(721 ครั้ง)
เมื่อคราวไปประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2554 ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคม 2554 จัดโดย ปอมท. ร่วมกับ สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ฟังผู้ทรงภูมิปัญญาและประสบการณ์สูง เช่น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ (เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา UNCTAD) รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิบัณฑิตย์) ศ.คลินิก นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร(อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล) คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธ์ (นายกสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย) เป็นต้น ท่านเหล่านี้ พูดให้ฟังหลายเรื่องเกี่ยวกับอุดมศึกษาของไทยกับประชาคมอาเซียน ทำให้ผมได้รับอาหารสมองแบบเต็มอิ่มจริงๆ และเชื่อว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นก็คงจะอิ่มเหมือนผม
ยังมีเกร็ดเล็กๆ จากการอภิปรายหมู่เรื่อง “การเตรียมความพร้อมของอุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน” ตอนหนึ่งท่าน รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กล่าวถึง “Outcome of life” หรือ “ผลสัมฤทธิ์ของชีวิต” ฟังแล้ว ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ต่อทั้งตัวเราเองและองค์กรที่เราทำงานอยู่
ท่านได้พูดถึงทฤษฎีของ Kazuo Inamori ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Kyocera ของประเทศญี่ปุ่นที่ประสพความสำเร็จอย่างมาก หลายท่านคงคุ้นหูดี ท่าน Kazuo Inamori ได้เสนอสูตรในการคำนวณหรือพิจารณา “Outcome of life” หรือ “ผลสัมฤทธิ์ของชีวิต” ไว้ตามสมการ
Outcome of life = Ability x Effort x Attitude
การนำเอาความสามารถมาคูณกับความพยายาม จะได้คะแนนสูงสุดเท่ากับ 100 คะแนน คนทั่วไป มีความสามารถและความพยายามแตกต่างกันไป ลองพิจารณาเป็นกรณีไป
กรณีที่ 1 คนมีความสามารถสูงสุด 10 คะแนน และมีความพยายามสูงสุด 10 คะแนน ผลคูณที่ได้จะมีคะแนนสูงสุด 100 คะแนน คนแบบนี้จะมีไหม คงหายากมากๆ หลายองค์กรคงอยากได้คนแบบนี้
กรณีที่ 2 ถ้าคนมีความสามารถปานกลางมี 5 คะแนน แต่มีความพยายามสูงสุด 10 คะแนน ผลคูณออกมาเป็น 50 คะแนนอย่างนี้หมายความว่า คนที่มีความสามารถปานกลาง สามารถชดเชยได้ด้วยการเพิ่มความพยายามให้มากๆหน่อย
กรณีที่ 3 ถ้าคนมีความสามารถสูงสุด 10 คะแนน แต่ความพยายามปานกลาง 5 คะแนน ผลลัพธ์จะเป็น 50 คะแนนเท่ากรณีที่ 2 กรณีนี้คนมีความสามารถสูงมากแต่อุตสาหะต่ำ จะมีค่าเท่ากับคนมีความสามารถปานกลางแต่มีอุตสาหะสูงในกรณีที่ 2
ทั้ง 3 กรณีนี้ ยังไม่ได้นำทัศนคติมาคูณด้วยเลย หากคูณด้วยทัศนคติเข้าไปด้วย คราวนี้สนุกกันใหญ่ เพราะจะเป็น outcome of life ทันที ซึ่งจะมีค่าแกว่งแรงมาก ไปทางบวกหรือลบได้ทั้งนั้น
