วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รำลึก 10 ปีสึนามิกับรังสีเทคนิคไทย



(190 ครั้ง)
   สุดยอดภัยพิบัติอันดับ 2 ของโลก

     เมื่อ 10 ปีที่แล้วเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 ถัดจากวันคริสต์มาส วันนั้นผมอยู่ที่บ้านไม้เล็กๆสองชั้น ริมคลอง แถวสี่แยกบ้านแขก กรุงเทพฯ ตื่นแต่เช้าประมาณ 7-8 น. เข้าครัวชงกาแฟ ระหว่างนั้นรู้สึกงงๆบ้านไหวเหมือนรถบันทุกหนักวิ่งผ่านหน้าบ้าน (แต่ไม่มีรถบันทุกหนักวิ่งผ่านมา) ทีแรกก็แปลกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้คิดถึงแผ่นดินไหวเลย พอถือถ้วยกาแฟมานั่งรับประทานกับซาลาเปาหมูสับของโปรดและดูโทรทัศน์ไปด้วย จึงได้ทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงประมาณ 9.0 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดเนเซีย ผู้รายงานข่าวทางโทรทัศน์ก็ยังมีสีหน้าเรียบเฉย เวลาผ่านไปประมาณชั่วโมงครึ่ง ผู้รายงานข่าวทางโทรทัศน์เริ่มมีสีหน้าแปลกๆและรายงานแบบตื่นเต้นว่า มีน้ำทะเลเอ่อหนุนสูงอย่างเร็วเข้าท่วมบริเวณชายฝั่งทะเลที่ภูเก็ต พังงา ตอนนั้นยังไม่ได้ยินคำว่าสึนามิ สักพักเริ่มรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในใจผมคิดว่าไหงมันเป็นอย่างนั้น พอตกตอนบ่ายก็เริ่มมีข่าวสถานการณ์ในพื้นที่ที่เกิดเหตุตลอดเวลา และก็เป็นอย่างที่ชาวเราทราบดีแล้ว นับเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีตอนบนของเกาะสุมาตราบังคลื่นสึนามิไว้บ้าง ทำให้มันสูญเสียพลังงานลงไปกว่าจะมาถึงไทย
เมื่อพูดถึงคลื่นสึนามิครั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเกิดจากรอยต่อแผ่นดินที่อยู่ใต้มหาสมุทรอินเดียขยับตัวแรงมาก ทำให้เกิดคลื่นน้ำที่มีพลังงานมหาศาลแผ่ออกไปจากศูนย์กลาง เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก (>500km/hr) เมื่ออยู่ในน้ำลึกความยาวคลื่นยาวมาก (ระยะระหว่างสันคลื่นถึงสันคลื่นถัดกัน) และ amplitude ต่ำ สังเกตเห็นได้ว่าคลื่นเดินทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว ถึงชายฝั่งพังงา ภูเก็ต กระบี่ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่เมื่อเคลื่อนที่มาถึงชายฝั่ง มันจะมีความเร็วลดลงมาก ความยาวคลื่นก็จะลดลง แต่ในทางตรงกันข้าง amplitude จะสูงขึ้น ตรงนี้เองที่พี่น้องของเราเห็นกับตา น้ำทะเลมันล้นขึ้นมาบนชายฝั่งด้วยความเร็วพอประมาณในระดับที่สูงกว่าระดับปกติ 5-10 เมตร ฉะนั้นชายฝั่งจึงถูกน้ำทะเลกวาดเรียบ พี่น้องเราจึงเสียชีวิตจำนวนมากมายและอย่างไม่ทันตั้งตัวเลย เป็นธรณีพิบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดที่พี่น้องชาวไทยเคยประสบมา รวมแล้วเสียชีวิตประมาณ 230,000 คน (เฉพาะในประเทศไทยประมาณ 6,000 คน) มูลค่าความเสียหายรวมทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบประมาณล้านล้านบาท ตอนนี้ มีการนำเหตุการณ์นี้ไปสร้างเป็นภาพยนต์ จะมีผลกระทบทางจิตใจกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ต้องดูกันไป ผมเชื่อว่ามีอย่างแน่นอน  


คลิปซึ่งเผยแพร่ในเว้ปไซด์สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยเมื่อ มกราคม 2548

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมรู้สึกภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย เพราะสัมผัสได้ถึงน้ำใจของคนไทย ที่ไหลไปซับน้ำตาพี่น้องที่ประสบภัย ชนิดที่ผู้คนทั่วโลกทึ่งและชื่นชอบ 

เป็นห่วงชาวเรา นักรังสีเทคนิค รวมทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และอีหลายๆทีม ที่ต้องทำหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัยในวันเกิดเหตุ ผมคิดว่าวันนั้นชาวเราที่ทำหน้าที่อยู่ต้องเจองานหนักแน่ เพราะจะมีคนเจ็บและผู้เสียชีวิต เข้ามาเอกซเรย์จำนวนมากพร้อมกันในเวลาเดียวกัน และก็จริงตามคำบอกเล่าของชาวเราในพื้นที่ภัยพิบัติว่าหนักหนาสาหัสอย่างยิ่งยวด ในตอนนั้นก็ได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ชาวเราเข้มแข็งไว้ ทำหน้าที่ให้เต็มที่ ถึงแม้จะไม่มีใครพูดถึงส่วนนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ก็ขอให้ทราบว่าพวกเราพอรู้ว่าเป็นอย่างไร 
คนที่ 1,3,4 จากซ้าย คือนักรังสีเทคนิค
ส่วนหนึ่งที่ทุ่มเททำงานในช่วงเวลามหาวิกฤติสึนามิ 
และได้มาเล่าให้ชาวเราฟังในการประชุมวิชาการ
ประจำปีของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย
เมื่อ พ.ศ. 2548

     มองในอีกแง่หนึ่ง มันเหมือนเป็น Act of God ที่บันดาลให้เกิดห้องปฏิบัติการจริงๆขนาดใหญ่ ที่ให้ แพทย์ พยาบาล นักรังสีเทคนิคและทีมอื่นๆ ได้มีโอกาสฝึกภาคปฏิบัติที่หาไม่ได้ง่ายๆ เราจะรับมือกับเหตุฉุกเฉินขนาดใหญ่อย่างนี้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเหลือเกินที่เกิดขึ้นกับชาวเราที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น แม้ว่าจะเศร้าสลดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงใดก็ตาม 

     อยากจะบอกชาวเราที่ทำหน้าที่ในเหตุการณ์วันนั้นว่าพวกท่านคือ hero ของผม แม้เวลาจะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่เหมือนเพิ่งผ่านไปหยกๆ....ใช่ว่าผมจะยึดติดอดีต แต่อดีตเป็นครูที่ดีของเราเสมอครับ

Related Links:
ผลกระทบแผ่นดินไหวต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง


(210ครั้ง)
     มีท่านผู้รู้กล่าวไว้ทำนองว่า 
การพูดหรือการสื่อสารให้คนฟังหรือคนรับสารรู้และเข้าใจอย่างที่เราต้องการ ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่คนฟัง ไม่ใช่อยู่ที่คนพูด” 
ผมได้ยินเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. 2536 ตอนไปเป็นนักศึกษาหลักสูตรเตรียมผู้บริหารรัฐกิจ (หลักสูตร 3 เดือน) ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีอาจารย์ระดับเทพของประเทศในด้าน บริหาร การปกครอง การเงินการคลัง กฎหมาย จิตวิทยา ฯลฯ ไม่ต่ำกว่า 20 ท่านมาสอน อาจารย์ท่านหนึ่งพูดไว้ตามที่กล่าวข้างต้น แรกๆที่ได้ฟังรู้สึกงงๆครับ และใจก็คัดค้านว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ฟังจะสำคัญที่สุด มันน่าจะเป็นผู้พูดที่สำคัญที่สุด เพราะ ถ้าผู้พูดเตรียมตัวมาอย่างดีก็ต้องพูดให้คนฟังรู้และเข้าใจได้ แล้วผมก็แสดงความเห็นทำนองโต้แย้งให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ท่านได้กรุณาขยายความว่า ถ้าคนฟังหรือคนรับสารไม่สนใจ ต่อให้เตรียมตัวดีอย่างไรเขาก็จะมีอาการ ได้ยินแต่ไม่ฟัง หรือ ฟังไปงั้นๆแล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างให้พวกเราได้ทำความเข้าใจเรื่องนี้ อาจารย์เน้นว่าก่อนพูดต้อง ศึกษาคนฟังหรือคนรับสารให้ดี
     เวลาผ่านไป ด้วยลักษณะงานของผมคือ ต้องพูด ต้องสอน ต้องวิจัย ต้องโน่นนี่นั่นเยอะมาก จึงได้มีโอกาสได้ใช้แนวทางที่อาจารย์แนะนำไว้ข้างต้นเป็นเวลาร่วม 20 ปี ดังนั้น ในเวลาที่พูดคุยกัน lecture หรือพูดในที่ประชุมทุกที่ ผมสังเกตเห็นว่า...คนร่วมวงสนทนา คนฟัง มีอาการตอบสนองต่างกันหลายแบบ น่าจะสรุปได้ 5 แบบ คือ
A)…บางคนได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง (ignoring) ... ประเภทนี้บอดสนิทจะไม่รู้เรื่องในสิ่งที่พูดเลย ไม่รู้ว่าผู้พูดพูดเรื่องอะไรด้วยซ้ำ
B)…บางคนเกรงใจเลยแกล้งทำเป็นฟังไปงั้นๆ (pretending)...ประเภทนี้มีเยอะครับ เป็นประเภทพอจะรู้ว่าพูดเรื่องอะไร แต่อย่าถามรายละเอียดที่พูด เพราะเขาจะตอบไม่ได้ คือไม่รู้รายละเอียดของเรื่องที่พูด เค้าฟังแบบรักษามารยาท
C)…บางคนฟังมั่งไม่ฟังมั่ง คือเลือกฟังเฉพาะที่อยากได้ยิน (selective listening)...ประเภทนี้มีไม่น้อยเช่นกัน เป็นประเภทรู้ว่าพูดเรื่องอะไร แต่รู้รายละเอียดไม่ครบถ้วน เป็นความรู้แบบ ครึ่งๆกลางๆ เพราะเลือกฟัง
D)…บางคนตั้งใจฟังมากและฟังด้วยสมอง (attentive listening)...ประเภทนี้ฟังรู้เรื่องครบถ้วนและคิดตาม เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
E)…บางคนฟังแบบว่าอยากเข้าใจความรู้สึก คือฟังด้วยหัวใจ (empathic listening)...ประเภทนี้ฟังรู้เรื่องครบถ้วน คิดตาม เข้าใจเรื่อง และเข้าถึงความรู้สึกของผู้พูด
เมื่อก่อน ไม่ว่าเวทีไหน บรรยาย หรือพูดในที่ประชุม ผมเคยคิดจริงจังแบบซีเรียสว่า
อะไรกัน พูดชัดเจนขนาดนี้ยังไม่ get”
คือคนพูดนะ get แต่คนฟังไม่ get คนฟังที่ไม่ get ก็ยังดีกว่าคนฟังที่ไม่ get แแต่แสดงการโต้แย้งแบบเข้าป่า-ออกทะเล....เมื่อค่อยๆพิจารณาไปเรื่อยตามแนวทางนี้..จึงสันนิษฐานว่า คนฟังหรือคนรับสารอาจตกอยู่ในข้อ A,B และ C ก็ได้ …..ดังนั้น เดี๋ยวนี้ผมจึงมองเห็นชัดเจนขึ้นว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา
โดยทั่วไป การพูด-การฟัง การสื่อสาร เป็นเรื่องสำคัญ
ที่ทำให้ผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจกันก็ได้ ที่ทำให้เกิดปัญหากันก็ได้ แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา เช่นตัวอย่างการทะเลาะกันสมัยพุทธกาลระหว่างพระวินัยธรกับพระธรรมกถึกที่เคยเล่าไปแล้ว
หรือ ทำให้ผู้ฟังที่เป็นแบบ A,B หรือ C เกิดความรู้แบบ ครึ่งๆกลางๆถ้าผู้ฟังเป็นแบบนี้ แล้วใช้ความรู้นั้นไปแก้ปัญหา อะไรจะเกิดขึ้น?
ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า
"ความรู้ครึ่งๆกลางๆ ทำความเสียหายให้มากกว่าความไม่รู้ มิใช่เสียหายเพียงครึ่งเดียว"
เช่น แม่ลูกอ่อนคนหนึ่งตกใจมาก เมื่อลูกกลืนเหรียญทองแดงแล้วติดคอ ขณะกำลังตกใจ แม่เคยรู้มาว่าน้ำกรดสามารถกัดเหรียญทองแดงได้ แม่จึงรีบไปเอาน้ำกรดกรอกใส่ปากลูกเพื่อจะรีบช่วยลูก แล้วเหรียญทองแดงก็หลุดจากคอ แต่!! น้ำกรดก็ทำอันตรายกับอวัยวะของเด็กอย่างร้ายแรงเช่นกัน
เพราะอะไร?แม่จึงไม่รู้ข้อเสียร้ายแรงข้อนี้ เพราะมีความรู้แบบ ครึ่งๆ กลางๆ และในเวลานั้น ไม่รู้ตัว ขาดสติ ก็เลยเกิดความเสียหายใหญ่หลวง   
     จึงขอเชิญชวนชาวเรา ที่อยู่ในสภาวะ 
A,B,C ย้ายมาเป็น D หรือ E
กันดีกว่า และหากชาวเราบังเอิญรู้อะไรแบบ "ครึ่งๆกลางๆ" ก็ควรอย่างยิ่งที่จะรู้ตัวเองและไม่ขาดสติครับ และหากต้องการสลายความรู้แบบ "ครึ่งๆกลางๆ" ก็ควรเข้าถึงความรู้ที่ถูก ตรง เป็นความจริง แล้วทำความเข้าใจให้ได้

Related Links:

วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา (3)


(341 ครั้ง)
     วันที่เผยแพร่บทความนี้คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 เป็นวันที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ทุกวันที่ 8 พฤศจิกายนเป็นวัน “World Radiography Day” จึงอดไม่ได้ที่จะเริ่มต้นด้วยเอกซเรย์ ประเด็นนี้จะเกี่ยวกับความขัดแย้งไหม?? เชิญตามผมมาครับ


เอกซเรย์ถูกค้นพบโดยศาสตราจารย์เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) แห่งสถาบันฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Wurgburg ประเทศเยอรมัน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1895 เวลาบ่ายๆ
ข้างบนนั้น เป็นข้อความที่ผมกล่าวถึงเสมอๆ เมื่อเวลาที่สอนนักศึกษารังสีเทคนิค จนระยะหลังๆ เมื่อผมเริ่มพูดข้อความนี้ นักศึกษาทั้งห้องจะพูดต่อข้อความนี้ดังพร้อมกันและถูกตรง ทั้งที่ผมยังไม่เคยสอนพวกเขาเลย 

ข้อความที่ว่านี้ เป็นข้อความเพื่อเตือนให้ชาวเราชาวรังสีระลึกเสมอว่า มันเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์ทางด้านรังสีวิทยา เนื่องจากเรินท์เกนใช้เอกซเรย์ถ่ายภาพมือของ Bertha ซึ่งเป็นภรรยาของเขาเอง ภาพเอกซเรย์ภาพแรกของโลกก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น และเป็นช่วงเวลาที่สังคมมีความหวาดระแวงขัดแย้งกับเอกซเรย์และผู้ใช้เอกซเรย์เพราะกลัวเอกซเรย์จะเปิดเผยความลับของปัจเจกบุคคลออกมา เวลาผ่านไป ความขัดแย้งนั้นหายไป มนุษย์เราเริ่มประจักษ์ถึงพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรค์อย่างยิ่งยวด เอกซเรย์แม้จะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เอกซเรย์ก็ได้ช่วยพยุงชีวิตของผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีการแยกชั้นวรรณะ ไม่ว่าใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย จะยากดีมีจนขนาดไหน จะเป็นคนดีหรือคนชั่ว หรือแม้แต่สัตว์ ก็ไม่สามารถต้านทานพลังอำนาจของเอกซเรย์ได้ เอกซเรย์ให้ความเสมอภาคกับสรรพสิ่ง ความลับทางรังสีเชิงกายวิภาคศาสตร์ ที่ฝังอยู่ภายในร่างกายเราถูกเปิดเผยออกมา มิใช่เพื่อดูเล่นสนุกๆหรือล้วงความลับอะไร แต่เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค พลังอำนาจของเอกซเรย์เฉกเช่นนี้ มีมาช้านานแล้ว อาจจะนับได้ตั้งแต่ยุคกำเนิดจักรวาล แต่มนุษย์เพิ่งรู้จักเอกซเรย์เมื่อประมาณ 119 ปีมานี้เอง

      มาดูความขัดแย้งเรื่องอื่นต่อไปครับ
 ชาวเราที่ขับรถบนท้องถนนทุกๆวัน อาจรู้สึกหงุดหงิดหรือมีความขัดแย้งกับผู้คนอื่นๆที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ถ้าวันไหนผมเป็นผู้โดยสาร เช่น นั่งแท็กซี่ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าต้องลุ้นทุกครั้งกับนิสัยและการขับรถของโชว์เฟอร์แท็กซี่ เพราะบ่อยครั้งผมจะได้ยินเสียงของโชว์เฟอร์แท็กซี่บ่น ว่า ด่าทอ รถคันที่ขับไม่เข้าท่าตามความคิดของโชว์เฟอร์แท็กซี่ท่านนั้น คนขับรถคันที่ถูกด่าไม่ได้ยินหรอกครับ คนที่ได้ยินเต็มๆสองรูหูคือผมซึ่งเป็นผู้โดยสาร หลังจากนั้นโชว์เฟอร์แท็กซี่จะหงุดหงิด ขับรถแรงขึ้นและขับแบบหวาดเสียวมาก ผมก็คิดในใจว่า กรูจะรอดไหมเนี่ย??” ต้องนั่งหวาดเสียวและฟังเสียงบ่นด่าตลอดทาง แต่บางครั้งนึกขอบคุณโชว์เฟอร์แท็กซี่เหมือนกันนะ เพราะมันเหมือนเป็นแบบฝึกหัดให้ผมได้ทดสอบจิตใจว่าจะวางใจของผมอย่างไร? แต่อันตรายทางร่างกายที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุก็เสี่ยงกันไปหากจำเป็นต้องใช้บริการแท็กซี่
ทุกวันตอนเย็น ถ้าใครที่ขับรถจากแยกอรุณอมรินทร์ ผ่านแยกศิริราช แล้ว มุ่งสู่กรมอู่ทหารเรือ วัดเครือวัลย์...ฯลฯ รถจะติดมากตั้งแต่แยกอรุณอมรินทร์ เมื่อผ่านแยกศิริราชแล้วก็ยังติดอยู่ดี เพราะมีรถจอดข้างทาง และมีรถวิ่งแซงสวนมา ...

