วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

9th RT Consortium ทำให้ขนลุก

เมื่อวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2554 ผมได้เดินทางไปสัมมนาสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค ครั้งที่ 9 (9th RT Consortium) ในฐานะผู้แทนจากมหิดล ซึ่งครั้งนี้ ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพ และได้พาพวกเราขึ้นไปสัมมนาบนดอยแม่ริม ที่ภูอิงฟ้า รีสอร์ท สูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตร 
ลำธารในภูอิงฟ้าหน้าห้องพัก
ดูจากสภาพทั่วๆไปรีสอร์ทน่าจะมีอายุทีเดียว อยู่ใกล้แหล่งผลิตน้ำแร่ออล่า น้ำที่ใช้ในรีสอร์ทก็เป็นน้ำแร่ที่รีสอร์ทผลิตเอง บรรยากาศดีมาก กลางวันสภาพอากาศเย็น-อุ่น-ร้อนนิดๆ(เมื่อมีแสงแดด) แต่ตอนกลางคืนหนาว เช้ามืดประมาณตีห้า อุณหภูมิ 10 องศา ผมได้พาครอบครัวไปด้วย ต่างบอกว่าไม่เสียเที่ยว อาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เชียงใหม่ทุกคนดูแลดีมากๆ สนุกมาก และได้มีโอกาสไปชม  สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ปางช้าง และไหว้พระที่วัดป่าดาราภิรมย์ สัมผัสธรรมชาติ ป่าไม้ ดอกไม้ และอิ่มบุญ  

ส่วนผมเองมีปัญหาเล็กน้อย เพราะวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ต้องตื่นนอนตี 3 เพื่อเดินทางไปสุวรรณภูมิ ขึ้นเครื่อง 6.00 น เดินทางถึงสนามบินเชียงใหม่ 7.00 น แล้วเดินทางต่อไปที่อำเภอแม่ริมด้วยรถยนต์ ถึงภูอิงฟ้า รีสอร์ท 9.00 น ภรรยาและลูกที่มาด้วยเข้าที่พักหลับเลย ส่วนผมเริ่มสัมมนา 9.30 น ถึง 22.30 น (สี่ทุ่มครึ่ง) ง่วงมากเลยครับ


เดินเข้าห้องพัก

สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ไม่บอกก็รู้ว่า ปางช้าง


หน้าเรือนพักหลังแรก
มีเรื่องลุ้นชวนให้ขนลุกและตื่นเต้นอีกเล็กน้อย คือช่วงที่เริ่มสัมมนาจาก 9.30 น. ไปซักหนึ่งชั่วโมง ภรรยาผมซึ่งปกติเป็นคนที่มี sense พิเศษในเรื่องพิศวง โทรศัพท์มาหาและแจ้งว่า ขณะนอนหลับกับลูกชาย ปรากฏว่า ภรรยาผมฝันไปว่า ที่บนเตียงนอนมีผู้ชายมานอนอยู่ด้วย มองไม่เห็นหน้า และเอามือมาจี้ที่เอว ทำให้รู้สึกจั๊กจี๋ ทำให้นอนไม่หลับ ในฝันเหมือนรู้สึกตัว และตะโกนเรียกลูกชายให้ช่วย แต่ลูกชายหลับไม่รู้เรื่องเลย ในฝันภรรยาผมจึงลุกขึ้นแล้วหันไปมองที่เตียง จึงได้รู้ว่ามีผู้ชายมานอนอยู่ด้วย แต่ไม่เห็นหน้า จากนั้น ภรรยาผมสะดุ้งตื่น ปลุกลูกชายแล้ว รีบโทรหาผมทันที ผมทราบเรื่องก็ปลอบใจว่าไม่น่ามีอะไร แต่เพื่อความสบายใจ ย้ายห้องพักดีกว่า ซึ่งทางรีสอร์ทก็จัดการย้ายให้เป็นที่เรียบร้อย ระหว่างย้ายห้องก็พากันไปไหว้ศาลภูมิที่รีสอร์ท และตั้งจิตอธิษฐานว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ และอาจารย์ชัชนกกรุณานำพระมา 1 องค์มอบให้ภรรยาผมเพื่อความอุ่นใจ ต่อจากนั้น ภรรยาและลูกก็นอนหลับต่อไป ผมก็ไปสัมมนาต่อจนเสร็จ ไม่ฝันอีกเลย
เนื้อหาที่คุยกันคราวนี้อยู่ที่ มคอ. 1 หรือ มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขารังสีเทคนิค ซึ่งเป็นภาคบังคับที่อยู่ในประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) ซึ่งประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 และทุกสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค จะต้องนำ มคอ.1 ไปใช้เป็นหลักในการปรับปรุงหลักสูตรให้เสร็จเพื่อให้สามารถใช้ได้ทันในภาคต้นปีการศึกษา 2555 หลักสูตรของมหิดลก็กำลังอยู่ในกระบวนการปรับปรุงและต้องนำ มคอ.1 นี้มาเป็นแนวทางด้วย ประกอบกับให้สอดคล้องกับสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคจาก ก.ช. อีกด้วย
ไหว้พระที่วัดป่าดาราภิรมย์
ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งรอบๆวัดเขียนข้อความว่า
"ทุกคนได้ความแก่เฒ่ามาฟรี แต่คุณค่า ความดีต้องสร้างเอง"
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

