วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประวัติการสร้างวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งแรกในประเทศไทย


(2,725 ครั้ง)
บทความนี้เขียนโดยนายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว เมื่อ 15 ธันวาคม 2542 ในหนังสือที่จัดพิมพ์โอกาสที่ท่านมีอายุครบ 6 รอบ ผมในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของทา่นสมัยที่ผมเป็นอาจารย์ที่ภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2523 มีความเคารพและศรัทธาในหลักคิดของท่าน จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ทราบ ก่อนที่เรื่องราวเหล่านี้จะถูกลืมเลือนหายไป ผมเชื่อมั่นว่า เส้นทางเดินของรังสีเทคนิคของประเทศไทย มีเรื่องน่าสนใจและน่าศึกษา เพื่อให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยั่งยืนครับ

นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว
วันที่ 15 ธันวาคม 2542
ความเป็นมาของวิชาชีพรังสีเทคนิค ที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ถือเป็นบันทึกความทรงจำในครั้งกระโน้น เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งก็คงจำได้บ้างและลืมบ้าง และถ้าจะมีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ต้องขออภัย นอกจากนั้นการเขียนบทความแบบนี้ ก็คงต้องมีบางตอนที่เหมือนจะระบายความรู้สึกออกมาบ้างก็อย่าถือสาไปเลยนะครับ

วิชารังสีวิทยาเข้ามาเมืองไทยนานมาแล้ว ตั้งแต่ครั้ง ศ.นพ.หลวงพิณพาทยพิทยาเพท ไปเรียนวิชานี้ที่อเมริกา และ ศ.นพ.อำนวย เสมรสุต ไปเรียนที่อังกฤษ เมื่อท่านได้กลับถึงเมืองไทย ก็ช่วยกันนำวิชารังสีวิทยามาใช้ และมาสอนนักศึกษาแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลศิริราช ในปี พ.ศ.2497 ผมเข้ามาทำงานที่รังสีใหม่ๆ ก็เห็นคุณพี่เฉลิมวรรณ คุณพี่สันต์ พี่อุทิศ พี่กมลา ทำงานกันแล้ว ท่านเหล่านี้ล้วนได้รับความรู้การถ่ายภาพเอกซเรย์จากท่านอาจารย์ทั้งสอง และยังมีนายแพทย์เจริญ สัตยวนิช ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ศ.นพ.สงวน บูรณภวังค์

จุดประสงค์ก็เพื่อให้ทำการถ่ายภาพเอกซเรยเท่าที่จำเป็นไปก่อน เช่น Film Chest, K.U.B., I.V.P. หรือถ่ายกระดูกและอื่นๆส่วนความรู้รอบหรือความเป็นมาต่างๆหลายเรื่อง เช่น Radiation Protection, Radiation Physics, Radiographic Photography และอื่นๆ ก็คงสอนกันไม่มาก การใช้แสงเอกซเรย์จึงยังไม่ถูกต้อง แต่เราก็ทำกันมาตลอด

ต่อมาเมื่อองค์การอนามัยโรค (WHO=World Health Organization) สนใจการใช้แสงเอกซเรย์ของเรา จึงส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจการใช้แสงเอกซเรย์ในเมืองไทย และมีความเห็นว่า ประเทศไทยมีเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้อยู่ประมาณ 500 เครื่อง แต่การใช้งานยังไม่ถูกต้อง จึงเสนอเป็น Thailand Project 71 มายังรัฐบาลไทย ในประมาณ พ.ศ.2506 รัฐบาลไทยก็คงเห็นดีด้วยจึงผ่านเรื่องนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ชื่อใหม่คือ ม.มหิดล) และท่านอธิการบดีได้ถามความเห็นมายังคณะแพทยศาสตร์ และส่งต่อมาถึงแผนกรังสีวิทยาศิริราช (ใหม่ชื่อ ภาควิชา) ซึ่งศ.นพ.อำนวย เสมรสุต เป็นหัวหน้าแผนกฯ ลงความเห็นว่าไม่พร้อมตั้งโรงเรียน เพราะขาดแคลนบุคคลากรทำงาน ทางมหาวิทยาลัยจะส่งเรื่องคืนรัฐบาลก็คงทำไม่ได้ จึงหาทางอื่นที่พอจะทำได้ มหาวิทยาลัยจึงมีมติให้ คณะเทคนิคการแพทย์ซึ่งมี ศ.นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดี รับเรื่องการบริหารจัดตั้งโรงเรียน ส่วนการฝึกอบรมเป็นเรื่องของแผนกรังสีวิทยา ศิริราช

