วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2562

สภารังสีเทคนิคเพื่อประชาชน

😍สวัสดีครับชาวเรา😉 

วันนี้เป็นวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ของไทยที่บรรยากาศชุ่มฉ่ำทั้งประเทศ ขอส่งความสุขและความปรารถนาดีมายังชาวเราทุกคน 

วันดีๆอย่างนี้ผมจึงขอถือโอกาสนี้ เล่าเรื่องดีๆให้ชาวเราได้รับรู้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมการจัดทำสภารังสีเทคนิคจากประสบการณ์ตรงที่สัมผัสได้ถึงความพยายามของชาวเราจำนวนหนึ่งมาอย่างยาวนาน ด้วยความอดทน มุ่งมั่น สุขุมและรอบครอบ ซึ่งขณะที่เขียนเล่าเรื่องนี้ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยให้เกียรติแต่งตั้งผม (ผู้เขียน) เป็นกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิค จะพยายามเล่าให้ได้ความมากที่สุด ในส่วนของความเห็นที่ปรากฏในการเล่าเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองครับ มิใช่ข้อสรุปหรือมติของคณะกรรมการยกร่างฯ  

🔻ปฐมบทเดินหน้าสู่สภารังสีเทคนิค

ความคิดเรื่องสภารังสีเทคนิคเริ่มมานานแล้ว เมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว เริ่มพร้อมๆกับที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยและพี่ๆนักรังสีเทคนิคหลายคน ช่วยกันจัดทำรายละเอียดเสนอกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอกำหนดให้วิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ และประสบความสำเร็จ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 (ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกานี้ถูกยกเลิก แต่ใจความสำคัญได้ยกไปไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556)  
คณะกรรมการวิชาชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ตั้งแต่ 2549)

เรื่องของสภามีความชัดเจนขึ้น เมื่อมีการคุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของ 5 สมาคมรังสีฯเมื่อ 13 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2549 ที่โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยมอบหมายให้ผม (ที่ปรึกษาสมาคม)ชวน 5 สมาคมรังสีฯคุยกันเรื่องอนาคตของรังสีเทคนิคไทยในมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพ ท่ามกลางชาวเราที่ร่วมรับฟังไม่ต่ำกว่า 150 คน รวมทั้งมีอาจารย์รังสีเทคนิคและนักรังสีเทคนิคต่างชาติจำนวนหนึ่งร่วมสังเกตุการณ์และรับฟังด้วย ในวงเสวนาวันนั้นเริ่มมีการพูดกันถึง "สภาวิชาชีพ" 


มีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งเมตตาผม comment ลงใน blog GotoKnow ที่ผมเขียนเกี่ยวกับการเดินหน้าสู่สภาวิชาชีพไว้นานหลายปีแล้วว่า "การก้าวขึ้นเป็นระดับสภา ดีครับ เพราะองค์ประกอบชัด กิจกรรมชัดและทำประโยชน์ได้ชัด มีพลัง"

ถัดจากนั้น การพูดคุยเสวนาเรื่องสภาวิชาชีพ เป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกกำหนดให้มีการอภิปรายในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมต่างๆเป็นครั้งคราว ในส่วนของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (สรท.) ซึ่งผมเป็นที่ปรึกษา ก็ได้มีโอกาสรับรู้ความเคลื่อนไหวของสมาคมฯอย่างสม่ำเสมอ ได้เห็นความตั้งใจของนายกสมาคมฯ คณะกรรมการอำนวยการ และพี่น้องนักรังสีเทคนิค ในการเดินหน้าจัดตั้งสภารังสีเทคนิค โดยมีชาวเราร่วมพลัง ร่วมใจเดินหน้าไปด้วยกัน 

ช่วง 4-5 ปีมานี้ ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (สรท.) มีการชวนสมาคมรังสีฯต่างๆมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น และ update ความคืบหน้าของการเดินหน้าสู่สภาแทบจะทุกครั้งของการประชุม ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันที่ดีขึ้นตามลำดับอย่างเห็นได้ชัด ว่าเราจะเดินหน้าไปสู่สภาเพื่ออะไร และจะเดินอย่างไร ซึ่งมีรายละเอียดที่ผมเคยเขียนเล่าเรื่อง "สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคเพื่อใคร" ไว้นานแล้ว  

ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น หากชาวเราปราศจากซึ่งความรักในวิชาชีพ ความมุ่งมั่นและความอดทน ปราศจากซึ่งความร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวแล้วไซร้ ก็ไม่น่าจะเดินมาถึงจุดที่วิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ และชาวเราได้เดินมาถึงจุดที่กำลังจะก้าวต่อไปสู่สภาวิชาชีพ จุดที่จะเล่าให้ฟังต่อไป

🔻เส้นทางสู่สภาเริ่มชัดเจน



สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (สรท.) ไม่ลดละความพยายามในการก้าวเดินสู่สภาฯ ได้เชิญชวนพี่น้องชาวเราจากสมาคมรังสีฯต่างๆมาร่วมปรึกษาหารือในการขับเคลื่อนสู่สภารังสีเทคนิคในหลายๆโอกาสเพื่อให้ "รังสีเทคนิคไทย รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เหลียวแลชาวประชา" อย่างจริงจัง

เมื่อความคิดเริ่มตกผลึก ประกอบกับความร่วมไม้ร่วมมือของชาวเรา ในเดือนสิงหาคม 2561 สรท.จึงได้จัดทำ "โครงการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งสภารังสีเทคนิค" (ขั้นตอน 1 , ดูรูปกระบวนการจัดทำสภารังสีเทคนิคประกอบ) เสนอมายังสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (ขั้นตอน 2) ซึ่งสำนักฯได้ส่งเรื่องให้ ก.ช. หรือคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ขั้นตอน 3)พิจารณา ก.ช.ได้พิจารณาแล้วและส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ (ขั้นตอน 4)และในการประชุมคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะเมื่อเดือนกันยายน 2561 ก็มีมติรับทราบ โดยทางกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีความเห็นให้ สรท. จัดทำร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิค เสนอมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้กองกฎหมายพิจารณา ถึงตอนนั้นอาจมีการให้ข้อคิดเห็นหรือปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม จากนั้นจึงจะดำเนินการให้พร้อมเพื่อเสนอไปยังสภานิติบัญญัติต่อไป ความนี้ได้แจ้งให้ สรท.รับทราบ (ขั้นตอน 5)เพื่อให้ สรท.ดำเนินการต่อไป

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2561 สรท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิคขึ้น (ขั้นตอน 6) มีนายสละ อุบลฉาย เป็นประธานกรรมการ มีรองประธาน 2 คนคือ ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ และนางสาวอำไพ อุไรเวโรจนากร มีกรรมการที่ปรึกษา 2 คนคือ นายภัทระ แจ้งศิริเจริญ (นักกฎหมาย) และรศ.มานัส มงคลสุข มีนางทิพวัลย์ หงษ์พงษ์ เป็นเลขานุการ และมีชาวเราจากภาคส่วนต่างๆร่วมเป็นกรรมการด้วยอีก 12 คน 

งบประมาณในการจัดการประชุมคณะกรรมการยกร่างฯ สรท.เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เช่น ค่าเดินทาง เบี้ยประชุม อาหาร สถานที่ ฯลฯ 

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน 6 เป็นขั้นตอนจัดทำร่างพรบ.ฯ โดยคณะกรรมการยกร่างฯ ที่ สรท.แต่งตั้ง ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการยกร่างฯ คือ จัดทำหลักการเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งสภารังสีเทคนิค และจัดทำร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิค 

คณะกรรมการยกร่างฯ ได้มีการประชุมครั้งแรกเริ่มเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ประชุมแล้ว 3 ครั้ง ทั้งสามครั้งจัดประชุมที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ซึ่งคาดว่าอาจต้องประชุมกันอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง จึงจะได้ร่างพรบ.ฯที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะจัดส่งให้ สรท. (ขั้นตอน 7) 

