วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

QC เอกซเรย์จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล


ปฐมบท QC เอกซเรย์ในไทย

ประมาณปี 2535 หากถามว่า "ถ้าจะ QC กระบวนการสร้างภาพเอกซเรย์จะทำอย่างไร" คำตอบคือ "สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานใดให้คำตอบได้" พูดง่ายๆคือ ไม่รู้จะทำอย่างไร 

ทีมงานอาจารย์จากภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล ในตอนน้้นจึงให้ความสนใจเรื่องนี้ และได้เริ่มค้นคว้าข้อมูลและทำการวิจัยให้เกิดองค์ความรู้และสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ทำการควบคุมคุณภาพของการสร้างภาพเอกซเรย์ ซึ่งเป็นระบบใช้ฟิล์มและสกรีนร่วมกัน ตัวอย่างงานวิจัยและหนังสือที่เขียนในยุคนั้น

    งานวิจัย:
     (1) Mongkolsuk M, Suriyachaiyakorn C, Dhanarun M, Wongse-ek C. Checking diagnostic x-ray machine quality of state hospitals Bangkok Metropolitant. Thai J Radiological Tech 1995;20(3):81-92.
     (2) Suriyachaiyakorn C, Wongse-ek C, Mongkolsuk M, Dhanarun M,.A custom built grid alignment test tool. Thai J Radiological Tech 1996;21(2):39-42.
     (3) Dhanarun M, Suriyachaiyakorn C, Wongse-ek C. Mongkolsuk M. A Custom-built Collimator and beam alignment test tools.Thai J Radiological Tech 1997;22(2):31-38
     (4) Wongse-ek C, Dhanarun M, Suriyachaiyakorn C, Mongkolsuk M, Sricome P, Suibjuntara J. Evaluation of radiographic film viewing box luminance and uniformity of brightness.Thai J Radiological Tech 1997;22(3):55-60.
     หนังสือ: 
     จิตต์ชัย สุริยะไชยากรมานัส มงคลสุขมาลินี ธนารุณ,ชวลิต วงษ์เอก.การควบคุมคุณภาพของภาพเอกซเรย์. กรุงเทพฯบริษัท พี.เอ.ลิฟวิ่งจำกัด; 2538 

ทีมงานอาจารย์รังสีมหิดล ค้นคว้าจนได้องค์ความรู้ และจัดสร้างเครื่องมือ ได้แก่ spinning top, collimator and beam alignment test tool, Al step wedge, grid alignment test tool, film-screen contact test tool เป็นต้น  กล่าวคือ สามารถทำการ QC การจัดตัวของลำเอกซเรย์ การจัดตัวของกริด การตรวจความคงตัวของ mA การตรวจความแนบชิดของฟิล์มและสกรีน กระบวนการล้างฟิล์ม ฯลฯ จน พ.ศ 2538 นำไปสู่การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในปี 2538 เป็นครั้งแรกของประเทศไทยเรื่อง "การควบคุมคุณภาพของการถ่ายภาพเอกซเรย์ รุ่นที่ 1" ที่เก็บค่าลงทะเบียน 6,500 บาท ซึ่งแพงมากในตอนนั้น เนื่องจากเราแจกเครื่องมือให้ผู้เข้าอบรมเพื่อนำกลับไปทำ QC ได้เลย มีนักรังสีเทคนิคทั่วประเทศ รังสีแทย์ และวิศวกร เข้าร่วมอบรมในรุ่นแรก จากนั้นได้มีการจัดอบรมมาอย่างต่อเนื่องรวม 12 รุ่น มีผู้เข้าอบรมรวมทั้งสิ้นประมาณ 500 คน กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ในภาพรวมแล้ว เป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางรังสีเทคนิค และยังนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรรังสีเทนิคทั่วประเทศ ที่มีการบรรจุเรื่องการควบคุมคุณภาพของภาพเอกซเรย์ให้เข้มข้นขึ้น
ผู้สำเร็จการอบรม การควบคุมคุณภาพของการถ่ายภาพเอกซเรย์รุ่นที่ 1 เมื่อ 29 มิถุนายน 2538
คลื่นดิจิทัลมาแรง แอนะล็อกเดี้ยง

