วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การจัดความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพ


(333 ครั้ง)
ในการประชุมทางวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555 เรื่อง "บทบาทของสภาวิชาชีพที่มีต่อการรับรองหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา" และเนื่องในโอกาสครบรอบ 40  ปี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 

สำหรับวันแรก วันที่ 12 พ.ย. มีปาฐกถานำโดย ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การจัดความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพ" มีรายละเอียดที่มีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตท่านอาจารย์นำสาระที่ท่านได้ปาฐกถาในวันนั้นมาบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ทางบริหารจัดการศึกษา และขอเชิญชวนชาวเราได้ศึกษาให้ดีตามที่ท่านอาจารย์ได้ปาฐกถาให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์จากทั่วประเทศร่วม 800 คนฟังในวันนั้น ดังนี้


ความคิดของมนุษย์อาจแตกต่างกันได้ ไม่ได้แปลว่า คนที่เห็นแตกต่างไปจากเราแล้วจะผิด เราอาจจะผิดก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นกับเหตุผลบนหลักการที่ถูกต้อง


รัฐมีทั้งอำนาจและหน้าที่ในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาของคนในชาติให้เจริญรุ่งเรือง ทัดเทียนนานาอารยประเทศ โดยฐานะของรัฐจึงต้องยอมรับว่าเป็นผู้ให้การศึกษาที่ได้มาตรฐาน และรัฐก็มีกลไกในการที่จะควบคุมมาตรฐานการศึกษานั้น ถ้าเราไม่ยอมรับนับถือมาตรฐานการศึกษาที่รัฐกำหนดขึ้น เราจะยอมรับนับถือมาตรฐานจากอะไร ดังนั้น ในเบื้องต้นต้องยอมรับรู้ข้อเท็จจริงอันนี้เสียก่อน

ดูแผนการศึกษาของชาติ อำนาจในการจัดการศึกษา การกำหนดมาตรฐานการศึกษา โดยเฉพาะการอุดมศึกษาอยู่ที่ไหน คำตอบคือ อยู่ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการศึกษาในระดับอุดมศึกษา นอกจากมาตรฐานทั่วไปแล้วยังมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของหลักสูตรต่างๆ

ในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นหลักเป็นฐานก็เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ให้อำนาจในการให้การศึกษา ในการวิจัย การกำหนดวิธีการเรียนการสอน ถึงจะมีสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน ก็มีกฎหมายกำหนดเป็นการเฉพาะ อยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานการอุดมศึกษาอย่างเข้มงวดกวดขัน

กฎหมายที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้น แต่ละมหาวิทยาลัยมีเป็นการเฉพาะยกเว้นราชภัฏกับราชมงคลที่ออกมาเป็นกฎหมายรวม เพราะมีกลไกรูปแบบเดียวกัน

กฎหมายทุกฉบับกำหนดวัตถุประสงค์สำคัญของสถาบันอุดมศึกษา ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจองค์กรสภามหาวิทยาลัยในการที่จะอนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตรอื่นๆในระดับสูง มีอำนาจในการจัดตั้งคณะ ให้ความเห็นชอบในหลักสูตรการศึกษาต่างๆ แต่อำนาจในการเห็นชอบทั้งสองนั้นก็ยังอยู่ภายใต้มาตรฐานการศึกษาที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยกับคณะกรรมการการอุดมศึกษาพูดคุยกันว่าจะแค่ไหนอย่างไร

แต่ว่าการกำหนดนั้น เป็นการกำหนดามอำนาจกฎหมายที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น น่าจะเชื่อได้ว่า เป็นการกำหนดที่ใช้ได้ ที่มีมาตรฐานพอสมควร และเมื่อคำนึงถึงว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะต้องแข่งขันกันเพื่อที่จะก้าวให้ทันโลก ก้าวให้ทันวิวัฒนาการของการพัฒนาทางการศึกษา ทางเทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแต่ละมหาวิทยาลัยก็ยิ่งต้องแข่งขันกัน เพื่อที่จะพัฒนาหลักสูตร ปริญญา ทั้งต้องสอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลก สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ปริญญาที่มหาวิทยาลัยของไทยเราให้ จะมีกฎหมายควบคุมด้วยว่า ใครไม่ได้ปริญญานั้นแล้วไปแอบอ้างจะมีโทษจำคุก ใครไม่มีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายปริญญาก็ถูกลงโทษจำคุกได้เหมือนกัน

ถามว่า จู่ๆ มีใครมารับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยที่มีกฎหมายให้อำนาจให้ปริญญา

ถ้ามองย้อนกลับไป มันเริ่มมาจากการรับบุคคลเข้ารับราชการ รับทั้งคนที่จบปริญญาในประเทศและต่างประเทศ เราไม่มีทางรู้ว่า ปริญญาที่จบมาจากต่างประเทศที่ไปร่ำเรียนกันมานั้นมันมีมาตรฐานขนาดไหน เทียบเท่ากับมาตรฐานของไทยหรือไม่ และเมื่อจบปริญญานั้นมาแล้ว จะบรรจุเข้าตำแหน่งไหน ในระดับใดได้บ้าง จะมีหนทางก้าวหน้าได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องกิจกรรมภายในของระบบราชการ กฎหมายเลยกำหนดให้ กพ. เป็นผู้มีอำนาจรับรองปริญญาของบุคคล ว่าคนนั้นจบปริญญาที่ใช้ได้ไหม จะบรรจุเข้าตำแหน่งอะไร สาขาไหน และควรจะได้เงินเดือนเท่าไร

ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมา กพ. ก็จะรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยของไทยที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ กพ. จะไม่ลงไปดูว่ามหาวิทยาลัยสอนวิชาอะไร มีอาจารย์กี่คน เพราะนั่นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่จะกำหนดมาตรฐาน กพ. จะดูหนักที่ปริญญาต่างประเทศ เพราะไม่แน่ใจว่าเค้าเรียนอะไรกันมาบ้าง

มาถึงปัจจุบัน อำนาจหน้าที่นี้ก็ปลดเปลื้องออกจาก กพ. ให้ กพ. กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับรองปริญญา ส่วนการรับรองปริญญาจริงๆให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กพ. ซึ่งก็ยังอยู่ในแวดวงของการที่จะรับคนเข้ารับราชการ

ต่อมาเราเริ่มมีกฎหมายวิชาชีพ อันแรกเห็นจะได้แก่ เนติบัณฑิตสภา ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาก็ออกเป็นพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตสภา พ.ศ. 2507 แต่กฎหมายของเนติบัณฑิตสภาก็มิได้ให้อำนาจในการรับรองปริญญาใดๆ คงมีอำนาจแต่การกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะเข้าเป็นสมาชิก ว่าจะต้องได้รับปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต

แต่ด้วยวิวัฒนาการของแนวคิดใหม่ๆของสภาวิชาชีพ เนติบัณฑิตสภาก็เริ่มไปดูมหาวิทยาลัยต่างๆที่สอนนิติศาสตร์ แต่ก็ไปดูเพื่อจะแนะนำว่า ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่าเป็นคนที่จะไปรับรองหลักสูตร ผมไม่คิดว่าเนติบัณฑิตสภาอยากจะไปรับรองหลักสูตรใคร เพราะการรับรองหลักสูตรนั้น ฟังดูมันเหมือนเป็นอำนาจ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นภาระรับผิดชอบของหน่วยงานที่ไปรับรองหลักสูตร ว่าถ้าเด็กที่จบออกมาแล้วไม่มีหน่วยงานรับรองหลักสูตรจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น เนติบัณฑิตสภาจึงไม่รับรองหลักสูตรใคร