เมื่อ สรท.รับรองร่างพรบ.ฯแล้ว จะได้จัดส่งต่อไปยัง ก.ช. (ขั้นตอน 8) และคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ (ขั้นตอน 9) จากนั้น กองกฏหมาย (ขั้นตอน 10) จะพิจารณาอย่างละเอียด อาจมีการปรับแก้ถ้อยคำหรือเนื้อหาให้เหมาะสม ซึ่งในขั้นตอนนี้ (9-10-และต่อๆไป) เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ จนสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ หากรับรองทั้ง 3 วาระ ก็สามารถประกาศใช้ได้ 
การประชุมคณะกรรมการยกร่าง พรบ.วิชาชีพรังสีเทคนิค ครั้งที่ 1 (15 มกราคม 2562)
โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพ
ครั้งที่ 2 (26 กุมภาพันธ์ 2562) โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพ
ครั้งที่ 3 (10 เมษายน 2562) โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพ
🔻ทำไมต้องเป็นสภาวิชาชีพรังสีเทคนิค

หากมองเข้ามาที่ชุมชนของชาวเรา ชาวรังสีเทคนิคได้อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่า เป็นภารหน้าที่ที่รัฐต้องดูแลคุ้มครองประชาชนให้ได้รับการบริการด้านรังสีที่ดี ที่เหมาะสม มีมาตรฐาน ก็เปรียบเหมือนพ่อแม่ดูแลลูก (รังสีเทคนิค) ที่คอยประคบประหงม ให้เงิน ให้สถานที่ ให้ทุกๆอย่างที่เป็นความจำเป็นของลูก ในขณะที่ลูกยังไม่สามารถช่วยเหลือเลี้ยงดูตัวเองได้ เพื่อให้ลูก (รังสีเทคนิค) แข็งแรงพอที่จะสามารถดูแลประชาชนได้อย่างดี  

เชื่อว่าชาวเราหลายคน เมื่อรู้ว่ามีความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งสภาวิชาชีพรังสีเทคนิค ก็มีข้อสงสัย อยากรู้ว่าทำไมต้องเปลี่ยนเป็นสภาฯ อยู่เป็นคณะกรรมการวิชาชีพในการดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขก็สบายดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำไม?

โดยความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าในการเปลี่ยนผ่านจากคณะกรรมการวิชาชีพไปเป็นสภาฯ มีหลายมิติที่จำเป็นต้องพิจารณา มีทั้งข้อดี ข้อเสีย และความจำเป็น

            ➽ความจำเป็น/ข้อดี :

     1)ประชากรรังสีเทคนิคที่มีใบประกอบโรคศิลปะ เวลานี้ชุมชนรังสีเทคนิคเติบใหญ่จนมีสมาชิกเกือบ 5,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค มีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะทุกสาขารวมกัน เราน่าจะเป็นลูกที่โตและสามารถดูแลตัวเองได้แล้วหรือยัง? เราสามารถออกจากอ้อมอกของกระทรวงสาธารณสุขได้แล้วหรือยัง? มันถึงเวลาและมันเป็นความจำเป็นใช่หรือไม่?
     2)การพัฒนานักรังสีเทคนิคและ career path ชุมชนรังสีเทคนิคเติบโตกว่า 50 ปี มีความเจริญ มั่นคง ก้าวหน้ามาตามลำดับ สิบกว่าปีที่ผ่านมา มีลูกศิษย์หลายคนมาปรับทุกข์ว่า "อาจารย์ครับ (คะ) ให้เรียนรังสีเทคนิคตั้ง 4 ปี แล้วมาทำงานอยู่โรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ไม่เห็นมีอะไรมาก ไม่สนุกเลย" นั่นคือเสียงบ่นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มาตอนนี้เสียงบ่นแบบนี้เงียบไป แต่ผมก็ยังคิดว่า เราต้องมองอนาคตให้ชัดเจน "รังสีเทคนิคไทยจะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า" เพื่อที่ชาวเราจะสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง ปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ จะได้ไม่ตกอยู่ในสภาพที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปตามการบีบคั้นของกระแสการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้และเทคโนโลยีที่รวดเร็วและรุนแรง (disruption)

