วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รากเหง้ารังสีเทคนิค

(4,065รั้ง)
     วิชาชีพรังสีเทคนิคในประเทศไทย เกิดมานานมากกว่า 50 ปี โดยที่โรงเรียนรังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแห่งแรกที่ได้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิครุ่นแรกของประเทศไทย จำนวน 11 คน เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2510
คุณหมอสุพจน์ อ่างแก้ว ซึ่งท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดลท่านแรก เป็นผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งยวดต่อวิชาชีพรังสีเทคนิค ท่านเป็นรังสีแพทย์ และท่านได้กล่าวประโยคหนึ่งที่มีความหมายยิ่งต่อชาวรังสีเทคนิคทั้งหลายว่า

รังสีแพทย์จะก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าขาดนักรังสีเทคนิคที่ดีและสามารถ

นับจากนั้น วิชาชีพรังสีเทคนิคก็เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขามากขึ้นเรื่อยๆ สู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาในไทยยังมีการผลิตรังสีเทคนิคหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรีอีกจำนวนมากด้วยในตอนนั้น
บัณฑิตรังสีเทคนิครุ่น 1 ของไทย
ในเวลาต่อมา วิชาชีพรังสีเทคนิคมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวเราที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและนักรังสีเทคนิคอวุโสจำนวนหนึ่งในตอนนั้น ได้ช่วยกันผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญว่า เนื่องจากนักรังสีเทคนิคนั้นเป็นผู้ใช้รังสีกับมนุษย์ จึงจำเป็นต้องมีใบประกอบโรคศิลปะได้แล้ว เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องได้รับความพึงพอใจจากการบริการทางรังสีที่ปลอดภัยและมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนยิ่งดีขึ้น ชาวเราในตอนนั้นใช้เวลาผลักดันกันนานร่วม 15 ปีครับ ผมก็ได้มีโอกาสร่วมอยู่ในการผลักดันนั้น จนที่สุดแล้ว ในปี 2545 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะพ.ศ. 2542
ปลายปี 2547 คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ได้จัดให้ผู้สำเร็จการศึกษารังสีเทคนิคระดับปริญญาตรี ได้สอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย ที่ห้องประชุมใหญ่โรงพยาบาลราชวิถี  จำนวนผู้เข้าสอบตอนนั้นกว่าพันคน ต้องเรียกว่าล็อตใหญ่เลยทีเดียว ปัจจุบัน มีนักรังสีเทคนิคขึ้นทะเบียนร่วม 4,500 คนแล้ว
ตอนนี้พรฎ.กำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะฯ ปี 2545 ได้ยกเลิกแล้ว แต่เนื้อหาทั้งหมดของ พรฎ.นี้ถูกยกไปไว้ใน พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 และมีการปรับปรุงในเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรรมการวิชาชีพอีกเล็กน้อย
อยากชวนชาวเรามาลองนั่งวิเคราะห์กฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะกฏหมายเกี่ยวกับการประกอบโรคศิลปะ กล่าวคือ
ตาม พรบ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 เมื่อดูที่มาตรา 30 จะกล่าวไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประกอบโรคศิลปะ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 
     อันนี้ก็เข้าใจได้ว่า ใครที่ไม่มี License รังสีเทคนิคจะมาทำงานแบบที่นักรังสีเทคนิคทำไม่ได้ แต่มาตรานี้ก็มีข้อยกเว้นไว้ ประเด็นสำคัญคือการยกเว้นนี้โยงไปหลายข้อ มาดูข้อนี้ครับ มาตรา 30(5)
มาตรา 30(5) เขียนไว้ว่า บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
ดังนั้น กฎหมายก็ไม่ได้ปิดประตูตายว่าห้ามไม่ให้ใครที่ไม่มี License ในวิชาชีพนั้น ไปประกอบวิชาชีพนั้น คือก็ทำได้แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

     ถามว่า ที่ผ่านมา รัฐมนตรีได้มีการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องตรงๆกับมาตรา 30(5) บ้างไหม
คำตอบคือ มีครับ
ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขหลายท่าน ได้ออกระเบียบกระทรวงสาธรณสุขที่เกี่ยวข้องกับตามมาตรา 30(5) สำหรับวิชาชีพที่เป็นสภาวิชาชีพ เช่น แพทย์  ทันตแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด เป็นต้น 
เป็นระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นหรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ซึ่งในระเบียบดังกล่าว ส่วนใหญ่
จะพูดถึงการให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายประกอบวิชาชีพที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถกระทำได้บางส่วนภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สภาวิชาชีพนั้นๆกำหนด 
จะพูดถึงการให้บุคคลที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอื่นๆนั้น และคณะกรรมการสภาวิชาชีพนั้นๆรับรอง สามารถทำการประกอบวิชาชีพนั้นๆได้บางส่วน ตามขอบเขตที่สภานั้นๆกำหนดไว้เท่านั้น
     นอกจากมาตรา 30(5) แล้ว มาตรา 30(6) ก็น่าสนใจ โดยกล่าวว่า "บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด"
     พูดง่ายๆคือ การทำงานในโรงพยาบาลเอกชน มาตรา 30(6) ก็เปิดช่องไว้ให้คนที่ไม่มี License ในวิชาชีพนั้นๆ ประกอบวิชาชีพนั้นๆได้ โดยสามารถทำได้แค่บางอย่างตามที่รัฐมนตรีจะกำหนด ตัวอย่างวิชาชีพที่มีระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 30 (6) เช่น พยาบาล กายภาพบำบัด เป็นต้น