ไอ้เจ้ารถที่วิ่งแซงขวาแล้วสวนมาเข้าทางของเรานี่แหล่ะครับ น่ารำคาญที่สุดเลย เราวิ่งมาช่องทางเราดีๆแท้ๆ ยังต้องหลบซ้ายให้มัน ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคิดอะไรอยู่ จริงๆเราไม่ต้องไปรู้ก็ได้ว่ามันคิดอะไร...
สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ เราคิดอย่างไร??  ถ้าเราคิดว่า เรามาถูกทาง บีบแตรและเปิดไฟเตือนมัน เรายึดมั่นเหนียวแน่นว่าเราถูก เพราะเราวิ่งมาบนช่องจราจรถูกต้องของเรา เราไม่ยอมหลบ เราแน่ เราขับตรงเข้าหารถที่สวนมาในช่องจราจรของเรา แล้วถ้ารถที่สวนมาก็ไม่หลบอีก ทีนี้ชนกันยับแน่ รถพังและเราหรือมันอาจบาดเจ็บหรือตาย ... คิดแล้วไม่คุ้ม หลบดีกว่า ละเลิกความยึดมั่นในบัดดล จบไหม??.... เสียศักดิ์ศรีก็เราถูกนี่ จะหลบทำไม???”  ชาวเราบางคนอาจมีความคิดเช่นนี้  งั้นก็ไม่จบ ... ชนเลย

อาจารย์ของผมเคยเล่าให้ผมฟังว่า.....
มีนักมวยกลุ่มหนึ่งซ้อมวิ่งออกกำลังกายทุกๆวันตอนเช้ากับครูฝึก เพื่อให้มีความแข็งแรง มีพละกำลังดีอยู่ตัว  เช้าวันหนึ่ง กลุ่มนักมวยนั้นก็วิ่งไปตามทางตามปกติที่เคยวิ่ง ระหว่างทางได้พบกับคนแต่งตัวใส่สูทดูดีมีสกุลยืนอยู่ข้างทาง พลันคนๆนั้นก็ตะโกนด่านักมวยที่วิ่งมา ด่าแบบจริงจังไม่ใช่ด่าเล่นๆ โดยไม่เกรงกลัวว่านั่นนักมวยนะนั่น
"สัส .... วิ่งไมวะ เกะกะshipหาย..กรูรำคาญ ไปวิ่งที่อื่นไป๊...สัส"
เท่านั้นแหละ นักมวยทั้งกลุ่มหยุดวิ่ง นักมวยคนหนึ่งชื่อไอ้ขามนอกจากจะหยุดวิ่งแล้ว ยังวิ่งตรงรี่เข้าหาชายคนนั้นด้วยความโกรธจัด ตั้งท่าจะกระโดดเตะ ครูฝึกตะโกนเสียงดังว่า
"หยุดดดด ... มึงกลับมาวิ่งต่อไอ้ขาม ไม่ต้องไปสนใจ"
ไอ้ขามถอยกลับมาเข้ากลุ่มช้าๆ ครูฝึกพูดต่อว่า
ถ้ามึงควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อย่าคิดว่ามึงจะชนะใครได้ จำไว้
กลุ่มนักมวยวิ่งต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่ความจริงคือ นักมวยในกลุ่มคนอื่นๆก็มีอารมณ์โกรธด้วยเช่นกัน ดูได้จากสีหน้าและการสบถ แต่ไอ้ขามโกรธพร้อมกับแสดงออกชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่าเพื่อน และเมื่อครูฝึกห้ามไว้ไอ้ขามได้สติระงับใจได้แต่ก็ยังแบกอาการโกรธจัดไว้ วันนั้นทั้งวัน ไอ้ขามยังรักษาอารมณ์โกรธไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมวางความโกรธลง มีอาการเสมือนว่ารักความโกรธมาก ต้องยึด ต้องจับ ต้องแบกเอาไว้อย่างนั้น พยายามเลี้ยงความโกรธไว้ ส่งผลให้หงุดหงิด ไม่มีสมาธิในการซ้อมมวย ไอ้ขามจมอยู่ในทะเลอารมณ์ที่พุ่งพล่านอย่างมึนเมา คิดอย่างเดียวว่าถ้าพรุ่งนี้เจออีก และมันด่าอีก จะไม่ยอมมันแล้ว ใครห้ามก็จะไม่ฟัง
เช้าวันรุ่งขึ้น กลุ่มนักมวยก็วิ่งตามปกติ ผ่านมาทางเดิมด้วยใจลุ้นระทึก และไม่ผิดหวัง กลุ่มนักมวยที่มีไอ้ขามอยู่ด้วยก็เจอชายคนนั้นคนเดิมจริงๆซะด้วย
แต่คราวนี้ ชายคนนั้นมาในมาดใหม่ แตกต่างไปจากเมื่อวาน เขาแต่งตัวเป็นลิเกมีความงามตามแบบฉบับระยิบระยับ และยืนร้องลิเกไม่สนใจกลุ่มนักมวยที่กำลังวิ่งผ่านเข้ามาเหมือนเมื่อวาน
กล่าวฝ่ายพระมุนีฤาษีศีล ข้าวปลาไม่กิน กินแต่ไข่ไก่
เช้าตื่นขึ้นมาไม่ทำอะไร นั่งกินไข่ไก่ข้าวปลาไม่กิน
เอิงเอยยยยยย...
กลุ่มนักมวยเมื่อเห็นและได้ยินดังนั้นต่างส่งเสียงหัวเราะเบาๆ สำหรับไอ้ขามรู้ทันทีว่าชายคนนั้นมันบ้า เมื่อคิดได้ดังนั้น พลันความโกรธของไอ้ขามเมื่อวานจนถึงเมื่อครู่นี้ก็หายไปเป็นปลิดทิ้งทันที ไอ้ขามรำพึง.....
กรูนี่ถ้าจะบ้า เกือบเตะคนบ้าซะแล้ว
       "..##@%$&^!!!~!...."


  ในสังคมมนุษย์เรานั้นมีความขัดแย้งกันเอง มากบ้าง น้อยบ้าง มนุษย์เรามีความขัดแย้งกับสรรพสิ่งก็มีให้เห็น เช่นสถานการณ์ตอนนี้ เราขัดแย้งกับเชื้ออีโบลา มีผู้คนหลายประเทศติดเชื้อร่วมหมื่นคน เสียชีวิตแล้วกว่า 4,500 คน เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่น่าวิตกมาก เราพยายามเอาชนะ หยุดการแพร่ของมัน ป้องกันการติดเชื้อและรักษาผู้ติดเชื้อแล้วให้ได้ 

      ในแวดวงรังสีก็ไม่ได้รับการยกเว้นในเรื่องธรรมชาติของความขัดแย้ง มีอยู่ให้เห็นทั้ง เรื่องเล็กๆและเรื่องใหญ่ๆ มีทั้งความขัดแย้งภายในกันเองที่แบ่งเป็นขั้วๆ มีทั้งความขัดแย้งภายนอกกับวิชาชีพอื่นที่มาก่อนหน้า หรือที่กำลังจะมา 
      "การฉีดหรือไม่ฉีด contrast media"
      "การจัดฝึกอบรมบุคคลที่ขาดคุณสมบัติให้ทำหน้าที่นักรังสีเทคนิค"
      "การใช้บุคคลขาดคุณสมบัตินักรังสีเทคนิคให้ทำหน้าที่แบบนักรังสีเทคนิค"
      "การประเมินเพื่อรับรองสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิค"
      "ตำแหน่งงาน...ทำงานมานานแต่ไม่บรรจุสักที"
      "ความเข้าใจไม่ตรงกันของนักรังสีเทคนิคกับนักฟิสิกส์การแพทย์ที่กำลังดำเนินการให้มีใบประกอบโรคศิลปะ"
      "...ฯลฯ..."
      มันก็เป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเรื่องธรรมดา


  แม้แต่ในหมู่ผู้ทรงศีลก็มีความขัดแย้ง เช่น การเกิดสังฆเภทในสมัยพุทธกาล ระหว่างพระวินัยธรกับพระธรรมกถึก ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีลูกศิษย์ฝ่ายละประมาณ 500 รูป พระวินัยธรแม่นยำเรื่องกฎระเบียบและวินัย ส่วนพระธรรมกถึกรู้ข้อธรรมะดีและเทศนาเก่ง ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้นจากเรื่องเล็กนิดเดียวและไม่ควรเป็นเรื่องด่วยซ้ำ แต่บานปลายใหญ่โต ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกัน ชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาแต่ละฝ่ายก็ทะเลาะกัน แตกเป็นเสี่ยง จนพระพุทธเจ้าต้องเสด็จมาแสดงธรรมสอนสั่ง แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ฟังและจะทะเลาะกันต่อไป แถมยังพูดกับพระพุทธเจ้าว่า "ขอพระองค์ทรงขวนขวายน้อย" แปลว่าไม่ต้องมายุ่งนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงเสด็จบิณฑบาตรพระองค์เดียวไม่ยอมให้มีใครติดตามและเข้าป่า ชาวบ้านเริ่มทนดูไม่ได้ เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ยอมเชื่อฟังพระพุทธเจ้า ชาวบ้านจึงรวมตัวกันประท้วงด้วยการไม่ใส่บาตร นานเข้า ทั้งสองฝ่ายทนหิวไม่ไหวก็คืนดีกัน แต่ชาวบ้านก็ยังไม่พอใจ ชาวบ้านต้องการให้ทั้งสองฝ่ายไปขอโทษพระพุทธเจ้า ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ใส่บาตรต่อไป ทั้งสองฝ่ายจึงต้องยอมไปขอโทษพระพุทธเจ้า ทำให้ความขัดแย้งยุติลง 
  แต่น่าเสียดายที่การคลี่คลายความขัดแย้งจนยุติลงในครั้งนั้น ไม่ได้เกิดเพราะการพิจารณาด้วยปัญญาของทั้งสองฝ่าย แต่เกิดจากความหิวเป็นปัจจัยสำคัญ
       
Related Links:
ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา (1)
ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา (2)

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา (2)


