วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาคมอาเซียนกับผลกระทบ: จับตาฟิลิปปินส์และเวียดนาม


ไปที่ไหนตอนนี้มีแต่คนพูดเรื่อง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในทุกภาคส่วน การเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว สุขภาพ  Logistic ฯลฯ มีการเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้มากมาย แต่บางทีเราอาจให้ความสนใจน้อยไป ก็จะมองว่าเหมือนไม่มีอะไร ไม่ได้ทำอะไร

ตัวอย่างโครงการชนิดยิ่งใหญ่มโหราฬ ที่เป็นความร่วมมือกันในอาเซียน ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link) ที่ตำบลนาบุเลในประเทศพม่า  เป็นอภิมหาโปรเจคต์เชื่อมอุษาคเนย์  เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่า 



     ท่าเรือนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังมากมายเป็น 10 เท่า มีแผนสร้างทางมอเตอร์เวย์ ทั้งรถยนต์ รถไฟ ฯลฯ จากนาบุเล ผ่านกาญจนบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ ไปท่าเรือแหลมฉบังระยะทางประมาณ 400 กิเมตร มีแผนต่อเชื่อมเข้า กัมพูชาและเวียดนามในที่สุด เป็นการย่นระยะทางและเวลา เรือขนส่งสินค้าจากเนบุเล ไม่ต้องแล่นผ่านช่องแคบมะละกา อ้อมแหลมทองไปแหลมฉบังระยะทางประมาณ 3.500 กิโลเมตร
โครงการนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสนใจ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี เพราะที่ตั้งห่างจากนาบุเลประมาณ 140 กิโลเมตร มหิดลจะเป็นประตูด่านหน้าที่นอกจากจะรองรับนักศึกษาในภาคตะวันตกของไทยแล้ว ยังขยายโอกาสเพื่อรองรับนักศึกษาจากพม่าด้วย  นอกจากนี้เส้นทางคมนาคมตามแผนจากเนบุเลไปแหลมฉบังจะมีแนวผ่านมหาวิทยาลัย

AEC กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ วันที่ 1 มกราคม 2558 คือกำหนดเวลานัดหมาย คงเหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว หลายคนกล่าวว่า มันคงไม่เปลี่ยนแปลงโครมคราม เหมือนคลื่น Tsunami ถาโถมเข้าหาแผ่นดิน จะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จะช้าจะเร็ว เราเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ จะดีกว่า

มีคำถามว่า นักรังสีเทคนิคไทยจะถูกแย่งงานจากนักรังสีเทคนิคในประเทศอาเซียนหรือไม่??”

ทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแน่นอน แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้
เรามาดูข้อมูลต่อไปนี้ครับ>>>

     ค่าตอบแทนในประเทศไทย
เรามาดูค่าตอบแทนนักรังสีเทคนิคไทยในภาคเอกชนเป็นอันดับแรก
จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานเมื่อมกราคม 2554 เรื่องค่าตอบแทนพนักงานสายงานด้านสุขภาพภาคเอกชนทั่วประเทศ พบว่า ค่าตอบแทนสำหรับนักรังสีเทคนิคอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร เมื่อเทียบเคียงกับวิชาชีพอื่นในกลุ่มวิชาชีพด้านสุขภาพ ทั้งนี้ไม่รวมแพทย์และทันตแพทย์ 
แต่ถ้าหากดูในภาครัฐ อัตราค่าตอบแทนก็จะลดต่ำลงมาอีก

