เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นการส่องรังสีเทคนิคไทยในอนาคตยาวๆประมาณสัก
10 ปีข้างหน้า ภายใต้หัวข้อว่า "รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า" จริงๆแล้วจะต่อด้วยคำว่า "ในมุมมองของข้าพเจ้า" ก็เกรงว่าชื่อเรื่องจะยาวเกินไป แต่ก็ขอให้ชาวเราโปรดเข้าใจว่าเป็นมุมมองของข้าพเจ้าด้วยก็แล้วกันครับ
เรื่องราวต่างๆต่อไปนี้ รวบรวมจากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับรังสีเทคนิคไทยมาเกือบ 40 ปี รวบรวมจากข้อมูลที่ได้มีโอกาสสนทนากับผู้ทรงภูมิความรู้ด้านรังสีเทคนิคหลายท่าน ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคอวุโส
ประกอบกับการศึกษาจากผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรังสีเทคนิคในหลายๆด้าน ที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการในต่างประเทศ
จะขอเล่าสู่กันฟังแบบสบายๆ ไม่เป็นเชิงวิชาการมากนักน่าจะดีกว่า
แนวโน้ม 6 ประการ
จากที่ได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆทางรังสีเทคนิคตามที่กล่าวข้างต้น
พอจะสรุปได้ว่า ในอนาคต 10 ปีข้างหน้านี้
มีแนวโน้มที่น่าสนใจหลายประการ และน่าจะมีผลกระทบดังนี้
1) สังคมผู้สูงอายุ
อันดับแรกเลยก็คือ
เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีประชากรในวัยพึ่งพิงซึ่งได้แก่เด็กและผู้สูงอายุรวมกันแล้วมีสัดส่วนสูงขึ้น
และในปี 2560 เป็นครั้งแรกที่มีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่าจำนวนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า
15 ปี การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมันเกี่ยวข้องอย่างไร?
เกี่ยวข้องในแบบที่ว่า
จะมีแนวโน้มมากขึ้นในการค้นคว้าหาองค์ความรู้ด้านสรีรวิทยาในผู้สูงอายุ เช่น การแยกแยะระหว่างความปกติและความผิดปกติ
อาจมีการค้นคว้าหาวิธีใหม่ๆเพิ่มขึ้นจากเดิม
ความที่เป็นสังคมผู้สูงอายุน่าจะเป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มทางด้านระบาดวิทยาได้
โรคหัวใจขาดเลือดและความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอักเสบ
มะเร็งและโรคเบาหวาน น่าจะยังเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดในการเสียชีวิต
และการมีภาวะสมองเสื่อมน่าจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับระบบการดูแลสุขภาพต่อไปอีก
ดังนั้น นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ
เกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มความเสี่ยง การคัดกรองการวินิจฉัยโรค การรักษาด้วยรังสี
จึงยังคงเป็นเรื่องท้าทายที่รอคำตอบที่เป็นทางออก
2) ความผูกพันของผู้ป่วย
ความเข้าใจที่ผ่านมาช้านานของนักรังสีเทคนิคประการหนึ่ง
คือ การให้บริการด้านรังสีรักษานั้น ผู้ป่วยมีความผูกพัน (Engagement) กับนักรังสีเทคนิคมากกว่าการให้บริการด้านรังสีวินิจฉัยและเวชศาสตร์นิวเคลียร์
แต่ในอนาคตอาจเปลี่ยนไปหรือไม่
การบริการที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
(Patient centered) เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องยั่งยืน
ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกดีๆต่อการวินิจฉัยและรักษาด้วยรังสี ทำให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเกิดความผูกพันกับการบริการที่มาจากความเต็มอกเต็มใจ
ผูกพันกับผู้ให้บริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือนักรังสีเทคนิค เป็นความผูกพันของผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการบังคับ
เกิดขึ้นเอง ซึ่งจะมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงจากการเต็มใจในการให้บริการ การพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาด้วยรังสีให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ร่วมด้วยมากยิ่งขึ้น
การโต้ตอบแบบอัตโนมัติผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์ซึ่งขณะนี้มีการใช้กันอยู่ แต่ต่อไปอาจรวมไปถึงการที่ผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์และภาพถ่ายรังสีพร้อมรายงานผลได้ง่ายขึ้น จะมีการสร้างโปรแกรมง่ายๆแบบใหม่ไว้ในโทรศัพท์มือถือที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถรู้ข้อมูลด้านรังสีที่ถูกตรงและแม่นยำ
การนัดหมายการตรวจและรักษา การเตรียมตัวก่อนมารับบริการด้านรังสี
และการตรวจติดตามผล
3) เทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
(Information technology หรือ
IT) เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคนี้ไปแล้ว
ทั้งในแง่บุคคลและในแง่ของสังคมส่วนรวม มีการใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเล็ตอย่างมากมาย
ในอนาคตจะเกิดแอพพลิเคชั่นทางด้านการแพทย์ที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์
(Artificial intelligence หรือ
AI) เข้ามาช่วย ซึ่งหมายความว่า เทคโนโลยีสารสนเทศจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้นมากกว่าเดิม
ทางด้านรังสีทางการแพทย์
อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำทางด้านดิจิตอลทางการแพทย์เลยก็ว่าได้ คาดหมายว่า
น่าจะเกิดนวัตกรรมทางด้าน IT และ AI มากขึ้น เนื่องจากภาพรังสีทางการแพทย์เป็นภาพดิจิทัลที่มีลักษณะทั้งเป็นภาพที่สามารถมองเห็นด้วยตาว่าเป็นภาพอะไร
(Qualitative imaging) และยังมีข้อมูลดิบเชิงปริมาณของภาพรังสีนั้นๆ
(Quantitative imaging) จำนวนมหึมา (Big data) ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ค้นหาสิ่งที่เราต้องการเพิ่มเติมได้ต่อไป
นำไปสู่การพัฒนา AI ที่ช่วยสนับสนุนในการตัดสินใจทางคลินิกของแพทย์ต่อไป
แต่มีหลายคนแอบกังวลว่า AI จะมาทำให้ตกงานหรือไม่
4) การสร้างภาพระบบไฮบริด
การถ่ายภาพรังสีทางการแพทย์
การสร้างภาพรังสีทางการแพทย์ การรักษาโรคด้วยรังสี
เป็นการดูแลสุขภาพในแบบพิเศษที่มีความท้าทายทางด้านเทคนิคเป็นอย่างมาก
ท้าทายนักรังสีเทคนิคอย่างมากด้วย
การขยายตัวของเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
เช่น วิธีการขั้นสูงและเครื่องมือแบบไฮบริดที่รวมกระบวนการทางสรีรวิทยาของการสร้างภาพ
Positron emission tomography (PET) ร่วมกับการสร้างภาพด้วย Magnetic resonance imaging (MRI) ที่แสดงภาพโครงสร้างอวัยวะในร่างกายของผู้ป่วยอย่างคมชัด หรือร่วมกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
(Computed tomography (CT)) เหล่านี้ทำให้มีโอกาสในการวินิจฉัยโรคต่างๆมากขึ้น
ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางด้านการสร้างภาพทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้น
ยังสามารถนำข้อมูลภาพที่เป็นข้อมูลดิจิทัลไปทำอะไรต่อไปได้อีกมากมาย ทำให้เกิดระบบการส่งและจัดเก็บภาพรังสี
(PACS) ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาต่อไปในเรื่องพื้นที่และที่จัดเก็บข้อมูลภาพที่มีความปลอดภัยต่อการสูญหายมากขึ้น
รวมถึงความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดการขยายโอกาสบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักรังสีเทคนิคกว้างขวางออกไปอีก
นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลภาพที่เป็นข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหึมาเหล่านั้น
ไปพิมพ์เป็นอวัยวะ 3 มิติ (3D
printing) ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคได้ดีขึ้นอีก ช่วยในการวางแผนการผ่าตัด
ช่วยซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอวัยวะที่เสื่อมสภาพ รวมถึงมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์และนักศึกษารังสีเทคนิคด้วย
สิ่งต่างๆทั้งหลายนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าทางรังสีรักษาที่มีการใช้โปรตอนและอนุภาคหนักเพื่อการรักษา ซึ่งยังมีเรื่องราวอีกมากมาย นักรังสีเทคนิคจะทำตัวอย่างไร?
