพื่อนกลัวเหงา ต้องมีสังคม มีสังคมออนไลน์ ต้องเข้าสังคม ต้องเข้าเฟสบุ๊กทุกวัน วันละหลายครั้ง ครั้งละนานๆ แรกเริ่มเดิมที ความขัดแย้งมันมีอยู่คู่กับมนุษย์มาตลอด เราขัดแย้งกับธรรมชาติ--->พายุ น้ำท่วม ร้อนจัด แล้ง หนาวจัด แผ่นดินไหว ดินถล่ม ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ หลายอย่างสุดบรรยาย เราขัดแย้งกับสิงสาลาสัตว์ที่มีลักษณะท่าทางนิสัยความดุร้ายแตกต่างจากมนุษย์และเมื่อเราอยู่รวมกันมากเข้าก็เกิดความขัดแย้งกันเองขึ้นได้ เอาแค่ตัวคนเดียวก็ยังขัดแย้งกับตัวเองเลย ยิ่งอยู่กันเป็นสังคมจะไปเหลือรึ ความขัดแย้งย่อมมีมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น เข้าใจได้ยากขึ้น เสถียรภาพความมั่นคงของสังคมแบบนี้จะเป็นเช่นไร จึงชวนคิดเรื่องนี้ครับ 'เสถียรภาพในความขัดแย้ง'

     มองลึกลงไปในสสารรวมทั้งตัวของเราด้วย ที่เป็นร่างกายของเรานี่แหล่ะ เรายอมรับกันว่า สสารทั้งหลายประกอบด้วยอะตอม ที่ใจกลางอะตอมมีนิวเคลียสทรงกลมขนาดเล็กมากๆ ภายนอกนิวเคลียสมีอิเล็กตรอนโคจรอยู่รอบๆ

     ลึกเข้าไปในนิวเคลียส เรารู้ว่าในนิวเคลียสประกอบด้วยโปรตอน (มีประจุไฟฟ้าบวก) และนิวตรอน (เป็นกลางทางไฟฟ้า) ทั้งคู่มีรูปร่างขนาดพอๆกัน มีจำนวนเท่าๆกันในนิวเคลียสที่ไม่โตมาก แต่พอนิวเคลียสของธาตุที่มีขนาดโตขึ้น คือมีจำนวนโปรตอนและนิวตรอนมากขึ้น ปรากฏว่า จำนวนนิวตรอนกลับมากกว่าจำนวนโปรตอน เช่น Co-60 มีโปรตอน 27 ตัว แต่มีนิวตรอน 33 ตัว สัดส่วนของจำนวนโปรตอนและนิวตรอน มีผลต่อเสถียรภาพของนิวเคลียส หากไม่เสถียรแล้ว มันก็จะสลายตัวเปลี่ยนสภาพนิวเคลียสไป ซึ่งอาจเปลี่ยนสภาพด้วยการปล่อยรังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมา

     ถึงตอนนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมนิวตรอนต้องมากกว่าโปรตอน เท่ากันไม่ได้หรือ
     เราพบความจริงว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องของ "ธรรมชาติจัดสรร"
     หมายความว่า นิวเคลียสมันต้องการความมีเสถียรภาพ นิวเคลียสไม่ต้องการแตกสลายย่อยยับ เมื่อนิวเคลียสมีขนาดโตขึ้นเช่น U-235 ที่มีโปรตอนมากถึง 92 ตัว ธรรมชาติจึงบรรจุนิวตรอนมากถึง 143 ตัวเข้าไปในนิวเคลียส ซึ่งมากกว่าโปรตอนประมาณ 1.5 เท่า การที่มีนิวตรอนซึ่งเป็นกลางจำนวนมากในนิวเคลียส มันดีอย่างไร จะช่วยอะไรได้ มาลองดูครับ
     มาดู U-235 เป็นกรณีศึกษาครับ
     เนื่องจากโปรตอนมีประจุบวก นิวตรอนเป็นกลาง ถ้าโปรตอนอยู่ใกล้โปรตอนมากๆ  มันจะผลักกันด้วยแรงไฟฟ้าที่แรงมากๆ แรงนี้คือแรงคูลอมบ์ซึ่งเป็นแรงระหว่างประจุไฟฟ้าบวกของโปรตอนนั่นเอง แรงนี้มีขนาดเป็นปฏิภาคผกผันกับกำลังสองของระยะระหว่างโปรตอน หรือโปรตอนกับโปรตอนมันขัดแย้งกันเอง ส่วนนิวตรอนที่เป็นกลางนั้น ไม่มีผลทำให้เกิดแรงผลักไฟฟ้า สมกับคำว่าเป็นกลางจริงๆ
     ในนิวเคลียสของ U-235 ซึ่งเป็นอาณาบริเวณแคบๆมีโปรตอนมากมายถึง 92 ตัว จึงไม่สงสัยเลยว่า แรงผลักระหว่างโปรตอนด้วยกันเองจะมากขึ้นด้วย โปรตอนกับโปรตอนในนิวเคลียสจึงไม่อาจอยู่ใกล้กันมากเกินไป มิฉะนั้น มันจะผลักกันจนนิวเคลียสแตกย่อยยับ มิอาจจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้
      จำเป็นต้องหาวิธีที่ทำให้โปรตอนแต่ละตัวอยู่กันห่างๆไว้ อย่าให้มันอยู่ใกล้กัน อยู่ใกล้กันมากเดี๋ยวเกิดเรื่อง ธรรมชาติได้ใช้วิธีเติมความเป็นกลางคือนิวตรอนลงไป ให้แทรกเข้าไปอยู่ระหว่างโปรตอน ให้มีนิวตรอนมากเพียงพอที่จะเป็นกันชนระหว่างโปรตอนกับโปรตอน จนทำให้สามารถรักษาเสถียรภาพของนิวเคลียสเอาไว้ได้อย่างยาวนาน ไม่แตกสลายย่อยยับไป
      นี่แหล่ะครับ เสถียรภาพของความแออัด ความขัดแย้ง เป็นความแออัดขัดแย้งในนิวเคลียส ความเป็นกลางช่วยได้ ช่วยให้เกิดเสถียรภาพได้ แต่ต้องมีความเป็นกลางจริงๆในจำนวนที่มากพอ
      ดูๆไป ผมคิดว่า เสถียรภาพในนิวเคลียสมันคล้ายคลึงกับเสถียรภาพของสังคม องค์กรหน่วยงานต่างๆ สังคมใด องค์กรใดหรือนิวเคลียสตัวใด มีโปรตอนมากหรือมีลักษณะแบบโปรตอนมาก คือเจอกันไม่ได้ เมื่อเจอกันแล้วจะมีแรงผลักอย่างแรง จำเป็นต้องมีความเป็นกลางจำนวนมากพอเพื่อเป็นกันชนให้ได้ ให้เสถียรภาพเกิดขึ้นให้ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีความเป็นกลางในจำนวนที่ไม่เพียงพอ ที่นั้น สังคมนั้น องค์กรนั้นหรือนิวเคลียสตัวนั้น ขาดเสถียรภาพแน่นอน และเกิดการสลายตัวแน่นอน กลายสภาพเป็นสังคม องค์กรหรือนิวเคลียสชนิดอื่นไปในที่สุด สำหรับสังคม และองค์กรนั้นๆ ก็สุดแต่ว่าเราจะนิยามโปรตอนในสังคม ในองค์กรว่าเป็นอะไร มันจะเป็นอะไรก็ตาม ความหมายคือ เมื่อมันเจอกันแล้วมันเกิดปัญหาทุกครั้งก็แล้วกัน 
Related Links:
แรงดูดแรงผลักทางความคิด

คุณนั่นแหล่ะผิด

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๕


จากเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาสายวิทยาศาสตร์ ก้าวสู่ชีวิตการเรียนรังสีเทคนิคในมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งฟังการบรรยาย ลงมือปฏิบัติการจริง ออกไปฝึกงานตามโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพฯ รวมเวลาแล้วประมาณ 3,500 ชั่วโมง ไม่รวมเวลากิจกรรมอื่นๆที่พัฒนาสมองซีกขวา และส่วนหน้าอีกมากนับชั่วโมงได้เยอะแยะมากมาย มันคล้ายกับการเดินบนแผ่นกระดานที่วางบนพื้นสนามหญ้า มีโอกาสน้อยที่เราจะเดินพลาดออกจากแผ่นกระดาน และถึงแม้นจะพลาดเดินออกจากแผ่นกระดานก็มีพื้นหญ้า คือครูบาอาจารย์ที่ช่วยแนะนำสั่งสอนให้เดินต่อไปได้ โดยปลอดภัยไม่บาดเจ็บมากมาย มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะนำพาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยอย่างถูกต้อง

