วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มหาวิกฤติน้ำท่วม 2554 -ส่งแรงใจถึงผู้ประสบอุทกภัย


     เฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา อิทธิพลของพายุโซนร้อน นกเตน ร่องมรสุมกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย และด้วยเหตุผลอื่นที่ยังต้องการความชัดเจน ทำให้ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยอย่างหนัก ภาพผืนดินกลายเป็นผืนน้ำขนาดกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เมืองที่อยู่อาศัยยานพานะจนน้ำ การสัญจรชะงัก มีให้เห็นในภาพข่าวทุกวัน ความวินาศสันตะโรเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างหลายจังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือ-อีสานลงมาจนกระทั่งขณะนี้ถึงภาคกลางตอนล่างแล้ว เขื่อนใหญ่ๆมีปริมาณน้ำเกินกว่า 100% มีมากกว่า 10 เขื่อน น้ำป่าหลากดินโคลนถล่มอย่างไม่ทันตั้งตัว พนังกั้นน้ำพัง น้ำทะลักเข้าเมือง ที่ทำมาหากินเสียหาย ฝนกระหน่ำซ้ำเติม ผู้คนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ต้องอพยพทิ้งถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว รถจำนวนมากย้ายไปจอดบนถนนสูง ถนนต่างระดับ  ห้างสรรพสินค้า เหมือนมดหนีน้ำ ได้เห็นภาพความผูกพันของผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีต่อบ้านเรือนถิ่นที่อยู่มานานโดยไม่ยอมอพยพออกไปในจุดที่ปลอดภัยกว่า เศร้าใจจริง ได้เห็นภาพความมีน้ำใจที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศอีกครั้ง






     และภาวะการณ์นี้น่าจะยังคงมีต่อเนื่องไปอีกหลายวัน เป็นเดือน อาจหลายเดือน ประกายรังสีจึงขอแสดงความเสียใจ เห็นใจ ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหลาย และขอให้เข้มแข็ง มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันให้ผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปได้ คนไทยไม่ทิ้งกันครับ

ผลกระทบต่อชีวิต
     เสียชีวิต 446 คน สูญหาย 2 คน
     ผู้คนเดือดร้อนจำนวน 1,175,264 ครัวเรือน 3,160,417 คน
     (ศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 5 พย 2554)

ผลกระทบต่อปัจจัยสี่และปัจจัยที่ห้า
บริเวณถนนหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ภายในมหาวิทยาลัยไม่มีปัญหาน้ำท่วม

    น้ำท่วมทุกครั้งนอกจากหลายชีวิตจะสูญเสียไป ปัจจัยสี่ก็ถูกทำลายหนักเบาแตกต่างกันไป แต่คราวนี้รู้สึกได้ว่าหนักหนาสาหัส ปัจจัยสี่ที่ได้รับผลกระทบได้แก่
     อาหาร-น้ำดื่ม แทบไม่ต้องอธิบายเลยเพราะคนเราต้องกิน ในภาวะที่น้ำท่วมแรงอย่างนี้ ผู้ประสบภัยที่ไม่ทันตั้งตัวจะลำบากแน่ๆ หากมองแหล่งผลิตอาหารซึ่งมาจากเลือกสวนไร่นา ที่ปลูกไปแล้ว  ตอนนี้ล่มไปจำนวนมาก และที่รอการพราะปลูกเจริญงอกงามก็อาจเหลื่อมฤดูกาล ผลผลิตอาจไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ราคาข้าวจะแพง
     ที่อยู่อาศัย-ถนนหนทาง-สิ่งแวดล้อม ถูกท่วมหรือทำลายจนไม่สามารถอยู่อาศัย และไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้จำนวนมาก ส่งผลเสียหายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่  ต้องตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว

      เมื่อน้ำท่วมนาน สิ่งแวดล้อมเริ่มเสื่อมโทรม ขยะมากมายเก็บไม่ได้ ปะปนในน้ำเป็นปริมาณมาก ทำให้น้ำเน่าเสีย มีการร่วมมือกันทำ EM-ball (Effective Microorganisms) ด้วยจิตอาสาจำนวนมาก เพื่อนำไปใส่ลงในน้ำที่กำลังเน่าหวังให้น้ำดีขึ้น แต่ก็มีข้อมูลของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมว่า การใช้ EM-ball ไม่น่าจะได้ผล ต้องหาวิธีเติมออกซิเจนลงไปในน้ำด้วยวิธีอื่น

     นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสัตว์ร้ายหลุดออกมาในน้ำ เช่น จระเข้ งูพิษ ปลาช่อนอะเมซอน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบที่ทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ในบามวิกฤติแบบนี้ไม่เป็นปกติสุข
     เครื่องนุ่งห่ม จมหายไปกับสายน้ำ ต้องหามาทดแทน ราคาก็อาจสูงขึ้น เพราะโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถดำเนินการผลิตวัตถุดิบได้
     ยารักษาโรค การเจ็บป่วยในสภาพน้ำท่วม เป็นเรื่องทุกข์ร้อนแสนสาหัส ขาดการรักษาที่เหมาะสม ยาไม่มี น้ำหมด อาหารขาดแคลน ที่อยู่อาศัยก็อยูไม่ได้
     โรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาผู้ป่วย พลันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในบางแห่ง นอกจากต้องขนย้ายผู้ป่วยกันจ้าระหวั่นแล้ว เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ก็พลอยมาเสียหายไปกับพิษภัยของน้ำท่วมคราวนี้ด้วยอีกไม่รู้เท่าไร ยากที่จะคาดเดา เครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่มีราคาแพง เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิเตอร์ ฯลฯ ที่ยกตัวอย่างนี้เป็นเครื่องมือที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ และส่วนใหญ่ชอบจะติดตั้งไว้ชั้นล่างของตัวอาคาร เพราะเป็นเครื่องมือที่มีน้ำหนักมาก จึงมีโอกาสเสียหายสูงมากเช่นที่เกิดที่จังหวัดนครสวรรค์

     ปัจจัยที่ห้า เป็นเรื่องของจิตใจที่ผู้คนทั้งประเทศได้รับหนักเบาต่างกัน แน่นอน ผู้ที่สูญเสียญาติมิตร ทรัพย์สิน ย่อมมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่มากกว่า บางคนมากจนต้องรักษา บางคนที่แม้จะสูญเสียมากแต่มีวิธีคิดที่ทำให้เกิดกำลังใจสู้ต่อไป ตัวอย่างเช่นคุณตัน ผู้ชายที่หัวใจไม่เคยยอมแพ้ (ขอบคุณ youtube และ MrJameskungg)

ข้อเสนอแนะรับมือน้ำท่วมเครื่องมือแพทย์
     ในสภาพเช่นนี้ โรงพยาบาลที่น้ำท่วมไปแล้ว เครื่องไม้เครื่องมือเสียหายแล้ว ไม่ทราบจะทำอย่างไร นอกจากถ้ามีประกันอุทกภัยคงค่อยยังชั่ว 
     โรงพยาบาลบางแห่งอาจอยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่น้ำอาจท่วมถึง ในภาวะที่เผชิญกับการโจมนี้ด้วยน้ำที่คาดไม่ถึง ถ้ามีเวลาควรเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ถ้าน้ำค่อยๆเอ่อขึ้นช้าๆ และระดับน้ำไม่สูงมาก เราทำห้องให้เป็นห้องนิรภัยได้ไหม คือ ทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่ให้น้ำเข้ามาในห้องซีที ห้องเอกซเรย์ และห้องอื่นๆได้ อุดช่องให้หมด
     นึกถึงถ้าถูกโจมตีด้วย fallout ฝุ่นรังสีปลิวมามองไม่เห็นด้วย เรายังมีวิธี seal ประตู หน้าต่าง ทางเข้าห้องได้ ซึ่งใช้แผ่นพลาสติกปิดช่องประตูหน้าต่างไว้ยึดด้วยเทปกาว
     ทีนี้ เรามองเห็นน้ำน่าจะง่ายกว่า มันต่างกันตรงที่น้ำมีแรงดัน และแรงดันเฉลี่ยของมันเป็นปฏิภาคกับกำลังสองของความลึก หมายความว่า หากน้ำลึก 20 cm มีแรงดันน้ำเฉลี่ยเป็น P ถ้าระดับน้ำเพิ่ม 2 เท่า คือน้ำลึกเป็น 40 cm แล้วละก็ แรงดันน้ำจะเป็น 4P คือ 4 เท่าของแรงดันเดิม เป็นต้น 
     ควรมีแผนฉุกเฉิน เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเพื่อ ใช้อุดห้อง อย่าให้ห้องซีที หรือห้องเครื่องมือรังสี หรือห้องอื่นๆ มีช่องรั่วที่น้ำจะเข้าได้ อย่าให้น้ำเข้ามาในห้องแม้แต่หยดเดียว เป็นภาระกิจสำคัญสุดของเราที่ต้องเตรียมการเดี๋ยวนี้เลยครับสำหรับโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงกับน้ำตอนนี้ 
     สิ่งต่างๆเหล่านี้น่าจะช่วยได้ เช่น ผ้าพลาสติด เทปกาว ดินน้ำมัน กระสอบทราย เครื่องปั๊มน้ำ ฯลฯ 

