วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สงครามโรคโควิด “งานล้น คนไม่พอ”

บันทึกจากประกายรังสี

[หมายเหตุ: บันทึกไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ขณะรักษาตัวที่ hospitel เนื่องจากติดโควิด เป็นช่วงเวลาที่การระบาดรุนแรงมาก วันแรกที่ทะยานขึ้นเกินสองหมื่นรายต่อวัน ผมและภรรยาเป็น 2 ในสองหมื่นนั้น และบัณฑิตรังสีเทคนิคจบใหม่ยังไม่ได้เข้าสอบขึ้นทะเบียน]

เมื่อบ้านถูกโควิดเจาะทะลวง พอเราตรวจจนแน่ใจว่าผมและภรรยาติดโควิดรู้สึกกังวลใจมาก เพราะสูงวัยทั้งคู่และมีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มกราคม 2564 เราทั้งคู่ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ 23 สายพันธ์ และเดือนมิถุนายนวัคซีนโควิด AZ  โชคดีของเราที่มีชาวเราห่วงใยและให้ความช่วยเหลืออย่างดีมากและรวดเร็ว จาก Home isolation ต้องอพยพไป Hospitel เหมือนหนีลูกกระสุนและระเบิดในสงคราม ใช้เวลา 11 วัน ทานยาเป็นกำมือ CXR ไป 3 ครั้ง ตอนนี้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน อาการของเราดีขึ้นเกือบ 100% แล้วครับ ขอบคุณชาวเราทุกคนเป็นอย่างยิ่ง อีกประมาณหนึ่งเดือนผลตรวจ PCR น่าจะไม่พบเชื้อโควิดแล้ว และหวังว่าจะไม่ติดเชื้อโควิดซ้ำ

การที่ผมติดโควิด จึงมีโอกาสเข้าไปอยู่ท่ามกลางผู้ป่วยโควิด (DAY2-9, DAY-1) ได้เห็นกระบวนการการดูแลรักษา ตระหนักว่า vital signs อาการของเรา และการได้รับยาที่ทันเวลา คือสิ่งสำคัญ เราสูงวัยทั้งคู่ คุณหมอกลัวโควิดจะลงปอด จึงให้ทำ CXR ร่วมด้วย โดยที่ Hospitel RPP ใช้รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ ผมได้เห็นพัฒนาการของปอดในระหว่างการรักษาไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็มั่นใจขึ้น เนื่องจากมีการอักเสบของปอดจึงได้รับยาเพิ่มเพื่อรักษาให้ตรงโรคโดยระมัดระวังเรื่อง co-infectious จึงคิดว่า ผู้ป่วยสูงวัยนั้นหากทำ HI อาจจะมีความเสี่ยงสูง

ระหว่างรักษาตัวที่ Hospitel RPP หมอให้พักผ่อนมากๆ แต่พอมีเวลาก็พูดคุยกับชาวเรา เล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์ที่ได้พบเจอ โควิดเป็นโรคที่เป็นอุบัติการณ์ใหม่ มีแนวทางหลักๆในการดูแลรักษา แต่ก็มีรายละเอียดอีกมากที่ต้องการระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้าเพื่อปราบโควิดให้อยู่หมัด นอกจากนั้น ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวเราที่เป็นนักรบรังสีด่านหน้ากล้าตายในที่ต่างๆ รับทราบตรงกันว่า การทำงานของนักรบรังสีในมหาสงครามโรคโควิดครั้งนี้นั้น มันหนักหนาสาหัสจริงๆ

👉ตัวอย่างการทำ CXR ผู้ป่วยโควิดของโรงพยาบาลขนาด 678 เตียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

ผู้ป่วยสีเขียว ที่จะได้ไป hospitel ทาง ร.พ.จะไปรับมาคัดกรองก่อน และเอกซเรย์เป็น day 1  ที่ร.พ.นี้ มีตู้ทำด้วยกระจกใสสำหรับให้ผู้ป่วยเข้าไปยืนถ่ายเอกซเรย์ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโควิดในอากาศ และทำที่ยึดแผ่น detector ไว้อยู่นอกตู้กระจกเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ใช้ portable x-ray เอกซเรย์ผู้ป่วย เป็นรอบๆ วันละ 2 รอบหลังจากเสร็จรอบการเอกซเรย์แต่ละครั้ง ก็ทำลายเชื้อโดยอบด้วยรังสี UV จากผลเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยใน day 1 นี้ ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถไปอยู่ hospital ได้ ต้อง admit ที่ ร.พ.

