วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

กำเนิดรังสีเทคนิค สปป.ลาว



(1,038 ครั้ง) 
เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาช่วงปลายปี 2548 ผมได้มีโอกาสเดินทางไปที่ College of Health Technology (CHT) ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อสอนนักศึกษารังสีเทคนิคของลาวรุ่นที่ 1 ในระหว่างเดือน ธันวาคม 2548 ถึงเดือนมกราคม 2549 รวมระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เป็นโครงการที่องค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุน แม้จะนานแล้วร่วม 5 ปี แต่มีเกล็ดเล็กๆน้อยๆน่าสนใจจะมาเล่าให้ฟังครับ ซึ่งผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นแบบ Story Telling มานานแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสครับ

ขอย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน ประมาณปี 2546 องค์การอนามัยโลก WHO ได้เชิญ อาจารย์ชวลิต วงษ์เอก ให้ไปช่วยสำรวจข้อมูลที่ประเทศลาว และช่วยทำหลักสูตรรังสีเทคนิคให้ อาจารย์ชวลิตเล่าให้ฟังว่า ต้องเดินทางไปตามแขวงต่างๆ เดินทางจากเวียงจันทร์ระยะทางไม่ไกลมาก แต่ถนนหนทางไม่ดี ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์นานมาก จึงต้องไปนอนค้างในแขวงที่จะสำรวจ โดยใช้เวียงจันทร์เป็นฐาน  ลำบากพอประมาณ ลาวปกครองเป็นแขวง มีทั้งหมด 18 แขวง ประชากรทั้งประเทศประมาณ 6 ล้านคน มีโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐบาลประมาณ ไม่ถึง 30 แห่ง ดังนั้นจำนวนนักรังสีเทคนิคที่ต้องการจึงไม่มากนัก หากจะสร้างนักรังสีเทคนิค ก็แค่ส่งนักศึกษามาเรียนที่ประเทศไทย ตามจำนวนที่ต้องการก็น่าจะดี อาจจะลงทุนไม่ต้องสูง เพราะประเทศไทยมีความพร้อม ทั้งเครื่องมือและอาจารย์ แต่รัฐบาลลาวต้องการให้มีการสอนในประเทศลาว จึงต้องมีการทำหลักสูตรให้เหมาะสมขึ้นในลาว เหตุการณ์นี้น่าจะคล้ายกับเมื่อ พ.ศ. 2505 ที่ WHO ส่ง Mr Ward จากประเทศอังกฤษมาสำรวจเมืองไทย และช่วยทำหลักสูตรรังสีเทคนิคของไทย ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว และก็เกิดเป็นรังสีเทคนิคไทยขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น กลับมาที่ลาวครับ อาจารย์ชวลิตเทียวไปเทียวมาประเทศลาวอยู่หลายครั้ง เพื่อสำรวจข้อมูลทางรังสีของลาวและทำหลักสูตรรังสีเทคนิค ที่ผมทราบเพราะ อาจารย์ชวลิตเป็นหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหิดล เมื่ออาจารย์ชวลิตไปลาว ผมซึ่งเป็นรองหัวหน้าภาคฯ ก็ต้องรักษาราชการแทน จึงพอทราบเรื่องนี้ดี ต้องถือว่าอาจารย์ชวลิตเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญมาก ในการก่อกำเนิดรังสีเทคนิคในลาว