มคอ.1 ที่เราคุยกันจนได้ข้อสรุปเป็นที่แน่นอนแล้วประกอบด้วย
. ชื่อสาขา/สาขาวิชา
. ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
. ลักษณะของสาขา/สาขาวิชา
. คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์
. มาตรฐานผลการเรียนรู้
. องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
. โครงสร้างหลักสูตร
. เนื้อหาสาระสำคัญของสาขา/สาขาวิชา
. กลยุทธ์การสอนและการประเมินผลการเรียนรู้
๑๐. การทวนสอบมาตรฐานผลการเรียนรู้
๑๑. คุณสมบัติผู้เข้าศึกษาและการเทียบโอนผลการเรียนรู้
๑๒. คณาจารย์และบุคลากรสนับสนุนการเรียนการสอน
๑๓. ทรัพยากรการเรียนการสอนและการจัดการ
๑๔. แนวทางการพัฒนาคณาจารย์
๑๕. การประกันคุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
๑๖. การนำมาตรฐานคุณวุฒิฯ สู่การปฏิบัติ
๑๗. การเผยแพร่หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิฯ ซึ่งบันทึกในฐานข้อมูลหลักสูตรเพื่อการเผยแพร่ (Thai Qualifications Register: TQR)
๑๘. รายชื่อและหน่วยงานของคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิฯ
๑๙. ภาคผนวก

ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด ทุกสถาบันจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ หากลำดับเหตุการณ์ (Milestones) ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ได้เป็นดังนี้ครับ
          เมษายน 2553 ครั้งที่ 6 ขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ คุยกันเรื่อง มคอ.1 แล้ว ตอนนั้นเราไม่กล้าที่จะรับเป็นที่ปรึกษาของ สกอ. เพื่อทำ มคอ.1  เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทันหรือไม่ เพราะมีเวลาทำ 6 เดือนหลังจากตกลงกับ สกอ. แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ขอนแก่นเราได้คุยกันจนได้ คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ Learning Outcome หรือมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน
          กรกฎาคม 2553 ครั้งที่ 7 มหิดลเป็นเจ้าภาพ ยืนยันคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ Learning Outcome หรือมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน และคุยกันต่อลึกลงไปถึงเนื้อหาขั้นต่ำที่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ควรมี เลยไปถึงการพิจารณา Curriculum Mapping ของรายวิชาในแต่ละสาขาด้วยแต่ไม่เสร็จสมบูรณ์
          พฤศจิกายน 2553 ครั้งที่ 8 โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นเจ้าภาพคุยกันต่อลึกลงไปถึงเนื้อหาขั้นต่ำที่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ควรมี รวมถึงการพิจารณา Curriculum Mapping ของรายวิชาในแต่ละสาขาจนครบถ้วน
          กุมภาพันธ์ 2554 ครั้งที่ 9 เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ ได้ มคอ.1 ต่อไปก็คงต้องผ่านกระบวนการที่นำไปสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการโดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และคงคิดถึงรื่องชวนขนลุกไปอีกนานทีเดียว
          ครั้งที่ 10 นเรศวรเป็นเจ้าภาพครับ ยังไม่กำหนดวันที่แน่นอน แต่คาดว่าจะเป็นช่วงฤดูหนาว


2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นสรุปข่าวการสัมมนาที่น่าชื่นชมมากค่ะ ทำให้เป็นภาพของการทำงานควบคู่ไปกับการพักผ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอขอบคุณอาจารย์ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีคะ
    ชัชนก มช

    ตอบลบ
  2. มคอ.๑ ข้อ ๔ เกี่ยวกับ คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ มีรายละเอียดดังนี้

    ๔.๑) มีความรอบรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และศาสตร์ทางคลินิก ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพรังสีเทคนิค สามารถประยุกต์องค์ความรู้ได้อย่างเหมาะสมในการปฏิบัติงานในวิชาชีพ และการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น
    ๔.๒) ตระหนักในบทบาทและมีความรับผิดชอบทั้งบริบท ทาง วิชาการ วิชาชีพและชุมชน
    ๔.๓) สามารถปฏิบัติงานในศาสตร์ต่าง ๆ ทางรังสีเทคนิคได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ กฎ ระเบียบ และจรรยาบรรณวิชาชีพ ที่กำหนดไว้ในสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพ
    ๔.๔) มีคุณธรรม จริยธรรม เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความเอื้ออาทร มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีภาวะผู้นำ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานเป็นทีมกับสหวิชาชีพ
    ๔.๕) มีความสามารถในการประเมินสถานการณ์ ลักษณะและระดับความรุนแรงของปัญหาและจัดการกับปัญหาได้อย่าง เหมาะสม
    ๔.๖) มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารและใช้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศและศัพท์ทางเทคนิคในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงสามารถใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี
    ๔.๗) มีทักษะการวิจัย การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา ในการตัดสินใจและการปฏิบัติอย่างเหมาะสม
    ๔.๘) สามารถใช้การวิเคราะห์เชิงตัวเลข และใช้สถิติได้อย่างเหมาะสมในวิชาชีพ

    ตอบลบ