สรุปว่าโรงเรียนรังสีเทคนิคตั้งได้ก็เพราะความร่วมมือ (joint project) ระหว่างสองคณะทำงานร่วมกัน เรื่องราวทั้งหมดที่ผมมารู้ภายหลัง เมื่อ ศ.นพ.อำนวย เรียกผมเข้าไปพบว่าทางคณะเทคนิคการแพทย์ ต้องการรังสีแพทย์สักคนหนึ่งให้ไปทำงานเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิค จำได้ว่าเรื่องนี้หมอวีกูลไม่เคยพูดเรื่องนี้กับผม แม้จะขอร้องส่วนตัวก็ไม่มี คงปล่อยให่อาจารย์หมออำนวยหัวหน้าของผมขอร้องผมเท่านั้น ดังนั้นตำแหน่งข้าราชการเดิมยังคงอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ผมจึงบอกอาจารย์ว่า ขอคิดดูก่อนอีก 2-3 วัน ผมสับสนตกลงใจไม่ได้ คิดว่าถ้าไปแล้วก็เท่ากับไปตั้งต้นหาความรู้ใหม่เรื่องเทคนิคมาสอนนักศึกษา มิใช่ว่าเป็นผู้อำนวยการแล้วชี้โน่นชี้นี่ให้คนอื่นทำ คงไม่ใช่เช่นนั้น ถ้าผมไปวิชาการทางรังสีก็คงจะหย่อนลง ก็ให้รู้สึกเสียดายในการเป็นรังสีแพทย์ที่เรามุ่งมั่นจะเอาดีทางนี้ ครั้นจะปฏิเสธก็เกรงใจหัวหน้าที่ท่านมาขอร้อง เพราะถ้าผมไม่ไปก็ไม่รู้จะเอาใครไป ซึ่งขณะนั้นรังสีมีด้วยกันไม่กี่คน คล้ายๆกับอยู่ในภาวะจำยอม และผมเองก็ไม่ได้คิดไกลไปถึงความยุ่งยากซับซ้อนในหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง จนในที่สุดก็ยอมรับไปทำงานชิ้นนี้ให้ ก็ด้วยความคิดที่ว่า "รังสีแพทย์จะก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าขาดนักรังสีเทคนิคที่ดีและสามารถ" นั่นก็คือทำงานเพื่อเพื่อนรังสีแพทย์ทั้งหมด ความคิดนี้อยู่ในใจของผมมาตลอด จะบอกใครก็กลัวเขาจะว่า พูดเอาแต่ได้ พูดเอาประโยชน์ใส่ตน หรือเรียกร้องความสนใจ ขอสรุปว่า การมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิคนี้ มิใช่มาด้วยการขอร้อง หากแต่มาด้วยอุดมการณ์ดังกล่าว

งานสร้างโรงเรียนรังสีเทคนิคนั้น ทาง WHOได้ส่งที่ปรึกษามาจากอังกฤษคือ Mr. Gordon Ward มาช่วยในการวางหลักสูตร เราทำกัน 2 คน เพราะคนอื่นเขาไม่สนเรื่องนี้ เราจึงใช้แม่แบบที่ได้มาจากอเมริกาและอังกฤษมารวมกัน หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรใหญ่ต้องเขียนส่งเพื่อให้ผ่านการพิจารณาของการศึกษาแห่งชาติ ส่วนหลักสูตรเล็กเราทำเพื่ออบรมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งถ่ายภาพและปฏิบัติการล้างฟิล์ม ขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งเริ่มตั้งกองควบคุมการใช้รังสี ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดแรกเข้าอบรมในหลักสูตรนี้ การอบรมที่ทำคล้ายกับสมัยนี้ที่เรียกว่า Quality Control นั่นเอง ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์มาก หลักสูตรอบรมนี้ใช้เวลาตลอดบ่าย 3 ชั่วโมง ทุกวันนาน 1 เดือน ใครจบการอบรมจะได้ประกาศนียบัตรด้วย เพื่อจะได้นำไปใช้ในการพิจารณาความดีความชอบต่อไป

ในเวลาที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิคนั้น ทางแผนกรังสีวิทยาก็ให้ผมทำงานเต็มที่ด้วย ในวันจันทร์ออกตรวจไข้นอกอ่านฟิล์ม การอ่านก็ไม่แบบปัจจุบัน คือทั้งอ่านและมือก็พิมพ์ดีดไปด้วย ไม่มีเลขาและคนช่วยพิมพ์ให้ทำให้เมื่อยทั้งหัวและมือกว่าจะอ่านหมดก็ยันบ่าย

