เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ได้เก็บรายละเอียดจากการเสวนา เมื่อคราวที่ผมได้มีโอกาสไปเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายเรื่อง "นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ" ในการประชุม 9th HA National Forum"องค์กรที่มีชีวิต-Living Organization" เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
องค์กรกับองค์การ
บางคนถามแบบตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรและองค์การเหมือนกันหรือไม่ คำตอบคือไม่เหมือนกันทีเดียวนัก คำว่าองค์การ (มาจากคำว่า Organization) ฟังดูน่าจะมีองค์ประกอบที่ใหญ่โตมโหราฬกว่าองค์กร เป็นศูนย์รวมของกิจการ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงานเดียวกัน เช่น องค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศต่างๆจำนวนมาก คำว่าองค์กร (หรือ Organ) เป็นส่วนประกอบย่อยของหน่วยงานใหญ่ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กัน หรือขึ้นต่อกันและกัน เอาเถอะ เรียกอย่างไรก็ตาม ก็ใช้คำว่าองค์กรที่มีชีวิต-Living Organization แล้วกัน
องค์กรที่มีชีวิตเป็นอย่างไร
คำว่า "มีชีวิต" ฟังดูไม่น่าจะมีปัญหาที่เข้าใจยาก ถ้าพูดถึงสิ่งมีชีวิต ชาวเราคงทราบได้ทันที่ว่า สิ่งนั้นจะต้องมีสมบัติของสิ่งมีชีวิต เช่น กิน ขับถ่าย เจริญเติบโต สืบพันธุ์ เป็นต้น แต่เมื่อเป็นองค์กรที่มีชีวิต มันจะเหมือนกับสิ่งมีชีวิตหรือไม่ วันนั้นเราได้ข้อสรุปว่า องค์กรที่มีชีวิตควรมีหลักพื้นฐานในเชิงความคิดที่สำคัญดังนี้
องค์กรมีชีวิตหรือไม่ อยู่ที่เรานักรังสีเทคนิคมืออาชีพนี่แหละ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชาวเราก็เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กร ชาวเราสามารถทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและถูกต้อง หรือเสื่อมถอย หมดความขลังลงไป คือเป็นไปได้ทั้งนั้นจากการกระทำของชาวเรา
องค์กรที่มีชีวิตควรมีการปรับตัวอยู่เสมอ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตในทุกระดับ คือ มีการปรับตัวอยู่เสมอ หากสิ่งมีชีวิตหยุดการปรับตัว มันจะตายหรือสลายตัวไป ความมีชีวิตก็จะหมดไป ชาวเราซึ่งเป็นส่วนขององค์กร ไม่ร่วมคุณสมบัติเช่นนี้ ชาวเราก็จะช่วยทำให้องค์กรเสื่อมลงและตายในที่สุด
การสื่อสารแบบมีชีวิต คือการสื่อสารที่เข้าใจง่ายและเป็นมิตร หากการสื่อสารที่ใช้ในองค์กรเต็มไปด้วยความมุ่งร้ายต่อกัน แฝงไว้ด้วยกระแสแห่งการฟาดฟันกัน รับรองได้ว่าพังครับ องค์กรตายแน่
มนุษย์มีธรรมชาติที่สำคัญคือไม่ชอบการบังคับ อาจกล่าวได้ว่า ที่ใดก็ตามที่มีการบังคับที่นั้นจะมีการต่อต้าน เพราะการทำงานตามที่ถูกบังคับให้ทำนั้น จะเป็นการทำงานไปอย่างนั้นเอง ทำไปเพียงเพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ถูกว่าได้ โดยไม่คิดว่าได้ทำจนดีจนสุดความสามารถของตัวเอง สักแต่ทำ ไม่ได้ทำด้วยใจ หากเป็นเช่นนี้ คงไม่มีชีวิตสำหรับองค์กรนั้นแน่ๆ
คงไม่มีใครอยากเห็น ชาวรังสีเทคนิคหรือรังสีการแพทย์ ที่เหลืออยู่ในองค์กรกลายเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีเพียงสมบัติของสิ่งมีชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มีสภาพที่หมดไฟและขาดขวัญกำลังใจ และเป็นตัวถ่วงองค์กรให้เสื่อมถอยลงไป อยากแสดงความเห็นฝากไปถึงผู้นำองค์กรทั้งหลายด้วยความเคารพครับ ผู้นำองค์กรต้องนำความมีชีวิตเข้ามาสู่องค์กรอย่างเลี่ยงไม่ได้ งานของผู้นำองค์กร คงไม่น่าจะเรียบง่ายเพียงแค่การกำหนดตัวชี้วัดอย่างเมามัน และใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อการควบคุมกำกับให้เป็นไปตามตัวชี้วัด แต่ควรเป็นการนำความมีชีวิตมาสู่องค์กร หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ผู้นำองค์กรต้องทำให้คนในองค์กรเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลง (มองแบบ living organism) โดยไม่ใช้วิธีสั่งการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (มองแบบ mechanical view) ไม่มีชาวรังสีเทคนิคคนใดหรือใครชอบการสั่งให้เปลี่ยน จริงไหมครับ
|
การสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคครั้งประวัติศาสตร์
เมื่อ พ.ศ. 2547 ประธานคณะกรรมการวิชาชีพ
รองศาสตราจารย์จิตต์ชัย สุริยะไชยากร ดูแลความเรียบร้อย |
ดรรชนีความมีชีวิตขององค์กร
เครื่องบ่งชี้ที่เป็นตัวบอกว่า องค์กรนั้นมีชีวิตชีวาคืออะไรบ้าง หลายคนจะมีวิธีมองในส่วนนี้แตกต่างกันไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาในมุมมองของชาวเรา ชาวรังสีทั้งหลาย วันนั้นพอสรุปได้ว่า
ดูที่หน้าตาและแววตาของชาวเรานักรังสีเทคนิคมืออาชีพทั้งหลาย หากชาวเรารู้สึกว่าภูมิใจในงานที่ได้ทำ มีความปิติที่ได้ทำให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานจากโรคภัย โดยไม่คำนึงถึงอามิสสินจ้าง เช่นนี้ จะปรากฏออกทางใบหน้าและแววตา ใบหน้าจะอิ่มเอิบ แววตาจะดูใส อบอุ่นมีเมตตา กรณีนี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ดทีเดียว
หากชาวเราเห็นคุณค่าในตัวเราเอง ขณะเดียวกันก็มีผู้อื่นเห็นคุณค่าในตัวเรา ชาวเราเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน ทั้งวิชาชีพเดียวกันและวิชาชีพอื่น ชาวเรารู้สึกรักองค์กรมากอย่างมีสติ อย่างนี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ด
หากชาวเราเลิกคิดแบบทำงานให้เพียงแค่ตัวเองอยู่รอดได้ ขณะเดียวกัน ก็ทุ่มเทความคิด ค้นหาวืธีว่า ทำงานอย่างไรให้องค์กรอยู่รอด เท่านี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ด
กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่นักรังสีเทคนิคหรือนักรังสีการแพทย์ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมสุขภาพนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชาวเราเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กร ซึ่งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ทำให้องค์กรมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ หากประสงค์ให้องค์กรมีชีวิต ชาวเราโดยเฉพาะชาวเราที่เป็นมืออาชีพควร ทำตัวเองให้มีชีวิตชีวา คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหลัก (customer/patient focus) สื่อสารการทำงานระหว่างกันและกันให้รู้เรื่องเข้าใจ ปรับตัวอยู่เสมอ เห็นคุณค่าในตัวเองและองค์กร เลิกคิดแบบทำงานเพียงเพื่อตัวเองรอดไปวันๆ ควรคิดว่า ทำอย่างไรองค์กรจึงจะรอดอย่างถูกต้อง
“บ้านที่ไม่มีชีวิต เป็นบ้านที่ทรุดโทรมเร็วเพราะเกิดจากการทิ้งร้างไม่มีผู้คนอยู่อาศัย บ้านที่มีชีวิต เป็นบ้านที่มีผู้คนที่มีชีวิตอาศัยอยู่”
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น