วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง


(210ครั้ง)
     มีท่านผู้รู้กล่าวไว้ทำนองว่า 
การพูดหรือการสื่อสารให้คนฟังหรือคนรับสารรู้และเข้าใจอย่างที่เราต้องการ ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่คนฟัง ไม่ใช่อยู่ที่คนพูด” 
ผมได้ยินเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. 2536 ตอนไปเป็นนักศึกษาหลักสูตรเตรียมผู้บริหารรัฐกิจ (หลักสูตร 3 เดือน) ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีอาจารย์ระดับเทพของประเทศในด้าน บริหาร การปกครอง การเงินการคลัง กฎหมาย จิตวิทยา ฯลฯ ไม่ต่ำกว่า 20 ท่านมาสอน อาจารย์ท่านหนึ่งพูดไว้ตามที่กล่าวข้างต้น แรกๆที่ได้ฟังรู้สึกงงๆครับ และใจก็คัดค้านว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ฟังจะสำคัญที่สุด มันน่าจะเป็นผู้พูดที่สำคัญที่สุด เพราะ ถ้าผู้พูดเตรียมตัวมาอย่างดีก็ต้องพูดให้คนฟังรู้และเข้าใจได้ แล้วผมก็แสดงความเห็นทำนองโต้แย้งให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ท่านได้กรุณาขยายความว่า ถ้าคนฟังหรือคนรับสารไม่สนใจ ต่อให้เตรียมตัวดีอย่างไรเขาก็จะมีอาการ ได้ยินแต่ไม่ฟัง หรือ ฟังไปงั้นๆแล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างให้พวกเราได้ทำความเข้าใจเรื่องนี้ อาจารย์เน้นว่าก่อนพูดต้อง ศึกษาคนฟังหรือคนรับสารให้ดี
     เวลาผ่านไป ด้วยลักษณะงานของผมคือ ต้องพูด ต้องสอน ต้องวิจัย ต้องโน่นนี่นั่นเยอะมาก จึงได้มีโอกาสได้ใช้แนวทางที่อาจารย์แนะนำไว้ข้างต้นเป็นเวลาร่วม 20 ปี ดังนั้น ในเวลาที่พูดคุยกัน lecture หรือพูดในที่ประชุมทุกที่ ผมสังเกตเห็นว่า...คนร่วมวงสนทนา คนฟัง มีอาการตอบสนองต่างกันหลายแบบ น่าจะสรุปได้ 5 แบบ คือ
A)…บางคนได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง (ignoring) ... ประเภทนี้บอดสนิทจะไม่รู้เรื่องในสิ่งที่พูดเลย ไม่รู้ว่าผู้พูดพูดเรื่องอะไรด้วยซ้ำ
B)…บางคนเกรงใจเลยแกล้งทำเป็นฟังไปงั้นๆ (pretending)...ประเภทนี้มีเยอะครับ เป็นประเภทพอจะรู้ว่าพูดเรื่องอะไร แต่อย่าถามรายละเอียดที่พูด เพราะเขาจะตอบไม่ได้ คือไม่รู้รายละเอียดของเรื่องที่พูด เค้าฟังแบบรักษามารยาท
C)…บางคนฟังมั่งไม่ฟังมั่ง คือเลือกฟังเฉพาะที่อยากได้ยิน (selective listening)...ประเภทนี้มีไม่น้อยเช่นกัน เป็นประเภทรู้ว่าพูดเรื่องอะไร แต่รู้รายละเอียดไม่ครบถ้วน เป็นความรู้แบบ ครึ่งๆกลางๆ เพราะเลือกฟัง
D)…บางคนตั้งใจฟังมากและฟังด้วยสมอง (attentive listening)...ประเภทนี้ฟังรู้เรื่องครบถ้วนและคิดตาม เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
E)…บางคนฟังแบบว่าอยากเข้าใจความรู้สึก คือฟังด้วยหัวใจ (empathic listening)...ประเภทนี้ฟังรู้เรื่องครบถ้วน คิดตาม เข้าใจเรื่อง และเข้าถึงความรู้สึกของผู้พูด
เมื่อก่อน ไม่ว่าเวทีไหน บรรยาย หรือพูดในที่ประชุม ผมเคยคิดจริงจังแบบซีเรียสว่า
อะไรกัน พูดชัดเจนขนาดนี้ยังไม่ get”
คือคนพูดนะ get แต่คนฟังไม่ get คนฟังที่ไม่ get ก็ยังดีกว่าคนฟังที่ไม่ get แแต่แสดงการโต้แย้งแบบเข้าป่า-ออกทะเล....เมื่อค่อยๆพิจารณาไปเรื่อยตามแนวทางนี้..จึงสันนิษฐานว่า คนฟังหรือคนรับสารอาจตกอยู่ในข้อ A,B และ C ก็ได้ …..ดังนั้น เดี๋ยวนี้ผมจึงมองเห็นชัดเจนขึ้นว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา
โดยทั่วไป การพูด-การฟัง การสื่อสาร เป็นเรื่องสำคัญ
ที่ทำให้ผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจกันก็ได้ ที่ทำให้เกิดปัญหากันก็ได้ แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา เช่นตัวอย่างการทะเลาะกันสมัยพุทธกาลระหว่างพระวินัยธรกับพระธรรมกถึกที่เคยเล่าไปแล้ว
หรือ ทำให้ผู้ฟังที่เป็นแบบ A,B หรือ C เกิดความรู้แบบ ครึ่งๆกลางๆถ้าผู้ฟังเป็นแบบนี้ แล้วใช้ความรู้นั้นไปแก้ปัญหา อะไรจะเกิดขึ้น?
ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า
"ความรู้ครึ่งๆกลางๆ ทำความเสียหายให้มากกว่าความไม่รู้ มิใช่เสียหายเพียงครึ่งเดียว"
เช่น แม่ลูกอ่อนคนหนึ่งตกใจมาก เมื่อลูกกลืนเหรียญทองแดงแล้วติดคอ ขณะกำลังตกใจ แม่เคยรู้มาว่าน้ำกรดสามารถกัดเหรียญทองแดงได้ แม่จึงรีบไปเอาน้ำกรดกรอกใส่ปากลูกเพื่อจะรีบช่วยลูก แล้วเหรียญทองแดงก็หลุดจากคอ แต่!! น้ำกรดก็ทำอันตรายกับอวัยวะของเด็กอย่างร้ายแรงเช่นกัน
เพราะอะไร?แม่จึงไม่รู้ข้อเสียร้ายแรงข้อนี้ เพราะมีความรู้แบบ ครึ่งๆ กลางๆ และในเวลานั้น ไม่รู้ตัว ขาดสติ ก็เลยเกิดความเสียหายใหญ่หลวง   
     จึงขอเชิญชวนชาวเรา ที่อยู่ในสภาวะ 
A,B,C ย้ายมาเป็น D หรือ E
กันดีกว่า และหากชาวเราบังเอิญรู้อะไรแบบ "ครึ่งๆกลางๆ" ก็ควรอย่างยิ่งที่จะรู้ตัวเองและไม่ขาดสติครับ และหากต้องการสลายความรู้แบบ "ครึ่งๆกลางๆ" ก็ควรเข้าถึงความรู้ที่ถูก ตรง เป็นความจริง แล้วทำความเข้าใจให้ได้

Related Links:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น