การควบคุมวิชาชีพถัดมาคือ การควบคุมวิชาชีพทางการแพทย์เริ่มต้นเรียกว่า การควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ต่อมา พ.ศ. 2511 ก็แยกตัวออกมาเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งกฎหมายนั้นก็ตั้งแพทยสภาขึ้น แพทยสภาตาม พรบ.พ.ศ. 2511 ก็ไม่มีอำนาจรับรองปริญญา คงมีอำนาจอนุมัติหรือออกวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ เข้าใจว่าจะเป็นเรื่องของการทำบอร์ดอะไรทำนองนั้น มากกว่าการเรียนการสอนในระดับปริญญา

แต่อำนาจสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งน่าสนใจในกฎหมายปี 2511 คืออำนาจในการดำเนินการให้ผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาชีพแพทยศาสตร์ได้รับการฝึกหัดเพื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและดำเนินการให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้รับการฝึกอบรม นี่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอย่างยิ่งยวด เพราะการจัดตั้งสภาวิชาชีพทุกแห่ง จะขึ้นต้นด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา การวิจัย วิชาความรู้ทางวิชาชีพนั้นๆ การส่งเสริมสนับสนุนคือการดำเนินการให้เค้าได้รับการฝึกอบรมให้เป็นปัจจุบันสมัย ให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นหลังจากจบปริญญามาแล้ว
ต่อมาเมื่อ มีการปรับปรุงกฎหมายเปลี่ยน 2511 เป็น 2515 กฎหมายวิชาชีพเวชกรรมก็เริ่มใส่อำนาจการรับรองปริญญาประกาศนียบัตรในวิชาชีพแพทยศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่างๆ ผมจะเข้าใจผิดหรือเปล่าไม่ทราบ การรับรองปริญญาในครั้งนั้นเป็นการรับรองเพื่อให้ใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ ดูเหมือนคนที่จบแพทย์แล้วที่แพทยสภาให้การรับรองไม่ต้องมาสอบ รับรองแล้วก็ไม่ต้องสอบ แปลว่าหลักสูตรนั้นใช้ได้ ปริญญานั้นใช้ได้ และทำการประกอบอาชีพเวชกรรมได้ ได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ แต่มาในปัจจุบันเข้าใจว่าเริ่มมีการสอบเหมือนกัน

หลังจากนั้น ตั้งปีพ.ศ. 2528 เป็นต้นมา เราเริ่มมีกฎหมายวิชาชีพมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันอาจจะมี 13-14 แห่ง อันสุดท้ายซึ่งยังนึกไม่ออกว่าเป็นวิชาชีพได้อย่างไรคือ วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ แต่ก็เป็น นั่นก็เป็นวิวัฒนาการการรวมตัวกันของผู้มีส่วนได้เสียในทิศทางเดียวกันในการที่จะออกกฎหมาย

ผมพูดเสมอว่า กฎหมายนั้นเป็นดาบสองคม กฎหมายนั้นเป็นข้อกำหนด คำบังคับ เมื่อเป็นคำบังคับก็ต้องสร้างคนที่มีอำนาจ เมื่อสร้างคนที่มีอำนาจก็ต้องมีคนที่อยู่ใต้อำนาจ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มีอำนาจหรือมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คนทั้งปวงก็ต้องอยู่ใต้อำนาจมีหน้าที่ที่ต้องเคารพสิทธินั้นๆ

ในโลกปัจจุบันสิ่งที่เค้ากำลังกลัวกันที่สุด คือ การมีกฎหมายมากเกินไป และที่ฝ่ายกฎหมายกำลังระมัดระวังกันก็คือ ทำอย่างไรจึงจะลดกฎหมายให้เหลือน้อยลง แต่ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะฉะนั้นประชาชนในแต่ละ sector ก็จะคิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองหรือสร้างอำนาจให้กับ sector ของตัวได้

ท่านที่สนใจการหาเสียงของประธานาธิบดีอเมริกาเมื่อสองสามวันมานี่ ประเด็นที่เค้าถกเถียงกันคือทำอย่างไรจึงจะลดกฎหมายให้น้อยลง คือทั้งโลกกำลังคิดอย่างเดียวกัน ไทยก็กำลังคิดแบบนี้ แต่ไทยค่อนข้างจะสาหัส เพราะว่ากฎหมายเราสร้างอำนาจไว้เสมอ คนมีอำนาจแล้วก็ย่อมติดใจ ติดยึด คิดว่าอำนาจนั้นเป็นของตัว ความจริงอำนาจไม่ได้เป็นของใคร ใครมาคนนั้นก็ใช้อำนาจ และวันหนึ่งคนนั้นก็เกษียณไปอำนาจนั้นก็กลับไปใช้กับคนนั้น

เราพยายามยกเลิกกฎหมายที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ กฎหมายกำจัดผักตบชวาท่านเคยได้ยินไหม ในปี 2450 กว่าๆ  หลังจากที่ผักตบชวาระบาดทั่วประเทศ กฎหมายนั้นกำหนดว่า เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่อยู่ชายตลิ่ง จะต้องหาไม้ไผ่มาเขี่ยผักตบชวาขึ้นมาตากแห้งเป็นเวลา 3 วัน แล้วเอาน้ำมันก๊าดลาดจุดไฟเผา ผู้ใดไม่ทำการตามนี้มีโทษปรับ 10 บาท เราใช้มาถึงปี 2540 กว่าๆ ตอนนั้นจะยกเลิก กระทรวงมหาดไทยคัดค้าน ถามว่าจะคัดค้านทำไม เค้าบอกว่ามันมีอยู่ก็ดีแล้ว เกิดจำเป็นขึ้นมาจะได้ไปเกณฑ์คนมากำจัดผักตบชวาได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์

นี่กำลังมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เป็นกฎหมายอาชีพการรับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ออกมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ยังไม่เคยใช้เลย กฎหมายนี้กำลังดำเนินการเพื่อยกเลิก ยังไม่รู้ว่าใครจะคัดค้านบ้าง

หลังจากที่เราเริ่มมีกฎหมายสภาวิชาชีพทยอยกันมา ความเข้มข้นของอำนาจของสภาวิชาชีพก็มากขึ้นๆ กฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ดูจะเป็นกฎหมายที่เข้มข้นที่สุด เพราะนิยามคำว่าการพยาบาลและการผดุงครรภ์ รวมไปถึงการสอนวิชาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ด้วย และอำนาจของสภาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ก็ไปไกลดูจะเป็นหน่วยแรกที่เริ่มให้ความเห็นชอบในหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ของสถาบันการศึกษาที่จะทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ รวมทั้งหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตร คำว่าที่จะทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ แปลว่าใครจะตั้งคณะการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จะยังตั้งไม่ได้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบในหลักสูตรจากสภาการพยาบาลเสียก่อน นอกจากรับรองหลักสูตรแล้วยังรับรองปริญญา ยังมีบทบัญญัติต่อไปว่าใครจะมาเป็นสมาชิกบ้างจะต้องได้รับปริญญาที่สภาการพยาบาลรับรอง

ผมไม่ควรยกตัวอย่างเรื่องนี้เพราะอายุมากแล้วผมต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่เรื่อย หวังว่าพยาบาลจะไม่ถือโทษโกรธเคือง

