วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์


อยากจะเชิญชวนทุกท่านนั่งมองจานโลหะในหลอดเอกซเรย์แบบใจจดจ่อ เพื่อให้เห็นอะไรที่เพิ่มเติมมากขึ้นกว่าที่เราได้เคยรู้มา บางท่านอาจมองทะลุเลยจุดนี้ไปแล้วก็ขออภัยด้วยครับ จานโลหะคืออะไร ทำหน้าที่อะไร


ที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว คือ ตามกระบวนการในการผลิตเอกซเรย์ จานโลหะที่ใช้ทำเป้าในหลอดเอกซเรย์ เป็นจานโลหะที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งมักทำด้วยทังสะเต็นที่มีคุณสมบัติ ทนทานต่อแรงกระแทกกระทั้น แข็งแกร่งไม่แตกหักง่ายๆ มีจุดหลอมเหลวสูง ในทุกๆครั้งที่มีการผลิตเอกซเรย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จานโลหะนี้จะเกิดความเค้น (stress)  ความเครียด (strain) และความร้อนสูงมาก เพราะต้องรับแรงกระแทกจากการชนของอิเล็กตรอนจำนวนมากและมีพลังงานสูง พลังงานของอิเล็กตรอนประมาณ 99% จะอยู่ที่จานโลหะ ประมาณ 1% เท่านั้นที่ออกมาเป็นเอกซเรย์ให้เราได้ใช้ประโยชน์ นี่เป็นเหตุผลที่ว่า เพราะอะไรจานโลหะจึงต้องมีความทนทานสูง เก็บกดพลังงานในรูปความร้อนได้สูงและนานโดยไม่หลอมหรือแตกหัก แต่ใช่ว่าจานโลหะนี้จะอมตะ อยู่ยงคงกะพัน เราต้องหาทางให้ความร้อนระบายออกด้วยเช่นกัน หรือต้องทิ้งช่วงในการระดมยิงอิเล็ตรอนใส่มันซะบ้าง มิฉะนั้นความร้อนจะสะสมมากเกินที่มันจะทนได้ จนหลอมหรือแตกไป


X-ray Tube
หากตัวเราเป็นดั่งจานโลหะนี้ และเปรียบอิเล็กตรอนคือ การใส่ร้ายป้ายสี เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ผู้อื่น ปัดแข้งปัดขา เพื่อนร่วมงานและเจ้านายงี่เง่า ความไม่เป็นธรรม ปัญหาต่างๆ ฯลฯ ที่พุ่งเข้าหาเรา พลังงานของปัญหาต่างๆเหล่านั้นจำนวน 99% จะทำให้เราเกิดความเค้นและเครียด ในขณะที่ตัวเราสามารถสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ออกสู่หน่วยงานหรือองค์กรเพียง 1% เท่านั้น ดูเหมือนน้อยนิด แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันมากพอ ที่ทำให้เราภูมิใจ เป็นพลังใจให้เราทำงานเดินหน้าต่อไปได้อย่างภาคภูมิ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีวิธีการระบายพลังงานความเครียดออกไปจากเราให้เกิดความสมดุลเพื่อความอยู่รอด ไม่ให้มันสะสมเกินขีดจำกัดของเราได้ มิฉะนั้นเราจะแตกหักไปหรือหลอมละลายไป เราต่างจากทังสะเต็นก็ตรงที่ว่า เราเป็นคน มีชีวิตจิตใจ และแต่ละคนมีความจุพลังงานความเครียดไม่เท่ากัน
จานโลหะนี้จึงน่าจะเป็นเครื่องเตือนสติให้เรา มีความอดทน อดกลั้น เข้มแข็ง ไม่ขาดสติ แม้จะมีอุปสรรคและปัญหา พุ่งเข้ามากระแทกกระทั้นหนักหนาสาหัสสักปานใดก็ตาม ความหมายของคำว่า "อดทน" ในแง่มุมหนึ่งคือ อดในสิ่งที่อยากได้ ทนในสิ่งที่ไม่อยากได้ เป็นความหมายที่ฟังดูง่ายๆ แต่หลายคนอาจบอกว่าปฏิบัติยาก
 จานโลหะ ยังทำให้นึกถึงพุทธสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ขนฺตี ธีรสฺส ลงฺกาโร ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ 
   เป็นพุทธสุภาษิตที่เตือนสติให้เราได้เข้าใจว่า เครื่องประดับนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้คนทั่วไปดูสวยงามขึ้น ทั้งหญิงและชาย แต่หากผู้นั้นแสดงกิริยาไม่เหมาะสม เอะอะโวยวายไร้มารยาท ขาดความอดทนอดกลั้น ความสวยงามก็หมดไป 
   สำหรับนักปราชญ์ ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้มีปัญญา แปลว่าใครก็สามารถเป็นนักปราชญ์ได้ ไม่ว่ารวย-จน  ชาย-หญิง ไม่ว่าหน้าที่การงานจะเป็นอะไร หัวหน้า-ลูกน้อง ครูบาอาจารย์หรือคนงาน ฯลฯ แต่การจะเป็นนักปราชญ์ก็ไม่ใช่ง่ายๆหรอก 
  หากนักปราชญ์แสดงกิริยาไม่เหมาะสม โกรธเกี้ยว ละโมบ ก็จะยิ่งน่ารังเกียจเป็นทวีคูณ นักปราชญ์จะแสดงความสง่าน่านับถือไว้ได้ด้วยความอดทนอดกลั้น ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ก็จะไม่แสดงอาการขึ้นๆลงๆให้เห็น



STAT
จำนวนผู้อ่านบทความนี้ 516 ครั้ง (29มค2554-10ตค2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น