     กำลังคน: จำนวนนักรังสีเทคนิคไทย
     กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาทบทวนกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุขสาขารังสีเทคนิค โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีรองศาสตราจารย์ จิตต์ชัย สุริยะไชยากร เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานได้รายงานผลการสำรวจให้กระทรวงสาธารณสุขไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2553       
จากการศึกษาดังกล่าวนั้น มีผลการศึกษาในส่วนของการคาดการณ์สภาวะการด้านกำลังคนสายงานรังสีการแพทย์ พ.ศ. 2552-2561 ตามตารางหรือรูปกราฟ โดยคิดสัมพันธ์กับจำนวนเครื่องมือรังสีวิทยาทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อดูการศูนย์เสียบุคลากร ในตารางดังกล่าวนั้น มีเฉพาะนักรังสีเกษียณ ยังไม่ได้แสดงถึงคาดการณ์การศูนย์เสียด้วยเหตุอื่นๆ เช่น เสียชีวิต ลาออกก่อนเกษียณ ฯลฯ

จากข้อมูลนี้ มีความชัดเจนครับว่าประเทศไทยขาดแคลนนักรังสีเทคนิคอีกมาก และอัตราการผลิตบัณฑิตยังต่ำกว่าจำนวนความต้องการที่เพิ่มขึ้นซึ่งคิดเฉลี่ยคิดเพิ่มเพียงร้อยละ 1.5  เท่านั้น จากข้อมูลในตารางในปี 2559 คาดการณ์จำนวนบัณฑิตที่ผลิตเข้าสู่ระบบรวมประมาณ 270 คนต่อปี โดยวิธีนี้ ทำให้ความต้องการในแต่ละปีเริ่มลดลงบ้าง แต่ปัญหาคือ ใครล่ะจะเป็นผู้ผลิตบัณฑิตในส่วนที่เพิ่มอีก 150 คนต่อปี

     ความต้องการนักรังสีเทคนิคในภาคเอกชนยังสูงมาก เกิดภาวะการแข่งขันในส่วนของการเสนอเงื่อนไขพิเศษต่างๆ ดูจากการที่โรงพยาบาลเอกชนส่งฝ่ายบุคคลเข้าไปเชิญชวนนักศึกษารังสีเทคนิคชั้นปีที่ 4 ถึงสถาบันการศึกษา เพื่อรับสมัครงาน และมีการยื่นข้อเสนอพิเศษหลายอย่างแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล เพื่อจูงใจให้นักศึกษาสนใจที่จะไปร่วมงานด้วยเมื่อเรียนจบแล้ว เช่น การให้ทุนการศึกษาที่ค่อนข้างสูง เงินเดือนที่ค่อนข้างสูง ค่าตอบแทนใบประกอบโรคศิลปะสูงกว่าส่วนราชการ 3 เท่าเป็นอย่างต่ำ (บางแห่งเสนอให้สูงถึงกว่า 7,000 บาทต่อเดือน)ค่าอยู่เวร สวัสดิการที่พัก ฯลฯ สภาพเช่นนี้สะท้อนความขาดแคลนจริงหรืออาจสะท้อนการเปลี่ยนสถานที่ทำงานก็ได้

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีรังสีทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในอีก 5-10  ปีต่อจากนี้ ในเรื่องความที่มันทันสมัยและเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น จะมีผลต่อจำนวนนักรังสีเทคนิคในระบบหรือไม่ เป็นแค่คำถามครับ  


ขออนุญาตนอกเรื่องหน่อยครับ แต่ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

แม้จะชัดเจนว่าประเทศไทยขาดแคลนนักรังสีเทคนิค ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดให้นักรังสีเทคนิคเป็นผู้ใช้รังสีกับมนุษย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยวิธีทางรังสีวิทยา แพทย์หรือทันตแพทย์ก็ทำได้ แต่ผู้บริหารผู้มีอำนาจหลายคนไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ จึงมีการส่งเสียงให้ได้ยินเป็นทำนองปรับทุกข์จากนักรังสีเทคนิคที่อยู่ในระบบงานรังสีการแพทย์อยู่เสมอๆว่า มีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลไม่น้อยใช้ผู้ที่ไม่ใช่นักรังสีเทคนิค แพทย์หรือทันตแพทย์ มาปฏิบัติหน้าที่เสมือนหนึ่งว่าเป็นนักรังสีเทคนิค มันจึงมองได้ว่าภาพรวมไม่ขาดแคลน   