ในความเป็นอาจารย์ รู้สึกสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของชาวเราเหล่านั้น และห่วงใยในเส้นทางวิชาชีพของชาวเรา มันควรจะมีบันไดวิชาชีพรังสีเทคนิคให้ชาวเราได้ก้าวขึ้นไปเรื่อยๆอย่างมีความสุข ที่ไม่ใช่เป็นการเรียนในระดับปริญญาโทหรือเอกที่เน้นการวิจัยเพียงเส้นทางเดียว ควรมีทางเลือกอื่นด้วย 

สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้มากๆคือ หลังจากชาวเราจบปริญญาตรีรังสีเทคนิคและทำงานแล้วระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรมีเส้นทางที่ขยับก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นนักรังสีเทคนิคเฉพาะทาง (ขั้นสูง) เช่น CT, MRI, US ฯลฯ ในรูปของวุฒิบัตรเฉพาะทางที่ใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 12 เดือน โดยได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ เพื่อเพิ่มโพรไฟล์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับตัวเองและหน่วยงาน ถามว่า คณะกรรมการวิชาชีพทำเรื่องนี้ได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ แต่ทำได้ยาก ถ้าเป็นสภาวิชาชีพจะสามารถทำวุฒิบัตรเฉพาะทางได้ง่ายกว่า เรื่องนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ของวิชาชีพอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ชาวเรามีเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพจริงๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น และมีความสุข นี่เป็นข้อดีหรือไม่?

     3)อิสระและความคล่องตัว เมื่อเป็นสภาวิชาชีพแล้ว การออกข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและชาวเรา ให้ทันการทันเวลา สามารถทำได้อิสระ รวดเร็ว ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอนที่ทำให้เกิดความล้าช้าแบบที่ดำเนินการโดย ก.ช. สภาวิชาชีพจะเรียกประชุมกี่ครั้งทำได้ง่าย แล้วพิจารณาออกข้อบังคับเสนอรัฐมนตรีฯ เมื่อรัฐมนตรีเห็นชอบก็บังคับใช้ได้เลย นี่เป็นข้อดีหรือไม่

     ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสมาชิก เช่นขณะนี้ ใบประกอบโรคศิลปะของชาวเรากฎหมายกำหนดให้มีอายุ 5 ปี เมื่อครบกำหนดก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการต่ออายุ ค่าใช้จ่ายนี้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรัฐเป็นผู้กำหนด ก.ช.ไม่สามารถกำหนดได้ แต่หากเป็นสภาวิชาชีพ เราสามารถกำหนดเองได้เลย จะเอาแบบไหน มากน้อยก็ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรฐกิจในตอนนั้น นี่เป็นข้อดีหรือไม่

     4)ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่กล่าวย่อๆมาทั้ง 3 ข้อนั้น ดูเหมือนจะเน้นที่ว่า ชาวเราจะได้รับผลดีหรือประโยชน์อะไรบ้าง (self focus) แล้วผู้ป่วยหรือประชาชนจะได้อะไร หัวใจของมันก็ควรอยู่ตรงนี้เป็นสำคัญ อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ เมื่อเป็นสภาฯ สภาฯก็ต้องรับภาระนี้มาดูแลคุ้มครองประชาชนตามบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพรังสีเทคนิค (patient focus) และตัวอย่างความจำเป็น/ข้อดีที่กล่าวมาทั้งสามข้อ จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาชาวเราให้มีองค์ความรู้และก้าวหน้าในวิชาชีพ ส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ให้สมกับความมุ่งหมายที่ว่า "สภารังสีเทคนิคเพื่อประชาชน" นี่เป็นข้อดีหรือไม่

     ➽ข้อเสีย:

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้มีด้านเดียว เมื่อมีความจำเป็น มีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสียเป็นธรรมดา ข้อเสียที่ว่า อาจไม่เสียจริง เป็นความกังวลของชาวเราที่คุ้นชินกับสิ่งเดิมๆ กับคณะกรรมการวิชาชีพที่มีกระทรวงฯอุ้มชูด้วยงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของชาวเราและประชาชนทั่วไป เมื่อมีการจะปรับเปลี่ยนเป็นสภาวิชาชีพ ก็เกิดความกังวล ต้องเสียเงินเสียทองอีกแล้ว 