วันไหนฟิล์มมากอ่านไม่หมด พรุ่งนี้เช้าต้องรีบมาอ่านให้หมด รุ่งขึ้นวันอังคารต้องเข้าห้องมืดตรวจ G.I. คนไข้ ตรวจเช้าบ่ายอ่าน รุ่งขึ้นอีกวันอ่านฟิล์มทั่วไป วันอื่นประชุมทั้งในแผนกและนอกแผนก และถ้ามีวิชาสอนนักศึกษาแพทย์ก็สอนด้วย นอกจากนั้นยังมีหน้าที่พิเศษคือ ควบคุมวางแผน ออกแบบตกแต่งตึก 72 ปี เพื่อหน่วยงานรังสีวินิจฉัยจะย้ายไปอยู่ มันยากตรงที่เอาของเก่าไปใช้ให้พอดีตึกใหม่ นอกจากนั้นต้องควบคุมวางแผนทำที่เก็บฟิล์มเอกซเรย์ทั้งหมด ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้ เก็บกันยุ่งไปหมดจนหาฟิล์มเก่าไม่ได้ ผมจึงต้องไปสร้างที่เก็บชั่วคราว ที่ทางลาดของตึกอายุรกรรม ที่แผนกเอกซเรย์ย้ายไปอยู่ชั่วคราว ขณะที่ตึก 72 ปี ยังสร้างไม่เสร็จ ขณะเดียวกันก็เข้าไปแก้ไขปัญหาเก่า คือห้องล้างฟิล์มของเราล้างไม่ดี ที่ล้างด้วยมือแล้วดำบ้างขาวบ้าง ทำให้ถูกต่อว่าจากแผนกอื่นๆตลอดเวลา ดูแล้วมันวุ่นวายดี แต่ขณะนั้นผมหนุ่มแน่นจึงไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายอะไร กลับรู้สึกสนุก สรุปว่าต้องทำงาน 2 แห่งพร้อมกันไป และคิดอยู่เสมอว่า ถ้าแผนกรังสีมีรังสีแพทย์มากขึ้น เราก็คงปลีกตัวมาทำหน้าที่ทางด้านโรงเรียนรังสีเทคนิคได้เพิ่มขึ้น

เรื่องหลักสูตรปริญญาตรี
การวางหลักสูตรใหญ่ของโรงเรียนรังสีเทคนิคนั้น ในชั้นแรก Mr. Gordon Ward และผมช่วยกันทำ โดยนำหลักสูตรจากอังกฤษและอเมริกามาเป็นต้นแบบ ปรับแต่งโดยหลักใหญ่ก็มีรายวิชาตามที่อังกฤษเขามี ส่วนรายละเอียดจะสอนลึกแค่ไหน ก็ทำเป็นกลางๆ มักจะผ่อนไปตามความเห็นของผู้สอนที่เห็นควรและคิดอยู่เสมอว่า ต่อไปข้างหน้าเราจะทอนหรือเพิ่มก็คงทำได้ แต่ตอนนี้ขอให้หลักสูตรนี้ผ่านการพิจารณาของการศึกษาแห่งชาติไปก่อนก็แล้วกัน สุดท้ายเขาก็รับรองหลักสูตรนี้
สำหรับเรื่องการวางหลักสูตร 4 ปี จนได้ปริญญานั้น ถกเถียงกันมาก Mr. Gordon Ward เห็นว่าหลักสูตรก็คล้ายของเขาซึ่งเรียน 2 ปี จบแล้วก็ได้ประกาศนียบัตรคือ M.S.R. (Member of Society of Radiography) ซึ่งต่ำกว่าปริญญาของเขา แต่เรากลับให้ปริญญาตรี ผมจึงขอเปิดเผยให้ทราบความจริงดังนี้

1.วิชารังสีเทคนิค เป็นวิชาใหม่ของเราและมีประโยชน์ในการตรวจรักษาคนไข้ อีกทั้งเราหวังว่า ความเจริญก้าวหน้าของวิชานี้จะมีต่อไปไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกันกับ แพทย์ พยาบาล และเภสัชวิทยาฯ และอาชีพนี้ก็คงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องมีบุคลากรที่รู้ดี และสามารถในการทำงาน โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งเขาก็ต้องช่วยกันทำด้วยพวกเขาเอง นั่นหมายถึงว่า ในวิชาชีพนี้ก็ต้องมีผู้ที่ได้รับตำแหน่ง ผศ. รศ. และ ศ. ของเขาต่อไป และผู้ที่ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ก็ต้องผ่านปริญญาตรีมาก่อน แต่ถ้าเราทำอาชีพนี้ให้มีระดับต่ำกว่าปริญญาตรีตลอดไป ในภายภาคหน้าคนในอาชีพนี้จะมิต้องเป็นเบี้ยล่างให้คนอื่นคอยบงการตลอดไปหรือ!