หากรวบรวมปัญหาหรือจุดอ่อนด้านกำลังคน พบว่ามีมากพอควร เกิดความรู้สึกเหมือนถูกละเลยจากผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบไปในวงกว้างของชาวเรา เป็นแค่ความรู้สึกนะครับ ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆได้แก่ การขาดแคลนกำลังคนจริงๆตามกฎหมายในภาพรวม การกระจายกำลังคนที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมด้านค่าตอบแทน  จำนวนบัณฑิตใหม่แต่ละปีประมาณต่ำกว่าความต้องการกำลังคนค่อนข้างมาก ปัญหาความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ ฯลฯ



     ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: การเคลื่อนย้ายอย่างเสรี

การรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของ skilled labor หรือแรงงานมีฝีมือ อย่างน้อยในขณะนี้จำนวน 8 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม การสำรวจ บัญชี สถาปัตยกรรม และการท่องเที่ยว ที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน (MRA) แล้ว ในระยะเวลาอันใกล้ที่ประชาคมอาเซียนกำลังจะมา แม้จะยังไม่มี MRA สำหรับวิชาชีพรังสีเทคนิค

คำถามคือ...........

จะมีการผ่อนปรนให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของนักรังสีเทคนิคหรือไม่??

และถ้ามีการผ่อนปรนจะเกิดผลกระทบอย่างไร??

     เปรียบเทียบรังสีเทคนิคในอาเซียน

     นักรังสีเทคนิคในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีระบบการผลิต การเข้าสู่ตลาดงาน และอัตราค่าตอบแทน ที่แตกต่างกัน ลองดูในด้านเหล่านี้ครับ




      การจัดการศึกษา ประเทศไทยใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค แล้วได้ปริญญาเป็น วท.บ. สาขารังสีเทคนิค คล้ายกับประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาวและกัมพูชา ใช้หลักสูตรที่เป็นแบบรังสีเทคนิคบัณฑิต คือเน้นวิชาชีพรังสีเทคนิค  

     การสอบขึ้นทะเบียน ประเทศในอาเซียนที่มีการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแล้วคือ ไทยและฟิลิปปินส์ ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ในขั้นตอนเตรียมดำเนินการ
อัตราค่าตอบแทน สำหรับนักรังสีเทคนิคที่ทำงานใหม่ ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีอัตราค่าตอบแทนใกล้เคียงกันประมาณเดือนละ 10,000 บาท ถัดมาคือมาเลเซีย ตามด้วย ไทย และสิงคโปร์อัตราค่าตอบแทนสูงที่สุดและแตกต่างจากไทยประมาณ 3 เท่า

     จับตาฟิลิปปินส์และเวียดนาม
จากข้อมูล
>> สภาวการณ์ขาดแคลนนักรังสีเทคนิคไทยจำนวนมาก
>> ไทยมีอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
>> การเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานมีฝีมือ
>> ระบบการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน
>> มีใบประกอบโรคศิลปะ
>> ประเทศไทยน่าอยู่ คนไทยมีน้ำใจ อัธยาศัยดี
ดังนั้น เมื่อประชาคมอาเซียนมาถึง จึงน่าเป็นไปได้ครับว่า นักรังสีเทคนิคจากฟิลิปปินส์มีโอกาสสูงที่สุดที่จะเข้ามาทำงานในไทย โอกาสรองลงไปคือเวียดนาม ขอย้ำว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือจะมีลักษณะสวนทางกับการไหลของน้ำ

เราจะเตรียมการรับมืออย่างไรดี 
     จะกีดกันหรือจะสนับสนุนหรืออย่างไรก็ได้ 
     เมื่อคิดว่าเราจะเสียเปรียบ แสดงว่าต้องเอาเปรียบใช่ไหม 
     นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน มิตรประเทศของเราทั้งนั้น เพื่อน win เรา win น่าจะเป็นแนวทางที่ดีครับ แต่ win ด้วยกันมีอะไรบ้างต้องช่วยกันคิดละครับ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น