ส่วนที่  hospitel จะเอกซเรย์ด้วย portable x-ray เช่นเดียวกับที่ ร.พ. เครื่องเอกซเรย์นั้นจะวางในตัวอาคารและเอกซเรย์ผู้ป่วยซึ่งอยู่ภายนอกอาคาร ผ่านผนังซึ่งเป็นกระจกใสบานใหญ่ นักรบรังสีจะเซทตำแหน่งแล้วทำเครื่องหมายของการวางเครื่องเอกซเรย์ ชุดยึดจับแผ่น detector  และตำแหน่งที่ผู้ป่วยจะมายืน ซึ่งอยู่ในเต๊นท์กันแดด 

ในการถ่ายเอกซเรย์นั้น นักรังสีเทคนิคมีหน้าที่ตรวจสอบสภาพพร้อมใช้งานของเครื่องรวมทั้งระบบ network และควบคุมเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งจำเป็นต้องปรับค่า exposure technique สูงขึ้นเล็กน้อย ผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคจะสวมเสื้อตะกั่วไว้ด้านในและสวมคลุมด้วยชุด PPE ปฏิบัติงานอยู่ในเต๊นท์ โดยช่วยจัดท่าผู้ป่วย เลื่อนระดับความสูงของ detector ขึ้นและลงให้สัมพันธ์กับความสูงของผู้ป่วย กรณีที่เป็นผู้ป่วยทารก เด็กเล็กก็ต้องช่วยอุ้ม  การสื่อสารระหว่างนักรังสีเทคนิค  ผู้ช่วยนักรังสีเทคนิค และผู้ป่วยที่อยู่ในเต๊นท์ จะใช้วิทยุสื่อสารแขวนไว้ในเต็นท์ ในการปฏิบัติงานของนักรังสีเทคนิค มือหนึ่งถือวิทยุสื่อสาร อีกมือหนึ่งก็ควบคุมเครื่องเอกซเรย์ เรียกและทวนสอบชื่อของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เอกซเรย์ผิดคน  ซักซ้อมผู้ป่วยเรื่องการหายใจให้เต็มที่  ทำการเอกซเรย์ ปรับและส่งภาพเอกซเรย์ โดยใช้ระบบ Tele  ให้รังสีแพทย์รายงานผลทันที ในแต่ละวันต้องประสานให้ผู้ป่วยในแต่ละรอบการนัดหมายลงมาเอกซเรย์ให้ตรงเวลา เพื่อให้สามารถถ่ายเอกซเรย์ผู้ป่วยได้หมดชุดไป หากผู้ป่วยยังลงมาไม่ครบผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคก็จะต้องใส่เสื้อตะกั่วและชุด PPE รออยู่ในเต๊นท์ บางวันอากาศร้อนมีแดดจัดมาก ก็อาจเป็นลมล้มพับกันไปเลย การเอกซเรย์ผู้ป่วยแต่ละคนนั้นใช้เวลาไม่มาก แต่ว่า ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยจำนวนมากประมาณ  40 - 60 คน และบางวันก็มีขอเอกซเรย์ผู้ป่วยรายอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้นัดหมายไว้

