วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รังสีเทคนิค 4.0


(1,946 ครั้ง)
     ในโอกาสที่ World Radiography Day เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่งในวันที่ 8 พฤศจิกายน คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย และบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด(มหาชน)ได้จัดงานขึ้นเป็นปีที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เพื่อรำลึกถึงวันที่ศาสตราจารย์เรินท์เกนค้นพบเอกซเรย์ ภายใต้แนวคิด "RT's Next Step" ในงานจะได้มีการเสวนาในหัวข้อ
  
     ➤We care about your safety 
     ➤RT education in Thailand
     ➤Dose monitoring in medical imaging
     ➤เทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน
     ➤RT in new technology
     โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ เช่น ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์, รศ.มานัส มงคลสุข, ผศ.ดร.สุวิทย์ แซ่โค้ว, ผศ.ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี, อ.ดร.ทวีป แสงแห่งธรรม, คุณพัชราภา ไตรแก้วเจริญ และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท GE, SIEMENS, และ IMAGING CONNECTED นอกจากนี้ยังมีการแสดงผลงานของนักศึกษารังสีเทคนิคจากมหาวิทยาลัยต่างๆด้วย

     นอกเหนือจากงาน World Radiography Day แล้ว ผมก็อดที่จะคิดถึงเรื่องที่จะพูดคุยต่อไปกับชาวเราไม่ได้ มองไปรอบๆตัวในช่วงเวลานี้ ได้ยินแต่เสียงผู้คนคุยกันถึงแต่เรื่องประเทศไทย 4.0 ก็เลยคิดว่าถ้าไม่พูดคุยเรื่อง 4.0 ดูจะตกเทรนไปเลย  จึงชวนชาวเรามาพูดคุยกันเรื่องรังสีเทคนิคไทย 4.0 บ้างดีไหมครับว่ามองกันอย่างไรบ้าง และที่จะชวนชาวเราคุยต่อไปนี้เป็นมุมมองส่วนตัวนะครับ 

     วิชาชีพรังสีเทคนิค 4.0
     เท่าที่ผมได้ทราบ และได้มีโอกาสไปร่วมประชุมด้วย คือเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2560 มีการพูดถึงรังสีเทคนิค 4.0 ในการประชุมวิชาการประจำปี  BDMS Academic Annual Meeting 2017 ที่โรงแรม Intercontinental Bangkok ซึ่งบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัด สำหรับสาขารังสีเทคนิคมีการพูดถึง RT 4.0 ด้วยซึ่งมี key word สำคัญได้แก่
     RT4.0 - Thailand toward global อันนี้ต้องยกเครดิตให้ ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะท่านได้พูดบรรยายในวันนั้น และได้มองรังสีเทคนิค 4.0 ไว้ว่าควรจะมีลักษณะสำคัญ 4 อย่าง ได้แก่   
     ☢
1)Smart in profession (ความเฉียบคมและประณีตในวิชาชีพ)
       🔺Up-to technology standard practice
       🔺Sub- specialty
                 ☢2) Smart in patient care (ความประณีตในการดูแลผู้ป่วย)
                     🔺Tailored made technical protocols
               🔺Radiation dose-wise and dose monitoring
          ☢3) Smart in technology (ความเฉียบคมในเทคโนโลยี)
              🔺
Ability to catch up with new technology
              🔺IT based practice in Thailand 4.0
          ☢4) Smart in innovation (ความสมาร์ตในนวัตกรรม)
             🔺
RT research and innovation

ซึ่งมีมุมมองที่เน้นไปทางด้านวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างคมคาย มีความยากและความท้าทายอย่างมากสำหรับรังสีเทคนิคไทยที่จะก้าวไปให้ถึง

