วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

10th RT Consortium: เรื่องเล่าสบายๆ

(1052 ครั้ง)
เกริ่น
นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย
วันที่ 19-21 กรกฎาคม 2555 ผมได้เดินทางไปประชุม 10th RT Consortium หรือการสัมมนาสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิค ครั้งที่ 10 ที่พิษณุโลกโดยที่เจ้าบ้านคือ ภาควิชารังสีเทคนิคนเรศวรเป็นเจ้าภาพ ทีแรกผมเข้าใจว่าจะประชุมกันที่มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่พอโปรแกรมออกมาว่าไปประชุมที่ภูแก้วรีสอร์ท อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเกิดแรงเร้าจิตกระตุ้นใจที่อยากจะไปประชุมมากยิ่งขึ้น อยากไปสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ ป่าไม้ ขุนเขา อากาศที่เย็นสบาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พบกับเพื่อนอาจารย์จากทุกสถาบัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างกัลยาณมิตร ย่อมเป็นความสุขอีกแบบที่หาได้ยากยิ่ง

ประธานอนุกรรมการวิชาชีพด้านจรรยาบรรณ
การประชุมนี้ เป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุกปี หัวหน้าภาควิชา ประธานหลักสูตรและอาจารย์ที่เกี่ยวข้องจากสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิค รวมถึงอาจารย์รังสีแพทย์คือ อาจารย์จิตเจริญที่เราเรียกกันว่าพี่ JJ ที่น่ารักของน้องๆ (สองครั้งหลังท่านไม่ได้เข้าประชุมด้วย) จะมาร่วมพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ หลักๆก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับหลักสูตร การจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในด้านการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคยิ่งๆขึ้น หลังๆจะมีประธานคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณฯและนายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย

ส่วนตัวผมเองนั้นโดยหน้าที่ความรับผิดชอบก็เลยต้องเข้าประชุมทุกครั้งตั้งแต่ครั้งแรกจัดที่เชียงใหม่ จนถึงครั้งที่ 10 ที่นเรศวรเป็นเจ้าภาพ สถาบันแต่ละแห่งรับผิดชอบงบประมาณที่ใช้กันเอง และผลัดกันเป็นเจ้าภาพ การจัดประชุมครั้งหลังๆได้รับน้ำใจ คือเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งไม่มากนักจากสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยครับ
ภาพใหญ่ๆหลักๆ ของสาระการประชุม มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับคณะกรรมการวิชาชีพฯ สมาคมวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ)  ฯลฯ เป็นระบบกลไกหนึ่งของการประกันคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งของสถาบันฯทุกแห่ง ที่คณาจารย์จะได้มาร่วมกันระดมสมอง และนำผลลัพธ์ไปเป็นแนวทางในการบริหารงานและปฏิบัติให้สอดคล้องกัน

การเดินทาง
การประชุมครั้งนี้ เราตกลงกันว่าจะพูดคุยกันเรื่อง การจัดทำข้อสอบ สาขารังสีเทคนิค ให้สอดคล้องตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ดังนั้น ทีมอาจารย์จากภาควิชารังสีเทคนิคมหิดล จึงขออนุมัติต้นสังกัดไปร่วมประชุมเยอะหน่อย (หมายความว่าเมื่อต้นสังกัดอนุมัติ ต้นสังกัดจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการเดินทางและที่พัก) คือ รวมผมด้วยเป็น 8 คน ก็เพื่อให้มีอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆเข้าร่วมครบทุกหมวดการจัดทำข้อสอบ
เราเดินทางแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งจำนวน 5 คนเดินทางโดยรถตู้ ออกจากกรุงเทพฯตั้งแต่ 6.00 น. ของวันที่ 19 กรกฎาคม มุ่งตรงสู่เขาค้อ ถึงเขาค้อประมาณเที่ยงวัน ได้ข่าวว่าสนุกกันมาก กลุ่มที่สองจำนวน 3 คนมีผมด้วยเดินทางโดยเครื่องบิน ต้องตื่นตั้งแต่ตีสามครึ่งออกจากบ้านไปสนามบินดอนเมืองให้ทันขึ้นเครื่อง ที่สนามบินได้พบกับทีมอาจารย์จากรามคำแหงอีก 3 ท่าน สปิริตท่านสูงมากเพราะผมจำได้ว่าท่านเข้าร่วมประชุมทุกครั้งตั้งแต่ครั้งที่หนึ่งเรื่อยมาเลย
เครื่องบินออกจากดอนเมือง 6.20 น.ไปสนามบินพิษณุโลกและถึงเวลา 6.55 น. กัปตันรายงานว่าเรามาถึงพิษณุโลกเร็วกว่าตารางบิน 15 นาที จากนั้นเจ้าภาพ ทีมอาจารย์นเรศวรนำรถตู้มารับที่สนามบิน แวะรับประทานโจ๊กและเลือดหมูต้ม แล้วพาขึ้นเขาค้อ ระหว่างทางฝนตกเป็นระยะ ถึงเขาค้อ 9.30 น. (เร็วกว่าทีมที่เดินทางโดยรถตู้จากกรุงเทพฯ) เมื่อลงทะเบียนเข้าที่พักแล้ว ก็มาประชุมกันเลย

มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆมาร่วมประชุมด้วยรวมแล้วประมาณเกือบ 30 คน โดยมาจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมเจ้าภาพมหาวิทยาลัยนเรศวรด้วย คราวนี้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและจุฬาฯไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย ทีมจากจุฬาฯไม่ได้มาร่วมด้วยคงเพราะอยู่ในระหว่างการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิต ส่วนทีมจากขอนแก่นนั้นได้ทราบว่ามีการประชุมภาควิชารังสีวิทยาพอดีจึงไม่สามารถมาได้

เรื่องคุยกันในที่ประชุม
อย่างที่บอกไปแล้วว่าการประชุมครั้งนี้ เราตกลงกันว่าจะพูดคุยกันเรื่อง การจัดทำข้อสอบ สาขารังสีเทคนิค ให้สอดคล้องตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ดังนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่จึงเป็นการพิจารณาข้อสอบที่แต่ละสถาบันส่งเข้ามา แบ่งกลุ่มพิจารณาตามกลุ่มวิชา อาจารย์ที่มีความชำนาญเรื่องไหนก็เข้ากลุ่มนั้น สรุปแล้วได้ข้อสอบที่สามารถส่งให้ ก.ช. พิจารณาใช้จำนวนไม่น้อยเลย
อีกส่วนหนึ่ง เจ้าภาพนเรศวรเชิญให้ผมพูดเรื่อง การเตรียมพร้อมของสถาบันผู้ผลิต บัณฑิตสาขาวิชารังสีเทคนิคสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีประเด็นที่สถาบันต้องเตรียมการและลงมือทำทันทีอยู่หลายเรื่อง ซึ่งผมจะได้เขียนเล่าให้ฟังต่อไป เอาเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวเลย จะได้เล่าให้ละเอียด




เรื่องคุยระหว่างพัก
ซื้อกลับมาหนึ่งกิโล ยังไม่กล้าหุงครับ
ระดมสมองกันอย่างหนัก ระหว่างพักได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องทั่วๆไปกับเพื่อนอาจารย์หลายๆคน มีเรื่องเล่าสบายๆ จากวงสนทนาที่มีผม อาจารย์จากเชียงใหม่และสงขลา ร่วมสนทนากัน ไม่มีเรื่องการคัดเลือกข้อสอบ  อาจารย์สมบัติจากสงขลาสงสัยเรื่อง ไก่ขัน ที่ผมเขียนในเฟสบุ๊คไว้ว่า

ที่ภูแก้วรีสอร์ทเขาค้อ น่าจะได้ยินเสียงไก่ขันตอนเช้าๆนะแล้วตะวันก็ขึ้นทอแสงงาม แต่คิดว่าคงเป็นเสียงไก่ขันที่ขันมาจากไก่ที่ไม่ต้องขันตะวันก็ขึ้น..อิอิ..อย่างงนะ

ทำให้อาจารย์สมบัติเข้าใจว่าผมอยู่ที่เขาค้อแล้ว จริงๆขณะโพสต์ข้อความ ผมยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมได้ทีก็เลยถามทุกคนที่นั่งสนทนากันอยู่ว่า มีใครเคยได้ยินคำว่า ไก่ขัน ตะวันขึ้น บ้าง ปรากฏว่า ทุกคนส่ายหน้า แปลว่าไม่เคยได้ยิน ผมจึงได้จังหว่ะเล่าให้ฟังว่า
เป็นเรื่องที่ผมได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องเกี่ยวกับไก่ฝูงหนึ่ง มีหัวหน้าไก่แข็งแรงและมีอาวุโสหน่อยเป็นที่ยอมรับนับถือ ทุกๆวันตอนเช้ามืด หัวหน้าไก่จะบินขึ้นไปบนต้นไม้ และเริ่มส่งเสียงขันดังลั่นได้ยินไปไกล ทำให้ไก่ตัวอื่นๆส่งเสียงขันตาม สักพักดวงตะวันก็เริ่มขึ้นส่องแสงทองจับขอบฟ้า เป็นสัญญาณว่าวันใหม่กำลังเริ่มแล้ว
หัวหน้าไก่บอกกับไก่ตัวอื่นๆทำนองปลูกฝังความเชื่อว่า หากฉันไม่ส่งเสียงขันวันใด วันนั้นดวงตะวันจะไม่ขึ้น เราจะไม่มีแสงสว่าง โลกทั้งโลกจะมืดมิด และพวกเราจะตายกันหมด บรรดาไก่ทั้งหลายก็เชื่อฟังตามคำของหัวหน้าไก่ ไม่มีใครกล้าเถียงแม้แต่ตัวเดียว เพราะมันเป็นจริงตามที่หัวหน้าไก่บอกทุกวัน คือ ขันปั๊บ ดวงตะวันขึ้นปึ๊บ หรือไก่ขัน ตะวันขึ้น นั่นแหล่ะคือที่มาของคำถามที่ว่า เคยได้ยินคำนี้ไหม