หลังจากนั้นเป็นต้นมา กฎหมายวิชาชีพทุกฉบับ ก็เริ่มใส่อำนาจในการรับรองปริญญากันถ้วนหน้า บางฉบับอาจไม่ได้กำหนดให้อำนาจในการรับรองปริญญา แต่ก็กำหนดว่าคนที่จะเป็นสมาชิกจะต้องจบปริญญาที่สภาวิชาชีพนั้นรับรอง แต่เรื่องหลักสูตรนั้น ส่วนใหญ่กำหนดให้รับรองเฉพาะหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อความชำนาญซึ่งอยู่นอกขอบข่ายของสถาบันอุดมศึกษา

ในการให้อำนาจรับรองปริญญานั้น ระยะหลัง ตั้งแต่กฎหมายวิชาชีพบัญชีเป็นต้นมา จะเริ่มเขียนกรอบขึ้นมานิดนึงว่า รับรองเพื่อการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งก็ดูเหมือนจะอยู่ในวิสัยที่จะไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายสถาบันอุดมศึกษา แต่จะก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องพูดกัน  

ผลของการที่มีกฎหมายกำหนดไว้เข้มงวดเช่นนี้ มันก็เลยทำให้ ในบางกรณีการจัดตั้งคณะเพื่อสอนวิชาบางวิชา จัดตั้งไม่ได้  จนกว่าสภาวิชาชีพจะให้การรับรองหลักสูตรหรือเห็นชอบด้วย การตั้งคณะแพทยศาสตร์เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญมาก ถ้าแพทยสภาไม่รับรองก็ตั้งไม่ได้

การตั้งคณะเพื่อการศึกษา มันไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพแต่เพียงอย่างเดียวแต่มันเพื่อประโยชน์ในการให้การศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยี การศึกษาวิจัยด้วย ถ้าเราไปจำกัดการตั้งคณะวิชาซึ่งก็มีคนเค้าควบคุมดูแล ทั้งด้านงบประมาณ ทั้งด้านกำลังคน ทั้งด้านวิชาความรู้ เข้มงวดอยู่แล้ว มันจะเป็นการไปจำกัดการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาวิชาการหรือไม่

ผมเข้าใจว่าในสภาวิชาชีพส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนจากสถาบันอุดมศึกษา หรืออย่างน้อยก็เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษากันมาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ต้องกลับไปคิดว่าการจำกัดขอบเขตหรือตีกรอบให้สถาบันอุดมศึกษาเดิน มันจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

บางที คนเค้าก็เลยนินทาว่า (ขอโทษคุณหมอทั้งหลายครับ) ...แพทยสภาไม่ค่อยยอมให้ตั้งง่ายๆ เพราะกลัวคนล้นตลาด (พวกหมอด้วยกันเองมาพูดให้ผมฟัง) ตอนที่จะตั้งคณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสารคาม บูรพาบังเอิญผมเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนั้น สาหัสสากันมาก แต่ก็ยังน้อยกวาสภาพยาบาลนะครับ

การตั้งสภาวิชาชีพเป็นของดีหรือไม่ คำตอบคือ ดี ถูกต้อง และสมควรทำ วัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ดี เพราะส่วนใหญ่จะเขียนไว้ว่า ส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิชาชีพนั้นๆ ควบคุมการประกอบวิชาชีพให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมความสามัคคีในระหว่างสมาชิก สิ่งเหล่านี้เป็นของดี วิชาชีพก็ต้องมีมาตรฐานมีการควบคุม ปัญหาคือ สมควรหรือจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไปเป็นคนรับรองปริญญาหรือรับรองหลักสูตรที่สอนกันอยู่

จริงอยู่ในการควบคุมวิชาชีพให้ได้มาตรฐาน ต้องมีจรรยาบรรณ สภาวิชาชีพก็ต้องคำนึงถึง ความรู้ความชำนาญของผู้ที่จะเข้ามาประกอบอาชีพนั้นๆ ว่าที่ร่ำเรียนกันมานั้นเมื่อถึงเวลาจะประกอบวิชาชีพน่ะจริงไหม มีทักษะดีเพียงพอไหม มีจรรยาบรรณที่จะไว้วางใจให้ไปทำงานให้กับผู้คนในสังคมได้หรือไม่

แต่สิ่งเหล่านี้ สภาวิชาชีพสามารถกำหนดด้วยวิธีการทดสอบความรู้ได้ มิใช่หรือ ผมเข้าใจว่าผมอ่านกฎหมายผิดหรือเปล่าก็ไม่รู่นะครับ ปริญญาที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะได้รับใบอนุญาต ยกเว้นกรณีครูในชั้นเริ่มต้น ต่อไปก็ไม่แน่

แต่ในกฎหมายพยาบาล ทั้งรับรองหลักสูตร รับรองปริญญา แต่เวลาที่จะเข้าไปขอใบอนุญาต ก็บอกว่าต้องจบปริญญาที่สภารับรองและผ่านการสอบความรู้ แปลว่าอะไร แปลว่าที่ไปดูหลักสูตรเขามาแต่ต้น รับรองปริญญานั้น ยังวางใจไม่ได้ ยังจะเอามาสอบความรู้อีก แล้วตกลงไปรับรองเค้าทำไม

จริงๆ สภาวิชาชีพทั้งปวง มีบุคลากรเพียงพอที่จะไปกำหนดหลักสูตร หรือให้การรับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลาย ได้จริงหรือ หรือต้องไปตั้งคนจากสถาบันอุดมศึกษามาช่วยอ่านหลักสูตร มาช่วยดูปริญญา ก็ถ้าเราไม่ไว้ใจคนในสถาบันอุดมศึกษา แล้วเราไปเอาคนพวกนั้นเค้ามา มันก็อีหรอบเดิม เว้นแต่ไปเอาคนที่ไม่ชอบอธิการบดีมา นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การไปรับรองหลักสูตรหรือการไปรับรองปริญญา เป็นการทำหน้าที่ที่เกินจำเป็นของสภาวิชาชีพหรือไม่

รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า การประกอบอาชีพเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่ง การจะจำกัดเสรีภาพนี้ได้จะต้องมีกฎหมายกำหนด และกฎหมายนั้นจะกำหนดได้ก็เฉพาะเพื่อการบางอย่างรวมทั้งการจัดระเบียบวิชาชีพ ถามว่า การรับรองปริญญาหรือการรับรองหลักสูตร เป็นการจัดระเบียบวิชาชีพหรือไม่  การกำหนดให้คนมาขออนุญาตอยู่ในเกณฑ์ที่จะถือได้ว่าเป็นการจัดระเบียบ การความคุมจรรยาบรรณ การควบคุมมาตรฐาน ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นการจัดระเบียบวิชาชีพ แต่การรับรองหลักสูตรและการรับรองปริญญา คำอธิบายอยู่ตรงไหน

ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็รับรองว่า การศึกษาอบรมเป็นเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครอง ไปจำกัดไม่ได้เลย ในทางวิชาการ รัฐธรรมนูญก็รับรองว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง มีข้อจำกัดอยู่แต่เฉพาะว่า เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น แถมต่อท้ายว่า รัฐจะต้องให้การสนับสนุน

ดังนั้น การที่เรามีกฎหมายเข้าไปลิดรอนเสรีภาพการสอนการวิจัยการเรียน โดยกำหนดให้ต้องมารับความเห็นชอบก่อน มันหมิ่นเหม่เหมือนกันครับ ผมไม่บอกหรอกว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ แต่มันหมิ่นเหม่เหมือนกันว่า เราก้าวก่ายเกินจำเป็นหรือไม่