👉ตัวอย่างการทำ CT scan

การทำ CT scan ให้ผู้ป่วยโควิดในกลุ่มอาการสีแดง จะทำที่ร.พ. โดยทั่วไปวันหนึ่งจะทำ CT scan ผู้ป่วยโควิด 1 ราย  โดยนัดหมายเวลาที่แน่นอนกับหอผู้ป่วยในช่วงบ่าย ผู้ป่วยโควิดหนึ่งคนใช้เวลาตรวจประมาณ 5-10 นาที ส่วนใหญ่เป็นการทำ CT pulmonary angiogram ในบางครั้งก็มี  CT brain ด้วย ทั้งคอนทราสต์และนอนคอนทราสต์ ผู้ป่วยจะอยู่ภายในแคปซูลความดันลบ สามารถสแกนโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากแคปซูล ภาพซีทีอาจเกิด artifact ได้บ้างหากสแกนผ่านส่วนที่มีความหนาแน่นสูงของแคปซูล แต่ผมได้ทราบว่า เป็นภาพซีทีที่รังสีแพทย์ยอมรับได้เฉพาะเคสโควิด นักรังสีเทคนิค พยาบาลประจำห้อง CT และผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคสวมชุด PPE โดยพยาบาลและผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคพร้อมรอรับผู้ป่วยที่หน้าห้อง เข็นผู้ป่วยออกจากลิฟท์มาเข้าห้อง CT ได้เลย

เจ้าหน้าที่ที่มาพร้อมผู้ป่วยและผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคจะช่วยกันย้ายผู้ป่วยขึ้นเตียง CT ให้เรียบร้อย แล้วออกไปรอในบริเวณที่กำหนด นักรังสีเทคนิคซึ่งอยู่ในห้องควบคุม จะกำหนดโปรโตคอลให้ถูกต้อง เซทตำแหน่ง ทำการสแกนผู้ป่วย ส่งภาพเข้าระบบ รังสีแพทย์รายงานผล หลังจากส่งผู้ป่วยกลับ ผู้ช่วยนักรังสีเทคนิคจะทำความสะอาดส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ลิฟท์  ห้อง CT และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แล้วอบห้องด้วยรังสี UV

สำหรับผู้ป่วยโควิดที่ได้ admit อยู่ที่ ร.พ.นั้น ก็จะได้รับบริการ portable x-ray  ซึ่งในแต่ละวันมีจำนวนมากวันละประมาณ 60 – 70 ราย ทำให้สถิติ portable x-ray ทั้งหมดในแต่ละเดือนพุ่งพรวดๆ จากสภาวะปกติที่ไม่มีสงครามโควิดมีพันกว่ารายต่อเดือน มาเดือน ก.ค.นี้ ปาเข้าไป 3 พันกว่ารายต่อเดือน 

ทั้งหมดทั้งปวงของการปฏิบัติงานในสงครามโควิดนี้ นักรังสีเทคนิคที่แผนกเอกซเรย์ ได้พยายามยึดแนวทางปฏิบัติในการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น การจัดสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ การปฏิบัติก่อน ระหว่าง และหลังการตรวจด้วยภาพถ่ายทางรังสี การปฏิบัติตัวของคนไข้ขณะรับการตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ตามที่ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ได้เผยแพร่ข้อมูลไว้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ร่วมงาน และครอบครัวอันเป็นที่รักของทุกๆคน ปลอดภัยจากสงครามครั้งนี้

นั่นคือ ตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนักรับรังสีแนวหน้ากล้าตายในสงครามโรคโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ผู้ป่วยโควิดสะสมที่รักษาตัวในระบบมีจำนวนร่วมสองแสนคน จึงไม่แปลกที่บุคลากรทางการแพทย์จะมีภาระ “งานล้นคนไม่พอ”  รวมถึงนักรบรังสีด่านหน้ากล้าตายที่เข้าโรมรันพันตูกับศึกสงครามครั้งนี้ด้วย บางคนติดเชื้อโควิด ยิ่งไปกว่านั้น ที่สุดแสนจะสะเทือนใจมาก คือเราต้องสูญเสียนักรบรังสีด้านหน้าซึ่งเป็นรังสีแพทย์อย่างที่ไม่ควรจะเกิด รู้สึกสลดหดหู่และเศร้าใจยิ่งนัก ขอสดุดีวีรกรรมของนักรบรังสีผู้กล้าผู้เสียสละ และแม้แต่ชีวิตของตัวเองก็สละได้ จะมีนักรบรังสีอีกกี่คน จะมีบุคลากรทางการแพทย์อีกกี่คน ที่ต้องสูญเสียไปนับจากนี้ ขอให้เป็นท่านสุดท้ายได้ไหม