การศึกษารังสีเทคนิค 4.0
หันมามองการศึกษารังสีเทคนิคกันบ้าง อยากชวนกันมานั่งล้อมวง มองตั้งแต่ 1.0 ถึง 4.0 กันเลย  โดยที่หลักๆแล้วน่าจะไม่แตกต่างจากวิชาชีพรังสีเทคนิค 4.0 มากนัก โดยทั่วไป (ดูรูปประกอบ) การศึกษาในระดับต่างๆ เมื่อมองควบไปกับการวิจัยอาจจัดไว้ดังนี้
1.0 หมายความว่า เป็นยุคสมัยประมาณ 30-50 ปีที่แล้ว ที่อาจารย์สอนนักศึกษาแบบป้อนความรู้ให้เลย มีอะไรก็เทใส่สมองของนักศึกษาลงไป (head to head) ผลลัพธ์คือ นักศึกษากลายเป็นนกแก้วหรือนกขุนทอง ที่จำความรู้ไปใช้ทำมาหากิน  และก็มีการทำวิจัยด้วยนะครับ ซึ่งมักจะรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์เป็นเล่มใหญ่ๆ มีคนอ่านไม่กี่คน และหายากเพราะการเข้าถึงทำได้ยาก   
      2.0 หมายความว่า
 เป็นช่วงเวลาของการที่อาจารย์สอนนักศึกษาซึ่งนอกจากจะมีสิ่งที่จำเป็นต้องจำให้ได้แล้ว ยังสอนให้สามารถค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตัวเองด้วย คือสอนให้เป็น นักค้นคว้า มีการทำวิจัยและรายงานผลการวิจัยในวารสารทางวิชาการมีการเผยแพร่กว้างขวางมากขึ้น มีคนอ่านมากขึ้น และการเข้าถึงง่ายขึ้น
      3.0 หมายความว่า สอนให้จำ ค้นคว้าให้เป็น และยังสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเองด้วย มีการทำวิจัย และมีผลงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตร
     4.0 หมายความว่า นอกจากจะมี 1.0,2.0,3.0 แล้วคราวนี้สอนให้เค้าเป็น นวัตกร คือสามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วย แล้วนำไปสู่ Start-up ในเชิงธุรกิจ มีการทำวิจัย และเผยแพร่ จดสิทธิบัตร เกิดนวัตกรรม นำไปสู่เชิงพาณิชย์ จากหิ้งสู่ห้าง นี่เป็นความคาดหวังของการศึกษา 4.0 
นั่นเป็นการมองการศึกษาทั่วๆไป ซึ่งการศึกษารังสีเทคนิคไทยก็น่าจะมีความใกล้เคียงกัน การก้าวไปข้างหน้าให้ดียิ่งขึ้น ไปให้ถึง 4.0 เป็นเรื่องยากและท้าทาย และควรรู้ตัวเองก่อนว่า "ขณะนี้การศึกษารังสีเทคนิคไทยอยู่ที่ไหนระดับไหน"
ก่อนจะฟันธงว่าอยู่ระดับไหน ลองหันไปมองการทำหลักสูตรรังสีเทคนิคที่ทำๆกันแบบที่ผ่านมา ก็คือการหยิบเอาองค์ความรู้ มาใส่เข่งผลไม้ โดยที่มี สกอ.และก.ช. บอกว่าต้องมี เข่ง ได้แก่ เข่งวิชาศึกษาทั่วไป เข่งวิชาเฉพาะ และเข่งวิชาเลือกเสรี แล้วในแต่ละเข่งก็จะมีถุงผลไม้ย่อยๆอีก เข่งละกี่ถุงก็ว่ากันไป เช่น เข่งวิชาเฉพาะก็จะมีถุงพื้นฐานวิชาชีพและถุงวิชาชีพบรรจุอยู่ภายในเข่งนั้น ก.ช.จะกำหนดชนิดชองผลไม้ที่อยู่ในถุงว่าต้องมีอะไรบ้างเป็นอย่างน้อย การตีกรอบแบบนี้ถูกเรียกว่ามาตรฐาน ซึ่งทำให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่ได้รับการับรองโดย สกอ.และก.ช. จะสามารถขอสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคได้
ต่อไป ก็ออกแบบว่าจะสอนกันอย่างไร รวมถึงวิธีการประเมินผลนักศึกษา คือ จะรู้ได้อย่างไรว่านักศึกษารู้ เข้าใจ ทำได้ อย่างที่หลักสูตรต้องการ