เมื่อหลักสูตรรังสีเทคนิคเริ่มใช้ในลาวพ.ศ. 2548 ตอนปลาย องค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุนเงินทุน โดยที่ประเทศลาวได้จัดให้มีการเรียนการสอนที่ College of Health Technology (CHT) ปัญหาใหญ่ของ CHT คือ ขาดแคลนอาจารย์ผู้สอน CHT จึงจำเป็นต้องเชิญอาจารย์จากประเทศไทยไปช่วยสอน อาจารย์ชวลิต อาจารย์นภาพงษ์ และผม จึงต้องรับเชิญไปช่วยสอน
เจดีย์กลางเวียงจันทร์ มองจากหน้า CHT
เป็นความบังเอิญที่ผมต้องไปสอนที่ลาวเป็นคนแรก เกิดเรื่องตลกร้ายๆแบบหวาดเสียว คือที่ผมต้องไปสอนเป็นคนแรกเพราะอุบัติเหตุจริงๆ แต่ไม่ได้เกิดกับผมนะ มันเกิดกับอาจารย์ชวลิต จริงๆแล้วอาจารย์ชวลิตต้องไปสอนก่อนคนแรก ในฐานะครูใหญ่ของเรา (ขอเรียกแบบนี้แล้วกัน) แต่ไปไม่ได้ เพราะคืนก่อนเดินทางเกิดฝนตกหนัก ไฟฟ้าที่บ้านอาจารย์ชวลิตดับ ทำให้ถูกแมงป่องต่อยที่เท้าจนบวมมากเดินไม่ได้ อาจารย์ชวลิตจึงไม่สามารถเดินทางไปสอนได้ ก็เลยต้องปรับแผนกันใหม่ ผมเลยต้องไปเป็นคนแรกแบบไม่ได้เตรียมตัวเลย ดีแต่ว่ามีหนังสือเดินทางอยู่แล้ว จึงเดินทางได้เลย วีซ่าไม่ต้อง และยิ่งเป็นหนังสือเดินทางราชการด้วยแล้ว สามารถผ่านพิธีการเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติวัดไต ที่เวียนจันทร์ได้แบบไม่ยุ่งยากมากนัก เงินไทยใช้ในลาวได้เลยไม่ต้องแลกเป็นเงินกีบแล้วหอบไปจากประเทศไทย

CHT
ผมเดินทางจากสนามบินดอนเมืองตอนชาวตรู่ถึงสนามบินนานาชาติวัดไต (ขนาดสนามบินวัดไต รวมอาคารผู้โดยสาร ตอนนั้นน่าจะใกล้เคียงกับสนามบินขอนแก่นตอนนี้) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที อาจารย์อำไพเวียงไปรับที่สนามบินนานาชาติวัดไต พาไปส่งที่โรงแรม แล้วเริ่มงานที่ CHT ทันที ได้พบ ดร.ตาน้อย ผู้อำนวยการ CHTอาจารย์อำไพเวียง และอาจารย์เพชรลาวัลย์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ดูแลโปรแกรมรังสีเทคนิค ดร.ตาน้อย ทำพิธีผูกข้อมือให้ผมเพื่อความเป็นศิริมงคล ทีแรกผมก็ตื่นเต้นและนึกในใจว่า ลาวมีพิธีต้อนรับแขกจากแดนไกลที่น่าประทับใจมาก จากนั้น ดร.ตาน้อยกล่าวต้อนรับด้วยความยินดีที่ประเทศไทยส่งผมมาให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ท่านยังบอกว่า ที่ผูกข้อมือให้ผมนั้นเพราะผมมาได้จังหวะพอดีที่ CHT ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อปัดเป่ามารร้ายที่มาเอาชีวิตนักศึกษาของ CHT คือช่วงก่อนที่ผมจะไปถึงไม่กี่สัปดาห์ มีนักศึกษาของ CHT เสียชีวิตบ่อยมาก ก็เลยได้รู้ความลับในตอนนั้น สำหรับที่ทำการของโปรแกรมรังสีเทคนิค อยู่ชั้นสองของ CHT ห้องไม่ใหญ่มาก เป็นห้องที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ สะอาด พื้นปูด้วยเสื้อน้ำมัน มีโต๊ะทำงานประมาณ 5 ตัว เขาจัดให้ผมนั่ง 1 ตัว มีเครื่องพิมพ์ส่วนกลาง แต่ไม่สามารถเข้า Internet ได้ เรียกว่าไม่มี Internet ก็ได้ ส่วนของห้องเรียน เป็นห้องขนาดเล็ก นั่งเรียน 18 คนก็ดูแคบแล้ว ภายในห้องเรียนติดเครื่องปรับอากาศ มีเครื่อง Projector สามารถต่อกับ Notebook ฉายได้เลย มีกระดาน White Board ขนาดไม่ใหญ่มาก ทุกอย่างดูลงตัวดีครับสำหรับนักศึกษาจำนวนแค่ 18 คน ที่ CHT ใช้เป็นที่สอนแบบบรรยาย เมื่อต้องสอนภาคปฏิบัติเราไปเรียนกันที่โรงพยาบาลมโหสต
ท้ายรถตู้คือโรงแรมไทปัน