ถ้ากฎหมายกำหนดว่า คนที่จะประกอบอาชีพได้จะต้องได้รับปริญญาที่สภาวิชาชีพรับรองโดยไม่ต้องขออนุญาต อย่างนั้นได้  แต่เมื่อรับรองปริญญาแล้วยังต้องมาสอบ แล้วยังต้องมาขอใบอนุญาต เราก็เลยไม่รู้ว่าแล้วเหตุผลมันอยู่ตรงไหน

ผมเข้าใจว่า สภาวิชาชีพเองก็เป็นห่วง ว่าถ้าไม่เข้าไปดูแล มหาวิทยาลัยอาจจะสอนอะไรสะเปะสะปะ  แล้วเมื่อถึงเวลาจะมาประกอบอาชีพไม่ได้ จะทำให้เสียหายต่อผู้ใช้บริการของวิชาชีพนั้นๆ

อย่างที่เมื่อสักครู่ในการายงานการเปิดประชุม มีการพูดถึงว่า มหาวิทยาลัยได้มีความจำเป็นที่จะต้องสอนในเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาความรู้ สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ ควบคู่กับการสอนเพื่อให้ไปประกอบอาชีพ และก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะครับว่าคนที่จบวิชานั้นๆแล้วจะต้องไปประกอบวิชาชีพอย่างนั้น

ในกฎหมายบางฉบับบอกว่า การไปประกอบวิชาชีพนั้นในสถานตามคำสั่งของทางราชการ คือพวกเป็นข้าราชการ ก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต เพราะฉะนั้น คนครึ่งหนึ่งอาจไปรับราชการ คนอีกครึ่งหนึ่งอาจะไปประกอบอาชีพ เค้าก็ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต

ในกรณีที่ความเป็นห่วงเป็นใยอย่างนั้น ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายในเวลาจัดหลักสูตร เค้าคงต้องชำเลืองมองข้อสอบของสภาวิชาชีพอยู่เสมอ แล้วคงต้องสอนให้ลูกศิษย์เค้าไปสอบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะออกมากลเม็ดเด็ดพลายอย่างไรเค้าต้องไปปรับปรุงของเค้าอยู่แล้ว แน่ละ บางทีมหาวิทยาลัยอาจจะก้าวไม่ทัน เพราะสภาวิชาชีพพร่ำบ่นอยู่กับวิชาชีพนั้นๆ

ผมคิดว่าระหว่างมหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพ คงต้องใช้วิธีการร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตร การเรียน การสอน และยกระดับความรู้ความชำนาญจองผู้ที่จะไปประกอบวิชาชีพ ไม่ควรใช้ในลักษณะใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจเหนือใครอีกคน เพราะนั่นรังแต่จะให้เกิดความกินแหนงแคลงใจ และสกัดกั้นการพัฒนาความรู้ที่สมควรจะต้องมี

ผมก็เลยมาคิดอย่างนี้ว่า ถ้าเราปรับโครงสร้าง ของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเสียใหม่ นอกจากคนในแวดวงการศึกษา คนในแวดวงมหาวิทยาลัยแล้ว เอาคนในแวดวงสภาวิชาชีพเข่าไปนั่งร่วมกันเสียในที่นั้น และเมื่อใดที่จะพิจารณาเรื่องของหลักสูตรของวิชาชีพใด ก็ให้เชิญผู้แทนของวิชาชีพนั้นไปเป็นกรรมการเฉพาะเรื่องนั้น แล้วก็กำหนดกันเสียที ใครอยากได้อะไรก็บอกกันเสียที่ตรงนั้น มันก็จะเป็นมาตรฐานที่ไปใช้กับมหาวิทยาลัยทั่วๆไป โดยไม่ต้องมีการรับรองปริญญาหรือรับรองหลักสูตรกันใหม่ ให้ซ้ำซ้อน ให้เสียเวลา ให้เปลืองกำลังคน ถ้าทำอย่างนี้ได้ ผมคิดว่าน่าจะสมประสงค์ด้วยกันทุกฝ่าย

แน่นอนละในระหว่างการเรียนการสอนหลักสูตรหรือปริญญานั้นๆ มันก็อาจจะมีคนที่สถาบันอุดมศึกษาปล่อยปละละเลย ไม่ทำให้ถูกต้อง ก็ให้สิทธิ์สภาวิชาชีพที่จะแจ้งไปยังคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งคุมระบบการอุดมศึกษาทั้งหมด ให้ไปตรวจสอบดู

ส่วนสภาวิชาชีพ เมื่อเวลาจะให้อนุญาตใคร ก็อยู่ในวิสัยที่จะทดสอบความรู้พื้นฐานได้ ถ้าใครได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ไปทำอะไรที่ไม่ดีก็มีอำนาจ เพิกถอนใบอนุญาต พักใช้ใบอนุญาตได้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์หลักของการควบคุมจรรยาบรรณ ควบคุมการประกอบวิชาชีพก็จะสมประสงค์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อไป

อย่างที่ผมเรียนมาตั้งแต่ต้นว่า อำนาจนั้น เมื่อใครมีแล้วมันก็จะไปใช้กับคนอื่น คนอื่นก็จะต้องปฏิบัติตาม สภาวิชาชีพการบัญชี เข้มงวดกวดขันกับการออกใบอนุญาตผู้สอบบัญชี มีอำนาจในการรับรองปริญญาของคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก ใครจะได้รับอนุญาตต้องไปสอบอย่างเข้มงวดกวดขัน ดูจะเป็นความเข้มงวดกวดขันที่แรงที่สุด  และถือเป็นของธรรมดา ที่คนจบบัญชีแล้วไม่ได้ใบอนุญาตสอบบัญชี แพทย์ไม่ใช่ของธรรมดาที่จบแพทย์แล้วไม่ได้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ แต่ครึ่งหนึ่งของคนจบบัญชีไม่ได้ใบอนุญาตผู้สอบบัญชี ก็นับว่าเข้มงวดกวดขัน

วันหนึ่ง กลต.เค้าก็มีอำนาจ เค้าบอกว่าเค้ามีอำนาจในการ บริษัทที่อยู่ในเป็นบริษัทมหาชนจะต้องมีผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก กลต. ก่อน ตกลงอำนาจของคณะกรรมการวิชาชีพการบัญชีก็มีอำนาจต่อคนทำงานบัญชี ให้ใบอนุญาตไป ไม่ได้แปลว่าจะไปทำงานได้ เพราะ กลต. มีอำนาจเหนือกว่าไปกำหนดบอกว่า ใครก็ตามที่จะมาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเค้าก่อน ซึ่งก็เป็นอำนาจซ้อนอำนาจ ยังเถียงกันไม่จบ สภาวิชาชีพบัญชีเค้าก็เถียงว่า เค้ามีอำนาจในการให้ใบอนุญาต ใบอนุญาตเค้าต้องใช้ได้ กลต.ก็บอกว่า จะเข้าไปอยู่ในแวดวงเค้าก็ต้องให้ความเห็นชอบ ไม่รู้เปลี่ยนนายกสภาแล้ว เปลี่ยน กลต.แล้วจะตกลงกันได้หรือยัง

นั่นมันบอกให้รู้ว่า อำนาจนั้น พอให้คนไปใช้มันก็จะกระทบกระเทือนคนที่อยู่ใกล้เสมอ ด้วยผลของอำนาจนั้นเราจึงเห็นกันพนักงานผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเป็นฝรั่งล้วนๆ ชื่อไทยไม่ค่อยมี ซึ่งนั่นก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่ง เพราะคน กลต.พูดภาษาอังกฤษทั้งนั้น