(354 ครั้ง)
     หลังสอบ entrance เข้ามหาวิทยาลัยเสร็จในปี 2514 ผมและเพื่อนมัธยมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากรุงเทพฯรวม 4 คน (แต่ละคนปัจจุบันเป็น หมอ นายธนาคาร สถาปนิก อาจารย์) ล่องใต้ไปเที่ยวสงขลา พักที่บ้านพักผู้พิพากษาพ่อของเพื่อน บริเวณแหลมสิมิหลา ใช้เวลาพักผ่อนที่นั่นประมาณ 1 สัปดาห์ คลายความเครียดหลังเตรียมตัวสอบอันยาวนานและเพิ่งสอบเสร็จ ระหว่างที่พักอยู่ที่นั่น เราช่วยกันจัดโปรแกรมกันทุกวันไม่ขาดเลย ปาดังเบซาร์-มาเลเซีย เขาตังกวย ไปหาดใหญ่ ทะเลสาบ ฯลฯ เป็นการจัดที่ไม่ได้มีแผนการอะไรล่วงหน้า นึกอยากไปไหน ตกลงกันได้ ไปเลยครับ

วันหนึ่ง เราลงมติกันว่าจะไปพิชิตยอดเขาซึ่งสูงมากในความรู้สึกของเด็กๆอย่างพวกเราในตอนนั้น ภูเขานี้อยู่ตรงปากทะเลสาบสงขลา ออกเดินทางแต่เช้า เตรียมน้ำคนละกระติก กับอาหารแห้งพออิ่ม ชวนกันนั่งเฟอร์รี่ไปอีกฝั่งเพื่อปีนสำรวจเขาให้สนุกตามประสาเด็ก ถึงเชิงเขาเดินไปอีกนาน หาทางขึ้นแต่ไม่มีทางขึ้น ต้องถามชาวบ้านแถวนั้น ชาวบ้านบอกว่า
ไอ้หนู ตรงไหนก็ขึ้นได้ แค่ปีนขึ้นไป ใจถึงๆหน่อย
พวกเราตัดสินใจปีนก็ปีน แล้วก็ค่อยๆเหนี่ยว โหน โยนตัว ดันตัวขึ้นไป ขึ้นไปเรื่อยๆช้าๆ เราทั้ง 4 คนสนุกกับการปีนในช่วงแรกๆ พอเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง ชักเริ่มลังเล จิตเริ่มตก กังวล เริ่มมีบางคนหลุดคำพูดว่า
คนหนึ่ง...ใครเป็นคนคิดวะ ลำบากชิบ...น่าจะไปเล่นน้ำทะเลดีกว่า (เริ่มขัดแย้ง เริ่มบ่น เริ่มโทษเพื่อน)
คนสอง...อ้าว..แล้วมึงไม่ค้านแต่แรก ลงมติกันแล้วนี่หว่า (เริ่มเถียง เริ่มตอบโต้ ปกป้องเพื่อน)
คนสาม...เย็นเพื่อน...อีกนิดนึงก็ถึงยอดแล้ว (ปลอบใจเพื่อน ไม่ฟันธงใครผิดใครถูก ไกล่เกลี่ย)
คนสี่....เฮ้ย น้ำกินกูใกล้หมดและ (เสนอปัญหาให้สถานการณ์ดูแย่ลง)
ผมจำไม่ได้ว่าผมเป็นคนไหน แต่มันจะมีบรรยากาศแบบนี้ระหว่างปีนขึ้น แรงขึ้น แรงขึ้นเรื่อยๆ แรงมาก็แรงไป จบแล้วก็จบกัน เพราะแรงแบบเพื่อนกัน
เมื่คราวไปบรรยาย MRI
ที่คณะแพทย์ฯสงขลา (2546)
คนหนึ่งบ่นตลอดเวลาและดูกังวลมากกว่าคนอื่นเพราะรู้สึกว่าตัวเองลำบากมาก สิ่งที่คิดก่อนหน้าที่จะมาปีนเขา มันไม่เหมือนกับที่มาเจอกับตัวเองจริงๆ มันต่างกันราวฟ้ากับดิน
ถึงอย่างไร ความกังวลก็รบกวนจิตใจทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆไม่มียกเว้น กังวลว่า คนหนึ่งจะทนไหวไหม จะปีนถึงยอดไหม จะถึงยอดเขาเมื่อไหร่ซึ่งนั่นคือเป้าหมายร่วมกัน กังวลมากเพราะอะไร เพราะเตรียมการไม่ดี ไม่ได้ศึกษาข้อมูลล่วงหน้า (ถ้าเป็นสมัยนี้ค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก่อนว่าไอ้ที่เรากำลังจะปีนนั้นสูงแค่ไหน สภาพเส้นทางที่ปีนเป็นอย่างไร แพร๊บเดียวได้ข้อมูลเพียบ) น้ำไม่พอและอาหารอาจไม่พอ ถ้าเตรียมการดี ความกังวลจะน้อยลงหรือไม่มีความกังวลเลย
ขณะกำลังปีนขึ้นนั้น สภาพของพวกเราจมอยู่ในป่ารกทึบและชัน แสงแดดแรงจ้าไม่สามารถผ่านทะลุใบไม้ที่ทับซ้อนกันหนาทึบลงมาถูกต้องผิวกายพวกเราเลย จิตใจเราจดจ่ออยู่ที่ยอดเขาแต่มองไม่เห็นยอดเขา เห็นแต่ต้นไม้ และระหว่างนั้นไม่ได้เห็นความงดงามของพันธุ์ไม้เลย คือ
 มอง...แต่ไม่เห็น มีก็เหมือนไม่มี
มันมืดบอดไปเลย จิตใจไม่ได้อภิรมย์กับพันธ์ไม้ต่างๆนานาชนิด ได้แต่พยุงดันร่างกายขึ้นไปเรื่อยๆ ระหว่างทางนั้น แม้แต่นกและสัตว์นานาชนิดเปล่งเสียงร้องขับกล่อมอย่างไพเราะก็ไม่ฟัง คือ
ได้ยิน...แต่ไม่ได้ฟัง ดังก็เหมือนไม่ดัง
เหมือนไม่รับรู้ว่ามีเสียงนกเสียงกา ประสาทมันแยกไม่ออกไม่ยอมรับว่ามีเสียงนกและสัตว์ไพเราะอยู่แถวนี้ด้วยนะ ความกังวลมันมีอยู่แน่นอกและเหนื่อยมากๆ.เสื้อผ้าของทุกคนเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ และเพื่อนบางคนยังมีอารมณ์ขุ่นมัวกับเพื่อนที่เป็นต้นคิดเรื่องปีนเขา
คนหนึ่ง...พอๆๆ...ลงเถอะวะ (ตอกย้ำความขัดแย้ง)
คนสอง...อะไรวะ ... มึงยอมแพ้หรอ( ตัดสินฟันธง)
คนหนึ่ง...กูไม่ไหวแล้ว ยังไม่เห็นยอดเขาเลย เหนื่อย กูอยากลง (ท้อจัด)
คนสาม...งั้นมึงพักอยู่ตรงนี้ พวกกู 3 คนขึ้นต่อ หายเหนื่อยมึงค่อยตามขึ้นไป (เห็นใจ ท้าทาย)
คนหนึ่ง...เออๆ พอเพื่อน 3 คนคล้อยตัวปีนขึ้นไป มันก็ปีนขึ้นตามต่อไปติดๆ (ตัดสินใจ)
ประมาณเที่ยงวันถึงยอดเขาจุดหมายเสียทีใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง เอาแล้วไง!! น้ำของทุกคนที่เตรียมมาหมดซะแล้ว เราจำเป็นต้องกินข้าวกับหยดน้ำที่เหลือนิดหน่อย
ที่ยอดเขาไม่มีที่ราบและสนามหญ้า สภาพเป็นป่ารก มีแดดร้อนจัด ลมแรงและได้กลิ่นอายทะเล เราเดินหาจุดที่ทำให้เห็นและชื่นชมทิวทัศน์เมืองสงขลา เห็นทะเลในมุมสูงจากยอดเขา เมื่อมองทอดสายตาไปไกลๆได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว มโนไปว่าเกาะแมวกำลังไล่เกาะหนู จนน้ำทะเลปั่นป่วน เหมือนการ์ตูนทอมกับเจอรี่
เสียงบ่นเงียบไป มิตรภาพอันสวยงามที่เรามีต่อกันระหว่างเรียนเกือบถูกทำลายลงตอนขาขึ้น ทุกคนคลายความกังวลจนเกือบสิ้น และเริ่มได้ยินและฟังเสียงลมพัดผ่าน เสียงนกร้อง เสียงลิงดังมาไกลๆ สัมผัสได้ถึงความไพเราะแบบดิบๆ เดิมๆ มีวัดร้างซึ่งถูกปกคลุมด้วยไม้น้อยใหญ่ ประสาเด็กสิ่งนี้ทำให้ตื่นเต้นยิ่งนัก และจินตนาการบันเจิดไปเรื่อย รอบๆตัว เราเริ่มมองและเห็นพันธ์ไม้ต่างๆ ที่คงอยู่ที่นี่มานานแล้ว และตอนนี้มีเราทั้ง 4 คนเป็นผู้มาเยือนเดี๋ยวพวกเราก็จะต้องจากไป อยู่นานไม่ได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะ อาหารและน้ำหมด และต้องรีบลงให้ทันก่อนมืดค่ำ กลัวพ่อแม่ของเพื่อนจะเป็นห่วง

ตอนปีนลงง่ายกว่า ไม่กังวล ใช้เวลาไม่มาก ผ่อนคลาย ได้เห็นความสวยงามหลายอย่าง พันธุ์ไม้นานาชนิด ได้ฟังเสียงไพเราะ ฟังเสียงขับกล่อมจากนก-ลิง เสียงลมพัดเป็น background มิตรภาพที่สวยงามยังอยู่แน่นแฟ้นและงอกเงยขึ้นอีก