ในขณะที่บัณฑิตรังสีเทคนิคจบใหม่ที่พอจะเป็นความหวังเข้ามาช่วยนักรบรังสีพี่ๆ ก็ยังไม่ได้ใบประกอบโรคศิลปะ สมัครงานก็ยังไม่ได้ โรงพยาบาลต้องการใบประกอบโรคศิลปะ ข้อกำหนดทุกอย่างยังคงกฎเกณฑ์เดิม ยังทำแบบปกติ เหมือนไม่มีสงครามโรคโควิดเกิดขึ้น พี่ๆนักรบรังสี งานล้น เสี่ยง บางครั้งรู้สึกท้อแท้มาก อยากมีน้องๆรุ่นใหม่ๆมาช่วยกัน มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย จะเรียกว่านี่คือสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็อาจจะเรียกได้ จึงขอฝากไปยังผู้บริหารที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งมวล ได้โปรดพิจารณาประเด็นนี้อย่างเร่งด่วนด้วย

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: DAY 2-9

 จาก DAY 1 ที่เรามาถึง Hospitel RPP มีความรู้สึกว่าเหมือนครอบครัวเราหนีภัยสงคราม "สงครามโรค" ที่มีกระสุนโควิดที่มองไม่เห็นปลิวว่อนเต็มไปหมด แพ็คสัมภาระใส่กระเป๋าอย่างรีบเร่ง เมื่อมาถึงลงทะเบียนเข้ารับการรักษาแล้วได้ทำ CXR และตรวจเลือด ตกถึงตอนกลางคืน จึงรู้ผล

ปอดของผมใสกิ๊กในครั้งแรก โควิดยังไม่เข้าโจมตีปอด อาการทั่วไปปกติ ไม่ไอ ไม่จาม ไม่มีผื่นแดง ตัวไม่ร้อน ไม่เหนื่อย ค่า vital sings พวก BP, rate, temp, SpO2(96-98%) ปกติ เป็นแบบนี้ทุกวัน แต่ BP ค่อนข้างสูง ซึ่งผมมีโรคความดันสูงและกินยาควบคุมอยู่แล้ว  BP มาขึ้นตอนนี้ อาจเพราะผลของยาที่กินเพิ่มเติม และหมอได้จ่าย CPM ให้กินวันละสามมื้อ ผมแอบดื้อกินแค่ก่อนนอน หลับสนิทยาวทั้งคืนเลย แต่พลังงานของผมถูกโควิดดูดหายไปมาก ถามว่าเครียดไหม ไอ้เจ้า smart watch มันบอกว่า ระดับความเครียด 30 แปลว่า เครียดน้อยมากๆๆ เชื่อ smart watch ครับ 😁 ตามโปรโตคอลใน DAY 4 จะมีการทำ CXR ซ้ำ แต่ผมไม่ต้องทำ

ของภรรยามีลุ้น!! ใจผมเต้นแรงตั้งแต่วันแรก!!🤔 เมื่อรู้ว่า ปอดด้านขวา RML มีการอักเสบ แต่หมอบอกอักเสบไม่มากนัก อาการทั่วไป ปวดเมื่อยมากตามตัวตั้งแต่เอวลงมา ไอบ้าง ไม่จาม ไม่มีผื่นแดง ตัวไม่ร้อน เหนื่อยเล็กน้อย ทานอาหารได้อร่อย ค่า vital sings พวก BP, rate, temp, SpO2(94-96%) ปกติ เป็นแบบนี้ทุกวัน แต่ SpO2 จะต่ำกว่าของผมเล็กน้อย ซึ่งก็ได้เครื่องผลิตออกซิเจนจากชาวเรามาช่วยเติมออกซิเจนให้ชีวิตมีพลังขึ้น บอกตามตรงว่า ได้แอบคิดในใจลำพัง "หรือว่าเราสองคนจะเดินทางมาถึงวาระสุดท้ายแล้วกระมัง" ไม่ยอมบอกภรรยากลัวเสียกำลังใจ ไม่แน่ใจว่าพัฒนาการของอาการโรคโควิดจะไปทางไหน ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่กำลังใจจากลูกหลานและชาวเราล้นเปี่ยม สู้ครับ!!