วันข้างหน้า เรากำลังจะเปิดประเทศ วิชาชีพต่างๆที่กำหนดกันไว้ว่า ส่วนใหญ่กำหนดกันไว้ว่า ต้องมีสัญชาติไทย ซึ่งเราคุ้มครองเอาไว้ ก็ยังไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะต้องมาตะลุยแก้กฎหมายประโยคนี้ออกกันมากน้อยเท่าไร สุดแต่ว่าคนไปเจรจาจะคิดหรือแข็งขันมากน้อยเพียงใด

ผมดีใจที่ได้มีการประชุมกัน หารือกันในวันนี้ ก็หวังว่าทุกท่านจะได้หารือกันด้วยเหตุด้วยผล และสามารถหาข้อยุติได้ ขณะนี้ สำนักงานการอุดมศึกษากำลังยกร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการอุดมศึกษาใหม่ ถ้ามีข้อตกลงอย่างไร ที่จะให้อำนาจนั้นไปอยู่ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาวิชาชีพไปมีส่วนร่วมเสียตั้งแต่ตรงนั้นก็กรุณาบอกไปจะได้ทำกฎหมายเสียให้มันสอดคล้องกันในคราวเดียวกัน ก็คิดว่าได้เวลาที่กำหนดไว้ ขอจบแต่เพียงเท่านี้ครับ

Related Links:

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บทบาทของสภาวิชาชีพต่อการรับรองสถาบันอุดมศึกษา


(794 ครั้ง)
     ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมใน การประชุมทางวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555 เรื่อง "บทบาทของสภาวิชาชีพที่มีต่อการรับรองหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา" และเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
งานนี้มีวิชาชีพทั้งหมด 14 วิชาชีพมาเข้าร่วมประชุม ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม พยาบาล กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค สัตวแพทย์ วิศวกร สถาปัตยกรรม ทนายความ บัญชี ครู/บุคลากรทางการศึกษา และวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมประมาณ 800 คน ประกอบด้วย อธิการบดี คณบดี หัวหน้าภาควิชา ผู้บริหาร และอาจารย์ โดยสามารถแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆคือ ส่วนสถาบันผู้ผลิต และส่วนสภาวิชาชีพ สำหรับรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพเดียวที่เป็นคณะกรรมการวิชาชีพ ผมจึงไปในนามทั้งสองภาคส่วนนั้น คือ เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะถูกประเมินและผู้ประเมิน

การประชุมกลุ่มวิชาชีพ 14 สาขา
วันที่ 12 พ.ย. ช่วงบ่าย ทุกวิชาชีพแยกย้ายไปประชุมกลุ่มย่อย สำหรับกลุ่มรังสีเทคนิค อาจารย์จากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคทั่วประเทศ และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคจำนวนประมาณ 40 คน ได้ประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมสมองเรื่อง "บทบาทที่เหมาะสมของคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิคต่อการรับรองสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดหลักสูตรสาขาวิชารังสีเทคนิค" โดยมีผมเป็นประธานกลุ่ม และ ผศ.ดร.บรรจง เขื่อนแก้ว ประธานคณะกรรมการวิชาชีพฯจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเลขานุการ
ประเด็นที่พูดคุยกันในที่ประชุมกลุ่มรังสีเทคนิค เนื้อหา+กระบวนการ ในการประเมินสถาบัน
กระบวนการในการประเมินสถาบัน


รายงานผลการประชุมกลุ่มวิชาชีพรังสีเทคนิค
วันที่ 13 พ.ย. ช่วงเช้า เป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยของทุกกลุ่มวิชาชีพ ผมในฐานะประธานเป็นผู้นำเสนอรายงานผลการประชุมกลุ่มวิชาชีพรังสีเทคนิค ดังนี้


ดูสไลด์ประกอบ.......



ผลกระทบต่อสังคม
      วันถัดมา สื่อมวลชนได้เสนอข่าวการรายงานของกลุ่มวิชาชีพทั้ง 14 กลุ่มวิชาชีพ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ ผู้จัดการ มติชน เป็นต้น
ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เอกซเรย์กับการ “เกิด-ดับ”

     

     เรื่องราวของเอกซเรย์ มีความน่าอภิรมย์อยู่มาก มีหลายแง่มุม หลายมิติ หลายแนวคิด สุดแต่ใครจะมองกันอย่างไร ผมได้เคยเล่าให้ฟังแล้วถึงเรื่อง ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ เป็นมุมมองหนึ่งที่สะท้อนถึงความทนทานของเป้าในหลอดเอกซเรย์กับความอดทนอดกลั้นของมนุษย์

     สำหรับคราวนี้ ขอมองในอีกมิติหนึ่ง ในมิติที่เรียกว่า เกิด-ดับซึ่งมีความน่าอภิรมย์อยู่ในตัว

     ขอเริ่มด้วยคำถามที่ว่า "เอกซเรย์เกิดได้อย่างไร??" ซึ่งเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบคำตอบ

     พูดถึงการผลิตเอกซเรย์เพื่อใช้งานทางการแพทย์  มีแง่มุมดีๆให้ได้คิดซ่อนเร้นอยู่อีก
สำหรับนักรังสีเทคนิคจะทราบคำตอบเรื่องการผลิตเอกซเรย์ดีมากอยู่แล้ว สำหรับท่านที่ไม่มีพื้นฐานทางนี้ ผมขอเล่าให้ฟัง เริ่มจากพื้นฐานของเรื่องนี้เลยครับ

การผลิตเอกซเรย์ เราใช้หลอดเอกซเรย์ซึ่งมีโครงสร้างสำคัญประกอบด้วย หลอดแก้วสุญญากาศ ไส้หลอด (filament)  และเป้า เป็นโครงสร้างที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนานมาแล้ว เมื่อ ค.ศ.1913 โดย W.D. Coolidge  จึงเรียก Coolidge tube ปัจจุบันก็ยังใช้หลักการนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเอกซเรย์ที่ใช้งานถ่ายภาพทั้งร่างกาย ถ่ายภาพเต้านม หรือซีที (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์)แต่การออกแบบอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของการใช้งาน
โครงสร้างของหลอดเอกซเรย์
 หากเราแหวกผนังแก้วของหลอดเอกซเรย์เข้าไป มองลึกเข้าไปภายในหลอดเอกซเรย์ มองให้เห็นกระบวนการ กลไก ของการผลิตเอกซเรย์
เราจะเริ่มเห็นไส้หลอดซึ่งมักทำด้วยทังสะเต็น ลักษณะเป็นขดลวดบิดเป็นเกลียวเล็กๆ ถูกเผาด้วยกระแสไฟฟ้าจนร้อนแดง สุกสว่างไสว ดุจหลอดไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างในยามค่ำคืน ขณะนั้น ไส้หลอดจะปลดปล่อยอิเล็กตรอนหลุดออกมาจำนวนมาก ในทางเทคนิคเรียกกระบวนการนี้ว่า thermionic emission หรือ Edison effect เป็นการสื่อความหมายว่า อิเล็กตรอนหลุดจากไส้หลอดด้วยความร้อน
เวลาเดียวกันนั้น แอโนดซึ่งทำเป็นจานโลหะจะถูกทำให้หมุนด้วยความเร็วสูงมาก เหมือนมอเตอร์ความเร็วสูง รอรับการพุ่งชนโดยอิเล็กตรอนที่จะวิ่งมาจากไส้หลอด
ครั้นเมื่อเราใส่ความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงๆ ระหว่างไส้หลอด (แคโทดขั้วลบ) และเป้า (แอโนดขั้วบวก) ความต่างศักย์ไฟฟ้าจะบีบบังคับกดดันให้อิเล็กตรอนต้องวิ่งจากไส้หลอดขั้วลบ ไปตามแนวเส้นแรงไฟฟ้า พุ่งเข้าชนเป้าหรือจานแอโนดขั้วบวกที่กำลังหมุนเร็วจี๋ และชนด้วยพลังงานจลน์สูงมาก
ขณะที่เกิดการชนกันพลังงานจลน์ของอิเล็กตรอนประมาณ 1% จะถูกเปลี่ยนไปเป็นประกายรังสีที่ตามองไม่เห็นเรียกว่า เอกซเรย์ ในฉับพลัน เป็นประกายรังสีที่เรานำมาใช้งาส่องชีวิตของผู้ป่วย  พลังงานจลน์ของอิเล็กตรอนส่วนใหญ่อีก 99% จะเปลี่ยนเป็นความร้อนที่เป้า