เช่น จะสอนฟิสิกส์รังสีซึ่งอยู่ในถุงพื้นฐานวิชาชีพ เท่าที่ผมคลุกคลีมายาวนานยังคงเป็นผลไม้ฟิสิกส์รังสีเหมือนเดิม ก็เพราะเป็นผลไม้จำเป็น ที่เป็นออเดิร์ฟต้องกินก่อน ส่วนวิธีการกิน ก็คือการสอนนั้นที่ผ่านมาใช้การบรรยายเป็นหลัก ยังไม่ค่อยมีวิธีกินแบบแปลกๆ เช่น ยังหาใครกินแบบ “teach  less, learn more” แบบเจ๋งๆไม่ได้
บางถุงก็ต้องเป็นผลไม้ชนิดที่อยู่ในความต้องการ มีการปรับเปลี่ยนเสมอๆ เช่น เรื่องของ Radiography ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจาก analog ไปเป็น digital อันนี้ชัดเจนมากๆ มีหลายเรื่องที่นักศึกษาต้องได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากเมื่อสมัยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
เรื่องการทำ Lab ในวิชาที่ต้องมี Lab ก็มีคู่มือทำ Lab เหมือนเดิม สั่งให้นักศึกษาทำตามขั้นตอน 1, 2, 3,  ตามลำดับ
เรากำลังจะก้าวไป 4.0 นะ!!  เอาละ ถ้าการเรียนการสอนเป็นแบบนี้ คือ อาจารย์เตรียมให้หมด กำหนดขั้นตอนให้หมด แล้วสั่งให้นักศึกษาทำตาม
คำถามคือ
เราจะก้าวไปถึง 4.0 ไหม 
นักศึกษาคิดอะไรเป็นบ้างจากการเรียนแบบนี้หรือในแบบที่ผ่านมา ในเมื่อนักศึกษาสามารถค้นหาเนื้อหาต่างๆมากมายได้จากอินเตอร์เน็ต อาจารย์สอนนักศึกษาแบบป้อนให้เลย นักศึกษาก็จะไม่ต่างอะไรกับนกแก้วหรือนกขุนทอง ที่จำความรู้ไปใช้ทำมาหากิน คือ คิดไม่เป็น นี่แหล่ะ 1.0 ล่ะ
เชื่อว่าชาวเราจะเห็นด้วยกับผมที่ว่า ยุคนี้นักศึกษาเกิดและเติบโตมาในโลกดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่สมบูรณ์ อยากรู้เรื่องอะไรเขาก็ถามคอมพิวเตอร์ หรือถามโทรศัพท์ ไม่ค่อยถามอาจารย์ที่เป็นคนจริงๆ อยากรู้เรื่องรังสี ชนิดของรังสี การเกิดเอกซเรย์ ถามคอมพิวเตอร์ใช้เวลาไม่มากก็สามารถรู้ได้แล้ว เพียงแค่ใช้ปลายนิ้วเพียงนิ้วเดียวรูดไปมาบนหน้าจอเท่านั้น ไม่แน่นะถ้ายังเป็นแบบนี้ไปอีกสักร้อยปี มนุษย์ที่เกิดมาในตอนนั้นอาจมีจำนวนนิ้วมือลดลงก็ได้
ขอยกตัวอย่างเด็กเล็กๆที่เป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งกำลังเรียนชั้นอนุบาล หลานชายผมเองอายุ ขวบ อยู่ๆก็สนใจดู youtube เรื่อง Internal human body ขึ้นมา มันเป็นคลิปการ์ตูนสั้นๆเป็นตอนๆเสียงพูดเป็นภาษาอังกฤษ คลิปหนึ่งยาวประมาณ 1-2 นาทีเท่านั้น อธิบายเรื่อง brain, spine, bladder, kidney, esophagus, trachea, heart, lung, stomach, small intestine, large intestine,....ฯลฯ อธิบายว่ามันคืออะไร ทำหน้าที่อะไร หลานชายเลือกดูเองไม่มีใครไปบังคับนะครับ ผมลองพิจารณาว่าเป็นเพราะอะไร พบว่าน่าจะเป็นเพราะคลิปที่อยู่ใน youtube นั้น ทั้งภาพเคลื่อนไหว สีสัน เสียงเพลงและเสียงบรรยายภาษาอังกฤษ มันดึงดูดเด็กอายุ ขวบ จึงทำให้เกิดความอยากรู้ นำไปสู่การเรียนรู้อย่างสนุกสนาน