2.โรงเรียนรังสีเทคนิคตั้งอยู่ในคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งนักศึกษาจบแล้วได้ปริญญาตรี ถ้าจะจัดตั้งให้ต่ำกว่าปริญญาตรี นักศึกษาของเราจะรู้สึกอย่างไร

3.การเลื่อนขั้นเงินเดือนในสมัยนั้นยากมาก จากระดับชั้นจัตวา(พวกประกาศนียบัตร) จะเลื่อนขั้นเป็นข้าราชการชั้นตรีนั้น ต้องมาติดขั้นกันคนละหลายปี เพราะราชการไม่มีตำแหน่งหรือเงินจะให้ แต่ถ้าเราช่วยให้นักศึกษาของเราได้ปริญญาตรี การติดขั้นตรงนี้จะไม่มีปัญหา การจงใจช่วยแบบนี้ เราจะต้องเสริมความรู้จนสมกับการได้ปริญญา เป็นเรื่องของโรงเรียนรังสีเทคนิคทำต่อไป

4.เงินเดือนของข้าราชการไทย ถ้าต่ำกว่าปริญญาจะได้น้อยมาก พอได้ปริญญาเงินเดือนก็สูงขึ้นมาหน่อย เป็นเครื่องชูกำลังให้เขาได้สนใจทำงานในวิชาชีพนี้ต่อไป และในสมัยนั้นการเงินของไทยเริ่มมีปัญหา กล่าวคือแม้จะได้ปริญญาตรี เงินเดือนก็เกือบไม่พอใช้อยู่แล้ว เราจึงควรช่วยเขาตรงจุดนี้ เรื่องเงินเดือนนี้ผมเคยเอาไปอ้างกับ WHO ที่เขาส่งที่ปรึกษา Miss Frank มาถามเรื่องตั้งปริญญาตรี เราบอกเขาไปว่า ขออย่าได้เปรียบเทียบเงินเดือนไทยและอังกฤษเลย มันคนละระบบ ประกาศนียบัตรรังสีเทคนิคของเขา ได้เงินเดือนพอใช้ แต่ของเราแม้จะได้ปริญญาตรี เงินเดือนก็ต่ำกว่าของเขาถึง 5 เท่า

5.เรื่องวิชาการขั้นธรรมดา คือ ม.8 (หรือใหม่ ม.6) ของเรา ก็สู้ขั้น "อ" level ของเขาไม่ได้ ดังนั้นการเรียนเพิ่มอีก 2 ปี ในเริ่มแรกของหลักสูตร 4 ปี ก็เป็นการเพิ่มความรู้พื้นฐานของเราให้ดีขึ้น และ 4 ปีก็มีความหมายแก่โรงเรียนมาก เพราะถ้าต่อไปภายหลัง มีวิชาอะไรที่เห็นสมควรเพิ่มเพื่อให้คนได้ปริญญารู้มากไปกว่านี้ เราก็จะได้ใช้เวลานี้เรียนให้สูงยิ่งขึ้น

6.เรื่องปริญญาตรีนี้ทางอังกฤษเขาเห็นว่าสูงไป เราก็บอกไปว่าอย่าเปรียบกันเลยกับ M.S.R. ของเขา และเราก็เชื่อว่าคนจบ M.S.R. ของเขาจะมีความรู้สูงกว่าปริญญาตรีของเราแน่นอน และเราก็เชื่อต่อไปอีกว่า คนจบปริญญาตรีทางรังสีเทคนิคจากเรา หรือแม้เราจะยอมลดเวลาเรียนลงมาเป็น 2-3 ปี และได้ประกาศนียบัตรเพียงเท่า M.S.R. ของเขาก็ตาม อังกฤษก็คงไม่รับคนของเราไปทำงานที่อังกฤษแน่ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า แม้คนในเครือจักรภพอังกฤษ (คือคนที่อยู่ในประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อนที่เรียกว่า "Common Welt") ก็ยังมีโอกาสไปทำงานในอังกฤษได้น้อยเต็มที

สรุปว่า เราจะสร้างนักรังสีเทคนิคตามแบบที่เหมาะกับสังคมไทย เมื่อเวลาล่วงเลยมา กว่า 30 ปี (ปัจจุบัน 53 ปีแล้วครับ)ความคิดของผมในเรื่อง ให้ปริญญาตรีแก่นักรังสีเทคนิคที่สร้างเป็นแห่งแรกในประเทศไทยนั้น ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ อย่างที่เห็นๆกันอยู่ครับ