อย่างไรก็ตาม ประมาณปี 2527 เค้าลางของดิจิทัลในการถ่ายภาพเอกซเรย์เริ่มขึ้นเมื่อมีรายงานการวิจัยของนักวิจัยญี่ปุ่นเรื่อง Computed radiography utilizingscanning laser stimulated luminescence คือการใช้ CR ที่เรารู้จักกันดี ในตอนนั้นเครื่อง CR ใหญ่เทอะทะมากและราคาแพง จนกระทั่งเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทั้ง CR และ DR จึงเป็นคลื่นที่โถมเข้าใส่นักรังสีเทคนิครุ่นแอนะล็อกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิด disruption ขึ้น สำหรับในประเทศไทยใช้ระบบดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่แล้ว 

วิกฤติคือโอกาส

ในขณะที่มีแนวโน้มคลื่นดิจิทัลจะถาโถมเข้าหาการถ่ายภาพเอกซเรย์ แต่ QC ของกระบวนการถ่ายภาพเอกซเรย์ก็ต้องดำเนินการต่อไป ดังนั้น ผมจึงเตั้งคำถามขึ้นในตอนนั้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วว่า 

"การทำ QC ของกระบวนการถ่ายภาพเอกซเรย์ที่ต้องใช้ฟิล์มเอกซเรย์เพื่อทำการตรวจสอบสามารถใช้ CR หรือ DR มาทดแทนได้หรือไม่?" 

โดยไม่รีรอ เรื่องนี้ผมจึงกำหนดให้เป็นหัวข้อวิจัยทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยพิจารณาหลายมิติ เช่น ที่กล่าวแล้วว่า CR หรือ DR ใช้แทนฟลิ์มเอกซเรย์ได้หรือไม่ ในแง่ของเศรษฐศาตร์จะเป็นอย่างไร และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นเช่นไร ตัวอย่างบทความวิจัยที่เป็นผลงานของคนไทยได้แก่

บทความวิจัยที่ใช้ CR เพื่อการตรวจสอบลำเอกซเรย์ ตีพิมพ์ในวารสารรังสีเทคนิคเมื่อพ.ศ. 2550
บทความวิจัยที่มีมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ตีพิมพ์ใน จพสท เมื่อพ.ศ. 2552 

บทความวิจัยล่าสุด ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Applied Clinical Medical Physics (JACMP) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562

ในรายงานวิจัยล่าสุดนี้ เป็นการนำเสนอผลเปรียบเทียบระหว่างการใช้ฟิล์มเอกซเรย์และ CR เพื่อตรวจสอบลำเอกซเรย์ ขนาดของโฟคอลสปอต และความคงตัวของ mA ซึงสรุปว่าใช้ CR แทนฟิล์มเอกซเรย์ได้

ก้าวเดินต่อไปคืออะไร

การทำ QC กระบวนการถ่ายภาพเอกซเรย์ยังคงดำเนินต่อไปในบริบทของนักรังสีเทคนิคที่กำหนดในสมรรถนะของวิชาชีพ เมื่อก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลก็จะมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างสนุกอีกมากมาย รายงานผลงานวิจัยที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงองค์ความรู้เชิงลึก ตั้งแต่ยุคการใช้ฟิล์มมาสู่การใช้ดิจิทัล ที่อ่านแล้วอาจงงๆไม่ค่อยสนุก แนวคิดที่พยายามจะใช้ดิจิทัลที่เราต้องใช้งานในการถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นประจำทุกวันอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ซึ่งต้องสังเคราะห์ให้เหมาะสมกับในทางปฏิบัติงานที่ทำเป็นประจำ เป็นการเพิ่มคุณค่าให้ชาวเรา ชาวรังสีเทคนิค ในอีกส่วนหนึ่งเล็กๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น