หากเราจะดูให้ลึกลงไปอีกว่า อิเล็กตรอนชนกับเป้าหรือจานแอโนดแล้วเกิดเอกซเรย์ได้อย่างไร เราจำเป็นต้องมองในระดับเล็กมากเป็นนาโนหรือระดับอะตอม  ซึ่งเราจะเห็นอิเล็กตรอนวิ่งเข้าไปชนอะตอมของเป้า แยกการชนเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ซึ่งทำให้ได้เอกซเรย์แบบ Characteristic x-rays และ Bremsstrahlung ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดในส่วนนี้ แต่ผมมีวิดีโอคลิปที่แสดงการเกิดเอกซเรย์ทั้งสองแบบให้ชมกัน ให้พอจินตนาการได้บ้าง
  

เคล็ดลับประการหนึ่งคือ ความเข้มของเอกซเรย์ที่เกิดขึ้น จะสอดคล้องสัมพันธ์กับรูปคลื่นความต่างศักย์ไฟฟ้า (kV) ที่จ่ายให้หลอดเอกซเรย์ 

ถอยกลับออกมามองในภาพใหญ่

โดยทั่วไป ความต่างศักย์ไฟฟ้าที่จ่ายให้หลอดเอกซเรย์มีลักษณะเป็นเหมือนระลอกคลื่น สูงต่ำสลับกัน จำนวน 100 ระลอกคลื่นในหนึ่งวินาที เมื่อหลอดเอกซเรย์ได้รับระลอกคลื่นความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงจะได้เอกซเรย์เรียกว่า เกิด มีความสว่างไสวที่เห็นได้ด้วยจิตเพราะตามองไม่เห็น เมื่อระลอกคลื่นความต่างศักย์ไฟฟ้าลดลงต่ำ เอกซเรย์ก็ไม่เกิดเรียกว่า ดับ
     แปลว่า จะมีการ เกิด-ดับ ของเอกซเรย์สลับกันไป 100 ครั้งในหนึ่งวินาที หรือกระพริบ 100 ครั้งในหนึ่งวินาที เป็นจังหว่ะแน่นอน คล้ายกับเวลาที่เราดูแสงกระพริบจากดาวฤกษ์ในเวลาค่ำคืน เราจะเห็นประกายแสงระยิบระยับเปล่งออกมา มองแล้วน่าอภิรมย์ยิ่ง แต่จังหว่ะการเปล่งประกายออกมานั้นอาจไม่คงตัว 
     ความถี่ของการเกิด-ดับของเอกซเรย์สูงเพียงนี้ ทำให้สัมผัสได้ราวกับว่ามีเอกซเรย์เกิดหรือออกมาจากหลอดเอกซเรย์ตลอดเวลาแล้ว ไม่รู้สึกว่ามันกระพริบ 

     ถึงตรงนี้ ผมคิดว่า เอกซเรย์ได้สอนเราอย่างหนึ่งครับ
การเกิด-ดับของเอกซเรย์ ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงกรองไฟแบบเต็มลูกคลื่น


     ทุกครั้งที่ถ่ายภาพรังสีผู้ป่วย  จะมีการ เกิด-ดับ” หรือกระพริบของเอกซเรย์ ซึ่งเรารู้สึกได้เหมือน เกิด ตลอดเวลา

เอกซเรย์กำลังเตือนสติเราว่า  สติ ก็มีลักษณะ เกิด-ดับ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสัมมาสติ หรือมิจฉาสติ คือมีการกระพริบของสติเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ขอให้เป็นการกระพริบของสัมมาสติย่อมดีกว่า

ประเดี๋ยวเราก็มีสติ เกิด ประเดี๋ยวเราก็ขาดสติ ดับ สลับกันไป สติมันกระพริบ

ถ้าใครที่มีการ เกิด-ดับ ของสติสลับกันด้วยความถี่สูง กระพริบเร็วมาก ถ้าเป็นสัมมาสติผมว่าโอเคแล้วนะ เพราะเป็นลักษณะการกระพริบของสติที่เสมือนว่ามีสติเกิดขึ้นตลอดเวลา เหมือนเอกซเรย์
ไฟกระพริบเหมือนเกิด-ดับของสติ


สัมมาสติเกิดนานหน่อย  ดับประเดี๋ยวเดียว ยิ่งดีใหญ่ อันนี้ขั้นสูงมาก

สัมมาสติไม่ดับเลย เกิดตลอดเวลาดีมากเลย แต่ยากมากเช่นกัน อันนี้เรียกว่า ที่สุดแห่งการดับสัมมาสติได้ไหม คือเกิดสติตลอดเวลาไม่กระพริบด้วย
สติของเรา-ท่าน มีเกิด-มีดับ ตลอดเวลาไหม?


คิดให้ดี การดับของสัมมาสติแม้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ น่าสะพรึงกลัวหรือไม่ หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์มาบ้างกับคนอื่นหรือแม้แต่กับตัวเอง ก็จะเข้าใจพิษสงของการดับของสัมมาสติได้ดี 
     แล้วถ้าหากสัมมาสติของเราอยู่ในโหมดที่ ดับ ตลอดเวลาล่ะ หรือเข้าสู่โหมด ที่สุดแห่งการเกิดสัมมาสติ คือดับสนิทอย่างยั่งยืน อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา และคนรอบข้างของเราครับ 
     ในภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากัน ยิ่งถ้าเราเป็นผู้มีความฉลาดในทางโลกมากๆ เมื่อขาดสัมมาสติคือดับ และมีมิจฉาสติเข้าแทนที่ เราจะจมดิ่งอยู่ในทะเลแห่งอารมย์ร้าย ก็จะยิ่งน่ากลัวเป็นร้อยเท่าพันทวี  เราจะมีความแน่ "กูแน่" และไม่ฟังใคร เราจะสามารถบันดาลให้เกิดสิ่งเลวร้ายได้มากมาย....
     ชนิดที่ไม่กล้าคิดเลยครับ...


