วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21


(1,210 ครั้ง)

คุณคิดว่านิยายวิทยาศาสตร์ที่เราเห็นในหนังฮอลลีวู้ดจะเป็นจริงได้ไหมในศตวรรษที่ 21 ?” เป็นคำถามที่หลายคนอาจบอกว่า เป็นไปไม่ได้มันก็แค่หนังเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่หลายคนก็อาจมีจินตนาการบรรเจิดว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จากบทความที่ปรากฏใน CNN เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้จั่วหัวว่ามันจะเกิดขึ้นได้และเร็วกว่าที่เราคิด

ขอเริ่มด้วยการพิจารณาอารยธรรมที่มีอยู่ในจักรวาล
ศาสตราจารย์มิชิโอะ คาคุ นักฟิสิกส์ทฤษฎีที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา เป็นอาจารย์ที่ City University of New York และเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ Paul Lauterbur เจ้าของรางวัลโนเบลจากผลงาน MRI เมื่อปี 2546 ได้บรรยายในการประชุม Global Competitiveness Forum (GCF2011) ที่เมือง Riyadh ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคม 2554 โดยได้แสดงความเห็นว่า ในเอกภาพเมื่อกล่าวถึงอารยธรรมของมนุษย์และ ALIENS สามารถแบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ๆ
อารยธรรมแบบที่ 1 คืออารยธรรมที่สามารถควบคุมพลังงานทั้งหมดของโลกได้ เช่น ควบคุมแผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ท้องทะเล ลมฟ้าอากาศ
อารยธรรมแบบที่ 2 คืออารยธรรมที่สามารถควบคุมพลังงานทั้งหมดของดวงดาวได้ เช่น การควบคุมลูกอุกาบาตที่จะพุ่งเข้ามาชนโลกและดวงดาวอื่นๆ การควบคุมดวงดาวและโลกให้มีการเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ในที่ที่ต้องการ การสร้างดวงดาวขึ้นใหม่หรือการทำลายดวงดาวที่ไม่ต้องการ การทำให้ดวงอาทิตย์ดับลงรวมถึงการทำให้ดวงอาทิตย์กลับสว่างไสวขึ้นอีก
อารยธรรมแบบที่ 3 คืออารยธรรมที่สามารถควบคุมแกแล็กซี่ได้ ควบคุมพลังงานของดวงดาวทั้งหมด อารยธรรมนี้มองหลุมดำเป็นเพียงแค่ของเล่น




แล้วมนุษย์โลกจัดอยู่ในอารยธรรมแบบไหน?
คำตอบคือ อารยธรรมแบบที่ศูนย์ คือเป็นอารยธรรมที่กำลังพยายามจะขยับตัวเองขึ้นมาควบคุมโลก คงต้องใช้เวลาอีกหลายร้อยปีกว่าจะเป็นไปได้ เช่นตัวอย่าง แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อว้นที่ 11 มีนาคม 2554 และติดตามมาด้วยการเกิดคลื่น Tsunami มนุษย์ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่ามันจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในวันนั้น อย่างไรก็ตาม เราได้ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2000 ได้ 10 ปีแล้ว ในปีนี้ศาสตราจารย์มิชิโอะ คาคุ ได้เผยแพร่หนังสือเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง “Physics of the Future” เป็นหนังสืออยู่ในบัญชีที่ขายดีที่สุด 5 สัปดาห์ติดต่อกันของ “The New York Times” เป็นหนังสือที่เขียนโดยใช้หลักฐานงานค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ นำมาสู่การพยากรณ์โลกในอนาคต ในศตวรรษที่ 21 จะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น

      E-paper และ E-wall paper ที่สามารถแสดงข้อมูลที่เป็นภาพและเสียงตอบสนองจินตนาการของมนุษย์อย่างไร้ขีดจำกัด ปัจจุบันเริ่มมีการนำ E-paper (Electronics Paper) มาใช้กับโทรศัพท์มือถือ (Flexible Phone) แล้ว ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมกันระหว่าง Human Media Lab, Queen's University, Canada และ Arizona State University's Motivational Environments Research Group อีกไม่เกิน 5 ปีน่าจะได้ใช้งานจริง