ภรรยาได้ทำ CXR ซ้ำใน DAY 4 เป็นครั้งที่สอง ผลปอดมี slightly improvement ไม่ถึงขั้น progression ครับ คลายความกังวลลงมาบ้าง แต่ต้องไปลุ้น CXR วันที่ DAY 7 อีกครั้ง หลังจากที่ได้ทำ CXR ในวันที่ DAY 7 ผลออกมาน่าพอใจ และอาการทั่วไปดีขึ้นมาก ค่อนข้างโล่งอก สงสัยอยากกลับบ้าน!!

เรื่องอาหารการกิน Hospitel จัดให้ทุกวันไม่ซ้ำเมนู เวลา 7:00, 12:00 และ 17:00 น.  เป็นอาหารธรรมดาที่กินปกติในชีวิตประจำวัน อร่อยมาก เรื่องอาหารไม่มีเบื่อ มื้อเช้าจะมีกาแฟให้ด้วย และที่ห้องมีกาต้มน้ำร้อนไฟฟ้า สามารถชงกาแฟ น้ำขิง มาม่า ฯลฯ ได้สะดวก

สถานการณ์โควิดยังแรงอย่างต่อเนื่อง ด่านหน้าขาดแคลนออกซิเจน ที่ Hospitel ก็เช่นกัน อยากที่บอกว่าภรรยามีอาการเหนื่อย อยากได้ออกซิเจน อาจารย์บุญชัยจากรพ.จุฬารีบส่งเครื่องผลิตออกซิเจนมาให้ถึงที่ Hospitel รพ.ราชพิพัฒน์ ตั้งแต่ DAY 2 ขอบคุณมากครับ  เราต้องฝ่าวิกฤติโควิดให้ได้ ขอชื่นชมอัศวินชุดขาว PPE ด่านหน้าทุกคนครับ การที่ผมติดเชื้อโควิด ทำให้ได้เห็นการทำงานจริงของพวกเขา มันหนักหนาสาหัสและเสี่ยงจริงๆ 

ดังนั้น กิจวัตรประจำวันที่ Hospitel ของเราต้องดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ จะได้ไม่ต้องเข้ามาใกล้ชิดเรา หลักๆได้แก่

     วัดค่า BP, rate, temp, SpO2 ของตัวผมเองและภรรยา แล้วส่งข้อมูลเข้าแอพไลน์ของ RPP-Hospitel พร้อมแจ้งอาการว่ามีอะไรบ้าง ปกติไหม ทำวันละสองครั้ง คือ 7:00 และ 16:00 น.
     ออกจากห้องเพื่อไปรับอาหารและยา (ถ้ามี) วันละสามครั้ง คือ 7:00, 12:00 และ 17:00 น.
     ทำความสะอาดห้อง เก็บขยะไปทิ้งวันละ 2 ครั้ง 
     กินยาตามหมอสั่ง ผมกินฟาวิพิราเวียร์ 50 เม็ด/5วัน (เช้า-เย็น)  ภรรยากินฟาวิพิราเวียร์ 50 เม็ด/5วัน (เช้า-เย็น) พอหมดแล้วหมอให้กินต่ออีก 50 เม็ด/5วัน ควบคู่กับยารักษาอาการปอดอักเสบอีก 80 เม็ด/10วัน(เช้า-เย็น)

ซึ่งเจ้าหน้าที่จะส่งข้อความมาในแอพไลน์ของ RPP-Hospitel เพื่อแจ้ง กิจกรรมที่เราจะต้องทำ เช่น นัดหมายทำ CXR, หากค่า SpO2 ต่ำ จะแจ้งให้วัดซ้ำ เป็นต้น และตอนเช้าจะมีคุณหมอมาราวน์ทางโทรศัพท์ ซักถามอาการเพิ่มเติมจากที่เราแจ้งไว้ในแอพไลน์ของ RPP-Hospitel

เมื่ออาการของเราโดยเฉพาะภรรยาดีขึ้นตามลำดับ ก็ได้เวลากลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน หมออนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้และออกใบรับรองแพทย์ให้โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำ เพราะตรวจไปก็เจอเชื้อโควิดอยู่ดีและเป็นเชื้อตาย และเราผลระยะการแพร่เชื้อโควิดแล้ว ดีใจ!! รีบแพ็คสัมภาระใส่กระเป๋า แจ้งลูกชายให้ขับรถมารับ 
#ขอบคุณทีมงานHospitelRPP #ขอบคุณอัศวินชุดขาว #ขอบคุณนักรบรังสีแนวหน้ากล้าตาย

