วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

รายงานกมธ.วุฒิสภา:ปัญหาของรังสีเทคนิคไทยและแนวทางแก้ไข


AACRT2013 เชียงใหม่

(เริ่มเผยแพร่ 18 ธค 2555 อ่าน 638 ครั้ง)
     ผมได้มีโอกาสอ่านรายงานของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เรื่อง รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการส่งเสริมทางการแพทย์ ที่เสนอต่อประธานวุฒิสภา เมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2553 ซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาในเวลาต่อมา รายงานฉบับนี้มีความหนา 80 หน้า ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก มีรายละเอียดความเป็นมา ที่มาที่ไป ปัญหาและแนวทางแก้ไขครบถ้วนกระบวนความ  จึงขอสรุปสาระสำคัญโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรังสีเทคนิคเอาไว้ เพื่อเป็นข้อมูลแบ่งปันกันให้ชาวเราได้ทราบทั่วๆกันซึ่งหลายท่านอาจทราบแล้ว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อาจจะยังไม่ทราบ

ที่มาที่ไป
พ.ศ. 2551 ที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 8 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2551 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ต่อมาได้มีการเลือกนายอนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ เป็นประธานกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 10 คน มี ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน เป็นประธานอนุกรรมาธิการ หนึ่งในนั้นมี นส.อำไพ อุไรเวโรจนากร  (กรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค) ร่วมเป็นอนุกรรมาธิการด้วย ขณะเดียวกัน มีที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการอีกจำนวน 20 คน หนึ่งในนั้นมี รศ.จิตต์ชัย สุริยะไชยากร (ประธานคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคในขณะนั้น) ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย คณะอนุกรรมาธิการมีหน้าที่ศึกษาและหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรด้านการส่งเสริมทางการแพทย์
โดยมีกรอบการพิจารณาการศึกษาวิจัย ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการส่งเสริมทางการแพทย์ ที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ วิชาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก/จิตวิทยา นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 

พ.ศ. 2552-2553 โดยหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย คณะอนุกรรมาธิการจึงทำการศึกษาวิจัย ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการส่งเสริมทางการแพทย์ ที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ตามกรอบที่กำหนด  เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับได้ทราบสถานการณ์ปัจจุบัน สภาพปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด รวมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางในการบริหารจัดการบุคลากรด้านการส่งเสริมทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสนอต่อรัฐสภา และหน่วยงานที่รับผิดชอบ นอกจานี้ ยังได้มีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้วย

ในรายงานที่เสนอต่อวุฒิสภา จึงมีรายละเอียดของ ปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ปัญหาของวิชาชีพด้านส่งเสริมทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข ครบทุกวิชาชีพที่กำหนดให้ศึกษา

เมื่อมองในส่วนของรังสีเทคนิค  จากรายงานฉบับนี้ ได้กล่าวถึงเนื้อหาที่สะท้อนความเป็นจริงได้อย่างดีและน่าจะครบถ้วนตามสถานการณ์ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา โดยสรุปดังนี้

ปัญหาและอุปสรรคของรังสีเทคนิค
กรอบตำแหน่งที่บรรจุและงบประมาณไม่สะท้อนกับความต้องการปริมาณนักรังสีการแพทย์ในระบบบริการสาธารณสุขและแรงจูงใจ เช่น เงิน พตส. ยังไม่ได้รับความเท่าเทียมกันกับผู้ประกอบวิชาชีพทางสุขภาพในสาขาอื่นที่จบการศึกษาระดับเดียวกัน
การขาดแคลนตำแหน่งข้าราชการสำหรับบรรจุลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งนักรังสีการแพทย์
การปรับตำแหน่งจาก เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ เป็นนักรังสีการแพทย์ มีขั้นตอนยุ่งยาก เสียขวัญกำลังใจ มีการลดขั้น ยุบตำแหน่ง ลดเงินเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพอื่นที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเหมือนกัน เช่น พยาบาล
การนับระยะเวลาเกื้อกูลที่ไม่พิจารณาระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าพนักงานรังสีการแพทย์
ค่าตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับยังไม่เป็นธรรมกับภาระงาน หรือความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน เช่น พตส. ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย รพช ค่าเบี้ยกันดาร ซึ่งไม่ได้เลยหรือไม่ทัดเทียมกับวิชาชีพสุขภาพอื่นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เดียวกัน
ตำแหน่งพนักงานราชการ มีปัญหาในการปฏิบัติงานไม่เท่าเทียมข้าราชการสวัสดิการรักษาพยาบาลมีเพียงประกันสังคม
ขาดการส่งเสริมการเป็นเฉพาะทางและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของผู้ปฏิบัติการในวิชาชีพจากภาครัฐ รวมถึงความก้าวหน้าในการเลื่อนระดับเท่าเทียมวิชาชีพอื่นๆ หรือมีตำแหน่งระดับสูงน้อยเมื่อเทียบกับความยากของงาน
ขาดการส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคให้เพียงพอต่อความต้องการของระบบบริการสาธารณสุข

      ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหารังสีเทคนิค
      จัดให้มีกรอบตำแหน่งและงบประมาณที่สอดคล้องกับจำนวนนักรังสีการแพทย์ที่ต้องการในระบบบริการสาธารณสุข
สร้างแรงจูงใจทั้งด้านการเงิน ความก้าวหน้าในวิชาชีพให้เท่าเทียมกับสาขาวิชาชีพอื่น เช่น พยาบาล
จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรที่ยั่งยืนด้านการส่งเสริมความเป็นเฉพาะทางในวิชาชีพรังสีเทคนิค
จัดทำแผนเพิ่มสถาบันผู้ผลิตเพื่อเพิ่มจำนวนการผลิต โดยมีแผนการพัฒนาอาจารย์ควบคู่กันเพื่อควบคุมคุณภาพของบัณฑิต