ต่อจากนี้ไป บัณฑิตรังสีเทคนิคทุกคน เมื่อพ้นจากอ้อมอกของเหล่าคณาจารย์ไปแล้ว ก็เปรียบเหมือนเดินไปบนแผ่นกระดานที่พาดไว้ระหว่างยอดเขาสองลูก ที่มีการประคับประคองน้อยลง การเดินก็ต้องมีสติ ระมัดระวังอย่าให้ตกจากแผ่นกระดาน เพราะตกลงมาแล้วคงจินตนาการได้ว่าจะได้รับบาดเจ็บแค่ไหน หรืออาจเสียชีวิตไปเลย
ในชีวิตการทำงาน มีรุ่นพี่บางคนถึงหลายคนบ่นให้ฟังถึงการทำงานรังสีเทคนิคว่า
ทำงานรูทีนเบื่อจัง เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำมืด ดึกดื่น เหมือนเดิม เซ็งง่ะอาจารย์ ทำไงดี
ก็เลยตอบไปว่า
“ดูก่อนชาวเรา....มีหลายสิ่งหลายอย่างที่รอดอยู่ได้จากดึกดำบรรพ์จนทุกวันนี้เพราะลักษณะปฏิบัติแบบรูทีนมิใช่รึ ดูอย่างการหายใจของเราก็เป็นรูทีน เราหายใจเข้าออกตลอดเวลาตั้งแต่คลอดออกจากท้องแม่ แม้ยามนอนหลับก็หายใจเข้าออก ลองไม่หายใจดูซิ อะไรจะเกิดขึ้น หรือแค่เปลี่ยนจังหว่ะการหายใจเข้าออกก็ได้เอ้า ไม่ต้องหายใจเข้าออกแบบรูทีนหรอก ลองซี่ เช่น หายใจเข้าอย่างเดียวแล้วกลั้นใจนิ่งไว้ ไม่ต้องหายใจออก จะเกิดอะไรขึ้น......” งานรูทีนมีเสน่ห์ในตัวมัน มีเส้นทางของมันที่ไม่ขี้เหร่เลย ค้นหามันให้เจอ

สุดท้าย ขอให้บัณฑิตทุกคน จงมี กัม-บั๊ต-เตะ-เนะ จงมีสติ จงมีความวิริยะอุสาหะ ในการทำความดี และสามารถช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้ตัวเองอยู่รอดได้อย่างถูกต้องในทุกจังหวะอย่างก้าวของชีวิต เพื่อให้มีพลังในการทำความดีเพื่อสังคมต่อไป ตราบจนชีวิตหาไม่

รศ.มานัส มงคลสุข
หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค

Related Links:
ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๓
ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๔

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความสมดุล กับทางสายกลางเหมือนกันไหม??


(444 ครั้ง)     
     ผมเคยถามลูกศิษย์ เพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน ว่า
ความสมดุล กับทางสายกลางเหมือนกันไหม
เป็นคำถามง่ายๆ แต่เท่าที่สังเกตคนที่ฟังคำถามแล้ว ไม่มีใครสักคนที่ตอบทันที
ทุกคนยิ้ม แล้วหลายคนทำตาเหลือกขึ้น ค้างอยู่พักนึง จึงแสดงความเห็นอย่างช้าๆแบบไม่ค่อยแน่ใจ และจะออกไปในแนวทางที่ ความสมดุลคล้ายหรือเหมือนกับทางสายกลาง ดูแบบผิวเผิน ก็ไม่น่าจะต่างกัน แต่พอตั้งสติดีๆ ค่อยๆคิดอย่างละเอียด ชักไม่แน่ซะแล้วว่าจะคล้ายกัน