เวลาผ่านไป เช้ามืดวันหนึ่ง หัวหน้าไก่ซึ่งแก่มากแล้ว และป่วย ไม่มีแรงจะบินขึ้นไปขันบนต้นไม้ ไก่ลูกน้องกลัวมาก บอกกับหัวหน้าไก่ว่า ท่านต้องอดทนปีนต้นไม้ขึ้นไปขันให้ได้ ไม่เช่นนั้นพวกเราจะพากันตายหมด หัวหน้าไก่ส่ายหน้า ไม่ไหวหรอกป่วยขนาดนี้ ไก่ลูกน้องต้องใช้วิธีหิ้วปีกหัวหน้าขึ้นต้นไม้ไป จากนั้นหัวหน้าไก่ก็รวบรวมพลังทั้งหมดที่มีอยู่โก่งคอขัน ปรากฏว่าการขันวันนั้น เป็นการขันครั้งสุดท้ายของหัวหน้าไก่ เพราะเมื่อขันได้ครั้งเดียวก็หมดแรงและตกลงมาตาย
ไก่ที่เหลือกลัวจนรนราน คือกลัวว่าดวงตะวันจะไม่ขึ้น กลัวตายเพราะถูกฝังความคิดไว้ว่า ต้องหัวหน้าไก่ขันเท่านั้นดวงตะวันจึงจะขึ้น ไก่จับกลุ่มรวมตัวกันยอมรับชะตากรรม สักครู่ดวงตะวันก็เริ่มส่องแสงตามธรรมชาติของมัน ทำเอาฝูงไก่นั้นถึงกับตะลึงงัน อะไรกัน หัวหน้าไม่ขัน แล้วตะวันขึ้นได้อย่างไร แปลกมากๆๆ...จบครับ
   อ้าวอาจารย์เล่นจบดื้อๆเลยรึครับ อาจารย์จะบอกอะไรรึเปล่า
       คืออยากจะบอกว่า....เราไม่ได้เก่งหรือแน่เพียงคนเดียวหรอกครับ นอกนั้นตีความกันเอง...จบอีกทีครับ

สังสรรค์
เย็นของการสัมมนาวันที่สอง อากาศเย็นสบายครับประมาณ 21 องศา เจ้าภาพนเรศวรจัด Dinner Party สนุกสนาน อบอวนด้วยบรรยากาศมิตรไมตรี อาจารย์หลายท่านทำให้นักร้องมืออาชีพชิดซ้ายไปเลย

Related Link:
เส้นทางเดินของ RT Consortium

จำนวนผู้อ่านบทความนี้ 1052 ครั้ง (25กค2555-23มีค2556)

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เส้นทางเดินของ RT Consortium


(1,957 ครั้ง)..
ผมขอแนะนำให้รู้จัก RT Consortium หรือที่ประชุมสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคอีกสักครั้ง เพื่อให้รู้จักกันดีมากขึ้น ที่ประชุมนี้ประกอบด้วย หัวหน้าภาควิชา ประธานหลักสูตร และอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสถาบันผู้ผลิตฯ ได้แก่
ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันยุบเลิก แต่กำลังจะมีโครงการบัณฑิตรังสีเทคนิคในเวลาอันใกล้นี้)

การรวมตัวกันของสถาบันผู้ผลิตฯทั้งหลายนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องที่เกี่ยวกับ
หลักสูตรรังสีเทคนิค ทั้งทางด้านเนื้อหาของหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอน ตัวอย่างที่ทันสมัยตอนนี้คือ การทำ มคอ.1 ร่วมกันเพื่อการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องตามมาตรฐาน TQF การปรับตัวเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 การเลื่อนเปิดภาคการศึกษาจากเดิมที่เปิดเดือนพฤษภาคมไปเป็นเดือนสิงหาคม การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในการสอนนักศึกษาเพราะประชาคมอาเซียนตกลงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ฯลฯ
เสนอแนะคณะกรรมการวิชาชีพในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น เนื้อหาการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคและข้อสอบที่ใช้ เป็นต้น
เรื่องอื่นๆที่เห็นว่ามีความสำคัญและเกี่ยวข้อง
การประชุม RT Consortium เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2550 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นครั้งที่ 10 แล้ว หลังๆจะมีคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคที่เห็นความสำคัญและนายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย งบประมาณที่ใช้ในการประชุม สถาบันแต่ละแห่งรับผิดชอบกันเอง และผลัดกันเป็นเจ้าภาพ การจัดประชุมครั้งหลังๆได้รับน้ำใจ คือเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งไม่มากนักจากสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยครับ

และต่อไปนี้ ขอลำดับการประชุม RT Consortium ทั้ง 10 ครั้งเอาไว้ เป็น Time line ให้เห็นในภาพสรุปว่าเราได้เดินกันมาอย่างไร เพื่อให้การเดินต่อไปข้างหน้ามีทิศทางการเดินที่เด่นชัดและถูกทิศถูกทางยิ่งๆขึ้น

ครั้งที่ 1 (18-19 มค 2550)
เชียงใหม่ ภาควิชารังสีเทคนิค
ปฐมฤกษ์เบิกวิถี.....................
พิจารณาขอบเขต สิ่งที่เป็น must know และ must do ของกลุ่มรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์
ครั้งที่ 2 (17-18 มค 2551)
นเรศวร ภาควิชารังสีเทคนิค
เรื่อง มาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตรังสีเทคนิค
-มีการทำความเข้าใจ(ร่าง) สมรรถนะมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคซึ่ง ก.ช. (คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค) ยังไม่ได้ประกาศใช้
- มีการพิจารณา Competency of Practice ของบัณฑิตว่าขั้นต่ำแล้วสามารถทำอะไรได้บ้างทั้ง 3 สาขา
ครั้งที่ 3 (25-26 มีค 2552)
เชียงใหม่ ภาควิชารังสีเทคนิค