อากาศที่เวียงจันทร์ดีมากเพราะกำลังอยู่ในหน้าหนาว แต่ฝุ่นตามถนนเยอะไปหน่อย รถลาไม่ค่อยมากเหมือนกรุงเทพฯ มอเตอร์ไซด์ค่อนข้างเยอะ และขับเรียบร้อยมาก ขับช้า ได้ยินว่ากฎหมายจราจรแรงมาก ตอนแรกไม่มีข้อมูลแนะนำเลย ผมจึงเลือกพักที่โรงแรมไทปัน แพงเหมือนกันคืนละ 50 เหรียญ US (ร่วม 2,000 บาท) โรงแรมไทปันที่ผมไปพัก ห่างจาก CHT พอสมควร ถ้าเดินจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งผมเดินไปสอนทุกวัน ต่อมาเปลี่ยนไปพักโรงแรมล้านช้าง คิดคืนละ 28 เหรียญ US และอยู่ใกล้ CHT มากกว่าโรงแรมไทปัน ที่นี่อาหารเช้ายอดเยี่ยมมาก มีอาหารญี่ปุ่นด้วย จากห้องพักมองเห็นบรรยากาศแม่น้ำโขงอย่างชัดแจ๋ว ดีขึ้นเยอะเลยครับ ในห้องพักของโรงแรมทั้งสองที่มีโทรทัศน์ให้ดู มีช่องของลาว 2 ช่อง ไม่ค่อยมีรายการที่ผมชอบ ส่วนใหญ่ก็เลยดูแต่ช่องของไทย ซึ่งรับสัญญาณได้ชัดเจนมาก คุยกับอาจารย์ที่ CHT ท่านก็บอกว่า คนลาวที่เวียงจันทร์ดูแต่โทรทัศน์ไทย เพราะมีรายการที่ attractive กว่าเยอะ และคนลาวไม่มีปัญหาเรื่องการฟังภาษาไทย แต่ผมมีปัญหาการฟังภาษาลาวมากในช่วงแรกๆ เช่น ความเร็วก็พูดว่าความไว เครื่องเอกซเรย์ก็พูดว่าเครื่องจักรเอกซเรย์ Infinity ซึ่งแปลว่าอนันต์ก็พูดว่าอสงไขย เป็นต้น

โรงพยาบาลมโหสต ที่เรียนภาคปฏิบัติ

ข้อมูลทั่วไปของนักศึกษาลาวคือ รุ่นนี้หรือรุ่นแรกมี 18 คนถูกคัดเลือกมาจาก 18 แขวง เพราะลาวแบ่งการปกครองเป็นแขวง แต่มาไม่ครบทุกแขวง เพราะแขวงนครหลวงหรือเวียงจันทร์แขวงเดียวมา 6 คน เลยกินที่นั่งเรียนของแขวงอื่นไป (เหมือนๆประเทศไทยไหมหนอ??) วิธีการคัดเลือกผมไม่ทราบว่ามีเกณฑ์อย่างไร แต่เท่าที่คุยกับนักศึกษาก็บอกตรงกันว่าถูกส่งมา มีผู้ชาย 16 คนและผู้หญิง 2 คน ทุกคนไม่เคยเรียนรังสีเทคนิคมาก่อน แต่ทำงานรังสีเทคนิคมาแล้ว มีอายุสูงสุด 48 ปี อายุน้อยสุดผมจำไม่ได้แต่ดูเหมือนจะเกิน 30 ปีเล็กน้อย เนื่องจากวิทยาลัยฯหรือ CHT อยู่ที่เวียงจันทร์ ดังนั้นทุกคนที่มาจากแขวงอื่นก็ต้องมาเช่าบ้านพัก เรียน 3 ปี จบแล้วได้ diploma กลับไปทำงานก็จะได้ปรับเงินเดือนเพิ่ม 2 ขั้น หรือประมาณ 3,000 กีบต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8-10 บาท เวลานั้นนักศึกษาเหล่านี้ก่อนส่งมาเรียนจะมีเงินเดือนคิดเป็นเงินไทยเดือนละประมาณ 1,800 บาท อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคงได้เห็น รอยยิ้มและแววตาที่มีความสุขของนักศึกษาเหล่านี้