ชาวเราลองคิดถึงตอนที่เรานั่งรถยนต์ที่วิ่งไปบนถนนทางตรงก็จะนั่งสบายๆ เมื่อมาถึงทางโค้ง รถจำเป็นต้องเลี้ยงโค้งแล้ว ถ้าไม่เลี้ยวก็แหกโค้งตกถนนไป ทำให้ชาวเราได้รับบาดเจ็บหรือตาย ครั้นต้องเลี้ยวโค้ง ชาวเราที่นั่งไปบนรถด้วยกันก็จะถูกแรงเหวี่ยง ทำให้นั่งไม่สบายต้องคอยจับรถไว้ให้แน่นๆเพื่อสู้กับแรงเหวี่ยง เมื่อรถเคลื่อนผ่านโค้งมาถึงทางตรง แรงเหวี่ยงจะหมดไป ชาวเราที่นั่งมาด้วยกันก็ไม่ต้องเกร็งต้องจับรถแน่นๆเหมือนตอนเข้าโค้งแล้ว กลับมาสบายเหมือนเดิม มันก็เป็นธรรมชาติเช่นนี้เอง

🔻มุมมองช่วงเปลี่ยนผ่าน

จากคณะกรรมการวิชาชีพที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณาสุข สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการทุกอย่าง เช่น การประชุมคณะกรรมการวิชาชีพแต่ละครั้ง (ค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง เอกสาร สถานที่ ฯลฯ)การเลือกตั้งกรรมการวิชาชีพ เป็นต้น เมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นสภาวิชาชีพที่ดูแลตัวเอง มีประเด็นพิจารณา คือ 

     1)คณะกรรมการสภารังสีเทคนิค ในระยะแรกของการเป็นสภารังสีเทคนิค กรรมการสภาฯชุดตั้งไข่หรือเริ่มต้นที่จะทำหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาฯ คือกรรมการสภาฯโดยตำแหน่ง ซึ่งควรมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนายกสภาฯ เพราะยังไม่มีกรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกสภาฯทั้งหมด เรื่องนี้ถือว่าเป็นภาระอันหนักยิ่งของคณะกรรมการสภาฯชุดเริ่มต้น เพราะในการดำเนินกิจการทั้งหลายของสภาฯต้องใช้เงิน เงินงบประมาณจะมาจากไหน? การประชุมกรรมการ สถานที่ประชุม และที่เห็นชัดเจนและใช้เงินในระยะแรกเยอะมากคือ การจัดการเลือกตั้งกรรมการสภาฯที่มาจากสมาชิกสภาฯทุกคนร่วม 5,000 คน (ขณะนี้) ซึ่งเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว กรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปจากสมาชิกสภาฯ ก็เข้าไปร่วมเป็นกรรมการสภาฯอันทรงเกียรติ เป็นสภาฯที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อดำเนินกิจการของสภาฯต่อไป 

ชาวเราในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาฯ มีเวลาเตรียมตัวที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาฯตั้งแต่วินาทีนี้เลย เรื่องนี้มันเร็วไปไหมที่จะพูดตอนนี้ ตอบได้เลยว่าไม่เร็วเกินไป เพราะชาวเราที่ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องไม่ได้มาแบบเล่นๆสนุกๆขำๆ หรือเพื่อให้เป็นเกียรติประวัติของตัวเองว่าครั้งหนึ่งเคยได้รับเลือกจากชาวเราให้เป็นกรรมการสภาฯ ชาวเราที่มีจิตมุ่งมั่นศัรทธาอันแรงกล้า ที่จะดูแลและพัฒนาวิชาชีพรังสีเทคนิคให้เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของสังคม ต้องเตรียมความพร้อมให้เพียงพอในการที่จะเข้าไปรับผิดชอบการบริหารและดำเนินกิจการสภาฯในระยะตั้งไข่ และที่สำคัญคือ "ต้องพร้อมที่จะเป็นนายกสภาฯ" เพราะอะไรครับ? 