วันนี้เป็นวันดี เป็นวันสำคัญ จึงอยากชวนชาวเราคิดเรื่องนี้

สมดุล
มาดูหลักฟิสิกส์ที่ชาวเราทราบดีอยู่แล้ว

แม่ค้าหาบผลไม้ตามรูป ใช้ไม้คานแบกผลไม้ A และ B หนักเท่ากันโดยที่แม่ค้าออกแรงยกไม้คานที่ตำแหน่ง C ซึ่งอยู่ที่ตำแหน่งกึ่งกลางไม้คานพอดีเป๊ะ แม่ค้าสามารถแบกผลไม้ได้โดยไม้คานไม่เอียงไปทาง A หรือ B นี่แหล่ะอยู่ในสภาวะสมดุลตามหลักฟิสิกส์ ถ้าต้องการรักษาสมดุลไว้ แม่ค้าจะต้องอยู่ตรงกลางคือแบกไม้คานที่ตรงกลางตรงตำแหน่ง C ไว้ตลอด ทำให้แบกอย่างสบายๆ เดินเหินคล่องและสบาย แม่ค้าไม่อาจจะขยับออกจากจุด C ไปทางซ้ายหรือทางขวา เพราะจะทำให้เสียสมดุลทันที และทำให้เดินเป๋ไปเป๋มาได้
ดังนั้น สมดุลจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีทั้ง A และ B อย่างพอดีๆหรือในกรณีนี้มีให้เท่าๆกัน ไม้คานจึงจะไม่เอียง
เรื่องความสมดุลภายในจิตใจของเราคล้ายกันครับ เช่น ปัญญากับศรัทธา ต้องมีทั้งสองอย่างนี้ให้สมดุล ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ใครก็ตามที่มีศรัทธาแต่ไม่มีปัญญา อย่างนี้เขาจะมีความเชื่อศรัทธาในสิ่งต่างๆโดยไม่ได้ใช้ปัญญาคิดใคร่ครวญเลย จึงเข้าข่าย งมงาย สังคมไทยยังมีเรื่องนี้ให้เห็นได้บ่อยๆ อย่างที่เป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์
ใครก็ตามที่มีปัญญาอย่างเดียวแต่ขาดศรัทธา อย่างนี้เขาจะเป็นคนมีความรู้มาก ฉลาด แต่ไม่ทำอะไร โดยเฉพาะการทำเพื่อประโยชน์ที่เกิดกับส่วนรวม เพราะเมื่อไม่มีศรัทธาก็จะขาดพลังขับเคลื่อน ขาดความเชื่อในสิ่งที่จะทำ และมักจะมีคำถามเสมอๆว่า ทำแล้วฉันได้อะไรเหมือนเรื่อง คนตาบอดถือโคมไฟ ที่เคยเล่าไปแล้ว

    ทางสายกลาง
แม่ค้าหาบผลไม้ ออกแรงแบกไม้คานที่ตำแหน่ง C โดยทำอย่างนั้นไว้ซึ่งจะสมดุลอยู่ ตราบใดที่ไม่มีการเพิ่มน้ำหนักที่ A หรือ B แม่ค้าแบกไม้คานสบายๆ เดินเหินสบายๆ คือสมดุลอยู่ดีๆแท้ๆ  แม่ค้าเกิดลองขยับจุดรับน้ำหนัก C ไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ขยับไปทาง A คราวนี้เริ่มวุ่นล่ะ เพราะไม่สมดุลอีกแล้ว ไม้คานจะเอียงไปทาง B ทันที ลองคิดดูแม่ค้าจะแบกต่อไปอย่างไรให้ไม่เอียง มันทำไม่ได้ มันต้องเอียง
ทางสายกลาง เมื่อเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นทางที่อยู่ระหว่างความสุดโต่งสองข้าง เหมือน A กับ B คือ ไม่ควรจะเข้าหาข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ความสุขกับความทุกข์ เป็นต้น ความสุขและความทุกข์เป็นความสุดโต่งสองข้าง เมื่อเราเอียงเข้าหาความสุขที่มีกิเลศเป็นตัวล่อจะมีความทุกข์เพราะอยากมีความสุข เมื่อมีความสุขก็มีความทุกข์เพราะไม่อยากเสียความสุขไป ทีนี้ เมื่อเอียงไปทางมีความทุกข์ก็จะพยายามผลักใสความทุกข์ออกไปก็ยิ่งทุกข์หนักขึ้น หลายคนอาจบอกว่า "โอ้ย..เกิดมาทั้งทีอย่างไงก็ขอสุขไว้ก่อนแล้วกัน" ก็ไม่ว่ากัน
ดังนั้น ดีที่สุดคือไม่ควรจะมีทั้งสองสิ่งที่เป็นความสุดโต่งนั้น จะโล่งสบาย ซึ่งทำใจได้ยากนะครับ
               
