วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: DAY 1

 บันทึกนี้ขอแชร์ประสบการณ์จากการที่เราสามีภรรยา ( sixty up) มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่ม 608 ได้รับ AZ มาเดือนกว่า ติดเขื้อโควิดและเข้ารับการรักษาที่ hospitel หลังจากทำ HI ได้ 2 วัน

ผมและภรรยา เตรียมเสื้อผ้าเครื่องใช้ 14 วัน และยาจำเป็นที่กินประจำด้วยมีโรคประจำตัว รวมทั้งฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับจากรพ.จุฬาภรณ์ เราขับรถไปเอง 2 คน ไม่ให้ลูกติดตามมาส่งเพื่อลดความเสี่ยงของลูก มาถึง hospitel บ่ายโมง จอดรถไว้ลานจอดกลางแดด เพื่อให้ความร้อนเผาผลาญโควิด เจ้าจงถูกเผาซะเจ้าโควิด เพราะวันต่อไปลูกจะมานำรถกลับไปก่อน มีความรู้สึกว่าเหมือนครอบครัวเราหนีภัยสงคราม "สงครามโรค" ที่มีกระสุนโควิดที่มองไม่เห็นปลิวว่อนเต็มไปหมด ซึ่งเราสองคนถูกกระสุนโควิดได้รับบาดเจ็บแล้ว ห่วงแต่ลูกหลานและชาวเราขอให้แคล้วคลาดจากกระสุนโควิดในสงครามโรคครั้งนี้ด้วยเถิด

เราเข้าไปเช็คอินบริเวณโล่งโปร่งหน้าห้องที่ทำการของศูนย์ อากาศดี แต่ค่อนข้างร้อน เจ้าหน้าที่(จนท)อัศวินชุดขาวและฟ้าอ่อน น่าจะร้อนมากทีเดียว พูดจาสุภาพเรียบร้อยมากให้เราวางบัตร ปชช.ไว้ แล้วถอยออก จากนั้น จนท.เข้ามาถ่ายรูปบัตรของเรา เสร็จแล้ว จนท.ถอยออก แล้วให้เราเข้าไปจุดที่วัด BP,rate,temp,Ox-sat เราต้องทำเองและแจ้งจนท.ตอนนั้นเลยเพื่อจดบันทึก จากนั้น จนท.อีกคนสวม mask ไม่สวม PPE ยืนห่างจากเรา 4 เมตรในที่โล่ง ซักประวัติถามข้อมูลรายละเอียดของเราแล้วลงบันทึก จนท.ให้เราสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อ add line ของศูนย์ hospitel (Hospitel-RPP) ตรงนี้สำคัญเพราะหลังจากนี้ การติดต่อสื่อสาร การติดตามอาการ จะผ่านระบบนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกัน จนท.จ่ายห้องให้กำชับว่าเมื่อเข้าพักในห้องแล้วให้อยู่แต่ในห้องหรืออาคารนั้น ห้ามออกจากอาคาร และแจ้งว่าให้มา CXR ตอนบ่ายสาม จากนั้น เราขนสัมภาระทั้งหมดเข้าห้องพักขึ้นลิฟท์ไปชั้น 2 รวมถึงถุงของศูนย์อีกคนละใบ สิ่งของในถุงมีของใช้จำเป็น เช่น กระดาษทิชชู สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจานผงซักฟอก ฟองน้ำ ถุงขยะ เชือกฟาง และน้ำดื่ม 3 ขวด

ในห้องมีเตียงคนไข้ 2 เตียง มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น มีอุปกรณ์วัด BP,rate,temp,Ox-sat ซึ่งเราจะต้องวัดเอง เช้าและเย็น แล้วแจ้งผลผ่าน line Hospitel RPP ของศูนย์ที่เราได้ add ไว้ตอนเช็คอิน นอกจากนี้ ต้องแจ้งอาการว่าปกติหรือไม่ปกติอย่างไร อะไรบ้าง ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เป็นการแจ้งอาการรายวัน

ศูนย์มีอาหารให้วันละ 3 มื้อ เป็นอาหารปกติที่เรากินกัน รสชาดดีอร่อย ไม่เค็มมาก แพคในกล่องพลาสติกห่อด้วยถุงพร้อมทิ้งเมื่อกินเสร็จ เราต้องไปนำอาหารมาเองตามเวลา 7:00, 12:00, 17:00 จากจุดที่กำหนดไว้อยู่ชั้นที่ 1 ตอนไปรับอาหารจะไม่เห็น จนท. มีแต่เพื่อนคนไข้ที่อยู่อาคารเดียวกัน ที่สำคัญทุกครั้งที่เราออกจากห้องต้องสวม mask

