วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

X-rays และเวลา ทำให้คนเสมอภาคกัน


x-rays

     สนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำสลับกันไปมาด้วยความถี่สูงมากๆ แผ่ออกไปเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า x-rays ก็เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และมีความถี่สูงมากๆ เป็นคลื่นชนิดเดียวกับคลื่นวิทยุ คลื่นโทรทัศน์ อินฟราเรด แสงสว่างที่ตามองเห็น อุลตร้าไวโอเลต และรังสีแกมมา 
     ถ้าปล่อยให้ x-rays เคลื่อนที่ในที่ว่างเปล่าหรือในสุญญากาศ มันจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับความเร็วของแสงในสุญญากาศเช่นกัน แต่ถ้าเคลื่อนที่ในอากาศ ความเร็วของมันจะน้อยกว่าความเร็วแสง เพราะมันเสียพลังงานระหว่างเคลื่อนที่ไปในอากาศโดยการชนอะตอมของอากาศ ขณะนี้ยังไม่พบสิ่งที่เคลื่อนที่เร็วกว่าแสง แม้ปลายปี พ.ศ. 2554 จะมีการเปิดเผยในตอนแรกว่า อนุภาคนิวตริโนเคลื่อนที่เร็วกว่าแสง แต่ภายหลังจากการเปิดเผยไม่กี่เดือนก็มีการออกมายอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากการวัด หมายความว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่า อนุภาคนิวตริโนเคลื่อนที่เร็วกว่าแสง
     แต่สำหรับ x-rays นั้นยังมีคุณสมบัติทะลุทะลวงสูง ระหว่างที่ x-rays เคลื่อนผ่านเข้าไปในร่างกาย อวัยวะต่างๆในร่างกายจะดูดกลืนไว้ไม่เท่ากัน กระดูกจะดูดกลืนมาก ปอดจะดูดกลืนน้อย เป็นต้น x-rays ที่ทะลุผ่านออกมาจึงไม่เท่ากัน เมื่อตกกระทบฟิล์มรับภาพ จึงปรากฏเป็นภาพอวัยวะภายในร่างกาย ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ 

     x-rays เมื่อเข้าสู่ร่างกายของทุกคน มันจะคุยกับอะตอมของร่างกายด้วยภาษาเดียวกันหมดไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ภาษาหลักคือ ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กตริกและปรากฏการณ์คอมพ์ตัน คุยกันสนุกสนานจนบางส่วนฟุ้งออกมาเป็นละออง x-rays หรือละอองรังสีเอกซ์ หรือรังสีกระเจิงนั่นเอง เรียกละอองรังสีซะบ้างมันเป็นภาษาบ้านๆดี เหมือนละอองฝนฟังนุ่มหูดีครับ แต่ละอองฝนก็ทำให้เราเป็นหวัดไม่สบายได้  หรืออาจคิดถึง x-rays กับอะตอมคุยกันก็เหมือนคนขี้โม้ที่คุยๆๆๆ จนน้ำลายแตกฟองกระเด็นออกมา เป็นละอองน้ำลายต้องคอยหลบดีๆ ไม่งั้นเหม็นขี้ฟัน ละอองรังสีเราก็ต้องหลบหรือป้องกันไม่ให้มาโดนเราเหมือนกัน

     "x-rays ส่องชีวิต" คำนี้ไม่เกินความจริงครับ เพราะ x-rays สามารถส่องโปรตีน โครงสร้างของผลึก โครงสร้างของ DNA ตามที่ผมเคยเขียนไปแล้วเรื่อง "รังสีส่องชีวิต"  มันส่องทุกคนเหมือนกันหมด ไม่มีใครต่อต้านได้
      x-rays สามารถทะลุผ่านร่างกายคนเราโดยไม่ลำเอียง ไม่เลือกชั้นวรรณะ-การศึกษา หญิง-ชาย เด็ก-ผู้ใหญ่ คนดี-คนเลว รวย-จน ป.1-ป.เอก เหมือนกันหมด x-rays ไม่เคยแหยงกระดูกของเศรษฐี ไม่เคยยะโสกับกระดูกของยาจก x-rays จัดให้เท่ากันหมด ไม่สองมาตรฐาน เป็นความคงเส้นคงวาของ x-rays ที่มีมาช้านานแล้ว น่าจะเริ่มตั้งแต่จักรวาลกำเนิด และมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