    ในวันดีๆเช่นนี้ มาชวนคิดเรื่อง สมดุลกับทางสายกลาง ถ้าจะสรุปย่อๆ ขอสรุปว่า ทางสายกลางคือ ทางที่อยู่ตรงกลางของความสุดโต่งสองข้างและถ้าไม่มีไม่เข้าหาความสุดโต่งทั้งสองข้างนั้นจะดีที่สุด ส่วนความสมดุลคือ ความที่ต้องมีทั้งสองอย่างนั้นอย่างสมดุล ไม่สามารถขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ครับ

    ไม่ถามแล้วว่า
ความสมดุล กับทางสายกลางเหมือนกันไหม
    ถึงตอนนี้ ชาวเรามาให้ความสนใจสาระความหมายของสมดุลกับทางสายกลาง กันดีกว่า

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กช.ตาม พรบ.การประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2556

    
     (2,696 ครั้ง)
     ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2556 และยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2545 อ่านแล้วอย่าเพิ่งตกใจนะครับ ว่าวิชาชีพรังสีเทคนิค ไม่เป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตการประกอบโรคศิลปะแล้วหรือไร ไม่ใช่ครับ เนื้อหาที่ยกเลิกไป ถูกปรับเล็กน้อย แล้วยกไปไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2556 ฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆอีก 6 สาขา ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ได้แก่ สาขากิจกรรมบำบัด สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขาจิตวิทยาคลินิก สาขากายอุปกรณ์ และสาขาการแพทย์แผนจีน
      สาระสำคัญประการหนึ่งคือ คณะกรรมการวิชาชีพ สาขารังสีเทคนิค ที่ยังคงให้มีอยู่ แต่มีการปรับเล็กน้อย ทว่าอาจจะมีผลกระทบในวงกว้างในอนาคต

ก.ช.ให้คุณให้โทษต่อนักรังสีเทคนิคโดยตรง
มาทบทวนดูครับว่า หน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพมีอะไรบ้าง ตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 23 ของพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 คณะกรรมการวิชาชีพมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น ๆ
(2) เพิกถอนใบอนุญาตกรณีผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้นขาดคุณสมบัติ
(3) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 13(2)
(4) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในกรณีที่ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
(5) ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น
(6) แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารด้วยวิธีใด ๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้ประชาชนหลงเข้าใจผิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายเนื่องจากการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น
(7) ส่งเสริม พัฒนา และกำหนดมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น
(8) ออกหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น
(9) พิจารณาและเสนอชื่อผู้แทนคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้นเป็นกรรมการการประกอบโรคศิลปะ
(10) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาชีพเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้น
(11) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้น
(12) พิจาณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย

      จากหน้าที่ของ ก.ช. ที่ระบุไว้นี้ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้คุณให้โทษต่อนักรังสีเทคนิคโดยตรง ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค จนกระทั่งเข้าสู่การทำงานในสายวิชาชีพรังสีการแพทย์ 
      ผู้ที่จะเป็นกรรมการวิชาชีพจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ถึงบทบาทหน้าที่ของ ก.ช. เพื่อจะได้ทำหน้าที่ได้ถูกต้องเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นสำคัญ (patient focus)

องค์ประกอบของ ก.ช.ที่เปลี่ยนไป
พูดถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการวิชาชีพ สาขารังสีเทคนิค ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2556 เปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย แต่สาระของมันอาจจะมองได้ว่าเปลี่ยนไปมาก และมีผลกระทบในวงกว้าง ได้แก่