ความขัดแย้งที่ยังปรากฏให้เห็น
    มหาวิกฤติจากน้ำท่วมความกว้างขนาดเท่าประเทศเดนมาร์คที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่เคยเกิดกับประเทศไทย และการเกิดครั้งนี้หลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันก็เกิดด้วย ในประเทศไทยก็ยังปรากฏความขัดแย้งทางความคิดของผู้คนเป็นวงกว้างอีก จึงเกิดมีความรู้สึกว่า ผมอยากเห็นคนไทย 
     ++เรียนรู้และใช้โอกาสนี้ยุติความขัดแย้งซะ 
     ++แยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องของประเทศขณะที่หายนะรออยู่ 
     ++ไม่ฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของคนจำนวนมาก 
     ++ไม่เห็นแก่ตัวโดยใช้สถานะการณ์นี้คิด/ทำเพื่อทำลายล้างกัน 
     ++ใช้หลักกาลามสูตรในการเสพข่าวสาร.. 
ไม่รู้อยากมากไปหรือเปล่าครับ


ลิงค์รวมข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
     ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  มีข้อมูลครบถ้วนเลยครับ
     สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา (กองทัพเรือ)
     EM และน้ำมักชีวภาพแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสัยได้จริงหรือ?
     รายงานสภาพการจราจร
     รู้ทันน้ำ

     แผนที่แสดงจุดเกิดอุทกภัยบนทางหลว
     Sea Level Rise Explorer
     พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
     ภาพถ่ายดาวเทียมสภาพอากาศแบบ animation 



สถานะการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดกับกรุงเทพฯ (11ตค2554)







วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ฉลอง 40 ปีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์


(1,231 ครั้ง)
(เผยแพร่ครั้งแรก 19กย2554)
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ชื่อนี้ชาวบ้านคนทั่วไปรู้จักดี และเป็นเครื่องมือรังสีที่มีราคาแพงมาก โรงพยาบาลโดยเฉพาะของเอกชนจะใช้มันเป็นจุดขาย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาจากภาษาอังกฤษว่า Computed Tomography ซึ่งราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์ภาษาไทยไว้ว่า การถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้งานทางคลินิกครั้งแรกเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมาแล้ว คือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1971 ที่โรงพยาบาลแอทคินสัน มอร์เลย์ (Atkinson Morley) ตั้งอยู่ที่ Copse Hill, Wimbledon, London ประเทศอังกฤษ ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา มีการใช้งานเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบ 40 ปีของการใช้งานเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ขอถือโอกาสนี้ เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ตอนสำคัญที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการรำลึกถึงครับ

ค.ศ.
1895 พบเอกซเรย์
เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.. 1895 นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อ วิลเฮล์ม คอนราด เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) ค้นพบรังสีเอกซ์ (x-ray) ขณะทำการศึกษารังสีแคโทด (cathode ray) เมื่อใช้ความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงมาก ผมได้เขียนบทความรำลึก 115 ปีแห่งการต้นพบเอกซเรย์ไปแล้วเมื่อปีที่แล้วลองอ่านดูนะครับ และให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยด้วยครับ ปัจจุบัน องค์การอนามัยโรคกำหนดให้วันที่เรินท์เกนค้นพบรังสีเอกซ์เป็น วันรังสีเทคนิคโลก