     สัมมาสติกลับมาเถิด เจ้าจงกลับมา ว็อบๆแว็มๆก็ยังดี

     นี่แหละครับที่ว่า เอกซเรย์มีเรื่องน่าอภิรมย์ เอกซเรย์กับสติมันคล้ายกันมากอย่างเหลือเชื่อ จริงไหมครับ ต่างกันตรงที่ การเกิด-ดับของเอกซเรย์ควบคุมได้ง่ายด้วยมือหรือเท้าของนักรังสีเทคนิค แต่การควบคุมให้เกิดสัมมาสติทำได้ยากกว่า 
     

Related Links:

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรื่องเบาๆ...ก็ตามันอยู่ใกล้กว่าหู



ในการเรียนวิชาฟิสิกส์ ตอนอยู่ปี 1 

อาจารย์ถามนักศึกษาว่า

     “ใครตอบได้บ้าง....สมมติเรายืนอยู่บนยอดตึกคณะฯสีสวยที่สุดในศาลายา หันมองไปทางยอดตึกอีกตึกหนึ่งห่างออกไปประมาณ 1km ทันใดเราเห็นแสงไฟแว่ปขึ้นที่ยอดตึกนั้น จากนั้นอีก 3 วินาทีจึงได้ยินเสียงตูม อยากทราบว่า เพราะเหตุใด เราจึงเห็นแสงไฟก่อนได้ยินเสียงตูม

นายสัมฤทธิ์ หล่อเข้ม รีบยกมือขอตอบ หวานหมูมากปัญหานี้ จึงตอบว่า

     “เพราะเสียงเดินทางในอากาศช้ากว่าแสง เราจึงเห็นแสงก่อน แล้วจึงได้ยินเสียงตามมา คร้าบ

อาจารย์ยิ้มอย่างพอใจเมื่อได้ฟังคำตอบที่ถูกต้องตามหลักฟิสิกส์ พอดีอาจารย์เหลือบไปเห็นนายวชิรกร กำลังง่วนอยู่กับการวาดรูป Anatomy ของศรีษะมนุษย์ อาจารย์จึงแกล้งถามว่า

     “วชิรกร! เธอคิดว่าอย่างไร ที่เพื่อนตอบแบบนี้

วชิรกรออกอาการกระวนกระวาย แล้วตอบว่า

     “เอ้อ...ผมคิดว่าสัมฤทธิ์ตอบถูก เอ่อออ...ไม่ใช่ครับ ตอบผิดครับ

อาจารย์เริ่มงง เพราะรู้อยู่ว่าสัมฤทธิ์ตอบถูกแล้ว

     “เอ..ที่ว่าผิดน่ะ เธอหมายความว่าอะไรล่ะ

วชิรกร ทำให้ตัวเองดูมั่นอกมั่นใจมาก (เนียน) แล้วก็ตอบเสียงดังฟังชัดว่า

     “เพราะตาม Anatomy ของศรีษะมนุษย์ จากตำแหน่งที่ปืนยิง ตาจะอยู่ใกล้กว่า และหูอยู่ไกลกว่าครับ ทำให้ตาเห็นแสงไฟก่อน แล้วหูจึงได้ยินเสียงตามมา ใช่ไหมครับอาจารย์

คำตอบนี้ เพื่อนในห้องเงียบกริบ! และทำให้อาจารย์ตะลึงอึ้งไปเลย !!!!!
อาจารย์พูดไม่ออก ได้แต่คิดในใจว่า คงไม่ต้องสอนวชิรกรแล้วละ ให้ไป admission ใหม่ดีกว่าอีกสักสามรอบ ยังทัน ...สับสน สับสน จริงๆ

     "OK วันนี้พอแค่นี้" 


วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาคมอาเซียนกับผลกระทบ: จับตาฟิลิปปินส์และเวียดนาม


ไปที่ไหนตอนนี้มีแต่คนพูดเรื่อง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในทุกภาคส่วน การเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว สุขภาพ  Logistic ฯลฯ มีการเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้มากมาย แต่บางทีเราอาจให้ความสนใจน้อยไป ก็จะมองว่าเหมือนไม่มีอะไร ไม่ได้ทำอะไร

ตัวอย่างโครงการชนิดยิ่งใหญ่มโหราฬ ที่เป็นความร่วมมือกันในอาเซียน ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link) ที่ตำบลนาบุเลในประเทศพม่า  เป็นอภิมหาโปรเจคต์เชื่อมอุษาคเนย์  เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่า 



     ท่าเรือนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังมากมายเป็น 10 เท่า มีแผนสร้างทางมอเตอร์เวย์ ทั้งรถยนต์ รถไฟ ฯลฯ จากนาบุเล ผ่านกาญจนบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ ไปท่าเรือแหลมฉบังระยะทางประมาณ 400 กิเมตร มีแผนต่อเชื่อมเข้า กัมพูชาและเวียดนามในที่สุด เป็นการย่นระยะทางและเวลา เรือขนส่งสินค้าจากเนบุเล ไม่ต้องแล่นผ่านช่องแคบมะละกา อ้อมแหลมทองไปแหลมฉบังระยะทางประมาณ 3.500 กิโลเมตร
โครงการนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสนใจ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี เพราะที่ตั้งห่างจากนาบุเลประมาณ 140 กิโลเมตร มหิดลจะเป็นประตูด่านหน้าที่นอกจากจะรองรับนักศึกษาในภาคตะวันตกของไทยแล้ว ยังขยายโอกาสเพื่อรองรับนักศึกษาจากพม่าด้วย  นอกจากนี้เส้นทางคมนาคมตามแผนจากเนบุเลไปแหลมฉบังจะมีแนวผ่านมหาวิทยาลัย

AEC กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ วันที่ 1 มกราคม 2558 คือกำหนดเวลานัดหมาย คงเหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว หลายคนกล่าวว่า มันคงไม่เปลี่ยนแปลงโครมคราม เหมือนคลื่น Tsunami ถาโถมเข้าหาแผ่นดิน จะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จะช้าจะเร็ว เราเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ จะดีกว่า

มีคำถามว่า นักรังสีเทคนิคไทยจะถูกแย่งงานจากนักรังสีเทคนิคในประเทศอาเซียนหรือไม่??”

ทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแน่นอน แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้
เรามาดูข้อมูลต่อไปนี้ครับ>>>

     ค่าตอบแทนในประเทศไทย
เรามาดูค่าตอบแทนนักรังสีเทคนิคไทยในภาคเอกชนเป็นอันดับแรก
จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานเมื่อมกราคม 2554 เรื่องค่าตอบแทนพนักงานสายงานด้านสุขภาพภาคเอกชนทั่วประเทศ พบว่า ค่าตอบแทนสำหรับนักรังสีเทคนิคอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร เมื่อเทียบเคียงกับวิชาชีพอื่นในกลุ่มวิชาชีพด้านสุขภาพ ทั้งนี้ไม่รวมแพทย์และทันตแพทย์ 
แต่ถ้าหากดูในภาครัฐ อัตราค่าตอบแทนก็จะลดต่ำลงมาอีก

     กำลังคน: จำนวนนักรังสีเทคนิคไทย
     กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาทบทวนกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุขสาขารังสีเทคนิค โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีรองศาสตราจารย์ จิตต์ชัย สุริยะไชยากร เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานได้รายงานผลการสำรวจให้กระทรวงสาธารณสุขไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2553       
จากการศึกษาดังกล่าวนั้น มีผลการศึกษาในส่วนของการคาดการณ์สภาวะการด้านกำลังคนสายงานรังสีการแพทย์ พ.ศ. 2552-2561 ตามตารางหรือรูปกราฟ โดยคิดสัมพันธ์กับจำนวนเครื่องมือรังสีวิทยาทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อดูการศูนย์เสียบุคลากร ในตารางดังกล่าวนั้น มีเฉพาะนักรังสีเกษียณ ยังไม่ได้แสดงถึงคาดการณ์การศูนย์เสียด้วยเหตุอื่นๆ เช่น เสียชีวิต ลาออกก่อนเกษียณ ฯลฯ