5) ความปลอดภัยของผู้ป่วย
เมื่อมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการป้องกันอันตรายจากรังสี
การถ่ายภาพรังสีที่สามารถลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ
โดยเฉพาะการตรวจด้วยซีทีนั้น เป็นประเด็นที่พูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้
และจะยังคงพูดถึงรวมถึงการศึกษาวิจัยกันต่อไปในอนาคต
การศึกษาวิจัยทางพรีคลินิกโดยใช้หุ่นจำลองและทางคลินิกจะยังคงมุ่งไปสู่การป้องกันอันตรายจากรังสีมากขึ้น
การรายงานปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับในลักษณะของการตรวจติดตามจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
และน่าจะมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการขยายตัวของบทบาทของภาพรังสีนำร่องที่ทำให้เกิดการบุกรุกน้อยลงไปอย่างมากโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ
Interventional Oncology
ซึ่งจะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วยมากขึ้น
ไม่เฉพาะอันตรายที่เกิดจากรังสีเท่านั้น
ในอนาคตยังจะมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการลดปริมาณสารเปรียบต่าง (Contrast media) ที่ใช้ในการตรวจด้วย ทั้งสารเปรียบต่างที่มีไอโอดีนและแกโดลิเนียมเป็นองค์ประกอบ
6) ความเชี่ยวชาญย่อยกับความเป็นเอกภาพรังสีเทคนิค
ความเป็นเอกภาพของรังสีเทคนิค
มีความชัดเจนมากเมื่อคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคประกาศให้นักรังสีเทคนิคต้องมีมาตรฐานวิชาชีพและสมรรถนะตามที่กำหนดตั้งแต่ปี
2551
ทำให้สถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรรังสีเทคนิคให้สอดคล้องตามมาตรฐานและสมรรถนะดังกล่าวนั้น
นั่นคือความชัดเจนของรังสีเทคนิคไทย
เนื่องจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างมากมาย
ดังนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงเกิดความคิดที่ยื้อยุดกันระหว่างความเชี่ยวชาญย่อย (Subspecialty) ทางรังสีเทคนิคกับความเป็นเอกภาพของรังสีเทคนิคขึ้น
และค่อยๆเกิดมากขึ้นตามลำดับ
คณาจารย์จากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคและกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค
ได้มีการพูดถึงความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิคมานานแล้วในหลายโอกาส เช่นมีการมองกันว่า
รังสีเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญย่อยอาจเป็นทางด้าน ซีที อัลตราซาวนด์ หรือเอ็มอาร์ไอ
เป็นต้น โดยพยายามนึกถึงอัตลักษณ์ของความเชี่ยวชาญย่อยเหล่านั้นให้มีความชัดเจนและเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงสมรรถนะของนักรังสีเทคนิคให้ถึงขั้นสามารถเขียนรายงานในแบบของนักรังสีเทคนิคได้
(Radiographer report)
ซึ่งในต่างประเทศแถบยุโรปเกิดขึ้นแล้ว แต่จนแล้วจนรอดเรื่องความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิคก็ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม
ในอนาคตคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดนักรังสีเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญย่อยในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี
ซึ่งอาจเป็นปริญญาโทขึ้นไป เพราะเรามองไม่เห็นหนทางที่จะจัดการศึกษาให้นักศึกษารังสีเทคนิคได้เรียนรู้จนเกิดทักษะในทุกเรื่องของรังสีเทคนิคได้โดยใช้เวลาศึกษาแค่
4 ปีในระดับปริญญาตรี
อย่างไรก็ตาม
หากมีความจำเป็นที่ต้องมีความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิคขึ้นแล้วจริงๆ คำถามคือ
จะมีนักรังสีเทคนิคคนใดสนใจที่จะศึกษาต่อเข้าสู่ความเป็นนักรังสีเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญย่อยนั้นหรือไม่
ถ้าการได้เป็นนั้นเป็นการเพิ่มภาระงานในระดับสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว
ข้อที่ต้องพิจารณากันเป็นพิเศษเกี่ยวกับเอกภาพของรังสีเทคนิคคือ
การจะดำรงรักษาเอกภาพของรังสีเทคนิคไว้ในอนาคตอีกสัก 10 ปีอาจไม่สามารถทำได้ด้วยบริบททางการศึกษาเดิมๆ
หรือแบบที่เรียกว่าอนุรักษ์นิยม ทั้งนี้เนื่องจากมีอิทธิพลจากความจำเป็นในปัจจุบันและอนาคตที่เปลี่ยนไปจากเดิมเข้ามากระทบโดยตรงนั่นเอง