     รังสีเอกซ์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ในระยะแรกกระทำเพียงฉายรังสีเอกซ์ไปยังผู้ป่วยเพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วย โดยอาศัยหลักการเกิดภาพเช่นเดียวกับการเกิดภาพเงาดำของร่างกายของเราบนพื้นขณะที่เรายืนอยู่กลางแสงแดด
     ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัยโรคด้วยการพิจารณาจากภาพถ่ายเอกซเรย์ธรรมดาหรือที่ได้ตามวิธีการนี้คือ
     ประการแรก การซ้อนทับกันของเงาของอวัยวะใน 3 มิติ (Object, 3D) บนฟิล์มรับภาพซึ่งเป็นระบบ 2 มิติ (Image, 2D) ทำให้ภาพเอกซเรย์แบบนี้ดูซับซ้อนยากต่อการวินิจฉัยโรค
     ประการที่สอง ภาพถ่ายเอกซเรย์แบบธรรมดาไม่สามารถแยกความแตกต่างของซอฟท์ทิชชู (soft tissue) เช่น ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างตับและตับอ่อน เป็นต้น
     ประการที่สาม ภาพเอกซเรย์แบบธรรมดาไม่สามารถบอกความหนาแน่นที่แตกต่างกันของสารที่เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างภายในร่างกายมนุษย์ ภาพเอกซเรย์ธรรมดาเหล่านี้เป็นเพียงการบันทึกการดูดกลืนโดยเฉลี่ยของเนื้อเยื่อต่างๆ ที่รังสีเอกซ์ทะลุทะลวงผ่านออกมาเท่านั้น




..1922 Conventional Tomography
นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ โบเคจ (Bocage) ได้เสนอเทคนิคการถ่ายภาพที่เรียกว่า โทโมกราฟฟี่ (tomography คำว่า tomo แปลว่า ตัดหรือชิ้นบางๆ) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้ได้ภาพของโครงสร้างภายในร่างกายชัดเจนเพียงระนาบใดระนาบหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันภาพเงาของระนาบอื่นก็ปรากฏซ้อนทับออกมาด้วยแต่ไม่คมชัด เทคนิคนี้จึงแก้ปัญหาในประการแรกที่เกี่ยวกับการซ้อนทับกันของเงาของอวัยวะภายใน (3D) ที่ปรากฏบนฟิล์มรับภาพ (2D) ได้แต่ไม่สมบูรณ์ ขณะถ่ายภาพหลอดเอกซเรย์และฟิล์มเอกซเรย์จะเคลื่อนที่พร้อมกันแต่เคลื่อนที่ในทิศทางตรงข้ามกัน เพื่อต้องการกำจัดภาพเงาของระนาบที่อยู่ด้านบนและระนาบที่อยู่ด้านล่างของระนาบที่ต้องการออกไป ภาพที่ได้แม้จะชัดเจนเพียงระนาบเดียวคือระนาบที่เรียกว่า ระนาบโฟกัส (focal plane) แต่ภาพจะมีคอนทราสต์ (contrast) ลดลงมากเพราะในการถ่ายภาพแบบนี้จะมีรังสีกระเจิง (scattered radiation) ค่อนข้างสูง

Reference 1. Bocage AEM. Method of, and apparatus for, radiography on a moving plate. Republic of France, National Office of Industrial Property, Patient No. 536464, applied June 3, 1921, published May 4, 1922. 

หลายสิบปีต่อมามีการตั้งสมมติฐานว่า ถ้ายิงรังสีเอกซ์ลำเล็กๆทะลุผ่านผู้ป่วยไปตกกระทบที่หัววัด แล้วกวาดลำเอกซเรย์ไปในระนาบหนึ่งที่ต้องการตรวจ และกระทำซ้ำกันโดยบิดมุมของลำเอกซเรย์ไป ข้อมูลความเข้มรังสีเอกซ์ที่บันทึกได้โดยหัววัดน่าจะสามารถนำไปใช้ศึกษาการจำแนกของสัมประสิทธิ์การลดลง (attenuation coefficient) ภายในระนาบนั้นได้ หมายความว่า จะสามารถสร้างภาพของระนาบที่สนใจได้ เพราะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อมีความสัมพันธ์กับสัมประสิทธิ์การลดลง ถ้าเป็นจริงการคำนวณสร้างภาพจะต้องเกิดขึ้นและต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ (computer) ซึ่งในเวลาต่อมา สมมติฐานดังกล่าวได้กลายเป็นความจริง โดยการบุกเบิกของนักคิดอย่าง คอร์แม็ก (A.M. Cormack) และนักประดิษฐ์อย่าง เฮานสฟิลด์ (G.N. Hounsfield)