นักศึกษาตั้งใจเรียนดีมาก และมีสัมมาคาระดีเหลือเกิน นักศึกษาของ CHT ผู้ชายแต่งตัวเรียบร้อยเหมือนไทยไม่มีสัญลักษณ์อะไรที่บ่งบอกว่าเป็นนักศึกษา ส่วนผู้หญิงแต่งตัวเรียบร้อยมาก นุ่งผ้าสิ่นสวยงาม (คนทั่วไปมากกว่า 90% แต่งตัวแบบนี้) คาดเอวด้วยเข็มขัดโลหะ บางคนมีฐานะหน่อยก็ใช้เข็มขัดนาค เงิน แต่ผมมองไม่เห็นมีใครคาดเข็มขัดทองครับ สวมเสื้อสีขาว จะมีเรียน 6 หลักสูตรทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำประมาณ 1,000 คน ที่จำได้มี รังสีเทคนิค เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ ฯลฯ นักศึกษาทุกคนเมื่อเห็นผมเดินเข้าไปใน CHT จะยกมือไหว้ทำความเคารพ ไม่เลือกว่าหลักสูตรไหน น่ารักมาก สำหรับนักศึกษารังสีเทคนิค 18 คนนั้นพื้นฐานไม่ค่อยดีเลย ดังนั้นที่ผมเตรียมไปสอน Radiation Physics, QC แบบที่คิดว่าจัดเฉพาะนักศึกษาลาวแล้ว น่าจะเหมาะสมแล้ว ยังต้องปรับใหม่หมดอย่างปัจจุบันทันด่วน เวลาสอนก็เข้าถึงตัวทุกคน และให้ทำแบบฝึกหัดมากขึ้น บางคนพอผมสอนไปมากๆก็ต้องขอพัก ออกอาการยิ้มและหัวเราะแบบแปลกๆแล้วพูดตลกๆว่า "อะตอมของข่อยซิแตกแล้วเด๊อครับอาจารย์" นักศึกษาทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ สิ่งที่ได้เรียนนี้พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย และคิดไม่ถึงว่าจะมีเรื่องให้เรียนมากมายขนาดนี้ ทั้งที่มันเป็นแค่กดปุ่มถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยเท่านั้น และพวกเขาก็ทำมาแล้ว มันไม่น่าจะมีอะไรให้ได้เรียนมากมายนัก ผมเลยได้โอกาสทำความเข้าใจกับนักศึกษาลาว ให้พวกเขามองเห็นชัดยิ่งขึ้นว่า การได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับพื้นฐานขึ้นไปนั้น ในที่สุดจะทำให้เราสามารถทำอะไรได้มากขึ้น ถูกต้อง และมั่นใจมากขึ้น ผมสอนภาคทฤษฎีที่ CHT และสอนภาคปฏิบัติการควบคุมคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลมโหสถ โรงพยาบาลใหญ่ที่สุดในเวียงจันทร์และมี CT ด้วย ได้มีโอกาสพบคุณหมอโอรถ ซึ่งเป็นรังสีแพทย์ที่นั่น ท่านอำนวยความสะดวกเต็มที่ แต่มีโอกาสคุยกันได้ไม่นาน