เสนอ ก.ช. เรื่อง สัดส่วนของเนื้อหาที่ใช้สอบเพื่อขอขึ้นทะเบียน (สอบใบประกอบฯ) โดยแบ่งเป็น วิชาทั่วไป (100 คะแนนรวมกฎหมายและจรรยาบรรณ  40 คะแนนด้วย) วิชาชีพ (100 คะแนนสอบเฉพาะ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)...ผลคือ ก.ช. แบ่งกลุ่มเนื้อหารการสอบเหมือนเดิม
ครั้งที่ 4 (สิงหาคม 2552)
เชียงใหม่ ภาควิชารังสีเทคนิค
พิจารณาจัดทำคลังข้อสอบใบประกอบฯ หมวดทั่วไป
ครั้งที่ 5 (สิงหาคม 2552)
รามคำแหง คณะวิทยาศาสตร์

พิจารณาจัดทำคลังข้อสอบใบประกอบฯ หมวดวิชาชีพ และสรุปรวบรวมส่งให้ ก.ช. พิจารณาใช้
ครั้งที่ 6 (1-2 เมย 2553)
ขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์

เริ่มพิจารณา มคอ.1 มาตรฐานอุดมศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารังสีเทคนิค ตอนนั้นเราไม่กล้าที่จะรับเป็นที่ปรึกษาของ สกอ. เพื่อทำ มคอ.1  เพราะไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทันหรือไม่ เพราะมีเวลาทำ 6 เดือนหลังจากตกลงกับ สกอ. แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ได้ คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ Learning Outcome หรือมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน
ครั้งที่ 7 (15-16 กค 2553)
มหิดล ภาควิชารังสีเทคนิค โรงแรมรอยัลซิตี้

หลักสูตรรังสีเทคนิคตามกรอบมาตรฐาน TQF:HEd” พิจารณา มคอ.1ต่อ ยืนยันคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ Learning Outcome หรือมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน และคุยกันต่อลึกลงไปถึงเนื้อหาขั้นต่ำที่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ควรมี เลยไปถึงการพิจารณา Curriculum Mapping ของรายวิชาในแต่ละสาขาด้วยแต่ไม่เสร็จสมบูรณ์
ครั้งที่ 8 (4-5 พย 2553)
จุฬาฯโรงเรียนรังสีเทคนิค สภากาชาดไทย (รร.ตะวันนา)
คุยกันต่อลึกลงไปถึงเนื้อหาขั้นต่ำที่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ควรมี รวมถึงการพิจารณา Curriculum Mapping ของรายวิชาในแต่ละสาขาจนครบถ้วน
ครั้งที่ 9 (10-11 กพ 2554)
เชียงใหม่ ภูอิงฟ้ารีสอร์ท

ได้ มคอ.1 อยู่ในระหว่างการนำไปสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการโดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
ครั้งที่ 10 (19-21 กค 2555)
นเรศวร ภูแก้วรีสอร์ท เขาค้อ

คุยกันเรื่อง
การจัดทำข้อสอบ สาขารังสีเทคนิค ให้สอดคล้องตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค เพื่อส่งให้ ก.ช. พิจารณาใช้เป็นข้อสอบใบประกอบฯ
-เสวนาการเตรียมพร้อมของสถาบันผู้ผลิต บัณฑิตสาขาวิชารังสีเทคนิคสู่ประชาคมอาเซียน
-เสนอแนะ ก.ช. ควรเพิ่มจำนวนข้อสอบให้มากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหา เช่น ข้อสอบวิชาชีพเป็น 200 ข้อเป็นต้น
ครั้งที่ 11 (ยังไม่กำหนดวัน 2556)
มหิดล ภาควิชารังสีเทคนิค เป็นเจ้าภาพ
            เนื้อหาที่จะพูดคุยกันในครั้งที่ 11 นี้ ยังไม่ได้สรุป แต่จากการประชุมครั้งที่ 10 ที่เขาค้อ ได้มีการปรึกษากันว่าน่าจะเป็นเรื่อง ความชัดเจนของเนื้อหาในแต่ละหมวดวิชาตามสมรรถนะของวิชาชีพที่ใช้สอบใบประกอบฯ  การเตรียมการและดำเนินการเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของสถาบันผู้ผลิตฯ

       เส้นทางเดินของ RT Consortium ที่ผ่านมาประมาณ 6 ปี ได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้ ใครที่สนใจได้ค้นหาคำตอบและความหมายต่างๆได้อย่างมากมาย เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยใครคนใดคนหนึ่งหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งเพียงสถาบันเดียว มันไม่ใช่เรื่องของ “ไก่ขันตะวันขึ้น” แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ไก่ไม่ขัน ตะวันก็ขึ้น มันเป็นร่องรอยที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกสถาบันและทุกคน มันเป็นร่องรอยที่น่าภาคภูมิใจ และมันจะยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดไปครับ
Related Links:
1.)ประชาคมอาเซียนกับวิชาชีพอาเซียน
2.)ผลกระทบประชาคมอาเซียน 2558
3.)ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558
4.)บัณฑิตคุณภาพในศตวรรษที่ 21
5.)ปัจจัยที่กระทบการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค พ.ศ. 2555-2559
6.)มคอ.1 มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขารังสีเทคนิค
7.)พิมพ์เขียวรังสีเทคนิค 2555-2559
8.)กำเนิดรังสีเทคนิค สปป.ลาว
9.)9th RT Consortium ทำให้ขนลุก
10.)RT Consortium ครั้งที่ 7


วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การประเมินสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค


                               
(1,015 ครั้ง)
     บทความนี้ เขียนขึ้นโดยยึดหลักตามประกาศของ ก.ช. และสอดแทรกประสบการณ์ที่เป็นผู้ตรวจประเมินและผู้ถูกประเมิน เพื่อให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจกระบวนการตรวจประเมินที่เป็นแนวปฏิบัติกลางๆ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ


เป็นที่ทราบกันดีว่า ตามประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ก.ช.)เรื่องหลักเกณฑ์และแบบประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. 2551กำหนดให้ สถาบันที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคต้องขอรับการประเมินสถาบันจาก ก.ช. เมื่อ ก.ช. รับรองแล้ว บัณฑิตที่จบการศึกษาจึงจะสามารถสมัครสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคได้ ประกาศคณะกรรมการวิชาชีพฯฉบับนี้จัดทำโดยคณะอนุกรรมการวิชาชีพด้านพัฒนามาตรฐานและวิชาการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 24 พฤษจิกายน 2551

ขอรับการประเมินสถาบัน
การประเมินสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค เป็นกระบวนการเชิงคุณภาพอย่างหนึ่งที่สำคัญมากในการทำให้ สถาบันที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคมีพัฒนาการสู่คุณภาพที่ดียิ่งๆขึ้น โดยปัจจุบันมีการพิจารณาเรื่อง หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผล อาจารย์ ปัจจัยเกื้อหนุน การวิจัย กิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษา การบริการวิชาการ การบริหารจัดการ และการประกันคุณภาพการศึกษา  เกณฑ์การพิจารณาเหล่านี้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกสถาบันฯจะต้องมี ซึ่งในแต่ละเรื่องยังมีรายละเอียดอีกมากครับ
สถาบันฯที่จะขอรับการประเมิน จะต้องยื่นเรื่องต่อผู้อำนวยการกองประกอบฯ  (ปัจจุบันคือสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) กฎหมายกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการ  (หมายถึงอธิการบดี) เป็นผู้ยื่นคำขอการรับรอง เมื่อตรวจสอบคำขอรับการประเมินแล้วว่าถูกต้อง จึงเสนอ ก.ช. ต่อไป

ตั้งคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ
เมื่อ ก.ช. รับทราบเรื่องแล้ว ก.ช. จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินสถาบันการศึกษา ตามที่กฎหมายกำหนดประกอบด้วย
ก) ผู้แทน ก.ช. 2 คน
ข) ผู้แทนคณะอนุกรรมการด้านพัฒนามาตรฐานและวิชาการ 2 คน
ค) ผู้แทนกองประกอบ 2 คน โดยที่คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯรวมทั้งหมด 6 คน รายชื่อได้จากการเสนอชื่อในที่ประชุม ก.ช. และหนึ่งในนั้นเป็นประธานในการตรวจประเมินโดยความเห็นชอบของประธาน ก.ช.
ระบบและกลไกที่วางกันเอาไว้เป็นอย่างนี้ ทุกสถาบันที่ขอรับการประเมินก็ต้องเป็นไปตามระบบนี้และรายชื่ออนุกรรมการฯก็สุดแท้แต่ที่ประชุม ก.ช. จะเสนอใคร คณะอนุกรรมการฯที่แต่งตั้งแล้วก็ไปทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การตรวจประเมินนี้ เป็นการตรวจประเมินเพื่อรับรองมหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะมาทำกันเล่นๆไม่ได้