Internet Contact Lens มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน โดย Babak Amir Parviz ได้สร้าง Contact Lens ต้นแบบที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เนตได้ สามารถแสดงข้อมูลทำให้ผู้สวมใส่สามารถเห็นข้อมูลที่ต้องการได้เช่นเดียวกับการมองจากจอคอมพิวเตอร์ ต่อไป เราสามารถที่จะพูดคุยโต้ตอบกับชาวต่างชาติที่พูดคนละภาษากับเราได้อย่างเข้าใจทั้งที่เราพูดและฟังภาษาของเขาไม่ได้ แต่เราสามารถทราบความหมายได้จากการมองคำแปลที่ Contact Lens 
Disposable Scrap Computer ในสำนักงานเราจะได้เห็น Disposable Computer ซึ่งจะเป็นระบบ Hardware ที่ออกแบบให้มีขนาดเล็ก แต่ทำงานได้เหมือนเครื่องใหญ่ ใช้ได้ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้งเลย ระบบคอมพิวเตอร์จะเน้นที่ส่วนเก็บข้อมูลและ software
Driverless Cars เราจะได้เห็นรถที่พาเราไปไหนต่อไหนบนท้องถนนโดยไม่ต้องมีคนขับ แต่ควบคุมด้วย GPS Radar
Smart Pills ผลจากพัฒนาการด้านนาโนเทคโนโลยี เกิดการปฏิวัติทางด้านเทคโนชีวภาพ (Biotechnology) ทำให้เกิดแคปซูลเม็ดขนาดเล็กที่ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมากและกล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กเช่นกัน ซึ่งสามารถสำรวจภายในร่างกายของเรา เสมือนเรือดำน้ำสำรวจใต้มหาสมุทร ภาพของอวัยวะในร่างกายของเรา ถูกส่งออกมาให้ได้เห็นอย่างชัดเจน ในแคปซูลเม็ดขนาดเล็กยังติดตั้งอุปกรณ์รักษาโรคเข้าไปด้วยเรียกว่า Smart Bomb เช่นการใช้รังสีที่บรรทุกใส่แคปซูลไปด้วย แล้วทิ้งบอมบ์ตรงเซลล์ที่ผิดปกติ
Toilet Doctor ห้องน้ำฉลาดสามารถตรวจร่างกายของเราได้ เมื่อเราเข้าไปทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ มันจะสามารถบอกเราได้ว่า เรารับประทานอาหารอะไรเข้าไปมากเกินไป อะไรที่พอดี และอะไรที่น้อยเกินไป อะไรที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยการใช้ Nanosensor Chip ทำให้ทราบภาวะการณ์ของโรคมะเร็งที่จะเกิดขึ้นแต่เนิ่นๆเพื่อการรักษาที่ได้ผล
Tricorders ขณะนี้เราทราบว่ามีเครื่อง MRI ช่วยวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็น Microfluidic MRI ที่สามารถวิเคราะห์เลือดได้ เครื่อง MRI จะมีขนาดเล็กที่สุดได้แค่ไหน ในอนาคตจะได้เห็นเครื่อง MRI มีขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือ นี่แหละคือ Tricorders หากใครที่เคยดูภาพยนต์เรื่อง Star Trek ในนั้นมีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งเรียกว่า Tricorders มีขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือที่ใช้วินิฉัยโรค เป็นจินตนาการในภาพยนต์ที่เกิดนานแล้ว ในอนาคตมันจะเป็นจริง
Telepathy จากการศึกษาการทำงานของสมองด้วย MRI ได้เริ่มรู้ถึงส่วนของสมองที่สามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ (Brain Computer Interface) และหุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์กับสมองมนุษย์เชื่อมต่อกันอย่างน่าอัศจรรย์ นำไปสู่งานวิจัยที่ทำให้เกิดพจนานุกรมแห่งความคิด (Dictionary of Thought) การใช้ความคิดควบคุมสิ่งของต่างๆ การอ่านความคิดของคนอย่างแม่นยำ จะไม่เป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไปแล้วในอนาคตอันไม่ไกล
Teleportation การเคลื่อนย้ายวัตถุจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยการเปลี่ยนวัตถุให้เป็น Photon เมื่อส่งออกไปถึงที่หมายแล้วจะทำการเปลี่ยน Photon ให้กลับมาเป็นวัตถุ ปัจจุบันนักฟิสิกส์ทำการเคลื่อนย้ายอะตอมได้แล้ว ต่อไปก็จะทำการเคลื่อนย้าย โมเลกุล สารประกอบ DNA เป็นต้น แนวคิดนี้เราได้เห็นในภาพยนต์ Star Trek มาแล้วที่ทำการเคลื่อนย้ายมนุษย์ด้วยวิธ Teleportation แรงบันดาลใจในการวิจัยเรื่องนี้คือการลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายวัตถุ  
Invisibility Cloak อย่าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้วิจัยเกี่ยวกับการหายตัว การทำให้วัตถุมองไม่เห็น เหมือนผ้าคลุมวิเศษในภาพยนต์เรื่องแฮรี่พอตเตอร์ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นภายในศตวรรษที่ 21