ที่ผมเกริ่นมายืดยาวแบบนี้ก็เพื่อให้ชาวเรา และผู้สนใจทั่วไปเห็นว่า

วิชาชีพรังสีเทคนิคของไทยเรานั้นมีรากเหง้าครับ มีที่มาที่ไป พูดแบบภาษาบ้านๆคือ "เป็นลูกมีพ่อมีแม่ครับ" ไม่ได้เกิดจากกระบอกไม่ไผ่
รังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่มีกฎหมายของไทยรับรอง ใครก็ตามที่จะประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคได้จะต้องมี License สาขารังสีเทคนิค จริงๆแล้วไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติ หมายความว่า การที่หน่วยงานหนึ่งสามารถใช้ใครก็ได้ที่ไม่จบปริญญาตรีรังสีเทคนิคและไม่มี License ทำงานรังสีเทคนิคได้ ขณะที่อีกหน่วยงานหนึ่งทำไม่ได้ และมีตัวอย่างถูกจับมีโทษทั้งจำทั้งปรับกันแล้ว แบบนี้เลือกปฏิบัติหรือไม่ 
วิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ชาวเราภาคภูมิใจใช่ไหมครับที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าในตัว แม้จะไม่ค่อยมีใครรู้จักชาวเรานัก ผมได้ยินมานานมากแล้วว่า "นักรังสีเทคนิคทำงานปิดทองหลังพระ" จริงไหม

ประเด็นเรื่องที่ผู้คนไม่ค่อยรู้จักรังสีเทคนิคนั้น ในระยะแรกๆจนถึงปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้จักหรือไม่รู้จักนักรังสีเทคนิค 
อย่าว่าแต่ประชาชนทั่วไปเลย มีเหตุการณ์หลายครั้งหลายคราที่พบว่า แม้แต่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ฯลฯ หรือผู้ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ หลายคนก็ยังไม่รู้จักนักรังสีเทคนิคดีพอ โดยไม่เข้าใจว่า

นักรังสีเทคนิคทำอะไร รับผิดชอบแค่ไหน
จำเป็นต้องมีนักรังสีเทคนิคด้วยหรือ
นักรังสีเทคนิคเป็นพวกที่มี License ด้วยหรือ
เป็นต้น

ซึ่งความไม่เข้าใจนั้น มันอาจทำให้เขาเหล่านั้นเมื่อจะพูดถึงรังสีเทคนิคแล้ว จึงอาจพูดจาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ ซึ่งผมคิดว่า ไม่ใช่เป็นความเสียหายหรือเป็นความผิดอะไรของเขาเหล่านั้นหรอก อาจเป็นเพราะ ชาวเรานักรังสีเทคนิคไม่ค่อยจะได้บอกกล่าว หรือไม่เคยไปบอก ไปเล่าให้เขารู้ หรือไม่มีโอกาสบอกพวกเขาเหล่านั้นให้เข้าใจในความมีและความเป็นนักรังสีเทคนิคก็เป็นได้ 

แต่สำหรับบางท่านที่มีหน้าที่รับผิดชอบในฐานะผู้บริหารองค์กร (เช่น โรงพยาบาล) นั้น เรียนด้วยความเคารพนะครับว่า น่าจะต้องมีความแตกต่างจากคนทั่วไป กล่าวคือ ควรอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักทีมงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทุกวิชาชีพเป็นอย่างดี ควรอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักนักรังสีเทคนิคเป็นอย่างดี และเข้าใจถึงความจำเป็นในการที่ต้องมีนักรังสีเทคนิค ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เป็นผู้ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการบั่นทอนกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชาเสียเอง เพราะมีสิ่งที่เรามุ่งหวังสูงสุดอย่างแท้จริงเหมือนกัน คือการบริการผู้ป่วยให้ดี หรือ Patient Focus นั่นเอง จริงไหมครับ 

Related Links:
1.ประวัติการสร้างวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งแรกในประเทศไทย
      2.ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นหรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น