หลักสูตรประกาศนียบัตรรังสีเทคนิค
หลังจากสร้างคนจบปริญญาตรีขึ้นมาแล้ว รังสีแพทย์หลายท่านคิดว่า โรงเรียนรังสีเทคนิค ทำหลักสูตรปริญญาตรีขึ้นมานั้นต้องเสียเวลาผลิตถึง 4 ปี และการรับนักศึกษาก็ต้องรับจนกทบวงมหาวิทยาลัย ถ้าทำหลักสูตร 2 ปี จะทำให้ผลิตได้เร็วและได้จำนวนมากเพื่อสนองการขาดแคลนนักรังสีเทคนิคในขณะนั้น

ผมได้ชี้ให้เห็นภัยในการที่อาชีพเดียวกันมีหลายระดับเขาก็ไม่ฟัง และการจะผลิตจำนวนมาก เราก็ตั้งให้หลายมหาวิทยาลัยช่วยกันผลิต ไม่นานก็มากขึ้นเอง สุดท้ายก็ต้องมี 2 ระดับ สำหรับโรงเรียนรังสีเทคนิคก็ถูกชักชวนให้ผลิต คงจะมีสัก 2-3 รุ่น แล้วควบคุมลำบากก็เลยเลิกไป การผลิตขณะนี้ก็คงน้อยลง เพราะทุกคนอยากได้ปริญญามากกว่าประกาศนียบัตร จึงเปิดหลักสูตรพิเศษช่วยให้พวกประกาศนียบัตรได้มีโอกาสเรียนและสอบเอาปริญญาได้ ก็นับว่าคลายเครียดในปัญหานี้ไปได้ส่วนหนึ่ง

การสอนในระยะเริ่มตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิค
งานอันดับแรกที่โรงเรียนได้ทำคือ การอบรมเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคที่ปฏิบัติงานอยู่ก่อนแล้ว โดยจัดเป็นชุดๆไป ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น

สำหรับการสอนวิชาต่างๆ ในพวก 4 ปีนั้น ลำบากก็เรื่องหาอาจารย์มาสอน เพราะวิชารังสีเทคนิคนี้ต้องเรียนพื้นฐานหลายวิชา และวิชาเหล่านั้นเขาก็รู้เฉพาะแบบ ยังไม่เรียนวิชาหรือเกี่ยวโยงกับรังสีเทคนิค เช่น วิชาวิศวกรรม วิศวกรก็ไม่ได้เรียนเรื่องเครื่องเอกซเรย์ เราจึงต้องไปหาอาจารย์ที่ชำนาญทางเครื่องกลทางเทคนิค ก็ได้นักวิศวะจากบริษัทฟิลลิปส์บ้าง ที่อื่นๆบ้าง 

แม้แต่วิชาฟิสิกส์เราก็หาคนที่รู้ Radiation Physics ได้น้อย บางวิชาหาคนสอนไม่ได้ เช่น Radiographic Photography ผมจึงต้องรับสอนไปพลางๆ โดยศึกษาจากตำราหลายเล่ม เล่มนี้อ่านเข้าใจยากก็ไปดูตำราเล่มอื่น แล้วก็นำไปสอนเป็นพื้นไปก่อน 

สอนไปสอนมาเลยรู้สึกอาย เพราะไม่เคยได้ลงมือทำจริงๆเลย เมื่อก่อนนี้น้ำยาล้างฟิล์มเอกซเรย์ซื้อเขาหมด เป็นห่อๆมาผสมน้ำ หรือเป็นถังก็ล้วนแต่สำเร็จรูปทั้งนั้น เราไม่รู้ว่าเขาผสมอะไรมาให้บ้าง และจะมัวแต่สอนให้นักศึกษาผสมเป็นตามฉลากที่ปิดข้างห่อเท่านั้นหรือ 