เพราะเมื่อเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้น ได้กรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ถึงตอนนี้องค์คณะกรรมการสภาฯก็สมบูรณ์ พร้อมจะเลือกนายกสภาฯขึ้นมาใหม่แทนท่านปลัดกระทรวงฯ นายกสภาฯคนที่จะได้รับเลือกใหม่นี้ต้องเป็นกรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น ในขณะที่สภาฯยังตั้งไข่อยู่นี้ นายกสภาฯคนนี้ต้องมีดีและเก่งรอบด้านจริงๆ รวมทั้งทีมงานด้วย ในการนำนาวาลำนี้ให้โลดแล่นไปได้อย่างราบรื่น มั่นคง ยั่งยืน ทั้งในระยะตั้งไข่และในระยะยาว

     2)ใบประกอบโรคศิลปะเดิมจะทำอย่างไร การเป็นสภารังสีเทคนิค จะมีสมาชิกสภารังสีเทคนิค และผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค แล้วนักรังสีเทคนิคที่มีใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคเดิมจะมีผลกระทบอะไรไหม? 

     ⧫ประการแรก นักรังสีเทคนิคที่มีใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคควรเป็นสมาชิกสภารังสีเทคนิคทันที 
     ⧫ประการที่สอง ใบประกอบโรคศิลปะฯจะต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนไปเป็นใบประกอบวิชาชีพของสภารังสีเทคนิค 

ทั้งสองประการนี้ มันมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านของมันและต้องใช้เงินอีกแล้ว ซึ่งสมาชิกสภารังสีเทคนิคอาจจำเป็นต้องช่วยจ่ายบ้าง ในวิสัยที่ชาวเราสามารถจ่ายได้ โดยให้เกิดเดือดร้อนน้อยที่สุด ที่สามารถทำให้สภารังสีเทคนิคดำเนินกิจการได้ เช่น จัดประชุมได้ จัดการเลือกตั้งได้ จัดทำใบประกอบวิชาชีพได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สภารังสีเทคนิคของชาวเราตั้งหลักได้ และมีความเข้มแข็งมั่นคงต่อไป นั่นก็คือเพื่อผลประโยชน์ของชาวเราทั้งในระยะสั้นและยาวนั่นเอง 

หากชุมชนรังสีเทคนิคบังเอิญมีชาวเราร่ำรวย และศรัทธาวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างยิ่งยวด บริจาคเงินให้สิบล้านบาทเพื่อใช้ดำเนินกิจการสภาฯ อันนี้ก็จะง่ายขึ้น แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนก็ยากคาดเดา เพราะความเป็นไปได้อาจเหมือนการซื้อล็อตเตอรี่เพื่อหวังถูกรางวัลที่หนึ่งก็เป็นได้ 

หากชาวเราคิดว่า ตัวเองไม่เห็นจะได้อะไรและยุ่งยากด้วย ในเมื่อไม่มีเงิน งั้นก็อยู่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการวิชาชีพให้กระทรวงฯดูแลไปแบบเดิมไม่ดีกว่าหรือ จะได้ไม่ต้องจ่ายเงิน 

คำถามคือ กระทรวงสาธารณสุขจะมองวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างไร? อย่างที่กล่าวไปแล้ว ถ้าดูตัวเลขจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะของทุกวิชาชีพรวมกันทั้งหมด เฉพาะจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคก็มีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว มากกว่าทุกวิชาชีพ และถ้าชาวเรายังคิดแบบนี้ ขอให้ชาวเราย้อนกลับไปดูความจำเป็นและข้อดีของการเป็นสภาฯที่กล่าวมาแล้ว 


🔺“หากเราไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะมีเส้นทางบังคับให้เราไปเป็นแบบนั้น” ...ซึ่งมันอาจไม่ใช่แบบที่เราควรเป็น และผมเชื่อมั่นว่าชาวเราไม่ต้องการแบบนี้