ตัวอย่างเช่น จากกรณีที่ 1 คนนี้มีผลลัพธ์คะแนนความสามารถและความพยายามสูงที่สุด หากเขามีทัศนคติเชิงบวก ลองคิดดูว่า outcome of life ของเขาจะมีผลลัพธ์กระฉูดขึ้นไปทางบวกขนาดไหน แต่หากเขามีทัศนคติเป็นลบละก็ outcome of life ของเขาจะมีผลลัพธ์ดิ่งลงไปทางลบ และไม่ว่าจะบวกหรือลบ เมื่อเขาทำงานอยู่ในองค์กร ก็จะส่งแรงสั่นสะเทือนถึง outcome of life ขององค์กรด้วย เราอยากได้คนแบบไหน อันนี้เป็นคำถามที่วันนั้นท่านวิทยากรถามทิ้งท้ายไว้ แบบไม่ต้องการได้ยินคำตอบจากเหล่าอาจารย์ในหอประชุมกองทัพเรือขนาดใหญ่ เพราะท่านเดาได้ว่า หากจี้ถามไปที่อาจารย์ท่านใดก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า.....แล้วท่านผู้อ่านจะตอบว่ากะไร
พิจารณาตามทฤษฎีของ Kazuo Inamori สิ่งสำคัญที่สุดของ outcome of life จึงอยู่ที่....ทัศนคติของคน คิดบวก คิดลบ มีผลต่อความสำเร็จของแต่ละคนอย่างมากๆ ต่อให้เก่งมากแค่ไหน พยายามมากแค่ไหน แต่ถ้าคิดลบก็ไปไม่รอด องค์กรก็อ่อนแอไปด้วย เรื่องนี้ หลายคนอาจแย้งในใจว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร เก่งก็เก่ง ขยันก็ขยัน แล้วจะไม่รอดได้อย่างไร (วะ) อยากให้ผู้อ่าน ชาวเราใจเย็นๆ ค่อยๆคิด ไม่ต้องเชื่อสิ่งที่ผมเขียนนี้ แต่ชวนให้คิดครับ
ในความเห็นของผม เรื่องนี้อยู่ที่ปลายจมูกของเรานี่เอง ที่ผมว่ามันอยู่ที่ปลายจมูกเพราะ บางทีเราก็เห็นปลายจมูกของเราเองถ้าตั้งใจดูดีๆ แต่หากเราไม่ตั้งใจให้ดีเราก็มองไม่เห็น ก็เหมือน outcome of life ของตัวเราหรือขององค์กร หากตั้งสติให้ดีๆก็เห็นความสำคัญได้ แต่หากปล่อยให้สติล่องลอยไปก็ไม่เห็น
ได้เคยอ่านคำสอนที่หลวงปู่ชา สุภัทโท สอนไว้ว่า
“เธอจงระวังความคิดของเธอเพราะจะทำให้กลายเป็นความประพฤติ จงระวังความประพฤติของเธอเพราะจะกลายเป็นความเคยชิน จงระวังความเคยชินของเธอเพราะจะกลายเป็นอุปนิสัย และจงระวังอุปนิสัยของเธอเพราะจะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของเธอตลอดไป”
ผมคิดว่า เข้ากันได้กับ outcome of life หรือผลสัมฤทธิ์ของชีวิต
เรา ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารและลูกน้องเพื่อนร่วมงาน มาช่วยกันลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบดีไหมครับ เพื่อผลสัมฤทธิ์ดีๆของตัวเราเองเป็นอันดับแรก และเป็นผลดีต่อองค์กรเป็นอันดับถัดไป เราได้ก่อน (win) องค์กรได้ทีหลัง (win) ทั้งคู่ เจ๋งไปเลย
เรา ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารและลูกน้องเพื่อนร่วมงาน มาช่วยกันลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบดีไหมครับ เพื่อผลสัมฤทธิ์ดีๆของตัวเราเองเป็นอันดับแรก และเป็นผลดีต่อองค์กรเป็นอันดับถัดไป เราได้ก่อน (win) องค์กรได้ทีหลัง (win) ทั้งคู่ เจ๋งไปเลย
1. แนะมหาวิทยาลัยรวมหัวสู้รับประชาคมอาเซียน
2. องค์กรที่ดี/เป็นพิษ/ยิ่งใหญ่
3. แรงดูดแรงผลักทางความคิด
จากFB:
ตอบลบWilai Noiyom
อ่าน outcome of life ของท่านอาจารย์ที่ลงในประกายรังสีแล้วค่ะ ได้แนวคิดการทำงานดีมากๆค่ะ จะขอนำไปใช้ในการทำงานค่ะ