วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562

รังสีเทคนิคต้อง Spring Up


การสัมมนาสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิค (RT Consortium) ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2561 และ 1 มิถุนายน 2561 ณ ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย คณะรังสีเทคนิคเป็นเจ้าภาพ

คำกล่าวเปิดงานของนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สร้างแรงบรรดาลหลายเรื่องที่ขอนำมาสู่ชาวเรานักรังสีเทคนิคทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค
"วิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญในวงการแพทย์ เป็นศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก เป็นวิชาชีพที่มีอนาคตสูง น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้ น่าจะเป็นความต้องการมากๆของประเทศไทย ไม่ว่าจะก้าวไปสู่ Medical Hub หรือการบริการประชาชนคนไทย เพราะวิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนมาตลอด อ่านข่าวทราบว่าจุดน่าตื่นเต้นในวงการแพทย์ก็อยู่ที่สาขานี้ คงไม่ใช่เอกซเรย์อย่างเดียว คงจะมีรังสีอื่นๆเข้ามาอีกเยอะแยะ และคงไม่ใช่ mannual  มันจะมี automate และระบบดิจิทัลเข้ามาอีกเยอะแยะ

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เห็นอยู่ตลอดเวลาในช่วงนี้คือ ประสิทธิภาพของ Radiation Imaging ที่มันดีขึ้นๆ รวดเร็วขึ้น ไปได้ไกลขึ้น มันกำลังมาอีกเยอะแยะ เพราะฉนั้น สาขานี้จึงเป็นสาขาที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่สนใจใฝ่รู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเป็นสาขาที่เปิดอนาคตเยอะมากสำหรับคนที่เข้ามาเรียน จึงไม่แปลกใจที่เริ่มมีคนที่น่าจะเข้าเรียนแพทย์ได้หันมาเรียนสาขานี้

การรวมกลุ่มกันของ Consortium มีความสำคัญมากๆโดยเฉพาะช่วงนี้ คือ สถาบันผู้ผลิตต้องช่วยกันมองให้ทะลุขอบเขตกฎเกณฑ์ต่างๆที่มีอยู่ในขณะนี้ให้มันพ้นออกไป 

ผมเข้าใจว่า ปัจจัยสำคัญของการจัดตั้งสถาบันการศึกษาอยู่ที่จำนวน PhD จำนวนตำแหน่งทางวิชาการที่ สกอ.นำเอามาวางกรอบไว้ ผมมาจากแพทย์ คณะแพทยศาสตร์มีจำนวน PhD ไม่กี่คน ทั้งหมดเป็น Resident เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในวิชาชีพนาน และมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ทั้งนั้น แล้วเราก็บอก กพ. ไปว่าอันนี้เทียบปริญญาเอก ซึ่ง กพ.ไม่มีทางเลือก เพราะป่วยไข้เขาก็รักษาคนนี้ เขาไม่รักษากับปริญญาเอกที่ไหน

สำหรับสาขารังสีเทคนิคในช่วงก่อตั้ง ต้องก้าวผ่านให้ทะลุอุปสรรคทั้งหลาย ทำอย่างไรจึงจะทำให้สาขานี้ spring up ได้ และมีคุณภาพ ก้าวทันสมัย กระทรวงอุดมศึกษาฯที่เกิดขึ้นใหม่เขาก็มองหาทางใหม่ๆอยู่ เขาน่าจะฟังจากพวกท่าน

เวทีนี้น่าจะได้มีการพูดคุยกันเพื่อร่วมเสนอแนวทางที่ทำให้ การศึกษาทางด้านรังสีเทคนิคมัน spring up ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง มันคงไม่ใช่ไต่ไปแบบนี้ ขณะนี้คือ ในความขาดแคลน ในความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั้น วิชาชีพนี้มันต้องพุ่ง มันต้องการวิธีคิดใหม่ หลักสูตรคงต้องมีการปรับเยอะ รังสีเอกซ์มันอาจจะล้าไปแล้ว ในขณะนีมันจะมีอะไรต่ออะไรเข้ามาอีกเยอะแยะหรือเปล่า digital quality ของเด็กต้องเรียนมากขึ้นไหม เทคโนโลยีอย่าง AI, 3D ฯลฯ ที่มันเข้ามาวุ่นวายในทุกสาขา ผมคิดว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือต่างๆเหล่านี้ด้วยซ้ำไป หมอรังสีมีโอกาสตกงานสูง เพราะถ้าเครื่องมือออกมาแล้วอ่านทุกอย่างได้แม่นกว่าหมออ่าน สองวันนี้เขาแชร์กันทั่วว่า AI สอบชนะหมอโรคผิวหนังในการวินิจฉัยมะเร็งโรคผิวหนัง เพราะฉะนั้น เมื่อวิชาชีพนี้มีการพัฒนาต่อไป และปรับ โอกาสของคนในวิชาชีพนี้น่าจะเปิดกว้างมาก ทั้งในแง่ผู้ใช้เทคโนโลยี และผู้พัฒนาเทคโนโลยี

ฝากความหวังกับพวกท่านว่า มองให้มันทะลุ อย่ายึดในขอบเขตกฎเกณฑ์ของ สกอ. อะไรเลย โดยทั่วไป Consortium จะมีความคิดก้าวหน้ากว่าสภาวิชาชีพ เท่าที่ผมอยู่ในสภาวิชาชีพทางการแพทย์มานาน เรื่องการเรียนการสอน เรื่องการปรับปรุง เพราะสถาบันการผลิตมัโอกาสรับอาจารย์ใหม่ๆ มีความคิดความอ่านกว้างไกลกว่าในสภาวิชาชีพ ซึ่งแต่ละท่านที่กว่าจะไปนั่งอยู่ตรงนั้นก็มีแต่ประสบการณ์ในอดีต บางท่านอาจมองอนาคตไม่ชัดเท่าไหร่ อาจมีความกลัวมาก ต้องอาศัย Consortium เป็นตัวผลักดัน

ขอชื่นชมที่ท่านมารวมตัวกันหนาแน่น ขอแสดงความคาดหวังว่า ครั้งนี้จะมี innovation ของวิชาชีพรังสีเทคนิค ของการจัดการเรียนการสอน ออกมา และเสริมพลังกัน ร่วมมือกันหนาแน่น สถาบันการเรียนการสอนยังไม่ถึงระยะที่จะแย่งนักศึกษากัน เพราะท่านมีไม่พอที่นักศึกษาจะเรียน ยังมีจังหวะที่ท่านจะร่วมมือกันสร้างสิ่งดีๆให้กับวิชาชีพ ไม่ต้องคิดว่าจะต้องมาแข่งกัน ชิงนักศึกษากัน

ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในการประชุมคราวนี้"