แม้ว่าการเตรียมการสู่สภารังสีเทคนิคได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว แต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ต้องใช้เงินสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง (ใครจะ support อีกไหม?) เส้นทางเดินต่อไปข้างหน้าไม่ง่ายเหมือน flow chart ที่แสดงในรูปข้างบน ยังต้องฝ่าฟันหลายด่าน แต่ละด่านไม่ธรรมดา ชาวเราต้องอดทน คณะทำงานต้องมีกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต้องใช้พลังความสามัคคีของชาวเราที่ไม่หวั่นไหวว่าเราจะเป็นสภาฯ ไม่เสียขวัญ เชื่อมั่นว่าการเป็นสภาฯดีกว่าก.ช. คือต้องใช้พลังบวกทั้งหมดที่ชาวเรามีเอามาหลอมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เกิดพลังพิเศษในการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จที่มุ่งหมายร่วมกัน

🔺May the force be with Thai RT community.


Related Links:
1.สภาวิชาชีพรังสีเทคนิคเพื่อใคร?
2.รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า
3.วันรังสีเทคนิคโลก vs สภารังสีเทคนิคไทย


วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562

ใบประกอบโรคศิลปะรังสีเทคนิคมีอายุ 5 ปี บังคับใช้แล้ว

(1,614 ครั้ง)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2545 กฎหมายกำหนดให้ รังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะ หรือต้องมี license (กฤษฎีกากำหนดให้รังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ) ซึ่งได้มีการยกเลิกกฤษฎีกาฉบับนี้แล้ว แต่ได้ยกเนื้อหาทั้งหมดพร้อมมีการปรับปรุงเพิ่มเติมไปไว้ใน พรบ.ประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่4)พ.ศ. 2556 
หลังจากที่ได้กำหนดให้ต้องมี license เมื่อ 2545 เป็นต้นมาแล้วนั้น ก็มีการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนและขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ครั้งแรกเมื่อ 2547 และประกาศเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ให้นักรังสีเทคนิคจำนวน 56 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 25 ปี เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคกลุ่มแรก โดยการสอบคราวนั้นไม่ต้องสอบข้อเขียน
ตั้งแต่ พฤษภาคม 2547 จนสิ้นปี 2547 มีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวหลายฉบับออกมาบังคับใช้ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขียนถึงนี้ ได้แก่
🔻ระเบียบกระทรวงสาธารณาสุขว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (10 สิงหาคม 2547)ซึ่งต่อมาได้ยกเลิก โดยใช้จรรยาบรรณากลาง พ.ศ. 2559 แทน 
ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2547 นักรังสีเทคนิค 1,256 คน เข้าสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค นั่นเป็นจำนวนมากที่สุดที่นักรังสีเทคนิคเข้าสอบ แล้วก็มีการสอบเรื่อยมาทุกปี จนปัจจุบันมีนักรังสีเทคนิคขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 4,673 คน ทุกคนมี license รังสีเทคนิคที่ไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ ภายใต้บังคับของกฎกระทรวง พ.ศ. 2547
บรรยากาศการสอบ License เมื่อ 12 ธค 2547
ล่าสุด ได้มีกฎกระทรวงออกมาใหม่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ว่าด้วยการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 2 )  เป็นการเพิ่มรายละเอียดกฎกระทรวงที่ใช้ในปี 2547 เพิ่มเรื่องอายุของ license กำหนดให้มีอายุ 5 ปี เข้าไปในกฎกระทรวงนี้ 
ดังนั้น บัณฑิตรังสีเทคนิคทั้งที่เพิ่งจบและที่ยังตกค้างสอบไม่ผ่าน ที่จะเข้าสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ หากสอบผ่าน จะได้ license ที่มีอายุ 5 ปี และต่ออายุได้ตามเงื่อนไขที่กรรมการวิชาชีพฯกำหนด
ประเด็นน่าสนใจ คือ กฎใหม่นี้บังคับใช้กับผู้ที่มี license อยู่เดิมก่อนกฏกระทรวง 2562 จะบังคับใช้หรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากยังต้องมีการตีความกฎกระทรวงอันใหม่นี้ ซึ่งคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคกำลังดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไปโดยเร็ว

Related Links:
กฎกระทรวง พ.ศ. 2562