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับหลายๆคน ขอทิ้งท้ายไว้ว่า
การมองอนาคต เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ มันช่วยให้เรา องค์กรของเราก้าวเดินหรือวิ่งไปอย่างมั่นใจขึ้น มีคำกล่าวที่น่าสนใจว่าไว้ดังนี้ ทิศทางสำคัญกว่าความเร็ว ไม่ทราบจริงไหมลองช่วยกันคิดครับ
หากมองเป็นปัญหาทางฟิสิกส์ เช่นเราขับรถให้ถูกทิศทาง ถึงจะใช้ความเร็วต่ำหน่อยแต่ปลอดภัยกว่าและก็ถึงที่หมายได้ เมื่อเทียบความเร็วกับคู่แข่งแล้วไม่แตกต่างกันมากก็น่าจะพอใจระดับหนึ่ง
ขับเร็วเกินไป ดูเหมือนนำหน้าคู่แข่ง แต่เร็วมากก็ดูอะไรไม่ค่อยทัน อาจทำให้หลงทิศ และอาจไม่ถึงที่หมาย แถมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงด้วย
หากมองการทำงานเชิงกลยุทธ์ การก้าวเร็วเกินไปแต่ผิดทิศทาง หรือทิศทางไม่ชัดเจน หรือไม่แน่ใจในทิศทาง อาจไปไม่ถึงเป้าหมาย ต้องย้อนกลับมาตั้งหลักใหม่ จะยิ่งทำให้เสียเวลามาก การก้าวไปช้าหน่อยแต่ทิศทางชัดเจนถูกต้อง ถึงเป้าหมายได้และทำให้เสียเวลาน้อยกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่ง (คู่ร่วมเดินทาง) ถ้าสูสีก็ OK แล้วครับ
จำนวนผู้อ่านบทความนี้ 1,210 ครั้ง (10พค2554-1ตค2556)

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12 พฤษภาคม 2554 เวลา 15:01

    โลกศตวรรษที่ 21 มีอะไรที่นึกไม่ถึงจริงๆอาจารย์ มันจะเป็นไปได้หรือเปล่ายังสงสัยมั่กๆ แต่ดูแล้วมันก็อาจเป็นไปอย่างนั้นแหล่ะ มันมีวิจัยด้วยเลยน่าเชื่อขึ้น

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ14 พฤษภาคม 2554 เวลา 08:53

    Termpong Crowzila Sriart
    เนมีความคิดกับหนัง Hollywood ตลอดเลยว่า หนังของ Hollywood แต่ละเรื่องนั้น เอาแนวคิดที่อิงจากวิทยาศาสตร์มาสร้าง ทุกอย่างล้วนเป็นจริงได้ แต่เรื่องมันน่าทึ่งตรงที่ว่า ไม่ว่าหนังจะเก่าเกิน 30 ปีขึ้นไป แต่คนคิดเรื่องในสมัยนั้น เค้าคิดได้ล้ำไปมากกว่ายุคเรามากๆ เนว่ามันน่าทึ่งมากๆ น้อยที่จะเห็นหนัง Hollywood ผ่านไป 10 ปีนี่ไงที่อยู่ในหนัง ยังไม่มีเลย เนเลยชอบตรงที่ความคิดเค้ามันล้ำไปมากกว่าที่เราคิดเยอะมาก

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ15 พฤษภาคม 2554 เวลา 08:15

    ธารารัตน์ อ่อนอินทร์...
    ส่วนตัวคิดว่า ศตวรรษที่ 21 คงจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็ฯสิ่งที่น่าแปลกกว่ามากในยุคปัจจุบันน่ะค่ะ โลกคงไปไกลเกินกว่าที่เราจะคิด หรืออาจจะยอมรับไม่ได้แล้ว...

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ15 พฤษภาคม 2554 เวลา 08:17

    Monchai Phonlakrai....
    รอยุค quantum computer ก่อนครับ อาจารย์

    ตอบลบ