Related Links:
รำลึก 115 ปีแห่งการค้นพบ X-rays
รังสีส่องชีวิต


เวลา 

      เวลาและวารีไม่เคยคอยใครจริงไหม ในวันหนึ่งๆ มีความยาวนานของเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง (23 ชั่วโมง 56 นาที) เหมือนกันหมดทุกคนเช่นกัน ไม่มีการลำเอียง 
     เวลา 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน หากเราใช้เวลาในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่หมด ก็ไม่อาจนำเวลาที่เหลือในแต่ละวันมาใช้ใหม่ในวันถัดไปได้ หมดแล้วหมดเลย ผ่านแล้วผ่านเลย มักได้ยินคำพูดว่า "หากย้อนเวลาได้ ฉันจะ......" 
     มีหินก้อนใหญ่  หินก้อนเล็ก และทราย ซึ่งสามารถใส่ลงในกะละมังได้พอดี เราจะใส่อะไรลงไปในกะละมังก่อนและหลังดีล่ะ จึงจะสามารถใส่ได้หมด....คิดๆๆๆๆๆ..... 
     คำตอบคือใส่หินก้อนใหญ่ลงไปก่อน ตามด้วยหินก้อนเล็ก และปิดท้ายด้วยทราย ใส่ลงไปทีหลัง วิธีนี้จะทำให้ใส่ทุกอย่างลงในกะละมังได้หมด แถมยังเทน้ำลงไปได้อีกนะ หากไม่เชื่อก็ลองใส่ทรายลงไปก่อน แล้วตามด้วยก้อนหิน รับรองได้ว่า ไม่มีทางที่เราจะใส่ได้หมดหรอก  เพราะทรายมันได้เข้าไปกินที่ในกะละมังด้านล่างขึ้นมาแล้ว
     อันนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า เราควรทำงานที่มีความสำคัญสูงสุดเสียก่อนเป็นอันดับแรก (หินก้อนใหญ่) ตามด้วยงานที่มีความสำคัญลองลงมา (หินก้อนเล็ก) ส่วนงานเล็กๆน้อยๆไม่มีความสำคัญ (ทราย) ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ เลือกทำทีหลังจะดีที่สุด อย่าไปทำก่อน จะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ 
     ในที่สุดก็มีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ เวลาของทุกคนเท่ากัน จะใช้เวลาไปกับทรายหรือหินก้อนใหญ่ก่อนกัน ก็คิดดูดีๆนะครับ 
     เวลามันเดินของมันไปเรื่อย เวลาไม่เหมือนกับการฝากเงินไว้กับธนาคาร เรากดเงินออกมาใช้ไม่หมดในวันนี้ วันพรุ่งนี้ เงินส่วนที่เหลือก็ยังคงอยู่ในธนาคารและมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น แต่เวลาฝากใครที่ไหนไม่ได้ ไม่มีธนาคารเวลา มีแต่จินตนาการในหนังที่ซื้อขายเวลากันได้
     ในโลกแห่งความเป็นจริง ความรู้สึกในหนึ่งวันของแต่ละคนอาจสั้น-ยาวไม่เท่ากัน เช่น คนจนอาจรู้สึกว่าวันหนึ่งช่างแสนยาวนานเหลือเกิน แต่กับคนรวยวันหนึ่งอาจดูรวดเร็วเหลือเกิน มันต่างกันในความรู้สึก ความเป็นจริงก็คือ 24 ชั่วโมงในหนึ่งวันนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น