จากข้อมูลนี้ มีความชัดเจนครับว่าประเทศไทยขาดแคลนนักรังสีเทคนิคอีกมาก และอัตราการผลิตบัณฑิตยังต่ำกว่าจำนวนความต้องการที่เพิ่มขึ้นซึ่งคิดเฉลี่ยคิดเพิ่มเพียงร้อยละ 1.5  เท่านั้น จากข้อมูลในตารางในปี 2559 คาดการณ์จำนวนบัณฑิตที่ผลิตเข้าสู่ระบบรวมประมาณ 270 คนต่อปี โดยวิธีนี้ ทำให้ความต้องการในแต่ละปีเริ่มลดลงบ้าง แต่ปัญหาคือ ใครล่ะจะเป็นผู้ผลิตบัณฑิตในส่วนที่เพิ่มอีก 150 คนต่อปี

     ความต้องการนักรังสีเทคนิคในภาคเอกชนยังสูงมาก เกิดภาวะการแข่งขันในส่วนของการเสนอเงื่อนไขพิเศษต่างๆ ดูจากการที่โรงพยาบาลเอกชนส่งฝ่ายบุคคลเข้าไปเชิญชวนนักศึกษารังสีเทคนิคชั้นปีที่ 4 ถึงสถาบันการศึกษา เพื่อรับสมัครงาน และมีการยื่นข้อเสนอพิเศษหลายอย่างแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล เพื่อจูงใจให้นักศึกษาสนใจที่จะไปร่วมงานด้วยเมื่อเรียนจบแล้ว เช่น การให้ทุนการศึกษาที่ค่อนข้างสูง เงินเดือนที่ค่อนข้างสูง ค่าตอบแทนใบประกอบโรคศิลปะสูงกว่าส่วนราชการ 3 เท่าเป็นอย่างต่ำ (บางแห่งเสนอให้สูงถึงกว่า 7,000 บาทต่อเดือน)ค่าอยู่เวร สวัสดิการที่พัก ฯลฯ สภาพเช่นนี้สะท้อนความขาดแคลนจริงหรืออาจสะท้อนการเปลี่ยนสถานที่ทำงานก็ได้

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีรังสีทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในอีก 5-10  ปีต่อจากนี้ ในเรื่องความที่มันทันสมัยและเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น จะมีผลต่อจำนวนนักรังสีเทคนิคในระบบหรือไม่ เป็นแค่คำถามครับ  


ขออนุญาตนอกเรื่องหน่อยครับ แต่ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

แม้จะชัดเจนว่าประเทศไทยขาดแคลนนักรังสีเทคนิค ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดให้นักรังสีเทคนิคเป็นผู้ใช้รังสีกับมนุษย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยวิธีทางรังสีวิทยา แพทย์หรือทันตแพทย์ก็ทำได้ แต่ผู้บริหารผู้มีอำนาจหลายคนไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ จึงมีการส่งเสียงให้ได้ยินเป็นทำนองปรับทุกข์จากนักรังสีเทคนิคที่อยู่ในระบบงานรังสีการแพทย์อยู่เสมอๆว่า มีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลไม่น้อยใช้ผู้ที่ไม่ใช่นักรังสีเทคนิค แพทย์หรือทันตแพทย์ มาปฏิบัติหน้าที่เสมือนหนึ่งว่าเป็นนักรังสีเทคนิค มันจึงมองได้ว่าภาพรวมไม่ขาดแคลน   

หากรวบรวมปัญหาหรือจุดอ่อนด้านกำลังคน พบว่ามีมากพอควร เกิดความรู้สึกเหมือนถูกละเลยจากผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบไปในวงกว้างของชาวเรา เป็นแค่ความรู้สึกนะครับ ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆได้แก่ การขาดแคลนกำลังคนจริงๆตามกฎหมายในภาพรวม การกระจายกำลังคนที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมด้านค่าตอบแทน  จำนวนบัณฑิตใหม่แต่ละปีประมาณต่ำกว่าความต้องการกำลังคนค่อนข้างมาก ปัญหาความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ ฯลฯ



     ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: การเคลื่อนย้ายอย่างเสรี

การรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของ skilled labor หรือแรงงานมีฝีมือ อย่างน้อยในขณะนี้จำนวน 8 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม การสำรวจ บัญชี สถาปัตยกรรม และการท่องเที่ยว ที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน (MRA) แล้ว ในระยะเวลาอันใกล้ที่ประชาคมอาเซียนกำลังจะมา แม้จะยังไม่มี MRA สำหรับวิชาชีพรังสีเทคนิค

คำถามคือ...........

จะมีการผ่อนปรนให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของนักรังสีเทคนิคหรือไม่??

และถ้ามีการผ่อนปรนจะเกิดผลกระทบอย่างไร??

     เปรียบเทียบรังสีเทคนิคในอาเซียน

     นักรังสีเทคนิคในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีระบบการผลิต การเข้าสู่ตลาดงาน และอัตราค่าตอบแทน ที่แตกต่างกัน ลองดูในด้านเหล่านี้ครับ




      การจัดการศึกษา ประเทศไทยใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค แล้วได้ปริญญาเป็น วท.บ. สาขารังสีเทคนิค คล้ายกับประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาวและกัมพูชา ใช้หลักสูตรที่เป็นแบบรังสีเทคนิคบัณฑิต คือเน้นวิชาชีพรังสีเทคนิค  

     การสอบขึ้นทะเบียน ประเทศในอาเซียนที่มีการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแล้วคือ ไทยและฟิลิปปินส์ ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ในขั้นตอนเตรียมดำเนินการ
อัตราค่าตอบแทน สำหรับนักรังสีเทคนิคที่ทำงานใหม่ ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีอัตราค่าตอบแทนใกล้เคียงกันประมาณเดือนละ 10,000 บาท ถัดมาคือมาเลเซีย ตามด้วย ไทย และสิงคโปร์อัตราค่าตอบแทนสูงที่สุดและแตกต่างจากไทยประมาณ 3 เท่า

     จับตาฟิลิปปินส์และเวียดนาม
จากข้อมูล
>> สภาวการณ์ขาดแคลนนักรังสีเทคนิคไทยจำนวนมาก
>> ไทยมีอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
>> การเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานมีฝีมือ
>> ระบบการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน
>> มีใบประกอบโรคศิลปะ
>> ประเทศไทยน่าอยู่ คนไทยมีน้ำใจ อัธยาศัยดี
ดังนั้น เมื่อประชาคมอาเซียนมาถึง จึงน่าเป็นไปได้ครับว่า นักรังสีเทคนิคจากฟิลิปปินส์มีโอกาสสูงที่สุดที่จะเข้ามาทำงานในไทย โอกาสรองลงไปคือเวียดนาม ขอย้ำว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือจะมีลักษณะสวนทางกับการไหลของน้ำ

เราจะเตรียมการรับมืออย่างไรดี 
     จะกีดกันหรือจะสนับสนุนหรืออย่างไรก็ได้ 
     เมื่อคิดว่าเราจะเสียเปรียบ แสดงว่าต้องเอาเปรียบใช่ไหม 
     นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน มิตรประเทศของเราทั้งนั้น เพื่อน win เรา win น่าจะเป็นแนวทางที่ดีครับ แต่ win ด้วยกันมีอะไรบ้างต้องช่วยกันคิดละครับ