ค.ศ.1956-1964 Cormack


คอร์แม็ก (A.M. Cormack) นักฟิสิกส์นิวเคลียร์แห่งภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเคฟทาวน์ (Capetown University) มีแรงดลใจในการพัฒนางานการสร้างภาพจากข้อมูลความเข้มของรังสีที่บันทึกได้ เมื่อเขาได้ทำงานที่โรงพยาบาลกรุทเชอ (Groote Shuur) ประมาณกลาง ค..1956 ระหว่างทำงานในโรงพยาบาลนั้น เขาพบข้อบกพร่องเกี่ยวกับการวางแผนรักษาโรคด้วยรังสี กล่าวคือ ในการฉายรังสีเข้าไปในตัวผู้ป่วยเพื่อทำการักษาโรค ขณะนั้นแพทย์จะพิจารณาและตัดสินใจเลือกไอโซโดสคอนทัวร์ (isodose contours) แบบที่เหมาะที่สุด แต่ไอโซโดสคอนทัวร์นั้นได้จากไอโซโดสชาร์ต (isodose charts) ที่คิดคำนวณมาจากการกระจายของปริมาณการดูดกลืนรังสีในตัวกลางที่มีเนื้อเหมือนกันตลอด จึงทำให้การตัดสินใจในการกำหนดการรักษาของแพทย์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะร่างกายผู้ป่วยมิได้ประกอบด้วยสารเนื้อเดียวกันตลอด คอร์แม็กคิดว่า
     ถ้าทราบการกระจายของสัมประสิทธิ์การลดลงในร่างกายผู้ป่วย จะสามารถปรับปรุงการวางแผนรักษาโรคด้วยรังสีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ และการจะทราบค่าการกระจายของสัมประสิทธิ์การลดลง น่าจะสามารถทำได้โดยการคำนวณจากข้อมูลความเข้มของรังสีที่ทะลุผ่านร่างกายผู้ป่วยออกมาในทิศทางต่างๆที่มากพอ
     คอร์แม็กใช้เวลาประมาณหนึ่งปีพัฒนาวิธีการทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณค่าการกระจายของสัมประสิทธิ์การลดลงของตัวกลาง เขาสร้างเครื่องมือเพื่อทดสอบทฤษฎีการคำนวณดังกล่าว สร้างจากเครื่องกลึงเก่าราคาถูกมาก


คอร์แม็กใช้รังสีแกมมาที่ได้จากธาตุโคบอลต์-60 (Co-60) ซึ่งอยู่ในถ้ำทรงกระบอก ยิงผ่านแฟนตอม (phantom) ที่ทำจากอะลูมิเนียมและไม้ อยู่ตรงกลางระหว่างทรงกระบอกทั้งสองอัน เมื่อรังสีแกมมาทะลุผ่านแฟนตอมออกมาแล้วจึงใช้ไกเกอร์เคาน์เตอร์ (Geiger counter) เป็นตัววัดความเข้ม จากข้อมูลความเข้มรังสีแกมมาที่วัดได้ในทิศทางต่างๆ ด้วยวิธีการหมุนแฟนตอมที่วางบนแท่นกลึง สามารถนำไปคำนวณค่าการกระจายของสัมประสิทธิ์การลดลงของแฟนตอมได้ตามวิธีการที่คอร์แม็กเตรียมไว้ ปรากฏว่าได้ผลการคำนวณสอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างดีเยี่ยม คอร์แม็กแสดงผลงานนี้ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University) ปรากฏว่าไม่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักฟิสิกส์รังสี (radiological physicist) แต่ผลงานของเขาได้ตีพิมพ์ไว้ในวารสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง และเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า คอร์แม็กคือผู้เริ่มต้นงานเอกซเรย์คอมพิวเตอร์   
    Reference 2.
Cormack AM. Representation of a function by its line integrals with some radiological applications. J Appl Phys 1963; 34:2722-2727.
Reference 3.Cormack AM. Representation of a function by its line integrals with some radiological applications II. J Appl Phys 1964; 35:2908-2913.