บ่ายสาม เราไป CXR เป็นรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ บนรถมีนักรบรังสี 2 คน สวมชุด PPE ไม่เห็นหน้าตาเลยจำหน้าตาไม่ได้ นี่แหล่ะนักรับรังสีนิรนามด่านหน้ากล้าตายตัวจริง โดยที่บนรถไม่มีการเปิดแอร์  ผมเห็นนักรบรังสีแล้วไม่กล้าแสดงตัวว่าผมคือใคร และผมเองก็ต้องใส่ mask เห็นแล้วรู้สึกเห็นใจมาก พวกเขาต้องทำงานในสภาพอากาศร้อนอย่างอดทนที่สุด เสี่ยงจากโควิดและรังสีเอกซ์ น่าจะหลายชั่วโมงแล้วก่อนที่เราจะไปรับบริการ CXR จากพวกเขา ถึงอย่างนั้น น้ำเสียงของนักรบรังสีที่พูดกับเรา ฟังดูสุภาพและนุ่มนวลมาก ชื่ออะไรครับ เราแจ้งชื่อเพื่อยืนยันตัวตนว่าตรงกัน นักรบรังสียืนที่ตำแหน่ง Control (ใกล้ตำแหน่งหลอดเอกซเรย์) ตำแหน่งของเขาห่างออกไปจากเราประมาณสองเมตรครึ่ง จากนั้นบอกให้เราหันหน้าเข้าหาบักกี้แล้วให้เราเอามือสองข้างโอบกอดไว้ มีการปรับตำแหน่งบักกี้ขึ้นลงอัตโนมัติให้เหมาะสม หน้าอกแนบชิดบักกี้ แล้วบอกให้เราสูดหายใจเข้าลึกๆแล้วกลั้นใจนิ่งไว้ เสร็จแล้วครับ ชุดของเราขณะทำ CXR ไม่ต้องเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงโควิดที่มีต่อ จนท. และก่อนไป CXR เราสองคนได้ใส่เสื้อยืดคอกลมและถอดเครื่องประดับออกหมด ใช้ตามมาตรฐานที่สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยแนะนำ ซึ่งผมเข้าใจว่านักรบรังสีคงแจ้งคนไข้คนอื่นๆในเรื่องการเตรียมตัวก่อนมา CXR แล้ว ซึ่งเราทั้งคู่คงต้องได้ทำ CXR เป็นระยะ ถี่หน่อยเพื่อสังเกตพัฒนาการโรคในปอดจากภาพเอกซเรย์ว่าไปทางไหน

หกโมงเย็น line ของศูนย์เด้งขึ้นมาแจ้งว่าให้เราไปเจาะเลือดที่จุดเจาะเลือด มีจนท.สวม PPE มาเจาะเลือด จนท.ใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังเข้าเส้นเลือดนิ่มมาก แม่นยำ ไม่เร่งรีบ และพูดคุยกับเราด้วยอัทยาศัยดีจึงรู้ว่าจนท.คือพยาบาล

แปดโมงเช้า คุณหมอโทรมาสอบถามอาการ โดยทั่วไปวันแรกนี้ อาการของผมยังคงปกติ แต่ของภรรยามีอาการไอ เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อย ซึ่งคุุณหมอทราบก่อนหน้าที่จะราวน์วอร์ดทางโทรศัพท์ จึงเป็นการซักถามถึงอาการที่แจ้งใน line ไว้แล้ว เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ใช้เวลาไม่มาก ให้คำแนะนำดีมาก และสั่งยาให้โดยไม่ให้ฟาวิพิราเวียร์ เพราะเราได้แจ้งก่อนหน้านั้นว่าเราได้กินฟาวิพิราเวียร์จากรพ.จุฬาภรณ์อยู่ยังไม่ครบคอร์ส หมอจึงให้เรากินต่อไป

สำหรับการรับยา จะมีการแจ้งเตือนผ่าน line Hospitel RPP ว่า คนไข้มียาให้มารับยาได้ จุดรับยาจะอยู่ชั้น 1 ของอาคารที่เราพัก เขาจัดทำเป็นช่องนกกระจอก แต่ละช่องระบุชื่อห้อง เราก็ดูเลขห้องที่เราพักแล้วหยิบซองยาไปได้เลย เพื่อความไม่ประมาทก็ดูชื่อที่หน้าซองว่าเป็นชื่อเรา เป็นอันเรียบร้อย ขั้นตอนนี้ ไม่เห็นจนท.

เรื่องขยะ แต่ละห้องจัดการเก็บขยะเองโดยใช้ถุงขยะที่ศูนย์จัดให้ ผูกมัดปากถุงขยะที่ต้องการทิ้งด้วยเชือกฟางที่ให้มาอยู่แล้ว จากนั้น นำไปทิ้งที่จุดกำหนดในอาคารชั้นที่ 1 ในถังขยะใบใหญ่ที่มีถุงพลาสติกสีแสดใบใหญ่รองรับ ไม่เห็นจนท.

ก่อนเดินทางมาที่ Hospitel ได้รับแจ้งว่า เวลานี้สถานการณ์หนัก ผู้ป่วยโควิดเยอะ จนท.อาจจะมีจำนวนน้อย ไม่พอรับโหลด บางอย่างอาจช้า ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกที่ น่าเห็นใจมาก ไม่เป็นไรครับ เพราะเรายอมรับความจริงว่า นี่คือสภาวะสงครามโรคโควิดที่รุนแรงที่สุด เป็นเหตุฉุกเฉินที่สุด ไม่ปกติที่สุด ได้รับการดูแลรักษาแค่นี้ถือว่าดีเยี่ยมแล้วครับ ถ้าดูจากระบบและการทำงานของจนท. ถึงคนน้อยแต่ effectiveness และ service mind สูง ผมให้ A+ เลย👍สู้ๆครับ

-- จบ DAY 1 --

Related Links:

1.ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: ก่อน DAY 1

2.ประสบการณ์ตรงในดงโควิด: DAY 2-9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น