นักรังสีเทคนิคในอีก 10 ปีข้างหน้า
สังคมผู้สูงอายุ
ความผูกพันของผู้ป่วย เทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างภาพระบบไฮบริด ความปลอดภัยของผู้ป่วย
และความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิค ตามที่เล่าให้ฟังข้างต้นเป็นสิ่งที่น่าติดตามจับตามอง
เพราะส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของนักรังสีเทคนิคว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ส่งผลต่อหลักสูตรรังสีเทคนิคทั้งเนื้อหาและการจัดการ
หากจะลองจินตนาการถึงภาพลักษณ์ของนักรังสีในอนาคตอีก
10 ปีข้างหน้านับจากนี้ ว่าเป็นอย่างไร
ภาพลักษณ์นั้นจะถูกชักนำด้วยแนวโน้มในอนาคตที่ว่ามาแล้ว โดยถ้าจะสรุปให้ตรงประเด็นกับนักรังสีเทคนิค
น่าจะได้เป็นปัจจัยชักนำต่างๆ 4 ประการ คือ
- การเข้าถึงความก้าวหน้าในอาชีพได้ดี
- ไม่มีการพัฒนาอาชีพ
- ภาวะขาดแคลนนักรังสีเทคนิค
- ภาวะมีนักรังสีเทคนิคเพียงพอ
หากเรานำปัจจัยชักนำทั้ง
4 ประการนั้นมาเป็นเครื่องพิจารณาถึงภาพลักษณ์ของนักรังสีเทคนิค
จะสามารถจินตนาการภาพลักษณ์ของนักรังสีเทคนิคที่มีความชัดเจน ปรากฏออกมาได้ 4
แบบ ได้แก่
แบบ A : นักรังสีเทคนิคผู้มีความสุข
เป็นภาพของนักรังสีเทคนิคที่มีบุคลิกภาพดี
อาจรวมความหล่อหรือสวยด้วย ทำงานอย่างมีความสุข เนื่องจากสามารถเข้าถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพได้อย่างดี
พูดง่ายๆคือ ทำงานแล้วมีความก้าวหน้า และได้รับค่าตอบแทนพร้อมสวัสดิการที่น่าพอใจ
ได้รับการยอมรับ เรียกว่าไปไกลจน ถึงจุด Self-actualization กันเลยทีเดียว
แบบ B : นักรังสีเทคนิคผู้มีความเชี่ยวชาญ
เป็นภาพของนักรังสีเทคนิคที่มีความสมาร์ตในวิชาชีพและมีความเชี่ยวชาญสูง
หรือมีความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
แน่นอนว่าก็ต้องรวมถึงการมีความสุขด้วย
แบบ C : นักรังสีเทคนิคกำลังจะหมดสภาพ
เป็นภาพของนักรังสีเทคนิคที่ดูแย่สุดๆ
คือ กำลังจะหมดสภาพหรือสูญสลายแล้ว มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพ
จึงไม่มีการพัฒนาในอาชีพรังสีเทคนิคเลย (Dead
wood)
แบบ D : นักรังสีเทคนิคทำงานไปวันๆ
เป็นภาพของนักรังสีเทคนิคที่ทำงานรูทีนหรือทำงานประจำไปวันๆ
มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพน้อย แต่ก็ยังพอจะมีการพัฒนาในวิชาอาชีพรังสีเทคนิคอยู่บ้าง
ถ้าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า
เราจินตนาการเห็นภาพนักรังสีเทคนิค 4 แบบนี้
ชาวเราจะเลือกเป็นแบบไหน และจะเป็นแบบนั้นได้อย่างไร คำตอบของชาวเราส่วนใหญ่หรือทั้งหมดก็คงคล้ายๆกันหรือไม่ว่าอยากเป็นแบบ
A หรือไม่ก็แบบ B มากกว่าอยากเป็นแบบ C
หรือแบบ D จริงหรือไม่ ส่วนวิธีจะเป็นแบบนั้นได้ต้องช่วยกันหาหนทางร่วมกันให้เจอครับ
การเป็นแบบ A คือมีความสุข เป็นกลุ่มนักรังสีเทคนิคที่น่าจะมีได้เป็นได้ในจำนวนที่มากหน่อย
แต่ถ้าเป็นแบบ B คือมีประสบการณ์เชี่ยวชาญสูง
ก็มีได้เป็นได้แต่ไม่น่าจะมีจำนวนมากเท่ากับแบบ A
ส่วนการเป็นแบบ C คือแย่สุดเลยนั้น ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยเราคงต้องช่วยกันทำให้มีจำนวนน้อยที่สุด
ส่วนการเป็นแบบ D ดูดีกว่าแบบ C จึงน่าจะหาหนทางดึงแบบ
C ให้เป็นแบบ D แล้วถ้าเป็นไปได้ก็ดันขึ้นไปสู่แบบ
A ให้ได้
ชาวเราเลือกได้ว่า
อนาคตจะเป็นแบบไหน แล้วช่วยกันมองหาหนทางที่จะไปสู่สิ่งที่อยากเป็น
“ถ้าเราไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหนในอนาคต สิ่งต่างๆจะชักนำเราไปเป็นแบบนั้น”
หมายความว่า
หากเราไม่รู้จุดหมายปลายทางของเราว่าจะไปไหน จะเป็นแบบไหน แล้วละก็ สิ่งต่างๆที่มีอิทธิพลต่อเรา
จะชักนำเราไปในทิศทางที่สิ่งต่างๆนั้นเป็นผู้กำหนด ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
Related Links:
1)รังสีเทคนิค 4.0
Related Links:
1)รังสีเทคนิค 4.0
ขออนุญาตสอบถามค่ะ อาชีพนี้ในปี2568 ยังคงเป็นที่ต้องการของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่มั้ยคะ ยังจะเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ขาดแคลน ค่าตอบแทนสูงอยู่อีกหรือเปล่าคะ
ตอบลบยังคงขาดแคลนครับ
ลบ