ค.ศ.
1967-1972 Hounsfield
     เฮานสฟิลด์ (G.N. Hounsfield) วิศวกรของบริษัทอีเอ็มไอ (EMI, Electric and Musical Industries) มีความเชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ ผลงานวิจัยทางคอมพิวเตอร์ของเขานำไปสู่การพัฒนา EMIDEC 1100 ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ออกแบบมาใช้งานทางด้านธุระกิจในประเทศอังกฤษ เฮานสฟิลด์เริ่มงานหลังคอร์แม็กร่วม 10 ปี งานของเขาไม่มีความเกี่ยวข้องหรือเลียนแบบงานของคอร์แม็ก แรงผลักดันที่ทำให้เฮานสฟิลด์สนใจค้นคว้าเรื่องนี้ เกิดจาการที่ต้องทำงานตามหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติการวิจัยที่บริษัทอีเอ็มไอ ค.. 1967 เขาคาดหมายว่า
     เทคนิคทางคณิตศาสตร์น่าจะถูกนำมาใช้คำนวณสร้างภาพในร่างกายผู้ป่วยได้ โดยคำนวณจากข้อมูลความเข้มรังสีที่วัดได้จากการที่รังสีทะลุผ่านร่างกายของผู้ป่วยออกมา
     เขาตระหนักดีว่า การได้มองเห็นภาพของร่างกายผู้ป่วยถูกตัดออกมาเป็นชิ้นบางๆ จะต้องเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับงานทางด้านการวินิจฉัยโรคด้วยรังสี


เฮานสฟิลด์เริ่มพิจารณาทฤษฎีการคำนวณสร้างภาพอย่างละเอียด โดยได้มีการคำนึงถึงอันตรายที่ผู้ป่วยจะได้รับและความถูกต้องของภาพที่จะเกิดขึ้นด้วย เขาเริ่มทำการทดลอง ด้วยการสร้างเครื่องมือที่มีส่วนประกอบคล้ายคลึงกับเครื่องมือของคอร์แม็ก แต่ใช้รังสีแกมมาที่แผ่ออกมาจากธาตุอะเมอริเซียม (americium) ยิงทะลุผ่านแฟนตอม แล้วใช้หัววัดแบบผลึก (crystal detector) เป็นตัววัดรังสีแกมมา ข้อมูลความเข้มของรังสีแกมมาที่ทะลุผ่านแฟนตอมออกมาทั้งหมด จะถูกบันทึกลงบนเทปกระดาษแล้วนำไปคำนวณสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เทคนิคทางคณิตศาสตร์ที่ใช้คือ การสร้างภาพแบบอิทเทอเรชัน (iterative reconstruction) การทดลองในตอนแรกนี้กระทำหลายครั้ง พบว่าในการเก็บข้อมูลความเข้มรังสีแกมมาเพื่อให้เพียงพอสำหรับการคำนวณสร้างภาพหนึ่งภาพจะต้งใช้เวลานานถึง 9 วัน และใช้เวลาในการคำนวณสร้างภาพนานถึง 2 ชั่วโมง 30 นาที


     เนื่องจากเวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูลความเข้มของรังสีแกมมานานเกินไป เพราะรังสีแกมมาที่ใช้แผ่ออกจากแหล่งกำเนิดที่มีกำลังต่ำ เฮานสฟิลด์จึงเปลี่ยนมาใช้รังสีเอกซ์ที่ได้จากหลอดรังสีเอกซ์แทน ประกอบด้วย หลอดรังสีเอกซ์ แฟนตอมที่เป็นสมองดองของมนุษย์ และหัววัดเอกซเรย์ ซึ่งทุกชิ้นส่วนถูกวางไว้บนแท่นคล้ายแท่นกลึง ด้วยความช่วยเหลือจาก เจมส์ เอ็มโบรส (James Ambrose) และหลุยส์ ครีล (Louis Kreel) ทำให้เฮานสฟิลด์สามารถใช้เวลาในการเก็บข้อมูลความเข้มเพียง 9 ชั่วโมง แล้วภาพสมองดองของมนุษย์ภาพแรกก็ถูกคำนวณสร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถมองเห็นเกรย์แมตเตอร์ (gray matter) และไวท์แมตเตอร์ (white matter) ได้ค่อนข้างดีแต่จะมีอิทธิพลของฟอร์มาลิน (formalin) ปะปนออกมาด้วย ต่อจากนั้นเฮานสฟิลด์ได้ทดลองสร้างภาพของสมองวัวสดและไตของหมูที่ตายแล้ว ปรากฏว่าได้ภาพที่แสดงรายละเอียดทางกายวิภาคที่ชัดเจน