อ.ชวลิต-ดร.ตาน้อย-อ.เพชรลาวัลย์

การไปคราวนี้ เราได้มอบหนังสือและชุดอุปกรณ์การควบคุมคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์ซึ่งเขียนและทำเองโดยอาจารย์รังสีเทคนิคมหิดลให้กับ CHT หนังสือได้แก่ หนังสือการควบคุมคุณภาพของกระบวนการถ่ายภาพเอกซเรย์ และเอกซเรย์คอมพิวเต็ดโทโมกราฟฟี่ ชุดตรวจสอบคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์ได้แก่ Exposure time, Beam alignment, Collimator alignment, mAs reciprocity, Screen-film contact, และ Grid alignment 
วันแรกๆ มีนักศึกษาลาวคนหนึ่ง จำชื่อไม่ได้แล้วครับ แต่ถ้าเป็นผู้ชายส่วนมากชื่อจะขึ้นต้นด้วยท้าว พาผมไปแนะนำจนทั่ว CHT และพาไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงอาหาร ของกระทรวงศึกษาธิการของลาว ซึ่งอยู่ใกล้กับ CHT อาหารเป็นข้าวราดแกงแบบบ้านเรา เน้นผัก อร่อยมาก ถูกปากทุกอย่าง ราคาจานละ 5,000-7,000 กีบ (20-25 บาท) พอวันต่อๆไปนักศึกษาคนนั้นหายหน้าไปเลย มารู้ทีหลังคือ นักศึกษาส่วนใหญ่เตรียมอาหารกลางวันมาจากบ้าน มักเป็นข้าวเหนียว จิ้มกับแจ่ว พอพักเที่ยงก็นั่งล้อมวงกันหน้าห้องเรียนกินกันอร่อยเลย ผมถามว่าทำไมไม่ไปซื้ออาหารที่โรงอาหารรับประทาน คำตอบคือ "มันแพงเจ้า"
วันหนึ่ง ผู้อำนวยการ CHT ดร.ตาน้อย พาผมไปเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นการต้อนรับ อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของ CHT ไปกันร่วม 10 คน ในใจผมคิดว่า วันนี้คงได้ลิ้มรสอาหารลาวชุดใหญ่แน่ๆ ปรากฏว่า ดร.ตาน้อย พาไปรับประทาน เฝอ ครับ มันคือก๋วยเตี๋ยวนี่เอง เหมือนที่เมืองไทยบ้านเรา ที่ลาวชุดละ 60 บาท เป็นก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ประกอบด้วย ก๋วยเตี๋ยวน้ำ 1 ชาม เนื้อเปื่อย 1 จานไม่มีน้ำซุบ หั่นเป็นชิ้นแบบลูกเต๋าขนาดพอดีหนึ่งคำ ผักสด 1 กะละมังใหญ่ๆ มีผักสารพัดอย่างครับ มื้อนี้สุดยอดจริงๆ ไม่แปลกใจเลยที่มีคนมารับประทานแน่นร้าน คนลาวนิยมกินผักครับ จึงไม่ค่อยได้เห็นคนลาวอ้วนแบบหลายคนในเมืองไทยของเรา โดยเฉพาะคนใกล้ตัวที่ทำงาน
อีกตอนหนึ่งสำคัญมากไม่เล่าไมได้ คือ เวลาเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะ หรือทำธุระส่วนตัวที่ CHT เป็นช่วงเวลาที่ลุ้นที่สุดสำหรับผม เพราะห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวม คือทั้งนักศึกษาหญิง-ชายใช้ห้องเดียวกัน คงเพราะต้องการประหยัดหรืองบประมาณไม่พอก็ไม่ทราบได้ครับ บางครั้งผมกำลังยืนปัสสาวะที่โถ ได้ยินเสียงมีคนเดินเข้ามาด้านหลัง หันไปมองปรากฏว่าเป็นนักศึกษาหญิงหน้าตาดี ไม่ใช่นักศึกษารังสีเทคนิค ซึ่งแกก็ทำธุระของแกไปไม่สนใจว่าจะมีใครอยู่บ้าง แล้วยังหันมายิ้มให้เราแบบอมยิ้มอีก กว่าที่ผมจะชินระบบนี้ก็ใช้เวลาอยู่หลายวันครับ แต่ที่โรงแรมทั้งสองที่ ที่ผมไปพัก ห้องน้ำแยกชาย-หญิง ไม่รวมกัน...เฮ้อ
ดวงอาทิตย์กำลังตกฝั่งหนองคาย