ยิ่งอยู่สูง ยิ่งมองไกล ฤทัยเสียว
เผลอแฟล๊บเดียว ก็ต้องลง อย่าสงสัย
มัวเพลิดเพลิน ไม่ยอมลง เดี๋ยวบรรลัย   
      อาทิตย์ตก เมื่อไหร่ ได้รันกู๊ (รู้กัน)

Related Links:

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา (1)



(1,254 ครั้ง)
     ผมยังไม่เคยเห็นสังคมไหนที่ไม่มีความขัดแย้ง ถ้าจะกล่าวว่า ความขัดแย้งในสังคมย่อมมีเกิดขึ้นเสมอๆเป็นธรรมดา คำกล่าวนี้คงไม่เกินเลยความจริงนักนะครับ คราวนี้จึงชวนชาวเรามองเรื่องของความขัดแย้งแบบพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดขึ้น
ดวงอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้า
พุ่งผ่านปัทมาบนน้ำใส
ทั้งที่ตูมแต่มองเห็นเด่นภายใน
แปลกฤทัยใยแสงจึงแรงนัก
ดุจรังสีสาดส่องกายา
ผ่านออกมาภายในจึงประจักษ์
ธรรมชาติลิขิตไว้ประหลาดนัก
ให้ทายทักโรคได้สบายเอย

ชาวเราได้ผ่านการเรียนในห้องเรียน ห้องฝึกปฏิบัติการ เรียนกับสถานการณ์จริง เพื่อให้มีสมรรถนะครบตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ ทำงานแล้วก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ได้เรียนรู้ทั้ง สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นจริง ชาวเราหลายคนอาจคิดว่ามันเหมือนกัน ไม่เหมือนกันหรอก มันต่างกันเด็ดขาดครับ สิ่งที่ถูกต้อง มันจะถูกต้องภายใต้เงื่อนไขหนึ่งก็ได้ มันขึ้นกับ space&time ถูกต้องวันนี้ วันต่อไปอาจผิดก็ได้ แต่สิ่งที่เป็นจริง ไม่มีเงื่อนไขอะไร มันเป็นเช่นนั้น space&timeไม่มีอิทธิพลต่อความเป็นจริง”  
หากชาวเรามองภาพเอกซเรย์ที่เกิดจากการใช้หลักการ shadow technique มีสิ่งหนึ่งซึ่งสอนใจเรา คือ  สิ่งที่เห็นคือสิ่งที่มี สิ่งที่ไม่เห็นคือสิ่งที่ไม่มีหรืออาจมีก็เป็นได้ จริงไหม? เช่น สุริยุปราคาเต็มดวงที่เรารู้สึกว่าเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีดำ แต่ความเป็นจริงคือเราเห็นดวงจันทร์เป็นรูปวงกลมสีดำ โดยไม่เห็นดวงอาทิตย์ ซึ่งเราก็รู้อยู่แก่ใจเราว่า ยังไงมันก็ยังมีดวงอาทิตย์อยู่ ไม่ได้หายไปไหน มันขึ้นกับตำแหน่งวัตถุและมุมมองของเรา
นักรังสีเทคนิคมีความสามารถหลายอย่าง เรื่องการสร้างภาพรังสีทางการแพทย์ก็เป็นความสามารถหนึ่ง ชาวเราย่อมเข้าใจดีว่า จะเห็นภาพรังสีเหล่านั้นได้เพราะมีความแตกต่างของความดำ-ขาวเกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เพราะมีความสว่างจึงรู้ว่ามีความมืด เพราะมีความมืดจึงรู้ว่ามีความสว่าง นั่นแหล่ะ Radiographic Contrast”
จริงหรือไม่ที่คนเราโดยส่วนมากมัก มองเห็นความแตกต่างกันมากกว่าความเหมือนกัน คนเรานั้นเหมือนกันเยอะมาก ทางกายภาพ เช่น หายใจ กินอาหาร ขับถ่าย ขยายพันธ์ ฯลฯ เหมือนกันหมด ในเรื่องของสติปัญญา ความรู้ จิตใจ ก็เหมือนกัน ทั้งหมดนั้นอาจแตกต่างกันบ้าง คือมี contrast เกิดขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าใครดีกว่าใคร ซึ่งความแตกต่างนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ แต่คนเราก็มักจะมองเห็นความแตกต่างอันน้อยนิดนี้ได้อย่างชัดเจน โดยอาจลืมหรือมองไม่เห็นสิ่งที่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อความแตกต่างนั้นผูกโยงกับผลประโยชน์แล้วไซร้ ความขัดแย้งก็จะบังเกิดขึ้นนำไปสู่การปะทะกันระหว่างคู่ขัดแย้ง เมื่อปะทะกันแล้วผลเสียหายจะเกิดตามมาแบบคาดไม่ถูกเลยครับ และมองหาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันได้ยากมากๆ หรือไม่เกิดประโยชน์เลย
ลองคิดถึง annihilation radiation ที่เกิดขึ้นระหว่าง positron และ electron เรื่องนี้ชาวเราทราบดีว่า อนุภาคคู่นี้ มีมวลเท่ากัน ประจุเท่ากัน สปินเท่ากัน อะไรๆก็เท่ากันมีความเหมือนกันเยอะมาก แตกต่างกันแค่นิดเดียวคือชนิดของประจุไฟฟ้า เจ้าตัว positron มีประจุบวก ส่วน electron มีประจุลบ แค่นี้เป็นเรื่องเลยครับ คู่นี้ถูกจัดให้เป็น antiparticle ของกันและกัน เจอกันเมื่อไรก็วินาศสันตะโรหรือบรรลัยกัลป์ เกิดระเบิดอย่างรุนแรง การระเบิดของมันได้โฟตอน 2 ตัววิ่งในทิศทางตรงข้ามกันเป็นไปตามกฎ conservation of energy and momentum โฟตอนที่เกิดขึ้นนั้นนักรังสีเทคนิคสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างภาพการทำงานของอวัยวะภายในของผู้ป่วยได้ เป็นความแตกต่างและการปะทะกันที่เกิดประโยชน์ ไม่เหมือนการปะทะกันระหว่างคู่ขัดแย้งที่เป็นคน
เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชาวเรามักจะถูกชักนำหรือมีแรงดึงดูดให้ไปอยู่กับข้างใดข้างหนึ่งจนได้ หาคนที่จะยืนอยู่ตรงกลางได้ลำบาก แม้คนๆนั้นจะยืนอยู่ตรงกลางได้ ก็ยืนได้ลำบากมาก เพราะจะถูกมองจากทั้งสองข้างแบบผลักไสไปข้างโน้นทีข้างนี้ที
เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว ชาวเรามีวิธีการมองเรื่องความขัดแย้งอย่างไร ผมแนะนำว่า ชาวเราไม่ควรเลือกข้างใดข้างหนึ่งเพียงเพราะว่า...
#เพราะเรามีความศรัทธา-เชื่ออย่างนั้น แล้วมันตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ
#เพราะข้างนั้น มีคนที่เรานับถือศรัทธา และจะคอยฟังคนๆนั้นว่าจะคิดและทำอะไร
#เพราะมันสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของเรา
#เพราะข้างนั้นมีข้อมูลน่าเชื่อถือมากๆ
#เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยอยู่ข้างนั้น
#เพราะเขาเป็นพวกเดียวกันกับเรา
#เพราะเรากลัวแพ้ อยู่ข้างนี้ดีกว่าชนะแน่ๆ
#เพราะเราได้รับประโยชน์จากการไปอยู่ข้างนั้น
#เพราะมีความรักข้างนี้เลยอยู่ข้างนี้ มีความเกลียดข้างนั้นเลยมาอยู่ข้างนี้
สิ่งทีชาวเราควรทำคือ มองและค้นหาให้เห็นความจริงว่ามันคืออะไร พิจารณาความจริงให้ถ่องแท้ ด้วยวิจารณญาณอันสุดยอดของเราเสียก่อน ก่อนตัดสินใจจะอยู่ข้างใด หากพิจารณาแล้วพบความจริงว่าผิดทั้งสองข้าง ก็อย่าไปเลือกข้าง.อันนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ แต่ก็ควรทำให้ได้ ประเด็นนี้ คนส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มรับฟังการตัดสินใจของคนที่เขาเคารพและศรัทธา แล้วก็เลือกคิดไปตามนั้น
หากให้ชาวเราเลือกระหว่างข้างดีและข้างเลว เชื่อว่าชาวเราเลือกข้างดี แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าข้างไหนเลวหรือข้างไหนดี อันนี้ยากมากอย่างที่บอก และเมื่อเลือกข้างดีแล้วต้องระวังมากๆคือ อย่าติดดี ก็แล้วกัน เพราะเราอาจทำความเลวในความดีได้ ... เพราะข้างนั้นมันเลวและเราดีไงล่ะ เราจึงมีความชอบธรรม(คิดเอง)ที่จะทำอะไรข้างนั้นก็ได้ ด่ามันก็ได้ ประณามมันก็ได้ กลั่นแกล้งมันก็ได้ หรืออาจถึงขั้นทำร้ายให้เจ็บให้ตายก็ได้ เพราะมันเลวไงเราจึงทำได้ ยิ่งถ้าข้างนั้นทำให้เราเจ็บใจเจ็บกายก็ยิ่งต้องตอบโต้ให้สาสม...อันนี้คือทำความเลวโดยอ้างความชอบธรรมในความดี ไม่ควรอย่างยิ่ง ในสังคมเรานั้นมีตัวอย่างมากมายเรื่องการทำความเลวในความดี
เมื่อเป็นฝักเป็นฝ่าย แบ่งเป็นข้าง แล้วขัดแย้งกัน แต่ละข้างอาจรู้สึกว่าข้างของตัวถูกทำร้าย ข้างโน้นก็บอกว่า
เราถูกทำร้าย ไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกโกง ฯลฯ ฉอดๆๆๆๆ
ก็เลยมองอีกข้างว่าเลวว่าชั่ว ... ส่วนอีกข้างหนึ่งนั้นก็บอกเหมือนๆกันว่า 
เราถูกทำร้าย ไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกโกง ฯลฯ บลาๆๆๆ
และมองข้างโน้นว่าเลวว่าชั่วเหมือนกัน แล้วมันจะจบอย่างไรล่ะ เมื่อทั้งสองข้างที่ขัดแย้งกันนั้นยืนยันฟันธงกันอย่างนี้ มันก็จะมีแต่แรงผลักกันทางความคิด เข้ากันไม่ได้ ... หากตั้งสติดีๆ ค่อยๆคิด เอาเถอะถ้าแต่ละข้างคิดว่าถูกทำร้าย จะเห็นว่า จริงๆแล้ว ไม่น่าจะมีข้างไหนถูกทำร้ายข้างเดียว ไม่ได้รับความยุติธรรมข้างเดียว หรือเข้าใจว่าถูกโกงข้างเดียวหรอก ... หลักกลศาสตร์ของนิวตันง่ายๆบอกไว้ว่า action=reaction คือ ไม่ว่าข้างไหนจะคิด-ทำอะไรเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ก็จะส่งผลกระทบถึงอีกข้างอยู่ดี ผลกระทบนั้นทำให้อีกข้างนั้นไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย มันหลีกไม่พ้น แต่ละข้างจึงควรมองด้วยความเข้าใจให้เห็นความจริงตรงนี้ และไม่ควรปิดผนึกล็อคหัวใจไว้ เพราะมันจะทำให้ไม่ยอมรับรู้รับฟังความเดือดร้อนของข้างที่คิดว่าอยู่ตรงข้ามกัน...
อีกประการหนึ่ง ใครบางคนทำบางสิ่งลงไป ที่มีผลกระทบต่อผู้อื่นหรือมีผลกระทบต่อส่วนรวม เขาย่อมมีเหตุผลของเขา ดีหรือไม่ดี เร็วหรือช้า ไม่ควรไปตัดสินเขาครับ ชาวเราไม่อาจเข้าใจได้หรอกว่าเขาทำแบบนั้นตอนนั้นทำไม เราไม่ใช่เขา เขาก็ไม่ใช่เรา และเมื่อใช้เหตุผลมาจับ มันอาจผิดในมุมมองของเราแต่อาจถูกในมุมมองของเขา แนะนำว่าไม่ควรไปตัดสินครับ มองเฉยๆทำตัวเป็นนิวตรอนดีกว่า เป็นกลางดีกว่า  วันเวลาผ่านไป เมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจคิดผิดก็ได้ เว้นเสียแต่ว่าเรื่องนั้นความจริงประจักษ์ชัดเจนว่าจะเกิดผลเสียหายร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ใครก็ตามไม่ว่าจะคิดและทำอะไร ก็ควรยืนบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ตน เรื่องดีหรือไม่ดี เร็วหรือช้า ล้วนเป็นเรื่องของ relativity เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพัทธ์ ถ้ามีใครบอกว่า คุณเดินเร็วไปแล้วนะ แสดงว่าใจของเขาต้องการเดินให้มันช้ากว่าใช่ไหม
โชคชะตา จังหวะก้าวเดินของชีวิต อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผมตกอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งมาหลายครั้งหลายครา และได้ค้นพบว่า ความขัดแย้งมักคลี่คลายลงจริงๆ (ไม่ใช่ดูเหมือนคลี่คลาย) ด้วยการที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งมองให้เห็นความจริงถึงความทุกข์ร้อนของคู่ขัดแย้ง ปล่อยวางซะ (ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย) ไม่มองว่าคู่ขัดแย้งเป็นศัตรู มองคู่ขัดแย้งว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมกัน และพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ครับ
จึงขอฝากมุมองเรื่อง ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาไว้ให้ชาวเราได้พิจารณา
การเขียนเรื่อง ความขัดแย้ง เป็นการเขียนที่ยากที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา เพราะ สถานการณ์ขณะที่เขียนอยู่นี้มีความเสี่ยงสูงที่ผู้เขียนจะ เปลืองตัว เก่งกาจขนาดไหนกันเชียวจึงเที่ยวมาแนะนำโน่นนี่นั่น

