วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รำลึก 115 ปีแห่งการค้นพบ X-Rays

เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) คำนี้คุ้นหูมากสำหรับหลายคน และสำหรับหลายคนอีกเช่นกันที่คำนี้เป็นคำที่ฟังแล้วประทับใจ เกิดความศรัททา ความเคารพนับถือ

เรินท์เกน เป็นศาสตราจารย์สอนอยู่ที่สถาบันฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Wurgburg ประเทศเยอรมัน เป็นอาจารย์ที่มีความมุ่งมั่นในการค้นคว้า รักสันโดด ไม่ชอบเป็นข่าว วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) เวลาบ่าย แสงไฟวูบวาบอย่างเบาบางในห้องทดลองที่เกิดจากการเรืองแสงของแบเรียมพลาติโนไซยาไนด์ขณะที่เขาศึกษารังสีแคโทด เรียกร้องความสนใจของเรินท์เกนอย่างมาก ถ้าหากเรินท์เกนเป็นเหมือนคนทั่วๆ ไปที่ไม่เฉลียวใจในสิ่งที่ได้เห็นหรือเชื่อในสิ่งที่อธิบายไม่ได้อาจคิดว่ามันคงเป็นอิทธิฤทธิ์ของผู้วิเศษหรือปีศาจ จากนั้นคงจะวิ่งหนีสิ่งนั้นไปด้วยความกลัวหรือสับสนอย่างมากแล้วก็พยายามลืมมันซะหรือไม่ให้ความสนใจเลยตั้งแต่ได้เห็น

แต่เรินท์เกนไม่เป็นเช่นนั้น แสงวูบวาบเพียงเล็กน้อยนั้นทำให้เขาลืมโลกไปเลย เขาหมกมุ่นกับการไตร่สวนให้ได้ว่าแสงวูบวาบนั้นมาจากอะไร ? มันน่าจะเป็นเรื่องที่อธิบายได้ ถ้าเราทำใจให้เหมือนเรินท์เกนในตอนนั้นซึ่งไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างอะตอมของสสารเลย เราคงทั้งตื่นเต้นและประสาทนิดๆ ว่านี่เราเจออะไรเข้าให้แล้ว บนพื้นฐานความรู้ทางฟิสิกส์ของอะตอมเพียงน้อยนิดในตอนนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญในการค้นคว้า แต่ก็ยังไม่สามารถขวางกั้นความกระหายอยากรู้ของเรินท์เกนได้

เรินท์เกนลืมวันลืมเดือน ใช้เวลาอยู่ในห้องทดลองและบ่อยครั้งที่นอนในห้องทดลองเพียงเพื่ออยากรู้ว่าแสงนั้นคืออะไร อะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดแสง ในที่สุดเขาก็ทราบได้ว่า การที่แบเรียมพลาติโนไซยาไนด์เรืองแสงได้เป็นเพราะอิทธิพลของสิ่งหนึ่งที่ส่งออกมาจากหลอดรังสีแคโทด สิ่งนั้นมีอำนาจทะลุผ่านสูงมากสามารถทะลุผ่านกระดาษดำได้สิ่งนั้นเรียกว่าเอกซเรย์ (X-Rays)  มีบางคนพูดว่า “เอกซเรย์เป็นเหมือนปีศาจของหลอดรังสีแคโทด” เป็นปีศาจที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

เรินท์เกนสามารถทดลองและค้นพบความจริงที่น่าทึ่งเกี่ยวกับสมบัติของเอกซเรย์รวม 19 อย่าง แต่อันที่สร้างความประทับใจให้เรินท์เกนมากคือ การได้รู้ว่าเอกซเรย์สามารถเปิดเผยรายละเอียดโครงกระดูกภายในมืออันเรียวงามของภรรยาของเขาซึ่งทำให้เขาและภรรยาตื้นตาและปลื้มปิติอย่างมาก เพราะภาพที่ปรากฏบนฟิล์มเรนท์เกนสามารภเห็นโครงกระดูกและแหวนหมั้นได้ชัดเจน

เรินท์เกนได้ส่งภาพเอกซเรย์ที่เขารวบรวมได้ไปยังเพื่อนสนิท 7 คน แม้เรินท์เกนจะไม่ชอบเป็นข่าวแต่การกระทำเช่นนั้นทำให้โลกได้รับรู้และยินดีร่วมไปกับเขาด้วยในทันที ปฏิกิริยาตอบรับของผู้คนทั่วไปแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ท่ามกลางกระแสแห่งความชื่นชมยินดีก็ยังมีสายลมอ่อนๆ ของความหวาดระแวงของผู้คนโชยมา บางคนวิตกว่าต่อไปนี้ภายในร่างกายที่แสนหวงแหนของเขาจะถูกเปิดเผยออกมาไม่เป็นความลับอีกต่อไปแล้ว

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเอกซเรย์ได้ถูกแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรมากกว่าการทำลาย สามารถช่วยพยุงชีวิตของผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีการแยกชั้นวรรณะ ไม่ว่าใครจะยากดีมีจนขนาดไหน เด็กเล็กๆ หนุ่มสาว แก่เฒ่า ดีหรือชั่ว ก็ไม่สามารถต้านทานพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรในการทะลุผ่านเข้าไปข้างในของมันได้

ในที่สุด เรินท์เกนจึงถูกเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เป็นคนแรกของโลกในปี พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) ครั้งหนึ่ง เรินท์เกนเคยพูดว่า

“ข้าพเจ้าไม่ชอบเดินไปตามทางที่ผู้คนใช้กันมากๆ ข้าพเจ้าชอบปีนป่ายหน้าผา บุกป่าฝ่าหนาม ถ้าข้าพเจ้าหายไปละก็ อย่าไปค้นหาตามถนนใหญ่เลย”

นับจากวันที่เรินท์เกนค้นพบเอกซเรย์จนถึงปัจจุบันนาน 115 ปีแล้ว อีกประมาณ 1 เดือนก็จะถึงวันครบรอบการค้นพบเอกซเรย์อีกครั้ง ผมขอรำลึกถึงวันเวลานั้นเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำของพวกเราเพื่อให้มีกำลังใจและพลังใจดุจเดียวกับเอกซเรย์ที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของมันอย่างไม่เสื่อมคลาย 

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกถือเอาวันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน "World Radiography Day"........ ชื่นใจจริงๆ


การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรรมดา (Conventional Radiography)


เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computed Tomography)


การผลิตเอกซเรย์เพื่อใช้งานทางด้านการแพทย์ในปัจจุบัน ใช้หลอดสุญญากาศภายในประกอบด้วยไส้หลอด (cathode) และจานโลหะ (anode) เมื่อไส้หลอดถูกกระแสไฟฟ้าเผาจนร้อนจัดจะปล่อยอิเล็กตรอนออกมา ซึ่งจะถูกเร่งด้วยความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงมาก (kVp) ทำให้เกิดกระแสหลอด (mA) และวิ่งเข้าชนจานโลหะอย่างแรง พลังงานจลน์ของอิเล็กตรอนได้เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนประมาณ 99% และเป็นเอกซเรย์เพียง 1% 
มานัส มงคลสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น