การตรวจประเมิน
ตามปกติคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯจะใช้เวลาทำการตรวจประเมินสถาบัน 2 วัน โดยไปตรวจประเมินที่สถาบัน วันที่คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯไปทำการตรวจประเมิน ผู้บริหารของสถาบันอย่างน้อยระดับ คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา ประธานหลักสูตร จึงให้ความสำคัญและจะเป็นผู้มาให้การต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมตามที่คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯซักถามและร้องขอ
ดังนั้น ภาระหน้าที่ของคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ไม่ว่าชุดใด ไปตรวจประเมินสถาบันใด จึงหนักหนาสาหัส เป็นเรื่องที่ต้องให้ความเคารพและให้เกียรติสถาบัน ต้องระมัดระวังเรื่องความควรไม่ควร เนื่องจากต้องพูดคุยซักถามผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ของสถาบันนั้น อย่างไรก็ตาม จะมีกรอบและหลักเกณฑ์ให้กับคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสอบข้อมูลที่จำเป็นให้ประจักษ์ ดังนั้น อนุกรรมการฯผู้ทำหน้าที่ตรวจประเมินจำเป็นต้องรู้และเข้าใจหลักเกณฑ์ในการประเมินเป็นอย่างดี มิฉะนั้นจะถูกโต้แย้งได้ นอกจากนี้ ยังต้องรู้หลักกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการศึกษาและมาตรฐานของนักรังสีเทคนิคทั้งหมด และทำความเข้าใจให้ดี เช่น TQF (มคอ.1,2,3,4) หลักเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาของ สมศ.+สกอ. EdPEx สมรรถนะของรังสีเทคนิค เป็นต้น ผู้ตรวจประเมินจึงต้องทำการบ้านหนักมาก จริงๆแล้วผมเคยเสนอให้ ก.ช. จัดอบรมผู้ตรวจประเมิน แต่ยังไม่เป็นผลครับ
     ในคราวประเมินสถาบันที่มีแนวโน้มผ่านการประเมิน  การหาอนุกรรมการฯประเมินไม่ค่อยลำบาก แต่หากต้องไปประเมินสถาบันที่ก่ำกึ่งและมีโอกาสไม่ผ่านการประเมิน หรือน่าจะมีปัญหา จะหาอนุกรรมการฯประเมินได้ยาก ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีใครอยากเป็นอนุกรรมการฯประเมินครับ 
อนุกรรมการตรวจประเมินได้รับอุบัติเหตุขณะเดินตรวจประเมิน
ถึงขั้นต้องเข้าเฝือก
     ในเรื่องของหลักเกณฑ์การประเมินของ ก.ช. …ตามความเห็นของผม หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษา ที่ผลิตบัณฑิตปริญญาตรัสาขารังสีเทคนิค เป็นหลักเกณฑ์เพื่อการพัฒนาวิชาชีพรังสีเทคนิคให้ได้มาตรฐาน และเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่เข้มข้นมากเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น ค่อนข้างจะช่วยให้สถาบันฯผ่านการประเมินได้ไม่ยากด้วยซ้ำสำหรับสถาบันที่เปิดดำเนินการมาก่อนที่ ก.ช. จะมีประกาศให้มีการประเมินสถาบัน เนื่องจากการประเมินเพื่อการรับรองสถาบันนั้น เป็นระยะเริ่มต้น จึงมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันบ้างในบางประเด็นก็เป็นเรื่องธรรมดา และมีข้อที่สร้างความหนักใจให้กับสถาบันฯและอนุกรรมการฯผู้ประเมินอยู่บ้างคือ
     1)เป็นหลักเกณฑ์ที่บางองค์ประกอบต้องใช้ดุลยพินิจค่อนข้างมาก
     เกณฑ์กำหนดขั้นต่ำไว้ดังนี้
     องค์ประกอบที่ 1 หลักสูตร "หลักสูตรเป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ. และมาตรฐานวิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามแผนการศึกษาและมีระบบการวัดและประเมินผล"
     องค์ประกอบที่ 2 อาจารย์ "อาจารย์ประจำหลักสูตรเป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ. มีวุฒิทางรังสีเทคนิคและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคไม่น้อยกว่า ๒ คน"
     องค์ประกอบที 3 ปัจจัยเกื้อหนุน "อาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกปฏิบัติการต้องมีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาไม่เกิน 1:8 และอุปกรณ์และเครื่องมือทางรังสีวิทยามีเพียงพอที่จะสนับสนุนการฝึกปฏิบัติการให้สอดคล้องตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. 2551 และมีปัจจัยเกื้อหนุนที่สนับสนุนอย่างเพียงพอต่อการเรียนรู้ทางวิชาชีพ"
     องค์ประกอบที่ 4 การวิจัยด้านรังสีวิทยา "มีนโยบายและแผนงานการดำเนินการและมีการเผยแพร่ผลงานในที่ประชุมวิชาการหรือตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ"
     องค์ประกอบที่ 5 กิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษา "มีแผนและดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาเป็นไปตามแผนงาน และมีระบบอาจารย์ที่ปรึกษา"
     องค์ประกอบที่ 6 กิจกรรมบริการทางวิชาการ "มีแผนและกิจกรรมบริการวิชาการที่เป็นไปตามแผน"
     องค์ประกอบที่ 7 การบริหารจัดการ "มีระบบและกลไกการบริหารจัดการการศึกษา สอดคล้องกับเป้าหมายของสถาบัน โดยบุคลากรในองค์กรมีส่วนร่วม"
     องค์ประกอบที่ 8 การประกันคุณภาพการศึกษา "มีนโยบายและแผนงานการประกันคุณภาพ ตามข้อกำหนดของสถาบันนั้น ๆ และมีการดำเนินงานเป็นไปตามแผน"
     สถาบันฯจะต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำทั้ง 8 องค์ประกอบ จึงจะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพ
     ที่บอกว่า..หลักเกณฑ์ในบางองค์ประกอบต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมากนั้น ก็เป็นเพราะว่า เกณฑ์กำหนดไว้กว้างๆครับ เช่น องค์ประกอบที่ 3 เกณฑ์บอกไว้ท่อนท้ายว่า...มีปัจจัยเกื้อหนุนที่สนับสนุนอย่างเพียงพอต่อการเรียนรู้ทางวิชาชีพ.... จึงเกิดเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ สถาบันฯจะต้องมีอะไรแค่ไหนที่ถือว่าเพียงพอ เป็นต้น เกณฑ์ลักษณะนี้มองในแง่ดีก็เป็นประโยชน์ต่อสถาบันฯสำหรับกรณีได้ผู้ประเมินใจดี ไม่ต้องมีอะไรมากมายหรอกก็ผ่านเกณฑ์ข้อนี้ได้เลย แต่หากมองในแง่ร้าย ได้ผู้ประเมินที่เข้มข้น สถาบันมีนู่น นี่ นั่น เยอะไปหมดแต่ผู้ประเมินวินิจฉัยว่าไม่เพียงพอก็ได้ ถ้าเจออย่างนี้สถาบันก็อาจถูกประเมินให้ไม่ผ่านก็ได้ 
     หรือในองค์ประกอบที่ 4 งานวิจัยด้านรังสีวิทยา ไม่ได้มีการนิยามไว้ว่าด้านรังสีวิทยาหมายถึงอะไร มีสาขาอะไรบ้าง ถ้าไม่มีการนิยามอาจเกิดข้อขัดแย้งได้ สถาบันฯอาจบอกว่างานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยด้านรังสีวิทยา ในขณะที่ผู้ประเมินอาจบอกว่าไม่ใช่ก็ได้ ถ้ามีนิยามไว้บ้างก็จะดีกว่า จะช่วยให้เกิดความกระจ่างชัดและตรงกันระหว่างสถาบันฯและผู้ประเมิน ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว หากสถาบันมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับรังสีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้ประเมินก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับไว้ก่อน 
     นี่คือตัวอย่างของเกณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจครับ ยังมีในรายละเอียดอีกหลายประเด็น ที่ผู้ประเมินต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ 
     2)เป็นหลักเกณฑ์ที่เหมาะสำหรับสถาบันที่ดำเนินการมาแล้ว ไม่เหมาะกับสถาบันที่ตั้งใหม่ เช่น 
     องค์ประกอบที่ 1 เกณฑ์กำหนดว่าถ้าจะผ่านขั้นต่ำต้องมี "หลักสูตรเป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ. และมาตรฐานวิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามแผนการศึกษาและมีระบบการวัดและประเมินผล" ทีนี้สถาบันที่ตั้งใหม่ยังไม่ได้ดำเนินการสอนเลยคงบอกไม่ได้ว่าการจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามแผนการศึกษา คงมีแต่แผนการศึกษาที่อยู่ใน มคอ.2 เท่านั้น 
     องค์ประกอบที่ 4 การวิจัย เกณฑ์กำหนดว่าถ้าจะผ่านขั้นต่ำต้องมี "มีนโยบายและแผนงานการดำเนินการและมีการเผยแพร่ผลงานในที่ประชุมวิชาการหรือตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ" ประเด็นคือ สถาบันที่ตั้งใหม่จะเอาผลงานวิจัยที่เผยแพร่แล้วมาจากไหนกัน อาจารย์ประจำหลักสูตรก็เป็นอาจารย์ใหม่ยังไม่ได้ดำเนินการวิจัยเมื่อเขามาเริ่มต้นเป็นอาจารย์ที่สถาบันที่ตั้งใหม่
     เป็นต้น จริงๆแล้วประเด็นยังไม่หมด แค่ยกตัวอย่าง 2 องค์ประกอบเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีสถาบันตั้งใหม่จริงๆขอรับการประเมิน จึงยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าในอนาคตมีสถาบันตั้งใหม่มาขอรับการประเมิน และเกณฑ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ ก.ช. จะหาทางออกอย่างไร?? เพราะถ้ายึดหลักเกณฑ์นี้ทุกองค์ประกอบโดยไม่มีข้อยกเว้น จะไม่มีสถาบันตั้งใหม่จริงๆสถาบันไหนได้รับการรับรอง