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

ชาวเราท่านใดสนใจรายละเอียดแบบเต็มๆ ลองหาอ่านดูครับ

     ล่าสุด ในการประชุมนานาชาติ AACRT2013 ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ผศ.ดร.บรรจง เขื่อนแก้ว ประธานกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค, นายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย, และรองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคมหิดล ได้ร่วมกันอภิปรายเรื่อง ความก้าวหน้าของสายงานรังสีการแพทย์ของไทย 
     ซึ่งมีการพูดถึงข่าวดีเรื่องการจัดสรรตำแหน่งในภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข โดยรวมตำแหน่งนักรังสีการแพทย์เข้าไปด้วย และตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฯที่มีคุณวุฒิปริญญาตรีสาขารังสีเทคนิคแล้วสามารถปรับเป็นตำแหน่งนักรังสีการแพทย์ได้เลยโดยไม่ต้องยุบรวมตำแหน่ง 
     พูดถึงข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างตำแหน่งราชการกับพนักงานกระทรวงสาธารณสุขซึ่งคาดว่าเงินเดือนเป็น 1.2 เท่าของข้าราชการ ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ไม่ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์  ไม่มีบำเหน็จบำนาญ ได้เงิน พตส. มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีประกันสังคม ฯลฯ ร่างระเบียบเสร็จแล้วน่าจะเริ่มใช้ได้เร็วๆนี้
     รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอภิปรายตอนหนึ่งว่า ผลลัพธ์เกี่ยวกับตำแหน่งที่ออกมาเช่นนี้ เป็นไปตามเหตุและผล ไม่ใช้เกิดจากการกดดันของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น

  ในที่สุดแล้ว เรื่องปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข ของรังสีเทคนิคไทย ที่ได้ทำการศึกษากันมา และได้เสนอต่อวุฒิสภาและหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลในส่วนอื่นๆที่ชาวเราช่วยกันทำ ช่วยกันส่งต่อข้อมูลให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบ กำลังส่งผลลัพธ์ไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เป็นเพราะชาวเราหลายคนมิใช่คนใดคนหนึ่ง ที่ช่วยกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน ทำงานอย่างต่อเนื่อง บนหลักการที่ถูกต้องชอบธรรมสง่างาม ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่กระจัดกระจาย ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จริงไหมครับ และขอให้กำลังใจทุกคนร่วมกันเดินหน้าไปในแนวทางเดียวกันตลอดไป


Related Links:
          รายงานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา
            บุก สธ.ขอปรับตำแหน่งเป็น นักรังสีการแพทย์

3 ความคิดเห็น:

  1. จาก FB:..........

    ประจวบ สุขสบาย..........
    ขอบคุณอาจารย์มานัสมากครับ เป็นประโยชน์ต่อน้องๆที่ไม่ทราบในระดับผู้บริหาร ในกระทรวงฯ

    Ao Panad Poon.....
    มีบางคนไปเรียนต่อ…แต่ยังไม่ได้ตำแหน่ง…ก็เพคาะทำตัวไม่เหมาะสมกับวิชาชีพที่เรียนมาก็มีนะค่ะ…

    Wilai Noiyom.....
    ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ให้ข้อมูลวิชาชีพให้ทราบค่ะ

    ตอบลบ
  2. ใช่ครับ เรื่องนี้ไม่ใช่การกดดัน แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ดำเนินการโดยพวกเราชาวรังสี ที่นำโดยชมรมรังสีการแพทย์ชุมชนแห่งประเทศไทย นำเสนอต่อ กพ.พวกเราดิ้นรนเสียสละกันมากในการทำข้อมูลขณะที่ผู้ใหญ่บางคนในวงการรังสีกลับบอกว่าทำเรื่องนี้มา 20 ปีแล้วไม่สำเร็จและบอกให้พวกเราเลิกดิ้นรน หวังว่าท่านคงเห็นผลงานของพวกเราชาววิชาชีพแล้วนะครับ ส่วนกระทรวง สธ.แทบจะไม่ให้ความช่วยเหลือเราเลยในการดำเนินการในครั้งนี้ เรามีเอกสารหลักฐานทุกขั้นตอน เป็นเอกสารทางราชการตอบกลับการดำเนินการต่างๆ ใครอย่ามาแอบอ้างเอาผลงานนะครับ ไม่ใช่ผลงานของพวกคุณ แต่เป็นผลงานของพวกเราชาววิชาชีพรังสีที่ทำเพื่อพวกเรากันเองอย่างแท้จริง ... อย่าให้เด็กรุ่นหลังดูถูกเลยครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  3. มีช้างตัวหนึ่งกำลังยืนกินหญ้าอยู่ใต้ต้นมะพร้าว
    ในขณะเดียวกันก็มีมดเกาะอยู่บนหลังช้างหวังจะกัดช้างกินเป็นอาหาร
    มดจึงลงมือกัดช้างเข้าอย่างอย่างจัง ช้างร้องด้วยความเจ็บปวด
    มดกระหยิ่มในใจว่ามันนี่ช่างร้ายกาจเหลือเกิน

    ช้างบ่น" เจ็บอิ๊บอ๊าย มะพร้าวหล่นใส่หัวกู"

    ตอบลบ