สิ่งสำคัญที่ผมให้ความสนใจต่อมาคือว่า หลานชายไม่ได้ดูไปงั้นๆแล้วก็ผ่านไป แต่แกดูแบบทำความเข้าใจทุกอวัยวะแม้จะเป็นภาษาอังกฤษ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ผมก็เล่นกับหลานไป สนุกกันไป และแอบประเมินผลว่าหลานชายเข้าใจไหม ผลลัพธ์คือ หลานชายสามารถบอกได้ว่าอวัยวะแต่ละอันมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร โดยสามารถวาดให้ดูได้อย่างรวดเร็ว แถมยังปั้นด้วยดินน้ำมันให้ดูได้อย่างถูกต้องด้วย
สามารถอธิบายได้ว่าอวัยวะแต่ละอันทำหน้าที่อะไร
และที่ประหลาดใจผมมากๆคือ หลานชายสามารถอธิบายความเชื่อมโยงของอวัยวะต่างๆได้ด้วย 
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ต้องมีอาจารย์สอนเลย มีเพียงเนื้อหาจาก youtube และมีผมเป็นเพื่อนเล่นไปด้วยกันเท่านั้น
หลานชายผมเป็นตัวอย่างของพลเมืองดิจิทัล ที่เลือกเรียนรู้บางเรื่องที่สนใจจากมหาสมุทรข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลในโลกไซเบอร์
นักศึกษารังสีเทคนิคหรือทั่วไปก็เป็นพลเมืองดิจิทัล และยิ่งมีความสามารถมากกว่าหลานชายของผมที่อายุ ขวบหลายเท่าตัว นักศึกษาเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง ขอเพียงแค่เค้ามีความหิวกระหายอยากที่จะเรียนรู้สิ่งนั้น อันนี้แค่นักศึกษาเกิดและเติบโตขึ้นมา เค้าก็อยู่ในโลกการศึกษาแบบ  2.0 แล้ว
แล้วอาจารย์ผู้สอนล่ะ จำนวนไม่น้อยที่เกิดในโลกอนาล็อก เป็นพลเมืองอนาล็อก บางคนค่อยๆอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ในโลกดิจิทัล เป็นผู้อพยพดิจิทัล อาจารย์จะทำอย่างไร อาจารย์จะดึงให้นักศึกษาเหล่านั้นถอยกลับมาที่ 1.0 หรือไม่
หากนักศึกษาซึ่งเป็นพลเมืองดิจิทัล จะต้องมาเรียนกับอาจารย์ซึ่งเป็นพลเมืองอนาล็อก และบางคนเป็นผู้อพยพดิจิทัลที่ยังคงสอนแบบเดิมๆ สอนในสิ่งที่สามารถหาได้ในอินเตอร์เน็ต และออกคำสั่งให้นักศึกษาทำตาม แถมทำตัวเป็นเจ้ากฎเกณฑ์อีกด้วย แล้วแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น
     คำว่า smart classroom ก็มีความน่าสนใจสำหรับการศึกษารังสีเทคนิค แต่สิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้คือ Smart teacher มีผู้สันทัดกรณีบอกว่า ห้องเรียนมัน smart ไม่ได้หรอก ที่จะ smart ได้คืออาจารย์ อาจารย์ต้อง smart จริงหรือไม่ ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยอย่างมากคืออาจารย์ต้อง smart
     การสอนแบบ head to head หมายความ อาจารย์รู้อะไรก็ยัดใส่สมองนักศึกษาเข้าไปเลย นักศึกษาจะรู้หรือไม่ เข้าใจหรือไม่ ทำเป็นไหม ไม่สนและห้ามถาม ประมาณนี้ ซึ่งอาจต้องมีการปรับไปในแบบที่ว่า อาจารย์กระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความอยากเรียนรู้ และให้เวลานักศึกษามากขึ้นเพื่อให้ค้นหาข้อสรุปด้วยตัวเอง ซึ่งอินเตอร์เนตจะเข้ามามีบทบาทสูงมากกับพลเมืองดิจิทัล ช่วยให้การเรียนการสอนเกิดรูปแบบใหม่ ถึงอย่างไรก็ตาม การสอนรังสีเทคนิคแบบ face to face ยังมีความจำเป็นมาก เพราะ การสอนรังสีเทคนิคต้องสอนให้ทำได้ตาม RT competency ที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคกำหนดไว้เป็นอย่างน้อย คือต้อง training นั่นเอง แล้วการ training ที่ดีคืออาจารย์ต้องเป็นผู้ train ให้นักศึกษาแบบ face to face

คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า การศึกษารังสีเทคนิคไทยอยู่ระดับไหน 1.0 หรือ 2.0 หรือ 3.0 หรือว่า 4.0 แล้ว ถ้าให้ผมฟันธงแบบตรงไปตรงมา การศึกษารังสีเทคนิคไทยเราอยู่ที 1.5” โอเคไหมครับ แล้วเราจะต้องก้าวต่อไปข้างหน้าเสมอ ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องเรียกว่าอะไร อาจเรียกว่า 4.0 ตามเทรน คือ สอนให้นักศึกษาเป็น นวัตกร” สามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วย แล้วนำไปสู่ Start-up ในเชิงธุรกิจ มีการทำวิจัย และเผยแพร่ จดสิทธิบัตร เกิดนวัตกรรม นำไปสู่เชิงพาณิชย์ จากหิ้งสู่ห้าง โอ้โฮ ท้าทายไหมครับ

ถ้าจะก้าวไปให้ดีขึ้นจนถึง 4.0 ผมขอเสนอว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของอาจารย์รังสีเทคนิคอย่างแรงเลยทีเดียว "Change before you have to" โดยที่อาจารย์ซึ่งเป็นผู้อพยพดิจิทัล หรือบางคนอาจเป็นพลเมืองดิจิทัลก็ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่สั่งสมประสบการณ์เสมอๆ มีความรอบรู้ในศาสตร์นั้นๆ  และมีภารกิจที่สำคัญคือ
🔃สอนประสบการณ์และสร้างขุมทรัพย์ โดยการนำเนื้อหาที่ต้องเรียนรู้มาสรรค์สร้างให้เป็นรูปลักษณ์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจของนักศึกษา  ไม่ใช้วิธีวิ่งไล่จับผีเสื้อ แต่ใช้วิธีสร้างสวนสวยให้ผีเสื้อบินมาดอมดม    
     🔃เป็นพี่เลี้ยงและทำให้นักศึกษาเกิดความหิวกระหาย  เกิดความอยากเรียนรู้  ปูทางสู่การเป็นนวัตกร ด้วยการให้คำปรึกษา ชี้แนะแหล่งข้อมูลเจ๋งๆที่เป็นขุมทรัพย์ของศาสตร์รังสีเทคนิค ที่มีความถูกต้องและแม่นยำ

     🔃นำวิธีการประเมินผลนักศึกษาที่หลากหลายมาใช้  เพราะนักศึกษามีพื้นฐานต่างกัน บางคนอาจเป็นเหมือน ปลา ช้าง ม้า ลิง เสือ สุนัข ฯลฯ จึงไม่ควรประเมินความสามารถเพียงแบบเดียวและครั้งเดียว เช่น การประเมินความสามารถของพวกเขาด้วยการพิจารณาทักษะในการปีนต้นไม้ของพวกเขา เป็นต้น  แน่นอนนักศึกษาที่เป็นปลาย่อมสอบตก ซึ่งจะทำให้นักศึกษาคิดไปตลอดชีวิตว่าเขาไร้ความสามารถ

   
       นอกจากนี้ ผมมีข้อมูลที่ได้ศึกษาสำรวจเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 และได้รวบรวมไว้เกี่ยวกับจำนวนอาจารย์รังสีเทคนิคในประเทศไทย พบว่า นอกจากนักรังสีเทคนิคจะขาดแคลนอย่างหนักแล้ว ประเทศไทยยังขาดแคลนอาจารย์รังสีเทคนิคอย่างหนักเช่นกัน ในภาพรวมของประเทศความต้องการอาจารย์รังสีเทคนิคเพื่อเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรถึงปี 2562 มีความต้องการจำนวนไม่ต่ำกว่า 80 คน
       อาจารย์เหล่านี้จะมาจากไหน หลักๆแล้วคาดว่าน่าจะมาจากผู้ที่ศึกษาในระดับป.โทและเอก ทางด้านรังสีเทคนิคหรือในสาขาที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งทั้งประเทศมีผู้ที่กำลังศึกษาในระดับป.โทจำนวนเพียง 90 คนเท่านั้น ในจำนวนนั้นต้นสังกัดส่งมาเรียน 50 คน ยังไม่มีต้นสังกัดอีกประมาณ 40 คน ในจำนวน 40 คนที่ยังลังเลอยู่นั้น เขามีทางเลือกที่จะไปทำงานในโรงพยาบาลที่มีความต้องการ โดยเฉพาะงานด้านรังสีรักษา เลือกที่จะเรียนต่อระดับป.เอกบ้าง เหลือมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่กี่คน จึงเป็นปัญหาของทุกมหาวิทยาลัย สำหรับมหาวิทยาลัยวิจัยที่กำหนดมาตรฐานไว้สูงว่าอาจารย์จะต้องมีวุฒิปริญญาเอกเท่านั้นยิ่งเป็นปัญหาที่หนักมาก
     เพราะอะไรจึงมีคนจำนวนไม่มากนักที่สนใจเรียนรังสีเทคนิคหรือสาขาที่สัมพันธ์กันในระดับป.โทหรือเอก ซึ่งเมื่อเรียนระดับสูงแบบนี้จบแล้วก็ควรเป็นอาจารย์รังสีเทคนิค เท่าที่สนทนาปรับทุกข์กันกับผู้บริหารรังสีเทคนิคของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีความเห็นตรงกันว่า
     การขาดแรงจูงใจในการเป็นอาจารย์ สาเหตุใหญ่อาจเนื่องมาจาก อาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่านักรังสีเทคนิคจบใหม่ที่ทำงานวิชาชีพในสถานพยาบาล ค่าตอบแทนอาจารย์รังสีเทคนิคไม่สอดคล้องกับภาระงานที่ต้อง สอน ดูแลนักศึกษา บริการวิชาการ และต้องมีผลงานทางวิชาการ เช่น งานวิจัย แต่งตำรา เป็นต้น 
    ในอนาคต ภาวะความขาดแคลนนักรังสีเทคนิคอาจจะทุเลาลงบ้าง แต่ภาวะความขาดแคลนอาจารย์รังสีเทคนิคของประเทศไทยยังมีอาการน่าเป็นห่วงต่อไปครับ

     สวัสดีครับ

Related Links:
1.World Radiography Day 2017 : พิธีเปิดงาน
2.World Radiography Day 2017 : เสวนา "RT'seducation in Thailand"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น