   หลังจากที่เฮานสฟิลด์ประสบความสำเร็จในตอนต้นแล้ว เขาได้สร้างเครื่องมือที่มีความสมบูรณ์มากขึ้นและสามารถใช้กับผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย โดยใน วันที่ 1 ตุลาคม ค.. 1971 ได้นำเครื่องที่สร้างเสร็จแล้วไปติดตั้งที่โรงพยาบาลแอทคินสัน มอร์เลย์ (Atkinson Morley) ประเทศอังกฤษ 
     ย่างเข้าสู่ปี ค.. 1972 เครื่องมือนี้ได้ทดลองใช้กับผู้ป่วยสุภาพสตรี โดยคาดว่าจะสามารถพบความผิดปกติในสมอง พบว่าภาพตัดขวางชิ้นบางๆที่เครื่องมือนี้สร้างขึ้นสามารถมองเห็นชัดเจนว่ามีก้อนกลมสีดำที่เป็นความผิดปกติเกิดในเนื้อสมอง วินิจฉัยว่าเป็นถุงน้ำ (cyst) เฮานสฟิลด์ใช้เวลาในการเก็บข้อมูลทางคลินิกเป็นเวลานาน 1 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นจึงได้นำผลงานไปแสดงในการประชุมทางวิชาการประจำปีของ British Institute of Radiology ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.. 1972 ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างสูงจากนักวิชาการและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสี นับเป็นการเริ่มต้นการปฏิวัติการถ่ายภาพเอกซเรย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงศาสตร์ของการถ่ายภาพเอกซเรย์อย่างใหญ่หลวง (Paradigm Shift) จากที่เข้าใจง่ายๆแบบ Shadow Technique มาเป็นแบบที่ต้องคำนวณเพื่อสร้างภาพ


Reference 4. Hounsfield GN. Computerized transverse axial scanning (tomography) : Part 1. Description of system. Br J Radiol 1973; 46:1016-1022.


เครื่องมือที่เฮานสฟิลด์สร้างขึ้นในตอนแรกสามารถใช้วินิจฉัยโรคเฉพาะส่วนศีรษะเพียงอย่างเดียว และเนื่องจากเฮานสฟิลด์เป็นวิศวกรของบริษัทอีเอ็มไอ เครื่องมือนี้จึงเรียกว่า อีเอ็มไอเฮดสแกนเนอร์ (EMI Head Scanner) นอกจากนี้ยังมีการเรียกชื่อเครื่องมือนี้หลายแบบ เช่น ซีทีเอที (CTAT: Computerized Transverse Axial Tomography) ซีเอที (CAT: Computerized Axial Tomography) ซีทีทีอาร์ที (CTTRT: Computerized Transaxial Transmission Reconstructive Tomography) และอาร์ที (Reconstructive Tomography) เป็นต้น ในที่สุดสมาคมรังสีวิทยาแห่งอเมริกาเหนือ อาเอสเอ็นเอ (RSNA: Radiological Society of North America) ตกลงใช้คำว่า ซีที (CT: Computed Tomography) เพื่อใช้เรียกชื่อเครื่องมือนี้เมื่อมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในวารสารรังสีวิทยาซึ่งเป็นวารสารหลักของสมาคม

ค.ศ. 1979 รางวัลโนเบล
เมื่อข่าวความสำเร็จของเฮานสฟิลด์แพร่ออกไป ทำให้งานทางด้านนี้ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หากจะเปรียบเทียบระหว่างการค้นพบเอกซเรย์โดยเรินท์เกนในช่วงปลายปี ค..1895 และการประสบความสำเร็จในการสร้างซีทีโดยเฮานสฟิลด์ใน ค.. 1972 ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันถึงประมาณ 77 ปี เรินท์เกนได้รับการยกย่องในฐานะผู้ที่สามารถเปิดเผยภาพอวัยวะภายในของร่างกายมนุษย์ได้ และทำให้คนทั่วไปในเวลานั้นตื่นกลัวปนดีใจกับอำนาจการทะลุผ่านของรังสีเอกซ์ แต่ด้วยประโยชน์มหาศาลของรังสีเอกซ์ในการวินิจฉัยโรคจากภาพเอกซเรย์ ทำให้เรินท์เกนได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เป็นคนแรกของโลกใน ค..1901 สำหรับเฮานสฟิลด์ได้รับการยกย่องและให้เกียรติเทียบเท่าเรนท์เกนจาก รังสีแพทย์ (Radiologist) นักรังสีเทคนิค (Radiological Technologist) นักฟิสิกส์การแพทย์ (Medical Physicist) และวิศวกรที่เกี่ยวข้อง ว่าเป็นผู้ที่เปิดโลกของการวินิจฉัยโรคด้วยรังสีเอกซ์แบบใหม่ จนทำให้เฮานสฟิลด์และคอร์แม็กได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ร่วมกันใน ค.. 1979

     Reference 5. Di Chiro G, Brooks RA. The 1979 Nobel prize in physiology or medicine. J Comput Assist Tomogr 1980; 4:241-245.
     GN.Hounsfield-Autobiography. Nobelprize.org
     GN.Hounsfield. Computed Medical Imaging. Nobel Prize Lecture, 8th December 1979.
     AM. Cormack-Autobiography. Nobelprize.org
     AM. Cormack. Early Two-Dimentional Reconstruction and Recent Topics Stemming From It. Nobel Prize Lecture, 8th December 1979.


Nobel Prizes for Imaging Life

     ขอส่งท้ายสำหรับตอนนี้ ด้วยการกล่าวถึงเฮานสฟิลด์ สำหรับเฮานสฟิลด์เป็นผู้ที่มีความุ่งมั่น ใฝ่รู้ ไม่ยอมแพ้ แม้จะไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา แต่ก็สามารถสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์มหาศาลต่อชาวโลก และวันที่ 12 สิงหาคม 2547 เป็นวันที่เฮานสฟิลด์เสียชีวิต
 
    ผมคิดว่าคนทั้งหลายจึงไม่อาจวัดกันที่ปริญญาอย่างเดียว และไม่ควรจะมาเสียเวลาวัดกันว่าคุณจบระดับไหน ฉันจบระดับไหน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความด้อยทางปัญญาที่แท้จริง ที่ร้ายกว่านั้นอาจมีบางคนคิดในเชิงดูถูกผู้ที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าว่าเรียนมาน้อยไม่ค่อยรู้อะไรหรอก ผมคิดว่า เราควรคิดถึงสิ่งที่เราควรทำร่วมกันให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อสังคม  ตามความสามารถ ตามศักยภาพของเราอย่างเต็มที่ เอาสิ่งดีๆของทุกคนมารวมกันเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาวงการรังสีและสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ เฮานสฟิลด์เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่จบปริญญา ที่มีผลงานระดับดีเลิศ จนได้รับรางวัลโนเบลในปี 1979 ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศสูงสุดในทางวิชาการ และได้รับการสถาปนาให้มีศักดิ์เป็นอัศวิน Sir ของอังกฤษในปี 1981


มานัส มงคลสุข

Related Links:
1. Modern Medicine-Computerized tomography
2. Modern Medicine-History of X-rays
3. A Brief History of  CT
4. The Scanner Story: Documentary of Covering early CT Development    Part1    Part2
5. World Radiography Day: 8th November 2011
6.How a CT Scan Works by Vanderbilt Biomedical Engineers
7.Beckmann EC. CT scanning the early days. BJR 2006; 79:5-8. (pdf)
STAT
จำนวนผู้อ่านบทความนี้
 1,231 ครั้ง (19กย2554-3กย2556)