ประการแรก การเพิ่มผู้แทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเข้ามาอีก 1 คน ซึ่งเดิมมีเฉพาะผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ประการที่สอง ก.ช.ที่มาจากสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิค เดิมกำหนดให้เฉพาะคณบดีคณะรังสีเทคนิคหรือหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค เท่านั้น โดยไม่จำกัดจำนวน
แต่ใน พรบ.ใหม่กำหนดไว้กว้างมากแล้วให้เลือกกันเองเหลือ 3 คน
แม้ว่า พรบ.ใหม่จะประกาศใช้แล้วก็ตาม ผมขอแสดงความคิดเห็นไว้สักเล็กน้อย
ก.ช.ที่มาจากสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิค เปิดโอกาสให้ครอบคลุมถึงหัวหน้าหน่วยงานที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค โดยที่หน่วยงานนั้นไม่ต้องมีชื่อเรียกว่า คณะรังสีเทคนิคหรือภาควิชารังสีเทคนิคก็ได้ ขอเพียงรับผิดชอบจัดการศึกษารังสีเทคนิค เมื่อ ก.ช.รับรอง สกอ.รับรอง และมีการรับนักศึกษาเข้าศึกษา ก็ใช้ได้แล้ว แบบนี้ผมก็ว่ายุติธรรมดีครับ
แต่การกำหนดองค์ประกอบในส่วนนี้  สามารถมองได้หลายมุม เช่น มองว่า เป็นการใช้ข้อความ ในเชิงที่สื่อความหมายไปในทางที่ไม่สนับสนุนให้มีการตั้งสถาบันที่ใช้ชื่อว่า คณะรังสีเทคนิค หรือภาควิชารังสีเทคนิค จะเป็นสถาบันอะไรก็ได้ ชื่ออะไรก็ได้ ที่สามารถผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค ถ้า ก.ช. รับรองสถาบันนั้นก็มีสิทธิ์ทั้งสิ้น ส่วนตัวผมไม่ได้รังเกียจสถาบันที่ว่านั้นนะครับ ในทางตรงข้ามกับรู้สึกยินดีและชื่นชมด้วยซ้ำ  ที่สถาบันที่มีความพร้อมเหล่านั้น ให้ความสนใจผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค และอยากให้ทำให้ต่อเนื่องและยั่งยืน
ประเด็นการเลือกกันเองให้เหลือ  3 คน ไม่น่าจะเป็นไรครับ ถ้าผู้แทนสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิค มาจากสถาบันที่ ก.ช.รับรอง สกอ.รับรอง และมีการรับนักศึกษาเข้าศึกษา และถ้ามีการดำเนินการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ยิ่งดีครับ 
ทีนี้ลองพิจารณาการเป็นคณะรังสีเทคนิคหรือภาควิชารังสีเทคนิค ในทางปฏิบัตินั้นอาจทำได้ยาก ถ้าเป็นคณะได้ก็หมดปัญหาไป พอเป็นภาควิชารังสีเทคนิคมันจะไปอยู่ที่หน่วยงานใดล่ะ แต่การเป็นคณะหรือภาควิชารังสีเทคนิค มีข้อดีที่หนักแน่นมากๆคือ การมีหน้าที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคโดยตรง ความต่อเนื่องจึงมีจึงเกิด ไม่อาจจะทำๆหยุดๆได้ง่ายๆ
แต่การที่สถาบันการศึกษาหนึ่งๆซึ่งมีความพร้อม ที่ไม่ใช่คณะหรือภาควิชารังสีเทคนิค สนใจจัดทำหลักสูตรเพื่อสอนรังสีเทคนิคนั้น ทำได้ง่ายกว่า เมื่อ ก.ช. รับรองสถาบันฯ สกอ.รับรองหลักสูตร ก็ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคได้ ศักดิ์และสิทธิ์เท่ากันหมด ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่การที่สถาบันนั้นๆจะหยุดผลิตทำได้ง่ายมากเลย เพราะสถาบันนั้นๆอาจคิดว่าการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคไม่ใช่ภารกิจหลัก ตรงนี้แหล่ะครับเป็นข้อด้อย แต่หากมีกระบวนการหรือสิ่งยืนยันที่ทำให้ประจักษ์ได้ว่าจะเกิดความต่อเนื่องยั่งยืนได้ก็น่าจะดีครับ
ประการที่สาม องค์ประกอบกรรมการวิชาชีพที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 8 คน ล็อคไว้ที่ 8 คนเท่านั้น โดยเลือกจากผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคที่สมัครและผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนคือ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค เดิมอาจจะมีได้เกิน 8 คน ขึ้นกับจำนวนสถาบันผู้ผลิต
ตรงนี้แหล่ะครับที่ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคที่มีความสนใจเข้ามาทำงานในฐานะ ก.ช. จะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคทั้งหมดเลือกเข้าไป ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนสูงสุด 8 อันดับแรก ก็เข้าไปเป็น ก.ช. วาระ 4 ปี เป็นติดต่อกันได้แค่  2 วาระ (เดิม 3 ปี และเป็นกี่วาระก็ได้)

ย้ำอีกครั้งครับ ก.ช. ทุกคนทุกประเภท คือผู้ที่ไปทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นสำคัญ  (patient focus)

Related Links: