วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การประเมินสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค


                               
(1,015 ครั้ง)
     บทความนี้ เขียนขึ้นโดยยึดหลักตามประกาศของ ก.ช. และสอดแทรกประสบการณ์ที่เป็นผู้ตรวจประเมินและผู้ถูกประเมิน เพื่อให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจกระบวนการตรวจประเมินที่เป็นแนวปฏิบัติกลางๆ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ


เป็นที่ทราบกันดีว่า ตามประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ก.ช.)เรื่องหลักเกณฑ์และแบบประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. 2551กำหนดให้ สถาบันที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคต้องขอรับการประเมินสถาบันจาก ก.ช. เมื่อ ก.ช. รับรองแล้ว บัณฑิตที่จบการศึกษาจึงจะสามารถสมัครสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคได้ ประกาศคณะกรรมการวิชาชีพฯฉบับนี้จัดทำโดยคณะอนุกรรมการวิชาชีพด้านพัฒนามาตรฐานและวิชาการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 24 พฤษจิกายน 2551

ขอรับการประเมินสถาบัน
การประเมินสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค เป็นกระบวนการเชิงคุณภาพอย่างหนึ่งที่สำคัญมากในการทำให้ สถาบันที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคมีพัฒนาการสู่คุณภาพที่ดียิ่งๆขึ้น โดยปัจจุบันมีการพิจารณาเรื่อง หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผล อาจารย์ ปัจจัยเกื้อหนุน การวิจัย กิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษา การบริการวิชาการ การบริหารจัดการ และการประกันคุณภาพการศึกษา  เกณฑ์การพิจารณาเหล่านี้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกสถาบันฯจะต้องมี ซึ่งในแต่ละเรื่องยังมีรายละเอียดอีกมากครับ
สถาบันฯที่จะขอรับการประเมิน จะต้องยื่นเรื่องต่อผู้อำนวยการกองประกอบฯ  (ปัจจุบันคือสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) กฎหมายกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการ  (หมายถึงอธิการบดี) เป็นผู้ยื่นคำขอการรับรอง เมื่อตรวจสอบคำขอรับการประเมินแล้วว่าถูกต้อง จึงเสนอ ก.ช. ต่อไป

ตั้งคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ
เมื่อ ก.ช. รับทราบเรื่องแล้ว ก.ช. จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินสถาบันการศึกษา ตามที่กฎหมายกำหนดประกอบด้วย
ก) ผู้แทน ก.ช. 2 คน
ข) ผู้แทนคณะอนุกรรมการด้านพัฒนามาตรฐานและวิชาการ 2 คน
ค) ผู้แทนกองประกอบ 2 คน โดยที่คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯรวมทั้งหมด 6 คน รายชื่อได้จากการเสนอชื่อในที่ประชุม ก.ช. และหนึ่งในนั้นเป็นประธานในการตรวจประเมินโดยความเห็นชอบของประธาน ก.ช.
ระบบและกลไกที่วางกันเอาไว้เป็นอย่างนี้ ทุกสถาบันที่ขอรับการประเมินก็ต้องเป็นไปตามระบบนี้และรายชื่ออนุกรรมการฯก็สุดแท้แต่ที่ประชุม ก.ช. จะเสนอใคร คณะอนุกรรมการฯที่แต่งตั้งแล้วก็ไปทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การตรวจประเมินนี้ เป็นการตรวจประเมินเพื่อรับรองมหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะมาทำกันเล่นๆไม่ได้

การตรวจประเมิน
ตามปกติคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯจะใช้เวลาทำการตรวจประเมินสถาบัน 2 วัน โดยไปตรวจประเมินที่สถาบัน วันที่คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯไปทำการตรวจประเมิน ผู้บริหารของสถาบันอย่างน้อยระดับ คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา ประธานหลักสูตร จึงให้ความสำคัญและจะเป็นผู้มาให้การต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมตามที่คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯซักถามและร้องขอ
ดังนั้น ภาระหน้าที่ของคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ไม่ว่าชุดใด ไปตรวจประเมินสถาบันใด จึงหนักหนาสาหัส เป็นเรื่องที่ต้องให้ความเคารพและให้เกียรติสถาบัน ต้องระมัดระวังเรื่องความควรไม่ควร เนื่องจากต้องพูดคุยซักถามผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ของสถาบันนั้น อย่างไรก็ตาม จะมีกรอบและหลักเกณฑ์ให้กับคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสอบข้อมูลที่จำเป็นให้ประจักษ์ ดังนั้น อนุกรรมการฯผู้ทำหน้าที่ตรวจประเมินจำเป็นต้องรู้และเข้าใจหลักเกณฑ์ในการประเมินเป็นอย่างดี มิฉะนั้นจะถูกโต้แย้งได้ นอกจากนี้ ยังต้องรู้หลักกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการศึกษาและมาตรฐานของนักรังสีเทคนิคทั้งหมด และทำความเข้าใจให้ดี เช่น TQF (มคอ.1,2,3,4) หลักเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาของ สมศ.+สกอ. EdPEx สมรรถนะของรังสีเทคนิค เป็นต้น ผู้ตรวจประเมินจึงต้องทำการบ้านหนักมาก จริงๆแล้วผมเคยเสนอให้ ก.ช. จัดอบรมผู้ตรวจประเมิน แต่ยังไม่เป็นผลครับ
     ในคราวประเมินสถาบันที่มีแนวโน้มผ่านการประเมิน  การหาอนุกรรมการฯประเมินไม่ค่อยลำบาก แต่หากต้องไปประเมินสถาบันที่ก่ำกึ่งและมีโอกาสไม่ผ่านการประเมิน หรือน่าจะมีปัญหา จะหาอนุกรรมการฯประเมินได้ยาก ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีใครอยากเป็นอนุกรรมการฯประเมินครับ 
อนุกรรมการตรวจประเมินได้รับอุบัติเหตุขณะเดินตรวจประเมิน
ถึงขั้นต้องเข้าเฝือก
     ในเรื่องของหลักเกณฑ์การประเมินของ ก.ช. …ตามความเห็นของผม หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษา ที่ผลิตบัณฑิตปริญญาตรัสาขารังสีเทคนิค เป็นหลักเกณฑ์เพื่อการพัฒนาวิชาชีพรังสีเทคนิคให้ได้มาตรฐาน และเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่เข้มข้นมากเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น ค่อนข้างจะช่วยให้สถาบันฯผ่านการประเมินได้ไม่ยากด้วยซ้ำสำหรับสถาบันที่เปิดดำเนินการมาก่อนที่ ก.ช. จะมีประกาศให้มีการประเมินสถาบัน เนื่องจากการประเมินเพื่อการรับรองสถาบันนั้น เป็นระยะเริ่มต้น จึงมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันบ้างในบางประเด็นก็เป็นเรื่องธรรมดา และมีข้อที่สร้างความหนักใจให้กับสถาบันฯและอนุกรรมการฯผู้ประเมินอยู่บ้างคือ
     1)เป็นหลักเกณฑ์ที่บางองค์ประกอบต้องใช้ดุลยพินิจค่อนข้างมาก
     เกณฑ์กำหนดขั้นต่ำไว้ดังนี้
     องค์ประกอบที่ 1 หลักสูตร "หลักสูตรเป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ. และมาตรฐานวิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามแผนการศึกษาและมีระบบการวัดและประเมินผล"
     องค์ประกอบที่ 2 อาจารย์ "อาจารย์ประจำหลักสูตรเป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ. มีวุฒิทางรังสีเทคนิคและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคไม่น้อยกว่า ๒ คน"
     องค์ประกอบที 3 ปัจจัยเกื้อหนุน "อาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกปฏิบัติการต้องมีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาไม่เกิน 1:8 และอุปกรณ์และเครื่องมือทางรังสีวิทยามีเพียงพอที่จะสนับสนุนการฝึกปฏิบัติการให้สอดคล้องตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. 2551 และมีปัจจัยเกื้อหนุนที่สนับสนุนอย่างเพียงพอต่อการเรียนรู้ทางวิชาชีพ"
     องค์ประกอบที่ 4 การวิจัยด้านรังสีวิทยา "มีนโยบายและแผนงานการดำเนินการและมีการเผยแพร่ผลงานในที่ประชุมวิชาการหรือตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ"
     องค์ประกอบที่ 5 กิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษา "มีแผนและดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาเป็นไปตามแผนงาน และมีระบบอาจารย์ที่ปรึกษา"
     องค์ประกอบที่ 6 กิจกรรมบริการทางวิชาการ "มีแผนและกิจกรรมบริการวิชาการที่เป็นไปตามแผน"
     องค์ประกอบที่ 7 การบริหารจัดการ "มีระบบและกลไกการบริหารจัดการการศึกษา สอดคล้องกับเป้าหมายของสถาบัน โดยบุคลากรในองค์กรมีส่วนร่วม"
     องค์ประกอบที่ 8 การประกันคุณภาพการศึกษา "มีนโยบายและแผนงานการประกันคุณภาพ ตามข้อกำหนดของสถาบันนั้น ๆ และมีการดำเนินงานเป็นไปตามแผน"
     สถาบันฯจะต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำทั้ง 8 องค์ประกอบ จึงจะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพ
     ที่บอกว่า..หลักเกณฑ์ในบางองค์ประกอบต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมากนั้น ก็เป็นเพราะว่า เกณฑ์กำหนดไว้กว้างๆครับ เช่น องค์ประกอบที่ 3 เกณฑ์บอกไว้ท่อนท้ายว่า...มีปัจจัยเกื้อหนุนที่สนับสนุนอย่างเพียงพอต่อการเรียนรู้ทางวิชาชีพ.... จึงเกิดเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ สถาบันฯจะต้องมีอะไรแค่ไหนที่ถือว่าเพียงพอ เป็นต้น เกณฑ์ลักษณะนี้มองในแง่ดีก็เป็นประโยชน์ต่อสถาบันฯสำหรับกรณีได้ผู้ประเมินใจดี ไม่ต้องมีอะไรมากมายหรอกก็ผ่านเกณฑ์ข้อนี้ได้เลย แต่หากมองในแง่ร้าย ได้ผู้ประเมินที่เข้มข้น สถาบันมีนู่น นี่ นั่น เยอะไปหมดแต่ผู้ประเมินวินิจฉัยว่าไม่เพียงพอก็ได้ ถ้าเจออย่างนี้สถาบันก็อาจถูกประเมินให้ไม่ผ่านก็ได้ 
     หรือในองค์ประกอบที่ 4 งานวิจัยด้านรังสีวิทยา ไม่ได้มีการนิยามไว้ว่าด้านรังสีวิทยาหมายถึงอะไร มีสาขาอะไรบ้าง ถ้าไม่มีการนิยามอาจเกิดข้อขัดแย้งได้ สถาบันฯอาจบอกว่างานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยด้านรังสีวิทยา ในขณะที่ผู้ประเมินอาจบอกว่าไม่ใช่ก็ได้ ถ้ามีนิยามไว้บ้างก็จะดีกว่า จะช่วยให้เกิดความกระจ่างชัดและตรงกันระหว่างสถาบันฯและผู้ประเมิน ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว หากสถาบันมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับรังสีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้ประเมินก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับไว้ก่อน 
     นี่คือตัวอย่างของเกณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจครับ ยังมีในรายละเอียดอีกหลายประเด็น ที่ผู้ประเมินต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ 
     2)เป็นหลักเกณฑ์ที่เหมาะสำหรับสถาบันที่ดำเนินการมาแล้ว ไม่เหมาะกับสถาบันที่ตั้งใหม่ เช่น 
     องค์ประกอบที่ 1 เกณฑ์กำหนดว่าถ้าจะผ่านขั้นต่ำต้องมี "หลักสูตรเป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ. และมาตรฐานวิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามแผนการศึกษาและมีระบบการวัดและประเมินผล" ทีนี้สถาบันที่ตั้งใหม่ยังไม่ได้ดำเนินการสอนเลยคงบอกไม่ได้ว่าการจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามแผนการศึกษา คงมีแต่แผนการศึกษาที่อยู่ใน มคอ.2 เท่านั้น 
     องค์ประกอบที่ 4 การวิจัย เกณฑ์กำหนดว่าถ้าจะผ่านขั้นต่ำต้องมี "มีนโยบายและแผนงานการดำเนินการและมีการเผยแพร่ผลงานในที่ประชุมวิชาการหรือตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ" ประเด็นคือ สถาบันที่ตั้งใหม่จะเอาผลงานวิจัยที่เผยแพร่แล้วมาจากไหนกัน อาจารย์ประจำหลักสูตรก็เป็นอาจารย์ใหม่ยังไม่ได้ดำเนินการวิจัยเมื่อเขามาเริ่มต้นเป็นอาจารย์ที่สถาบันที่ตั้งใหม่
     เป็นต้น จริงๆแล้วประเด็นยังไม่หมด แค่ยกตัวอย่าง 2 องค์ประกอบเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีสถาบันตั้งใหม่จริงๆขอรับการประเมิน จึงยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าในอนาคตมีสถาบันตั้งใหม่มาขอรับการประเมิน และเกณฑ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ ก.ช. จะหาทางออกอย่างไร?? เพราะถ้ายึดหลักเกณฑ์นี้ทุกองค์ประกอบโดยไม่มีข้อยกเว้น จะไม่มีสถาบันตั้งใหม่จริงๆสถาบันไหนได้รับการรับรอง

เมื่อคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ทำการตรวจประเมินเสร็จแล้ว ก่อนเดินทางกลับ จะรายงานสิ่งที่คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯพบเห็นด้วยวาจาต่อที่ประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารสถาบัน อาจารย์และบุคลากร และจะเปิดโอกาสให้ซักถามประเด็นข้อสงสัยที่สถาบันและคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯอาจเข้าใจไม่ตรงกัน และจะให้เวลามากพอจนกว่าจะเป็นที่เข้าใจตรงกัน ฉะนั้น การรายงานนี้จึงไม่ใช่เป็นการรายงานเพื่อแจ้งว่า รับรอง ไม่รับรอง หรือรับรองแบบมีเงื่อนไข เพราะคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯไม่มีอำนาจหน้าที่ในการชี้ขาด

     การตัดสิน
อย่างที่บอกแล้วว่า คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ตามกฎหมายไม่มีอำนาจที่จะไปรับรองหรือไม่รับรองสถาบัน
คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ต้องนำเสนอรายงานการตรวจประเมินที่พบเห็นต่อที่ประชุม ก.ช. เพื่อให้ที่ประชุม ก.ช. พิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่รับรอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่กลั่นกรองอย่างละเอียดครั้งสุดท้าย ซึ่งตรงนี้จะใช้เวลาในการร่วมกันพิจารณานานและรอบครอบ เพื่อความชัดเจนถูกต้องตามกรอบของกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะผลประเมินที่ออกมาในทางลบยิ่งต้องใช้เวลาและความละเอียดมาก
เมื่อ ก.ช. มีมติเช่นไร ก็จะแจ้งผลการตรวจประเมินประกอบเหตุผลไปยังมหาวิทยาลัย คือส่งตรงถึงอธิการบดี  หาก ก.ช. มีมติรับรอง ก็จะส่งผลการประเมินและใบรับรองสถาบันไปให้ แต่หาก ก.ช. มีมติไม่รับรอง คือไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินสถาบัน สถาบันเมื่อได้รับแจ้งจาก ก.ช. แล้วก็สามารถดำเนินการแก้ไขได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน หลังแก้ไขแล้ว ต้องแจ้งให้คณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านตรวจประเมินฯ ทำการตรวจประเมินอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น รายละเอียดทั้งหมดของผลการประเมิน พิจารณาตามกระบวนการของการตรวจประเมินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ที่ทราบดีคือ ก.ช. และสถาบันที่ถูกประเมิน ครับ
Related Links:
1.) ประกาศ ก.ช. เรื่องหลักเกณฑ์และแบบประเมินการรับรองสถาบันฯ
2.) แรงดูดแรงผลักทางความคิด
3.) ประโยชน์ตนต้องมาก่อน???
4.) คิดบวกเมื่อถูกด่า


5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2555 เวลา 08:30

    เป็นหลักการที่เขียนไว้ดี ว่าแต่พวกคุณได้ทำตามแบบที่เขียนไว้หรือเปล่า
    1 ตัวแทน กช.ผู้ประเมิน ใครแต่งตั้ง แต่งตั้งเมื่อไหร่ ขอดูหนังสือครับ
    2 อนุกรรมการประเมินแล้ว ส่งเข้า กช.รับรอง ขอดูเอกสารรับรองจาก กช.ชุดใหญ่ด้วยครับ
    หลักเกณฑ์ดีครับ แต่หากไม่ทำตามหลักเกณฑ์ก็เหมือนอันธพาลละครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2555 เวลา 19:13

    ทุกอย่างมีกฎเกณฑ์และมีทางแก้ไข ดีก็คือดี ไม่ดีก็คือไม่ดี ไม่ดีก้แก้ไขให้เป็นดีได้ มันมีกฏของมัน อย่าไปซีเเรียสเป็นการเมืองครับ ให้กำลังใจองค์กรทางกฎหมายครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2555 เวลา 20:14

    รู้สึกว่า ความเห็นข้างบนจะมาผิดที่นะ ควรไปถาม ประธาน กช มากกว่า

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2555 เวลา 21:47

    เป็นผมลาออก ตั้งแต่ทราบผลแล้ว

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ27 กรกฎาคม 2555 เวลา 20:56

    รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมวิชาชีพเดียวกัน

    ตอบลบ