เมื่อมาพักฟื้นต่อที่บ้าน ได้แจ้งอาการและ vital sign ให้กับหมอที่ รพ.ราชพิพัฒน์ทราบทุกวัน ด้วยความคิดถึงลูกและหลานชาย ที่แยกไปอยู่ที่บ้านอีกหลังเพื่อความปลอดภัย ตอนนี้อยากให้กลับมาอยู่ด้วยกันเพราะปู่กับย่าหายป่วยแล้ว โดยเฉพาะ หลานชายปกติตอนสบายดีจะชอบมานอนด้วยกันกับปู่และย่า จึงปรึกษาหมอว่าครบ 14 วันแล้วสามารถนอนด้วยกันได้หรือยัง คุณหมอแนะนำว่า ขอให้ครบ 21 วันนับจากวันที่ตรวจเจอโควิดจะชัวร์ที่สุด ก็ต้องตามนั้น อดทนหน่อยครับ

ระหว่างอยู่ที่ Hospitel ทราบว่า หลานชายเจ้าคุณเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านกับแม่ ก็มีเพื่อนเปิดไมค์มาขอโทษครูที่เข้าเรียนสาย "พ่อเป็นโควิด รพ. มารับตัวไป ผมไปบ๊ายบายพ่อมาครับ"

😟😮‍💨โธ่เอ๊ย!! โควิดโหดร้ายมาก

"โควิดมองไม่รู้ ดูไม่เห็น ติดง่าย!! จงป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้นสูงสุด"  ครับชาวเรา

Related Links:

1.ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: ก่อน DAY 1

2.ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: DAY 1

ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: DAY 1

 บันทึกนี้ขอแชร์ประสบการณ์จากการที่เราสามีภรรยา ( sixty up) มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่ม 608 ได้รับ AZ มาเดือนกว่า ติดเขื้อโควิดและเข้ารับการรักษาที่ hospitel หลังจากทำ HI ได้ 2 วัน

ผมและภรรยา เตรียมเสื้อผ้าเครื่องใช้ 14 วัน และยาจำเป็นที่กินประจำด้วยมีโรคประจำตัว รวมทั้งฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับจากรพ.จุฬาภรณ์ เราขับรถไปเอง 2 คน ไม่ให้ลูกติดตามมาส่งเพื่อลดความเสี่ยงของลูก มาถึง hospitel บ่ายโมง จอดรถไว้ลานจอดกลางแดด เพื่อให้ความร้อนเผาผลาญโควิด เจ้าจงถูกเผาซะเจ้าโควิด เพราะวันต่อไปลูกจะมานำรถกลับไปก่อน มีความรู้สึกว่าเหมือนครอบครัวเราหนีภัยสงคราม "สงครามโรค" ที่มีกระสุนโควิดที่มองไม่เห็นปลิวว่อนเต็มไปหมด ซึ่งเราสองคนถูกกระสุนโควิดได้รับบาดเจ็บแล้ว ห่วงแต่ลูกหลานและชาวเราขอให้แคล้วคลาดจากกระสุนโควิดในสงครามโรคครั้งนี้ด้วยเถิด