ยิ่งกว่านั้น บางครั้งที่โรงพยาบาลสั่งน้ำยาล้างฟิล์มเอกซเรย์ แล้วบริษัทบอกว่าน้ำยาขาด stock เราก็ต้องนั่งคอย บางครั้งเขาเห็นใจเราที่ไม่มีน้ำยาใช้เพราะต้องรอต่างประเทศ เขาก็เลยทำเองในกรุงเทพฯ เราดูจาก packing แสดงว่าทำลวกๆมาให้ ก็ถามเขาว่าเอามาจากไหน สุดท้ายเขาก็รับว่าเอาตัวยาต่างๆในกรุงเทพฯนี่แหล่ะ ผสมกันแล้วห่อส่งมาให้เราใช้พลางๆก่อน ผมก็เลยคิดได้ว่าเขาทำได้ ทำไมเราไม่ผสมเสียเอง งานทดลองจึงเริ่มขึ้น ได้สร้างห้อง Lab พร้อมห้องมืดชั่วคราวก่อน และทดลองเรื่อยมา ยิ่งทำไปก็ยิ่งรู้เรื่องน้ำยามากขึ้น แต่การทำการทดลองมิใช่เดาสุ่ม หรือเพียงเอาตัวยามาลองผสมกันดูแล้วทดลองล้างฟิล์ม เราทำแบบวิทยาศาสตร์จึงต้องใช้เครื่องมือสำคัญๆหลายอย่าง แต่ของเราไม่มีก็ต้องเที่ยววิ่งไปขอยืมที่นั่นที่นี่ การทำแม้ยากแต่เราอยากทำให้สำเร็จ จึงทนลำบากได้ทุกอย่าง ยิ่งทำไปก็ยิ่งแน่ใจว่าเราเดินทางถูกต้องแล้ว จนได้สูตรนำ้ยาล้างฟิล์มใหม่เพื่อจะได้ใช้ในประเทศไทย ผลแห่งการศึกษาของผมทำให้นำไปสอนนักศึกษาก็พูดได้เต็มปาก เราจึงหวังจะให้นักศึกษาเพียรพยายามต่อไป อย่าคอยชะเง้อรอคนอื่นเขาจะขายให้เราหรือไม่ มันจะเสียเปรียบเขาทุกทาง เราทำราชการถ้าทำจริงๆก็มีคนสนับสนุนอย่ากลัว

เรื่องสถานที่เรียน
โรงเรียนรังสีเทคนิคของเราลำบากมากในตอนแรกๆ เพราะตึกเทคนิคนั้นไม่มีห้องเรียนเลย ห้องทำงานของโรงเรียนก็แบ่งห้องคณบดีเทคนิคมาครึ่งหนึ่ง และเอาห้องรับแขกเป็นห้องสาธิต เอาเครื่องเอกซเรย์ที่เสียแล้วมาตั้ง สำหรับจัดท่าและจัดทิศทางของหลอดเท่านั้น ใช้ถ่ายอะไรไม่ได้
ห้องเรียนนั้นตึกเทคนิคไม่มีห้องให้ ต้องใช้ห้องเรียนเล็กๆของแผนกรังสี ขณะนั้นย้ายไปอยู่ตึกอายุรกรรม โรงเรียนของเราต้องอาศัยคณะแพทยศาสตร์ตลอดมา จึงต้องย้ายไปหลายแห่ง ประมาณ 6 ครั้งจึงได้มาอยู่ที่นี่ คือ ตึกเทคนิคหลังใหม่

สำหรับเครื่องเอกซเรย์ของโรงเรียนสักหนึ่งเครื่องก็ขอไม่ได้ ขณะสอนนั้นก็ต้องใช้ของแผนกรังสีวิทยาไปพลางๆก่อน และต้องรอตอนที่เขาว่างคือไม่ได้ถ่ายเอกซเรย์คนไข้จึงจะได้ใช้เครื่อง 

การของบประมาณซื้อเครื่องสมัยก่อนเครื่องละ 2 แสนกว่าๆ งบประมาณก็ไม่มีจะให้ ขออย่างนี้ประมาณ 5 ปี ก็ยังไม่ได้เครื่อง คิดในใจว่าราชการจะให้เราสร้างนักรังสี โดยใช้มือและเสียงสอนหรืออย่างไร ผมท้อใจ และท้อใจมากขึ้นเมื่อผู้บริหารบางท่านใช้วิธีไม่โปร่งใส เหมือนหลอกผมเป็นปีๆไป ซึ่งผมไม่เคยคิดว่าการบริหารราชการไทยจะยุ่งยากสับสนถึงเพียงนั้น 