เมื่อคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ทำการตรวจประเมินเสร็จแล้ว ก่อนเดินทางกลับ จะรายงานสิ่งที่คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯพบเห็นด้วยวาจาต่อที่ประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารสถาบัน อาจารย์และบุคลากร และจะเปิดโอกาสให้ซักถามประเด็นข้อสงสัยที่สถาบันและคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯอาจเข้าใจไม่ตรงกัน และจะให้เวลามากพอจนกว่าจะเป็นที่เข้าใจตรงกัน ฉะนั้น การรายงานนี้จึงไม่ใช่เป็นการรายงานเพื่อแจ้งว่า รับรอง ไม่รับรอง หรือรับรองแบบมีเงื่อนไข เพราะคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯไม่มีอำนาจหน้าที่ในการชี้ขาด

     การตัดสิน
อย่างที่บอกแล้วว่า คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ตามกฎหมายไม่มีอำนาจที่จะไปรับรองหรือไม่รับรองสถาบัน
คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ต้องนำเสนอรายงานการตรวจประเมินที่พบเห็นต่อที่ประชุม ก.ช. เพื่อให้ที่ประชุม ก.ช. พิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่รับรอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่กลั่นกรองอย่างละเอียดครั้งสุดท้าย ซึ่งตรงนี้จะใช้เวลาในการร่วมกันพิจารณานานและรอบครอบ เพื่อความชัดเจนถูกต้องตามกรอบของกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะผลประเมินที่ออกมาในทางลบยิ่งต้องใช้เวลาและความละเอียดมาก
เมื่อ ก.ช. มีมติเช่นไร ก็จะแจ้งผลการตรวจประเมินประกอบเหตุผลไปยังมหาวิทยาลัย คือส่งตรงถึงอธิการบดี  หาก ก.ช. มีมติรับรอง ก็จะส่งผลการประเมินและใบรับรองสถาบันไปให้ แต่หาก ก.ช. มีมติไม่รับรอง คือไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินสถาบัน สถาบันเมื่อได้รับแจ้งจาก ก.ช. แล้วก็สามารถดำเนินการแก้ไขได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน หลังแก้ไขแล้ว ต้องแจ้งให้คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ทำการตรวจประเมินอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น รายละเอียดทั้งหมดของผลการประเมิน พิจารณาตามกระบวนการของการตรวจประเมินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ที่ทราบดีคือ ก.ช. และสถาบันที่ถูกประเมิน ครับ
Related Links:
1.) ประกาศ ก.ช. เรื่องหลักเกณฑ์และแบบประเมินการรับรองสถาบันฯ
2.) แรงดูดแรงผลักทางความคิด
3.) ประโยชน์ตนต้องมาก่อน???
4.) คิดบวกเมื่อถูกด่า


วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๔


  ปีการศึกษา 2554 นี้ ซึ่งสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นอีกวาระหนึ่งที่ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคออกมารับใช้สังคม จำนวน 55 คน โอกาสนี้จะขอส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่งตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติมา
 เคยเขียนไว้นานแล้วว่า การเป็นบัณฑิตคือการเป็นผู้รู้ คือรู้ว่า เรารู้อะไร และไม่รู้อะไร ถ้าไม่รู้อะไรก็บอกไม่รู้ ถ้าทำเป็นเหมือนรู้ทั้งที่ไม่รู้ก็จะกลายเป็นคนอวดรู้ หลอกตัวเองและหน้าจะแหกตอนที่เจอกับคนที่รู้จริงและรู้ทันเข้า ถ้าเขาคนนั้นเป็นผู้มีเมตตาธรรมก็ดีไปหน้าอาจไม่แหกมาก เพราะฉะนั้นต้องระวังอย่าหลอกตัวเอง จึงขอย้ำกับบัณฑิตรังสีเทคนิคทุกคนเอาไว้ว่า จงตระหนักเรื่องนี้ให้มาก และเรื่องอะไรที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ก็อย่าไปรู้มันก็ได้ (ลองย้อนไปอ่าน ความรู้ที่
พอเพียง)

ส่วนเรื่องที่ต้องรู้ ก็ต้องรู้ ไม่ใช่ว่าเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิคทั้งที พอไปทำงาน ยังอุตส่าห์โทรศัพท์มาถามอาจารย์ในเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพด้วยเอกซเรย์ว่าทำอย่างนี้ถูกไหม เหมือนไม่มั่นใจ ทั้งที่เป็นเรื่องต้องรู้และต้องทำได้ ไม่งั้นก็จะสอบไม่ผ่าน ไม่อาจจะเป็นบัณฑิตได้ คราใดก็ตาม หากเหล่าอาจารย์ได้รับการร้องขอเพื่อปรึกษาเรื่องทำนองนี้จะรู้สึกเสียใจมาก หวังว่าคงไม่มีว่าที่บัณฑิตคนใดกำลังจะเป็นแบบนี้นะครับ



เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว บัณฑิตรังสีเทคนิคทุกคนมีหน้าที่ที่สำคัญคือ ต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดของตัวเองอย่างถูกต้องในทุกจังหวะย่างก้าวของชีวิต การจะให้ตัวเองอยู่รอดได้ สังคมก็ต้องอยู่รอดอย่างถูกต้องด้วย เพราะเราไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกได้ มันฝืนธรรมชาติ สังคมจะรอดเราต้องเสียสละเพื่อสังคม และเราต้องไม่เป็นผู้ทำลายสังคมหรือชุมชนรังสีเทคนิคให้แหลกเหลวจนไม่เหลือแก่นสารให้ยึดเหนี่ยวได้ ดูตัวอย่างต้นไม้ เราจะเห็นว่าแม้แต่ต้นไม้ก็ไม่โผล่ขึ้นมาโด่เด่อยู่ต้นเดียว เพราะการมีเพียงต้นเดียวแค่เจอลมพัดแรงๆมันก็จะหักโค่นลงมาได้ เราจึงเห็นแต่ต้นไม้ขึ้นมาเป็นกลุ่มหลายต้นสูงพอๆกัน เป็นสังคมของต้นไม้ แม้ในยามที่มีพายุพัดมาอย่างแรงๆสังคมต้นไม้ยังอยู่ได้อย่างสบาย และประการที่สำคัญคือ เรายังไม่เคยเห็นต้นไม้ต้นใดทำลายสังคมของต้นไม้ของมันเองจนย่อยยับไป

เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว บัณฑิตรังสีเทคนิคทุกคนต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในหลายๆมิติตลอดเวลาและตลอดชีวิต เมื่อใดก็ตามที่หยุดการเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่เกิน 5 ปี จะกลายเป็นนักรังสีเทคนิคตกรุ่นทันที จงระวัง!! การเรียนรู้เพิ่มเติมในหลายมิติหรือ multi-direction ในความหมายที่ว่านี้ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะศาสตร์ทางรังสีเทคนิคเท่านั้น จงเปิดมุมมองของเราให้กว้างออกไป เปิดหัวใจรับเรื่องดีๆอย่างอื่นๆอย่างพอเพียง เรื่องนี้สำคัญมาก เราควรเรียนรู้ศาสตร์ด้านอื่นด้วย เป็น value added ซึ่งเมื่อนำมาบูรณาการแล้วทำให้การทำงานสนุกและมีประสิทธิภาพสูง และยังทำให้การใช้ชีวิตในทุกช่วงของชีวิตเปี่ยมไปด้วยความสุข

โชคดีครับ
รศ.มานัส มงคลสุข
หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค


Related Links:
ความรู้ที่พอเพียง
ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๓
บัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดล ๒๕๕๔