อย่างที่บอกครับว่า ผมตกอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งมาหลายครั้ง ได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆมากมาย มีบางครั้งเจ็บตัวและเกือบถอดใจ สำหรับคราวนี้ เมื่อตัดสินใจเขียนแล้วก็ไม่กลัวเปลืองตัวอีกแล้ว พยายามคิดว่า ไม่มีตัวตน ที่จะทำให้สิ้นเปลือง แต่ก็นั่นแหล่ะ ผมก็ยังเป็นคนธรรมดา ยังเจ็บได้ และหากเจ็บนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เกิดสันติสุขในหมู่ชาวเรา win-win กันทุกฝ่าย ก็ยอมเจ็บยอมเปลืองตัวครับ

วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

RT Values


ประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2557 ผมกำลังประชุมคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อนุกรรมการฯจรรยาบรรณฯมีเรื่องให้พิจารณาตัดสินใจอย่างสำคัญ  ขณะกำลังประชุมอยู่นั้น มีคนโทรศัพท์เข้ามาหาผม

สมภพ วงศ์บรรเจิดกิจ
สวัสดีครับอาจารย์ ผม..สมภพ วงศ์บรรเจิดกิจ หัวหน้าแผนกรังสีวินิจฉัย รพ.กรุงเทพ พัทยา ลูกศิษย์อาจารย์ครับ รุ่นแรกๆเลย จำผมได้ไหมครับ
แล้วก็คุยกัน ลำดับความกันจนผมจำสมภพได้ สมภพจะรบกวนให้ผมไปบรรยายในงานประชุมวิชาการ RT meeting ของโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ [ BDMS ] ซึ่งมีนักรังสีเทคนิคประมาณ 400-500 คน เพื่อให้มุมมอง ในการให้คุณค่ากับวิชาชีพ กับชีวิต กับเพื่อนร่วมงาน ผมก็ถามสมภพว่า
เพราะอะไร จึงเลือกให้ผมไปพูดหัวข้อนี้ ผมจะพูดได้รึ??”
สมภพบอกกับผมว่า
ได้ครับ ผมติดตามบล็อกของผมมานานแล้ว และได้เห็นมุมมองในเรื่องทำนองนี้ของอาจารย์เยอะมากและมีคุณค่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักรังสีเทคนิค
ผมก็เลยตอบรับว่าจะไปบรรยายในหัวข้อ Radiologic Technologist Values (RT Values)ในมุมมองแบบผม..ประกายรังสี
วันที่ 10 ตุลาคม 2557 เวลา 9:00 น.เป็นวันเวลานัดหมายที่ให้ผมไปบรรยายที่โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ผมเตรียมสไลด์ไปประมาณ 40 สไลด์ วางแผนว่าใช้เวลาประมาณ 1:30 ชั่วโมงสำหรับการบรรยาย และเป็นครั้งแรกของการบรรยายของผมที่ไม่มีเอกสารประกอบการบรรยาย เพราะในสไลด์ทุกอันไม่มีรายละเอียดอะไร เป็นรูปภาพ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
เมื่อเริ่มการบรรยาย ผมได้บอกกับผู้ฟังชาวเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักรังสีเทคนิค มีรังสีแพทย์มาร่วมฟังด้วยจำนวนหนึ่งว่า
ขอให้ชาวเราทุกคน ปลดกรอบความคิดเดิมๆของตัวเองออกไปก่อน แล้วฟังผมพูดไปเรื่อยๆจนจบ โดยทำใจรับรู้เรื่องราวต่างๆที่ผมพูด อย่าเพิ่งสงสัยอะไรนะครับ
จากนั้นก็บรรเลงเลยครับ 1:30 ชั่วโมงพอดี
บรรยายเสร็จ มีสุภาพสตรีเดินรี่เข้ามาทักทาย บอกว่าตั้งใจมาฟังผมพูดเพราะเห็นรายชื่อวิทยากรกับชื่อหัวข้อเรื่องที่พูด.. เธอคือนาวาเอกหญิงจันทรา รน. จากโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สัตหีบ นี่เองครับ... ลูกศิษย์รังสีเทคนิครุ่น 1 มหิดลของผม...เลยคุยกันสนุกสนานมาก 
นาวาเอกหญิงจันทรา (หนุ่ย) รน. 
เสียงจากรังสีเทคนิครุ่นเก๋า รุ่นเก่า รุ่นกลางๆ และรุ่นใหม่
ชอบที่อาจารย์สอนเรื่องคุณค่าในงานที่ทำ รู้สึกได้ถึงพลังความคิด
ขอขอบคุณอาจารย์นะคะอยากให้เพื่อนๆวิชาชีพ ได้ฟัง "ความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ" แล้วชีวิตของการทำงาน น่าจะมีความสุขมากขึ้น
     “
เกือบสิบปีอาจารย์มาสอน วิชาชีพที่นเรศวร...แต่วันนี้อาจารย์มาสอนวิชาชีพทางใจ...การทำงานจะได้มีความสุข
ฯลฯ

Related Links:


วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ขนมจีนเมืองคอน-มังคุดคัด


     สสจ.นครศรีธรรมราชได้เชิญผมไปบรรยาย กฎหมายและจรรยาบรรณสำหรับงานรังสีและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางรังสีโดยการประสานของของหนูเก่ง กำหนดให้ผมบรรยายในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ทั้งวันโดย เน้นเรื่องความก้าวหน้าทางด้าน CT,MRI ส่วนวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ทั้งวันจะเป็นการบรรยายโดย อ.อำไพ อุไรเวโรจนากร เน้นเรื่องกฎหมายและจรรยาบรรณครับ ผู้เข้าฟังก็เป็นชาวเราที่ปฏิบัติงานด้านรังสีเทคนิคในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชทุกอำเภอ
     ระหว่างเตรียมการไปบรรยาย มีเหตุการณ์คาดไม่ถึงบางอย่างเกิดขึ้นที่อำเภอทุ่งสง ซึ่งกระทบจรรยาบรรณวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างมาก ทำให้ผมในฐานะอนุกรรมการฯด้านจรรยาบรรณเพิ่งแต่งตั้งใหม่หมาดๆเลย มีความจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการเดินทางไปเมืองคอนให้เร็วขึ้น คือเดินทางไปตั้งแต่เย็นวันพุธที่ 6 สิงหาคม 2557 พร้อม อ.อำไพ ประธานอนุกรรมการฯด้านจรรยาบรรณ หลังจากประชุมคณะอนุกรรมการฯด้านจรรยาบรรณในช่วงเช้าเสร็จสิ้นลง และทำให้คณะสสจ.ผู้จัดต้องปรับช่วงเวลาโปรแกรมการบรรยายให้สอดคล้องกับการไปคราวนี้
     ผมเดินทางโดยเครื่องบินนกแอร์ ออกจากสนามบินดอนเมืองเวลาประมาณ 17:00 น. ถึงสนามบินนครศรีธรรมราชประมาณ 18:00 น. จากนั้นคุณอภิชาและหนูเก่งที่มารับก็ขับรถพาไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารชายทะเล ท่าศาลา ไปถึงใกล้เวลา 20:00 น.และมีชาวเราตามมาสมทบเพิ่มเติม มืดแล้ว มองไม่เห็นทะเล เห็นแต่ไฟแสงสว่างจากเรือประมง มีชาวเรา 6 คนนั่งรับประทานอาหารอยู่โต๊ะเดียว อาหารทะเลทุกเมนูอร่อยมาก เราคุยกันหลายเรื่อง ทั้งเบาและหนัก เป็นการเพิ่มรสชาติอาหารได้ดียิ่ง กว่าจะถึงโรงแรมที่พักทวินโลตัสก็เกือบสีทุ่ม
อาหารทะเลที่ชายหาดท่าศาลา
     เช้าวันที่ 7 อ.อำไพเริ่มบรรยายเป็นคนแรก ผมยังไม่มีคิวบรรยาย จึงมีเวลาหาข้อมูลที่เรือนจำทุ่งสง และได้รับความช่วยเหลือจากคุณสมศักดิ์ช่วยขับรถพาไป-กลับพร้อมชาวเรา และได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากคุณอำนาจชาวเราที่ทุ่งสง จนสามารถได้ข้อมูลที่เกินกว่าที่ผมคาดการณ์ไว้มาก ผมกลับมาที่เมืองคอนตอนเที่ยงวัน รับประทานอาหารที่โรงแรมและเริ่มบรรยายช่วงบ่าย เป็นเวลาเดียวกัน อ.อำไพก็เดินทางไปโรงพยาบาลทุ่งสง
ที่เรือนจำทุ่งสง ผมได้ตระหนักอีกครั้งว่า เมื่อไรก็ตามที่เราขาดสติ เราสามารถทำสิ่งเลวร้ายได้อย่างคาดไม่ถึง และผลเสียหายผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ขาดสติเอง มันจะเกินเยียวยาจริงๆ..ชาวเราพึงฝึกเจริญสติเป็นประจำ จะทำการสิ่งใดให้ระลึกรู้ตัวตลอดเป็นยอดดี
อาหารปักษ์ใต้แท้ๆ จี๊ดจ๊าด
     เช้าวันรุ่งขึ้นวันที่ 8 หนูเก่งแจ้งมาทาง FB ว่า ตอนเที่ยงจะมารับผมและอ.อำไพไปชิมขนมจีนพานยม (ขนมจีนเมืองคอน) บอกว่า ถ้ามาเมืองคอนแล้วไม่มาชิมร้านนี้ ก็ยังไม่ถึงเมืองคอน ทำให้ยิ่งน่าสนใจมาก พอถึงเที่ยงวัน หนูเก่งและคุณอาทิตย์ก็ขับรถมารับที่โรงแรมทวินโลตัส พาไปชิมขนมจีนเมืองคอน อร่อยสมคำล่ำลือจริงๆ เส้นขนมจีนทำกันสดๆ เส้นไม่ใหญ่มาก นุ่ม ไม่มีกลิ่น สดมากๆ ทานกับน้ำยา(กะทิ,ป่า) น้ำพริก แกงไตปลา แกงเขียวหวานไก่ ตักได้ตามสบาย และมีผักนานาชนิดทางปักษ์ใต้ให้เลือกทานได้อย่างมากมายไม่อั้น ราคาไม่แพง ที่ด้านข้างร้านพานยม มีร้านขายมังคุดคัดเสียบไม้ ขายไม้ละ 10 บาท รายละเอียดดูในวิดีโอคลิปนะครับ อร่อยมาก ทั้งนุ่ม ทั้งกรอบ
ขนมจีนเมืองคอน



     หลังจากนั้น อ.อำไพเดินทางกลับกรุงเทพฯก่อน ส่วนผมกลับมาบรรยายตอนบ่ายต่ออีกครั้ง ทีแรกตั้งใจจะเลิก 17:00 น. เพราะเครื่องบินกลับกรุงเทพฯออกเวลา 20:10 น. แต่ได้รับแจ้งว่า ชาวเราหลายคนต้องไปงานแต่งงาน วันนี้วันดี ก็เลยต้องพยายามให้จบเวลา 15:00 น. สังเกตว่า ที่โรงแรมทวินโลตัส มีงานแต่งงานหลายงานทั้งสองวันที่ผมไปพัก
     คุณอภิชาเดินมาบอกผมว่า อาจารย์ครับผมเตรียมทุเรียนกวนมาฝากกลับบ้านด้วยครับ
     คุณอาทิตย์ ฝากมังคุด เงาะสดๆจากต้น สะตอ ครับอาจารย์
     ....ฯลฯ...
     ของฝากจำนวนมากนั้น ชาวเราได้แพ็คใส่ถุงขนาดใหญ่ให้อย่างดีหนัก 13 กิโลกรัม ขึ้นเครื่องแอร์เอเชียได้ครับไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ที่หนักกว่านั้นมากมายคือ น้ำใจของชาวเราที่เมืองคอนและทุ่งสง ที่ผมได้รับมาซึ่งตาชั่งของแอร์เอเซียตรวจจับไม่ได้ ผมนั่งอิ่มใจอยู่คนเดียวที่สนามบินระหว่างรอเครื่องขึ้น และได้ใช้เวลาเงียบๆคิดทบทวนหลายเรื่องแล้วรีบบันทึกกลัวลืมสาระสำคัญไป.....ขอบคุณชาวเรามากๆครับ

วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ส่งบัณฑิตขึ้นฝั่ง ๒๕๕๖



ยินดีด้วยครับ รังสีเทคนิคมหิดลรุ่นที่ 47 หลังจากฝ่าฟันการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล 4 ปี หรือมากกว่า 1,400 ชั่วโมง ทั้งบรรยาย ปฏิบัติการและฝึกงานที่เข้มข้น วันนี้ RT#47 ทำสำเร็จแล้ว ทั้ง IQ และ EQ ถูกหล่อหลอมในตัวบัณฑิตรังสีเทคนิคอย่างสมดุล ขอส่งพวกเราเหล่าบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่งอีกวาระหนึ่ง


RT#47 เข้าสอบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557
ก่อนอื่น ขอชื่นชมเหล่าบัณฑิตรุ่นที่ 47 ปีล่าสุดที่เข้าสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค โดยสามารถสอบผ่านเกณฑ์ได้มากถึง 98.53% สอบไม่ผ่านเกณฑ์เพียงคนเดียวเท่านั้น สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 90% ปรบมือให้ดังๆเลยครับ

มนุษย์เรามีขีดจำกัดในการมองเห็น ไม่ควรเชื่อสายตาตัวเองมากนัก สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นจริงอาจต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเราจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ เราอาจมองไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าต่อตา หรือเมื่อเราคิดจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ อาจทำให้เราลืมคิดถึงสิ่งอื่นที่มีความสำคัญไปได้ จึงควรระวัง
มีการทดลอง "โยนลูกบอล" ประกอบด้วยทีม 2 ทีม ทีมละ 4 คน ทีมหนึ่งชุดขาวอีกทีมชุดดำ แต่ละทีมมีลูกบอล1 ลูก กติกาคือ ให้ผู้เล่นโยนลูกบอลให้ทีมเดียวกัน โดยที่ทั้งสองทีมวิ่งปะปนกันไปมาในสนาม การทดลองนี้ ให้อาสาสมัครจำนวนหนึ่งมองทีมสีขาวและคอยนับจำนวนครั้งที่ทีมสีขาวโยนลูกบอลให้กัน ใช้เวลาประมาณ 30 วินาที ผลปรากฏว่า อาสาสมัครเกือบทั้งหมดตอบได้ถูกต้อง ระหว่างที่ต่างฝ่ายโยนลูกบอลกันอยู่นั้น ผู้ทดลองได้ให้คนแต่งชุดกอลริลล่าสีดำเดินปะปนเข้าไปด้วยประมาณ 10 วินาที ผู้ทดลองถามอาสาสมัครว่า มีใครเห็นลิงกอลริล่าบ้าง ปรากฏว่า เกือบทั้งหมดไม่เห็น นี่แสดงให้เห็นว่า อาสาสมัครมัวแต่ไปจดจ่อกับลูกบอลที่ทีมสีขาวกำลังโยนให้กัน จึงไม่ทันได้สังเกตุว่ามีลิงกอลริลล่าเดินปะปนอยู่ด้วย นี่เป็นตัวอย่างของความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ

จึงขอฝากบัณฑิตรังสีเทคนิคให้ระวังความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งไม่เพียงแค่การมองเห็นเท่านั้น แต่รวมถึงความคิดจิตใจที่อาจมืดบอดได้เพราะอคติบดบังไว้

แล้วทำยังไงจึงจะไม่มืดบอด?
คำตอบคือ เราต้องมีสติ แม้สติเราจะเดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มี คือเกิดๆดับๆ เราก็มั่นฝึกให้มีสติรรู้ตัวนาน ให้สติเกิดนานหน่อย

ดวงอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้า
พุ่งผ่านปัทมาบนน้ำใส
ทั้งที่ตูมแต่มองเห็นเด่นภายใน
แปลกฤทัยยัยแสงจึงแรงนัก

ดุจรังสีสาดส่องกายา
ผ่านออกมาภายในจึ่งประจักษ์
ธรรมชาติลิขิตไว้ประหลาดนัก
ให้ทายทักโรคได้สบายเอย




โชคดีครับ
ขอให้มีความวิริยะมากๆ
รองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข


Related Links:
1)ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๓
2)ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๔
3)ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๕
4)ความมืดบอดโดยไม่ตั้งใจ

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ไม่มีข้อสอบขายหรอกจ้าาาาา


(243 ครั้ง)

อย่างที่ทราบกันครับว่า การสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ดำเนินการมาร่วม 10 ปีแล้ว หลายครั้งมีการเล่าลือกันว่า "มีการขายข้อสอบกัน" และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้จะเข้าสอบบางคนที่ไม่มีความพร้อม ขาดความมั่นใจในการสอบ พยายามใช้ตัวช่วยทางนี้ คือ "ขอซื้อขอสอบ" ก่อนหน้าวันสอบหลายวัน

ผมได้รับโอกาสให้เป็นคณะกรรมการวิชาชีพฯโดยตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ม.มหิดล นับถึงปัจจุบันก็ร่วม 8 ปีแล้ว ได้อยู่และเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับกรรมการวิชาชีพท่านอื่นๆ ในกระบวนการการจัดทำข้อสอบ และการจัดสอบหลายครั้ง ได้ยินเสียงเล่าลือนั้นเต็มสองรูหูเลย รู้สึกประหลาดใจที่ ใครหนอช่างทำเรื่องแบบนี้ แต่ก็มิได้ใส่ใจมากมายอะไร เพราะ ในกระบวนการทั้งหมด มีความรัดกุม และจะรัดกุมมากๆเมื่อเป็นข้อสอบที่กำลังจะใช้ทดสอบ

แต่ตอนนี้คงไม่ใส่ใจไม่ได้แล้ว เพราะเสียงเล่าลือและการขอซื้อข้อสอบนั้น เกิดขึ้นบ่อยและในการสอบล่าสุดก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นการกระทำที่บั่นทอนความเชื่อมั่นศรัทธา ความไว้เนื้อเชื่อใจ ของสังคมที่มีต่อวิชาชีพรังสีเทคนิค จึงขอเล่าให้ชาวเราได้เกิดความเข้าใจ และมั่นใจว่า "ไม่มีข้อสอบขายหรอกจ้าาาาา"

ข้อสอบมาจากไหน?

เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ข้อสอบที่ใช้สอบกันนั้นมาจากไหน?  คำตอบคือ มาจากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิคทั่วประเทศ มหิดล เชียงใหม่ นเรศวร รามคำแหง ขอนแก่น จุฬาฯ สงขลานครินทร์
กระบวนการในการได้มาซึ่งข้อสอบ
โปรดดูรูปกระบวนการในการได้มาซึ่งข้อสอบ...

คณะกรรมการวิชาชีพฯ ขอข้อสอบไปยังสถาบันผู้ผลิตฯ (ที่จริงก็ยังไม่ได้เป็นข้อสอบที่ใช้ทดสอบหรอกครับ แต่ขอเรียกว่าข้อสอบเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ) เป็นข้อสอบในหมวดวิชาชีพ แยกเป็นรายวิชาได้แก่ กายวิภาคและรังสีกายวิภาค รังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีรักษา การดูแลผู้ป่วยและการบริหารจัดการ การประกันและการควบคุมคุณภาพเบื้องต้น รังสีฟิกส์ การป้องกันอันตรายจากรังสีและรังสีชีววิทยา โดยขอข้อสอบสถาบันละ 200 ข้อ

จากนั้นสถาบันผู้ผลิตฯแจ้งให้อาจารย์ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อให้อาจารย์จัดทำข้อสอบตามคำขอของคณะกรรมการวิชาชีพฯ เมื่อจัดทำเสร็จแล้ว สถาบันผู้ผลิตฯจะรวบรวมข้อสอบจากอาจารย์ทั้งหลายส่งให้คณะกรรมการวิชาชีพฯ รวมทุกสถาบันผู้ผลิตฯมากกว่า 1,000 ข้อ

ขณะเดียวกัน ข้อสอบชุดเดียวกันนั้น จะถูกนำไปสังคยานาร่วมกันในการสัมมนาจัดทำคลังข้อสอบ โดยสถาบันผู้ผลิตฯเป็นผู้รับผิดชอบ คำว่ารับผิดชอบหมายความว่า
บรรดาอาจารย์ด้านรังสีเทคนิค 40 คนทั่วประเทศทุกสถาบันผู้ผลิต
ระดมสมองร่วมกันเพื่อให้ได้คำถามหรือข้อสอบที่เหมาะสมที่สุด
1) สถาบันผู้ผลิตฯเป็นผู้จัดสัมมนา เป็นการสัมมนาที่เรียกกันติดปากว่า "RT Consortium" ซึ่งคราวนี้ เป็นการสัมมนาครั้งที่ 12 ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพ  ในระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม 2557 คณาจารย์ที่เข้าสัมมนาจากทุกสถาบัน ร่วมกันปรับปรุงข้อสอบกว่า 1,000 ข้อ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องตามสมรรถนะของนักรังสีเทคนิค และมีการตัดข้อสอบทิ้งไปเกือบครึ่ง จนได้ "ข้อสอบที่กลั่นกรองแล้ว" และเป็นที่ตกลงกันในที่สัมมนาว่าให้เผยแพร่ได้ ไม่เป็นความลับ ใครจะนำไปใช้ติว ใช้เตรียมตัวสอบ ได้ตามสบาย ไม่ขายจ้าาา

2) สถาบันผู้ผลิตทุกแห่งที่เข้าร่วมสัมมนาจัดทำคลังข้อสอบนั้น จะต้อง support ค่าใช้จ่ายให้อาจารย์ทุกคนที่เข้าร่วมสัมมนา รวมแล้วงบประมาณที่ต้องใช้ในการสัมมนาทั้งหมดประมาณกว่า 300,000 บาท

ข้อสอบที่กลั่นกรองแล้ว ถูกส่งให้คณะกรรมการวิชาชีพฯและสถาบันผู้ผลิตฯทุกแห่ง คณะกรรมการวิชาชีพฯได้ส่งต่อให้คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านการพิจารณาขึ้นทะเบียนและจัดสอบความรู้ เพื่อพิจารณาเข้าเป็นคลังข้อสอบ ซึ่งในคลังข้อสอบมีข้อสอบเก่าอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง คลังข้อสอบนี้ถูกเก็บไว้อย่างแน่นหนา ในห้องนิรภัยที่เข้าถึงยาก

เมื่อมีการจัดสอบ เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านออกข้อสอบและคัดเลือกข้อสอบ จะเป็นผู้นำคลังข้อสอบออกจากห้องนิรภัยในวันก่อนสอบจริงหนึ่งวัน  ซึ่งข้อสอบมีทั้งเก่าและใหม่ปนกัน มาคัดเลือกเป็นข้อสอบจำนวน 150 ข้อ สำหรับวิชาชีพ และ 50 ข้อ สำหรับกฎหมายและจรรยาบรรณ ที่จะใช้ทดสอบในวันที่ 1 มิถุนายน 2557

นี่แหล่ะครับ คือที่มาของข้อสอบ มันยากเย็นแสนเข็นมาก และลงทุนสูง ทั้งกำลังกาย กำลังสมอง กำลังทรัพย์ สิ่งที่ผมเล่าให้ฟังอาจจะไม่ละเอียดครบถ้วนเหมือนการปฏิบัติจริง แต่เนื้อหาที่เล่านั้นครอบคลุมการปฏิบัติหลักๆที่สำคัญ จึงไม่มีข้อสอบขายครับ มีแต่ให้ฟรีๆ อันนี้หมายถึงข้อสอบที่มาจากการสัมมนา RT Consortium นะครับ ไม่มีความลับอะไรเลย

สิ่งที่จะเป็นความลับสุดยอดเปิดเผยไม่ได้ในช่วงเวลา 2 วัน คือวันคัดเลือกข้อสอบและวันสอบได้แก่ "ข้อสอบที่ถูกเลือกแล้วเพื่อใช้ทดสอบในวันที่ 1 มิถุนายน 2557" ชุดนี้ถ้ามีการซื้อขายกันละก็ต้องมีคนติดคุกแน่ เพราะฉะนั้นกระบวนการตรงนี้จึงถูกวางไว้อย่างรัดกุมแน่นหนา และมีหลักคุณธรรม จริยธรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องคำ้จุนอยู่

Related Links:
เส้นทางเดินของ RT Consortium
มีข้อสอบขายไหม??