ในเวลานั้นผมเหมือนเหยียบเรือสองแคม ขาหนึ่งอยู่ที่คณะเทคนิคฯ และอีกขาหนึ่งอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ รอวันที่จะพลัดตกจมน้ำตายเท่านั้น แต่การเหยียบเรือสองแคมของผม กลับเป็นผลดีหรือได้ประโยชน์สำหรับโรงเรียนรังสีเทคนิค ไม่ว่าคณะเทคนิคฯ จะขาดอะไรผมต้องวิ่งไปขอคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ก็ให้ผมทุกครั้ง แม้ตำแหน่งอาจารย์ทางคณะแพทยศาสตร์ก็ให้ยืม เพื่อบรรจุอาจารย์ของโรงเรียนรังสีเทคนิค นอกจากนั้น ห้องเรียน ห้องสอบ ห้องประชุม และอื่นๆ ต้องเอาตัวเข้าไปแลกทุกครั้ง บางครั้งก็หน้าแตกกลับมา บางครั้งก็สมประสงค์จนทำให้เพลียใจ อยากจะออก ข่าวการจะลาออกของผมแพร่สะพัดออกไป ผู้บริหารระดับสูงทุกท่านเงียบเสียง ไม่พูดแม้แต่คำเดียว ไม่ช่วยคลี่คลายปัญหา ไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจ ท่านแอบไปทำเงียบๆ คือติดต่อหาคนอื่นมาแทนทันที ผมจึงถึงบางอ้อ ว่าเราเดินทางผิดมานาน ทำให้ระเหี่ยใจมากขึ้น 
บัณฑิตรังสีเทคนิครุ่น 1 ของประเทศไทย พ.ศ. 2510
มหาวิทยาลัยมหิดล
แต่แล้วก็มีอาจารย์ในโรงเรียนรังสีเทคนิค และนักศึกษาหลายคนได้มาขอร้องว่า โรงเรียนเหมือนเด็กเพิ่งสอนเดินต้องการผมให้นำทางต่อไป ผมเริ่มได้สติ และหวลนึกถึงตอนที่เริ่มมาช่วยตั้งโรงเรียนนี้ว่า เรามาเพื่ออุดมการณ์ว่ารังสีแพทย์จะไม่ก้าวหน้าถ้าขาดนักรังสีเทคนิคที่ดีและสามารถ ขณะนี้เรายังพอจะช่วยเขาได้ จึงเบนความคิดสลัดความสลดใจทิ้งไป คิดว่า "ในชีวิตนี้จะไม่เอาอะไรไม่ว่าจะเป็น ยศ ลาภ หรือเงินเดือน จะขอทำเรื่องเดียวให้สำเร็จ คือการสร้างอาชีพรังสีเทคนิคให้นักศึกษาต่อไป จะไม่ถอยหลัง" ผลก็คือชีวิตราชการไม่รุ่งเรืองเท่าที่ควร เลยนึกถึงคำทำนายของหมอดูที่ทำนายตั้งแต่ผมยังหนุ่มว่า "ชีวิตจะรุ่งเรืองไปสักระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายจะดับเหมือนพระอาทิตย์ตกน้ำ" ก็เห็นจะจริงตอนนี้ แต่หมอไม่ได้ดูต่อว่า ชีวิตที่ขลุกขลักของผมนั้นใจผมจะเป็นอย่างไร ใจผมกลับเป็นสุข และสงบมากขึ้น อาจเป็นได้ว่าผมมีศิลปะหลายอย่าง เช่นดนตรีการร้องเพลง การเขียนบทกลอนและอื่นๆ พาให้ใจผมเป็นสุขกับศิลปะ จนลืมความทุกข์ทั้งหมดและคงจะเป็นอย่างนี้จนสิ้นชีวิต

การเผยแพร่วิชาชีพรังสีเทคนิคต่อสังคม
เนื่องจากโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนแห่งแรกแห่งประเทศไทยที่ได้ตั้งขึ้น จึงมีคนน้อยมากที่รู้จักหรือเรียกว่าใหม่สำหรับเขา คนทั่วไปหรือแม้แต่นักศึกษาก็ไม่แน่ใจว่าวิชาชีพนี้เรียนอะไรกันบ้าง จบแล้วได้ปริญญาอะไร และจะไปทำงานที่ไหน ในตำแหน่งอะไร อาชีพนี้จะก้าวหน้ารุ่งเรืองหรือไม่ เด่นดังในสังคม ตลอดจนจะสร้างความร่ำรวยให้ตนเองได้หรือเปล่า ขณะนั้นยังบอกอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะยังไม่มีใครจบ 

ที่หน้าเป็นห่วงมากในขณะนั้นคือ ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ยังไม่รู้ว่ามีโรงเรียนนี้ตั้งขึ้นแล้ว เมื่อไม่รู้เขาก็ไม่ได้ตั้งตำแหน่งรังสีเทคนิคไว้รองรับนักศึกษาที่เรียนจบออกไป ด้วยความกลัวว่าลูกศิษย์จะตกงานจึงเที่ยวไปพูดคุยกับแพทย์ พบที่ไหนก็พูดแต่เรื่องวิชาชีพใหม่ บางครั้งก็ทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการกองการแพทย์ของ ก.ท.ม. สนใจก็ขอให้ตั้งตำแหน่งไว้รองรับด้วย พอปีรุ่งขึ้น ก.ท.ม. ก็ตั้งตำแหน่งไว้ให้ 15-20 ตำแหน่ง แต่ก็มีนักศึกษาที่จบแล้วไปทำงานไม่กี่คน ก.ท.ม. ก็ผิดหวัง ผมเองก็ฉุนนิดๆ แต่ก็พอทนได้