     ตอนเย็นเกือบทุกวัน ผมใช้เวลาไปเดินเล่นริมแม่น้ำโขง จากหน้าโรงแรม เดินไปเรื่อยๆ อากาศเย็นครับประมาณ 17 องศา (ตอนเช้าประมาณ 8-9 องศา) ได้เห็นผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ออกมาเดินเล่นคึกคัก บ้างก็เต้นแอโรบิค บางคนเล่นเครื่องบินบังคับด้วยวิทยุ ให้มันบินไปกลางแม่น้ำโขง แล้วบังคับผาดโผนกลับมาที่ฝั่ง ผู้คนเชียร์กันสนุกสนาน ลุ้นว่าจะตกแม่น้ำโขงหรือไม่ บางวันมีนักเล่นกายกรรมน่าจะมาจากแถวยุโรปมาซ้อมด้วยเพิ่มสีสรรค์ได้ดีทีเดียว ตลอดแนวริมโขงยาวเป็นกิโลเมตร มีร้านขายอาหารนำโต๊ะออกมาตั้งหลายร้าน เมื่อเวลาพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน ก็เป็นเวลาหิวพอดี ไม่ต้องเลือกร้านให้วุ่นวาย ว่างก็นั่งเลย แล้วสั่งอาหาร บางวันก็ปลานิลย่างเกลือ บางวันก็ข้าวผัดกระเพราควาย (เนื้อ) มีให้เลือกเยอะครับ ก็สลับไปทุกวัน รับประทานพร้อมเบียร์ลาวขวดละ 28 บาท (อันนี้ไม่อยากเล่าเลย ขอผ่านไปแล้วกันครับ) นั่งรับประทานข้าวไป มองพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าเมืองไทยทางฝั่งหนองคาย สวยงามครับ แต่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่บรรยากาศต่างๆทำให้คิดถึงบ้านมาก จึงงัดโทรศัพท์ขึ้นมาโทรกลับบ้านโดยใช้เครือข่ายของไทยครับ ได้พูดคุยกับภรรยาและลูก ก็คลายความคิดถึงลงได้บ้าง



เมื่อสอนจนครบถ้วนแล้ว ปิดท้ายด้วยการสอบ ดูนักศึกษาทีไหนๆก็เครียดเหมือนกันหมดในเวลาสอบ สอบเสร็จ ตรวจข้อสอบ ส่งคะแนนสอบให้ CHT ทันที ผมเห็นคะแนนสอบแล้วก็พอใจครับ ไม่เลวร้ายมาก ท้ายสุด ก่อนจากกันเพื่อลากลับประเทศไทยนักศึกษามอบของที่ระลึกให้ผมกลับมา เป็นรูปพระธาตุหลวง ทำด้วยแผ่นโลหะใส่กรอบ สวยงามครับ นักศึกษาบอกว่าให้จากใจ ซึ้งมากครับ และอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูกที่ได้ทำสิ่งนี้ ไม่รู้สึกเหนื่อยและย่อท้อเลย ผมยังจำ รอยยิ้ม แววตา รวมทั้งเสียงหัวเราะ และคำพูดบางคำที่แซวผมเป็นภาษาไทยชนิดชัดเจนมากได้จนทุกวันนี้......สบายดี
จำนวนผู้อ่านบทความนี้ 1,038 (8มีค2554-3กย2556) 

1 ความคิดเห็น:

  1. เรียน ท่านอาจารย์มานัส ครับ
    อาจารย์สบายดีนะครับ
    ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่ส่งบทความดีๆมาให้อ่าน อ่านแล้วก็สนุก ได้ความรู้ครับผมยังไม่เคยไปเมืองลาวเลยครับ ฟังอาจารย์เล่า น่าจะสงบ สบาย ผู้คน อากาศน่าจะดีอยู่มากรังสีเทคนิคลาว ได้อาจารย์ทั้งสามท่านวางรากฐานไว้ดีแต่ต้น น่าจะไปได้ดี.........
    รังสีเทคนิคไทย ไม่ทราบว่าวางรากฐานอย่างไร ตอนนี้ดูไม่น่ารักเท่าไหร่นะครับ
    อนุชิต สมหาญวงค์ / ระนอง

    ตอบลบ