เราเข้าไปเช็คอินบริเวณโล่งโปร่งหน้าห้องที่ทำการของศูนย์ อากาศดี แต่ค่อนข้างร้อน เจ้าหน้าที่(จนท)อัศวินชุดขาวและฟ้าอ่อน น่าจะร้อนมากทีเดียว พูดจาสุภาพเรียบร้อยมากให้เราวางบัตร ปชช.ไว้ แล้วถอยออก จากนั้น จนท.เข้ามาถ่ายรูปบัตรของเรา เสร็จแล้ว จนท.ถอยออก แล้วให้เราเข้าไปจุดที่วัด BP,rate,temp,Ox-sat เราต้องทำเองและแจ้งจนท.ตอนนั้นเลยเพื่อจดบันทึก จากนั้น จนท.อีกคนสวม mask ไม่สวม PPE ยืนห่างจากเรา 4 เมตรในที่โล่ง ซักประวัติถามข้อมูลรายละเอียดของเราแล้วลงบันทึก จนท.ให้เราสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อ add line ของศูนย์ hospitel (Hospitel-RPP) ตรงนี้สำคัญเพราะหลังจากนี้ การติดต่อสื่อสาร การติดตามอาการ จะผ่านระบบนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกัน จนท.จ่ายห้องให้กำชับว่าเมื่อเข้าพักในห้องแล้วให้อยู่แต่ในห้องหรืออาคารนั้น ห้ามออกจากอาคาร และแจ้งว่าให้มา CXR ตอนบ่ายสาม จากนั้น เราขนสัมภาระทั้งหมดเข้าห้องพักขึ้นลิฟท์ไปชั้น 2 รวมถึงถุงของศูนย์อีกคนละใบ สิ่งของในถุงมีของใช้จำเป็น เช่น กระดาษทิชชู สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจานผงซักฟอก ฟองน้ำ ถุงขยะ เชือกฟาง และน้ำดื่ม 3 ขวด

ในห้องมีเตียงคนไข้ 2 เตียง มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น มีอุปกรณ์วัด BP,rate,temp,Ox-sat ซึ่งเราจะต้องวัดเอง เช้าและเย็น แล้วแจ้งผลผ่าน line Hospitel RPP ของศูนย์ที่เราได้ add ไว้ตอนเช็คอิน นอกจากนี้ ต้องแจ้งอาการว่าปกติหรือไม่ปกติอย่างไร อะไรบ้าง ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เป็นการแจ้งอาการรายวัน

ศูนย์มีอาหารให้วันละ 3 มื้อ เป็นอาหารปกติที่เรากินกัน รสชาดดีอร่อย ไม่เค็มมาก แพคในกล่องพลาสติกห่อด้วยถุงพร้อมทิ้งเมื่อกินเสร็จ เราต้องไปนำอาหารมาเองตามเวลา 7:00, 12:00, 17:00 จากจุดที่กำหนดไว้อยู่ชั้นที่ 1 ตอนไปรับอาหารจะไม่เห็น จนท. มีแต่เพื่อนคนไข้ที่อยู่อาคารเดียวกัน ที่สำคัญทุกครั้งที่เราออกจากห้องต้องสวม mask

บ่ายสาม เราไป CXR เป็นรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ บนรถมีนักรบรังสี 2 คน สวมชุด PPE ไม่เห็นหน้าตาเลยจำหน้าตาไม่ได้ นี่แหล่ะนักรับรังสีนิรนามด่านหน้ากล้าตายตัวจริง โดยที่บนรถไม่มีการเปิดแอร์  ผมเห็นนักรบรังสีแล้วไม่กล้าแสดงตัวว่าผมคือใคร และผมเองก็ต้องใส่ mask เห็นแล้วรู้สึกเห็นใจมาก พวกเขาต้องทำงานในสภาพอากาศร้อนอย่างอดทนที่สุด เสี่ยงจากโควิดและรังสีเอกซ์ น่าจะหลายชั่วโมงแล้วก่อนที่เราจะไปรับบริการ CXR จากพวกเขา ถึงอย่างนั้น น้ำเสียงของนักรบรังสีที่พูดกับเรา ฟังดูสุภาพและนุ่มนวลมาก ชื่ออะไรครับ เราแจ้งชื่อเพื่อยืนยันตัวตนว่าตรงกัน นักรบรังสียืนที่ตำแหน่ง Control (ใกล้ตำแหน่งหลอดเอกซเรย์) ตำแหน่งของเขาห่างออกไปจากเราประมาณสองเมตรครึ่ง จากนั้นบอกให้เราหันหน้าเข้าหาบักกี้แล้วให้เราเอามือสองข้างโอบกอดไว้ มีการปรับตำแหน่งบักกี้ขึ้นลงอัตโนมัติให้เหมาะสม หน้าอกแนบชิดบักกี้ แล้วบอกให้เราสูดหายใจเข้าลึกๆแล้วกลั้นใจนิ่งไว้ เสร็จแล้วครับ ชุดของเราขณะทำ CXR ไม่ต้องเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงโควิดที่มีต่อ จนท. และก่อนไป CXR เราสองคนได้ใส่เสื้อยืดคอกลมและถอดเครื่องประดับออกหมด ใช้ตามมาตรฐานที่สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยแนะนำ ซึ่งผมเข้าใจว่านักรบรังสีคงแจ้งคนไข้คนอื่นๆในเรื่องการเตรียมตัวก่อนมา CXR แล้ว ซึ่งเราทั้งคู่คงต้องได้ทำ CXR เป็นระยะ ถี่หน่อยเพื่อสังเกตพัฒนาการโรคในปอดจากภาพเอกซเรย์ว่าไปทางไหน

หกโมงเย็น line ของศูนย์เด้งขึ้นมาแจ้งว่าให้เราไปเจาะเลือดที่จุดเจาะเลือด มีจนท.สวม PPE มาเจาะเลือด จนท.ใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังเข้าเส้นเลือดนิ่มมาก แม่นยำ ไม่เร่งรีบ และพูดคุยกับเราด้วยอัทยาศัยดีจึงรู้ว่าจนท.คือพยาบาล

แปดโมงเช้า คุณหมอโทรมาสอบถามอาการ โดยทั่วไปวันแรกนี้ อาการของผมยังคงปกติ แต่ของภรรยามีอาการไอ เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อย ซึ่งคุุณหมอทราบก่อนหน้าที่จะราวน์วอร์ดทางโทรศัพท์ จึงเป็นการซักถามถึงอาการที่แจ้งใน line ไว้แล้ว เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ใช้เวลาไม่มาก ให้คำแนะนำดีมาก และสั่งยาให้โดยไม่ให้ฟาวิพิราเวียร์ เพราะเราได้แจ้งก่อนหน้านั้นว่าเราได้กินฟาวิพิราเวียร์จากรพ.จุฬาภรณ์อยู่ยังไม่ครบคอร์ส หมอจึงให้เรากินต่อไป

สำหรับการรับยา จะมีการแจ้งเตือนผ่าน line Hospitel RPP ว่า คนไข้มียาให้มารับยาได้ จุดรับยาจะอยู่ชั้น 1 ของอาคารที่เราพัก เขาจัดทำเป็นช่องนกกระจอก แต่ละช่องระบุชื่อห้อง เราก็ดูเลขห้องที่เราพักแล้วหยิบซองยาไปได้เลย เพื่อความไม่ประมาทก็ดูชื่อที่หน้าซองว่าเป็นชื่อเรา เป็นอันเรียบร้อย ขั้นตอนนี้ ไม่เห็นจนท.

เรื่องขยะ แต่ละห้องจัดการเก็บขยะเองโดยใช้ถุงขยะที่ศูนย์จัดให้ ผูกมัดปากถุงขยะที่ต้องการทิ้งด้วยเชือกฟางที่ให้มาอยู่แล้ว จากนั้น นำไปทิ้งที่จุดกำหนดในอาคารชั้นที่ 1 ในถังขยะใบใหญ่ที่มีถุงพลาสติกสีแสดใบใหญ่รองรับ ไม่เห็นจนท.

ก่อนเดินทางมาที่ Hospitel ได้รับแจ้งว่า เวลานี้สถานการณ์หนัก ผู้ป่วยโควิดเยอะ จนท.อาจจะมีจำนวนน้อย ไม่พอรับโหลด บางอย่างอาจช้า ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกที่ น่าเห็นใจมาก ไม่เป็นไรครับ เพราะเรายอมรับความจริงว่า นี่คือสภาวะสงครามโรคโควิดที่รุนแรงที่สุด เป็นเหตุฉุกเฉินที่สุด ไม่ปกติที่สุด ได้รับการดูแลรักษาแค่นี้ถือว่าดีเยี่ยมแล้วครับ ถ้าดูจากระบบและการทำงานของจนท. ถึงคนน้อยแต่ effectiveness และ service mind สูง ผมให้ A+ เลย👍สู้ๆครับ

-- จบ DAY 1 --

Related Links:

1.ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: ก่อน DAY 1

2.ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: DAY 2-9