นอกจากนั้นได้จัดโครงการแพร่ข่าวเรื่องวิชาชีพรังสีเทคนิค ให้โรงพยาบาลต่างจังหวัดทราบ แต่เราแฝงไปกับโครงการทัศนศึกษาดูงานในต่างจังหวัด เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นสภาพที่แท้จริง ว่าประเทศไทยเรายังขาดบุคลากรด้านนี้อีกมาก อีกทั้งจะได้เห็นหน้าที่ที่แท้จริงของเขา ที่จะต้องทำในอนาคต เราจึงจัดปีละหนึ่งครั้ง ครั้งแรกไปทางภาคเหนือ เราจะแวะแทบทุกโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ ไปไกลถึงจังหวัดไหนจำไม่ได้ พอครั้งที่สอง พานักศึกษาไปภาคใต้ไปถึงจังหวัดปัตตานี ครั้งที่สามไปภาคอีสานจนถึงหนองคาย

ทุกจังหวัดที่ไปแวะเยี่ยมชม ผมจะส่งจดหมายราชการและจดหมายส่วนตัวตามไปด้วย โดยมากผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างจังหวัดจะเป็นแพทย์รุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือแพทย์รุ่นเดียวกับผมทั้งนั้น ก็เลยได้รับการต้อนรับอย่างดีตลอดทาง ถ้าแวะชมระยะสั้นก็ขออาหารว่างน้ำชากาแฟ ดื่มกินเรียบร้อยก็ลาเดินทางต่อไป ถ้าแวะนานก็ขอพักค้างคืน พร้อมอาหารค่ำและอาหารเช้า รุ่งขึ้นก็เดินทางต่อไป ทั้งไปและกลับเราไม่ต้องเสียค่าอาหารและค่าที่พักเลย นอกจากค่าน้ำมันรถซึ่งรถไปแต่ละครั้งก็ขอยืมรถคันใหญ่จากศิริราชเขาก็ช่วยเราดี

ขณะที่ผมนำนักศึกษานั่งรถไปนั้น เราจะไม่ให้เสียเวลาเปล่า โดยมากจะทบทวนบทเรียนต่างๆโดยจะพูดถามตอบผ่านไมโครโฟนของรถทำหน้าที่คล้ายๆไกด์นำนักท่องเที่ยว เราจะถามทีละคนไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็เอามาทบทวน ตอบไม่ได้เราก็บอกให้เหมือนติวเตอร์อย่างไงอย่างงั้น ปรากฏว่านักศึกษาจำและเข้าใจในบทเรียนที่สอนไปได้ดีมาก แต่ที่อดชมในใจไม่ได้ก็คือ นักศึกษารุ่นแรกๆชอบเข้าห้องสมุด ผมให้ไปอ่านตำราอะไรๆ แล้วมาเล่าสู่กันฟังมีผลทำให้ได้ความรู้มากขึ้น โดยครูสอนน้อยลง


ตลอดเวลาที่พานักศึกษาไปทั้งสามภาค ไม่เคยทำความเสียหายอะไร นักศึกษาอยู่ในโอวาทดี สนิทสนมกันดีทั้งครูและนักเรียน จึงนับว่าได้ผลสมประสงค์ที่ตั้งใจไว้ บางครั้งนักศึกษาเกิดวิตกกับปัญหาการถ่ายภาพเอกซเรย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด บางจังหวัดก็ใช้ได้ บางจังหวัดยังแย่ เราก็บอกเด็กไปว่า ราชการไทยในต่างจังหวัดจะเป็นตามแต่สภาพของโรงพยาบาลนั้นๆ เพราะเจ้าหน้าที่หลายท่านก็ทำงานมาก และไม่มีใครมาบอกว่าอย่างนั้นควรแก้หรือทำอย่างไรให้ดี 

สภาพของโรงพยาบาลต่างๆในสมัยนั้นจึงมีผลทำให้นักศึกษาบางคนอ่อนใจ ระอา พาให้ไม่อยากจะเป็นนักรังสีเทคนิค ข้อนี้ก็อาจเป็นไปได้ แต่ก็พยายามจูงความคิดของเขาให้ระลึกว่า คนเราเกิดมาใช่จะมุ่งหาแต่ความสุขฟุ้งเฟ้อใส่ตน ควรที่จะเอาความรู้ความสามารถของเราออกไปช่วยเหลือ ไปทำงาน ช่วยเหลือสังคมบ้าง โดยเฉพาะสังคมต่างจังหวัดที่ขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากร จึงจะได้ชื่อว่า "เกิดมาแล้วไม่เสียชาติเกิด" ที่ได้ทำบุญให้กับโลก สร้างโลกนี้ให้ผาสุข เราจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

1 ความคิดเห็น: